ในมุมหนึ่งของโลก
ยังมีคนบ้าแผ่นเสียง
ยุทธนา บุญอ้อม
INTERVIEW
สัมภาษณ์ : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
คงไม่เกินเลยหากกล่าวว่า ยุทธนา บุญอ้อม หรือ “ป๋าเต็ด” คลุกคลีกับวงการเพลงไทยจนกลายเป็นภาพจำที่แยกจากกันไม่ได้
เติบโตในครอบครัวที่เปิดกว้างหลากหลายสื่อ รวมถึงฟังเพลงทุกแนวทั้งเพลงไทยและเพลงสากล ตั้งแต่สุนทราภรณ์จนแนวเพลงเฮฟวีเมทัล ทำให้การฟังเพลงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
จากอดีตนักศึกษาฝึกงานบริษัทแกรมมี่ในช่วงยุคแรก ก่อนจะเป็นนักจัดรายการวิทยุคลื่นกรีนเวฟและฮอตเวฟ, ผู้ริเริ่มงานประกวดวงดนตรีระดับเยาวชน Hot Wave Music Awards, ก่อตั้งบริษัทคลิก เรดิโอ เปิดคลื่นแฟตเรดิโอ เน้นเปิดเพลงจากค่ายอิสระ, ทำนิตยสารดนตรี DDT, บริหารค่ายเพลงสนามหลวงการดนตรี ในเครือ GMM Grammy ฯลฯ
ปัจจุบันผันตัวมาเป็นผู้จัดงานแสดงคอนเสิร์ต รวมถึงงานดนตรีใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของประเทศไทยอย่าง Big Mountain Music Festival ต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๓
ปี ๒๕๖๒ เขาเริ่มจัดรายการออนไลน์ทาง YouTube ชื่อช่อง “ป๋าเต็ด” เน้นสัมภาษณ์เจาะลึกเรื่องราวของศิลปินและคนในวงการเพลงไทย
และในช่วงวัย ๕๐ ที่ตัดสินใจกลับมาสะสมแผ่นเสียงอีกครั้ง เขาแสดงออกถึงความรัก ชื่นชอบในการฟังและสะสมแผ่นเสียง โดยผลิตรายการออนไลน์ “ชอบแผ่นนี้” เริ่มตอนแรกเมื่อ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
นี่คือมุมมองต่อความชอบ เสน่ห์ของการฟังเพลงกับวัสดุชนิดนี้ รวมถึงการกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งจากเจ้าของฉายา “เจ้าพ่อเด็กแนว”
จุดเริ่มต้นที่ตกหลุมรักการฟังแผ่นเสียงคือเมื่อไร ทราบว่าได้ฟังเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่บ้านตั้งแต่เด็ก
ตอนนั้นผมน่าจะอยู่มัธยมฯ ครับ ที่บ้านต่างจังหวัดมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่ ซึ่งในเครื่องเดียวมีครบทุกอย่าง ทั้งวิทยุ คาสเซ็ต และมีแผ่นเสียงอยู่ด้านบน พอปิดเทอมเรากลับบ้านก็จะได้ฟังเครื่องเสียงชุดนี้ เพราะเวลามาเรียนที่กรุงเทพฯ จะไม่มีของฟุ่มเฟือยเหมือนบ้านต่างจังหวัด ตอนแรกพี่ชายจะซื้อแผ่น ๗ นิ้ว คือแต่ก่อนแผ่นเสียงจะผลิตออกมาในตู้เพลง แผ่น ๗ นิ้วมีเยอะ เขาจะขายราคาถูก ถ้าเทียบกับอีกยุคก็เป็นเทปผีซีดีเถื่อนปั๊มขึ้นมาแบบผิดลิขสิทธิ์ ครั้งแรกก็ไม่รู้สึกอะไรเพราะไม่ใช่เพลงที่เราชอบพี่ชายเขาเลือกซื้อมาเราก็ฟังไปด้วย รู้สึกแค่... เออ เว้ย แปลกดี วิธีฟังคือกดให้ตัวแผ่นหมุน ๆ เอาเข็มไปวางแล้วเกิดเสียงออกมา
