Image

Image

พฤกษศิลป์
ชีวิตใหม่หลังเกษียณ
ของ นาตยา อุดมพัฒน์

พฤกษศิลป์
พฤกษศิลปิน

เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

แฟ้มกระดาษหนีบด้วยคลิปดำตัวใหญ่ มีภาพถ่ายต้นเท้ายายม่อมและข้อมูลทางพฤกษศาสตร์มากมายหลายหน้าบ่งบอกความจริงจังของผู้วาดกับการศึกษาพืชที่เธอตั้งใจถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ

แผ่นบนสุดของแฟ้มเป็นกระดาษไขมีลายเส้นดินสอวาดต้นหนึ่งของพืชชนิดนี้

“เราจะวาดภาพบนกระดาษไขก่อน ปรับแก้ให้เรียบร้อยจนพอใจ แล้วค่อยลอกลายลงบนกระดาษวาดรูปจริง” หญิงสาวผมมีสีดอกเลาแซมอยู่ครึ่งหนึ่งอธิบายขั้นตอนที่เธอใช้วาดภาพพฤกษศิลป์ (botanical art)

เธอหยิบกระดาษแผ่นสีดำมาให้ดู มองภายนอกก็เหมือนกระดาษคาร์บอนที่ใช้ทำสำเนาเอกสาร แต่เธอเฉลยว่านี่ไม่ใช่กระดาษคาร์บอนทั่วไป

“เป็นกระดาษทำสำเนากับเครื่องเทเลกซ์ (telex) เก็บมาตั้งแต่ทำงานเป็นเลขานุการ มันไม่มีผงฟุ้งที่ทำให้กระดาษวาดภาพของเราเลอะ”

ถ้าคุณเกิดไม่ทัน เทเลกซ์คือเครื่องส่งข้อความผ่านสายโทรเลข หน้าตาคล้ายเครื่องพิมพ์ดีดองค์กรต่าง ๆ นิยมใช้ในยุคสื่อสารที่มีแค่โทรศัพท์และโทรเลข ก่อนโลกจะเกิดอินเทอร์เน็ต

อดีตเลขานุการในสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบอกว่า ปรกติกระดาษนี้ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่เธอเห็นว่าหลังใช้แล้วสภาพยังใหม่อยู่ จึงเก็บไว้เผื่อใช้ประโยชน์

ผ่านไป ๔๐ ปี ใครจะรู้ว่าวัสดุดำ ๆ ที่ปลดระวางแล้วจะเหมือนมีชีวิตใหม่ ทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญของการสร้างงานศิลปะอันเต็มไปด้วยสีสัน

ดั่งชีวิตเจ้าของภาพในวัยหลังเกษียณ

Image

เท้ายายม่อม Polynesian arrowroot (Tacca leontopetaloides) วงศ์ Dioscoreaceae  ผลงานที่ร่วมแสดงในงานนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติ Botanical Art Worldwide 2025

เท้ายายม่อม

นาตยา อุดมพัฒน์ หญิงสาวร่างเล็ก ท่วงท่าคล่องแคล่วเรียนวิชาคหกรรม เอกอาหารและโภชนาการ ในระดับ ปวช. ปวส. จนจบปริญญาตรี จากนั้นสอบได้ทุน ก.พ. ไปเรียนต่อวิชาเลขานุการที่วิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ฝึกจดชวเลข (shorthand) สำหรับบันทึกการประชุมให้ผู้บริหาร กลับมาแล้วสักพักจึงได้งานเลขานุการที่สภาพัฒน์

ไม่แปลกที่แป้งเท้ายายม่อมจะเป็นชื่อคุ้นเคยตั้งแต่เธอเป็นนักศึกษาเรียนทำอาหาร ใช้ทำขนมเนื้อนุ่มเหนียว เช่น ขนมชั้น ขนมน้ำดอกไม้ แต่เธอไม่เคยเห็นต้นจริง จนเมื่อมาตั้งใจวาดภาพเพื่อเข้าร่วมนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติ Botanical Art Worldwide 2025 ในหัวข้อ “มรดกพืชพรรณธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ”

