สมัยกรุงธนบุรี
หัวเมืองลาวเข้ามาอยู่ใต้ปกครองของสยาม
สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
หัวเมืองลาวเป็นเมืองประเทศราช ชายพระราชอาณาเขต
สมัยรัชกาลที่ ๓
หัวเมืองลาวจัดเป็นหัวเมืองชั้นนอก
๒๔๑๐
สยามเสียเขมรส่วนนอกให้ฝรั่งเศสและมีการทำสัญญาปักปันเขตแดน
๒๔๒๘
ออกประกาศยกเลิกการตั้งเมืองใหม่ในพื้นที่หัวเมืองลาว
๒๔๓๓
รวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกกับบริเวณเขมรป่าดง แล้วแบ่งเป็นสี่หัวเมือง ได้แก่ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองอุบล หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองหนองคาย หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองนครราชสีมา มีข้าราชการจากกรุงเทพฯ ไปเป็นผู้ปกครองสูงสุด
๒๔๓๔
จัดระเบียบพื้นที่ใหม่เป็นหัวเมืองลาวกลาง หัวเมืองลาวกาว หัวเมืองลาวพวน โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอสามพระองค์เสด็จไปประจำการเป็นข้าหลวงต่างพระองค์
๒๔๓๕
ปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นรูปแบบเทศาภิบาล รวบอำนาจจากท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลาง รับนโยบายและคำสั่งการปกครองจากศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดี
กระทรวงมหาดไทยคนแรก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน
๒๔๓๖
สยามยอมสละการอ้างสิทธิ์ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและบรรดาเกาะในแม่น้ำโขง รวมทั้งเมืองจำปาศักดิ์และเมืองมโนไพรให้แก่ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม
๒๔๓๗
ยุบเลิกหัวเมือง รวมกลุ่มจังหวัดชั้นนอกตั้งเป็นมณฑล เรียกชื่อเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศหกมณฑลแรก ได้แก่ มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกาว มณฑลลาวกลางมณฑลเขมร และมณฑลภูเก็จ
๒๔๔๐
ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ (ปี ๒๔๔๐) ให้เจ้านายท้องถิ่นรับเงินเดือนแทนระบบกินเมือง
๒๔๔๒
โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเรียกชื่อมณฑลตามทิศ มณฑลลาวกาวเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ มณฑลลาวพวน เป็นมณฑลฝ่ายเหนือ ส่วนมณฑลลาวกลาง เป็นมณฑลนครรราชสีมา
๒๔๔๓
โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อมณฑลจากเรียกตามทิศในภาษาไทยเป็นคำโบราณที่สั้น เรียกง่ายมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมณฑลอิสาณ มณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร
๒๔๔๔
ประกาศพระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. ๑๒๐ (ปี ๒๔๔๔) เก็บเงินแทนส่วย
๒๔๕๕
แยกมณฑลอิสาณออกเป็นมณฑลร้อยเอ็ดและมณฑลอุบล
๒๔๖๕
รวมมณฑลอุดร มณฑลอุบล มณฑลร้อยเอ็ดเป็นภาคอีสาน เรียกคนในพื้นที่ว่าคนอีสาน
๒๔๗๖
ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล พื้นที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดเป็นภูมิภาคอีสาน
๒๔๙๕
จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นภาค จังหวัด อำเภอ
๒๔๙๙
ยกเลิกภาค เหลือจังหวัดและอำเภอ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน
๒๕๐๐
เปิดใช้ถนนมิตรภาพเป็นเส้นทางสายหลักเชื่อมภาคกลางกับภาคอีสาน เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์
๒๕๕๔
อดีตหมู่บ้านบึงกาฬเมื่อปี ๒๔๔๙ ได้รับการยกระดับเป็นจังหวัดที่ ๒๐ ของภาคอีสานและเป็นจังหวัดใหม่ล่าสุดของประเทศไทย ลำดับที่ ๗๗
“การเป็นผู้นำนั้นต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง ต้องออกตรวจตรา
จนรองเท้าขาดไม่ใช่นั่งเก้าอี้ จนกางเกงขาด”
แนวสายโทรเลขที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองในอีสานและกับกรุงเทพฯ ได้ทำให้เส้นทางคมนาคมคู่ขนานไปด้วย การเสด็จตรวจราชการอีสานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เมื่อปี ๒๔๔๙ ส่วนใหญ่เสด็จไปตามเส้นทางเหล่านี้ โดยการขี่ม้าและนั่งระแทะ
ภาพความเป็นอยู่ของผู้คน บ้านเมืองอีสานเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนที่เผยแพร่อ้างอิงกันอยู่ทุกวันนี้จำนวนหนึ่งเป็นภาพถ่ายเมื่อคราวพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการอีสานเมื่อปี ๒๔๔๙ ซึ่งกล่าวกันว่าพระองค์เป็นเจ้านายสยามพระองค์แรกที่เสด็จไปทั่วท้องถิ่นอีสาน
ด้วยแต่โบราณกาลก่อนนั้นกษัตริย์หรือเจ้านายจะเสด็จออกจากพระนครก็เมื่อมีเหตุการณ์หรือเป็นวาระสำคัญ อย่างการศึกสงคราม หรือการบุญตามพระราชประเพณี
แต่ในสมัยเจ้าฟ้ามงกุฎผนวชเป็นพระวชิรญาณภิกขุได้เสด็จธุดงค์ไปทางหัวเมืองเหนือเมื่อปี ๒๓๗๖ ครั้นขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ พระองค์ก็เสด็จประพาสหัวเมือง ทอดพระเนตรสภาพบ้านเมืองและให้ราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ กระทั่งในการเสด็จฯ ครั้งสุดท้ายที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เมื่อยังเยาว์ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมารได้ตามเสด็จด้วย ดังปรากฏในงานนิพนธ์ของ ม.จ. หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาองค์ที่ ๗
“ได้ตามเสด็จไปหว้ากอด้วย และกลับมาประชวรเป็นไข้ป่าพร้อมกับคุณย่าเหมือนกัน แต่หายทันขึ้นไปสรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชันษา ๖ เข้า ๗ ปี ทรงเล่าว่าจำได้ดีว่าขึ้นไปทรงกันแสง”
กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็โปรดเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ คงจะทรงได้รับแบบอย่างและแนวพระราชดำริจากทั้งสองพระองค์ในการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ดังที่มีพระนิพนธ์ว่า
“ถ้าผู้ทำราชการได้เที่ยวเตร่ ได้รู้เห็นภูมิลำเนาบ้านเมือง และความศุขทุกข์ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ก็เหมือนหนึ่งมีทุนในทางที่จะดำริห์ตริตรองราชการอันควรแก่หน้าที่ตน”
ทั้งทรงมีความเชื่อมั่นที่เป็นเหมือนคำพังเพยว่า
“การเป็นผู้นำนั้นต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง” ในความหมาย “ต้องออกตรวจตราจนรองเท้าขาด ไม่ใช่นั่งเก้าอี้จนกางเกงขาด เพราะหลักโบราณก็มีอยู่ว่า จงคิด จงสั่ง จงตรวจ”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ในห้องทำงานที่ทำการกระทรวงมหาดไทย ภายในพระบรมมหาราชวัง พระองค์เป็นเสนาบดีคนแรกตั้งแต่ปี ๒๔๓๕ จนถึงปี ๒๔๕๘