อยู่มาวันหนึ่งเราก็ยืมแผ่นของเพื่อน อยากฟังวงที่เรารู้จักอย่างวง The Eagles, วง Queen เพราะเราไม่มีปัญญาซื้อหรอก มันราคาแพงมากสำหรับเด็กมัธยมฯ ตั้ง ๔๐๐-๕๐๐ บาท พอเอาไปฟังที่บ้าน เพลงแรกที่เปิดฟังจากแทร็กแรกของอัลบัม A Night At The Opera ของวง Queen ชื่อ “Death on Two Legs” เสียงที่ออกมาของแผ่นจริงมันดีมาก และเป็นอัลบัมที่บันทึกเสียงดีมาก คือเรารู้จักเพลงนี้อยู่แล้วเคยฟังผ่านเทปคาสเซ็ต เราได้ยินเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในเทปคาสเซ็ต โอ้โฮ ! แผ่นเสียงมันดีอย่างนี้นี่เอง มิน่าเขาถึงฟังกัน ปิดเทอมถัดมาจึงเก็บเงินไปซื้อแผ่นเสียงแผ่นแรก คืออัลบัม Thriller ของ ไมเคิล แจ็กสันเลือกอยู่ประมาณ ๓ ชั่วโมงที่เซ็นทรัล ด้วยมีงบซื้อได้แผ่นเดียว เลยรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสเราอยากฟังเพลงจากแผ่นเสียงมากกว่า
จนผมทำงานเป็นดีเจจัดรายการวิทยุ ความรู้สึกต่อแผ่นเสียงก็เปลี่ยนไป เพราะอยู่กับแผ่นเสียงทุกวัน เพลงไหนฮิตมีหมด รอบตัวเรามีแต่แผ่นเสียง ทำให้เราชินชากับแผ่นเสียง มองเป็นของไม่มีค่า เพราะทุกคนทุกค่ายออกเพลงใหม่ออกซิงเกิลใหม่ก็ส่งมาให้ดีเจ เราเก็บไว้ที่บ้าน บางทีเพื่อนอยากได้ก็ให้ ยุคนั้นแผ่นเสียงกลายเป็นของแจก จนช่วงหลังประมาณสัก ๑๐ กว่าปีที่แล้วที่แผ่นเสียงได้กลับมาอีกครั้ง ถึงรู้ว่าแจกแผ่นดี ๆ ที่มีมูลค่าให้เพื่อนไปหลายแผ่น
ผมชอบความรู้สึกของการได้จับต้องแผ่นเสียง...การที่คุณได้หยิบแผ่นเช็ดปัดฝุ่น วางแผ่น วางเข็มลงไป...พลิกมาฟังหน้าต่อไป ทำให้เราตั้งใจฟังมากยิ่งขึ้น
บรรยากาศการจัดรายการวิทยุด้วยแผ่นเสียงเป็นอย่างไรบ้าง
หลายคนที่เกิดมาในยุคดิจิทัล เวลาเขาเห็นการเล่นแผ่นเสียงครั้งแรกมักถาม “พี่รู้ได้ไงว่าเพลงไหนอยู่ตรงไหน” เพราะมันเป็นแค่แผ่นดำ ๆ ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ดีเจทุกคนใช้ชีวิตอยู่กับการทำงานแผ่นเสียง
