Gadhouse
เครื่องเล่นแผ่นเสียงไทย
ที่อยากโตไปพร้อมกับ
วงการดนตรีโลก
PEOPLE WITH VINYL
แผ่นเสียงที่ยังมีชีวิต
เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
เราเชื่อว่าผู้สนใจแผ่นเสียงอาจเคยเห็นผลงานของบริษัท Gadhouse ผ่านตามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบรนด์ Gadhouse ที่วางขายอยู่แทบทุกร้านแผ่นเสียง สินค้าพิเศษที่ผลิตและจัดจำหน่ายโดย Drop the Needle Collective หรืออย่างน้อยก็อาจจะเคยได้ยินชื่องานอีเวนต์ Record Store Day BKK
เราจึงชวนเพชร-วัชรพล เตียวสุวรรณ CEO Gadhouse และจ๊ะเอ๋-จุฑามาศ ขันแก้ว Drop the Needle Collective Manager มาบรรเลงเรื่องราว
Gadhouse มีจุดเริ่มต้นแบบไหนและจะมุ่งไปทางใด ขอชวนทุกท่านมานั่งฟังไปด้วยกัน
House of Gadgets
ก่อร่างสร้างบ้านจากแผ่นเสียง
“ผมซื้อแผ่นเสียงและเครื่องเล่นเครื่องแรกก็ตอนอยู่มหาวิทยาลัย เป็นมือสอง ลำบากพอสมควรกว่าจะหาวิธีต่อสายให้มันเล่นเพลงออกมาได้ หลังจากนั้นเลยพยายามหาเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นใหม่ที่ราคาไม่สูงมาก แต่ค่อนข้างยากครับ”
เพชร-วัชรพล เตียวสุวรรณ CEO Gadhouse อธิบายว่าในยุคนั้นเครื่องเล่นแผ่นเสียงมือหนึ่งรุ่นใหม่ ๆ ที่นำเข้ามามีราคาสูงเกินงบที่นักศึกษาอย่างเขาจะจ่ายไหว
“โชคดีว่ามีรุ่นพี่อยู่ที่อเมริกาพอดี ผมเลยฝากเขาหิ้วเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับเริ่มต้นที่ราคาจับต้องได้กลับมาให้ แล้วคิดต่อว่าน่าจะมีคนอื่นที่มองหาเครื่องเล่นประมาณนี้เหมือนเรานะ ตอนอยู่ปี ๔ เลยลองเปิดเพจเฟซบุ๊กรับพรีออร์เดอร์เข้ามาขายในไทย ทำอยู่เกือบปีจนเรียนจบ ผมใช้ชื่อ Gadhouse ตั้งแต่ตอนนั้น”
Gadhouse มาจาก house of gadgets หรือบ้านหลังใหญ่ของเหล่าแกดเจ็ตที่มีเอกลักษณ์ต่างกันไป
ตอนแรกเพชรตั้งใจนำเข้าแกดเจ็ตอื่น ๆ มาขายด้วย แต่หลังจากเรียนจบเขาเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษทำให้ต้องหยุดพักไป
“ตอนอยู่ที่อังกฤษเห็นวัยรุ่นที่นั่นกลับมาสนใจแผ่นเสียง วงการแผ่นเสียงกำลังกลับมา ผมก็คอยเก็บข้อมูลเพราะลึก ๆ รู้สึกว่าอยากทำอะไรที่เป็นความชอบของเราแล้วก็เป็นธุรกิจได้ด้วย จนเรียนจบกลับมาทำงานประจำก็ยังคิดเรื่องนี้อยู่เรื่อย ๆ มองว่ามีโอกาสนะ จนสุดท้ายผมให้เวลาตัวเองปีหนึ่ง ลาออกจากงานประจำมาทำ Gadhouse เต็มตัวกับพาร์ตเนอร์อีกคนหนึ่งที่ชอบเหมือน ๆ กัน”
เพชรมองว่าอุตสาหกรรมแผ่นเสียงโลกขณะนั้นมีผู้ฟังและผู้ผลิตแผ่นเสียงมากขึ้น แต่ผู้ผลิตอุปกรณ์หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงยังมีน้อย แม้แต่ในอเมริกาเองก็มีผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงสำหรับผู้เริ่มต้นไม่กี่เจ้า เพชรจึงตัดสินใจพัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียงเพื่อขายในตลาดโลก
หนึ่งปีนั้นเราเริ่มทำแบรนด์สินค้าของตัวเอง ไม่เน้นนำเข้าเครื่องเล่นฯ จากต่างประเทศแล้วเพราะเชื่อว่ามันจะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้สิ่งนี้ยั่งยืน
