Image

ชีวิตที่แวดล้อมด้วยแผ่นเสียงของ ณัฐพล เสียงสุคนธ์ หรือ “ดีเจมาฟท์ไซ” เจ้าของร้าน Zudrangma Records

Zudrangma Records
ร้านแผ่นเสียงสุดแรงม้า 
เสียงดนตรีไม่มีที่สิ้นสุด

PEOPLE WITH VINYL
แผ่นเสียงที่ยังมีชีวิต

เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ตัวร้าน Zudrangma Records เป็นห้องแถวขนาดเพียงหนึ่งคูหา แต่เมื่อเราผลักประตูเข้าไปข้างในจะพบกับโลกของดนตรีที่กว้างใหญ่ไร้พรมแดน

แผ่นเสียงแทบทุกแนวดนตรีจากเกือบทุกมุมโลกเดินทางผ่านพื้นที่และกาลเวลามารอผู้ฟังอยู่ที่นี่ ทั้งอัลบัมเพลงไซคีเดลิกจากตุรกี แผ่นบรรเลงเดี่ยวเปียโนเพลงเอธิโอเปีย เพลงแอมเบียนต์จากญี่ปุ่น เพลงประกอบภาพยนตร์จากรัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย เวิลด์มิวสิกจากปากีสถาน สปิริชวลแจซและอาว็อง-การ์ดแจซจากอเมริกา เพลงพื้นบ้านอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไล่มาถึงแผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งยุคเก่าและหมอลำยุค 60s 70s 80s ของไทย

Image

ลูกค้าของร้านสุดแรงม้ามีทั้งดีเจ นักฟังเพลงทั่วไป และชาวต่างชาติที่มาตามหาแผ่นเสียงเพลงไทย

ณัฐพลเริ่มเก็บแผ่นเสียงเพลงไทยจากแนวดนตรีไทยฟังก์และไทยสตริง อย่างอัลบัมของวงดิ อิมพอสซิเบิ้ล หรือรอยัลสไปรท์ส ก่อนจะพบว่าแผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งและหมอลำ ยุค 60s-70s ทำให้เขารู้สึกทึ่ง

เจ้าของร้าน Zudrangma Records คือ ณัฐพล เสียงสุคนธ์ หรือ “ดีเจมาฟท์ไซ” ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเป็นดีเจเปิดเพลงในงานปาร์ตี้ดัง ๆ ของไทย และเป็นผู้ริเริ่ม The Paradise Bangkok Molam International Band วงดนตรีหมอลำประยุกต์ที่เดินทางไปเล่นในเทศกาลดนตรีนานาประเทศ

ณัฐพลเริ่มฟังแผ่นเสียงจริงจังตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ช่วงไปเรียนที่อังกฤษ ประกอบกับมีโอกาสทำงานดีเจเปิดเพลงตามผับบาร์ตอนกลางคืน ทำให้ต้องสะสมแผ่นเสียงไว้ใช้งาน

“ช่วงนั้นผมแชร์บ้านอยู่กับเพื่อน แต่ละคนก็เก็บแผ่นเสียงตามแนวเพลงที่ตัวเองชอบ คนนี้ชอบร็อก คนนี้ฮิปฮอป อีกคนฟังเฮาส์  ที่อังกฤษมีร้านแผ่นเสียงเยอะมาก ผมไปร้านแผ่นเสียงทุกอาทิตย์” ณัฐพลเล่า “แล้วมีร้านหนึ่งทุกเช้าวันเสาร์จะมีแผ่นออกใหม่มาลง พอเปิดปุ๊บคนจะเข้าไปอัดแน่นในร้านเล็ก ๆ เขาจะเปิดแผ่นให้ฟัง ใครอยากได้แผ่นไหนก็ยกมือ เจ้าของจดรายชื่อไว้แล้วเราค่อยจ่ายเงินตอนหลัง”

งานดีเจทำให้ช่วงแรกณัฐพลเน้นเก็บแผ่นเสียงเพลงแนวเต้นรำ ตั้งแต่อิเล็กทรอนิกส์ เฮาส์ เทคโน ดิสโก้ ฟังก์ กระทั่งได้ฟังเพลงเร็กเก้ที่รีมิกซ์กับเพลงแอฟริกา ทำให้ความสนใจของเขาขยายขอบเขตสู่เวิลด์มิวสิกจากกาฬทวีป เช่น เพลงกานา ไนจีเรีย เอธิโอเปีย มาลี

เมื่องานดีเจเปิดแผ่นเสียงเริ่มซบเซาจากการมาถึงของแผ่นซีดีและไฟล์เพลง MP3 ณัฐพลจึงตัดสินใจกลับเมืองไทยในปี ๒๕๕๐

แผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งและหมอลำยุคเก่าคือสินค้าที่สร้างชื่อให้กับร้านสุดแรงม้า