เขาต้องรู้ว่าเพลงเริ่มตรงไหน เราต้องวางเข็มลงไปให้ตรงจุดเริ่มต้นของเพลงนั้น ๆ ต้องรู้ว่าเราพูดแล้วจะเริ่มกดสตาร์ตตอนไหนที่เพลงจะมาพอดี สิ่งนี้ทำให้การจัดรายการยุคนั้นเราต้องโฟกัสเรื่องวิธีเปิดเพลงให้จังหวะแมตช์กับการพูดจบของเรา ซึ่งยุคนี้กลับไม่จำเป็น กดเมาส์คลิกปุ๊บเพลงก็ขึ้นเลย การจัดรายการวิทยุ ณ วันนั้นจึงเหมือนงานคราฟต์ คือไม่ได้บอกยุคนี้ไม่ดี แค่บอกว่า mindset ของคนจัดรายการวิทยุวันนั้นต้องคิดอีกแบบมองภาพรวมทั้งหมดว่า...โอเค ฉันจะต้องจัดเตรียมชั่วโมงนี้ เปิดได้แปดเพลง เพลงอะไรบ้าง และต้องหยิบแผ่นมาวางเรียงไว้ก่อนไม่อย่างนั้นเดี๋ยวหยิบไม่ทัน สอง ต้องดูตารางว่าเบรกโฆษณากี่ครั้ง เวลาเปิดโฆษณาต้องไปตั้งอยู่ในเทปรีลกดให้ยิงเข้าโฆษณาพอดี ตอนยิงจิงเกิลซึ่งเป็นคาสเซ็ตก็ต้องเปิดให้พอดี เปิด-ปิดไมค์ตอนไหน ในห้องจัดรายการมีเราจัดรายการคนเดียวไม่มีทีมงานซัปพอร์ต
แล้วแผ่นเสียงก็ไม่เหมือนยุคนี้ที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล เราตั้งให้เปิดสามเพลงต่อกันหรือจัดเป็นเพลย์ลิสต์ไว้ก่อนก็ได้ ยุคนั้นพอเพลงหนึ่งใกล้จบเราต้องเตรียมอีกแผ่นรอ แทร็กที่เราจะเปิดเอาไว้ให้พร้อมในเครื่องเล่น เราต้องพูดคั่น เปิดไมค์ พูดจบประโยคที่ต้องการ กดสตาร์ตแผ่นเริ่ม ซึ่งเครื่องจะวิ่งช้า ๆ ก่อน ถ้าเราตั้งหัวเพลงพอดีเป๊ะ พอกดสตาร์ต แผ่นจะมีเสียงวื้อ…เพราะสปีดเริ่มจาก ๐ เราก็ต้องตั้งหัวเพลงแล้วหมุนแผ่นถอยหลัง คนจัดรายการจะรู้ว่า ๑/๔ ของแผ่นโดยประมาณ จังหวะนั้นคือช่วงเริ่มต้น เมื่อถึงช่วงมีเพลงความเร็วจะได้ที่พอดี แปลว่าเราต้องกดสตาร์ตก่อนจะพูดจบ ๑ วินาที...นี่คือสิ่งที่นักจัดรายการวิทยุยุคนั้นต้องเข้าใจ
ผมจึงมาทำงานอีเวนต์ได้อย่างไม่มีปัญหาเพราะงานดีเจทำให้เราเผชิญข้อผิดพลาดทุกวัน เปิดแผ่นผิดจากสปีด ๓๓ ๑/๓ มาเปิด ๔๕ หรือเปิดโฆษณาแต่ลืมปิดไมค์นั่งคุยกับเพื่อนในห้องส่งแล้วมีเสียงออกอากาศไปด้วย มันฝึกให้เราโฟกัสที่ปัญหาและรีบแก้ปัญหา
ถ้าเทียบกับสื่อการฟังเพลงอื่น ๆ แผ่นเสียงจะมีจุดเด่นหรือแตกต่างจากสื่ออื่นอย่างไร
คนอื่นไม่รู้ แต่สำหรับผมเหตุผลไม่ใช่เพราะคุณภาพเสียง เนื่องจากมีปัจจัยมากมายที่ทำให้เสียงดีหรือไม่ดี เช่น ตัวแผ่นเองก็มีหลายเพรส แต่ละเวอร์ชัน มาสเตอร์ตัวเดียวกันปั๊มแต่ละลอตคุณภาพก็ไม่เท่ากัน ร้อยแผ่นแรกแม่พิมพ์ยังคงดีอยู่ คุณภาพก็ดี ผ่านไปสัก ๕๐๐ แผ่น แม่พิมพ์ก็ค่อย ๆ สึก ปั๊มที่ ๕๐๐ ก็อาจไม่ดีแล้ว หรือถ้ามาสเตอริงคนละเวอร์ชันคุณภาพก็ไม่เท่ากัน สอง คุณได้แผ่นดีมาแต่เก็บรักษาไม่ดี แผ่นงอ มีฝุ่นเกาะ ไฟฟ้าสถิตเยอะ ล้วนส่งผลต่อเสียง