กล่าวกันว่าพระองค์เป็นเจ้านายจากกรุงเทพฯ พระองค์แรกที่ชาวบ้านอีสานได้เข้าเฝ้าเห็นตัวจริง ด้วยธรรมเนียมโบราณแต่เดิมกษัตริย์หรือเจ้านายจะไม่ค่อยเสด็จออกจากพระนคร
ระแทะ หรือเกวียนมีซุ้มหลังคา พาหนะที่พระองค์มักใช้เมื่อเสด็จตอนกลางคืนในหน้าร้อน
การเสด็จตรวจราชการครั้งสำคัญที่สุดคราวหนึ่งของพระองค์ที่มักได้รับการกล่าวถึงต่อมาคือการเสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ร.ศ. ๑๒๕ (ปี ๒๔๔๙) ในห้วงเวลาคาบเกี่ยวกับที่บ้านเมืองสยามกำลังเผชิญการขยายอำนาจของประเทศนักล่าอาณานิคม เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยแบบตะวันตกที่มีกระทรวง กรม กอง แทนรูปแบบจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา ที่ใช้มาแต่โบราณ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการปกครองรูปแบบใหม่นี้ที่เรียกว่าเทศาภิบาล
พระองค์ยังทรงวางระบบการตรวจราชการด้วยการบันทึกข้อมูล เขียนรายงาน รวมทั้งทรงพระนิพนธ์แบบเรื่องเล่าเชิงพรรณนาที่มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านการเป็นอยู่ ผู้คน ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์โบราณวัตถุ-สถาน การปกครองที่มีมุมมอง ความรู้สึก ทัศนคติของผู้เขียนอยู่ด้วย รวมทั้งการบันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายรูปซึ่งกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์อีสานแก่ชนรุ่นหลัง
แม้เรื่องเล่าเหล่านั้นจะเป็นภาพและเรื่องราวที่บันทึกจากสายตาชนชั้นปกครองจากส่วนกลางที่ไม่มีเสียงของคนท้องถิ่นปรากฏอยู่โดยตรง แต่ก็นับเป็นหลักฐานชั้นต้นชุดหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นหลังได้รู้เห็นภาพอีสานในยุคร้อย ๆ ปีก่อน และอาศัยอ้างอิงต่อกันมาถึงปัจจุบัน
สิบห้าปีก่อนที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการอีสานในปี ๒๔๔๙ มีพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๕ สามพระองค์ได้รับพระราชบัญชาให้เสด็จมาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ในสามหัวเมืองลาว นับเป็นเจ้านายชั้นสูงจากราชสำนักสยามกลุ่มแรก ๆ ที่มาถึงที่ราบสูง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้านายเหล่านั้นได้ออกพื้นที่ทั่วถึงกว้างไกลอย่างการเสด็จของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงฯ ทำให้กล่าวกันว่าพระองค์เป็นเจ้านายจากกรุงเทพฯ พระองค์แรกที่ชาวบ้านอีสานได้เข้าเฝ้าเห็นตัวจริง ด้วยธรรมเนียมโบราณแต่เดิมกษัตริย์หรือเจ้านายจะไม่ค่อยเสด็จออกจากพระนคร
ข้าราชการประจำหัวเมืองและสถานที่เตรียมรับเสด็จ โดยมีชาวบ้านรวมกันอยู่รอบนอก
แม้แต่คราวพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงฯ เสด็จตรวจราชการหัวเมืองเหนือครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๓๕ พระองค์ก็ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า ข้าราชการในท้องถิ่นยังกระซิบถามข้าราชการผู้ใหญ่ที่เดินทางมากับพระองค์ว่า “มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นหรือ” เนื่องจาก “แต่ก่อนมาต่อมีราชการสำคัญเกิดขึ้น เช่น เกิดทัพจับศึก เป็นต้น เสนาบดีจึงขึ้นไปเอง พระยาวรพุฒิฯ บอกว่าที่ข้าพเจ้าไป เป็นแต่จะไปตรวจราชการตามหัวเมือง ไม่ได้มีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นดอก ก็มิใคร่มีใครเข้าใจ น่าจะพากันนึกว่า เพราะข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีแต่ยังหนุ่มผิดกับท่านแต่ก่อน ก็เที่ยวซอกแซกไปตามคะนอง”
เวลานั้นพระองค์เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ ขณะยังเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ พระชันษายังไม่เต็ม ๓๐ ปี
“ข้าพเจ้าไปเที่ยวตรวจดูการและไต่ถามเจ้าหน้าที่ตามห้องที่ทำงานเนือง ๆ ในไม่ช้าก็คุ้นกับข้าราชการในกระทรวงทั้งหมด ทั้งผู้ใหญ่ตลอดจนผู้น้อย ข้าพเจ้าศึกษาหาความรู้กับทั้งบัญชาการมาด้วยกันราวสัก ๖ เดือน จนเห็นว่ามีความรู้ราชการมหาดไทยในกรุงเทพฯ สันทัดพอจะบัญชาการได้โดยลำพังตัวแล้ว จึงเริ่มคิดศึกษาความรู้การปกครองหัวเมืองต่อไป”
แล้วได้พบว่า
“ที่เสนาบดีไปเที่ยวตรวจราชการตามหัวเมืองเป็นประโยชน์อย่างสำคัญมาก หรือจะว่าเป็นการจำเป็นทีเดียวก็ได้ ต่อมาข้าพเจ้าจึงเที่ยวตรวจหัวเมืองเป็นนิจสืบมากว่า ๒๐ ปี จนตลอดสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย”
การเสด็จตรวจราชการในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ใช้งบประมาณหลวง มีการบันทึกข้อมูลรายงานราชการที่มีระเบียบแบบแผน ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคณะผู้ร่วมเดินทาง พื้นที่ ประชากร อาชีพ ความเป็นอยู่ ภารกิจที่ปฏิบัติ ระยะการเดินทางแต่ละวัน สภาพท้องที่และสภาพทางเศรษฐกิจ สังคมของเมืองต่าง ๆ ชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินของราษฎร ตลอดจนสิ่งที่พระองค์สนพระทัย เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปะ วัฒนธรรม ความเชื่อและประเพณี ปัญหาต่าง ๆ และแนวทางแก้ไขของแต่ละท้องถิ่น เขียนเป็นรายงานกราบบังคมทูลฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เอกสารดังกล่าวถือเป็นหลักฐานชั้นต้นที่สำคัญที่มีบันทึกผู้รายงาน ผู้รับรายงาน ผู้เขียน ผู้ตรวจ ซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้กับการตรวจราชการของขุนนางและข้าราชการมหาดไทยในยุคต่อมาด้วย
และการเสด็จออกตรวจราชการของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงฯ ยังเป็นแนวปฏิบัติให้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยในการออกทำงานพื้นที่ ไม่ใช่อยู่แต่ในสำนักงาน
มีเอกสารของกระทรวงมหาดไทยยุคนั้นระบุว่า กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นต้องออกตรวจราชการในท้องถิ่นตนปีละไม่น้อยกว่า ๖๐ วัน พร้อมเขียนจดหมายเหตุรายวันและทำรายงานพร้อมความเห็นตนประกอบ ส่งผู้ว่าการเมืองเพื่อส่งให้ข้าหลวงเทศาภิบาล ข้าราชการที่ไม่ทำจะไม่ได้เลื่อนยศและเงินเดือนไม่ขึ้น
และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงฯ ยังให้แนวทางในการเลือกคนเข้าทำราชการด้วยว่า “ถ้าเรียกผู้ใดมาสั่งงานจะให้ไปรับตำแหน่งใหม่ ผู้นั้นตอบรับว่าได้โดยเร็ว และอ้ายนั่นก็ทำได้ อ้ายนี่ก็ง่ายละก็ เตรียมหาคนใหม่ไว้ได้ทันที แต่ถ้าคนใดหนักใจซักถามถี่ถ้วน เห็นความลำบากละก็ เรานอนตาหลับได้”
ในการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองแต่ละครั้งนอกจากเก็บบันทึกข้อมูลต่าง ๆ จากที่ทอดพระเนตรและสอบถามจากราษฎรอย่างละเอียดในขอบข่ายความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยแล้ว ด้วยความเป็นนักประพันธ์พระองค์ยังทรงนำเรื่องราวสิ่งที่ได้พบเห็นในการตรวจราชการนั้นมาบันทึกไว้เป็นเรื่องเล่าที่มีการใส่ “ความคิดเห็นของข้าพเจ้า” เข้าไปด้วย เป็นงานพระนิพนธ์ที่ไม่ใช่เอกสารรายงานราชการ ซึ่งหากเทียบกับยุคนี้ก็เรียกว่าสารคดีบันทึกการเดินทางได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
งานพระนิพนธ์นอกเหนือหนังสือรายงานราชการเหล่านั้นยังมีเผยแพร่อ้างอิงกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน เช่น
เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ที่ว่าด้วยอีสาน อยู่ในภาคที่ ๔ “ว่าด้วยเที่ยวมณฑลอุดร แล มณฑลอิสาณ” รูปแบบการบันทึกคล้ายจดหมายเหตุรายวัน ระยะทางเสด็จ หรือบันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติ ซึ่งในคำนำการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๖๓ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงฯ ระบุว่าพระองค์ไม่ได้เขียนเองทั้งหมด “ที่จริงเปนของพระยาศรีวรวงศ์แต่งไว้โดยมาก ข้าพเจ้าเปนแต่ผู้แก้ไขเพิ่มเติม หาได้แต่งเองทั้งหมดไม่”
พระยาศรีวรวงศ์ (ม.ร.ว. จิตร สุทัศน์ ณ กรุงเทพ) เป็นผู้จัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ได้ตามเสด็จไปด้วย รับเป็นผู้เรียบเรียงระยะทางที่ไปตรวจราชการคราวนั้น ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร เทศาภิบาล ของกระทรวงมหาดไทย เดือนสิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖ (ปี ๒๔๕๐) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงฯ นำมาปรับให้อ่านง่ายสำหรับคนทั่วไป ไม่จำกัดแค่ในวงราชการ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๖๓ เป็นหนังสือที่ระลึกแจกในงานปลงศพมารดาของอำมาตย์เอกพระยาเวชสิทธิพิลาศ
เที่ยวตามทางรถไฟ ทรงพระนิพนธ์ประทานแก่กรมรถไฟเป็นตอน ๆ กล่าวถึงความสำคัญของสถานที่และเมืองที่รถไฟแล่นผ่าน สายอีสานอยู่ในตอนที่ ๙ นครราชสีมา โดยอิงข้อมูลที่เก็บมาจากการเสด็จตรวจราชการ พิมพ์ครั้งแรกปี ๒๔๖๔
นิทานโบราณคดี ซึ่งไม่ใช่นิทานในความหมายของเรื่องแต่ง (fiction) ทว่า “เป็นเรื่องจริงซึ่งตัวฉันได้รู้เห็นเอง มิได้คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แต่เป็นเรื่องเกร็ดนอกพงศาวดาร” ในลักษณะที่เรียกได้ว่า nonf iction ในยุคนี้ ที่มาจากการตรวจราชการ ปี ๒๔๔๙ อยู่ในเรื่องที่ ๑๖ เรื่องลานช้าง และเรื่องที่ ๑๗ เรื่องแม่น้ำโขง
งานเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างกว่า ๑๐๐ ปี บางเล่มยังคงมีการพิมพ์ซ้ำและอ่านกันอยู่ทั่วไป ด้วยเป็นข้อมูลทางประวัติ-ศาสตร์ที่บอกสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ค่านิยม สภาพบ้านเมือง ความคิดของชนชั้นปกครองและมุมมองของคนท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งฉายชัดและซ่อนแฝงคละเคล้ากันอยู่ในตัวบทของเรื่องเล่า ทั้งโดยจงใจและไม่ได้ตั้งใจของผู้เขียน
ให้อนุชนได้รู้เห็นเรื่องราวเค้ามูลแต่หนหลังของบรรพชนและท้องถิ่นที่ผู้เขียนได้ประสบพบเห็นด้วยตัวเอง ไม่ใช่คำเล่าขานต่อกันมาเฉกเช่นเดียวกับภาพถ่ายที่เล่าความตามจริง ณ เวลานั้น
ในยุคทุกวันนี้ภาพถ่ายกลายเป็นของธรรมดาอย่างหนึ่ง ทุกคนมีกล้อง ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านล่วงแทบไม่มีเรื่องใดที่ไม่ได้รับการบันทึกไว้ต่างอย่างสิ้นเชิงจากเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนที่เป็นสิ่งหาได้ยากยิ่ง น้อยคนที่จะได้ถ่ายภาพ และน้อยยิ่งกว่าที่จะได้เป็นผู้ถ่ายภาพ ด้วยข้อจำกัดที่ยุ่งยากซับซ้อนทั้งด้านอุปกรณ์และเทคนิควิธีการในยุคแรกเริ่มของการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นการบันทึกภาพด้วยฟิล์มกระจก
การถ่ายภาพในเมืองไทยเริ่มต้นจากพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์กับบาทหลวงลาร์นอดีนำกล้องถ่ายรูปจากฝรั่งเศสเข้ามาในสยาม เมื่อปี ๒๓๘๘ เป็นกล้องแบบดาแกโรไทป์ ซึ่งถ่ายภาพลงบนแผ่นเงินครั้งเดียว ทำสำเนาไม่ได้ ต่อมาการถ่ายภาพพัฒนามาใช้กระจกอาบน้ำยาเรียกว่าฟิล์มกระจก ซึ่งอัดภาพซ้ำได้ตามต้องการ ใช้กล่องไม้หรือกล่องเหล็กที่ออกแบบให้มีร่องกันกระแทกเป็นที่เก็บฟิล์ม ทำให้ภาพบันทึกอยู่ได้ยาวนานผ่านยุคสมัยมาได้
เป็นร้อย ๆ ปี ก่อนเปลี่ยนเป็นฟิล์มขาวดำ ฟิล์มสี กระทั่งเป็นไฟล์ดิจิทัลที่กำลังนิยมแพร่หลายที่สุดอยู่ในปัจจุบัน
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ กับกล้องถ่ายรูปฟิล์มกระจกยุคแรกเริ่มการถ่ายภาพในเมืองไทย สะท้อนความสนพระทัยด้านการบันทึกภาพ ภาพถ่ายอีสานในการเสด็จตรวจราชการปี ๒๔๔๙ บันทึกด้วยกล้องชนิดนี้ โดยช่างภาพฝรั่งที่ร่วมไปในขบวนเสด็จ
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพคงทรงเห็นความสำคัญของภาพถ่าย ในการเสด็จตรวจราชการอีสานเมื่อปี ๒๔๔๙ จึงให้มีช่างภาพคนหนึ่งร่วมเดินทางไปด้วยในขบวน และเขาได้ถ่ายภาพในพื้นที่ตามเส้นทางไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นหลักฐานบันทึกท้องถิ่นอีสานอันมีค่ายิ่ง
จนทุกวันนี้เมื่อกล่าวถึงอดีตของอีสาน ไม่ว่าในแง่ลักษณะทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ แม่น้ำ การเดินทางเรือและเส้นทางบก สภาพทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา จนถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะในด้านวิถีชีวิตผู้คน ชาติพันธุ์ สภาพความเป็นอยู่ การแต่งกาย การละเล่น ฯลฯ ที่ใช้เผยแพร่อ้างอิงกันอยู่ในทุกวันนี้ ก็ได้จากบันทึกและภาพถ่ายเมื่อคราวเสด็จตรวจราชการอีสานคราวนั้น
ยืนยันจากส่วนหนึ่งของคำบรรยายภาพที่มักมีระบุว่า ภาพเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสด็จตรวจราชการอีสาน พ.ศ. ๒๔๔๙ กับเครดิตภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมภาพต้นฉบับในปัจจุบัน
