เรียบเรียง : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ทันทีที่เข็มกดลงแผ่วเบาในร่องของแผ่นไวนิลสีดำที่หมุนด้วยความเร็ว ๔๕ รอบต่อนาที (RPM) เครื่องย้อนเวลาก็ถือกำเนิดเมื่อสำเนียงแรกดังกังวาน
บทเพลงของ เบน อี. คิง เสียงเบสอันเป็นเอกลักษณ์ เสียงร้องอันมีพลังแต่ให้ความรู้สึกนุ่มนวล ทำให้ผมหวนนึกถึงวัยเยาว์ที่ฟังเพลงชื่อเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง Stand By Me (ค.ศ. ๑๙๘๖) หนังเรื่องแรก ๆ ที่เนื้อหาตราตรึงใจอย่างยิ่งสำหรับเด็กคนหนึ่ง...
แต่โปรดอย่าเข้าใจผิด ! ผมไม่ได้เปิดเครื่องเล่นแผ่นเสียง หากฟังผ่านช่องยูทูบที่กำลังเปิดแผ่นไวนิลบนเครื่องเล่นให้ฟังต่างหาก
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ด้วยยอดวิวกว่า ๔๐ ล้านครั้งเฉพาะเพลงนี้เพลงเดียว รวมถึงความนิยมในการเปิดเครื่องเล่นแผ่นเสียงเพลงต่าง ๆ ให้ฟังอีกหลายช่อง น่าจะบ่งบอกได้ถึงความชื่นชอบแผ่นเสียงที่ยังคงอยู่สำหรับผู้พิสมัยการฟังเพลงแบบแอนะล็อก มิหนำซ้ำยังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในวันที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างฟังเพลงแบบดิจิทัลผ่านบริการสตรีมมิง
อาจคล้ายสำนวน “เกือบหลับแต่กลับมาได้” ด้วยบทพิสูจน์ของยอดขายดีขึ้นต่อเนื่องกว่า ๑๐ ปีและการที่ศิลปินยุคเก่าและยุคใหม่ต่างผลิตผลงานผ่านแผ่นเสียง นี่จึงไม่ใช่เพียงกระแสชั่วครั้งชั่วคราว สิ่งที่หลายคนเคยมองว่าตกสมัยก็ถูกพินิจพิเคราะห์ถึงคุณค่าอีกครั้ง
เราจึงขอย้อนรำลึกถึงสิ่งประดิษฐ์แสนอมตะที่มีอายุกว่า ๑๓๐ ปี ไล่เรียงจากจุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้...
หากนับการพบหลักฐานการฟังดนตรีครั้งแรกของมนุษยชาติ ต้องย้อนกลับไปในยุคหินเก่าเมื่อราว ๔ หมื่นปีก่อน ครั้งเริ่มทำเครื่องเป่าจากกระดูกสัตว์ เกิดเสียงบรรเลงเข้าสู่โสตประสาทที่ไม่ได้ใช้รับฟังการพูดคุยสื่อสารหรือเสียงต่าง ๆ รอบข้างเท่านั้น
ดนตรีและเพลงพัฒนาเรื่อยมาคู่กับความเจริญของมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก่อนการค้นพบวิธีบันทึกเสียงนั้นคือล้วนต้องฟังจากการเล่นดนตรีสด ทั้งจากมหรสพต่าง ๆ หรือในสถานที่สำคัญเช่นโบสถ์ ไปจนการร้องรำทำเพลงที่บ้าน โดยมีสิ่งที่เกี่ยวข้องคือเครื่องดนตรีและแผ่นชีตเพลงเป็นหลัก
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สังคมเริ่มสนใจด้านวิทยาศาสตร์และการสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ มาทุ่นแรงหรืออำนวยความสะดวก รวมถึงการบันทึกเสียง
ไม่ว่าจะเป็น เอดูอาร์-เลอง สก็อต เดอ มาร์แต็งวีล ชาวฝรั่งเศส ที่ประดิษฐ์เครื่องโฟโนโตกราฟ (phonautograph) จากการจำลองโครงสร้างหูของมนุษย์ใน ค.ศ. ๑๘๕๗ หรือแนวคิดเครื่องบันทึกเสียงชื่อพาลีโอโฟน (paleophone) ของชาร์ล โคร นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตามคนที่ทำได้สำเร็จและต่อยอดเป็นธุรกิจคือ โทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์นามอุโฆษชาวอเมริกัน เขาได้แนวคิดจากสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในขณะนั้นอย่างโทรศัพท์ ที่เสียงพูดจะถูกแปลงเป็นคลื่นแรงสั่นสะเทือนผ่านไดอะแฟรม จึงต่อยอดนำไปสร้างเครื่องที่จะใช้บันทึกเสียงเหล่านั้นได้ โดยใช้วัสดุทำจากปูนปลาสเตอร์หล่อเป็นทรงกระบอกห่อด้วยแผ่นดีบุกบาง ๆ ติดแกนหมุน และนำแผ่นกระดาษบางที่เรียกว่าไดอะแฟรมตัดเป็นวงกลมติดเข็มตรงปลายกระดาษ แรงสั่นสะเทือนถูกถ่ายทอดลงไปที่ปลายเข็ม ทำให้เกิดร่องขึ้นบนแผ่น กลายเป็นเครื่องที่บันทึกเสียงฟังซ้ำได้ครั้งแรกชื่อว่า tinfoil phonograph
เพลงแรกที่บันทึกคือการพูดเนื้อเพลงสำหรับเด็กที่ร้องกันมาช้านานอย่าง “Mary Had a Little Lamb” ก่อนจะถูกนำไปจดสิทธิบัตรเมื่อ ๒๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๗๗ ในไม่ช้ามันก็ได้รับการโฆษณาเผยแพร่ตามหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ
เมื่อเอดิสันเปิดตัวกระบอกเสียง ซึ่งยังมีข้อจำกัดทั้งคุณภาพเสียง การบันทึกได้สั้นเพียงประมาณ ๒ นาที และเล่นซ้ำได้ไม่กี่ครั้ง ไม่นานเขาก็พบคู่แข่งสำคัญอย่างบริษัท Volta Laboratory ที่กำลังพัฒนากระบอกเสียงในชื่อกราโฟโฟน (graphophone) ซึ่งปรับปรุงด้วยการใช้กระบอกบันทึกเสียงที่ทำจากขี้ผึ้งแทนแผ่นดีบุก ให้คุณภาพและบันทึกเสียงได้ยาวนานกว่า เดิมต่างเน้นเป็นอุปกรณ์บันทึกเสียงเพื่อช่วยจำแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งสองบริษัทจึงหันไปผลิตกระบอกเสียงที่อัดเพลงไว้แล้วแทน ซึ่งเปิดฟังได้ทุกที่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นแรก ๆ ของธุรกิจการบันทึกเสียงและดนตรีที่ต้องกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ให้ผู้ซื้อทราบ
เครื่องเล่นกระบอกเสียงนับเป็นของแปลกและมีราคาแพงในยุคสมัยนั้น นอกเหนือจากมีผู้ซื้อนำไปให้คนเช่าเครื่องต่อแบบรายวัน นำไปทำเป็นเครื่องเล่นเพลงแบบหยอดเหรียญ ยังถูกนำไปเปิดในงานมหรสพต่าง ๆ เพื่อเปิดการแสดงอีกด้วย
“หมามันไม่ฟังกระบอกเสียงหรอกนะ”
ไม่ว่าจะมีการพูดจริงหรือไม่ แต่ประโยคดังกล่าวก็กลายเป็นตำนานของ His Master’s Voice แผ่นเสียงยุคแรกที่มีสัญลักษณ์รูปสุนัข จนมีคนเรียกว่า “แผ่นเสียงตราหมา” หนึ่งในสัญลักษณ์ของแผ่นเสียงที่มีคนจดจำมากที่สุด
ขณะที่สิ่งประดิษฐ์ของทั้งสองบริษัทนั้นเป็นการอ่านสัญญาณเสียงด้วยวัสดุทรงกระบอก ก็มีชาวเยอรมันผู้หนึ่งที่คิดเปลี่ยนแปลงวิธีการอ่านใหม่ เขาชื่อ เอมิล เบอร์ลิเนอร์
แม้จะเป็นลูกพ่อค้าชาวยิว แต่เบอร์ลิเนอร์สนใจเรื่องการสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มาตลอด หลังจากย้ายถิ่นฐานมาอยู่เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ใน ค.ศ. ๑๘๗๐ ขณะทำงานส่งเครื่องเรือน เขาทดลองเปลี่ยนการบันทึกเสียงลงบนวัสดุแบนราบแทนวัสดุทรงกระบอก ซึ่งสะดวกกว่าและบันทึกเสียงได้ยาวกว่า โดยการบันทึกเสียงต้องใช้กรดกัดร่องขูดไปบนแผ่นสังกะสีที่ตัดขอบเป็นวงกลม ก่อนเคลือบแผ่นด้วยขี้ผึ้งแข็งและน้ำมันผสมพิเศษ
แผ่นที่เคลือบเสร็จเรียบร้อยจะถูกนำไปวางบนเครื่องเล่นที่มีฟันเฟืองช่วยให้แผ่นหมุนและใช้หัวเข็มวางไปยังร่องของแผ่นนั้น เล่นได้ความยาวประมาณ ๓ นาที อ่านได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
เบอร์ลิเนอร์เริ่มสาธิตการทำงานของสิ่งประดิษฐ์นี้ครั้งแรกที่สถาบันแฟรงคลินในเมืองฟิลาเดลเฟีย วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๘๘ จากนั้นเขายังปรับปรุงอีกหลายครั้ง ทั้งเปลี่ยนวัสดุอย่างขี้ผึ้งแข็ง เซลลูลอยด์ ยางชนิดแข็ง ก่อนจะใช้นิกเกิลผสมกับทองแดงมาแทนสังกะสี หุ้มด้วยเชลแล็กแทน และรู้จักในชื่อ “แผ่นครั่ง” รวมไปถึงปรับตัวหมุนฟันเฟืองให้มีความเร็วคงที่มากยิ่งขึ้น
เขาเรียกสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้ว่ากราโมโฟน (gramophone) ก่อนจะตั้งบริษัทชื่อเดียวกันใน ค.ศ. ๑๘๙๘ โดยเริ่มผลิตทั้งเครื่องเล่นและแผ่นเสียงร่วมกับบริษัท Kammerer und Reinhardt จากประเทศเยอรมนีบ้านเกิด
อีกฟากหนึ่งที่เกาะอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๗ มีสุนัขจรจัดพันธุ์เทอร์เรียในเมืองบริสตอลที่ถูก มาร์ก บาร์โรด์ เก็บมาเลี้ยงและตั้งชื่อให้ว่านิปเปอร์ แต่เพียง ๓ ปีมาร์กก็จากไป ฟรานซิสน้องชายผู้เป็นจิตรกรรับหน้าที่ดูแลมันต่อ จนมันตายในอีก ๕ ปีต่อมา
อย่างไรก็ตามช่วงที่นิปเปอร์มีชีวิต ฟรานซิสจดจำท่าทางฉงนสนเท่ห์ของมันขณะจ้องมองเครื่องเล่นกระบอกเสียงปากแตรว่าเสียงนั้นดังมาจากไหน บันดาลให้เขาวาดภาพในชื่อตรงไปตรงมาว่า “หมามองและฟังกระบอกเสียง” (Dog Looking at and Listening to a Phonograph) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อในภายหลังว่า “เสียงเจ้านายของมัน” (His Master’s Voice) แต่เมื่อนำไปเสนอจัดแสดงหรือตีพิมพ์แก่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ก็ได้รับการปฏิเสธ รวมถึงบริษัท Edison Bell ตัวแทนขายกระบอกเสียงในอังกฤษที่บอกเขาว่า
“หมามันไม่ฟังกระบอกเสียงหรอกนะ”
ฟรานซิสยังไม่ละความพยายามที่จะขายภาพนี้ เขาได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนจากปากแตรสีดำเป็นสีทอง จึงเดินทางไปยังบริษัท Gramophone and Typewriter ของเบอร์ลิเนอร์เพื่อขอยืมเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาปรับปรุงภาพวาด ที่นี่เองผู้จัดการบริษัท แบร์รี โอเวน เสนอให้เขาปรับปรุงภาพวาดจากเครื่องเล่นกระบอกเสียงเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง ก่อนจะซื้อภาพนั้นในราคาเพียง ๑๐๐ ปอนด์
