หลับไปคุยไป
จะไหวเหรอ ?
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์
namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
ปัจจุบันเรารู้ว่าการนอนหลับสำคัญมาก คนที่นอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพคือหลับไม่นาน หลับไม่ต่อเนื่อง และหลับไม่ลึกพอ จะส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรม ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่หลับดีเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีเรื่องราวเกี่ยวพันกับการนอนที่แปลกประหลาดชวนฉงนและเรายังไม่รู้รายละเอียดมากนัก เช่น เหตุใดคนหลับไม่ได้สติกลับลุกมาเดินหรือทำอะไรมากกว่านั้นได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งบางครั้งก็อันตรายมาก
มีคดีความฟ้องร้องกันในสหรัฐอเมริกาย้อนกลับไปได้ถึง ค.ศ. ๑๘๔๖ ที่ทนายฝ่ายจำเลยอ้างว่า การที่จำเลยลงมือสังหารโสเภณีคนหนึ่งนั้นจัดเป็นการกระทำการแบบไม่มีสติรับรู้ที่เกิดขึ้นขณะละเมอซึ่งชนะคดีอีกต่างหาก ! คดีนี้น่าสนใจและพิลึกพิลั่นมาก มีโอกาสอาจนำมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดอีกครั้ง
กลับมาดูเรื่องคนที่หลับไปแล้ว แต่ปากยังพูดเสมือนคุยกับใครอย่างเป็นตุเป็นตะนั้น เกิดจากอะไร มีอันตรายไหม จะป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างไร ?
ก่อนจะตอบคำถามทั้งหมด มีเรื่องที่ควรบอกไว้ก่อนก็คือ สำหรับคนที่คาดหวังว่าจะได้เลขเด็ดหรือหวังว่าคนหลับจะเผลอหลุดความลับสำคัญที่ไม่ยอมพูดตอนตื่นต่างก็มักผิดหวัง เพราะต่อให้คุณถาม เขาก็จะไม่ตอบคำถาม และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อตื่นขึ้นนักพูดยามหลับจะจำไม่ได้เลยสักนิดว่าพูดอะไรไปบ้าง
ฉะนั้นจะเชื่อถือคำพูดเหล่านั้นอย่างเป็นจริงเป็นจังไม่ได้ ยิ่งจะใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายหรือในศาลก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่เลย !
การพูดขณะหลับมีศัพท์วิชาการว่าซอมนิโลควี (somniloquy) มาจากคำละตินสองคำคือ somni- ที่แปลว่า “นอน” กับ loquy ที่แปลว่า “พูด” คำตระกูลเดียวกันที่หลายคนอาจเคยได้ยินหรือคุ้นหูคืออินซอมเนีย (insomnia) หรือภาวะนอนไม่หลับ ในทางการแพทย์จัดให้ซอมนิโลควีเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการความผิดปรกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ครอบคลุมการเดินละเมอและการฝันร้ายสยดสยอง (night terror) ด้วย
อาการแบบนี้ถือเป็นความผิดปรกติแบบหนึ่ง แต่...พบบ่อยและไม่ถือเป็นปัญหาใหญ่ทางการแพทย์
เวลาพูดว่า “บ่อย” หลายคนคงสงสัยว่าบ่อยขนาดไหน เว็บไซต์ WebMD ระบุว่าคนนอนหลับไปพูดไปนั้นพบในเด็กเล็กอายุ ๓-๑๐ ขวบได้มากถึงราวครึ่งหนึ่งของทั้งหมดทีเดียวและจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อโตขึ้น โดยพบในผู้ใหญ่เพียง ๕ เปอร์เซ็นต์
มีการสำรวจใน ค.ศ. ๒๐๐๔ พบว่าเด็กโตขึ้นมาหน่อยมากกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์ มีการพูดคุยขณะหลับราวสองถึงสามครั้งต่อสัปดาห์ และพบได้บ่อยเท่า ๆ กันทั้งในเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง โดยพันธุกรรมอาจมีผลด้วย เพราะบางครอบครัวพบบ่อยกว่าครอบครัวอื่น
การพูดพึมพำคนเดียวหรือกิริยาอาการคล้ายพูดคุยเบา ๆ อยู่กับคนอื่นอาจไม่น่ากังวลเท่าไร แต่บางครั้งก็อาจพบการขึ้นเสียง ตะโกน หรือด่าทอ ซึ่งน่ากังวลใจมากขึ้นอีกหน่อย
อย่างไรก็ตามนิตยสาร Australian Science Illustrated ฉบับเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๒๔ ระบุตัวเลขแตกต่างออกไปคือพบในผู้ใหญ่บ่อยมากถึง ๖๖ เปอร์เซ็นต์ หรือสองในสามของผู้ใหญ่นอนละเมอพูดแบบนี้ โดยมีราว ๖ เปอร์เซ็นต์ที่เกิดบ่อยถึงสัปดาห์ละครั้งทีเดียว
เมื่อสอบถามว่าในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมามีใครที่มีอาการเช่นนี้บ้าง ก็พบราว ๑๗ เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าเคยนอนคุยแบบนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง และราวครึ่งหนึ่งเป็นคำพูดแบบสั้น ๆ ไม่เป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่คล้ายบทสนทนาแบบขัดแย้งกัน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาบางอย่างในช่วงที่ตื่นอยู่
ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือ หากเกิดอาการแบบนี้บ่อย คนที่ต้องนอนร่วมเตียงด้วยหรืออยู่ใกล้เคียงก็อาจรำคาญจนนอนไม่หลับได้ โดยเฉพาะในรายที่ละเมอเสียงดังหรือด่าทอ แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วยเลยและจะรู้ต่อเมื่อมีคนอื่นบอกเท่านั้น
เรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับนักวิทยาศาสตร์ก็คือ คนทั่วไปมักคิดเอาว่าการพูดดังกล่าวต้องเกี่ยวข้องหรือเกิดขึ้นขณะฝันเป็นแน่ แต่ความจริงอาการแบบนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องฝันและส่วนใหญ่จะเกิดระหว่างการหลับลึก การเก็บข้อมูลในห้องปฏิบัติการพบว่า หากมีการฝันมาเกี่ยวข้องด้วยก็เป็นแบบฝัน ๆ หยุด ๆ เป็นช่วง ๆ ระหว่างที่พูดอย่างออกรส
เรื่องพิลึกพิลั่นหนักขึ้นไปอีกก็คือการหลับไปพูดไปแบบนี้บางครั้งก็เกิดควบคู่กับการเดินละเมอหรือแม้แต่การกินละเมอที่เรียกว่าอาการ NS-RED (Nocturnal sleep-related eating disorder) คือละเมอลุกขึ้นมากินอีกด้วย ใครเห็นเข้าก็คงเชื่อยากว่าคนที่พูดคุยไม่หยุด ลุกมานั่งกินเป็นเรื่องเป็นราว ยังคงหลับไม่รู้เรื่องรู้ราวว่าทำอะไรอยู่ !
สาเหตุของการพูดไม่หยุดแม้หลับมีหลายอย่าง บางคนเกิดจากความเครียดหรือความเจ็บป่วยทางจิต การมีไข้ก็กระตุ้นให้เพ้อเช่นนี้ได้ คนที่ป่วยเป็น PTSD หวาดผวารุนแรงหลังเกิดเหตุร้ายแรงกับชีวิตอาจละเมอพูดมากกว่าคนทั่วไป บางคนกินยาบางอย่างแล้วเกิดผลข้างเคียงแบบนี้ก็มี อีกสาเหตุก็คือการเสพสารบางอย่าง โดยเฉพาะสารเสพติด รวมทั้งสาเหตุที่อาจเกิดจากการกระตุ้นมากเกินกว่าปรกติของระบบประสาทและศูนย์กลางการประมวลข้อมูลด้านภาษาและความจำของสมอง และยังเชื่อกันด้วยว่า “การฝันรู้ตัว (vivid dream)” อาจนำไปสู่การละเมอคุยเช่นนี้ด้วย
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่าอาการละเมอคุยไม่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงและการที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำก็มักไม่ส่งผลสะสมด้วย อย่างไรก็ตามหากว่าปุบปับเกิดขึ้นหรือพ่วงด้วยการกรีดร้อง ความหวาดกลัว หรือความรุนแรงบางอย่าง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อสืบสวนหาสาเหตุและแก้ไขเสีย แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีทดสอบเพื่อวินิจฉัยอาการผิดปรกติแบบนี้โดยตรง แต่คุณหมอก็อาจขอให้ไปทดสอบการหลับหรือใช้เครื่องบันทึกการนอนที่เรียกว่าพอลิซอมโนแกรม (polysomnogram) เพื่อบันทึกค่าต่าง ๆ ระหว่างการนอน
สำหรับคนที่รอพบแพทย์ก็อาจทดลองหาสาเหตุเบื้องต้นด้วยตัวเองเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การหลีกเลี่ยงความเครียดที่อาจเป็นต้นเหตุ งดยาบางอย่างที่กินอยู่ในกรณีที่ทำได้ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนตัวยา หลีกเลี่ยงสารกระตุ้น เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ก่อนนอน
การเข้านอนให้เป็นเวลามากขึ้น เพิ่มเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ จัดบรรยากาศในห้องนอนให้เอื้อต่อการนอนมากขึ้น เช่น ทำให้ห้องมืดสนิท เงียบสงบ หรือมีเสียงดนตรีเบา ๆ เปิดคลอ ปรับเปลี่ยนเตียงนอน หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอนให้รู้สึกสบายตัวมากขึ้น รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น มือถือ ก็ช่วยได้เช่นกัน
บางรายอาศัยการเขียนบันทึกเกี่ยวกับการนอน โดยเฉพาะการจดบันทึกข้อมูลจากคนรอบข้างว่าตนยังคงนอนละเมอคุยมากน้อยเพียงใดก็มีประโยชน์การออกไปรับแสงอาทิตย์ระหว่างวันและการออกกำลังกายก็มีส่วนช่วยให้หลับดีขึ้น ลดการคุยขณะฝันได้สำหรับหลาย ๆ คนเช่นกัน
การใช้ชีวิตยามตื่นที่ดีขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการนอนที่ดีเป็นอย่างมาก หลับแล้วก็อย่าได้คุยเลย...ไม่ไหวหรอก