แต่มักไม่ได้ปรากฏชื่อช่างภาพ นอกจากไปเปิดหน้าแรกของ เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ ๔ “ว่าด้วยเที่ยวมณฑลอุดร แล มณฑลอิสาณ” ที่กล่าวถึงคณะผู้ร่วมเดินทาง จะปรากฏชื่อของ “นายเดอลารอคา ช่างถ่ายรูป ๑” เพียงแห่งเดียวที่พอให้รู้ว่าฝรั่งคนนี้คงเป็นผู้ถ่ายภาพทั้งหมดในการเดินทางตระเวนอีสานคราวนั้น ซึ่งมาถึงวันนี้สิ่งที่เขาทำไว้นับเป็นคุณูปการอย่างสำคัญต่อวงการประวัติศาสตร์
แต่ตัวตนของเขาดูเลือนรางห่างหายจากการรับรู้ ตามสัจธรรมของชีวิตที่วันหนึ่งเราต่างต้องถูกลืม ! โดยเฉพาะในหมู่สามัญชนคนเล็กคนน้อย
การต้มดักแด้สาวเอาเส้นไหมมาทอผ้า ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงบันทึกว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่งของชาวบ้านอีสานเวลานั้น ซึ่งยังต่อเนื่องเฟื่องฟูมาจนปัจจุบัน
ภาพชาวเมือง ข้าราชการ และเจ้าเมืองในอีสานที่เผยแพร่อ้างอิงกันเมื่อกล่าวถึงภูมิภาคนี้สมัย ๑๐๐ ปีก่อน ส่วนหนึ่งมักเป็นภาพจากการเสด็จตรวจราชการปี ๒๔๔๙
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ คงเห็นความสำคัญของภาพถ่าย ในการเสด็จตรวจการอีสาน เมื่อปี ๒๔๔๙ จึงให้มีช่างภาพคนหนึ่งร่วมเดินทาง
ไปด้วยในขบวน และเขาได้ถ่ายภาพในพื้นที่ตามเส้นทางไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นหลักฐานบันทึกท้องถิ่นอีสานอันมีค่ายิ่ง
จุดพักขบวนระหว่างทางเสด็จ ซึ่งกรมศิลปากรบรรยายภาพว่าเป็นทุ่งนาป่าดงแถบขอบทุ่งกุลา จังหวัดร้อยเอ็ด
หน้าร้อนต้นเดือนเมษายน ๒๕๖๘ ที่เราเริ่มออกเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่อีสาน เป็นช่วงฤดูที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพกลับจากตรวจราชการแล้ว พระองค์เริ่มเสด็จออกอีสานเมื่อกลางฤดูหนาวของปี ๒๔๔๙ ตระเวนไปทั่วอีสานเกือบ ๒ เดือน จนเข้าสู่ฤดูร้อน
ช่วงแรกสุดของการเดินทาง โดยสารรถไฟหัวจักรไอน้ำซึ่งเพิ่งมีทางรถไฟมาถึงโคราชเมื่อปี ๒๔๔๓ ใช้เวลาเดินทาง ๖ ชั่วโมง ๔๕ นาที ซึ่งไม่ได้ต่างกันมากจากการเดินทางด้วยรถยนต์บนถนนสี่เลนแปดเลนในทุกวันนี้ ที่ใช้เวลาจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาราว ๕ ชั่วโมง
ปัจจุบันมีถนนหนทางดี รถสมรรถนะสูงทำความเร็วได้มากกว่ารถไฟเครื่องจักรไอน้ำ แต่ด้วยความหนาแน่นของการจราจร และการซ่อมสร้างที่ไม่เคยสำเร็จเสร็จสิ้นของเส้นทางแต่ละช่วง ทำให้การเดินทางใช้เวลาแทบไม่ต่างจากเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน
ก่อนมีรถไฟสายอีสาน การเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ที่ราบสูงต้องข้ามเทือกเขาดงพญาไฟ
ชื่อเดิมของเทือกเขาที่แบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดสระบุรี
ของภาคกลางกับจังหวัดนครราชสีมา ภาคอีสาน ที่คนโบราณกล่าวกันว่าอยู่สูงกว่ากรุงเทพฯ เจ็ดชั่วต้นตาล ครั้งบรรพกาลมีช่องเขาที่ข้ามไปมาได้แต่การเดินเท้า “จะใช้ล้อเกวียนหาได้ไม่” ตามที่ปรากฏใน เที่ยวตามทางรถไฟ กระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปเมืองนครราชสีมาผ่านเส้นทางนี้ก็ทรงพระดำริว่า “ไม่ควรเรียกว่าดงพระยาไฟให้คนครั่นคร้าม จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอเปลี่ยนนามให้เรียกเสียว่าดงพระยาเย็น” ทางรถไฟสายอีสานช่วงข้ามเทือกเขาดงพญาเย็นอยู่ระหว่างสถานีปากเพรียว (ปัจจุบันคือสถานีสระบุรี) แก่งคอย หินลับ และมวกเหล็ก แต่เส้นทางหลักที่ใช้กันมากที่สุด ในปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ หรือถนนมิตรภาพ ข้ามช่องเขาดงพญาเย็นแถวทับกวาง-กลางดง
เมื่อคราวพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพ-สิทธิประสงค์ เสด็จมารับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ประจำหัวเมืองลาวกลาง ทรงเดินทางด้วยเกวียนจากกรุงเทพฯ ผ่านสระบุรี จันทึก ถึงนครราชสีมา ใช้เวลา ๒๒ วัน
กระทั่งมีรถไฟทางไกลสายแรกในสยามจากกรุงเทพฯ ไปถึงอยุธยา เมื่อปี ๒๔๓๙ จากนั้นรัฐบาลสยามก็ตัดสินใจสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมาต่อในทันที ซึ่งวิเคราะห์กันว่าคงด้วยความหวาดหวั่นต่อท่าทีของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสในอาณาบริเวณลุ่มน้ำโขงที่กำลังแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งเป้าหมายในการยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางของสยามกับพื้นที่อีสานด้วย
แนวคิด นโยบาย และปฏิบัติการของชาติมหาอำนาจทางตะวันตกในการขยายอำนาจและอิทธิพลของตนเข้ายึดครองดินแดนที่มองว่าล้าหลังและด้อยความเจริญในทวีปต่าง ๆ ในรูปของการล่าอาณานิคมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ในการกอบโกย วัตถุดิบทรัพยากรไปยังศูนย์กลางของจักรวรรดิ รวมทั้งเป็นตลาดในการระบายสินค้า
ดังพระราชดำรัสในรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเปิดทางรถไฟสายนี้ตอนหนึ่งว่า “เมื่อประชาชนได้คบหาไปมาถึงกันมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยมีทางรถไฟใช้ง่ายแล้ว คงจะกระทำน้ำใจที่มีความรักใคร่ซึ่งกันแลกันนั้นก็ดี แลความรักบ้านเมืองของตนด้วยก็ดีให้แข็งแรงยิ่งขึ้น”
และผลที่เกิดก็เป็นดังเป้าหมายในพระราชดำรัสเมื่อครั้งริเริ่มการก่อสร้าง
“บรรดาการค้าขายอันเป็นสมบัติของบ้านเมืองจะรุ่งเรืองวัฒนาขึ้นโดยส่วนหนทางนั้น เราจึงได้อุตสาหะคิดจะทำการรถไฟให้สมกับกำลังบ้านเมือง”
การมาของทางรถไฟสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับท้องถิ่น
ตามที่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยระบุไว้ในรายงานเสด็จตรวจราชการเมืองนครราชสีมา ร.ศ. ๑๒๑ (ปี ๒๔๔๕) บางส่วนว่า
...พ่อค้ามณฑลอิสาณ อุดร ไม่รับซื้อสินค้าจากพ่อค้าโคราชดังแต่ก่อน ลงไปซื้อเสียเองที่กรุงเทพฯ
...สินค้าขึ้น ของจากกรุงเทพฯ ขึ้นหมดทุกอย่าง มีน้ำแขงเปนที่สุด
...ปลาย่าง ปลากรอบ คนโคราชไปบรรทุกเกวียนมาคราวละกว่า ๕๐-๖๐ เล่ม มาแต่พระตะบองแล้วบรรทุกรถไฟลงไปขายกรุงเทพฯ
...โรงเรือนมุงสังกสีมาก มีโรงแถวปลูกขึ้นใหม่มาก ทั้งในเมืองแลนอกเมืองเกือบตลอดถึงสะเตชั่น มีโรงรับจ้างทำอิฐ ทำกระเบื้อง
...ราคาที่ดินแรงขึ้น ที่ริมถนนทอ้งตลาดราคาถึงวาละ ๖ บาท ๗ บาท...
