นก-พงศกร ดิถีเพ็ง เจ้าของ “ร้านแผ่นเสียง” ชุมชนคนรักเสียงเพลงจากฟอร์แมตโบราณ จำหน่ายแผ่นเสียงทั้งศิลปินไทยและสากล ตั้งแต่ระดับตำนานถึงวัยรุ่นยุคใหม่
Record Shop
“ร้านแผ่นเสียง”
ของ พงศกร ดิถีเพ็ง
PEOPLE WITH VINYL
แผ่นเสียงที่ยังมีชีวิต
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
Audiophile & Hi-Fidelity
เสน่ห์หรือข้อดีที่สุดของแผ่นเสียงคือเป็นฟอร์แมตที่ใกล้เคียงดนตรีสดมากที่สุด เวลาเราไปฟังดนตรี ดูนักร้องโชว์สด ๆ จะมีปลายเสียง “ฉันรักเธอเสมออออ” แต่ในซีดี “ฉันรักเธอเสมอ” ปลายเสียงขาดไปเลย
แผ่นเสียงอยู่คงทน ถ้าคุณมีความอดทนไม่ forward-rewind ไม่มีใครบอกได้ว่าแผ่นเสียงจะหมดอายุเมื่อไร ไวนิลอายุ ๗๐ ปีที่เรามีก็ยังไม่เสีย เพียงแต่อาจมีเสียงรบกวนเล็ก ๆ ตามกาลเวลา ที่จะพังก่อนคือโดนแดด ความร้อน ทำตกแตกมากกว่า ตัวเครื่องเล่นอาจมีปัญหา เช่น หัวเข็ม สายสัญญาณ สายไฟฟ้า
แผ่นเสียงเป็นแอนะล็อก เหมือนที่เราเคยฟังตอนเด็ก ปกแผ่นเสียงใหญ่กว่าเทปคาสเซ็ตกับซีดีมาก มันน่าจับ น่ารักษา น่าประคอง แต่ช่วงหนึ่งเราไม่ได้ใส่ใจ ตื่นเต้นกับซีดี เทป พอโตมาถึงรู้
คนมาที่นี่คิดว่าวินเทจเป็นสิ่งสวยงาม ของในอดีตน่ารัก เท่ หล่อ เริ่มจากความเชื่อนี้ก่อน แต่พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ใช่แค่นั้น เอาต์พุตของเสียงที่ออกมาใกล้เคียงกับความเป็นดนตรีสดมากที่สุด
ร้านแผ่นเสียงเป็นบ้านเดี่ยวสองชั้นสไตล์วินเทจ ด้านหน้าเป็นลานสนามหญ้ากว้างขวาง
Numbered
ช่วงที่ความนิยมแผ่นเสียงตก เทปมา ซีดีมา เราเป็นวัยรุ่นทันสมัย ก็ไม่ได้สนใจ พอมาทำเป็นอาชีพถึงรู้
สมัยเป็นลูกน้องร้าน Bangkok Hi-Fi ในห้างฟอร์จูนทาวน์ ร้านทำเลดีมาก อยู่หน้าส้วม คนผ่านมาใช้ห้องน้ำหัวเราะ ตั้งใจพูดให้เราได้ยิน “เขาไปถึงไหนกันแล้ว” “ทำอะไรอยู่” นี่เรื่องจริง ช่วงนั้นมี MP3 มีซีดีแล้ว มึงอะไรมาขายแผ่นเสียง อยู่โลกไหน
ตอนนั้นขายแผ่นเสียงเก่า เพลงไม่ค่อยทันสมัย หลังจากนั้น ๔-๕ ปี ฝรั่งเริ่มผลิตและแผ่นเสียงกลับมาผลิตทั่วโลก ซีดีตกกระป๋องเพราะออกลูกได้ ซื้อหนึ่งแผ่นเอาไปกระจาย ไรต์แจกง่าย ๆ ทุกบ้านทำได้หมด เทปก็เป็น ๑ ต่อ ๑ ใช้เวลาแค่ ๔๐ นาที แผ่นเสียงทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องใช้กระบวนการ ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือลงทุนสูงระดับหลายล้าน
สุดท้ายกลับมาที่แผ่นเสียง
ลูกค้าร้านแผ่นเสียงมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ภายในร้านแบ่งเป็นมุมต่าง ๆ เช่น มุมแผ่นเสียงหายาก มุมทดสอบคุณภาพเสียงและทดลองฟัง ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม เช่น มินิคอนเสิร์ต ศิลปินพบปะแฟนคลับ เป็นต้น
