Image

Cocktail 
กับ “แผ่นเสียง”
ปัณฑพล ประสารราชกิจ (โอม)

PEOPLE WITH VINYL
แผ่นเสียงที่ยังมีชีวิต

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ 

ถ้าจะให้จัดอันดับวงร็อกไทยสักวงหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ

หนึ่งในนั้นย่อมจะมีวง Cocktail รวมอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในจำนวนอัลบัมเก้าชุดที่วางตลาด ถ้ามีใครสังเกตจะพบว่า

Cocktail เองก็ไม่พลาดที่จะออก “แผ่นเสียง” ควบคู่ไปกับการผลิตผลงานเพลงใน format อื่น ๆ ด้วย

โอม Cocktail บอกกับเราว่า เหตุผลที่วงผลิตแผ่นเสียง นอกเหนือจากเหตุผลด้านการตลาด

อีกส่วนหนึ่งคือ “ความอยากเก็บ” ล้วน ๆ

Image

วง Cocktail เริ่มต้นจากวงดนตรีสองวงของนักเรียนชั้น ม. ๖ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ต.อ.) ทำดนตรีแล้วนำเพลงมารวมกันเป็นอัลบัมชื่อ Cocktail ในเดือนธันวาคม ๒๕๔๕ ก่อนนำไปวางจำหน่าย  ต่อมา ปัณฑพล ประสารราชกิจ (โอม) นำชื่ออัลบัมมาใช้เป็นชื่อวงดนตรีที่เขาทำหน้าที่นักร้องนำ  Cocktail ก้าวสู่วงการดนตรีอาชีพ เมื่อเซ็นสัญญากับแกรมมี่ เข้าสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด (ปี ๒๕๕๓-๒๕๖๔) ต่อมาสังกัดยีนแลป (ปี ๒๕๖๔-ปัจจุบัน) ออกอัลบัมมาแล้วเก้าชุด ประสบความสำเร็จในฐานะวงดนตรีร็อกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดวงหนึ่งในเมืองไทย และเพิ่งประกาศจะยุติการเล่นดนตรีเป็นอาชีพสิ้นปี ๒๕๖๘

Cocktail เริ่มทำแผ่นเสียงมาตั้งแต่เมื่อไร และทำไมตัดสินใจทำแผ่นเสียง

แกรมมี่เป็นผู้ผลิตครับ เขาถือสิทธิ์ในงานเพลง Cocktail ดังนั้นก็ต้องทำให้เกิดรายได้ เมื่อแผ่นเสียง (vinyl) กลับมาอินเทรนด์ แกรมมี่ก็ถามว่าถ้าจะผลิต Cocktail โอเคหรือไม่ เราตกลงเพราะทางวงเองก็ชอบเห็นงานอยู่ใน format (รูปแบบ) หลากหลาย ไม่ได้คิดว่าจะมีคนซื้อหรือไม่ พูดตรง ๆ คิดอย่างแรกคือเราอยากเก็บ อยากได้ (หัวเราะ) แต่พอต้องทำก็กังวลเหมือนกัน แม้ผมจะมีความรู้เรื่องแผ่นเสียงระดับหนึ่งแต่ไม่ได้เชี่ยวชาญ เลยเกิดคำถามขึ้นคือ ระบบบันทึกเสียง (recording) รวมถึงการ mastering (ทำให้เพลงมีคุณภาพใน format นั้น) ของเรา เหมาะแก่การทำแผ่นเสียงแค่ไหน เราไม่อยากเพียงแค่ทำ หรืออัดเสียงลงร่องแผ่นเสียง แต่ต้องมีคุณภาพด้วย อัลบัมที่เรานำมาผลิตแผ่นเสียงครั้งแรกน่าจะเป็น The Lords of Misery (ปี ๒๕๕๗) ซึ่งอ่านด้วยความเร็ว 33 RPM ก่อนจะผลิตแบบ 45 RPM ภายหลัง

Image

เราทำ (แผ่นเสียง) เพราะชอบเห็นงานอยู่ใน format (รูปแบบ) หลากหลาย

Image

Image

สมัยนี้การทำแผ่นเสียงยากหรือไม่

ที่ผ่านมาเวลานำเพลงลงแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง ผมมิกซ์เสียง (mix-การปรุงเสียง นำเสียงแต่ละ track เช่น กีตาร์ เบส เสียงร้อง ฯลฯ มารวมกันจนลงตัว) เพื่อแพลตฟอร์มนั้น ๆ โดยเฉพาะ เช่น ลง Spotify ก็มิกซ์แบบหนึ่ง ลงใน YouTube ก็มิกซ์อีกแบบ เพื่อให้สารในเพลงสื่อได้ดีที่สุด  ทีนี้พอทำแผ่นเสียง ต้องคิดว่าใครเหมาะทำ mastering ก็ได้คุณนฤชิต เฮงวัฒนอาภา (เบิร์ด) Mastering Engineer ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหลักของ GMM Grammy ที่รู้มือกันดีมาดูแล  คุณเบิร์ดจะส่งแผ่นต้นฉบับไปต่างประเทศเพื่อรับรองคุณภาพ ตรวจสอบรายละเอียดและขั้นตอนการผลิตให้ แม้โดยเทคโนโลยีจะทำอะไรแบบนี้ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน แค่ใส่เสียงผ่านเครื่องเสียง มันก็จะยิงเข้าระบบ จากนั้นก็ใส่ไวนิลไป ผ่านกระบวนการผลิตสร้างร่องเสียง แค่นั้นจบ แต่การจะได้เสียงที่เหมาะแก่แผ่นเสียงและตรงตามเจตนาของศิลปินก็ต้องให้ความสำคัญมากกว่านั้นครับ  