ทางรถไฟช่วยย่นเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอุบลราชธานีลงได้มาก จากเส้นทางเดิมที่ต้องไปทางปราจีนบุรี-อรัญประเทศ-ศรีโสภณ-สุรินทร์ ต้องใช้เวลา ๗๗ วัน แต่เมื่อมีรถไฟถึงโคราช สามารถขนถ่ายสินค้าจากสถานีรถไฟในตัวเมืองไปลงเรือกลไฟที่ท่าช้าง ล่องลำน้ำมูลในฤดูฝนไปยังอุบลราชธานีได้อย่างสะดวก
เมื่อปี ๒๔๔๙ ทางรถไฟเพิ่งมีไปถึงเพียงเมืองโคราช ต่อจากนั้นเป็นการเดินทางที่คนยุคนี้คงนึกไม่ออก และแทบจะไม่มีแล้ว เดินทางกลางป่าไปบนหลังม้า ขี่ช้าง นั่งเกวียนหรือระแทะ ตามทางที่เลียบไปกับสายโทรเลข
ระบบโทรคมนาคมล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้น อาศัยอุปกรณ์ไฟฟ้าแปลงข้อความเป็นรหัสผ่านเครื่องส่งจากที่หนึ่งไปยังเครื่องรับอีกที่หนึ่ง แล้วแปลงสัญญาณโทรเลขเป็นข้อความ โดยต้องมีการวางสายยาวไปตามเสาในพื้นที่บริการเหมือนสายไฟฟ้า โทรเลขมีข้อจำกัดที่ต้องเสียเวลาแปลรหัส ต่อมาจึงเสื่อมความนิยมลงเมื่อมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วกว่ามาแทนที่ กระทั่งบริษัทไปรษณีย์ไทยตัดสินใจยกเลิกการให้บริการไปเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๑
พาหนะ ขบวน ผู้ติดตาม เรือนประทับแรม ตามคำบรรยายของกรมศิลปากรว่าภาพนี้เป็นที่บ้านหินลาด แขวงเมืองขอนแก่น
เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารจากโลกตะวันตกที่สุดล้ำสมัยในเวลานั้น และบางท้องที่เริ่มพัฒนาถึงขั้นมีโทรศัพท์ให้ใช้แล้วด้วย
ตามพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ
“...อธิบดีกรมโทรเลขที่ให้พนักงานไปกับฉันด้วยพวกหนึ่ง ถึงที่พักแรมเขาเอาเครื่องต่อเข้ากับสายโทรเลข อาจจะพูดกับกรุงเทพฯ ได้ทุกวัน ที่ออกห่างจากโทรเลขจะพูดกับกรุงเทพฯ ไม่ได้ ไม่กี่วัน การคมนาคมกับกรุงเทพฯ เมื่อไปครั้งนั้นจึงสะดวกเสียยิ่งกว่ามณฑลที่ใกล้ ๆ บางแห่ง”
รายงานการตรวจราชการถึงกรุงเทพฯ ทำได้อย่างทันการณ์ผ่านการสื่อสารทั้งสองช่องทางนี้ รวมทั้งสื่อสารและสั่งการถึงเจ้าเมือง กรมการ และผู้สำเร็จราชการมณฑลต่าง ๆ
ดังที่พระองค์รายงานการเดินทางผ่านทางโทรเลขถึงกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๔๙ ซึ่งยังเป็นช่วงฤดูหนาว เวลานั้นพระองค์อยู่ที่เมืองสกลนคร มณฑลอุดร “วิธีเดินทาง ใช้รีบเดินเสียตอนเช้า ออกสว่างถึงที่พักแรมราว ๔ โมงเช้า เอาเวลาบ่ายเปนเวลาพัก”
กระทั่งเข้าสู่มณฑลอีสาน เมื่อเริ่มเข้าฤดูร้อน แผนการเดินทางก็ถูกปรับเปลี่ยน “เปนทุ่งทรายมาก ถ้าถูกร้อนจัด จะเดินทางกลางคืนแต่ ๑๐ ทุ่ม ไปถึงที่พักราว ๓ โมงเช้า”
ช่วงปลายของการเดินทางในเดือนกุมภาพันธ์จึงเสด็จเวลากลางคืน
“เวลา ๑๐ ทุ่มขึ้นระแทะออกเดินทางต่อไป การเดินทางบกคราวนี้ตัวนายขี่ม้า พวกพลไพร่และสิ่งของไปเกวียน วิธีเดินทางขาไป เมื่อยังหนาว กลางคืนเวลาดึกราว ๓ ยาม ให้เกวียนครัวออกล่วงหน้าไปพวกหนึ่ง ไปหาข้าวเช้าคอยอยู่ที่ ๆ พักร้อน พอเช้าขี่ม้ารีบไปให้ถึงที่พักร้อนและที่พักแรมในตอนเช้าก่อนเที่ยง ตอนบ่ายได้พักม้าแลมีเวลาเที่ยวเดินดูภูมิลำเนา กระบวนเกวียนบรรทุกของตามไปถึงในเวลาบ่าย เดินโดยวิธีอย่างว่านี้ทุกวัน ครั้นขากลับเมื่อเข้าแดนมณฑลนครราช-สีมา ตอนนี้พอเข้าฤดูร้อนก็ร้อนจริง ๆ เวลาแดดแข็งผู้คน พาหนะเดินทางทนไม่ไหว จึงต้องเปลี่ยนเวลาใหม่ พอกินข้าวเย็นแล้ว ราวเวลายาม ๑ ให้เกวียนล่วงหน้าออกเดิน กระบวนม้าแลเกวียนตามออกเดินเวลา ๓ ยามกับ ๑๐ ทุ่ม ต้องจุดไต้นำ จึงมักไประแทะที่กรมขุนสรรพสิทธิทรงทำประทานมาให้ใช้ จนรุ่งสว่างจึงขึ้นขี่ม้า”
การเสด็จตรวจราชการด้วยการขี่ม้านี้ ม.จ. หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ที่มักได้ตามเสด็จไปด้วย เล่าไว้ในงานนิพนธ์ ชีวิตและงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “ท่านตรัสว่า ต้องให้ม้ามันรู้จักใจเราเสียก่อนจึงค่อยใช้มัน” จากนั้น “ท่านก็บอกผู้นำว่า ‘ไป’ คำเดียว แล้วก็ออกวิ่งกันสนุก วิ่งไปสัก ๑๐ นาที แล้วก็หยุดเดินเตาะแตะไปใหม่ ท่านว่าถ้าเราเหนื่อย ม้ามันก็เหนื่อยเหมือนกัน วิ่ง ๆ หยุด ๆ ไปอย่างนี้ จนเที่ยงก็หยุดกินกลางวัน บางทีก็ที่วัด ที่หมู่บ้านที่ใต้ต้นไม้ เอาผ้าเอากระดาษปูนั่ง”
เรื่องเสบียงอาหารนั้น “ทุกคนมีข้าวหลามเหน็บอานม้าคนละกระบอก ไข่ต้มคนละใบ กับห่อเกลือพริกไทยใส่กระเป๋าเสื้อ”
ส่วนที่ประทับแรม บางแห่ง “เป็นเรือนไม้ไผ่มุงด้วยใบพลวง พื้นเป็นฟาก ไม่มีตะปูเลยสักตัว เพราะเขาใช้ตอกมัด ตามเสาตามฝาเขาเอากระบอกไม้ไผ่ใส่เฟิร์นบ้าง กล้วยไม้บ้าง ตกแต่งติดห้อยเป็นระยะ ๆ สวยงาม ส่วนแคร่ไม้ไผ่ใต้ต้นไม้ก็แสนจะร่มเย็นเป็นสุข”
เดินทางได้วันละราว ๒๐-๓๐ กิโลเมตร จากมณฑลนครราชสีมามุ่งไปทางมณฑลอุดร หรือพื้นที่แถบอีสานเหนือในปัจจุบัน โดยเส้นทางใกล้เคียงกับแนวถนนมิตรภาพเวลานี้