“เขาจะเอาหัวใต้ดินไปทำเป็นผง เทน้ำกวนให้เข้ากันแล้วกรองน้ำออก ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนได้เป็นแป้ง”

ตามข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ระบุว่า เท้ายายม่อมเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี หัวใต้ดินแท้จริงคือลำต้น

เท้ายายม่อมที่ใช้เป็นต้นแบบวาด เธอซื้อหัวมาปลูกเองในกระถางตั้งแต่ ๒ ปีก่อน ครั้งหนึ่งเธอขุดหัวขึ้นมาแล้วก็ต้องประหลาดใจ เพราะมี “ไหล” เป็นลำต้นเลื้อยใต้ดินและยังงอกหัวใหม่อีกหัว เมื่อถามนักพฤกษศาสตร์ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นลักษณะสำคัญ แนะนำให้เธอวาดไว้ในรูป

“พอวาดเสร็จเราก็ขุดฝังหัวลงดินให้โตใหม่ เป็นข้อดีที่เราปลูกเอง”

ภาพส่วนหัวใต้ดินทรงกลมแป้น งอกก้านใบชูตั้งขึ้นมาเหมือนลำต้นเหนือดิน และ “ไหล” กับหัวใหม่สีขาว จึงปรากฏเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ภาพวาดพฤกษศาสตร์เท้ายายม่อมครบถ้วน เสริมเติมส่วนดอกและใบที่ต้องวาดเป็นภาคบังคับเพราะแสดงลักษณะเฉพาะของชนิดพืชนั้นชัดเจนที่สุด เธอต้องคอยพืชโตจนออกดอก ใช้เวลาวาดอยู่นานกระทั่งดอกกลายเป็นผล ผลกลายเป็นฝัก ไม่เว้นแม้แต่เมล็ดข้างในฝักแห้ง ซึ่งเธอใช้มีดผ่าฝักออกเพื่อเผยเมล็ดจำนวนมากที่ซ่อนอยู่

“เวลาวาดภาพเหมือนได้อยู่กับตัวเอง เกิดสมาธิ คล้ายจดจ่อกับลมหายใจเข้าออก...
วาดรูปแล้วใจนิ่งขึ้นเยอะ ไม่อยากขวนขวายอะไรอีก”

Image

สาธิตวิธีลอกลาย ใช้ดินสอกดตามลายที่วาดไว้แล้วบนกระดาษไข มีกระดาษคาร์บอนจากเครื่องเทเลกซ์ซ้อนทับบนกระดาษวาดรูป

Image

โต๊ะวาดภาพกับโต๊ะยาวเสริมด้านข้างสำหรับวางอุปกรณ์วาดสีน้ำและเอกสารค้นคว้ามากมาย นาตยาชอบนั่งทำงานในช่วงเช้าที่มีแสงแดดอ่อน

เธอใช้วิธีวาดภาพลายเส้นแต่ละส่วนบนกระดาษไข ก่อนนำแต่ละแผ่นมาวางด้วยกันเพื่อขยับหาจังหวะภาพปะติดปะต่ออย่างสวยงามลงตัวบนกระดาษวาดรูปแผ่นใหญ่ จากนั้นจึงลอกลายด้วยกระดาษทำสำเนาของเครื่องเทเลกซ์

ในรูปสำเร็จจะเห็นรายละเอียดที่ผ่านการสังเกตถี่ถ้วนจากสายตาอดีตเลขาฯ เช่น หยักใบที่ปลายแยกเป็นสามแฉก เส้นหนวดแมวยาว ๆ แซมอยู่กับช่อดอก สันนูนบนผล ท้ายผลมีติ่งกลีบห้อย เส้นลายบนเมล็ดสีน้ำตาลขนาดจิ๋วที่เธอต้องใช้แว่นขยายส่อง ฯลฯ

“เพิ่งรู้ว่าทุกส่วนของมันกินได้นะ เป็นสมุนไพร ช่วยชูกำลัง น่าทึ่งว่าพืชเมืองไทยนี่เป็นสมุนไพรเกือบหมด”

พอสิ้นเดือนพฤศจิกายน เท้ายายม่อมจะร่วงโรยจนกระถางว่างเปล่า ปลายเดือนมีนาคมที่ สารคดี มาสัมภาษณ์ เธอบอกจำไม่ได้แล้วว่ากระถางไหน

