Image

พฤฒิพล ประชุมผล
ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์
เครื่องเล่นกระบอกเสียง
และหีบเสียงไทย

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“เราอยากทำ (พิพิธภัณฑ์เครื่องเล่น กระบอกเสียงและหีบเสียงไทย) ไว้เป็นความรู้ให้ประเทศชาติ”

เริ่มสนใจเรื่องหีบเสียง กระบอกเสียง แผ่นเสียง ตั้งแต่เมื่อใด

ทุกคนเคยฟังเพลง คนยุคผมฟังเทป ๘ แทร็ก ต่อมาถึงเป็นเทปคาสเซ็ต ซีดี ผมสนใจว่าต้นตอการบันทึกเสียง ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องคืออะไร ก็ไปพบแผ่นเสียง กระบอกเสียง คิดอยากทำให้ของพวกนี้กลับมามีชีวิต เพราะสมัยเด็กผมชอบเอาเทปคาสเซ็ตใส่วิทยุแล้วกดปุ่มอัด เลยคิดว่าบันทึกเสียงลงกระบอกเสียงอีกครั้งได้ไหม

ตอนเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาเลยตระเวนไปทั่ว มีตลาดนัดที่ไหนก็ไปดูคนที่เขาเอาเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาขาย ส่วนมากเขาไม่ได้เอาเครื่องที่มีน้ำหนักมากหรือเครื่องสำคัญมาโชว์ ผมไปคุยเขาก็บอกว่าสนใจก็ไปดูได้ ผมก็ขับรถตามไปถึงที่ จำได้ว่าหลงในป่าโกงกางก็มี ไปใต้ถุนบ้านฝรั่ง เอาของออกมาปัดฝุ่น ไปหลายรัฐทั้งมิสซูรี แคนซัส โดยเฉพาะพวกรัฐที่อยู่ตรงกลางของประเทศสหรัฐฯ เป็นรัฐเก่า มีของโบราณมากและเขาขายถูก คนขายยังบอกว่าผมบ้าน่าดู

ได้ของแล้วเอามาทำอะไร เก็บไว้ที่ไหน

เอามาซ่อม หยอดน้ำมัน อพาร์ตเมนต์ของผมที่อเมริกาเต็มไปด้วยเครื่องพวกนี้ เพื่อนที่ไปเห็นก็ตกใจว่าอยู่ได้อย่างไรกับของเหล่านี้  ที่บ้านก็ไม่ทราบและเขาก็ไม่ได้เพิ่มค่าขนมให้ด้วย ผมใช้วิธีรับประทานเมนูไข่เป็นหลัก ประหยัดเงินเอาไปซื้อของพวกนี้

เริ่มทำพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างไร

พอเรียนจบ ผมเอาของใส่ตู้คอนเทนเนอร์ขนกลับมาที่บ้านก็ตกใจเพราะมีมากมาย ตอนนั้นยังไม่มีทุน ไม่ได้คิดเรื่องทำพิพิธภัณฑ์ จนทำงานมาสักพักหนึ่งเริ่มรู้เยอะ เช่น รู้จุดเริ่มว่ามีเครื่องเล่นกระบอกเสียง มีแผ่นเสียง สงสัยต่อว่าเกี่ยวกับไทยอย่างไร กระบอกเสียงที่บันทึกเสียงเกี่ยวกับคนไทยมีไหม

ผมค้นคว้าต่อจนพบสิ่งมีค่ามากคือกระบอกเสียงบันทึกเพลง “Siamese Patrol” รับเสด็จ ร. ๕ ประพาสยุโรป
ผมประมูลของแบบนี้ จ่ายเท่าไรก็ยอมเพราะนับถือ ร. ๕ อยู่แล้ว  ต่อมายังได้เครื่องเล่นกระบอกเสียงสำคัญทั้งยี่ห้อ Columbia, Edison ฯลฯ เลยเริ่มคิดเรื่องเผยแพร่ เพราะถ้าเราตายไปคงน่าเสียดายความรู้

สิ่งที่ผมทำคือชวนคนมาดู เริ่มทำพิพิธภัณฑ์ในบ้านซอยลาดพร้าว ๔๓ ก่อนที่ภายหลังจะสร้างตึก ทุกคนมีความฝัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้  ราวปี ๒๕๔๓ ผมเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งตั้งใจจะสร้างอาคารแทนที่บ้านหลังเล็ก เพราะมันไม่สะดวก อยากทำให้เป็นเรื่องเป็นราว เลยไปกู้เงินจากธนาคาร