หลังใช้เวลาอยู่เกือบปีก็เปิดตัวสมาชิกแรกของบ้าน Gadhouse วางขายในเดือนธันวาคม ๒๕๕๘
“Brad เป็นสินค้าตัวแรกและตัวเดียวในตอนนั้น ผมอิงตัวเองเป็นกลุ่มลูกค้า Brad เลยเป็นเครื่องที่จับต้องง่าย ตอบโจทย์คนเริ่มเสพแผ่นเสียงครั้งแรก ราคาจับต้องได้มีลำโพงในตัว เราขายทางเว็บไซต์ Amazon ของอเมริกาอังกฤษ แล้วก็ญี่ปุ่น ที่ตลาดคนเล่นแผ่นเสียงพร้อมอยู่แล้ว ส่วนในไทยมีขายผ่านเพจกับวางขายร่วมกับพาร์ตเนอร์เจ้าแรก ๆ แถวท่าพระจันทร์ แต่ก็มียอดขายน้อยมาก ๆ เพราะตอนนั้นวัยรุ่นไทยก็ยังไม่รู้จักแผ่นเสียงมากนัก”
Gadhouse เริ่มต้นเปิดตัวสู่สายตาผู้คนในฐานะแบรนด์ เครื่องเล่นแผ่นเสียงสากลที่สื่อสารและทำการตลาดทุกอย่างเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี Brad ลอตแรกทั้ง ๑,๐๐๐ เครื่องขายหมดในเวลาไม่นานจนต้องสั่งผลิตเพิ่ม
เมื่อเวลาผ่านไป ตลาดแผ่นเสียงในไทยเติบโตขึ้น เห็นความพร้อมทางธุรกิจมากขึ้น Gadhouse ก็ค่อย ๆ ปรับมาทำการตลาดในประเทศไทยและหาทางสนับสนุนตลาดที่กำลังโตนี้ในหลาย ๆ ช่องทาง
วางเข็มในตลาดแผ่นเสียงไทย
“Drop the Needle Collective เป็นส่วนหนึ่งใน Gadhouse ที่รับผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นเสียงให้ศิลปินและค่ายเพลง แต่พอทำได้เยอะขึ้น มีการขยายทีม เราก็ผันตัวมาเป็นเอเจนซีที่ทำงานเกี่ยวกับ music lifestyle กว้างไปกว่าแผ่นเสียง ทั้งรับทำสินค้าพิเศษอื่น ๆ ให้ศิลปิน หรือจัดอีเวนต์ให้วงการดนตรีในชื่อ Drop the Needle Collective ค่ะ” จ๊ะเอ๋-จุฑามาศ ขันแก้ว Drop the Needle Collective Manager เริ่มต้นแนะนำงานอีกส่วนหนึ่งของ Gadhouse ที่เราไม่คุ้นหูมากนัก
จ๊ะเอ๋เล่าว่า Drop the Needle Collective ตั้งในปี ๒๕๖๔ แรกเริ่มมีกันอยู่แค่สองคนคือจ๊ะเอ๋กับเพชร ด้วยความตั้งใจว่าอยากช่วยให้ตลาดแผ่นเสียงและชุมชนดนตรีในไทยเติบโตขึ้นผ่านการชวนศิลปินไทยหลายวงมาผลิตแผ่นเสียงด้วยกัน
“แผ่นแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นคืออัลบัม Chinese Banquet ของวง Folk9 จากค่าย Parinam Music เราอยากร่วมงานด้วย อยากให้วงนี้มีแผ่นเสียงปล่อยออกสู่ตลาดก็เลยติดต่อไปหาเขาเป็นที่แรกเลย พอทางค่ายเพลงและศิลปินโอเคก็เริ่มทำแผ่นเสียงกัน ตั้งแต่วางคอนเซปต์ออกแบบแผ่นงานอาร์ตเวิร์กต่าง ๆ ที่ต้องปรับจากฉบับซีดีหรือสตรีมมิงทางค่ายเพลงก็ส่งไฟล์เพลงมาให้รีมาสเตอร์ใหม่ ทำไฟล์เพลงให้ย่านเสียงเหมาะสมสำหรับแผ่นไวนิล”
ในปีเดียวกันจ๊ะเอ๋และทีมร่วมงานกับวง Lemon Soup ทำแผ่นเสียงอัลบัม Weekend และยังคงผลิตแผ่นเสียงให้ศิลปินไทยทั้งเล็กใหญ่มาเรื่อย ๆ
“เราทำงานด้วยโจทย์ว่าจะออกแบบประสบการณ์ดนตรีอย่างไรให้ตอบกับแบรนด์ของลูกค้า ซึ่งมีหลากหลายมาก ก็มีโอกาสพาดนตรีและแผ่นเสียงไปอยู่ในบริบทแปลกใหม่มากขึ้น เช่น การทำแผ่นเสียงเพลงประกอบให้โครงการบ้านจัดสรร ‘อณาสิริ’ การเล่าเรื่องโคมไฟตัวใหม่ของ IKEA ที่ร่วมผลิตกับแบรนด์ลำโพง Sonos หรือแม้แต่การผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงพิเศษให้แบรนด์เครื่องดื่ม Heineken ทุกงานสนุกหมดเลย ได้พาร์ตเนอร์ดีทุกงานเลย แนวคิดของแต่ละแบรนด์ก็เท่มาก เราเองก็ได้เรียนรู้จากลูกค้าด้วยค่ะ”