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ ทางหลวงเอเชียหมายเลข AH12 เป็นถนนสายหลักจากภาคกลางสู่อีสานในปัจจุบัน จากสระบุรีถึงสะพานมิตรภาพหนองคาย ระยะทาง ๕๐๘ กิโลเมตร เริ่มเปิดใช้เมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ เดิมเป็นถนน ๒ เลน ปัจจุบันขยายเป็น ๔-๑๐ ช่องจราจร
กองเกวียนนอกจากเพื่อการโดยสารยังเป็นหน่วยเสบียงด้วย ซึ่งจะออกล่วงหน้าไปก่อน เตรียมอาหารไว้รอขบวนอยู่ตามจุดพักตามมื้ออาหาร
ในพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ไม่มีกล่าวถึงขบวนช้าง แต่คำบรรยายบนภาพนี้ ระบุว่าเป็นพาหนะในการเดินทางไปมณฑลอุดร
จากตัวเมืองโคราชผ่านเมืองชนบท ขอนแก่น กุมภวาปี ถึงที่ทำการมณฑลที่เมืองหมากแข้ง และได้เห็นแม่น้ำโขงที่หนองคาย ในวันที่ ๑๘ ของการเดินทาง ซึ่งในปัจจุบันสามารถขับรถไปกลับได้ภายในวันเดียว
จากเมืองตอนบนสุดริมฝั่งโขง คณะตรวจราชการล่องเรือลงมาตามลำน้ำโขง จากหนองคาย ผ่านโพนพิสัย บึงกาฬ ไชยบุรี ท่าอุเทน จนถึงนครพนม ใช้เวลาเดินทางเพียง ๓ วัน
ด้วยศักยภาพของเรือกลไฟ ลาแครนเดีย ที่เคาเวอเนอเยเนราลให้มาใช้ในการเดินทาง
เป็นตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศส ประจำเมืองในอาณานิคม
จากริมฝั่งโขงเมืองนครพนม คณะตรวจราชการใช้เส้นทางบกตามสายโทรเลขมายังเมืองกุรุคุ เมืองกุสุมาลย์ จนถึงเมืองสกลนคร แล้วเลียบเทือกเขาภูพานไปยังนาแก เรณูนคร สู่ฝั่งโขงอีกครั้งที่พระธาตุพนม ลงเรือพายล่องถึงมุกดาหาร
ตามแผนเดิมตั้งใจว่าตามลำน้ำโขงไปจนถึงในแดนเขมร “ไปตรวจราชการหัวเมืองระดูแล้งปีนี้ แต่เดีมได้กะไว้ว่าจะไปมณฑลอุดร อิสาณบุรพา แล้วกลับมาลงเรือที่เมืองจันทบุรี แต่เมื่อมาคิดคำนวณวันดู ถ้าเดีนทางเต็มตามที่กะนี้จะกลับมากรุงเทพ า [กรุงเทพฯ] ก่อนเดือนมินาคมไม่ได้จะขัดกับกำหนดที่จะเสด็จประพาศยุโรป ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ตกลงว่าจะงดทางมณฑลบุรพายังไม่ไปในเที่ยวนี้ จะไปตรวจแต่มณฑลอุดรอิสาณ แล้วกลับเข้ามาทางมณฑลนครราชสิมา”
จนถึงท่าช้าง เมืองโคราช ขึ้นรถไฟกลับถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๙ รวมเวลา ๕๖ วัน นับจากวันที่เริ่มออกเดินทางเมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๔๙
เปลี่ยนปี พ.ศ. วันที่ ๑ เมษายน
สิ้นสุดการเสด็จตรวจราชการ แต่ร่องรอยเรื่องราว เนื้อหา และปรัชญาซ่อนแฝงในราชกิจครั้งนั้น ยังมีประเด็นให้แกะรอยตีความได้มากมายมาจนทุกวันนี้
บึ่งทุ่งสร้าง เมืองขอนแก่น เมื่อปี ๒๔๔๙ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าเป็นที่แข่งเรือประจำปีของคนท้องถิ่น ปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๘) เป็นสวนสาธารณะที่ออกกำลังกายประจำวันของชาวเมือง รวมทั้งการพักผ่อน ตกปลา วางข่ายตามวิถีหาอยู่หากินของชาวถิ่นอีสาน
ภาพล่าง : ประเวช ตันตราภิรมย์
ก่อนมาเป็นส่วนใบขวานของแผนที่สยาม “อีสาน” เคยเป็น “ลาว” มาก่อน ตามนามหัวเมืองก่อนจะเป็นมณฑลภาค และภูมิภาคแบ่งเป็น ๒๐ จังหวัดในปัจจุบัน
ขับรถตามถนนมิตรภาพในทุกวันนี้เมื่อข้ามเทือกเขาดงพญาเย็นแถวแก่งคอย มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เข้าสู่พื้นที่ปากช่อง จังหวัดนคร-ราชสีมา ก็นับว่าได้เข้าสู่เขตพื้นที่ “หัวเมืองลาวกลาง” เมื่อครั้งอดีตแล้ว ซึ่งในปี ๒๔๔๙ เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลนครราชสีมา” แล้ว ตั้งแต่ปี ๒๔๓๗ พื้นที่กินคลุมถึงชัยภูมิและบุรีรัมย์ด้วย
ก่อนนั้นหัวเมืองลาวแถบลุ่มน้ำโขงทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ตกมาอยู่กับสยามตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เป็นเมืองประเทศราชชายพระราชอาณาเขตในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมารวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าเป็น “หัวเมือง” อำนาจการปกครองอยู่กับเจ้าเมือง กรมการในท้องถิ่น แสดงสายสัมพันธ์ด้านอำนาจกับส่วนกลางผ่านการส่งส่วย สิ่งของ และแรงงาน
ตามความใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ว่า เมื่อปี ๒๓๒๖ รัชกาลที่ ๑ สั่งให้เกณฑ์เลกหัวเมืองขึ้นทั้งไทยลาวเขมรทั้งปวง ก่อกำแพงสร้างพระนครใหม่ ขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่วัดเชิงเลนขึ้นมาถึงวัดสะแก ไปถึงวัดบางลำพู
และในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไปทำบัญชีเลกชายฉกรรจ์ในพื้นที่ “ลาวฝ่ายตะวันออก” “เขมรป่าดง” ตามที่ปรากฏหลักฐานใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายภาพการปกครองท้องถิ่นโบราณที่เรียกว่ากินเมือง อย่างดูถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน “ผู้เป็นเจ้าเมืองต้องทิ้งธุระของตนมาประจำทำการปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากภัยอันตราย ราษฎรก็ต้องตอบแทนคุณเจ้าเมืองด้วยการออกแรงช่วยทำการงานให้บ้าง หรือแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้ เช่น ข้าวปลาอาหารเป็นต้น อันมีเหลือใช้ให้เป็นของกำนัล ช่วยอุปการะมิให้เจ้าเมืองต้องเป็นห่วงในการหาเลี้ยงชีพ”
