ธานี โหมดสง่า
จากแผ่นเสียงสู่สตรีมมิง
อดีต (ที่ยังมีชีวิต) และอนาคต
ของการฟังเพลง
INTERVIEW
สัมภาษณ์ : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
"ทุกวันนี้เวลาผมนั่งทำงานอยู่ มักมี message จาก Facebook เด้งขึ้นมาถามเรื่องการเล่นแผ่นเสียงอยู่เรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเล่นเครื่องเสียงไม่ถึงปี หรือไม่กี่เดือน ส่วนหนึ่งเพราะเห็นในหนัง หรือได้ยินรุ่นพี่พูดว่าแผ่นเสียงมันสุดยอดแล้ว ถ้าคุณเล่นเครื่องเสียง คุณต้องฟังจากแผ่นเสียงนะ พวกเขาเลยสนใจ"
แม้พฤติกรรมการฟังเพลงจะเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้คนยุคนี้หันไปฟังเพลงจากการสตรีมมิง (streaming) ผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตที่ให้ความสะดวก รวดเร็ว แทบไร้ขีดจำกัด ทว่าคำบอกเล่าของ ธานี โหมดสง่า ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีคนรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่งที่หวนกลับมาสนใจหรือหลงเสน่ห์สุ้มเสียงแบบแอนะล็อกจากการฟังแผ่นเสียง
ชื่อเสียงของธานีได้รับการยอมรับจากแวดวงนักเล่นเครื่องเสียงของไทยว่าเป็นหนึ่งในกูรูผู้รู้ลึกรู้จริง ด้วยการทำงานกว่า ๒๐ ปีในฐานะบรรณาธิการนิตยสารเครื่องเสียงอย่าง AUDIOPHILE / VIDEOPHILE และ GM2000 เขามีประสบการณ์ทดสอบอุปกรณ์เครื่องเสียงมาอย่างคร่ำหวอด รวมทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงชั้นดีหลากรุ่นหลายยี่ห้อที่ผ่านมือให้เขาทดลองใช้ ทดลองฟัง
″คนที่เล่นแผ่นเสียงเป็น ทุกคนจะมีแผล คือต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลาน พูดง่าย ๆ คือโง่มาก่อนถึงจะเป็น เพราะฉะนั้นเวลามีคนใหม่ ๆ จะเข้าวงการ รุ่นพี่จะขู่ เฮ้ย มันยากนะ คือยากกว่าเล่นเทปจูนเนอร์ คนละเลเวลเลย ผมคิดว่าความยากของการเล่นแผ่นเสียงทำให้เพิ่มดีกรีความขลัง ส่งผลมาถึงปัจจุบัน″
สำหรับตัวธานีเอง แม้ต้องย้อนอดีตกลับไปไกลถึงช่วงวัยรุ่นในวันที่ได้ฟังแผ่นเสียงครั้งแรก แต่เขาจำได้ดีถึงความรู้สึก ″มหัศจรรย์″ จากความไพเราะที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน
>> จากนักฟังเพลง
สู่การเล่นแผ่นเสียง
เส้นทางของนักเล่นเครื่องเสียงแต่ละคนอาจแตกต่าง ธานีเล่าว่า เขาได้ทำความรู้จักชุดเครื่องเสียงชั้นดีขณะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมฯ ที่ต่างจังหวัด
“ตอนนั้นผมกับเพื่อนสามคนตั้งวงดนตรีโฟล์กซองเป็นตัวแทนโรงเรียนที่จะไปแข่ง พวกเราก็เอาเทปเพลงของวงชาตรีไปก๊อบปี้สามชุด แบ่งกันแกะเพลง ‘จากไปลอนดอน’ มีเบสคน คอร์ดคน อีกคนโซโล่ นัดกันอาทิตย์หนึ่งก็มาซ้อม ซ้อมไปซ้อมมาจะทะเลาะกัน เพราะเล่นแล้วคร่อมจังหวะ”