งาน Record Store Day BKK 2024
ภาพ : Gadhouse
วันร้านแผ่นเสียงโลก กรุงเทพฯ
นอกเหนือจากการพาแผ่นเสียงออกไปสู่บริบทใหม่ ๆ Drop the Needle Collective ยังพยายามกระตุ้นให้วงการแผ่นเสียงในไทยเข้มแข็งขึ้นผ่านการจัดงาน “Record Store Day BKK” หรือ “กิจกรรมวันร้านแผ่นเสียงโลก กรุงเทพฯ”
Record Store Day จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๑ โดยกลุ่มร้านแผ่นเสียงรายย่อยในสหรัฐอเมริกากว่า ๓๐๐ ร้าน ผ่านการจัดแสดงมินิคอนเสิร์ตของศิลปินต่าง ๆ การผลิตแผ่นเสียงพิเศษจำนวนจำกัดสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ รวมไปถึงการจัดโปรโมชันต่าง ๆ ในเวลาต่อมา ร้านแผ่นเสียงในประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น และอื่น ๆ อีกมากมายก็เข้าร่วมการจัดงานวันแผ่นเสียงโลกด้วย ทำให้วงการแผ่นเสียงโลกที่ซบเซากลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งงานนี้ยังคงจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในวันเสาร์ที่ ๓ ของเดือนเมษายน
“เราอยากให้ชุมชนแผ่นเสียงไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ปี ๒๕๖๕ เลยลองจัด Record Store Day BKK 2022 ในรูปแบบอีเวนต์ เริ่มด้วยการชวนร้านแผ่นเสียงที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของ Gadhouse มาจัดงานขายแผ่นเสียงกัน ทีมเราเองก็ทำแผ่นเสียงพิเศษ Drop the Needle Vol.1 x SMALLROOM ที่รวมเพลงของศิลปินค่าย Smallroom เอาไว้ เรียกได้ว่าเป็นการลองผิดลองถูก งานจัดกันเล็ก ๆ แต่บรรยากาศอบอุ่นมาก” จ๊ะเอ๋เล่าถึงบรรยากาศงานครั้งแรก
เมื่อเสียงตอบรับดี ในปีถัดมา Drop the Needle Collective จึงจัดงานให้ใหญ่ขึ้น มีสปอนเซอร์อย่าง Bae
Vibes และ Vespa มาร่วม ย้ายมาจัดงานที่หอศิลปวัฒน-
ธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ต้อนรับผู้ฟังหน้าใหม่ด้วยการ
จัดพิมพ์หนังสือ Record Stores Guidebook แนะนำร้าน
แผ่นเสียง ๕๙ ร้านทั่วเมืองกรุง และมีกิจกรรมใหม่คือ
“Vinyl Library” หรือห้องสมุดยืม-คืนไวนิลจำลอง ซึ่งได้
รับการสนับสนุนแผ่นเสียงจากกรมประชาสัมพันธ์กว่า ๕๐๐ แผ่น ให้ทุกคนเข้ามาทดลองยืมฟังแผ่นเสียงกัน
“Vinyl Library ได้รับความนิยมมาก ๆ คนรุ่นใหม่ก็ได้มาฟังเพลงเก่า ๆ ที่เขาอาจจะยังไม่เคยฟัง หลังจากนั้นเราเลยตั้งใจว่าจะให้ Record Store Day BKK มี Vinyl Library ทุก ๆ ปีด้วย”
ปัจจุบัน Drop the Needle Collective จัดงาน Record Store Day BKK ต่อเนื่องอย่างจริงจังมา ๓ ปีแล้ว ในวันที่เราได้คุยกัน จ๊ะเอ๋ก็กำลังวุ่นกับการเตรียมงาน Record Store Day BKK 2025
“งานแผ่นเสียงที่เราจัดน่าจะเป็นหนึ่งในงานใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว แต่เป้าหมายก็ยังอยากให้มีคนมาร่วมงาน มาฟังแผ่นเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้เห็นว่าชุมชนแผ่นเสียงเติบโต ได้เห็นว่าทุกคนมาสนุกกันค่ะ”
