Image

ห้องฟังที่มีการปรับสภาพ acoustic จะทำให้ชุดเครื่องเสียงถ่ายทอดเสียงดนตรีออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ความสุขของคนฟังแผ่นเสียง
ผศ.ทพ. ประดิษฐ์ เรืองรองรัตน์

PEOPLE WITH VINYL
แผ่นเสียงที่ยังมีชีวิต

เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ถึงแม้ชีวิตประจำวันของ ผศ.ทพ. ประดิษฐ์ เรืองรองรัตน์ จะค่อนข้างรัดตัวจากภารกิจการงานในฐานะทันตแพทย์ และอาจารย์สอนหนังสือที่คณะทันตแพทย-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ทว่าเมื่อกลับบ้านในช่วงเย็นถึงค่ำของทุกวัน อาจารย์ประดิษฐ์จะปลีกเวลา ๒-๓ ชั่วโมงขลุกอยู่ในห้องฟังเพลง เพื่อดื่มด่ำเสียงเพลงไพเราะจากชุดเครื่องเสียงและแผ่นเสียงที่สะสมไว้

“เมื่อก่อนบ้านหลังเดิมไม่ได้มีห้องแบบนี้ แต่วางเครื่องเสียงในห้องทำงานเล็ก ๆ จะเปิดเสียงดังไม่ค่อยได้เพราะอยู่ติดห้องนอน ผมเกรงใจภรรยา เราก็ต้องเปิดเบา ๆ” อาจารย์ประดิษฐ์กล่าว

“พอดีมีโอกาสสร้างบ้านใหม่เลยวางแผนตั้งแต่แรกว่าเราต้องการห้องฟังเพลงสักห้องหนึ่ง เพราะฉะนั้นห้องนี้จึงออกแบบให้มีขนาดที่เหมาะสม ภายในห้องมีการปรับด้านอะคูสติกจากผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นค่อยเอาชุดเครื่องเสียงเข้ามาไว้”

ภายในห้องขนาด ๕ x ๗ เมตร ยามไม่เปิดเพลงให้ความรู้สึกสงัด เพราะผ่านการติดตั้งแผงซับเสียงและ diffuser ที่ผนังและลดหลั่นกันบนเพดาน เพื่อลดเสียงรบกวนและปรับสภาพ acoustic ให้ดี

Image

เครื่องเล่นแผ่นเสียงควรได้รับการปรับตั้งอย่างถูกต้องจึงจะให้เสียงออกมาได้ดีที่สุด

องค์ประกอบสำคัญของห้องย่อมได้แก่บรรดาอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทต่าง ๆ ที่เรียงรายละลานตาอยู่บนแท่นและชั้นวาง ให้ความรู้สึกน่าตื่นตาราวกับพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ตั้งแต่ลำโพงคู่ใหญ่สูงตระหง่าน ไล่มาถึงภาคขยายเสียงทั้งพรีโฟโน (ภาคขยายสัญญาณจากหัวเข็มแผ่นเสียง) พรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์แบบโมโนบล็อกกำลังสูงขนาดข้างละ ๒๒๐ วัตต์ ซึ่งอาจารย์ประดิษฐ์เลือกใช้อุปกรณ์เครื่องหลอดทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า

“ผมชอบเสียงของเครื่องหลอด เพราะมีเสน่ห์ มีความอิ่ม ความฉ่ำหวาน ซึ่งเครื่องทรานซิสเตอร์ให้ไม่ได้ แต่ทรานซิสเตอร์อาจให้เสียงที่ฉับไว มันต่างกัน”

สิ่งที่เราสนใจคือเครื่องเล่นแผ่นเสียงหรือ “เทิร์นเทเบิล” ซึ่งปัจจุบันอาจารย์ประดิษฐ์มีอยู่ในครอบครองสี่เครื่อง

