ท้ายครัว
เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย
ผู้บริโภคที่สนใจเรื่องอาหารปลอดภัยคงรู้ว่าเมืองไทยมีการเก็บตัวอย่างพืชผักจากตลาดไปตรวจหาสารพิษตกค้างบ่อยๆ โดยองค์กรอย่างมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค (มคบ.) ที่สำคัญคือแผนงาน ThaiPan มูลนิธิชีววิถี
ที่สุ่มตัวอย่างตรวจสม่ำเสมอทุกปี...ผลของปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่งเปิดเผยไม่นานมานี้ ก็ยังพบปริมาณสารตกค้างเกินมาตรฐานในระดับน่ากังวล โดยเฉพาะที่ช็อกความรู้สึกชาว street food มาก คือ “ใบกะเพรา” นั้นมาเป็นอันดับ ๑ การตกค้างมีมากถึง ๙๔% เรียกว่าพบในเกือบทุกตัวอย่างเลยทีเดียว
“ผัดกะเพรา” กับข้าวยอดฮิตติดอันดับต้นๆ ของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเลยกลายเป็นอาหารจานอันตรายไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ข้อเสนออย่างรวบรัดของผมในที่นี้มีเพียงสองประการ หนึ่งคือเราต้องหาแหล่งที่เชื่อใจได้ กรณีตลาดต่างจังหวัดคงไม่ยาก ด้วยว่ามีชาวบ้านปลูกเองเก็บมาวางขายในราคาถูก แถมใบเล็กฉุนหอม บางครั้งกะเพราดีๆ แบบนี้ก็ถูกลำเลียงมาขายตามตลาดสดชานเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ ด้วย
สองคือลองปลูกเองเลยครับ หาเมล็ดพันธุ์มาเพาะลงกระถางลงดินไว้ ถ้าได้พันธุ์ดี ถึงดินหรืออากาศไม่เอื้ออำนวย ก็ยังฉุนกว่า ปลอดภัยกว่าของที่ซื้อเขาแน่ๆ หรือถ้าวิธีของผม คือเวลาได้กะเพราดีๆ มา เราจงเด็ดใบอย่างระมัดระวัง แล้วเอากิ่งไปปักในดินชุ่มๆ น้ำ มันจะมีบางกิ่งที่รอดตาย กลายเป็นต้นกะเพราให้เราได้เก็บกินแน่ๆ ครับ
มันเป็นหนทางที่เราจำต้องทดลองทำ ถ้าอยากเริ่มหาทางออกจากวังวนปัญหาสารพิษตกค้างในอาหารด้วยตัวเราเองครับ
ถ้าได้ใบกะเพราฉุนๆ มา ลองผัดข้าวกินตามสูตรของคุณจิตต์สมาน โกมลฐิติ ในหนังสือ จัดสำรับ (ปี ๒๕๑๙) สักกระทะสิครับ โดยหั่นเนื้อสันวัวเป็นชิ้นไว้ ตั้งกระทะน้ำมันบนเตาไฟ ผัดพริกสดตำกระเทียม แล้วใส่เนื้อวัวลงผัด เติมน้ำปลา ใบกะเพรา เทข้าวสวยหุงเป็นเม็ดลงผัดให้เข้ากัน สูตรเก่าเขาทำง่ายๆ เพียงเท่านี้
แล้วที่สำคัญ ให้กินแกล้มถั่วฝักยาวสดนะครับ ตรงนี้เราอาจงงว่า มันจะเข้ากันหรือ? คำตอบคือถ้าเราเคยกินถั่วฝักยาวเด็ดใหม่จากต้นจะไม่สงสัยแน่นอน เพราะพืชผักที่เก็บสดๆ จากต้นนั้น ต่างจากผักตลาดที่มาไกลจน “ลืมต้น” แล้วราวฟ้ากับเหว ถั่วฝักยาวสดนั้นหวานกรอบจริงๆ ครับ...นี่ก็คือจะยุให้ลองปลูกผักกินเองดูบ้างนั่นแหละครับ
คราวต่อๆ ไป มาคุยเรื่องปลูกผักง่ายๆ กันดีกว่าครับ