Image

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี

หมายเหตุ : แผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียง
ในสกู๊ปนี้ได้รับความอนุเคราะห์ให้ถ่ายภาพจากพิพิธภัณฑ์
เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย
ดำเนินการโดยอาจารย์พฤฒิพล ประชุมผล
นายกสมาคมนักอนุรักษ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย

ในบันทึกประวัติศาสตร์ไทย “แผ่นเสียง” มีข้อมูลน้อยที่สุดเรื่องหนึ่ง นักค้นคว้าที่ศึกษาเรื่องนี้ก็มีจำนวนนับนิ้วมือข้างเดียวได้

ผู้ที่จัดระเบียบองค์ความรู้เรื่องนี้ไว้อย่างเป็นระบบคือ พฤฒิพล ประชุมผล นักค้นคว้าอิสระรายเดียวของไทยที่เขียนเรื่องแผ่นเสียงไทยไว้ในหนังสือ เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์ ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ๒๕๔๖

เครื่องเสียงโบราณฯ ให้รายละเอียดว่า ก่อนที่คนสยามจะรู้จักแผ่นเสียง คนไทยรู้จัก “เครื่องเล่นกระบอกเสียง” ที่เรียกว่า “โฟโนคราฟ” มาก่อน โดยหนังสือวชิรญาณ (เล่ม ๓ วัน ๗ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ คํ่า ปีชวด สัมฤทธิศก ๑๒๕๐) สิ่งพิมพ์ยุครัชกาลที่ ๕ เล่าว่า “เปนเครื่องไฟฟ้าสำหรับที่คนจะพูดไปในเครื่องนั้น ๆ ก็เก็บเสียงแลคำพูดของผู้นั้นไว้ได้สิ้นกาลนาน” เมื่อจะฟังก็เพียงแต่หมุนเครื่องก็จะได้ยิน

วชิรญาณ มองว่านี่เป็น “ทิพยโสต” (หูทิพย์) อย่างหนึ่ง

ยังมีบันทึกของ ต. เง๊กชวน ธันวารชร (ต่อมาเป็น
นายห้างผู้จำหน่ายหีบเสียง จานเสียงคนสำคัญในสยาม) เล่าถึงการพบเห็นกระบอกเสียงในปี ๒๔๓๗ ในงานโกนจุกที่ฉะเชิงเทรา โดยมีผู้นำกระบอกเสียงที่บันทึกการแสดงงิ้วไปเปิดให้ประชาชนฟัง และยังมีการบันทึกเสียงลงกระบอกเสียงด้วย

ก่อนที่ต่อมาจะมีการส่งแผ่นเสียงเข้ามาจำหน่ายในสยาม ในมุมมองของ ต. เง๊กชวน มองว่าการขายกระบอกเสียงไม่คุ้มค่า เพราะซื้อเครื่องเล่นกระบอกเสียงสักเครื่องหนึ่งก็ใช้งานได้นาน แถม “กรอกเพลงใหม่ ๆ ได้เองตามชอบใจ” ดังนั้นฝรั่งจึงเปลี่ยนมา “...ขายแผ่นเสียงที่พิมพ์เพลงเสร็จแล้วให้พวกเราคงจะได้จำนวนมาก” โดย ต. เง๊กชวนเล่าถึงการส่งวิศวกรชาวยุโรปกับเครื่องอัดเสียงและ “แผ่นขี้ผึ้ง” เข้ามาที่กรุงเทพฯ ก่อนจะนำกลับไปผลิตแผ่นเสียงส่งกลับมาขายอีกครั้ง

นั่นอาจเรียกได้ว่าเป็น “ยุคแรก” ของแผ่นเสียงในสยาม

Image

แผ่นเสียง “เพลงชาติ ๑”

“ประวัติศาสตร์เพลงไทย” จาก “แผ่นเสียง”

อาจารย์พฤฒิพลระบุว่า นักเล่นแผ่นเสียงชาวสยามน่าจะรู้จักแผ่นเสียงครั้งแรกจากการเข้ามาของทีมอัดเสียงลงแผ่นเสียงบริษัท Gramophone ที่นำโดย ทอม แอดดิส (Tom Addis หัวหน้าคณะ)  เฟรด ไกส์เบิร์ก (Fred Gaisberg วิศวกรด้านอัดเสียง) และ จอร์จ ดิลนัตต์ (Gorge Dilnutt ลูกมือ) พร้อมกับเครื่องมือจำนวนมาก โดยภารกิจของทีมนี้คือไปยังดินแดนต่าง ๆ ในเอเชียเพื่อทำแผ่นเสียงแม่แบบ (stamper) ของเพลงในดินแดนนั้น และสยามเป็นเป้าหมายหนึ่ง 

ทอมและคณะมาถึงสยามในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๔๕/ค.ศ. ๑๙๐๒ และขอเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๕ เพื่อกราบบังคมทูลฯ ขอพระบรมราชานุญาตอัดเสียงของนักร้องในราชสำนัก

อาจารย์พฤฒิพลอธิบายกระบวนการทำงานของทีมอัดเสียงฝรั่งที่เข้ามาว่า “วิธีการคือมาพร้อมกับเครื่องอัดมีกระบอกเสียงขนาดใหญ่สำหรับบันทึก นำนักร้องมาลงเสียงในบริเวณเฉพาะ เช่นกั้นม่านไว้ ให้ร้องใส่ horn ขนาดใหญ่ เพราะยุคนั้นไม่มีไมโครโฟน จึงอาศัยหลักการสั่นหรือกำทอนของเสียง (resonance) เจาะร่องบนผิวกระบอกเสียงต้นฉบับ ซึ่งจะนำไปใช้ผลิตแผ่นเสียงต้นฉบับ (stamper) จากนั้นจึงผลิตเป็นแผ่นเสียงเชิงพาณิชย์  อาจมีคำถามว่าทำไมไม่บันทึกเสียงลงแผ่นเสียงไปเลย ก็ตอบได้ว่าเพราะอัตราความเร็วในการบันทึกลงกระบอกเสียงมันเร็วกว่า กระบอกเสียงบรรจุงานได้มากกว่า คุณภาพเสียงดีกว่า การเอาไปผลิตแผ่นต้นฉบับก็ทำได้ดีกว่า”

แต่ในกรณีทีมของ ทอม แอดดิส เป็นการมาทำแผ่นต้นฉบับที่หน้างานพร้อมอุปกรณ์แบบใหม่ล่าสุดที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้น พวกเขาใช้เวลาทำงานจน “เสร็จสิ้นภายใน ๔ วัน พร้อมแผ่นขี้ผึ้งแม่แบบถึงร้อยกว่าหน้า” ที่นำกลับไปอังกฤษ แล้วส่งไปเยอรมนีเพื่อผลิตแผ่นต้นแบบที่เมืองฮันโนเวอร์ (Hanover) จากนั้นผลิตเป็นแผ่นเสียงครั่งชนิดหน้าเดียวตรา Angel Trademark ส่งกลับมาสยามในปี ๒๔๔๗/ค.ศ. ๑๙๐๔

ต่อมาปี ๒๔๕๐/ค.ศ. ๑๙๐๗ น้องชายของเฟรด คือ วิลเลียม คอนราด ไกส์เบิร์ก (William Conrad Gaisberg)
เข้ามาที่สยามเพื่ออัดเพลงอีกครั้ง ครั้งนี้แผ่นเสียงที่นำกลับไปผลิตแล้วส่งกลับมาขายที่สยามจะมีตัว e ต่อท้ายเลขประจำแผ่น (ต่างจากรอบของพี่ชายที่มี e อยู่ข้างหน้าหมายเลขประจำแผ่น)

Image

อาจารย์พฤฒิพลชี้ว่าตอนนี้เองที่คนไทยเรียกแผ่นเสียงตรา Angel Trademark ว่า “กราโมโฟน” (Gramophone) ตามชื่อผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียงเจ้าแรกของโลก ใช้เป็นชื่อเรียกแทน (generic name) สินค้าประเภท
แผ่นเสียงไม่ว่าจะตราอะไรก็ตาม (ไม่ต่างจากการเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทบทุกชนิดว่า “มาม่า” จนปัจจุบัน)

ผลคือพี่น้องไกส์เบิร์กกลายเป็นคนบุกเบิกตลาดแผ่นเสียงเชิงพาณิชย์ในสยาม

ส่วนคำถามที่ว่าแผ่นเสียงไทยแผ่นแรก ๆ ที่เข้ามาวางตลาดในสยามเป็นงานของนักร้องท่านใด อาจารย์พฤฒิพลตอบว่า “ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลพอ แต่จากการค้นคว้าแผ่นเสียงที่ผลิตในยุโรปจะถูกส่งมาสยามเป็นลอต เราจะเห็นว่าทีมบันทึกเสียงจะเข้ามาบันทึกเสียงนักร้องหลายคน จากนั้นก็กลับไปผลิต พอส่งแผ่นเสียงกลับมาจำหน่ายก็มาพร้อมกัน
ลอตใหญ่  แผ่นเสียงไทยที่ผมพอยืนยันได้ว่าเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาเป็นแผ่น stamper บันทึกเสียงแบบหน้าเดียว แผ่นเสียงตรา Angel ก็ถือเป็นแผ่นเสียงกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามา”