“ตัวนี้คือ Marantz Model 6300 เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องแรกที่ผมเล่นตั้งแต่อายุ ๑๔-๑๕ ตอนนั้นใช้กับอินทิเกรตแอมป์และลำโพงเล็ก ๆ คู่หนึ่ง วางไว้ในห้องนอนเล่นง่าย ๆ ใช้ฟังเพลงไปเรื่อย ๆ” อาจารย์ประดิษฐ์พาชมเครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องแรกที่ยังเก็บไว้

ถัดมาคือ VPI Scout เครื่องเล่นแผ่นเสียงชื่อดังของอเมริกา ซึ่งอาจารย์ประดิษฐ์ได้มาในช่วงวัยทำงานและเริ่มสนใจการเล่นเครื่องเสียง ทว่าเมื่อผ่านไปสักพัก ความรู้สึกสงสัยว่า “แล้วของที่ดีกว่านี้จะให้เสียงยังไง” ชักนำให้คุณหมอเสาะหาเครื่องที่ ๓ มาลองฟัง นั่นคือ Kuzma รุ่น Reference

Image

ข้อดีของแผ่นเสียงคือมันเป็นวัตถุที่เราสัมผัสจับต้องได้ชื่นชมมันได้เสียงเพลงที่ได้จากการเล่นแผ่นเสียงก็มีเสน่ห์คนเคยฟังจะรู้ว่ามันให้เสียงที่มีความนุ่มนวล มีรายละเอียดมีอะไรต่าง ๆ ที่ฟังแล้วสบายหู

Image

นักเล่นเครื่องเสียงที่ชื่นชอบอารมณ์วินเทจ มักจับคู่เทิร์นเทเบิล ยุคเก่ากับเครื่องขยายเสียงหลอด

ก่อนจะปิดท้ายด้วย Garrard รุ่น ๓๐๑ เครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับตำนาน ถึงแม้ยุติการผลิตแล้วแต่ยังเป็นที่ใฝ่หาของผู้นิยมเครื่องเสียงวินเทจทั่วโลก โดยอาจารย์ประดิษฐ์ซื้อมาจากบริษัทในอังกฤษที่นำเครื่องเก่ามาบูรณะใหม่ให้คืนสภาพสมบูรณ์ สิ่งพิเศษคือติดตั้งโทนอาร์มและหัวเข็มสองชุดบนแท่นเครื่องเดียวกัน ชุดแรกเล่นกับแผ่นเสียงโมโน อีกชุดเล่นแผ่นเสียงสเตอริโอ

“ผมชอบฟังเพลงคลาสสิก แผ่นเสียงที่สะสมไว้ส่วนหนึ่งจึงเป็นแผ่นเพลงคลาสสิก” อาจารย์ประดิษฐ์เผยพร้อมกล่าวอย่างอารมณ์ดี “ปัญหาคือผมได้แต่ซื้อเข้ามา ไม่ปล่อยออก ตอนนี้มีประมาณ ๔,๐๐๐ แผ่น”

ในยุคที่ใครก็เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก เว็บไซต์ ebay กลายเป็นจุดนัดพบของผู้ขายและนักล่าแผ่นเสียงทั่วโลกที่พร้อมแข่งขันในเกมประมูล ยิ่งแผ่นหายากโผล่มาเมื่อไร การบิด (bidding) ก็ยิ่งดุเดือด

“แผ่นเสียงของผมส่วนใหญ่ได้จากการบิดในอีเบย์เหมือนกัน” อาจารย์ประดิษฐ์เอ่ยแนวทางเสาะหาแผ่นเสียง “พอเราศึกษาลงไปลึก ๆ พบว่าแผ่นที่มีคุณค่าน่าสะสมสำหรับผมคือแผ่นที่ผลิตก่อนปี ๑๙๘๐ เพราะแผ่นที่ออกหลังจากนั้นเริ่มมีระบบดิจิทัลเกี่ยวข้องในการผลิต”