แผ่นเสียงเป็นแอนะล็อก เหมือนที่เราเคยฟังตอนเด็ก…เสน่ห์หรือข้อดีที่สุดของแผ่นเสียงคือเป็นฟอร์แมตที่ใกล้เคียงดนตรีสดมากที่สุด
Long Playing
สมัยก่อนลูกค้าอายุ ๕๐ ปีบวก-ลบ ตอนหลังวัยรุ่นกลุ่ม ๑๕-๒๐ เริ่มหันมาสนใจตามกระแสโลก มีคำพูดว่า “vinyl never die”
ค่าเฉลี่ยอายุลูกค้าที่ร้าน Record Shop จะ ๓๐ บวก-ลบ คนอายุ ๖๐ นี่ใช้รีโมตมือไม้สั่น สายตาเริ่มฝ้าฟางยังมีบ้างแต่น้อยลงเยอะ ที่นี่เสาร์อาทิตย์มีแต่อายุ ๒๐ บวก-ลบ จะมาหาลุงนกเต็มไปหมด ส่วนใหญ่เด็กมหาวิทยาลัย มัธยมฯ ปลาย ม. ต้นก็มี
วันนี้ในห้างร้านใหม่ ๆ เกิดเยอะ ถ้าย้อนไป ๑๐ ปีที่แล้วทุกร้านต้องมาเอาแผ่นที่เราหมด แทบจะผูกขาดทุกค่าย เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิม ผู้ผลิตเยอะขึ้น ร้านเปิดเยอะขึ้น ทุกคนอยากเป็นดีลเลอร์เอง อยากเป็นผู้ผลิตเอง แตกออกเป็นสิบเจ้า บางคนทำงานที่บ้านก็เปิดขายแผ่นเสียงที่บ้าน
ตลอด ๑๐ กว่าปีแผ่นเสียงโตไม่หยุด ค่ายเพลงที่เป็นยักษ์หลับในอดีตกลับมาเปิดใหม่ ที่เคยทำซีดีกลับมาทำเป็นแอนะล็อก แล้วยังมีผู้ผลิตอิสระไปซื้องานอินดี้ของวงวัยรุ่นมาทำ
เมื่อ ๕-๖ ปีก่อนที่นี่เป็นร้านเดียวที่ขายแผ่นเสียงเป็นเรื่องเป็นราว ค่ายเพลงรันออกมาก็มา exclusive เรา จะโปรโมตก็ใช้ร้านเราซึ่งเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ มีพื้นที่กว้างกว่าในห้าง บางอัลบัมโปรโมตในสนาม อยากให้หรูหราก็จัดไฟ มีมินิโชว์ แจกลายเซ็นเสร็จนั่งดูคอนเสิร์ตกัน
ที่นี่มีแผ่นของ สุรพล สมบัติเจริญ ยันวง Scrubb, ลิซ่า สินค้าในร้าน ๙๐ เปอร์เซ็นต์คือแผ่นเสียง อีก ๗-๘ เปอร์เซ็นต์เป็นเทปคาสเซ็ต กับอีก ๒ เปอร์เซ็นต์เป็นซีดี
Promo
เรามีโซเชียล มีคอมมูนิตีของเรา วันนี้เราน่าจะเป็นร้านที่มีอายุมากที่สุดเพราะรุ่นพี่เลิกไปก่อน
พอใจสถานที่ในซอยประดิพัทธ์ ๑๙ มาก ถึงค่าเช่าสูงกว่าในห้าง แต่ส่วนตัวแล้วเราไม่ต้องเดินทาง จากบ้านเดินมาร้านได้ ลูกมาอยู่ร้านได้หลังเลิกเรียน วันหยุดครอบครัวมารวมตัวกันทำให้ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาที่ผ่านมาเราดีลกับค่ายเพลงแทบจะทุกค่ายในเมืองไทย ฉะนั้นมีของมีสินค้าป้อนตลอด
ทุกวันนี้ฟังเพลงเมืองนอกจาก Spotify ดูว่าจะเลือกแผ่นไหนเข้าร้าน ฟังเข้าหูก็สั่งมาขายจากสิงคโปร์หรือฮ่องกงที่เป็นฮับใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก พ่อก็ฟังเพลงของพ่อ ลูกใช้เครื่องเล่นของพ่อแต่เอาเพลงของลูกฟัง เห็นไหมสมการมันซ้อนกันแล้ว