ต่อมาเครื่องเล่นแผ่นเสียงอีก คุณวางแผ่นเสียงบนเครื่องเล่น สปีดไม่ได้มาตรฐาน เข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อให้คุณภาพต่างกัน เปลี่ยนเข็มนิดเดียวเหมือนฟังคนละแผ่น ผ่านไปที่แอมป์ ที่ลำโพง คือปัจจัยเยอะมาก (ย้ำ) ต่อให้คุณมีซิสเท็มดีที่สุดมูลค่าเป็นสิบ ๆ ล้าน แต่ถ้าได้แผ่นห่วยเสียงก็พัง เทียบกับง่าย ๆ คือซีดี อย่างน้อยสุดถ้ามาสเตอริงดี แผ่นซีดีในลอตนั้นได้คุณภาพเท่ากันตลอดอายุใช้งานเพราะเป็นดิจิทัล เต็มที่ก็มาวัดที่เครื่องเสียงอะไรก็ว่าไป
ผมชอบความรู้สึกของการได้จับต้องแผ่นเสียง ชอบรูปใหญ่ ๆ บนปก อย่างรูปนี้ (ยกปกแผ่นเสียง) ไม่มีปกไหนใหญ่เท่าปกแผ่นเสียง อย่าง Spotify ต่อให้คุณเปิดบนจอขนาดใหญ่ก็ไม่ใหญ่เท่าแผ่นเสียง การที่คุณได้หยิบแผ่น เช็ดปัดฝุ่น วางแผ่น วางเข็มลงไป เตรียมเครื่องดื่ม พลิกมาฟังหน้าต่อไป ทำให้เราตั้งใจฟังมากยิ่งขึ้น โอกาสน้อยมากนะที่จะ skip ข้าม ขณะที่ฟัง Spotify คุณอาจกด skip ไปเรื่อย ๆ
แผ่นเสียงทำให้เราให้คุณค่ากับเพลงมากยิ่งขึ้น ผมเก็บไว้ไม่ใช่เพื่อขายนะ เตรียมยกเป็นมรดกให้ลูกผมซึ่งเขาก็เริ่มเล่นแผ่นเสียง ผมรู้ว่าต้องดูแลรักษาเพื่อคงคุณภาพเสียงให้นานที่สุด อารมณ์แบบเก็บให้ครบคอล-เลกชันก็มี อย่างวงที่เราชอบ ชาตรี, พี่ป้อม พี่โต๊ะ (อัสนี-วสันต์), พี่เต๋อ (เรวัต พุทธินันทน์) เราซื้อไม่ทัน ก็ต้องไปตลาดรีเซล ราคาที่เราจับต้องได้ มันเลยมีกระบวนที่ต้องอยู่กับแผ่นเสียงเยอะมาก
ในทางตรงข้ามคนไม่ชอบฟังแผ่นเสียงก็เพราะกระบวนการเหล่านี้ ขี้เกียจ ยาก ทำไมไม่ทำอะไรง่าย ๆ ตากแดด แผ่นงอ ก็เลิกฟัง ผิดกับสตรีมมิงง่าย ๆ มันอยู่บนคลาวด์ อยากฟังเมื่อไรก็ฟัง มีโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งก็ฟังได้แล้ว ปิกนิก ริมหาด ก็ไม่สามารถยกเครื่องไปฟังได้
ความยาก ต้องจัดเตรียม ความมีพิธีกรรมสำหรับผมคือเสน่ห์ของการฟังแผ่นเสียง และแม้การควบคุมให้คุณภาพของแผ่นเสียงจะประกอบด้วยหลายปัจจัย แต่ถ้าเราควบคุมได้ระดับหนึ่ง มันมีธรรมชาติของมันที่พิเศษจริง ๆ มีความอบอุ่น ความใหญ่กว่า มีเนื้อมีหนัง เพราะเสียงเกิดจากเข็มขูดบนร่องเนื้อแผ่น เขย่าขึ้นลงซ้ายขวา ก่อเกิดสัญญาณคลื่นเสียง แต่คงต้องขึ้นอยู่กับระบบเครื่องเสียงของแต่ละบ้านด้วย
ในมุมหนึ่งของโลก ไม่ว่าในยุคไหนก็ต้องยังมีคนบ้าแผ่นเสียงกำลังนั่งจูนเข็มอยู่ วางลำโพงในที่ที่ถูกต้องแล้วก็ฟังแผ่นเสียง