นอกจากนั้นแผ่นเสียงที่นักเล่นผู้มีประสบการณ์หมายปองเป็นพิเศษคือแผ่น original หมายถึงแผ่นเสียงที่ผลิตขึ้นรอบแรก (f irst pressing) หรือแผ่น “ปั๊มแรก”

Image

ส่วนหนึ่งของแผ่นเสียงที่อาจารย์ประดิษฐ์สะสมไว้ มีทั้งอัลบัมเพลงคลาสสิกและเพลงแจซที่ทรงคุณค่า

ทั้งนี้เพราะในการผลิตแผ่นเสียงปั๊มแรกนั้น ตัวอุปกรณ์แม่พิมพ์ทำมาจาก original master tape และปั๊มแผ่นในเวลาที่ใกล้กับเวลาบันทึกเสียง ซึ่งคุณค่าของแผ่น original คือเป็นแผ่นที่ผลิตครั้งแรก คุณภาพเสียงดีมาก ในขณะที่แผ่น reissue ซึ่งผลิตภายหลังนั้นทำจาก original master tape ซึ่งคุณภาพด้อยลงตามกาลเวลาที่ผ่านไปหรือมีกระบวนการ digital remaster ที่จะทำให้คุณภาพเสียงไม่ดีเท่าแผ่น original

เมื่อคุยถึงตรงนี้ อาจารย์ประดิษฐ์หยิบแผ่นเสียงเพลงคลาสสิกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง คืออัลบัมเพลงประกอบการแสดงบัลเลต์เรื่อง La Fille Mal Gardée บรรเลงโดยวง Orchestra of The Royal Opera House, Covent Garden และมี John Lanchbery เป็นวาทยกร ซึ่งผลิตโดยบริษัท Decca ประเทศอังกฤษ

“นี่เป็นแผ่น original หรือแผ่นปั๊มแรก ผมบิดได้จากอีเบย์ในราคา ๑๗๘ ปอนด์ บางครั้งถ้าเราอยากได้จริง ๆ ก็ต้องสู้ราคา”

อาจารย์ประดิษฐ์ดึงแผ่นไวนิลออกจากซองให้ดูแม้แผ่นจะมีอายุกว่า ๔๐ ปี ทว่าตัวแผ่นยังคงมันใสแทบปราศจากริ้วรอยขีดข่วน บ่งบอกสภาพที่ดี

แผ่นเสียงบางชุดจัดทำ booklet ที่รวบรวมภาพประกอบและเรื่องราวเกี่ยวกับอัลบัมนั้น ๆ ไว้ให้ด้วย

Image

แผ่นเสียง original หรือแผ่นเสียงที่ผลิตครั้งแรกจะมีการระบุรายละเอียดต่าง ๆ ไว้บนเลเบลของแผ่น

“ถ้าจะซื้อแผ่นพวกนี้ อันดับแรกเราต้องศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร สำหรับอัลบัมนี้ข้อสังเกตว่าเป็นแผ่น first pressing เขาจะดูตรงเลเบล (ฉลากวงกลมกลางแผ่น) ซึ่งจะพิมพ์ว่า Decca wide-band ‘FFSS’ (Full Frequency Stereophonic Sound) และเขียนว่า ‘Original Recording by’ ที่ตำแหน่ง ๑๐ นาฬิกา”

ความสนุกอย่างหนึ่งของคนเล่นแผ่นเสียงคือการลงลึกในรายละเอียด แล้วตามหาแผ่นที่ต้องการ อย่างเพลงประกอบบัลเลต์ La Fille Mal Gardée เป็นอัลบัมที่คุณหมอชื่นชอบและสะสมไว้หกแผ่น โดยเป็นแผ่นปั๊มแรกสามแผ่น นอกนั้นเป็นแผ่นปั๊มที่ ๓-๔ และมีแผ่นที่อัดแบบโมโนอีกด้วย 