วันหนึ่งเบอร์ลิเนอร์เดินทางไปเยี่ยมสำนักงานที่กรุงลอนดอน เขาเหลือบเห็นภาพวาดดังกล่าวบนผนัง จึงเกิดความคิดขอให้ฟรานซิสทำสำเนาภาพนั้นใหม่และนำไปจดเป็นเครื่องหมายการค้าสำเร็จในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ กลายเป็นภาพบนฉลากแผ่นเสียงในชื่อ His Master’s Voice
แม้ภายหลังทั้งเอดิสันและ Voltra Laboratory ต่างก็พัฒนากระบอกเสียงจากขี้ผึ้งแข็งมาเป็นเซลลูลอยด์ แต่ก็ดูเหมือนจะสายไปแล้ว กระบอกเสียงค่อย ๆ เสื่อมความนิยมและยุติการผลิตใน ค.ศ. ๑๙๑๒ ขณะที่เครื่องเล่นแบบกราโมโฟนกลายเป็นต้นแบบของเครื่องเล่นแผ่นเสียงจนถึงปัจจุบัน
แผ่นเสียงยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ต้องรอถึงช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๔๐ ซึ่งได้รับการยกให้เป็นยุคทองของแผ่นเสียง
นอกจากการยุติการผลิตเครื่องเล่นกระบอกเสียง ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ บริษัท Gramophone ของเบอร์ลิเนอร์ก็ได้ควบรวมกับบริษัท The Victor Talking Machine และนับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๘ บริษัทหลังก็เป็นผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียงแทนในที่สุดด้วยชื่อแบรนด์ Victrola
๑๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๑ ค่ายเพลง RCA Victor แนะนำแผ่นที่ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ หรือไวนิลที่กลายเป็นวัสดุสำหรับผลิตแผ่นเสียงจนถึงปัจจุบัน หากการเปิดตัวครั้งแรกของแผ่นไวนิลไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องด้วยราคาสูงและยังไม่มีเครื่องเล่นในราคาที่เหมาะสมรองรับ
ปัจจัยสำคัญคือสภาพสังคมในช่วงสงครามครั้งใหญ่ คือสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘) และสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕) ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน จนทำให้ในสหรัฐอเมริกาเกิดช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Great Depression (ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๙)
ปัจจัยอีกประการคือการมาถึงของวิทยุ นับตั้งแต่มีการส่งสัญญาณออกอากาศครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๐๖ วิทยุก็ได้รับความนิยมอย่างมาก เกิดสถานีวิทยุหลายแห่ง ผู้ฟังสามารถฟังทั้งข่าวและเพลงต่าง ๆ ได้ทุกที่ทั่วประเทศ
เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเริ่มกลับมาสงบสุข ธุรกิจบันเทิงก็เติบโตอีกครั้งรวมถึงดนตรี บริษัทค่ายเพลงต่าง ๆ โดยเฉพาะสองบริษัทใหญ่ในขณะนั้นต่างพัฒนาสื่อการฟังเพลง จนก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักฟังเพลงที่ทำให้แผ่นเสียงกลับมาเฉิดฉายอย่างเต็มที่
ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ บริษัท Columbia Records เปิดตัวแผ่นเสียงแบบ long play (LP) ที่เล่นแผ่นได้ยาวนานขึ้น ประมาณ ๕๐ นาที ด้วยความเร็ว ๓๓ รอบต่อนาที
แต่ในอีกปีต่อมา RCA Victor ก็สร้างแผ่น 45 RPM Record Player ที่หมุนด้วยความเร็ว ๔๕ รอบต่อนาที เป็นแผ่นเล็กเหมาะสำหรับตลาดเพลงแบบซิงเกิลที่บรรจุได้หนึ่งถึงสองเพลง
แผ่นเสียงทั้งสองแบบกลายเป็นมาตรฐานแก่ผู้ฟังในการเลือกซื้อจนถึงปัจจุบันด้วยรูปแบบอัลบัมและแผ่นซิงเกิล อีกทั้งคุณภาพของการบันทึกเสียงที่ดีขึ้นส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นรวดเร็ว รวมถึงการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์จากทั้งสองค่ายอย่างหนักในขณะนั้น
ในนิตยสาร Billboard ฉบับวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ถึงกับกล่าวในบทความหนึ่งว่า “นี่คือหมุดหมายเริ่มต้นของประวัติศาสตร์สงครามแผ่นเสียง” โดยในฉบับวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐ Billboard รายงานยอดขายประจำปีว่าแผ่น 45 RPM Record Player ของค่าย RCA ขายได้ถึง ๗.๓ ล้านแผ่น ขณะที่แผ่นไวนิล LP ของค่าย Columbia Records ขายได้ ๓.๓ ล้านแผ่น แต่ด้วยราคาที่สูงกว่าทำให้แผ่น LP ทำยอดขาย ๑๒.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แผ่น 45 RPM Record Player ทำรายได้ ๕.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น จนภายหลังค่าย RCA ก็หันมาผลิตแผ่น LP เช่นกัน
