Image

ประสบการณ์
ฟังเสียงความทรงจำ
อลงกต เอื้อไพบูลย์

หลงลักษณ์

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

เขาไม่ได้สะสมแผ่นเสียงเพราะเป็นวัตถุที่บันทึกเพลง-ดนตรีที่ชอบ

แต่เก็บรักษา “สื่อกลางสร้างประสบการณ์” อันจับต้องไม่ได้ของตน

“ผมไม่ได้ตั้งใจสะสม แค่ชอบฟังเสียงจากแผ่นเสียงเลยซื้อเก็บโดยไม่คิดขาย เพราะหลายแผ่นมีคุณค่าต่อความรู้สึก อย่างอัลบัม True ของ Spandau Ballet วงดนตรีจากอังกฤษ จำหน่าย ค.ศ. ๑๙๘๓ เป็นแผ่นแรกในชีวิตที่ผมซื้อตอนอายุ ๑๔ ปี สมัยก่อนโลกของการฟังเพลงจะผูกอยู่กับสถานีวิทยุ เราไม่อาจกำหนดว่าจะได้ฟังเพลงที่ชอบเมื่อไร แล้วผมก็ไม่มีเวลารอทั้งวัน ๗ โมงเช้าต้องไปโรงเรียน กว่าจะกลับถึงบ้านรายการที่ชอบก็จบแล้ว การได้ฟังเพลงที่ชอบจึงไม่ง่าย อย่างน้อยต้องมีเทปคาสเซ็ตราคา ๗๐ บาท วางแผงวันแรกผมรีบไปซื้อเลย เก็บค่าขนมวันละ ๕-๑๐ บาทอยู่เดือนกว่าถึงกำเงิน ๓๒๐ บาทไปซื้อแผ่นเสียงทั้งที่ไม่มีเครื่องเล่นเพราะมันแพงกว่าวิทยุมาก นี่คือคุณค่าความทรงจำที่ผมอยากรักษาไว้

Image

“อัลบัมของ Corinne Bailey Rae ที่จำหน่าย ค.ศ. ๒๐๐๖ ผมชอบเพลง ‘Put Your Records On’ แต่ละคนมีประสบการณ์ฟังดนตรีไม่เหมือนกัน บางคนชอบเสียงกลอง เสียงกีตาร์ สำหรับผมที่มีอาชีพผู้กำกับภาพยนตร์ การฟังเพลงและดูมิวสิกวิดีโอคือศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งผมชอบ MV นี้มาก ในบรรดาคนขี่จักรยาน เขามีผิวสีเข้มคนเดียวแล้วก็ร้องเพลงอย่างมีความสุขท่ามกลางแสงสวย ๆ เราเสพด้วยความรู้สึกว่ามันโฟลว์จัง ยุคนั้นไม่ผลิตเทปแล้วอัลบัมนี้จึงมีแค่ซีดีกับแผ่นเสียง ซึ่งแผ่นเสียงมีจำนวนเพลงมากกว่าซีดี ผมดีใจมากที่พบโดยบังเอิญ แล้วปกข้างในก็ออกแบบสวยมีลายมือศิลปินด้วย

“ผมชอบแผ่นเสียงแบบซิงเกิลเพราะมีรายละเอียดเยอะกว่าอัลบัมที่มีพื้นที่เท่ากัน พอมีเพลงเดียวในร่องจึงเต็มด้วย รายละเอียดของเพลง ยิ่งแผ่นเดโมที่ค่ายเพลงส่งให้สถานีวิทยุนั่นดีสุดเลย เสียงเรียลสุด ยังมีเรื่องคุณภาพเสียงระหว่างแผ่นที่ผลิตในไทยกับต่างประเทศ  ผมเชื่อว่าการล้างแผ่นเสียงในกระบวนการผลิตควรผ่านน้ำที่ดีเพื่อให้เสียงเที่ยงตรงกับต้นทาง เคยได้ยินว่าที่ญี่ปุ่นใช้น้ำจากหิมะบนยอดเขาฟูจิซึ่งสะอาดมาก ผมว่าเครื่องมือการผลิตในเมืองไทยไม่แพ้เมืองนอก แต่น้ำเมืองไทยมีคลอรีนอาจกัดกร่อนบางสิ่งให้เสียงอู้อี้ขึ้นหรือเสียงบางลง