ไม้ล้มลุกต้นนี้เติบโตให้เธอเชยชมถึงสองรอบ ต้องลุ้นว่าหน้าฝนปีนี้จะมีรอบที่ ๓ หรือไม่

นาตยาหันมาสนใจพันธุ์ไม้และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างการดูนก หลังจากหัดวาดภาพพฤกษศิลป์กับเพื่อนในกลุ่มคนรักธรรมชาติ ใช้เวลา ๔-๕ ปีฝึกฝน เพลิดเพลินการเรียนวาดภาพกับอาจารย์ทั้งคนไทยและต่างประเทศ กว่าจะถึงวันนี้ในวัย ๖๙ เธอเพิ่งรู้สึกพอใจผลงานตนเอง

ในระดับนานาชาติ ผลงานภาพต้นสับปะรดสีของเธอ ซึ่งเป็นลายเส้นขาวดำตามแนวภาพวาดพฤกษศาสตร์สำหรับงานวิชาการ ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการออนไลน์ของงานประกวดภาพ The Margaret Flockton Award 2020 จัดโดย The Royal Botanic Garden Sydney ประเทศออสเตรเลีย และ RBGE Florilegium Royal Botanic Garden Edinburgh 2020 เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของนักวาดมือใหม่

เท้ายายม่อมเติบโตในดินทราย ไม่ต้องดูแลมากไม่ต้องการน้ำมาก

หญิงสาวลูกคนกลางในครอบครัวพ่อจีนแม่ไทย ก็เหมือนจะเติบโตมาแข็งแกร่งพอ ๆ กัน

Image

กว่าจะวาดภาพพฤกษศิลป์ได้ นาตยาฝึกวาดภาพนานหลายปี ทั้งเรียนกับอาจารย์คนไทยและอาจารย์ต่างประเทศผ่านทางออนไลน์

Image
Image

ต้นเท้ายายม่อมที่เธอปลูกไว้ในกระถาง คอยสังเกตการเติบโตตั้งแต่มีแต่เหง้า จนเหง้างอกใบ ผลิดอก กลายเป็นฝัก ปีละครั้ง เป็นเวลา ๒ ปี

ภาพ : นาตยา อุดมพัฒน์

ฉากบานพับไม้กั้นห้อง

ชั้นล่างของบ้านเดี่ยวในหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านบางใหญ่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์วินเทจ ภาพสะดุดตาคือบนหน้าโต๊ะกลม หน้าเบาะเก้าอี้ หน้ากล่องใส่ของ โดยเฉพาะฉากบานพับไม้กั้นห้องใหญ่สี่บาน ล้วนเต็มไปด้วยภาพพรรณพฤกษชาติสวยสดงดงาม

ทั้งหมดเป็นฝีมือของเธอเอง เพียงแต่ไม่ใช่ภาพวาด

“สมัยทำงานเราเรียนศิลปะเดคูพาจ (decoupage) เป็นงานศิลปะกระดาษ ตัดภาพที่มีลวดลายต่าง ๆ โดยเฉพาะดอกไม้มาติดกาวบนจาน กล่อง ให้ดูเหมือนภาพฝังอยู่บนของนั้นจริง ๆ”

นาตยาเป็นคนบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พ่อเป็นจีนแต้จิ๋วมาจากเมืองจีน ส่วนแม่เป็นคนดำเนินสะดวก พ่อเปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า แม่เป็นแม่บ้านที่ทำงานเก่งสารพัด ทั้งทำอาหาร เย็บผ้า ปักจักร ถักโครเชต์ ผ้าควิลต์ นอกจากถ่ายทอดงานฝีมือต่าง ๆ ให้ลูกแล้วยังให้ช่วยทำงานหาเงินช่วงปิดเทอม ตัดต้นหอม ปอกหัวหอม กระทั่งทำไอศกรีมกระติกไปเดินขายในตลาดบ้านโป่ง หลังจากพ่อเสีย พี่ชายคนโตคิดประดิษฐ์แผงหลอดไฟติดรถทัวร์ แม่ก็ช่วยเสียบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนแผงวงจร ส่งต่อให้เธอช่วยบัดกรีเชื่อมขาชิ้นส่วนแต่ละตัว