ความนิยมฟังเพลงจากแผ่นเสียงโดยเฉพาะแผ่น LP นอกจากจะทำให้เกิดเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบพกพาและอัตโนมัติซึ่งใช้งานง่ายแล้ว แผ่น LP ยังนับเป็นจุดเริ่มต้นแรก ๆ ของการพัฒนาวงการบันทึกเสียงและเครื่องเสียงอีกด้วย เมื่อมีการกำหนดมาตรฐานที่เรียกว่าไฮไฟ (Hi-Fi)
Hi-Fi มาจาก high f idelity คือคำจำกัดความของการบันทึกเสียงที่ใส่ใจและให้ความเที่ยงตรงมากที่สุด โดยการชูจุดขายเรื่องระบบการบันทึกเสียงที่ให้ผู้ฟังได้ยินตั้งแต่ระดับดังที่สุดถึงเบาที่สุด เริ่มต้นมาจากวงการภาพยนตร์ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ ๑๙๓๐
ขณะที่วงการเพลงใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ทางเยอรมนีปรับปรุงการบันทึกเทปเสียงแบบรีลทูรีลให้มีคุณภาพคมชัดมากขึ้น และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๘ แผ่น LP จากค่าย Columbia Records ที่เริ่มวางจำหน่ายนั้นลดเสียงรบกวนดีขึ้น ให้ย่านเสียงกว้างขึ้น และมีความยาวมากเพียงพอในการลงเพลงขนาดยาวได้มากยิ่งขึ้น
ปีเตอร์ คาร์ล โกลด์มาร์ก ผู้คิดค้นแผ่น LP ยังเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาโทนอาร์มและหัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้เล่นแผ่นด้วยความเร็ว ๓๓ ๑/๓ รอบต่อนาที ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับเครื่องเล่นแทนความเร็วแบบดั้งเดิม
เช่นเดียวกับก่อนหน้าที่มีการคิดค้นระบบเสียงแบบสเตอริโอ (stereo) หรือระบบเสียงรอบทิศทาง สร้างมิติในการฟังผ่านการเปิดลำโพงสองตัวที่ดีกว่าระบบเดิมอย่างโมโน ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๑ แต่ยังไม่ได้รับความนิยม จนการมาของแผ่น LP ที่เริ่มผลิตแผ่นเสียงระบบสเตอริโอใน ค.ศ. ๑๙๕๘ เป็นครั้งแรกนั่นเอง อุตสาหกรรมเพลงก็ค่อย ๆ เปลี่ยนมาบันทึกเสียงในระบบนี้มากยิ่งขึ้น
เมื่อระบบเสียงทั้งไฮไฟและสเตอริโอได้รับความนิยมแพร่หลายในสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะวงการเพลงนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องเสียงในบ้านจึงเกิดขึ้นตามมา สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อีกมากมายจนถึงปัจจุบัน
และแล้วการรอคอยที่ยาวนานก็คุ้มค่า
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๕๐-๑๙๗๐ หลังจากธุรกิจดนตรีมั่นคงจนสร้างผลกำไรมหาศาล ก่อให้เกิดศิลปินเพลงดังไม่ขาดสาย สร้างยอดขายแผ่นเสียงเติบโตต่อเนื่องยาวนาน
ประกอบกับช่วงดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาเกิดเหตุการณ์สำคัญทางวัฒนธรรมและสังคมอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมฮิปปี้ การลอบสังหารประธานาธิบดี ยาเสพติด การเรียกร้องความเท่าเทียมของคนผิวดำ สงครามเวียดนาม คดีวอเตอร์เกต รวมถึงการพัฒนาการบันทึกเสียง เกิดเครื่องดนตรีไฟฟ้า ส่งผลต่อเรื่องราวในบทเพลงและการสร้างสรรค์แนวเพลงใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นแจซ บิ๊กแบนด์ สวิง คันทรี บลูส์ ร็อกแอนด์โรล โซล ป็อป ไซคีเดลิก ดิสโก้ ฯลฯ
นอกจากศิลปินเพลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้จะมีจำนวนมากและเป็นที่รู้จักแพร่หลาย พวกเขายังสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่ยังคงทรงอิทธิพลและได้รับการยกย่องมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น
แฟรงก์ ซินาตรา “Ol’ Blue Eyes” นักร้องเพลงแจซ เสียงกังวาน นุ่มนวล
บิลลี ฮอลิเดย์ “Lady Day” ราชินีเพลงแจซ น้ำเสียงบาดลึก
เอลวิส เพรสลีย์ ราชาเพลงร็อกแอนด์โรล
แซม คุก ราชาเพลงโซล
วงสี่เต่าทอง The Beatles ที่สร้างปรากฏการณ์นำขบวนศิลปินเกาะอังกฤษบุกตลาดเพลงอเมริกา
บ็อบ ดีแลน ศิลปินเพลงโฟล์กผู้เขียนเนื้อเพลงสะท้อนสังคม การเมืองแฝงปรัชญา จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ใน ค.ศ. ๒๐๑๖
