ท้ายครัว
เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย
ทุกวันนี้เมื่อเอ่ยถึง “ต้มยำกุ้ง” คงต้องยอมรับว่ามันเป็นอาหารไทยที่มีคนรู้จักมากที่สุดอย่างหนึ่ง นอกจากผัดไทย แกงเขียวหวาน ผัดกะเพรา ด้วยรสชาติที่อาจนับเป็นตัวแทนซุปสมุนไพรรสเปรี้ยวแบบตะวันออก สามารถเพิ่ม-ลดระดับรสชาติได้โดยไม่กระทบตัวตนของสูตร จนแทบทุกคนสามารถกินได้อร่อยในแบบของตัวเอง
เมื่อปี ๒๕๖๗ ต้มยำกุ้งเพิ่งได้รับการให้คุณค่าจากคณะกรรมการองค์การยูเนสโกเป็น “ตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ซึ่งคงยิ่งทำให้มีคนแสวงหาภาพจำที่แน่นอนชัดเจนขึ้นไปอีก ว่าต้มยำกุ้งที่แท้นั้นต้องหน้าตาเป็นอย่างไร
แต่มันก็เหมือนกับข้าวอื่นๆ คือยิ่งสืบค้นไปก็จะพบวิธีทำแบบต่างๆ แตกแขนงออกไปมากมาย ทำให้เห็นภาพซ้อนของต้มยำกุ้ง ซึ่งย่อมคือตัวแทนของผู้คนในแต่ละพื้นที่แต่ละเวลามากมายก่ายกองจนนับไม่ถ้วน
“แกงต้มยำกุ้งเล็ก” ในหนังสือ “ตำราปรุงอาหาร สำรับรอบปี” ของหลานแม่ครัวหัวป่าก์ (ปี ๒๔๗๖) ก็เช่นกัน สูตรเก่าแก่อายุเฉียด ๑๐๐ ปีตามบันทึกนี้ แม้คล้ายคลึงต้มยำกุ้งมาตรฐานทั่วไป แต่ก็มีจุดต่างสำคัญอย่างน้อยสองสามจุด
อยากลองทำกินไหมครับ...งั้นเตรียมกุ้งสดโดยปอกเปลือกแกะหัวไว้หาง เอาเปลือก หัว และขาคางกุ้ง ต้มกรองเป็นน้ำซุปหวานๆ ไว้
เครื่องสมุนไพรสดมีตะไคร้ ใบมะกรูด ผักชี พริกขี้หนู เครื่องปรุงใช้น้ำเคยดี น้ำพริกเผา น้ำตาลหม้อ เกลือ น้ำเชื้อ
ของแปลกตาสักหน่อยที่ระบุไว้ก็คือข้าวสารและกระเทียมเจียว
วิธีทำคล้ายต้มยำกุ้งทั่วไป คือยกหม้อน้ำเชื้อตั้งไฟ (น้ำซุปเปลือกกุ้งของเรานั่นละครับ) ใส่ตะไคร้ เกลือ ใบมะกรูด แต่ใส่ข้าวสารด้วย ต้มไปพอให้ข้าวเริ่มบานเมล็ด ระหว่างนั้นก็ผสมน้ำพริกเผา น้ำตาล น้ำมะนาว น้ำเคยนั้นถ้าไม่มีก็ใช้น้ำปลาครับ ปรุงใส่ถ้วยไว้ก่อน
เมล็ดข้าวบานดีแล้วก็ตักตะไคร้ใบมะกรูดทิ้งไป ใส่กุ้งลงคนให้ทั่ว ไม่ต้องให้สุกมากครับ ตักกุ้งใส่ชามใบใหญ่ รินน้ำซุปลง อย่าให้ติดเมล็ดข้าว ใส่น้ำพริกเผาปรุงรสที่เราเตรียมใส่ถ้วยไว้นั้นจนเปรี้ยวเค็มหวานถูกใจ โรยพริกขี้หนูสับ ผักชีหั่น แล้วก็...กระเทียมเจียว
การต้มข้าวสารในซุปต้มยำและการโรยกระเทียมเจียวตบท้าย เป็นวิธี “โบราณ” ที่ใช้กันจริงในตำรากับข้าวเก่าหลายเล่ม
ถ้าใครอยากรู้รสชาติ “ต้มยำกุ้งโบราณ” หนึ่งในหลายๆ แบบ...ก็ลองทำกินดูนะครับ