Image

ถึงขั้นกู้เงินทำพิพิธภัณฑ์

งานหลักในตอนนั้นผมทำบริษัทผลิตแพ็กเกจจิงขนมไทยส่งให้สนามบิน ได้เงินก็เอามาทำงานนี้ ที่ดินที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เป็นของคุณแม่ ท่านยังคิดว่าผมจะมีปัญญาไถ่ที่ดินคืนจากธนาคารหรือไม่ ทางบ้านก็ไม่ได้เห็นด้วยเพราะมีแต่รายจ่าย โดยปรกติพ่อแม่ก็อยากเห็นลูกมีฐานะมั่นคง พอผมกู้เงินมาสร้างตึกพิพิธภัณฑ์เขาก็ห่วง ผมสัญญากับท่านว่าจะต้องคืนเงินธนาคารให้ได้ คงมีสิ่งที่มองไม่เห็นช่วยเลยไถ่ที่ดินคืนมาได้และทำ “พิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย” สำเร็จ

ตอนนั้นยังไม่มี “พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย” ที่จะเกิดในเวลาต่อมา เพราะมีทุนจำกัดทำได้เรื่องเดียว ผมยังทำเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ใน GeoCities ที่ให้พื้นที่ฟรี สมัยนั้นไม่มีที่ไหนเขาทำครับ (หัวเราะ) ฝรั่งยังงง

มีวิธีการตามหาของโบราณเหล่านี้
เข้าพิพิธภัณฑ์อย่างไร

พออยู่เมืองไทย ผมให้คนที่หาของเก่าด้านนี้ช่วย คนที่มีบุญคุณมากหลายท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว อย่างลุงเปี๊ยก อีกคนเป็นคนอินเดียชื่อกุมาร เพราะในอินเดียมีของพวกนี้หลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง เราก็จะเอาของที่เกี่ยวกับไทยกลับมา

สมัยก่อนยังมีงาน Union Show ที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับเครื่องเล่นกระบอกเสียง แผ่นเสียง โดยเฉพาะที่จัดทุกปี มีเครื่องเล่นจานเสียงโบราณจากหลายเจ้าหลักหมื่นเครื่อง ผมบินไปร่วม เห็นมีคนญี่ปุ่น คนเกาหลีใต้ไปด้วย แต่สำหรับคนไทย เราเหนื่อยกว่าเพราะค่าเงินบาทของเราสู้ไม่ได้เวลาประมูลของ ยังไม่นับว่าผมต้องออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าขนส่งของเองทั้งหมด

ผลจากการทำพิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย

คิดว่าอย่างน้อยทำให้คนไทยสนใจประวัติศาสตร์การบันทึกเสียงมากขึ้น มีคนไปค้นหาแผ่นเสียงเก่า เริ่มค้นคว้ามากขึ้น

ผู้ชมส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ คุณตาท่านหนึ่งขึ้นเครื่องบินมาจากเชียงใหม่ เหมือนท่านได้กลับมารำลึกความรู้สึกเก่าที่หายไปนาน ผมเปิดแผ่นเสียง บันทึกเสียงลงกระบอกเสียงให้ดู ทั้งที่รู้ว่ามีผลกับอุปกรณ์โบราณ แต่ผมไม่อยากให้เสียเที่ยว ผมเห็นน้ำใจของคนที่มาชม

อีกกลุ่มที่มาคือครู อาจารย์ ส่วนนักเรียน นักศึกษา มีน้อย ต่างจากพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยที่ผมทำทีหลังตรงนั้นแฟนคลับอายุน้อยที่สุดคือ ๒ ขวบ จำได้ว่าคุณพ่อของน้องเปิดคลิปที่ผมเอาลงยูทูบให้ดู เพราะน้องไม่ชอบดูการ์ตูน

ผมรับเป็นวิทยากรให้สำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องธงชาติไทย ต้องไปบรรยายหลายแห่ง ไม่มีโอกาสอยู่พิพิธภัณฑ์ ดังนั้นการกำหนดวันเข้าชมพิพิธภัณฑ์ทั้งหีบเสียงและธงชาติจึงทำได้ยาก เป็นที่มาของการใส่ลงไปใน Google Maps ว่า “ปิดชั่วคราว” ให้ติดต่อนัดหมายดีกว่า เขาจะได้ไม่เสียความรู้สึกถ้ามาแล้วไม่เจอใคร

“ถ้ามีใครให้เงินทุนสัก ๕ ล้านบาท ผมจะเลิกให้เช่าชั้นล่างของตึกพิพิธภัณฑ์ กลับมาทำพิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทยอีกครั้ง”