การหัดทาสีบานพับไม้กั้นห้องให้ดูเหมือนไม้เก่ามีราคา หรือหยิบโน่นจับมาผสมนี่ จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนที่ผ่านการเรียนรู้งานช่างงานประดิษฐ์สารพัดมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีแม่สนับสนุน ไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ รวมทั้งยังส่งเสริมให้ลูกสาวไปเรียนต่อต่างประเทศ

เรื่องน้อยใจในชีวิตที่ติดค้างความรู้สึก คงเป็นช่วงปิดเทอมที่แม่มักส่งเธอไปอยู่กับยายและอาอี๊ (น้องสาวแม่) ที่ดำเนินสะดวกหลายสัปดาห์ ทั้งที่มีลูกสาวสามคน แต่เธอเป็นคนเดียวที่ถูกส่งไปเสมอ  ทว่าเมื่อย้อนทบทวนก็อาจเป็นความตั้งใจดีของแม่ที่อยากฝึกเธอจนเธอแกร่งกล้าพอจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปด้วยตัวคนเดียว

หลังจากทำงานที่สภาพัฒน์ ๕-๖ ปี เธอได้ทำงานกับ UNBRO - UNHCR สำนักงานสหประชาชาติ ประเทศไทย
ค่ายผู้อพยพเขมร ต้องจากบ้านไปใช้ชีวิตประจำอยู่ที่อรัญประเทศ ซึ่งสมัยนั้นเป็นถิ่นทุรกันดาร ทำหน้าที่ดูแลงานด้านโภชนาการ อาหารจำเป็นต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยในค่ายผู้อพยพชายแดนไทย-เขมร (ปัจจุบันคือตลาดโรงเกลือ) อาศัยพื้นฐานความรู้อีกสาขาหนึ่งที่เธอร่ำเรียนมา หลังจากชาวเขมรย้ายกลับประเทศ ก็เข้ามาทำงานในสำนักงาน UNHCR ตึก United Nations กรุงเทพฯ ตำแหน่ง Senior Administrative Off icer, Security Training

“ภาพหนึ่งจะวาดสองสามครั้ง ดอกหนึ่งก็วาดซ้ำ ๆ จนกว่าจะได้ภาพสุดท้าย ครูฝรั่งสอนว่าต้องฝึกวาด
ไปเรื่อย ๆ แล้วฝีมือจะดีขึ้น พิสูจน์ด้วยตัวเราเองว่าจริง”

Image

ผลงานศิลปะเดคูพาจและการวาดสีกระเบื้องบนวัสดุต่าง ๆ เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน จากความรักในการทำงานศิลปะที่แม่ปลูกฝังมาแต่เด็ก

เมื่อถามว่าการมีความสามารถหลายอย่าง เคยรู้สึกตัวเองเป็นคนเก่งไหม เธอตอบว่าไม่

“แค่คิดว่าลงมือทำสิ่งใดแล้วต้องทำให้ได้ และมีความอดทนพอที่จะทำงานชิ้นนั้นให้สำเร็จ บางคนทำอะไรครั้งแรกไม่สำเร็จก็ไม่ทำต่อ จบแค่นั้น แต่สำหรับเราถึงมีอุปสรรคก็ต้องหาหนทางทำให้ได้”

ไม่ต่างจากเคล็ดลับที่เธอใช้พัฒนาฝีมือการวาดภาพพฤกษศิลป์ คือซ้อมวาดซ้ำ ๆ

“ภาพหนึ่งจะวาดสองสามครั้ง ดอกหนึ่งก็วาดซ้ำ ๆ จนกว่าจะได้ภาพสุดท้าย ครูฝรั่งสอนว่าต้องฝึกวาดไปเรื่อย ๆ แล้วฝีมือจะดีขึ้น พิสูจน์ด้วยตัวเราเองว่าจริง”