ทั้งนี้มีตัวอย่างแผ่นเสียงสำคัญที่หลงเหลือมาจากสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งอาจารย์พฤฒิพลได้ตามหาและเก็บรักษามาจนปัจจุบันคือแผ่นเสียงเพลง “แสนเสนาะ” ของ “หม่อมส้มจีน” ภรรยาพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) โดยหม่อมส้มจีนขึ้นชื่อเรื่องร้องเพลงสามชั้นมีเสียงเล็กแหลมถูกใจคนสมัยรัชกาลที่ ๕ กระทั่งรัชกาลที่ ๕ เอง พระองค์ก็ทรงเล่าไว้ใน ไกลบ้าน ว่าฟังเพลง “แสนเสนาะ” ที่มีผู้ส่งไปถวายถึงเมืองฮัมบูร์ก (เยอรมนี) คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ เดือนกันยายน ๒๔๕๑ หลายครั้ง

แผ่นเสียงของ “แม่ส้มจีน” โดดเด่นเพราะมีการลงชื่อนักร้องไว้บนแผ่นเสียง แผ่นที่ผลิตระยะแรกมักลงชื่อเป็น “หม่อมซ่มจีน” ตอนหลังจึงเขียนเป็น “หม่อมส้มจีน” นักร้องสตรีท่านนี้ถือว่าเป็นนักร้องสยามคนเดียวที่มีการสลักลายมือชื่อบนแผ่นเสียงในยุคนั้น 

สมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีการบันทึกเพลงสยามลงแผ่นปาเต๊ะ (Pathéé/ตราไก่แดง) ซึ่งต้องใช้เครื่องเล่นที่หัวอ่านแผ่นจะอ่านจากวงด้านในสู่ด้านนอก ต่างจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงทั่วไปที่อ่านจากด้านนอกเข้าสู่ด้านใน เทคนิคนี้ใช้ในแผ่นปาเต๊ะรุ่นแรก อาศัยหลักการที่ว่าช่วงเริ่มต้นเล่นแผ่นเสียงเครื่องเล่นมีกำลังมากจากการไขลาน จะใช้กำลังนั้นอ่านร่องเสียงส่วนที่ยากที่สุดคือด้านใน แล้วค่อย ๆ อ่านออกไปหาวงนอก

ปาเต๊ะซึ่งเป็นผู้ผลิตสัญชาติฝรั่งเศส ส่งทีมเข้ามาอัดเพลงสยามในปี ๒๔๕๑/ค.ศ. ๑๙๐๘ และทำงานในสยามอยู่ราว ๓ ปี (มีอีกทีมหนึ่งตามมาในปี ๒๔๕๓/ค.ศ. ๑๙๑๐) โดยส่งกระบอกเสียงที่อัดเพลงสยามกลับไปผลิตแผ่นเสียงต้นแบบที่กรุงปารีส ก่อนจะส่งไปผลิตเชิงพาณิชย์ที่โรงงานในเบลเยียม

Image

แผ่นปาเต๊ะรุ่นแรกใช้กรดแกะสลักตราบนแผ่นให้เป็นลายเส้นชื่อนักร้องและรหัสแผ่น โดยเมื่อผลิตแผ่นครั่งสีดำเชิงพาณิชย์จำนวนมาก เพื่อให้เห็นรายละเอียดบนแผ่นจึงนำสีเหลืองหรือแดงปาดลงไป

เกร็ดน่าสนใจคือสีเหลืองใช้กับแผ่นที่อัดเสียงคุณภาพดี ส่วนสีแดงใช้กับแผ่นที่อัดเสียงคุณภาพต่ำกว่า เล่นด้วยรอบความเร็วต่ำกว่า แต่ก็จะมีราคาถูกกว่า

แผ่นเสียงปาเต๊ะที่พิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทยเก็บไว้และมีความหมายทางประวัติศาสตร์คือแผ่นเสียงบันทึกเพลงสรรเสริญพระบารมี ขับร้องโดยแม่ปุ่น แม่แป้น ด้วยสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเพลงสรรเสริญพระบารมีมีสถานะเทียบเท่าเพลงชาติ

แผ่นปาเต๊ะยังมีเพลงจำพวกสามก๊ก “เตียวจูล่งพาอาเต๊า” (น่าจะหมายถึงตอนจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า) ร้องโดยแม่ปุ่น แม่แป้น หรือเพลง “ทะแยเกี้ยวกัน” ร้องโดย นายศุขหญิง นายจอนชาย เป็นต้น ส่วนมากจะเป็นการบันทึกเสียงเพลงไทย

แผ่นเสียงอีกยี่ห้อที่เข้ามาในสยามช่วงรัชกาลที่ ๕ คือ Beka ผลิตโดยเอกชนสัญชาติเยอรมัน ส่งทีมเข้ามาอัดเสียงในเดือนตุลาคม ๒๔๔๘/ค.ศ. ๑๙๐๕ โดยอัดลงแผ่นเสียงสองขนาดคือ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐ เซนติเมตร (อัดเสียงหน้าเดียว) และ ๒๕ เซนติเมตร (อัดเสียงสองหน้า) เอกชนรายนี้ยังส่งทีมเข้ามาอัดเสียงอีกครั้งในปี ๒๔๕๓/ค.ศ. ๑๙๑๐ ต่อมายังเปิดตัวบริษัทในไทยชื่อ Beka Record G.M.B.H.

อาจารย์พฤฒิพลอธิบายว่า วงการดนตรีและแผ่นเสียงสยามยุคก่อน นักร้องแทบไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องลิขสิทธิ์

“ผู้ผลิตแผ่นเสียงมีไม่กี่เจ้า ต้องบันทึกเสียงแล้วส่งไปผลิตในโรงงานต่างประเทศ จะสั่งเครื่องบันทึกเสียงเข้ามาเอง นักร้องก็รับภาระต้นทุนไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องยอมเสียเปรียบ คนเสียงดีอาจได้ค่าตัวแพงสักหน่อย  ที่เราได้ยินว่าแผ่นเสียงตราต่าง ๆ อาจเทียบได้กับค่ายเพลงในสมัยนี้ เช่น แผ่นเสียงตรากระต่าย ค่ายนี้อยากสร้างแบรนด์ตัวเองแต่ผลิตแผ่นเสียงเองไม่ได้ ก็ต้องสั่งจากโรงงานผลิตในต่างประเทศ มีปัญหาว่าแผ่นเสียงตรากระต่ายอยากติดตราตัวเองลงบนแผ่น แต่ทางโรงงานก็อยากติดตราของโรงงานเหมือนกัน”

Image

สมัยรัชกาลที่ ๕-๗ มีโรงงานแผ่นเสียงต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในสยามหลายเจ้า เช่น แผ่นเสียงตราช้างเผือกพื้นแดง แผ่นเสียง Columbia  มีกระทั่งตั้งชื่อแปลก ๆ อย่าง “แผ่นเสียงสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์” ซึ่งอาจารย์พฤฒิพล มองว่าเป็นวิธีทางการตลาดเพิ่มมูลค่าให้ตราแผ่นเสียง

ที่น่าสนใจและโด่งดังไม่น้อยคือแผ่นเสียงโอเดียน (Odeon/ตราตึก) จากเยอรมนี ที่ส่งทีมเข้ามาอัดเสียงในปี ๒๔๕๐/ค.ศ. ๑๙๐๗ โดยแผ่นเสียงที่ผลิตมาวางจำหน่ายจะมีสีน้ำตาล น้ำเงินเข้ม และแดง บริเวณกลางแผ่น

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ โอเดียนรีแบรนด์เปลี่ยนตราเป็น “ช้างคู่” เพื่อตลาดในสยาม จนถูกเรียกว่า “ตราตึกช้างคู่” โดยแผ่นโอเดียนมักถูกใช้บันทึกเพลงไทยสากลที่กำลังเริ่มตั้งไข่ ต่อมาบริษัทนี้ได้รับผลกระทบจากการที่เยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ จนต้องยุติกิจการไปในที่สุด

ยังมีแผ่นเสียง Victor ตรา “สุนัขนั่งฟังเครื่องเล่นแผ่นเสียงปากแตร” - His Master’s Voice ที่ผลิตส่งมาสยามหลายรุ่น 

รุ่นแรกคือ “พื้นดำ สุนัขสีขาว” มักใช้บันทึกเพลงไทยเดิม เพลงละครร้อง เช่น พระลอ ขุนช้างขุนแผน