Pink Floyd วงดนตรีอาร์ตร็อกจากอังกฤษ เจ้าของอัลบัม The Dark Side of the Moon (ค.ศ. ๑๙๗๓) ที่ยังครองสถิติอัลบัมติดอันดับบนชาร์ตเพลงยาวนานที่สุด
แม้แต่ดนตรีเต้นรำที่กลายเป็นกระแสหลักในยุคปัจจุบันอย่างฮิปฮอปก็มีจุดกำเนิดในช่วงต้นยุค ๑๙๗๐ โดยมาจากการเปิดท่อนจังหวะเต้นรำซ้ำ ๆ สแครตช์แผ่นเสียงบนเครื่องเล่นและการพูดแทรกของดีเจที่เปิดเพลงในงานปาร์ตี้นั่นเอง
คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่ายุครุ่งเรืองของแผ่นเสียงคือช่วงที่ให้กำเนิดดนตรีร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน
เครื่องเล่นกระบอกเสียงปรากฏหลักฐานการส่งเข้ามาในกรุงสยาม ดังระบุในหนังสือ วชิรญาณวิเศษ เล่ม ๓ ปี ชวด สัมฤทธิศก ๑๒๕๐ (ปี ๒๔๓๑ หรือ ค.ศ. ๑๘๘๘) หรือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และดังหลักฐานที่นายเตีย เง๊กชวน ธันวารชร บันทึกไว้ว่า
“…‘กระบอกเสียง’ ที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้เป็นวัตถุตัวจริงมีลักษณะเหมือนชื่อ คือสมัยเมื่อ ๕๐ กว่าปีประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่แล้วมา ข้าพเจ้าจำได้แม่นยำว่าวันหนึ่งที่บ้านตาเตียงยายหมาเขามีงานโกนจุกลูกสาวของเขาที่ตลาดบน ตำบลบ้านใหม่ เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี (สมัยนั้นยังเรียกจังหวัดเป็นเมือง) ครอบครัวนี้เป็นพ่อค้าทำรูปพรรณเงิน-ทองจำหน่าย จัดว่าเป็นคนมั่งมีศรีสุขในตำบลนั้นได้ครอบครัวหนึ่ง จึงมีการสมโภชน์หลายอย่าง…”
ว่ากันว่าท่ามกลางลิเก ละครรำที่มาแสดง กระบอกเสียงได้รับความสนใจ มีคนมาดูมากมายจนผู้เล่ากับเพื่อน ๆ ต้องปีนฝาลูกกรงเหล็กของโรงบ่อนมามุงดูสิ่งประดิษฐ์เครื่องนี้ โดยมีทั้งเพลงงิ้ว เพลงเป๋ (เพลงฉ่อย) แหล่เทศน์ ร้องส่งรับปี่พาทย์ เครื่องสาย มโหรี และอีกหลายเพลง โดยหลังจากเลิกงานแล้วเจ้าของยังได้นำมาบันทึกเสียงเพลงเป๋ (เพลงฉ่อย) ซึ่ง “แม่อิน” นักร้องเพลงฉ่อยชื่อดังสมัยนั้นเป็นผู้ร้องอัดเสียงที่ร้านแห่งหนึ่งในตลาดบ้านใหม่นั้นเอง
การบันทึกเพลงไทยลงกระบอกเสียงนอกประเทศเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ๒๔๔๓ โดยมีกลุ่มนักดนตรีชาวสยามจำนวน ๓๖ คน นำโดยนายบุศย์ มหินทร์ พร้อมเครื่องดนตรีไทย ตระเวนแสดงยังที่ต่าง ๆ ในยุโรป จนภายหลังอาจารย์เอกทางดนตรีชาวเยอรมัน คาร์ล สตุมฟ์ และอ็อทโท อับราฮัม ได้มาทำการอัดเพลงลงกระบอกเสียงเพื่อศึกษาในเรื่อง Sonic System and Music of The Siamese
นั่นเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงครั้งแรกในประเทศไทย มีหลักฐานราวช่วงปี ๒๔๔๐-๒๔๔๕
เกิดขึ้น ณ วังบ้านหม้อ ที่ตั้งกรมมหรสพในสมัยรัชกาลที่ ๕
บ้านของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ มีหม่อมเจริญ กุญชร
ณ อยุธยา เป็นต้นเสียงขับร้อง ที่นี่ยังเป็นจุดกำเนิดของวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ขึ้นชื่อและนักร้องดังในสมัยนั้นอย่างหม่อมเจริญ หม่อมมาลัย แม่ชม แม่ชื่น แม่แป้น แม่ปุ้ม เป็นต้น
บริษัทแผ่นเสียง Gramophone เป็นผู้ริเริ่มบันทึกเสียงเพลงไทย โดยเดินทางมากรุงสยาม ขอพระบรมราชานุญาตนำนักร้องเสียงดีประจำราชสำนักอัดเสียงลงแผ่น เมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๔๔๖ ต่อมาเกิดผู้ผลิตแผ่นเสียงหลายรายมาบันทึกเสียงเพลงไทยและนำกลับมาจัดจำหน่าย เช่น Odeon (ตราตึก), Columbia, Ketz Brother (ช้างเผือกพื้นแดง), Pathé (ตราไก่แดง) เป็นต้น
สำหรับคนไทย นายเตีย เง๊กชวน เป็นผู้ริเริ่มเปิดร้าน ต. เง๊กชวน ขายของเบ็ดเตล็ดและแผ่นเสียงเมื่อปี ๒๔๖๕ บริเวณย่านบางลำพู อีกทั้งยังเป็นผู้เริ่มผลิตแผ่นเสียงของไทยในชื่อตรากระต่าย เมื่อปี ๒๔๖๘ โดยเริ่มต้นจากการขออนุญาตนำแผ่นของบริษัท Parlophone มาติดตราก่อนจะบันทึกเสียงผลิตลงแผ่นเอง จากนั้นเกิดบริษัทหรือห้างขายแผ่นเสียง เช่น บริษัทกมลสุโกศล ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ ห้างแผ่นเสียงตั้งเสียงไทย ห้างแผ่นเสียงกรุงไทย และผู้ผลิตแผ่นเสียงออกมาจำหน่ายอีกหลายเจ้า เช่น ตราคณะนารีศรีสุมิตร์ ตราเศรณี ตราศรีกรุง ฯลฯ