คุณโอมชอบฟังเพลงใน format ไหน

ต้องตอบว่าชอบฟังเวลาไหน อย่างไร มากกว่า เช่น วันนี้ผมอยากฟังแผ่นเสียง อีกวันอยากฟังแบบดิจิทัล อีกวันอยากฟังระบบ Dolby 7.1 บางวันอยากฟังเทปคาสเซ็ต ผมมีความสุขกับการฟังเพลงหลากหลายรูปแบบ อย่างอัลบัมเพลงบรรเลงประกอบภาพยนตร์ Star Wars หรืออัลบัมของ Daft Punk อย่าง Random Access Memories ผมก็มีครบทุก format ที่ออกขายครับ

คุณโอมมองว่าแผ่นเสียงให้เสียงที่เพราะกว่า format อื่นหรือไม่

ไม่เคยรู้สึกว่าเพราะกว่า format อื่นนะครับ แล้วแต่ความรู้สึกของปัจเจก  มนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ก๋วยเตี๋ยวชามเดียวกัน ให้คน ๑๐ คนรับประทาน พวกเขาจะบอกมันเผ็ดไม่เท่ากัน หนักกว่านั้นอาจบอกราคาชามละ ๘๐ บาทแพงไป แต่อีกคนบอกว่าราคาถูก อีกคนบอกกินแล้วไม่คุ้ม บางคนก็อาจบอกอะไรไม่ได้เลย 

Image

ผู้ฟังกลุ่มไหนซื้อแผ่นเสียงวง Cocktail 

เรื่องนี้ผมไม่ทราบครับ ระบบขายแผ่นเสียงของแกรมมี่ ขายขาดให้ร้านค้า แต่คิดว่าคนซื้อน่าจะมีหลายกลุ่ม ทั้งคนชอบเสียงจากแผ่นเสียง นักสะสมบางคนก็ซื้อโดยไม่ได้เปิดฟัง บางคนชอบเรื่องของเสียงและเครื่องเสียง ยิ่งวงไหนบันทึกเสียงดีเขาก็อาจไล่ซื้อเก็บไว้หมด  โดยส่วนตัวผมมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่บ้านก็มีเครื่องเล่นเก่าที่มอเตอร์ไม่ทำงานแล้ว ก็ซื้อใหม่ มีหลายเกรด ทั้งแบบใช้ฟังสบาย ๆ หรือฟังจริงจัง

นิยามว่าแผ่นเสียงเป็น “สินค้า” หรือ “ของสะสม/ของที่ระลึก”

แล้วแต่คนมอง ง่ายมาก คนทำธุรกิจมองว่าแผ่นเสียงคือสินค้าทำรายได้ เพราะแนวโน้มตลาดเป็นแบบนั้น  เมื่อมีคนเล่น หากผลิตปริมาณเหมาะสมก็สร้างกำไรได้ระดับหนึ่ง ในตลาดโลกถ้ายังมีคนผลิตแผ่นเสียง แสดงว่ายังมีคนซื้อ  ในฐานะศิลปินเจ้าของเพลง ผมไม่มีนิยาม ที่ต้องการอย่างเดียวคือแน่ใจว่าเพลงที่ถ่ายทอดไปในแต่ละ format มีคุณภาพ ภูมิใจได้ สารในเพลงสื่อครบถ้วน เพราะทั้งหมดคือหน้าตาของ Cocktail เราจะไม่ทำเพลงแบบส่ง ๆ

หลังยุบวงในปีนี้ แผ่นเสียงของ Cocktail จะยังผลิตต่อหรือไม่

ผมขอแกรมมี่ไว้ว่า ในรอบปีแรกหรืออย่างน้อย ๒ ปีหลังจากยุบวง ผมไม่อยากให้ขายของที่เกี่ยวกับ Cocktail เลย  ส่วนอนาคต แกรมมี่จะรวมเพลงฮิต หรือทำอะไรก็ได้ ผมมองว่าแกรมมี่กับยีนแลปร่วมกันลงทุน ถ้าเขาจะแสวงหาผลประโยชน์ก็เป็นเรื่องปรกติและยุติธรรมสำหรับผู้ลงทุนครับ