Image

 น้ำท่วมใหญ่ ๒๔๘๕
(ค.ศ. ๑๙๔๒)

PIC (พลิก) STORY : “อดีต” ในภาพถ่าย

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพประกอบ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ถ้าเกิดและโตในเมืองไทย ไม่ว่าใครก็มักมีความทรงจำว่าผ่าน “น้ำท่วมใหญ่” สักครั้งในชีวิต

ในพื้นที่ภาคกลาง เมื่อเมืองหลวงน้ำท่วมก็มักเป็นเรื่องใหญ่
มีบันทึกไว้หลายรูปแบบตั้งแต่โบร่ำโบราณ ร่องรอยมีในพงศาวดาร จดหมายเหตุโหร บันทึกของฝรั่งต่างชาติ ฯลฯ

ในยุคที่ไทยก่อตั้งรัฐชาติ/ประเทศ มีเทคโนโลยีการพิมพ์ถ่ายภาพ ฯลฯ น้ำท่วมครั้งที่ถูกจดจำและพูดถึงมากที่สุดคราวหนึ่งคือน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๔๘๕/ค.ศ. ๑๙๔๒

เพราะเป็นไปตามสำนวนโบราณว่า “ผีซ้ำด้ำพลอย” คือซ้ำเติมวิกฤตการณ์ที่ไทยเพิ่งตกกระไดพลอยโจนเข้าร่วมมหาสงครามเอเชียบูรพา (ส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเขตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก) โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะหลังจากโดนญี่ปุ่นบุกสายฟ้าแลบในเดือนธันวาคม ๒๔๘๔/ค.ศ. ๑๙๔๑ จนต้องยอมให้เดินทัพผ่านเพื่อลดความเสียหาย (เหตุผลของจอมพล ป.) หลังจากนั้นก็ร่วมรบกับญี่ปุ่นเสียเลย ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้ง “เสรีไทย” ลงใต้ดิน ต่อต้านญี่ปุ่น

รหัสภาพ ภ.สบ. ๒ ๑-๑ (๕)

น้ำท่วมปี ๒๔๘๕ หนักแค่ไหนดูได้จากในภาพที่ประชาชนสามารถพายเรือสัญจรไปใกล้กำแพงพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) ได้ ซึ่งถ้าสังเกตคนที่เดินลุยน้ำจะเห็นว่าน้ำสูงถึงระดับหัวเข่า

พ.ต. พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ เคยเล่าให้ผมฟังว่า วันหนึ่งในช่วงน้ำท่วมใหญ่ บิดาซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พาครอบครัว “พายเรือเล่น” จากวังปารุสกวันไปจนถึงถนนราชดำเนินกลางได้อย่างสบาย

ภาพนี้จึงเล่าปรากฏการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ในฤดูน้ำหลากว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ 

ในฐานะที่อยู่ในปี ๒๕๖๘/ค.ศ. ๒๐๒๕ ดูภาพนี้ผมได้แต่นึกถึงเหตุการณ์ช่วง ๒-๓ ปีให้หลังจากปี ๒๔๘๕ ซึ่งหนักหนาสาหัสมากกว่าน้ำท่วม 

เพราะกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่น กลายเป็นเป้าทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรไปแล้ว