Image

“บ้านปลายชีวิต”

Holistic

เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe

เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายเสื่อมถอย สิ่งที่มักเกิดกับผู้สูงอายุคือการล้มและบาดเจ็บ ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้  จากรายงานการพยากรณ์การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุของกรมควบคุมโรคเผยว่าผู้สูงอายุมีอัตราเสียชีวิตจากการหกล้มสูงกว่าทุกกลุ่มอายุถึงสามเท่า โดยเพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิงสามเท่า และแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการล้มปีละประมาณ ๑,๐๐๐ คนหรือเฉลี่ย ๓ คนต่อวัน 

จากสถิติพบว่าผู้สูงอายุที่หกล้มและกระดูกสะโพกหัก ประมาณร้อยละ ๒๐-๓๐ หรือหนึ่งในห้าจะเสียชีวิตภายใน ๑ ปี เนื่องจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดบวม หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตัน  และแม้จะไม่ได้กระดูกหัก บางคนอาจกลัวล้มซ้ำ จึงเคลื่อนไหวน้อยลง ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง นำไปสู่ภาวะติดเตียง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตภายใน ๑-๕ ปี  ดังนั้นการป้องกันการล้มจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ในผู้สูงอายุ 

จากการเสวนา “บ้านที่ทันสมัยปลอดภัย และน่าอยู่สำหรับผู้สูงอายุ” ในงานมหกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ ครั้งที่ ๕ เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ. ไตรรัตน์ จารุทัศน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ช่วงก่อนโควิด-๑๙ ผู้สูงอายุหกล้มนอกบ้านร้อยละ ๖๐ แต่หลังจากนั้นผู้สูงอายุหกล้มในบ้าน ร้อยละ ๖๐ โดยพบว่าจุดหกล้มคือบริเวณห้องน้ำและบันได แต่ปัจจุบันมีเพิ่มอีกคือห้องนอนและบริเวณเชื่อมต่อระหว่างนอกบ้านกับในบ้าน เนื่องจากแสงสว่างไม่เพียงพอและพื้นต่างระดับ

“การออกแบบเพื่อผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคือการออกแบบเพื่อพวกเราทุกคนในอนาคต ซึ่งคีย์เวิร์ดคือความเป็นสากล หรือรวมทุกเพศทุกวัยเข้าด้วยกัน ‘ทำอะไรมาสิ่งเดียวใช้ได้หมด’ เช่น ราวจับ และพื้นที่ราบเรียบ” รศ.ไตรรัตน์กล่าว

ด้าน พ.ต.ท. ดร. บัณฑิต ประดับสุข กรรมการสายวิชาชีพสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงานเสวนาว่า ราวจับและพื้นที่เรียบป้องกันการล้มของผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะราวจับบริเวณบันได พบว่าผู้สูงอายุตกบันไดและบาดเจ็บมากกว่าติดโควิด ดังนั้นหากต้องการปรับปรุงบ้านและมีงบประมาณจำกัด สิ่งแรกที่ควรทำคือปรับพื้นบ้านให้เรียบ ห้องน้ำแบ่งพื้นที่ส่วนแห้งและเปียกให้ชัดเจน และทำราวจับทั้งในห้องน้ำและห้องครัว ดังที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับราวจับ นอกจากนี้ทุกพื้นที่ควรมีแสงสว่างเพียงพอ ระบายอากาศดี และมีพื้นที่พักผ่อนที่มองเห็นธรรมชาติได้

อย่างไรก็ตามบ้านที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ มิใช่เพียงปลอดภัยในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นมิตรทางใจด้วย ดังองค์การอนามัยโลกระบุว่าผู้สูงอายุที่มีสุขภาวะดีควรมีความสุขสามมุม ได้แก่ สุขกาย สุขใจ และสุขสังคม

สอดคล้องความเห็นของ รศ. ไตรรัตน์ที่เก็บข้อมูลผู้สูงวัยซึ่งอายุเกิน ๑๐๐ ปี จำนวน ๑๐๐ คน เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว พบว่าผู้ที่มีอายุยืนเหล่านี้ไม่มีใครอยู่คนเดียว มีที่อยู่อาศัยปลอดภัย มีพื้นที่สำหรับไหว้พระสวดมนต์และปลูกต้นไม้ รวมทั้งมีลูกหลานอยู่ด้วย