กระแสการกลับมาของแผ่นเสียงในยุคที่คนฟังแบบดิจิทัลแล้วเกิดจากอะไร จากที่เคยไปต่างประเทศกระแสแผ่นเสียงมีมากแค่ไหน
ที่สุดเลยครับ คืออิทธิพลที่ทำให้กลับมาบูมในไทยเริ่มที่ต่างประเทศก่อน ผมว่าความรู้สึกจะคล้าย ๆ กัน คือพอดิจิทัลมันไปสุดทาง สะดวกสบาย เปิดเพลงในโทรศัพท์มือถือได้ เราก็จะโหยหาการย้อนกลับไปแบบนอสทัลเจีย รถยนต์ทันสมัยขนาดนี้ก็ยังมีคนชื่นชอบรถคลาสสิก แล้วร้านแผ่นเสียงในต่างประเทศถึงแม้คนจะเลิกฟังแผ่นเสียงแล้ว แต่วัฒนธรรมการฟังแผ่นเสียงไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง คอมมูนิตีเขาใหญ่พอให้ยังดำเนินไปได้เรื่อย ๆ ในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ร้านอย่าง Tower Records ก็ยังคงขาย physical product ไม่ว่ายุคสมัยไหน ตอนที่มัน revive กลับมาเลยมีตลาดรองรับค่อนข้างเร็ว
ผมจำได้ว่ามีข่าวปิดร้าน Tower Records ที่แอลเอซึ่งตรงนั้นเป็นหมุดหมายของนักฟังเพลง การปิดที่นี่คือ...แย่แล้ว แต่ถึงปิดไปก็ยังมีร้านเล็กร้านน้อยที่เปิดไหวอยู่ ต้นทุนการดูแลก็ไม่แพงเท่า แล้วพอวันที่ตลาดแผ่นเสียงค่อย ๆ กลับมาก็เลยดำเนินกิจการต่อได้
อย่างตอนไปแอลเอครั้งล่าสุด ผมไปเดินร้าน Ameba ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านที่คราว Tower Records เจ๊ง แต่ Ameba ไม่เจ๊ง ทุกวันนี้ก็ใหญ่โตมโหฬาร เหมือนกลับสู่ยุครุ่งเรืองของแผ่นเสียงอีกครั้ง เราได้เห็นอัลบัมใหม่ในรูปแบบแผ่นเสียงวางเต็มไปหมด ผมอยู่ในนั้นได้ทั้งวันโดยไม่เบื่อ หรือ Tower Records ที่ชิบูยะ ญี่ปุ่น ล่าสุดขยายแผนกแผ่นเสียง จากเดิมอยู่เป็นมุมในชั้น ๑ แต่ตอนนี้กินพื้นที่ทั้งชั้นของตึกเลย
อีกสิ่งที่กระตุ้นให้คนเข้าร้านแผ่นเสียงมากขึ้น เกิดในฝั่งอเมริกาก่อน ด้วยความที่ร้านแผ่นเสียงใหญ่ ๆ อาจเจ๊ง แต่ร้านแผ่นเสียงเล็ก ๆ มีร้านเดียวในแต่ละเมือง เขาก็พยายามเอาตัวรอด และมีผู้คนที่รวมตัวกันเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าร้านแผ่นเสียง โดยทำสิ่งที่เรียกว่า Record Store Day ในเดือนเมษายนของทุกปี เขาจะไปรวมศิลปินที่รักในการทำแผ่นเสียงมาออกแผ่นเสียงพิเศษช่วงนี้ แล้ววางขายในร้านแผ่นเสียงอิสระทั่วประเทศ ซึ่งต้องไปซื้อที่ร้านเท่านั้น ร้านหนึ่งมีไม่กี่แผ่น บางแผ่นมีที่ร้านนี้ อีกแผ่นมีอีกร้าน เพื่อให้คนเข้าหลาย ๆ ร้าน ผลปรากฏว่าเวิร์ก เพราะเกิดแผ่นที่เป็นลิมิเต็ดอิดิชัน หรือมา reissue ใหม่ ทำให้ทุก ๆ ปีเขาจะรอคอยว่าจะมีอะไรออกมาบ้าง ส่งผลให้คนตื่นตัวในการเล่นแผ่นเสียง