รุ่นต่อมาคือ “พื้นเหลือง สุนัขสีน้ำตาลอ่อน” เริ่มวางจำหน่ายสมัยรัชกาลที่ ๖

รุ่นถัดจากนั้นคือ “พื้นเขียว สุนัขสีขาว” ใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ระยะนี้บริษัทนำไทย จำกัด เป็นผู้นำเข้าแผ่นเสียง Victor มาจำหน่ายในสยาม โดยใช้บันทึกเพลงละครเวที ต่อมาแผ่นรุ่นนี้ยังถูกใช้อัดเพลงของวงดนตรีกรมโฆษณาการภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕/ค.ศ. ๑๙๓๒ ด้วย

รุ่นสุดท้ายคือ “พื้นแดง สุนัขสีขาว” นำเข้ามาจำหน่ายในยุครัชกาลที่ ๘-๙ โดยบริษัทกมลสุโกศล  วงดนตรีชื่อดังที่อัดเสียงลงแผ่นตรานี้ก็มีหลายวง เช่นวงดนตรี กรมประชาสัมพันธ์

Image

Image

Image

แผ่นเสียงสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ “เพลงชาติ ๑” ตราโอเดียน (ตราตึก) ของสำนักงานโฆษณาการ เพลงชาติสยาม (ที่ต่อมาจะกลายเป็น “ไทย”) เวอร์ชันที่ร้องในแผ่นเสียงแผ่นนี้คือเพลงชาติเพลงแรกของไทยซึ่งใช้ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕/ค.ศ. ๑๙๓๒

ผู้ประพันธ์ทำนองคือพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ซึ่งขณะเปลี่ยนแปลงการปกครองทำงานเป็นครูวงเครื่องสายฝรั่งหลวงอยู่ในกรมมหรสพ  พระเจนดุริยางค์เป็นผู้ริเริ่มการบันทึกเพลงไทยด้วยการเทียบกับโน้ตของดนตรีสากล มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีมากและได้รับคำขอร้องจากเพื่อนคือ น.ต. หลวงนิเทศกลกิจ ร.น. (กลาง โรจนเสนา) หนึ่งในคณะราษฎรสายทหารเรือ ตั้งแต่ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ช่วยประพันธ์เพลงที่คล้ายกับเพลง “La Marseillaise” (เพลงชาติฝรั่งเศส) แต่พระเจนฯ มองว่ามีเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่แล้วจึงปฏิเสธไป

หลังวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระเจนฯ ทราบว่าเพื่อนที่มาขอให้แต่งเพลงคือหนึ่งในคณะราษฎร และก็ถูกขอร้องมาอีกจึงยากที่จะปฏิเสธ  พระเจนฯ เขียนใน ชีวประวัติของข้าพเจ้า ว่าขอเวลา ๗ วัน ในระหว่างนั้นก็ “...กระวนกระวายใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยประสบมาในชีวิตเลย...” พระเจนฯ แต่งเพลงไม่ได้จนวันที่ ๗ ระหว่างขึ้นรถรางจากถนนสุริวงศ์และเปลี่ยนรถที่แยก เอส.เอ.บี. นั้นเอง “ทำนองเพลงก็บังเอิญมาปรากฏขึ้นในสมองของข้าพเจ้าอย่างครบถ้วน” หลังจากนั้นพระเจนฯ ก็รีบจดบันทึกทำนองเพลงเท่าที่จำได้ พอถึงที่ทำงานที่สวนมิสกวันก็ทดลองการประสานเสียงกับเปียโน 

เมื่อหลวงนิเทศกลกิจมาถึงก็พอใจกับทำนองมากและขอให้ปรับเพลงนี้เข้ากับวงดุริยางค์ทหารเรือเพื่อจะทันการบรรเลงประจำสัปดาห์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นกองบัญชาการของคณะราษฎรในช่วงนั้น โดยพระเจนฯ ขอให้เพื่อนปกปิดนามผู้ประพันธ์ทำนอง เพราะอย่างไรพระเจนฯ ก็เป็นขุนนางในระบอบเก่า ซึ่งอาจสร้างความลำบากให้ในอนาคต “ท่านก็รับปากไว้อย่างแม่นมั่น”