ทั้งเล่าถึงการสร้างเมืองและการเกิดขึ้นของเจ้าเมืองใหม่ ๆ ไว้อย่างละเอียด เมื่อเสด็จตรวจราชการมาถึงเมืองสกลนคร เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๔๙
“เมืองสกลนครนี้เปนเมืองโบราณแต่ครั้งขอม แต่ร้างไปเสีย พึ่งกลับตั้งเปนเมืองขึ้นอิกชั้นหลัง เมื่อในรัชกาลที่ ๓ มีท้องตราเก่า พระยาประจันตประเทศธานีรักษาไว้ฉบับ ๑ ได้ความเรื่องตั้งเมืองสกลนครและเมืองอื่น ๆ ในมณฑลนี้เปนเรื่องน่าพิศวง คือเมื่อครั้งเมืองเวียงจันท์เปนขบถ กองทัพกรุงเทพฯ ขึ้นไปปราบปรามตีได้เมืองเวียงจันท์กวาดคนลงมาเปนเชลยแล้ว โปรดให้แบ่งราษฎรทางหัวเมืองที่ไม่ได้เปนขบถไปตั้งเมืองในเขตรเวียงจันท์ที่ตีได้ คือ เมืองหนองคาย เปนต้น ผู้คนทางข้างใต้ลงมาเบาบางไป และครั้งนั้นปรากฏว่าพวกราษฎรทางมณฑลนี้หนีไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ทางหัวเมืองต่อแดนญวน ตั้งแต่ครั้งกองทัพไทยไปตีเมืองเวียงจันท์ครั้งกรุงธนบุรีแลครั้งหลังนี้มีอยู่เปนอันมาก จึงโปรดให้ไปเกลี้ยกล่อมพวกท้าวพระยาหัวน่าคนที่หนีไปนั้น มีใครสมัคกลับมาก็ทรงตั้งให้มียศศักดิ์เปนตำแหน่งเจ้าเมืองกรมการ ยกที่ร้างตำบลต่าง ๆ ขึ้นเปนเมือง พวกท้าวพระยาเหล่านั้นเมื่อไปตั้งอยู่ที่เมืองใหม่ จึงไปเกลี้ยกล่อมพวกพ้องของตัวทางฝั่งซ้ายกลับมา ครั้นกิติศัพท์ปรากฏก็มีพวกหัวน่าที่อยากจะเปนเจ้าเมืองมากขึ้นพากันกลับมาสามิภักดิ ก็โปรดให้เปนเจ้าเมือง แลตั้งเมืองอื่น ๆ ขึ้นอิกต่อไป ด้วยเหตุนี้ที่ร้างจึงกลับเปนเมืองขึ้น บางทีถึงแย่งที่กันตั้งเมือง ดังปรากฏเช่นกล่าวมาที่เมืองไชยบุรี พวกชาวเมืองท่าอุเทนเดิมอพยพกลับมาจะมาอยู่เมืองท่าอุเทน มีพวกอื่นมาตั้งอยู่เสียก่อนแล้ว พวกชาวท่าอุเทนเดิมจึงต้องตั้งอยู่เมืองไชยบุรีจนทุกวันนี้ วิธีตั้งเมืองดังกล่าวมานี้เปนประโยชน์ตลอดรัชกาลที่ ๓ ครั้นภายหลังเมื่อคนที่แตกฉานซ่านเซนกลับมาอยู่ฝั่งนี้โดยมากแล้ว พวกท้าวพระยาในเมืองที่ตั้งใหม่อยากจะได้เปนเจ้าบ้านเจ้าเมือง ขอคุมสมัคพรรคพวกของตัวไปตั้งเมืองอื่นอิก จึงได้ตั้งเมืองใหม่ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ จนความปรากฏว่าวิธีการตั้งเมืองใหม่ในชั้นหลัง เปนแต่แย่งคนแย่งท้องที่กันในพระราชอาณาเขตรนี้เอง จึงโปรดให้เลิกวิธีตั้งเมืองใหม่ทางมณฑลนี้เสียเมื่อในรัชกาลที่ ๕”
ยุคนั้นทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเป็นอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส ระหว่างเสด็จริมโขงฝั่งขวา บางเมืองจะมีข้าราชการฝรั่งเศสมาร่วมรับเสด็จด้วย
แต่ในมุมของนักวิชาการประวัติศาสตร์ชั้นหลังมองว่า การออกประกาศยกเลิกการตั้งเมืองใหม่ ปี ๒๔๒๘ เป็นการแทรกแซงกิจการภายในเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของกลุ่มอำนาจท้องถิ่นที่ดำเนินมานับศตวรรษ ซึ่งรัฐบาลสยามเห็นว่าเป็นรากฐานอำนาจและผลประโยชน์ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการสร้างรัฐรวมศูนย์ จึงเกิดปฏิบัติการตามที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสตั้งข้อสังเกตว่า “ราชสำนักบางกอกก็ปรากฏว่ามีแนวโน้มที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการปกครองภายในอำเภอต่าง ๆ มากขึ้น และยังทำการสับเปลี่ยนพวกขุนนางท้องถิ่นด้วยข้าราชการสยาม”
ระบบกินเมืองขัดแย้งกับการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รัฐบาลสยามจึงจัดตั้งระบบเทศาภิบาลขึ้น รวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล ซึ่งปรับเปลี่ยนการแบ่งเขตพื้นที่และเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง
นับแต่จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสแผ่อิทธิพลมาถึงภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เมื่อทศวรรษ ๒๓๙๐ จนถึง ๒๔๕๐ บีบคั้นราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ ๔ ให้ลงนามในสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๑๐ ให้สละดินแดนเขมรส่วนนอกที่สยามอ้างสิทธิ์ปกครองอยู่ก่อน ไม่ต้องส่งบรรณาการให้กรุงเทพฯ อีกต่อไป จากนั้นก็มีการเจรจาปักปันเขตแดนหัวเมืองในลุ่มน้ำโขงตั้งแต่หลวงพระบางลงมาจนถึงจำปาศักดิ์
ต่อมารัชกาลที่ ๕ ทรงมองเห็นภัยคุกคามจากมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมและสภาพการปกครองภายในพระราชอาณาจักรก็ยังขาดเอกภาพ ด้วยโครงสร้างการปกครองเดิมที่ล้าสมัย ดังพระราชปรารภ
“...ราชาธิปไตย (Empire) โดยปกครองแบบคนต่างชาติต่างภาษาเป็นเมืองขึ้น จึงถือหัวมณฑลชั้นนอก ๓ มณฑลนั้นเป็นเมืองลาว และเรียกชาวเมืองซึ่งอันที่จริงเป็นชนชาติไทยว่าลาว เป็นอันพ้นเวลาอันสมควรแล้ว ถ้าคงไว้จะกลับให้โทษแก่บ้านเมือง...”