คือผมเชื่อว่าความรู้สึกโหยหาการฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงมีพร้อมกันทั้งโลก เพียงแต่ตลาดไหนใหญ่กว่าก็ขับเคลื่อนเร็วกว่า ยิ่งถ้าพูดถึงต้นทุนในการผลิตเทียบกับค่าครองชีพ ราคาแผ่นเสียงในต่างประเทศก็ถูกมาก ทุกวันนี้เราไปซื้อแผ่นเสียงในต่างประเทศเพราะถูกกว่าในเมืองไทย นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันกลับมา
อัลบัม ไข้ป้าง ของ นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานที่ทำให้วงการแผ่นเสียงไทยกลับมาคึกคัก
แล้วในบ้านเรากระแสแผ่นเสียงเริ่มต้นช่วงไหน
คือถ้าแบบที่ได้ยินเองคืออัลบัม ไข้ป้าง (นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ปี ๒๕๓๗) ออกมาเป็นซีดีกับเทปคาสเซ็ต ราวปี ๒๕๕๕ reissue ไข้ป้าง เป็นแผ่นเสียง และเกิดปรากฏการณ์ขายหมดภายในเวลาไม่กี่วันจนต้องปั๊มใหม่ ซึ่งจริง ๆ ไข้ป้าง ไม่ใช่แผ่นแรกที่กลับมาทำ เท่าที่ทราบมีอีกสองสามชุดก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่สร้างแรงกระเพื่อมแก่วงการ แต่ไข้ป้าง มันเวิร์ก อาจเป็นเรื่องช่วงวัยด้วยครับ ไข้ป้าง เป็นอัลบัมที่โด่งดังในยุค 90s ซึ่งพอถึงยุค ๒๐๑๐ คนที่ฟังไข้ป้าง อาจเป็นเด็กมัธยมฯ ผ่านมาเกือบ ๒๐ ปีก็อายุประมาณ ๓๕ อยู่ในวัยที่มีเงินซื้อแผ่นเสียง เพราะแผ่นเสียงราคาพันกว่าบาท ผมว่ากลุ่มคนที่เริ่มสนใจตรงวัยกับไข้ป้าง ผมเองยังซื้อไม่ทัน เพราะตอนนั้นไม่สนใจฟังแผ่นเสียง จนผมได้ยินเรื่องนี้จากคุณอ๊อฟ (พูนศักดิ์ จตุระบุล สมาชิกวง Big Ass) จึงหันกลับมาดู
หลังจากนั้นก็เป็นยุคแห่งการ reissue จาก ไข้ป้างเป็นยุคของเบเกอรี่ มิวสิค Rhythm & Boyd, โมเดิร์นด็อก ชุดแรก, Soul After Six แล้วขายดี หมดเร็ว รีเซลก็มูลค่าขึ้นมา โมเดิร์นด็อกปั๊มที่ reissue ถ้าหาซื้อกันจริง ๆ ต้องมีเป็นหมื่นถึงจะมีคนยอมขาย ทั้งที่ตอนออกมาประมาณพันสองพัน ทีนี้มาถึงยุคที่ยักษ์เริ่มตื่นก็คือแกรมมี่