รวมถึง Vivaldi The Four Seasons บรรเลงโดยวงดนตรี Academy of St Martin in the Fields ก็เป็นอีกหนึ่งอัลบัมที่อาจารย์ประดิษฐ์มีหลายแผ่น ตั้งแต่แผ่นปั๊มแรกโดยบริษัท Argo ประเทศอังกฤษ แต่ภายหลังเจอแผ่นปั๊มแรกจากฮอลแลนด์ซึ่งเสียงดีกว่า แล้วยังมีแผ่นที่ผลิตจากญี่ปุ่นโดยบริษัท King Record ที่มีชื่อเสียง

“แผ่นเสียงบางอัลบัมผมซื้อหลายแผ่น เพราะอยากฟังเปรียบเทียบ หรือเก็บเป็นแผ่นสำรอง อย่างแผ่นปั๊มที่ ๒-๓ ผมก็ซื้อ มันไม่ได้เลวร้ายอะไร บางทีก็แจกเพื่อนบ้าง

อัลบัมเพลงประกอบการแสดงบัลเลต์เรื่อง La Fille Mal Gardée,e เป็นหนึ่งในแผ่นเสียงเพลงคลาสสิกที่อาจารย์ประดิษฐ์ชื่นชอบ

Image

อัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรือนแพ เป็นแผ่นเสียงเพลงไทยยุคเก่า
ที่ปัจจุบันมีราคาสูงและยังมีคนตามหา

นอกจากแผ่นเสียงเพลงคลาสสิก อาจารย์ประดิษฐ์ยังสะสมแผ่นเสียงเพลงแจซชั้นดี เช่นแผ่นที่ผลิตจากค่าย Blue Note Records รวมทั้งแผ่นเสียงเพลงไทยยุคเก่าที่ทรงคุณค่า บางแผ่นหายากและมีราคาสูง เช่น เพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง เรือนแพ และ แผลเก่า อัลบัมเพลงลูกทุ่งชุด บุพเพสันนิวาส ของ ศรคีรี ศรีประจวบ อัลบัม โฟล์คซองคำเมือง แผ่น original ของ จรัล มโนเพ็ชร

“ผมยอมรับว่าฟังเพลงไทยไม่มาก แผ่นไหนที่คนแนะนำว่าต้องมีเราก็ซื้อมาฟัง ถ้าเป็นแผ่นเพลงไทยที่ทำมาในยุคปัจจุบันซึ่งผมชอบมากคือ เพลงอภิรมย์ ๑ เพราะอัดเสียงดี เพลงก็เพราะ”

วันนี้เป็นอีกวันที่อาจารย์ประดิษฐ์พาตัวเองเข้ามาอยู่ในพื้นที่แห่งความสุขของห้องฟังเพลง

“ข้อดีของแผ่นเสียงคือเป็นวัตถุที่เราสัมผัสจับต้องได้ ชื่นชมได้ เสียงเพลงจากแผ่นเสียงก็มีเสน่ห์ คนเคยฟังจะรู้ว่ามันให้เสียงนุ่มนวล มีรายละเอียด ฟังแล้วสบายหู”

แสงไฟในห้องหรี่สลัวลง ขดไส้หลอดขยายเสียงเรืองแสงสีส้มชวนมอง บ่งบอกว่าเพาเวอร์แอมป์อยู่ในสถานะพร้อมทำงาน อาจารย์ประดิษฐ์นำแผ่นโมโนอัลบัม เรือนแพ วางลงบนจานหมุนของ Garrard รุ่น ๓๐๑ หัวเข็มบนโทนอาร์มค่อย ๆ เคลื่อนลงมาหาร่องเสียง ทันใดนั้นเสียงร้องนุ่มนวลชวนฟังของ ชรินทร์ นันทนาคร ก็พรั่งพรูออกมาจากลำโพงตัวใหญ่ ทำให้ทั่วทั้งห้องปกคลุมด้วยบรรยากาศอันแสนรื่นรมย์