เพื่อนที่เล่นเบสจึงเสนอว่า เทปของแต่ละคนคงยืดแล้ว และน่าจะยืดไม่เท่ากันด้วย เมื่อนำไปแกะเพลงจึงเล่นไม่ตรงจังหวะ ลองไปฟังแผ่นเสียงของพ่อเขาเพื่ออ้างอิงดีกว่า
ในวันที่ธานีไปถึงบ้านเพื่อนก็ตื่นตาตื่นใจกับความอลังการของชุดเครื่องเสียง “เจออะไรที่แบบไม่เคยเจอลำโพงแบน ๆ ตัวใหญ่ ๆ แอมป์หลอดตัวเบ้อเร่อ แล้วก็เครื่องเล่นแผ่นเสียง ซึ่งพ่อเขาก็ยินดีที่เราไป เพราะเขาเป็นพัฒนากร เพิ่งย้ายมา ๓-๔ เดือน ยังไม่มีเพื่อน พอลูกชายพาเพื่อนมา เขาก็รู้สึกภูมิใจ รีบเปิดให้ฟัง
“จากเดิมที่เราแกะคอร์ดเพลงจากเทปคาสเซ็ตจนคุ้นชินเสียงแบบนี้ ซาวนด์มันฝังอยู่ในหัว แต่พอพ่อเขาเปิดแผ่นเสียงให้ฟัง เฮ้ย ! เป็นอีกโลกหนึ่งเลย มันสร้างความรู้สึกมหัศจรรย์ ได้ยินปุ๊บ คนละแบบกับที่ฟังจากเทป ความเข้าใจเรื่องคุณภาพเสียงของเรา ณ เวลานั้นยังไม่ลึกซึ้ง แต่ภาพรวมคือเสียงชัดเจนมาก ถามว่าดียังไงตอบไม่ได้ แต่รู้ว่าดีกว่าเทปเยอะ”
"พอเรายิ่งศึกษา การเล่นแผ่นเสียงยากนะ เพราะองค์ประกอบหลายส่วนเป็นกลไกที่ต้องปรับตั้งให้แม่นยำ"
ด้วยเขายังเด็ก แม้ประทับใจกับเสียงเพลงที่ได้ยิน แต่เครื่องเสียงชุดใหญ่แบบนั้นก็ยังเป็นเรื่องไกลตัว
กระทั่งผ่านมาหลายปีเมื่อธานีย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ความชอบฟังเพลงเป็นทุนเดิม เขามีซาวนด์อะเบาต์ยี่ห้อไอว่าพกติดตัวไว้ฟังเพลง ขณะอยู่บ้านก็ฟังเทปและรายการวิทยุจากวิทยุกระเป๋าหิ้วยี่ห้อซันโย
ธานีเล่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาฟังดนตรีจริงจังขึ้น เพราะรู้จักรุ่นพี่ร่วมชมรมซึ่งเป็นนักฟังเพลงในระดับ “ฮาร์ดคอร์” ผู้หยิบยื่นเทปเพลงของวง Pink Floyd อัลบัม The Wall มาให้ลองฟังท่วงทำนองดนตรีโพรเกรสซีฟร็อกอันก้าวล้ำและซับซ้อน
“เราก็เอาเทปไปนั่งฟัง นอนฟัง เสียบหูฟัง The Wall เพลงอะไรวะ แล้วเวลาเจอกันเขาจะถาม เป็นไง ฟังถึงไหนแล้ว เขาจะคอยตรวจสอบเหมือนตรวจการบ้าน เราก็ต้องไปตั้งใจฟัง ตอบไม่รู้เรื่องเดี๋ยวโดนว่าอีก
“เขาเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนวิธีฟังเพลง เมื่อก่อนเราให้เพลงลอยเข้าหู ทำนองคุ้นก็โอเค แต่พอฟัง The Wall หลายครั้ง ถึงจุดหนึ่งพี่เขาถามว่า ได้ยินเสียงร้องเบา ๆ ตรงนั้นมั้ย ได้ยินเสียงกีตาร์ตรงนี้มั้ย คือเขาถามรายละเอียด พอเราไม่ได้ยิน เขาไล่ให้ไปฟังใหม่ เราก็กลับไปฟัง เออ มีเสียงแบบนี้จริงด้วย ก็เริ่มมีทักษะ โอ้โฮ เสียงลีดกีตาร์ตรงนี้สุดยอด”
ช่วงเวลานั้นธานีไม่เพียงพัฒนาการฟังเพลง เขายังหันมาสนใจเครื่องเสียง เพราะค้นพบว่าอุปกรณ์ที่ดีจะยิ่งถ่ายทอดคุณภาพเสียงออกมาได้มากขึ้น
นอกจากองค์ประกอบอย่างลำโพง เครื่องขยายเสียงหรือแอมป์สเตอริโอแล้ว อุปกรณ์ที่ธานีอยากเสาะหามาครอบครองคือเครื่องเล่นแผ่นเสียง เพราะจำความประทับใจครั้งไปฟังแผ่นเสียงที่บ้านพ่อของเพื่อนได้ดี
>> เสียงที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว
เมื่อธานีตั้งใจจะเป็นเจ้าของเครื่องเล่นแผ่นเสียง เขาตระเวนไปห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม ซึ่งในปี ๒๕๒๓ เป็นแหล่งรวมเครื่องเสียงชั้นนำทั้งค่ายญี่ปุ่นและยุโรปอีกทั้งจำหน่ายแผ่นเสียงเพลงหลากประเภท
“สุดท้ายก็ได้เครื่องเล่นแผ่นเสียงของไพโอเนียร์ รุ่นราคาไม่แพง ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติ คือเรากดปุ่มปุ๊บ โทนอาร์มจะยกขึ้นแล้วก็ลงเอง เล่นจบมันก็ยกกลับมาวางที่เดิม”
จากนั้นสิ่งที่ต้องตามมาคือแผ่นเสียง “เซ็นทรัลฯ ขายทั้งแผ่นนำเข้าจากอเมริกา และแผ่นที่ปั๊มในโซนนี้อย่างมาเลเซียหรือเมืองไทย เราก็เทียวไปดู โอ้โฮ แผ่นเสียงเยอะมาก เห็นแล้วอยากลองฟัง แต่เรามีกำลังซื้อได้แค่เดือนละสองแผ่น ผมทำไงรู้ไหม ไปถามพี่ที่เขาอยู่แผนกขายแผ่นเสียง ‘ถ้ามาเป็นพนักงานขายที่นี่จะได้ไหมครับ’ คือไม่รู้ละ อยากอยู่ใกล้ชิดแผ่นเสียง ฝังตัวอยู่กับมัน ไม่ได้ซื้อก็ยังได้ฟังได้เล่น”
โชคดีเป็นของเขา เพราะขณะนั้นเซ็นทรัลชิดลมมีนโยบายรับนักศึกษาที่อยากหารายได้พิเศษ ธานีจึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนกขายแผ่นเสียง ทำงานอาทิตย์ละ ๓ วัน นอกจากเบี้ยเลี้ยงยังได้คูปองอาหารกลางวันด้วย
“เราก็มีโอกาสได้จับแผ่นเสียงเยอะนะ น่าจะเป็นจุดเริ่มที่ได้คลุกคลีกับแผ่นเสียงมากที่สุด” ธานีระลึกความหลัง “ผมรู้จักเพลงมากขึ้น เพราะมีดีเจทั้งคนไทยและฝรั่งแวะมาสั่งแผ่นเสียงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ผมทำงานที่นั่นมา แผ่นที่มีออร์เดอร์เยอะสุดคืออัลบัมเพลงแจซ Winelight ของ โกรเวอร์ วอชิงตัน ซึ่งมีเพลงฮิตอย่าง ‘Just the Two of Us’ รายชื่อจองยาวเหยียด ของมาแต่ละรอบไม่พอแบ่งให้คนสั่ง”
เขาเล่าต่อว่า “แล้วก็เป็นครั้งแรกที่ผมฟังเพลงแจซ เพราะก่อนหน้านี้ผมไม่สน ฟังไม่รู้เรื่อง ร้องก็ไม่ร้อง แต่พอเราอยู่นี่นาน ได้ฟังวงแจซดี ๆ หลายวง ดีเจเป็นคนมาซื้อ เราเปิดให้ลูกค้าลองฟัง คือแผ่นเสียงมันดี เครื่องเสียงที่เขาใช้ดีกว่าของเราที่บ้านอยู่แล้ว ก็เริ่มชอบเพลงแจซ”
ความชื่นชอบในแผ่นเสียงและเครื่องเสียงชักนำธานีให้มุ่งหน้าไปตามเส้นทางสายนี้อย่างยาวไกล เขาไม่เพียงเสาะหาหนังสือและนิตยสารมาอ่านเพิ่มความรู้ หมั่นไปเดินในงานแสดงเครื่องเสียงซึ่งมักจัดตามโรงแรมต่าง ๆ กระทั่งเรียนจบยังหันเหมาทำงานเป็นสื่อมวลชนสายเครื่องเสียงเต็มตัวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
หากนับจากไพโอเนียร์เครื่องแรก ธานีเปลี่ยนเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาแล้วแปดเครื่อง กระทั่งจบที่ตัวสุดท้ายคือ Acoustic Signature รุ่น Mandred โดยใช้โทนอาร์ม Rega รุ่น RB300 ซึ่งเมื่อรวมกับหัวเข็มแล้วสนนราคาเกือบ ๒ แสนบาท โดยไม่นับเครื่องเล่นแผ่นเสียงอีกหลากยี่ห้อหลายรุ่น ที่เขาเคยทดสอบเพื่อถ่ายทอดแก่ผู้อ่านที่สนใจ
ธานีจึงเป็นผู้หนึ่งที่มีประสบการณ์เข้าใจเครื่องเล่นแผ่นเสียงอย่างถึงแก่น
“ช่วงแรกที่เราซื้อไพโอเนียร์มาเล่น ซื้อแผ่นเสียงมาเก็บได้ ๑๐ กว่าแผ่น เล่นวนไปวนมา พอเริ่มชินกับควอลิตีของมัน แล้วเราไปเดินงานเครื่องเสียง ฟังเครื่องที่แพง ๆ รู้เลยว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้าขึ้นไปอีกแบบไกล ๆ เลยนะ”
เขาอธิบายต่อ “เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ราคาไม่แพง เขาจะตั้งค่าคงที่ไว้หลายอย่าง หัวเข็มก็ตั้งตำแหน่งจากโรงงานเรียบร้อย วางแผ่นก็เล่นได้เลย เสียงดี ไม่ต้องทำอะไรมาก แต่จริง ๆ การปรับตั้งแบบนั้นยังไม่แม่นยำที่สุด แค่ได้เสียงที่ดีกว่าฟังเทปคาสเซ็ตระดับหนึ่ง
"...ซีดีถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อฆ่าแผ่นเสียงโดยเฉพาะ แต่บางคนกลับชอบแผ่นเสียงเพราะฟังรื่นหูกว่า"
“พอเรายิ่งศึกษา การเล่นแผ่นเสียงยากนะ เพราะองค์ประกอบหลายส่วนเป็นกลไกที่ต้องปรับตั้งให้แม่นยำ บนแผ่นเสียงจะถูกเซาะร่องที่มีหน้าตัดรูปตัววี เวลาเล่นเพลงหัวเข็มจะต้องตั้งฉากกับร่องแผ่นเสียง ซึ่งปลายหัวเข็มเล็กบางนิดเดียว แล้วยังมีปัจจัยเรื่องโทนอาร์มหรือแขนของมันอีก ทุกอย่างสามารถคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งเดิม หลักการคือเราต้องตั้ง ‘อะซิมุทเวอร์ติคอล’ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือและละเอียดมาก ประเด็นคือ หากเราอยากได้เสียงที่ดีจริง ๆ เราต้องลงทุนและจัดการกับมันเยอะมาก”
ทว่าในมุมมองอีกด้าน บางคนบอกว่านี่คือความสุขของการเล่นแผ่นเสียง เหมือนกับเตรียมของทำอาหารกินเอง เราต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่หยิบแผ่นไวนิลออกจากซองวางลงบนจานหมุน ใช้แปรงปัดฝุ่นและไฟฟ้าสถิตที่เกาะบนแผ่น บรรจงวางโทนอาร์มให้หัวเข็มสัมผัสพื้นผิวแผ่นเสียงอย่างเบามือ เฝ้ามองยามหัวเข็มเคลื่อนไปตามร่องแผ่นเสียงที่หมุนวนด้วยรอบคงที่
ถึงที่สุดแล้วความสุขของคนที่หลงใหลการเล่นแผ่นเสียงย่อมเกิดจากเสียงเพลงอันมีเสน่ห์เฉพาะตัว
ธานีกล่าวด้วยสำนวนของผู้เชี่ยวชาญเครื่องเสียงว่า “เสียงของแผ่นเสียงจะมีบุคลิกบางอย่างที่เกิดจากความไม่เสถียร จะบอกว่าเป็นข้อเสียก็ไม่เชิง คือเหมือนมันโล้ตัวเองตลอดเวลา แต่มีขอบเขตที่จะไม่หลุดออกนอกกรอบ ทำให้เพลงมีความโฟลว์ ไม่แช่ตัวนิ่งอยู่กับที่แบบเป๊ะ ๆ
“ถ้าเทียบกับการฟังเครื่องเล่นซีดีจะมีอาการเหมือนถูกควบคุม แต่เมื่อฟังเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงจะมีความเป็นดนตรีมากกว่า อารมณ์เราจะไหลไปตามเสียงดนตรี อาจบอกว่ามีชีวิตชีวาก็ได้ เรื่องนี้ผมพยายามหาเหตุผลให้ตัวเอง ทั้งที่คุณสมบัติของซีดีเที่ยงตรงกว่าความเหวี่ยงของเสียงน้อยจนแทบวัดไม่ได้ เพราะฉะนั้นซีดีถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อฆ่าแผ่นเสียงโดยเฉพาะ แต่บางคนกลับชอบแผ่นเสียงเพราะฟังรื่นหูกว่า”
"ตอนนี้แผ่นเสียงถือเป็นของวินเทจ และสุดท้ายเป็นเครื่องเล่นในกลุ่มแอนะล็อกประเภทเดียวที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นความดึงดูดในระดับหนึ่ง"
>> เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนรูปแบบการฟังเพลง
คำกล่าวที่ว่าซีดีถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อฆ่าแผ่นเสียง แสดงนัยถึงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีจากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล
ท่ามกลางความพลิกผันที่แพร่ลามไปแทบทุกวงการ เมื่อสื่อกระดาษจากยุคแอนะล็อกอย่างนิตยสารทยอยล้มหายตายจาก ธานีก็ผันตัวเองก่อตั้งเว็บไซต์เกี่ยวกับเครื่องเสียงในโลกออนไลน์ พร้อมกับสนใจเทคโนโลยีของการเล่นเครื่องเสียงรูปแบบใหม่ล่าสุด คือ “สตรีมมิงออดิโอ” ซึ่งว่ากันว่าจะทำให้เครื่องเล่นซีดีตายเหี้ยน และถือเป็นผู้ท้าชิงรายใหม่ที่น่ากลัวของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
“นักเล่นเครื่องเสียงในปัจจุบันมีกลุ่มหนึ่งที่ไม่เอาทางดิจิทัลเลย อยู่กับแผ่นเสียงอย่างเดียวด้วยเหตุผลส่วนตัวของเขา แต่สำหรับผมที่เป็นสื่อ เราต้องวิ่งตามการพัฒนาเพื่อนำข้อมูลไปถ่ายทอดแก่คนอ่าน”
ธานีเปรียบเทียบให้ฟังว่า แผ่นเสียงและซีดีแม้จะมีความต่างของเทคโนโลยีระหว่างแอนะล็อก-ดิจิทัล แต่เหมือนกันในแง่ physical media คือมีตัวแผ่นให้ผู้ครอบครองได้หยิบจับสัมผัส
ทว่าสำหรับสตรีมมิงออดิโอเป็น non-physical media เพราะสตรีมมิงไฟล์เพลงผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ต