เธอหยิบภาพวาดเท้ายายม่อมส่วนต่าง ๆ หลายภาพที่ซ้อมวาดให้ดู และยังมีภาพดอกค้างคาว พืชล้มลุกในสกุล Tacca ที่เธอชอบปลูกและวาดภาพไว้ จนเป็นแรงบันดาลใจให้วาดเท้ายายม่อม เพราะเป็นพืชสกุลเดียวกัน

ภาพดอกค้างคาวมีคนซื้อภาพจริงไปแล้ว แต่กว่าจะสำเร็จเป็นภาพสวยงามและถูกต้องเธอวาดซ้ำหลายหนฝึกผ่าฝักเมล็ดหลายครั้งกว่าจะผ่าสวย แต่ส่วนยากสุดคือหนวดดอกค้างคาวที่เธอวาดแล้วก็ยังติดเส้นแข็ง

“เราเกร็งเกินไปว่าจะต้องบังคับเส้นให้ตรงให้เหมือน กลับมานั่งคิดเลยรู้สึกว่าต้องปล่อยวาง แค่ทิศทางถูกต้องก็พอ ปล่อยเส้นหนวดสะบัดตามพู่กัน สุดท้ายได้เส้นหนวดที่มีอารมณ์ของตัวเอง คิดว่านี่เป็นส่วนที่ภาพขายได้”

Image

ภาพต้นค้างคาว (Tacca sp.) ที่เธอต้องวาดอยู่หลายภาพ กว่าจะแก้ไขเส้นหนวดที่แข็ง (รูปขวาสุด) จนเส้นโค้งอ่อนช้อยดูเป็นธรรมชาติ

ถาดผสมสี

โต๊ะทำงานของเธอเป็นโต๊ะเขียนแบบ ตั้งชิดผนังห้องฝั่งที่มีหน้าต่างรับแดดเช้า นาตยาจะยกกระถางต้นไม้มาวางหามุมรับแสงตรงหน้าต่าง ถ่ายภาพบันทึกเป็นต้นแบบเก็บไว้ เพราะต้นพืชล้มลุกอาจร่วงโรยก่อนวาดเสร็จ ภาพถ่ายยังขยายให้เห็นรายละเอียดเล็ก ๆ ได้ด้วย  ข้างโต๊ะทำงานตั้งโต๊ะตัวยาว วางหนังสือ แฟ้มเอกสารค้นคว้า กล่องหลอดสีน้ำ ถาดผสมสี พู่กัน ขวดน้ำ แว่นขยาย และของอื่น ๆ กระจัดกระจายเต็มโต๊ะ

ผนังหลังโต๊ะทำงานวางตู้ไม้กระจกใบใหญ่ ข้างในเต็มแน่นด้วยถ้วยจานชามกระเบื้อง เธอยกบางชิ้นออกมาอวดว่าภาพวาดดอกไม้บนจานกระเบื้องฝีมือเธอเอง  ถึงตอนนี้เราไม่แปลกใจแล้วว่าทุกซอกมุมจะมีแต่งานฝีมือเจ้าของบ้าน และคงอบอวลด้วยความทรงจำที่เปี่ยมความสุข

“เรียนวาดกระเบื้องตั้งแต่เป็นนักศึกษา วิธีวาดมีสองแบบ คือแบบยุโรปกับแบบอเมริกัน  ยุโรปวิธีคล้ายวาด botanical art คือร่างภาพก่อนลงสี ส่วนอเมริกันจะโหลดสีที่ต้องการบนจานแล้วใช้แปรงคัดเงาคัดแสงให้ขึ้นเป็นดอก ลงสีชั้นหนึ่งก็นำไปเผา ทำซ้ำแบบนี้สามครั้ง”

ความแตกต่างสำคัญคือภาพวาดกระเบื้องเน้นสีสันความสวยงาม ไม่เน้นความละเอียดและถูกต้อง วาดกระเบื้องมาหลายปีทำให้เธอติดวิธีใช้แปรงขนแบนลากสีน้ำ เมื่อหัดวาดภาพพฤกษศิลป์ต้องใช้พู่กันกลมขนปลายแหลมเพื่อเน้นส่วนละเอียด เช่นเกสรดอกไม้ เธอต้องปรับแก้นิสัยการลงสีนานเป็นปี