กลายเป็นจุดเริ่มต้นการไล่ล่าหาแผ่นเสียงครั้งใหม่ที่สนุกไปอีกแบบ ณัฐพลตระเวนไปตามแหล่งขายแผ่นเสียงทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ย่านสะพานเหล็ก ห้างพันธุ์ทิพย์ฯ ๒ จนถึงตลาดนัดปัฐวิกรณ์

“ตอนนั้นราคาแผ่นเสียงถูกมาก อย่างผมไปสะพานเหล็ก อัลบัมหนึ่งไม่ได้เจอแค่แผ่นเดียว แต่มีสต๊อกเป็นสิบแผ่น สภาพยังไม่เคยลงหัวเข็มเลย หรือที่พันธุ์ทิพย์ฯ ๒ งามวงศ์วาน ทุกวันพฤหัสบดีตอน ๑๐ โมงจะมีคนชื่อพี่หนูเข็นรถเข็นเอาแผ่นเสียงใส่ลังมาขาย แผ่น LP ๑๒ นิ้วราคา ๑๐๐ บาท แผ่น ๗ นิ้วราคา ๑๐ บาท ผมต้องรอให้ลูกค้าประจำรื้อดูจนเสร็จเราถึงเข้าไปสวม แต่แผ่น ๗ นิ้วไม่ค่อยมีใครสนใจ ผมรื้ออยู่คนเดียวคราวละ ๔-๕ ชั่วโมง พักออกไปเข้าห้องน้ำแล้วกลับมาดูใหม่”

เขาเล่าต่อให้เห็นภาพ “การไปหาแผ่นพวกนี้ไม่ได้สวยงามแบบนั่งร้านหรู จิบกาแฟ ฟังแผ่นเสียง แต่เราต้องนั่งยอง ๆ รื้อแผ่นที่เขาใส่ในลังหรือกระจาด กลับถึงบ้านมือดำสกปรกยิ่งกว่ารื้อเสื้อผ้ามือสองอีก แล้วบางแผ่นเปื้อนคราบสกปรกหรือเปื้อนขี้ปลวก ก็ต้องทำความสะอาด”

ณัฐพลเริ่มเก็บแผ่นเสียงเพลงไทยจากแนวดนตรีไทยฟังก์และไทยสตริง อย่างอัลบัมของวงดิ อิมพอสซิเบิ้ล หรือรอยัลสไปรท์ส ก่อนจะพบว่าแผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งและหมอลำยุค 60s-70s ทำให้เขารู้สึกทึ่ง

Image

พื้นฐานของการทำงานดีเจและชอบฟังเพลง ทำให้ณัฐพลสะสมแผ่นเสียงมาเรื่อยจนต่อยอดสู่การเปิดร้านแผ่นเสียง

“ลูกทุ่งและหมอลำยุคนั้นเริ่มประยุกต์เอาดนตรีตะวันตกเข้ามาผสมจนมีความหลากหลาย อย่างเพลงลูกทุ่ง ‘ผู้ใหญ่ลี’ เพลงเดียวมีตั้งหลายเวอร์ชัน ‘ผู้ใหญ่ลีซานตาน่า’ ‘ผู้ใหญ่ลีวาทูซี่’ ‘ผู้ใหญ่ลีรำวง’ ‘ผู้ใหญ่ลีผู้ใหญ่มา’ ‘เมียผู้ใหญ่ลี’ ‘ลูกผู้ใหญ่ลี’

“หมอลำมีความลึกกว่าที่เราคิด หมอลำอีสานแต่ละท้องถิ่นมีซาวนด์ไม่เหมือนกันเลย” ณัฐพลเล่าด้วยความสนุก

“หมอลำช่วงปลายยุค 60s-70s ทดลองเอาเครื่องดนตรีและจังหวะใหม่ ๆ มาใช้มากขึ้น อย่างวงเพชรพิณ-ทองที่เริ่มเล่นพิณไฟฟ้า หรือ เทพบุตร สติรอดชมภู ที่นำเครื่องเป่าทองเหลืองมาเล่นกับหมอลำ ส่วนอาจารย์สุรินทร์ ภาคศิริ นำจังหวะดิสโก้ ฟังก์ มาผสม และยังมีวงอื่น ๆ อีกจนผมรู้สึกว่า โอ้โฮ ทำไมมันเยอะจนเหมือนไม่จบไม่สิ้น

“หมอลำยุคนั้นบางแผ่นที่เคยเจอ เราฟังจากบีตและเบสไลน์ เขาเล่นผิดคีย์เกือบหมด คล้ายคนเมาเหล้าขาว แต่ได้ความดิบ เสน่ห์บางอย่างที่แบบถ้าตั้งใจคิดจะไม่ได้”

ณัฐพลประทับใจจนนำแผ่นลูกทุ่งหมอลำไปเปิดให้คนเต้นในงานปาร์ตี้ต่าง ๆ และต่อยอดสู่การก่อตั้งวง Paradise Bangkok ที่ประยุกต์หมอลำอีสานกับดนตรีสมัยใหม่

ณัฐพลยังมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ เพื่อทำงานดีเจเปิดเพลง หรือนำวง Paradise Bangkok ทัวร์คอนเสิร์ต และไม่ว่าเขาไปถึงมุมไหนของโลก กิจวัตรที่ขาดไม่ได้คือตามหาแผ่นเสียงที่น่าสนใจของประเทศนั้น ๆ

เมื่อแผ่นเสียงที่ณัฐพลสะสมมีจำนวนมากขึ้น เขาจึงคิดอยากมีร้านสำหรับขายแผ่นเสียงและเป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดของคนคอเดียวกัน

Image

แผ่นเสียงเพลงไทยและต่างประเทศหลากหลายแนวดนตรีเรียงรายอยู่บนชั้นวางอย่างชวนมองและชวนฟัง

Image

การเดินทางตามหาแผ่นเสียงมันทำให้เราได้เจอคนได้แลกเปลี่ยนความรู้กับนักสะสมแผ่นเสียงด้วยกัน...

Image

นับเป็นจุดเริ่มต้นของร้านสุดแรงม้าที่เปิดบริการมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๑๖ ปีแล้ว

“บางคนอาจคิดว่าร้านสุดแรงม้ามีแต่แผ่นลูกทุ่งและหมอลำ” ณัฐพลกล่าว “ความจริงซีเลกชันของร้านเรากว้างมาก มีทั้งแผ่น original แผ่น reissue และแผ่นออกใหม่
ในแนวดนตรีหลากหลาย ตั้งแต่เพลงโซล แจซ ฟังก์ ดิสโก้ ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ดนตรีแนวทดลอง เทคโน แอมเบียนต์ ดั๊บ เร็กเก้” 

จุดเด่นอีกอย่างของร้านคือเป็นแหล่งรวบรวมแผ่นเสียงเวิลด์มิวสิกจากทั่วโลก ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน อัฟกานิสถาน อียิปต์ เยเมน แอฟริกา เอธิโอเปีย โมร็อกโก ฯลฯ อาจรวมถึงแนวเพลงพื้นบ้านของไทยอย่างเพลงแหล่หรือเพลงฉ่อย

“ผมไปที่ไหนแล้วเห็นแผ่นน่าสนใจ อยากแนะนำให้คนอื่นรู้จัก ก็จะซื้อกลับมาเข้าร้าน” ณัฐพลกล่าว “การเดินทางตามหาแผ่นเสียงทำให้เราได้เจอคน แลกเปลี่ยนความรู้กับนักสะสมด้วยกัน อย่างผมเคยเจอคนสะสมแผ่นเสียงปากีสถาน ต่อมาเขาก็ส่งแผ่นเสียงปากีสถานมาให้”

Image

ลูกค้าของสุดแรงม้ามีทั้งคนไทยและต่างประเทศ เจ้าของร้านเล่าว่าลูกค้าไทยมักซื้อแผ่นเสียงเพลงแจซหรือแนวอื่น ๆ ส่วนคนญี่ปุ่นหรือชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะมาถามหาแผ่นเสียงเพลงไทย

“ผมมองเรื่องแผ่นเสียงที่มีคนบอกว่ากำลังกลับมา จริง ๆ แผ่นเสียงไม่เคยหายไปไหนนะ แต่มันอยู่เฉพาะกลุ่ม ผมเก็บแผ่นเสียงตั้งแต่ปี ๒๕๔๓-๒๕๖๘ ซึ่งคนที่ผมรู้จักก็ยังเก็บเหมือนเดิม แต่มีกลุ่มใหม่เข้ามามากขึ้น ผมไม่รู้พวกเขาจริงจังขนาดไหน หรือแค่สนใจตามกระแสนิยม”

อาจกล่าวได้ว่าแผ่นเสียงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชายหนุ่มคนนี้ เขาเป็นทั้งคนชอบฟังแผ่นเสียง นักสะสมแผ่นเสียง ดีเจเปิดแผ่นเสียง และเจ้าของร้านแผ่นเสียงแต่ช่วงหนึ่งของการสนทนา ณัฐพลเปรยว่าเขาคิดจะลดการซื้อแผ่นเสียงลงบ้างแล้ว เพราะมีจำนวนเยอะมากจนแทบไม่มีที่เก็บ

กระทั่งเย็นวันนั้นเมื่อพวกเราออกมาคุยต่อด้านนอกร้าน ณัฐพลถามว่าถ้าขึ้นรถไฟฟ้า BTS ไปแถวรังสิตได้ไหมเพราะตอนนี้ถนนสุขุมวิทรถติดมาก

“พี่ที่อยู่แถวเซียร์ รังสิต นัดให้ผมไปดูแผ่นเสียงตอนค่ำ เขาจะขายลอตใหญ่ ผมกลัวจะไปไม่ทัน” ดีเจมาฟท์ไซบอกเราพร้อมรอยยิ้ม