แผ่นเสียงกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทยในยุคแรกเปลี่ยนผ่านจากเพลงไทยเดิมสู่ยุคเพลงไทยสากลที่เริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ ๗ ทั้งการบันทึกเสียงเพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน เพลงถวายพระเกียรติ เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงปลุกใจ เพลงไทยลูกกรุง เพลงลูกทุ่ง ตลอดจนความนิยมของศิลปินอย่าง คำรณ สัมบุญณานนท์, สุรพล สมบัติเจริญ, ผ่องศรี วรนุช, คณะสุนทราภรณ์, วงชาตรี, วง The Impossible ฯลฯ
ยุคสมัยของแผ่นเสียงในไทยเริ่มมีสัญญาณความนิยมลดลงหลังการเข้ามาของเทปคาสเซ็ต โดยเฉพาะความนิยมของอัลบัม ลูกทุ่งดิสโก้ (ปี ๒๕๒๑) ของวงแกรนด์เอ็กซ์ และตามด้วยความสำเร็จจากอัลบัม Grand X.O. (ปี ๒๕๒๒) ที่มียอดขายเทปถึง ๑ ล้านตลับ โดยแผ่นเสียงยังมีการผลิตในเชิงธุรกิจอยู่จนถึงปี ๒๕๓๕ ก็ยุติลง
ยอดขายแผ่นเสียงไปถึงจุดสูงสุดใน ค.ศ. ๑๙๗๘ ในสหรัฐอเมริกาแผ่นเสียง LP และซิงเกิลทำรายได้รวมกว่า ๑.๒ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยยอดขาย ๕๓๐ ล้านแผ่น เป็นสื่อหลักสำหรับการฟังเพลงด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๖๖.๒ อย่างไรก็ตามก็เริ่มมีสื่อใหม่เข้ามาแข่งขัน
ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ ลู ออตเทนส์ และทีมงานจากบริษัท ฟิลิปส์ แนะนำเทปคาสเซ็ต สื่อบันทึกเสียงชนิดใหม่ที่เล็กและใช้งานง่ายกว่า ต่อมา ค.ศ. ๑๙๗๙ บริษัทโซนี่ผลิตเครื่องเล่นเทป Walkman ตอกย้ำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ให้ฟังเพลงแบบพกพาได้สะดวกยิ่งขึ้น
ตามด้วยคอมแพกต์ดิสก์หรือแผ่นซีดี (CD) ใน ค.ศ. ๑๙๘๒ ด้วยจุดเด่นทั้งการเก็บคุณภาพเสียงในแบบไฟล์ดิจิทัล ทั้งความจุ ขนาดแผ่นที่เล็กและทนทานกว่า ความนิยมแผ่นซีดีค่อย ๆ สูงขึ้นต่อเนื่อง จนใน ค.ศ. ๑๙๙๒ ยอดขายของแผ่นซีดีก็เอาชนะแผ่นเสียงได้ในที่สุด
ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ โรงงานผลิตแผ่นเสียงอิสระใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาต้องปิดตัวลง และใน ค.ศ. ๒๐๐๔ ยอดขายแผ่นเสียงก็ลดลงอย่างมากจนคิดเป็นอัตราส่วนเพียงร้อยละ ๐.๒ ของยอดขายเพลงในฟอร์แมตต่าง ๆ
สำหรับภาคธุรกิจดนตรีดูเหมือนแผ่นซีดีจะเข้ามาแทนที่แผ่นเสียงได้อย่างราบรื่น จากการทำกำไรมหาศาลที่พุ่งสูงสุดใน ค.ศ. ๒๐๐๐ ด้วยยอดขายกว่า ๒.๒ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่แล้วการมาถึงของโปรแกรม Napster ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ก็สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมเพลงอีกครั้ง
โปรแกรมดังกล่าวอนุญาตให้ผู้ใช้ค้นหาไฟล์เพลง MP3 ทางออนไลน์จากผู้ใช้คนอื่น ๆ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ผู้ใช้แชร์ไฟล์เพลงละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมากทั่วโลก
แม้ภายหลังค่ายเพลงต่าง ๆ จะฟ้องร้องบริษัท Napster จากการละเมิดลิขสิทธิ์จนเป็นฝ่ายชนะ แต่โปรแกรมนี้ก็เปลี่ยนทัศนคติของคนฟังไปตลอดกาล
การฟังเพลงไม่จำเป็นต้องฟังผ่านสื่ออีกต่อไป แต่ฟังได้ในรูปแบบไฟล์เพลงที่ทำซ้ำ ส่งต่อให้กันอย่างง่ายดายด้วยอินเทอร์เน็ต และทำให้ยอดขายของสื่อดั้งเดิมลดลงต่อเนื่องนับแต่นั้น
ธุรกิจเพลงจำต้องเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างไม่ทันตั้งตัวค่ายเพลงต้องเริ่มหาช่องทางการขายเพลงผ่านออนไลน์ใหม่ ๆ ซึ่งแม้จะไม่ได้ทำรายได้สูงเท่าการขายแผ่นซีดี แต่เครื่องฟังเพลงแบบพกพาอย่าง iPod และแบรนด์อื่น ๆ ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาด
การมาถึงของบริการสตรีมมิงอย่าง Spotify, YouTube
Music, Apple Music กลายเป็นช่องทางที่เข้ามาแทนอีกครั้งด้วยจุดเด่นที่เปิดฟังได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน มีคลังเพลงมหาศาล โดยมีรายได้จากการขายโฆษณาหรือเก็บค่าสมาชิกแบบรายเดือน แทนที่การดาวน์โหลดเพลงแบบผิดกฎหมายหรือซื้อไฟล์เพลงดิจิทัล
ด้วยรายได้ส่วนแบ่งการตลาดที่เอาชนะสื่ออื่น ๆ ได้ตั้งแต่
ค.ศ. ๒๐๑๕