ปี ๒๔๓๓ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกและบริเวณเขมรป่าดง โดยแบ่งพื้นที่เป็นสี่ส่วนและให้ข้าราชการจากกรุงเทพฯ ไปเป็นผู้ปกครองสูงสุด
“หัวเมืองลาว” คำเรียกรวม ๆ ที่ราชสำนักและชนชั้นปกครองสยามใช้เรียกบ้านเมืองที่มีชาติพันธุ์อาศัยอยู่ ล้านนา หลวงพระบาง ที่ราบสูงโคราชจดแม่น้ำโขงทั้งสองฝั่ง เวียงจันท์ จำปาศักดิ์
“เขมรป่าดง” เรียกผู้คนและพื้นที่ทางใต้ของโคราช ติดกับเขมรและจำปาศักดิ์ตอนใต้
หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก มีกองว่าการเมืองอยู่ที่จำปาศักดิ์
หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งกองว่าการอยู่ที่อุบลราชธานี
หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ อยู่ที่หนองคาย
และหัวเมืองลาวฝ่ายกลาง อยู่ที่นครราชสีมา
ปีต่อมาสี่หัวเมืองลาวนี้ถูกรวบเข้าเป็นสามหัวเมือง จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอสามพระองค์เป็นข้าหลวงใหญ่ไปประจำการปกครองหัวเมืองเมื่อปี ๒๔๓๔ มีอำนาจในการกำกับราชการหัวเมืองต่อเจ้าเมือง กรมการ กรณีสำคัญหรือเหตุการณ์เกินกำลังให้เสนอเรื่องถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำขึ้นกราบบังคมทูลฯ
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่ หัวเมืองลาวกลาง ประจำอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ต่อมาปี ๒๔๓๖ เสด็จไปเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสาน
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวกาว (ต่อมาเป็นมณฑลอีสาน) ประจำการอยู่ที่อุบลราชธานี
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่ หัวเมืองลาวพวน ประจำอยู่ที่หนองคาย ต่อมาย้ายมาที่บ้านหมากแข้ง หรืออุดรธานี
อีกปีถัดมาปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินจากแบบจตุสดมภ์ เปลี่ยนเป็นกระทรวง กรม กองตามอย่างตะวันตก รวบรวมอำนาจจากเจ้าเมืองท้องถิ่นเข้าสู่กรุงเทพฯ มาอยู่ในรูปเทศาภิบาล ข้าหลวงตามเมืองต่าง ๆ รับนโยบายและคำสั่งจากรัฐศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ
รวมทั้งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ ซึ่งได้เสด็จมาตรวจราชการทั่วอีสานในปี ๒๔๔๙
เวลานั้นหัวเมืองลาวกลางเดิมซึ่งกินคลุมพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ในปัจจุบัน ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลลาวกลาง เมื่อปี ๒๔๓๗ และเป็นมณฑลนครราชสีมาเมื่อปี ๒๔๔๒
หัวเมืองลาวพวนแต่เดิมกินคลุมตั้งแต่แนวเทือกเขาภูพานไปจนถึงฝั่งโขง และหัวเมืองทางฝั่งซ้ายอีกหลายเมือง รวมทั้งเมืองพวน แต่ภายหลังสยามเสียสิทธิ์เหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (ปี ๒๔๓๖) เหลือหกเมืองที่อยู่ในแถบอีสานเหนือปัจจุบัน และต้องย้ายที่ตั้งกองว่าการมณฑลจากริมแม่น้ำโขงที่เมืองหนองคายมายังบ้านหมากแข้งที่เป็นตัวจังหวัดอุดรธานีทุกวันนี้ตามเงื่อนไขของฝรั่งเศส
ห้ามสยามสร้างด่าน ค่าย คู หรือที่อยู่ของทหารในเขต ๒๕ กิโลเมตร หรือ ๖๒๕ เส้นจากเขตฝั่งขวาแม่น้ำโขง รัฐบาลจึงมีคำสั่งถึงข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวกาวและมณฑลลาวพวนให้ปล่อยคนฝั่งซ้ายกลับบ้านเมืองเดิม ให้รื้อถอนค่ายทหารในเขต ๒๕ กิโลเมตรริมฝั่งโขงขึ้นมา และให้ถอนด่าน ห้ามเก็บภาษีเข้าออกบริเวณนั้น
และเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลลาวพวนเมื่อ ปี ๒๔๓๗ ต่อมาปี ๒๔๔๒ เปลี่ยนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ และเปลี่ยนเป็นมณฑลอุดรในปีถัดมา
หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือและหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกที่เป็นพื้นที่แถบอีสานกลาง อีสานใต้ จนถึงเมืองจำปาศักดิ์ที่อยู่ทางใต้ของอุบลราชธานีทุกวันนี้ รวมเข้าเป็นหัวเมืองลาวกาว แล้วเปลี่ยนเป็นมณฑลลาวกาวเมื่อปี ๒๔๓๔ จากนั้นเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือในปี ๒๔๔๒ และในปีต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อมณฑลตามทิศด้วยคำไทยโบราณ มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือจึงเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน
นับเป็นครั้งแรกของการปรากฏคำว่า “อีสาน” ในฐานะคำเรียกพื้นที่ราบสูงทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง
กำหนดเรียกพื้นที่ริมฟากฝั่งเมื่อหันหน้าไปทางเดียวกับการไหลของแม่น้ำ ฝั่งซ้าย-ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ถูกเรียกเป็นทางการครั้งแรกในสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ (ปี ๒๔๓๖) ก่อนนั้นคำนี้ไม่เคยปรากฏในการเรียกขานของชาวบ้านหรือในเอกสารของชนชั้นปกครองจากกรุงเทพฯ คำนี้มีขึ้นในยุคจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส
รวมทั้งส่งเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการพัฒนาและการปกครองสมัยใหม่ รถไฟ โทรเลข การศึกษา พุทธศาสนาจากราชสำนักสยามเข้าสู่พื้นที่
ตามที่กล่าวกันในเวลานั้นว่าเพื่อความทันสมัยตามอย่างประเทศทางตะวันตก แต่นักวิชาการประวัติศาสตร์ในยุคหลังอย่าง ธงชัย วินิจจะกูล ระบุใน โฉมหน้าราชาชาตินิยม ว่า การปฏิรูประบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นการใช้คำเพื่ออำพรางการล่าอาณานิคมของสยาม ซึ่งใช้วิธีเข้ายึดครองประเทศราชและเมืองขึ้นเช่นเดียวกับจักรวรรดินิยม แต่ใช้การปฏิรูปเป็นฉากบังหน้า
อ่านต่อ EP 02