ทางด้านเนื้อร้อง ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) บันทึกไว้ใน ๘๑ ปีในชีวิตข้าพเจ้า ว่า หลวงนิเทศกลกิจมาหาที่บ้านย่านสะพานขาวพร้อมกับนายทหารเรือจำนวนหนึ่ง (ขณะนั้นขุนวิจิตรฯ มีชื่อเสียงเรื่องการประพันธ์ กำกับการแสดงแล้ว แม้จะรับราชการอยู่ในกระทรวงพาณิชย์) ขอให้ใส่เนื้อร้องในทำนองของเพลงที่จะเรียกว่าเพลงชาติ

เพลงชาติไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

แนวคิดของขุนวิจิตรฯ คือ “เพลงชาติเป็นของไทย ไทยเราชอบกลอน จึงใส่คำให้เป็นรูปกลอนสุภาพไทยจะเหมาะสมดี” ส่วนใจความของเพลงนั้น “อาศัยฟังความเพียงเค้า ๆ ว่า คนไทยได้มาอยู่ในสยาม ได้สู้รบกับศัตรูมาจนตั้งตัวได้ จำเป็นต้องรักษาเอกราชให้เจริญต่อไป...”

กลายมาเป็นเพลงชาติสยาม (ไทย) เวอร์ชันแรกที่ใช้ระหว่างปี ๒๔๗๕-๒๔๗๗ 

ยุคต่อมาคือในสมัยรัชกาลที่ ๘-๙ แผ่นเสียง “ตรากระต่าย” ของห้าง ต. เง๊กชวน ถือเป็นภาพสะท้อนความพยายามของผู้จัดจำหน่ายแผ่นเสียงไทยที่ต้องการสร้างชื่อให้ติดตลาด แม้ว่าช่วงแรกจะไม่มีความสามารถผลิตแผ่นเสียง ต้องพึ่งพาโรงงานในต่างประเทศจนทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องเครื่องหมายการค้า แต่ต่อมาก็เริ่มผลิตแผ่นเสียงจากโรงงานภายในประเทศไทยมากขึ้น

ยังมีแผ่นเสียงที่สะท้อนถึงเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองอย่าง “แผ่นเสียงตราเขาพระวิหาร” ที่สะท้อนถึงกระแสชาตินิยมเมื่อไทยมีกรณีพิพาทกับกัมพูชากรณีปราสาทพระวิหารช่วงปี ๒๕๐๑-๒๕๐๕/ค.ศ. ๑๙๕๘-๑๙๖๒

ต่อมาตลาดแผ่นเสียงเริ่มซบเซาจากการพัฒนาฮาร์ดแวร์อย่างเทปคาสเซ็ตที่มีราคาถูกกว่า การพัฒนาเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตที่พกพาได้อย่าง Walkman ของผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Sony ทำให้ตลาดแผ่นเสียงค่อย ๆ ลดขนาดลงอย่างช้า ๆ

อาจารย์พฤฒิพลอธิบายว่าหาปีแน่นอนที่แผ่นเสียงเริ่มเสื่อมความนิยมได้ยาก “ผมประมาณว่าเป็นช่วงปีที่วงแกรนด์เอ็กซ์ได้รับความนิยมในไทย (ยุคแรกประมาณปี ๒๕๑๒-๒๕๓๓) เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อใดก็ตามมีการพัฒนาฮาร์ดแวร์จนคนฟังดนตรีได้ทุกที่ แผ่นเสียงก็ยากที่จะอยู่ต่อ ไม่ต่างจากที่ซีดีหายเพราะคนฟังเพลงจากการสตรีมมิงออนไลน์มากขึ้น”

ก่อนจะทิ้งท้ายในมุมมองของเขาว่า การที่ศิลปินยุคนี้ยังผลิตแผ่นเสียง เป็นเพียงแค่ทำผลงานขึ้นมาให้ดูเก๋ไม่ต่างจาก gadget ทางเทคโนโลยี 

“แน่นอนว่ายังมีคนฟังแผ่นเสียง แต่เป็นการเอาอารมณ์การฟังเพลงมากกว่า อย่างไรก็ตามผมคิดว่ามันตายไปแล้ว

“แต่ถ้ามีกำลังซื้อ ผมก็สนับสนุนให้ซื้อเก็บ แผ่นเสียงเป็นเทคโนโลยีที่ส่งความสุขให้เรา เป็นความสวยงามของการบันทึกเสียง ส่วนใครจะประยุกต์เครื่องเล่นแผ่นเสียงให้ดูเก๋ ทันสมัย โดยยังคงอารมณ์เก่าด้วย ผมก็มองว่าไม่แปลกเพราะถ้ามันไม่มีเสน่ห์ จะยังมีคนรุ่นใหม่สนใจหรือ”