ใน ค.ศ. ๒๐๐๖ Tower Records ร้านขายแผ่นเสียงและสื่อการฟังเพลงรายใหญ่และมีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา สาขาสุดท้ายปิดตัวลงจากปัญหาเป็นหนี้จนล้มละลายเพราะการขยายสาขามากเกินไป
ราวกับสัญลักษณ์ที่บอกว่าแผ่นเสียงกำลังเดินทางมาถึงจุดจบเสียแล้วเมื่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่
แต่แล้วก็เกิดปรากฏการณ์น่าทึ่งจากสถิติยอดขายนับตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๗ เป็นต้นมา เพราะยอดขายแผ่นเสียงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งและสูงขึ้น
ใน ค.ศ. ๒๐๒๐ ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ยอดขายแผ่นเสียงไวนิลในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นเป็น ๖๒๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ ๕.๒ ของอุตสาหกรรมเพลง
เมื่อถึง ค.ศ. ๒๐๒๒ ยอดขายแผ่นเสียงก็เอาชนะยอดขายแผ่นซีดีได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๗ หรือเมื่อ ๓๕ ปีก่อน ด้วยยอดขาย ๔๑.๓ ล้านแผ่น ขณะที่แผ่นซีดีขายได้ ๓๓.๔ ล้านแผ่น
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มาที่ไป หากเกิดจากการผลักดันอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการที่ไม่ยอมแพ้สื่อใหม่ ๆ และได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อย ๆ
ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ ที่สหรัฐอเมริกา ภายหลังการหารือกันของร้านแผ่นเสียงอิสระในรัฐแมริแลนด์ พวกเขาก็ได้ร่วมกันก่อตั้ง Record Store Day จากผู้ประกอบการเพียงหกคน คือ เอริก เลวิน, ไมเคิล เคิร์ตซ์, แคร์รี คอลลิตัน, เอมี ดอร์ฟแมน, ไบรอัน โพห์เนอร์ และ ดอน แวน คลีฟ โดยกำหนดให้ทุกวันเสาร์ที่ ๓ ในเดือนเมษายนของทุกปีเป็น “วันร้านแผ่นเสียงโลก (Record Store Day)” ที่ให้ร้านแผ่นเสียงจัดนิทรรศการ จัดกิจกรรมพิเศษส่งเสริมการขาย แสดงดนตรี จัดทำแผ่นเสียงพิเศษที่มีเฉพาะในงาน ไปจนระดมทุนเพื่อทำแผ่นเสียงให้ศิลปินต่าง ๆ โดยจัดงานครั้งแรกเมื่อ ๑๙ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๘
ไมเคิล เคิร์ตซ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและจัดงานเล่าว่า
“เราอยากตอบโต้กระแสข่าวเชิงลบเกี่ยวกับร้านขายแผ่นเสียงที่เกิดขึ้นจากการล่มสลายของ Tower Records ดังนั้นจึงตัดสินใจจัดงานใหญ่ร่วมกับศิลปิน เราเรียกงานนี้ว่า Record Store Day ผมเห็นเลยว่างานนี้ประสบความสำเร็จหลังจากงานแรกเพราะเราขายแผ่นเสียงได้ประมาณ ๘๕,๐๐๐ แผ่นภายในไม่กี่วัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในตอนนั้น”
เคิร์ตซ์ยอมรับว่างานคงไม่ได้รับการตอบรับขนาดนี้หากไม่ได้ศิลปินเพลงแถวหน้าที่มาร่วมงานอย่าง เดฟ โกรห์ล วง Foo Fighters, แจ็ก ไวต์, เซนต์วินเซนต์, พอล แม็กคาร์ตนีย์, ชัค ดี, วง Run The Jewels และวง Metallica
ก่อนจะได้รับความร่วมมือด้วยดีจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกานับพันแห่ง รวมถึงการสนับสนุนจากทั้งค่ายเพลง ผู้จัดจำหน่ายเพลงอิสระ ศิลปินเพลงชื่อดัง จนขยายการจัดงานไปทั่วโลกในที่สุด
ในประเทศไทย Record Store Day จัดขึ้นครั้งแรกโดยเอเจนซี Drop the Needle Collective เมื่อวันที่ ๒๓-๒๔ เมษายน ๒๕๖๕ ในสถานที่สามแห่งคือ ตลาดนัดแผ่นเสียง Red.cose (เอกมัย) บาร์ Format BKK (เอกมัย ๑๒) และ Freaking Out The Neighborhood (สุขุมวิท ๓๖) ซึ่งยังคงจัดกิจกรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
หากนับเฉพาะในไทย กระแสการผลิตและขายแผ่นเสียงเริ่มตื่นตัวมาร่วม ๑๐ ปีแล้ว ตามกระแสที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ศิลปินและค่ายเพลงเริ่มหันมาผลิตแผ่นเสียงชิมลางตลาดและได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อย ๆ
ทุกวันนี้ศิลปินรุ่นใหม่เมื่อออกผลงานเพลงสักอัลบัมหนึ่งมักจะผลิตแผ่นเสียงขายด้วย รวมถึงมีการผลิตแผ่นเสียงจากศิลปินชื่อดังในอดีตอีกครั้ง เปิดโอกาสให้คนกลับมาสะสมกันอีก ซึ่งหลายแผ่นก็กลายเป็นแผ่นหายากและมีราคาแพงไปแล้ว
ในวันที่แทบไม่เหลือแผงเทปหรือร้านขายซีดีเพลง กลับเกิดร้านและตลาดนัดแผ่นเสียง รวมไปถึงบาร์-คาเฟ่ที่มีจุดขายในการเปิดแผ่นเสียงสร้างบรรยากาศให้คนฟัง เมื่อลองนับเฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีหลายสิบแห่ง