ดังนั้นบ้านหลังสุดท้ายในบั้นปลายชีวิตของผู้สูงอายุคือการปรับปรุงบ้านหลังเดิมให้เหมาะสมกับวัยที่เปลี่ยนไปของผู้อยู่อาศัย เพื่อให้พวกเขารู้สึกสะดวก ปลอดภัย อุ่นใจ สบายใจ ที่ได้อยู่ในบ้านผู้คน และสังคมอันคุ้นเคย

บ้านที่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัย

ห้องน้ำ

ควรกว้าง ๑.๕-๒ เมตร ประตูที่เปิดออกระหว่างพื้นที่ภายใน-ภายนอกมีระดับเดียวกัน มีราวจับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔ เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงวัยเคลื่อนไหวได้ทั่วห้อง บริเวณฝักบัวและที่อาบน้ำควรมีที่นั่งและสัญญาณฉุกเฉิน เพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ฝักบัวควรมีแรงดันต่ำ ก๊อกน้ำเป็นแบบก้านโยกเพื่อใช้งานง่าย และพื้นผิวไม่ควรทำจากวัสดุที่ลื่นและมัน เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้

ห้องครัว

ควรมีระดับโต๊ะและเคาน์เตอร์สูงจากพื้น ๘๐ เซนติเมตร ด้านล่างของอ่างล้างมือมีพื้นที่ว่างให้รถเข็นเคลื่อนเข้าไปได้ ส่วนเตา ตู้เย็น หรือลิ้นชักไม่ควรอยู่ตามมุมห้อง (เข้าถึงยาก) หิ้งและตู้ต่างๆ ไม่ควรสูงเกิน ๑๕๐-๑๖๘ เซนติเมตร เพื่อให้หยิบของสะดวก มีระบบระบายอากาศดี แสงธรรมชาติส่องมาในห้องได้ ในจุดอับแสงต้องติดหลอดไฟ ปลั๊กไฟบริเวณเคาน์เตอร์ควรสูงจากพื้น ๙๐ เซนติเมตร

ห้องนอน

หน้าต่างควรสูงจากพื้น ๕๐ เซนติเมตร เพื่อมองทิวทัศน์ภายนอกได้ เตียงนอนยาวไม่ต่ำกว่า ๑๘๐ เซนติเมตร และมีพื้นที่ว่างรอบเตียงสามด้าน ด้านละ ๙๐ เซนติเมตร เตียงไม่ควรอยู่ในมุมอับ ควรมีพื้นที่สำหรับเตียงคู่และอยู่ใกล้ห้องน้ำ บริเวณหัวเตียงควรมีโทรศัพท์และสัญญาณฉุกเฉิน ระดับเตียงควรสูงไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร เผื่อกรณีพลัดตกจะได้ไม่บาดเจ็บมาก ตู้เสื้อผ้าควรเป็นบานเลื่อน มีแสงสว่างมากพอที่จะอ่านหนังสือได้ และมีระบบระบายอากาศดี ส่วนพื้นห้องควรใช้สีสว่าง นุ่ม และบำรุงรักษาง่าย

ห้องนั่งเล่น

พื้นที่กว้างขวางมากพอ ไม่ควรมีสิ่งของหรือเฟอร์นิเจอร์กีดขวางทางเดิน หน้าต่างควรสูงกว่าพื้น ๕๐ เซนติเมตรเพื่อมองเห็นทิวทัศน์ ติดตั้งระบบระบายอากาศควรใช้สีสว่าง นุ่ม และบำรุงรักษาง่าย ควรให้พื้นผิวอุปกรณ์และส่วนของอาคารมีสีต่างกัน เพื่อช่วยการมองเห็น

เรียบเรียงจาก งานวิจัยเรื่อง “มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ” โดย รศ. ไตรรัตน์ จารุทัศน์ และคณะ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย