แผ่นเสียง Chiang Mai Sound Vol.1 แผ่นไวนิลที่บันทึกสุ้มเสียงของเชียงใหม่ที่หลากหลายไว้รอต้อนรับนักฟังผู้มาเยือน
Chiang Mai Sound
บันทึกเชียงใหม่ใส่แผ่นเสียง
PEOPLE WITH VINYL
แผ่นเสียงที่ยังมีชีวิต
เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : Poy Festival
“เวลาเราไปร้านแผ่นเสียงก็จะเจอทั้งแผ่นเพลงไทย เพลงสากล แต่ยังไม่เคยเจอแผ่นรวมเพลงเชียงใหม่เลย เราอยากทำแผ่นเสียงที่เป็นเหมือนของฝากของเมือง ให้คนที่มาฟังดนตรีที่นี่ถือ ‘เสียงดนตรีของเชียงใหม่’ ติดไม้ติดมือกลับบ้านได้ ต้องเป็นของฝากที่น่ารักมากแน่ ๆ”
คำกล่าวข้างต้นคือความตั้งใจทำแผ่นเสียง Chiang Mai Sound Vol.1 ของซี-สิโมนา มีสายญาติ Creative Director เทศกาลแผ่นเสียงและดนตรีอิสระ “ปอยเฟสติวัล ๒๐๒๔” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ ๑๔-๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ ด้วยความหวังว่าทั้งงานเทศกาลและแผ่นเสียงแผ่นนี้จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีของเมือง
แผ่นเสียง Chiang Mai Sound Vol.1 รวมบทเพลง ๑๒ เพลงของ ๑๒ ศิลปินเชียงใหม่ จัดทำเป็นพิเศษในฐานะของที่ระลึกงานปอยเฟสติวัลครั้งแรก โดยการคัดเลือกของมาย-ดนตรี ศิริบรรจงศักดิ์ Music Director จนได้เพลงที่ต่างแนวกันไป แต่ล้วนเล่าเรื่องความเป็นเชียงใหม่
“Side A เราเริ่มด้วยเพลง ‘Song Of Nocturnal Insect’ ของ Klee Bho (คลีโพ) ศิลปินโฟล์กชาวปกาเกอะญอ เรามองว่าเวลาคนนึกถึงเชียงใหม่จะนึกถึงภูเขา ป่าไม้ ค่อย ๆ เริ่มจูนกับคนฟังด้วยเสียงเตหน่าที่เป็นเครื่องดนตรีชาติพันธุ์ ผสมกับเสียงนก เสียงธรรมชาติ ทำให้รู้สึกว่าได้ยินเสียงจิ้งหรีดเรไรตอนกลางคืน ตามด้วยเพลงสโลว์ไลฟ์แบบที่เรารู้สึกว่าเป็นเชียงใหม่มาก ๆ เนื้อเพลงตรง ๆ น่ารัก ซื่อสัตย์หน่อย ใจดี แต่เมื่อแผ่นเสียงค่อย ๆ หมุนไปเรื่อย ๆ เพลงจะค่อย ๆ ฉีกออกจากภาพจำเชียงใหม่ที่คนทั่วไปนึกถึง” มายเริ่มเล่าถึงแต่ละเพลงที่เลือกมาใส่ในแผ่นเสียง
เมื่อพลิกเข้าสู่ Side B แผ่นเสียงจะพาผู้ฟังเดินทางออกจากป่าเข้าสู่เมืองผ่านเพลงร็อก ก่อนจะปิดจบด้วยเพลงสุดท้ายที่เป็น world music
“เพลงสุดท้ายชื่อ ‘Dejavu’ ของวง Tuku Digeridoo Band ผสานกันระหว่างฝรั่งกับคนไทย เพราะเรามองว่าความเป็นเมืองเชียงใหม่ในตอนนี้มันไม่ใช่แค่คนเชียงใหม่แล้ว แต่เป็นจุดรวมของนักดนตรีจากต่างสถานที่ ต่างวัฒนธรรม จากที่อื่นประเทศอื่นที่เขาย้ายมาอยู่ที่นี่ เกิดสิ่งใหม่ ๆ เสียงใหม่ ๆ จากการมาเจอกันของคนที่ชอบเสียงดนตรี เราเลยอยากให้เพลงสุดท้ายเป็น world music ที่เล่าการผสมผสานนี้” มายอธิบายเสียงของเชียงใหม่แบบที่เขาอยากจะเล่าผ่านแผ่นเสียง
ซีเสริมว่า ย้อนกลับไปช่วงประมาณ ๑๐ กว่าปีก่อนตอนที่กระแสการฟังเพลงแบบแอนะล็อกยังไม่กลับมาเฟื่องฟู ศิลปินท้องถิ่นที่มีงบประมาณไม่มากก็ไม่มีใครลงทุนทำแผ่นเสียง ทำให้เพลงยุคนั้นเหมือนตกหล่นหายไป เช่นเพลง “Slow Life” ของวง Derdamissyou หรือเพลง
“เหตุผลที่ทุกคนสวดมนต์” ของวง Migrate To The Ocean นี่จึงเป็นความตั้งใจตามเก็บเพลงของยุคสมัยนั้นบางส่วนมาลงในแผ่นเสียง Chiang Mai Sound Vol.1
เชียงใหม่มีร้านดนตรีที่หลากหลายมาก ร็อก เร็กเก้ โฟล์ก แจซ บลูส์ อยากฟังแนวไหนก็มีหมดเลย เราเลยอยากให้อุตสาหกรรมดนตรีท้องถิ่นแข็งแรงกว่านี้ นักดนตรีอยู่ได้ด้วยการเป็นนักดนตรีจริง ๆ
กิจกรรมเสวนา “ดนตรี, ความท้าทาย และอัตลักษณ์ ภายใต้เสียงของเชียงใหม่” ในงาน Poy Festival โดย มาย-ดนตรี ศิริบรรจงศักดิ์ (ซ้ายสุด), สุเมธ ยอดแก้ว มือกีตาร์วง Migrate To The Ocean, สุพิชา เทศดรุณ นักร้องนำวง Suthep Band และ ศักดิ์รพี รินสาร พิธีกร
Vinyl Album ชุดแรกของเมืองเชียงใหม่โดย Chiang Mai Sound เพื่อให้อุตสาหกรรมดนตรีท้องถิ่นยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง
“ล่าสุดเราสองคนเอาแผ่นเสียง Chiang Mai Sound ไปขายที่ญี่ปุ่นด้วยค่ะ เพราะคนญี่ปุ่นก็ฟังเพลงไทยเยอะ ตัดสินใจลองดู เราอยากส่งแผ่นเสียงนี้ให้ไปไกลกว่าจังหวัดเชียงใหม่ อยากให้มันไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ที่มีคนเห็นคุณค่าของเพลงคนไทย ก็ถือแผ่นไปเปิดให้ร้านแผ่นเสียงที่นู่นฟังว่าเขาสนใจแผ่นเราไหม ตอนนี้ก็ได้วางขายอยู่ที่โอซากะและโตเกียว”
ก่อนจากกันมายเล่าเสริมว่าในอนาคตทั้งคู่อยากขยับขยายเป็นผู้จัดจำหน่ายแผ่นเสียง หรือบทบาทอื่นใดก็ตามที่เมืองแห่งนี้ยังขาดอยู่ เพื่อทำให้อุตสาหกรรมดนตรีในเชียงใหม่ครบวงจรอย่างที่ควรจะมี
“สำหรับพวกเรา ถ้าคิดถึงเชียงใหม่ก็นึกถึงดนตรีเป็นสิ่งแรก ๆ เชียงใหม่รุ่มรวยด้วยสุ้มเสียงหลากหลาย มากมายไปด้วยการแสดงดนตรีสด มีสถานศึกษาที่ผลิตคนเข้าสู่อุตสาหกรรมดนตรีของเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีรุ่นพี่ศิลปินที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศมาก่อน เช่น วง ETC., วง Solitude is Bliss, วง Polycat และอื่น ๆ แต่นักดนตรีเชียงใหม่จำนวนไม่น้อยอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้เพราะข้อจำกัดเรื่องค่าตอบแทน เราคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในหลาย ๆ ส่วนของเชียงใหม่ที่กำลังช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องดนตรีอยู่” มายเล่าถึงโจทย์ใหญ่ของอุตสาหกรรมดนตรีท้องถิ่นที่กำลังช่วยกันหาทางแก้ไข
“เราอยากเปลี่ยนให้เชียงใหม่เป็นเมืองดนตรีจริง ๆ ที่นักดนตรีทุกคนใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้ คนที่รักดนตรีก็อยากเดินทางมาที่นี่ เป็นเมืองที่นักดนตรีเลี้ยงชีพได้ด้วยการเป็นนักดนตรีจริง ๆ เพราะแบบนั้นเราจะจัดเทศกาลแผ่นเสียงและดนตรีอิสระปอยเฟสติวัลต่อเนื่องทุกปี และทำแผ่นเสียง Chiang Mai Sound ต่อไป ให้คนจากที่อื่น ๆ ได้ฟังเสียงของเมืองเชียงใหม่ค่ะ”