สเต็ปต่อมาผมไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งผมไม่ได้พูดเอง แต่พี่นก “ร้านแผ่นเสียง” บอก คือผมทำ “ป๋าเต็ดทอล์ก” สัมภาษณ์คุณโต (วีรชน ศรัทธายิ่ง) วง Silly Fools แล้วเอาแผ่นเสียง Silly Fools ซึ่งตอนนั้นออกมาแค่สามแผ่นให้คุณโตเซ็น ก่อนนั้นคุณนกบอกว่าแผ่นเสียง Silly Fools ขายไม่ดี เอามาเซลหมด ภาพคุณโตเซ็นบนแผ่นเสียงเป็นภาพที่ใกล้เคียงสุดในการกลับมาร้องเพลง เพราะเขาไม่ร้องเพลงแล้ว ถ้าใช้คำวัยรุ่นก็คือแฟน ๆ Silly Fools เห็นแล้วใจฟู หลังจากวันที่ “ป๋าเต็ดทอล์ก” ออกอากาศแผ่น Silly Fools ขายหมดเกลี้ยง ปั๊มอีกกี่ครั้งก็ขายหมดจนปัจจุบัน เป็นแผ่นเสียงของวงดนตรีที่ออกมาเมื่อไรก็ขายดีเมื่อนั้น
ผมยกให้ ไข้ป้าง เป็นตัวจุดประกายให้เกิดจุดเริ่มต้นของยุค vinyl revival หรือกลับมาฟังเพลงจากแผ่นเสียงอีกครั้ง ปัจจุบันเกือบทุกอัลบัมของศิลปินยุคนี้จะออกแผ่นเสียงด้วยเป็นเรื่องปรกติ เขาอาจออกซีดี เทปคาสเซ็ตไหมไม่รู้ แต่แผ่นเสียงเนี่ยเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ผมยังซื้อไม่ทันเพราะเยอะจริง ๆ
ตอนไหนที่เริ่มต้องการสะสมแผ่นเสียงอีกครั้ง
จริง ๆ ตอน ไข้ป้าง หรือให้คุณโตเซ็นแผ่น ผมก็ยังไม่เรียกว่าสะสมนะ เพราะผมมีปมอย่างหนึ่งคือครั้งผมเป็นดีเจอย่างน้อย ๑๐ ปี ผมมีแผ่นเสียงทุกแผ่นในยุคนั้น แต่ความที่บ้านไม่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียง ผมสะดวกฟังแผ่นซีดีมากกว่า เลยเอาไปฝากคุณแม่ที่ต่างจังหวัด วันดีคืนดีกลับบ้าน แม่บอกน้ำมันท่วม แผ่นเสียงหายไปกับน้ำหมด เฮ้อ ! ก็เสียดายแหละแต่ไม่มาก พอเข้ายุคนี้ที่แผ่นเริ่มกลับมาก็รู้สึก โห ถ้าเราต้องเล่นแผ่นเสียงอีกรอบต้องไปไล่ซื้อใหม่เหรอ มันท้อน่ะ เราเคยมีคอลเลกชันของเราแล้ว ผมเลยเลือกซื้อเฉพาะแผ่นที่อยากฟังจริง ๆ ไม่กี่แผ่น
แล้ววันหนึ่งน่าจะประมาณ ๕-๖ ปีที่แล้ว ลูกน้องผมบอกคุณแม่ของเพื่อนเขาเป็นดีเจเก่าและมีแผ่นเสียงเยอะมาก ท่านเป็นดีเจรายการวิทยุ “เสียงสามยอด” ซึ่งตั้งแต่ยุค 70s นี่คือรายการวิทยุอันดับ ๑ ของประเทศไทย ต้นกำเนิดของเสาอากาศทองคำ ซึ่งเป็นมาตรวัดว่าเพลงไหนฮิต ก็มาจากชาร์ตของ “เสียงสามยอด” แล้วท่านมีแผ่นเสียงในคอลเลกชันเยอะมาก พอเลิกฟังก็อยากจะมอบให้ใครก็ได้โดยมีข้อแม้ว่าต้องเห็นคุณค่า ห้ามขาย เขาก็ถามต่อ ๆ กันมา ซึ่งผมโชคดีมากที่ลูกน้องผมเขารู้ว่าผมเล่นแผ่นเสียง ผมตอบรับทันที ท่านก็เชื่อใจว่าถ้าเป็นผมคงไม่เอาไปขาย น่าจะได้ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ แผ่น เป็นลัง ๆ
อัลบัม เมด อิน ไทยแลนด์ ของคาราบาว ปั๊มเลเบลสีแดง เป็นแผ่นหายากที่นักสะสมแผ่นเสียงต้องการ