“ส่วนเรื่องดูแลแผ่นเสียงผมว่าไม่ยากแต่ใช่ว่าไม่ต้องระวัง ความประมาทเพียงเล็กน้อยอาจสูญเสียแผ่นดีที่หาซื้อยากไปตลอดกาล เวลาใช้สลับหลายแผ่นอย่าเผลอวางซ้อน ห้ามให้อะไรสีร่องแผ่นเสียง และอย่าโดนฝุ่น ก็แค่เก็บในซองแล้ววางตั้งแผ่นจะได้ไม่งอ ถ้าเสียงเริ่มพร่าก็ใช้น้ำยาเช็ดฝุ่นออกเสียงก็คมเหมือนเดิม

“ช่วง ๒๐ ปีก่อนตอนเริ่มมีซีดี เสียงคมชัดแจ๋วเป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอในระบบแอนะล็อก ผมก็สนใจและปรับวิธีฟังเพลงเรื่อยมา เมื่อเจอแผ่นเสียงถูกใจก็ยังซื้อไว้ ช่วงที่คนฮิต MP3 ผมเคยซื้อแผ่นเสียงที่อังกฤษในราคา ๑-๒ ปอนด์ เป็นเงินไทยราว ๕๐-๑๐๐ บาท มีแล้วก็อยากซื้อซ้ำ กระทั่งเกิดโควิดรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์มีเวลาว่างจนเบื่อ วัน ๆ ฟังเพลงจาก Spotify, Streaming หรือ YouTube จนเริ่มปวดหัวจึงรื้อแผ่นเสียงออกมาเปิดแล้วพบว่าโคตรมีความสุขเลย ได้สัมผัสความรู้สึกเก่าที่ลืมไปแล้ว เช่น เคยจีบผู้หญิงด้วยเพลงหนึ่ง นั่งรถแล้วเปิดเพลงนี้ฟังกับพ่อ นึกถึงดีเจวิทยุที่เคยโทรศัพท์ไปขอเพลง หรือเล่นเกมที่ใช้ข้อมูลศิลปินเป็นคำถาม ลุ้นว่าเพลงที่ชอบจะขึ้นอันดับเท่าไร เก็บเงินซื้อตั๋วตอนวงดนตรีโปรดมาแสดงสดในไทย ตื่นเต้นที่ให้ไอดอลเซ็นชื่อบนปกแผ่นเสียง  ไม่เคยคิดว่าแผ่นเสียงมหัศจรรย์ขนาดนี้ เป็นวัตถุบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคสมัยไม่ต่างจากรูปถ่าย...นี่คือจุดเริ่มให้ผมทำคาเฟ่ ‘recordoffee’ เพื่อเปิดเพลงจากแผ่นเสียงของผมให้คนอื่นได้รู้สึกแบบนี้ด้วยกัน

“หน้าที่ผมคือทำตัวเป็นสถานีวิทยุมอบความบันเทิงแก่ลูกค้าที่มีสไตล์การเสพต่างกัน ทำให้ผมยังคงซื้อทั้งแผ่นเสียงรุ่นเก่าและใหม่ ขณะเดียวกันก็ทยอยนำแผ่นเสียงที่มีซ้ำแบ่งขาย ไม่ได้แปลว่าอัลบัมนั้นไม่ดี ผมขายในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อความรู้สึกตัวเองแล้ว หรือไม่เคยหยิบมาฟังซ้ำ  ลูกค้าผมมีทั้งคนที่เล่นแผ่นเสียงจริงจังซึ่งมักเป็นผู้ใหญ่ที่ฟังเพลงเก่าหรือชาวต่างชาติ ส่วนคนรุ่นใหม่มีทั้งคนที่อยากรู้จักแผ่นเสียงตามเทรนด์ที่มันกลับมา และคนชอบกาแฟแต่อยากรู้จักร้านกาแฟที่เปิดเพลงจากแผ่นเสียงด้วย ผมจึงมีกระทั่งอัลบัมของโรเซ่-BLACKPINK ที่เพิ่งออกเปิดให้ลูกค้าวัยรุ่นทดลองฟัง ถ้าเขาประทับใจก็ขายให้ บางคนไม่ได้อยากฟังเพลงแต่ซื้อเพราะปกสวยหรือไว้ประดับบ้าน แต่ผมเชื่อว่าจะมีคนฟังเพลงที่ผมเปิดแล้วพัฒนาความรู้สึกบางอย่างเป็นรสนิยมการฟังเพลงของตน อยากใช้แผ่นเสียงเป็น อยากรู้เพลงดี ๆ เป็นอย่างไร เพื่อเลือกฟังและสะสมเพลงที่ดีด้วยตัวเอง

“เมื่อนั้นเขาจะมีประสบการณ์ฟังเพลงอันเป็นความทรงจำต่อแผ่นเสียงที่สะสม”  

Image