ส่วนการใช้สีที่ต้องให้คล้ายสีพืชต้นแบบ ช่างฝีมืออย่างเธอไม่ใช้สีเฉพาะจากหลอดสีโดยตรง แต่ชอบผสมสีเองจากหลอดแม่สีหลัก ช่วยประหยัดการซื้อสี เพราะสีธรรมชาติมีความหลากหลายมาก สอดคล้องกับครูสอนวาดภาพสีน้ำชาวฝรั่งชื่อ Billy Showell แนะนำ จากนั้นก็ลองลงสีบนกระดาษเพื่อเทียบเคียงว่าตรงสีจริงของพืชไหม

อดีตนักศึกษาคหกรรมและโภชนาการบอกว่าผสมสีให้ตรงไม่ใช่เรื่องยาก

Image

ถาดผสมสีที่นาตยาออกแบบและสั่งทำไว้ใช้เอง จนมีศิลปินหลายคนสั่งซื้อไปใช้ด้วย

Image

หนังสือของ Billy Showell ที่ใช้ศึกษาการผสมสีให้เทียบเคียงได้กับสีในธรรมชาติ

“เหมือนทำกับข้าว ถ้าต้องเค็มแต่ไม่เค็มก็เติมน้ำปลาอีกหน่อย”

ถาดผสมสีของเธอไม่ใช่ถาดพลาสติกทั่วไป แต่ทำขึ้นพิเศษจากความชอบในงานกระเบื้อง เธอออกแบบเป็นสองฝา ฝาล่างมีหลุมกลมสำหรับผสมสี กับฝาบนใช้ผสมสีและจบงานไว้ครอบปิดกันฝุ่น มีภาพสีดอกไม้บนฝากระเบื้องที่เธอวาดไว้ตามแนวถนัด

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิตจึงราวกับมารวมอยู่ในถาดผสมสีข้างโต๊ะ

“เคยบอกน้อง ๆ ที่วาดรูปด้วยกัน ว่าทุกวิชาที่เรียน เอามารวมเป็นตัวตนของเรา ทุกคนจะมีเอกลักษณ์ของตัวเองอยู่ในงาน”

วันนี้เธอเรียนกับครู Billy ทางออนไลน์สัปดาห์ละสองครั้ง ต่อเนื่องมา ๔ ปีแล้ว

“หลังเกษียณเราต้องมีเป้าหมายว่าจะทำอะไร ตื่นมาแล้วจะทำอะไร คิดว่าสิ่งใดที่ชอบ ทำแล้วมีความสุข ก็ทำสิ่งนั้น เวลาวาดภาพเหมือนได้อยู่กับตัวเอง เกิดสมาธิ คล้ายจดจ่อกับลมหายใจเข้าออก เวลาจิตวิ่งไปไหนก็ดึงกลับมา เช่นเดียวกับตอนวาด บางครั้งถ้าจิตหลุดก็จะเอ๊ะ แล้วหันมาใส่ใจกับภาพตรงหน้า”

ผ่านร้อนหนาวถึงวัยนี้ หญิงผมแซมสีดอกเลาบอกว่าเธอกำลังเตรียมตัวสำหรับความตายหากมันมาถึง

“วาดรูปแล้วใจนิ่งขึ้นเยอะ ไม่อยากขวนขวายอะไรอีก สมบัติที่เราไม่ใช้แล้วหรือมรดกต่าง ๆ ก็นั่งคิดว่าจะยกให้ใคร บอกเพื่อนบ้านไว้ว่าถ้าบ้านนี้ไม่เปิดผ้าม่านสัก ๒ วันช่วยมาเปิดประตูดูหน่อย บอกด้วยว่าซ่อนกุญแจบ้านไว้ตรงไหน”

แต่ก่อนวันสำคัญนั้นจะมาถึง หลายวันที่ผ่านมา เธอตั้งใจตื่นตั้งแต่ตี ๔ เพื่อไปข้างบ้านที่ติดกัน ขอดูและถ่ายภาพดอกจิกเศรษฐีซึ่งบานเฉพาะช่วงเช้าตรู่

เพราะหมายมั่นปั้นมือว่าจะวาดเป็นรูปต่อไป