สตรีมมิงเพลงโตขึ้น แผ่นเสียงก็โตตาม
“มีหลายปัจจัยที่ทำให้แผ่นเสียงกลับมาได้รับความนิยม ทั้งการมี Record Store Day สถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ทำให้ทั่วโลกหันมาหาความบันเทิงในบ้าน แต่อีกหนึ่งจุดที่ผมว่าสำคัญมาก ๆ ก็คือการเข้าสู่ยุคสตรีมมิงนี่แหละครับ การฟังเพลงกลายเป็นกิจกรรมที่ใคร ๆ ก็ฟังได้ง่าย ๆ สัดส่วนคนฟังแผ่นเสียงอาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่พอทั่วโลกมีคนฟังเพลงเยอะขึ้น คนฟังแผ่นเสียงก็มากขึ้นตามไปด้วย”
เพชรเล่าว่าลูกค้าส่วนมากของ Gadhouse เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตในยุคดิจิทัล ฟังเพลงผ่านสตรีมมิง แล้ววันหนึ่งก็ก้าวเข้าสู่วงการแผ่นเสียง
“ปรกติเครื่องเล่นแผ่นเสียงของเราจะวางดีไซน์ไว้ให้เป็น retro แต่เป็น ‘ยุค’ ที่แตกต่างกัน อย่าง Brad ได้แรงบันดาลใจจากยุค 50s 60s ช่วงหลังสงครามโลกที่สีสันสนุกสดใส ยุค 70s หรือ mid-century modern จะเป็นเซตเครื่องเล่นและลำโพง Dean & Joan ที่มีความเป็นธรรมชาติ ใช้ไม้กับผ้าลินิน แต่พอลูกค้าเราเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ retro สำหรับเขาคือยุค 90s หรือ Y2K ล่าสุดเราก็ออกเครื่องเล่นแผ่นเสียงชื่อ Cosmo ตัวเครื่องโปร่งใส มีลูกเล่น มีสีสัน มีกลิ่นอายแบบ Y2K เลย”
เพชรอธิบายสถานะของวงการแผ่นเสียงในมุมของเขาว่าเป็น “ไลฟ์สไตล์การฟังเพลงทางเลือก” ในยุคนี้ แผ่นเสียง
จึงไม่ต้องวิ่งแข่งกับการฟังเพลงแบบดิจิทัลหรือสตรีมมิง แต่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นสินค้าและของสะสมของคนฟังเพลงที่เยอะขึ้นแทน
“ยิ่งสตรีมมิงโต แผ่นเสียงก็ยิ่งโต เครื่องเล่นแผ่นเสียงทุกรุ่นของ Gadhouse จะรองรับการเป็นลำโพงไร้สายฟังเพลง จากคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ได้ด้วย เผลอ ๆ อาจจะฟังมากกว่าผ่านแผ่นเสียงอีก แค่ขอให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงของเราเป็นแกดเจ็ตหนึ่งที่ตอบโจทย์กับบ้านเขาได้ ทั้งในแง่การใช้ฟังเพลงและความสวยงาม”
เพชรเล่าถึงก้าวต่อไปของบริษัท Gadhouse ว่าอยากเป็นองค์กรที่ empower ผู้คนผ่านไลฟ์สไตล์ดนตรีได้ ตัวเขาเองและทีมยังอยากทำอะไรอีกหลาย ๆ อย่างตามความชอบ ทั้งการช่วยศิลปินผลิตแผ่นเสียง สร้างชุมชนแผ่นเสียงให้ใหญ่ขึ้นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการนำลำโพงดี ๆ หูฟังดี ๆ บางแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาขายในไทย
“รวม ๆ ก็ทำสิ่งที่ทีมงานสนุกแล้วก็ตอบโจทย์ซึ่งกันและกันครับ เพราะสุดท้ายจะตอบโจทย์ Gadhouse ด้วย
“ตอนนี้ Gadhouse อาจถูกมองเป็นแบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียง แต่จริง ๆ เรามีสินค้าอื่นด้วย อย่างตู้ เฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การฟังเพลง เรากำลังพยายามเป็นแบรนด์ ‘เครื่องเสียงไทยที่อยู่ในตลาดโลก’ อาจจะต้องใช้เวลาหน่อย แต่ผมว่าเราน่าจะทำได้ครับ”