Image

เมื่อเกิดโรคระบาด กระทบพิพิธภัณฑ์แค่ไหน

ทุกอย่างจบ พอสนามบินปิด ธุรกิจผมก็แย่ไปด้วยเพราะโดนคืนของทั้งหมด เงินที่เราลงทุนก็จม เขาคืนของ ของมีวันหมดอายุ เลยต้องทำลายของมูลค่าเป็นล้านบาททิ้ง ผมต้องปิดพิพิธภัณฑ์ ปล่อยชั้นล่างของอาคารให้คนอื่นเช่า บอกตัวเองว่าถ้ายังมีชีวิต พิพิธภัณฑ์ต้องเดินต่อไป จึงยุติส่วนของพิพิธภัณฑ์กระบอกเสียง ทำพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยต่ออย่างเดียวเพราะมีความสำคัญต่อชาติ ทั้งยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องค้นคว้าและชำระสิ่งที่เชื่อกันมาผิด ๆ  นี่คือเป้าหมายสุดท้ายของผม ชำระประวัติธงชาติไทยที่ผิดให้ถูกต้องทั้งหมด โดยที่ผ่านมาคุณจันทกาญจน์ คล้อยสาย คือคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ไม่อย่างนั้นคงไม่เกิดพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่ง

พอปิดพิพิธภัณฑ์ผมก็เก็บของส่วนของกระบอกเสียง หีบเสียง แต่ก็พร้อมให้ความรู้เป็นวิทยาทานแบบที่ สารคดี มาคุยตอนนี้

ผมตั้งใจว่าจะใช้เทคโนโลยี ยูทูบเหมาะที่จะใช้กับงานวิชาการ ผมก็ไปศึกษาเรื่องการถ่ายทำคลิป เรียนรู้การตัดต่อเอง ทำคลิปเผยแพร่ทางช่อง https://www.youtube.com/@SoundRecordingInSiam (การบันทึกเสียงในสยาม/Sound Recording In Siam) แทน 

มีแผนจะเปิดพิพิธภัณฑ์เครื่องเล่น กระบอกเสียงและหีบเสียงไทยอีกหรือไม่

ทุกวันนี้ผมแก่ลงมาก เวลาบรรยายจริงจังนี่เหนื่อยหมดแรง ถ้ามีเงินมากพอและผมยังไม่แก่เกินไป ผมก็อยากทำต่อ

ผมเคยประกาศว่าถ้ามีใครให้เงินทุนสัก ๕ ล้านบาท ผมจะเลิกให้เช่าชั้นล่างของตึกพิพิธภัณฑ์ กลับมาทำพิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทยอีกครั้ง เงินตรงนี้เทียบกับองค์ความรู้ของชาติเกี่ยวกับการบันทึกเสียงของชาติที่ลูกหลานไทยจะได้เรียนรู้มันคุ้มค่า แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีโอกาสได้ทุนสนับสนุนตรงนี้เลย (หัวเราะ) ธุรกิจใหญ่ ๆ ส่วนมากเขาก็จะมองเรื่องการสร้างภาพลักษณ์มากกว่า แต่ตรงนี้มันคือเรื่องของความรู้

เคยท้อหรือไม่

หลายรอบครับ ลองคิดว่าเวลามีเงินก้อนหนึ่งแล้วเอามาทำแบบนี้ ครอบครัวก็อดเที่ยว ลูกไม่ได้ของที่อยากได้ พ่อแม่ไม่ได้เที่ยวต่างประเทศ แต่เราอยากทำไว้เป็นความรู้ให้ประเทศชาติ  ผมเคยบอกครอบครัวว่าเสียสละกับผมนะ เข้าใจสิ่งที่ผมทำนะ มันอาจไม่ได้ทุกอย่าง ถือว่าเป็นวิทยาทาน ให้ความรู้คนอื่น

มองอนาคตของพิพิธภัณฑ์เครื่องเล่น กระบอกเสียง และหีบเสียงไทยไว้อย่างไร

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทำมาสุดท้ายจะมีทางออก วันหนึ่งอาจมีคนมาสานต่อ ผมก็แค่ดูแลช่วงนี้

ส่วนหนึ่งของเรื่องกระบอกเสียง หีบเสียง แผ่นเสียง ผมมอบของให้หอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์ไปเยอะ อีกส่วนมอบให้ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร (ส่วนหนึ่งของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร) ที่เหลือถ้ามีใครอยากมารับมาสานต่อตรงนี้ผมก็ยินดี

ตอนนี้เครื่องเสียงโบราณที่อยู่กับผมเป็นหัวกะทิคือชิ้นสำคัญ ที่ยังไม่ส่งไปไหนก็เพราะยังไม่มีใครอธิบายที่มาของมันได้ดีเท่า ยังไม่เจอคนที่จะมารับและมีศักยภาพมากพอที่จะรักษามันได้

อยากบอกอะไรกับรัฐบาล

ตราบใดที่รัฐบาลยังเน้นนโยบายประชานิยม องค์ความรู้แบบนี้จะยังไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ คนส่วนมากก็จะมองเรื่องปากท้องก่อนเรื่องอื่น แต่ความรู้ลงทุนแล้วมันต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างชาติให้มั่นคง เราจึงต่างจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมนี ประเทศที่เขาเจริญแล้วเขาจะมองจำนวนพิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ มองการเผยแพร่องค์ความรู้เป็นหลัก ไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น