พอแกะดู โอ้โฮ ! มันคือคลังสมบัติดี ๆ นี่เอง หลายแผ่นที่หายากมาก ๆ อยู่ในคอลเลกชันของดีเจท่านนี้ อย่าง เมด อิน ไทยแลนด์ ปั๊มแรก ซึ่งเป็นหนึ่งในแรร์ไอเท็มเลย เลเบลเป็นสีแดง ถ้าปั๊มถัดมาเป็นสีเหลือง ผมได้มาทั้งหมดสามแผ่นสภาพดีมาก ไม่ต้องมาขอซื้อนะ ไม่มีความคิดที่จะขาย เวอร์ชันนี้น่าจะออกมาแรก ๆ เพราะรายชื่อเพลงบนปกไม่มีการขีดฆ่า มีแค่ติ๊กตรงนี้ว่าเป็นเพลงโปรโมต จงเปิดเพลงนี้เยอะ ๆ อย่าง “เมด อิน ไทยแลนด์” สามดาว “ลูกหิน” หนึ่งดาว “ราชาเงินผ่อน” หนึ่งดาว แต่ถ้าลอตที่ ๒ หลังจากอัลบัมชุดนี้วางมาสักพัก อัลบัมและปกจะถูกขีดฆ่าตรงเพลง “หำเทียม” และเขียนห้ามเปิด เพราะ กบว. (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์) แบนเพลงนี้
พอผมมี ๕๐๐ แผ่นนี้มาเหมือนเป็นชุดสตาร์ตอัปใหม่ เลยรู้สึกพร้อมที่จะสะสมแผ่นใหม่ คาราบาว, สาว สาว สาว,
ชาตรี, แกรนด์เอ็กซ์ มีเกือบครบทุกชุด คือบรรดาเพลงไทยที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์อยู่ในคอลเลกชันนี้หมดเลย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เริ่มสะสมจริงจัง
ความนิยมแผ่นเสียงที่กลับมาในยุคนี้จะมีโอกาสลดความนิยมและหายไปอีกไหม
แน่นอนก็เป็นไปตามวัฏจักรครับ แต่ประวัติศาสตร์ก็บอกเราเหมือนกันว่าอาจบูมน้อยลง แต่ไม่หายไป กระทั่งวันที่คอลเลกชันผมหายหมด ผมก็ยังฟังแผ่นเสียงเท่าที่มี ผมว่าถ้าคนฟังแผ่นเสียงแล้วหลงเสน่ห์อะไรบางอย่าง มันเป็นสิ่งที่ทดแทนด้วยอย่างอื่นไม่ได้จริง ๆ ก็เหมือนคนที่เริ่มเข้าใจการชงกาแฟแบบดริป หรือการคั่วกลางคั่วเข้มเมล็ดกาแฟแต่ละพันธุ์ให้กลิ่นและรสชาติต่างกันอย่างไรแผ่นเสียงก็เป็นอย่างนั้น มันมีเรื่องให้ explore เยอะ คุณมีชุด บ้าหอบฟาง (ปี ๒๕๒๗) เวอร์ชันล่าสุดสปีด ๔๕ แล้วมีเวอร์ชันสปีด ๓๓ ๑/๓ มีเวอร์ชันซิงเกิลในยุคค่ายเพลงไนท์สปอตไหม ? มันไม่จบแค่คุณเจอเพลงนี้ใน Spotify แล้วเซฟเก็บไว้ แต่มันสนุกต่อได้ คุณมีเทิร์นเทเบิลรุ่นนี้ หรือลองเปลี่ยนไปใช้เข็มตัวนี้หรือยัง ? วันที่ผมลองเปลี่ยนไปใช้เข็มที่ทำให้คุณภาพเสียงดี คือเข็มบางตัวแพงกว่าเครื่องอีก แล้วเข็มตัวเดียวกันการเซตอัปก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ผมเซตอัปไม่เก่งเลยนะ แต่ค่อย ๆ เรียนรู้ พอเซตอัปถูกต้อง เสียงยิ่งดีขึ้นอีก...นี่คือเสน่ห์ของแผ่นเสียง
ในมุมหนึ่งของโลก ไม่ว่าในยุคไหนก็ต้องยังมีคนบ้าแผ่นเสียงกำลังนั่งจูนเข็มอยู่ วางลำโพงในที่ที่ถูกต้อง แล้วก็ฟังแผ่นเสียง (หัวเราะ)