อาจเรียกได้ว่าการกลับมาของแผ่นเสียงนอกจากความพยายามผลักดันของผู้ประกอบการ ก็ยังมาในจังหวะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งโหยหาอดีต และทางเลือกอื่นนอกจากการฟังเพลงแบบสตรีมมิง ซึ่งแม้ไม่อาจทานกระแสหลักได้ แต่ก็เติบโตไปได้ไกลกว่าที่คาดคิด
…And darlin', darlin', stand by me
Oh, stand by me
Oh, stand now
Stand by me, stand by me
บทเพลง “Stand By Me” จบลงแล้ว แต่ยังคงสร้างความรู้สึกดี ๆ เติมเต็มพลังบางอย่างให้ผมไม่เสื่อมคลาย
ความนิยมของแผ่นเสียงก็คงเฉกเช่นเดียวกับเพลงนี้ที่เคยเผยแพร่และได้รับความนิยมตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๑ ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ แต่แล้วก็ถูกขับร้องใหม่โดยศิลปินเพลงหลายคน และกลับมาเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตเพลงอีกครั้งเมื่อภาพยนตร์ชื่อเดียวกันออกฉาย
ความดีงามที่เคยถูกมองข้ามถูกสำรวจใหม่อีกครั้งไม่ว่าจะเป็นเสน่ห์ของแผ่นเสียงที่การฟังเพลงประเภทไหน ๆ ให้ไม่ได้ การออกแบบปกขนาดใหญ่ขับเน้นความสวยงาม หรือการเป็นสื่อที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังใช้เวลาดื่มด่ำกับเพลงได้ดีที่สุด
แต่ก็ดังที่ได้บอกเล่ามาแล้วว่า กว่าประดิษฐกรรมชนิดนี้จะถือกำเนิดจนเป็นรูปเป็นร่างดังที่เราคุ้นชิน กลายเป็นรูปแบบการฟังเพลงยอดนิยมนั้นไม่ใช่สิ่งง่ายดาย เพราะผ่านการปรับปรุง แก้ไข พัฒนาต่อยอดมากมายเป็นร่องรอยความทรงจำของศิลปินเพลงที่อัดแน่นทั้งความอุตสาหะและความรักในเสียงดนตรีเอาไว้
คงไม่เกินเลยหากจะบอกว่าเพราะนี่ไม่ใช่เพียงแค่แผ่นพลาสติกสีดำเปล่า ๆ
จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะยังคงต้องมนตร์และหลงรักแผ่นเสียงไม่เสื่อมคลาย
ขอขอบคุณ
พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์
พิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย
ยุทธนา บุญอ้อม, ธานี โหมดสง่า, จักรพันธุ์ กังวาฬ, สกล เกษมพันธุ์ และ สกก์บงกช ขันทอง
รายการอ้างอิง
ปราโมทย์ เที่ยงตรง. วิวัฒนาการของการบันทึกเพลงไทยในสมัยรัชกาลที่ ๗. สืบค้นจาก https://web.kpi.ac.th/knowledge/ research/data/1465
พฤฒิพล ประชุมผล. (๒๕๔๐). เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์. กรุงเทพฯ : สมาคมนักอนุรักษ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย.
ศันสนีย์ จะสุวรรณ์. (๒๕๕๔). การบันทึกเสียงเพลงไทย : กรณีศึกษาแผ่นเสียงร่องกลับทาง (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
โศภิณ ช่วงพงศ์พันธ์. (๒๕๓๒). “ธุรกิจเทปเพลงไทยสากล”. สารนิพนธ์ปริญญาบัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
Andrew Daly. (2021). An Interview with Michael Kurtz of Record Store Day. Retrieved from https://vwmusicrocks.com/2021/03/02/an-interview-with-michael-kurtz-of-record-store-day/
House of Marley. (2022). National Vinyl Record Day. Retrieved from https://www.thehouseofmarley.com/blog/national-vinyl-record-day/?srsltid=AfmBOopW5rgjWNFF_Zzs1Gu4RLrKvpqbO1V818fwil-vMROR0GtDzI-B
House of Marley. (2024). When Were Record Players Invented? Record Player History. Retrieved from https://www.thehouseofmarley.com/blog/when-were-record-players-invented
Joe Lynch. (2021). How Vinyl Got Its Groove Back: Its
Dominance, Decline & Comeback. Retrieved from https://www.
billboard.com/music/music-news/vinyl-history-analysis-billboard-
coverage-9563005
Library of Congress. (n.d.). Emile Berliner and the Birth of the Recording Industry. Retrieved from https://www.loc.gov/collections/emile-berliner/articles-and-essays/gramophone
Record Store Day. (n.d.). About Us. Retrieved from https://recordstoreday.com/CustomPage/614
The Recording Industry Association of America. (n.d.). U.S. Music Revenue Database. Retrieved from https://www.riaa.com/u-s-sales-database/w