“พอการฟังเพลงทำผ่านเน็ตเวิร์กออนไลน์ได้ก็เปลี่ยนวิธีคิดทั้งหมด ยิ่งกว่าตอนเปลี่ยนจากแผ่นเสียงเป็นซีดีด้วยซ้ำ ไม่ว่าเราจะมองมุมไหน เช่นในมุมฮาร์ดแวร์ ก็ไม่มีเรื่องกลไก คุณไม่ต้องเปลี่ยนหัวเข็ม ไม่ต้องเปลี่ยนหัวอ่านซีดี คือตัดปัญหาเรื่องนี้ทิ้งได้”
ธานีเน้นว่าสิ่งสำคัญคือการพัฒนาคุณภาพเสียง ซึ่งในวงการเครื่องเสียงใช้ดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งคือ เรื่องไดนามิกเรนจ์ (dynamic range) หมายถึงช่วงกว้างระหว่างระดับเสียงเบาสุดจนถึงดังสุด มีหน่วยวัดเป็นเดซิเบล (dB)
“ไดนามิกเรนจ์ยิ่งสูง การสวิงของเสียงยิ่งกว้าง อย่างเสียงกลองที่ดังตูม ! ขึ้นมา จาก ๐ เดซิเบลอาจสวิงถึง ๑๒๐ เพราะฉะนั้นยิ่งไดนามิกเรนจ์สูง ยิ่งถ่ายทอดเสียงได้สมจริงเป็นธรรมชาติ”
เมื่อเทียบกันในเรื่องไดนามิกเรนจ์ ภาครับวิทยุหรือจูนเนอร์ให้ได้ ๖๐-๗๐ เดซิเบล เทปคาสเซ็ตประมาณ ๖๐ เดซิเบล ส่วนแผ่นเสียง ๗๐-๘๐ เดซิเบล มากสุดในกลุ่มนี้
บรรยากาศภายในห้องฟังเพลงของ ธานี โหมดสง่า ซึ่งเขาใช้เป็นที่ทดสอบอุปกรณ์เครื่องเสียงทุกประเภท
“มีความพยายามพัฒนาคุณภาพของแผ่นเสียงให้ดีขึ้น โดยในเรื่องไดนามิกเรนจ์ขึ้นอยู่กับการเซาะร่องบนแผ่นเสียง ยิ่งร่องลึกไดนามิกฯ จะยิ่งกว้างขึ้น แต่แผ่นเสียงยุคก่อนขนาด ๑๑๐ กรัม ค่อนข้างบาง เซาะร่องลึกมากไม่ได้ จึงมีการผลิตแผ่นให้หนาขึ้น อย่างเช่นแผ่น ๑๘๐ กรัม หรือแผ่น ๒๐๐ กรัมที่เน้นคุณภาพเสียง เรียกว่าแผ่นออดิโอไฟล์ เพื่อให้สามารถเซาะร่องได้ลึกที่สุด”
กล่าวได้ว่าการพัฒนาแผ่นเสียงทำได้ในเชิงกายภาพเท่านั้น จึงกลายเป็นข้อจำกัดที่ผู้ผลิตเครื่องเสียงหลายค่ายพัฒนาเครื่องเล่นซีดีที่เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นมาแทน ซึ่งให้ค่าไดนามิกเรนจ์ได้ถึง ๙๖ เดซิเบล
กระทั่งการมาถึงของสตรีมมิงออดิโอ ที่คุณภาพเสียงขึ้นอยู่กับความละเอียดของไฟล์และความเร็วของอินเทอร์เน็ต ไม่มีเรื่องเชิงกายภาพมาเกี่ยวข้อง ทำให้พัฒนาต่อไปได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เฉพาะด้านไดนามิกเรนจ์สามารถขึ้นไปได้ถึงกว่า ๑๐๐ เดซิเบล
“ประเด็นคือแผ่นเสียงมันเดินมาสุดทาง เทคโนโลยีตกยุคไปแล้ว แต่สตรีมมิงออดิโอที่เกิดมาได้ ๑๐ กว่าปี มีพัฒนาการเรื่อย ๆ จนปัจจุบันก็ยังไม่ถึงที่สุด แต่จะเทียบเท่าหรือดีกว่าแผ่นเสียง โอเคว่ามีบางด้านด้อยกว่า แต่ถ้าเป็น (เครื่องเล่น) สตรีมมิงในระดับราคาแพง แทบจะทดแทนแผ่นเสียงได้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าคุณลงทุนกับมันมากแค่ไหน”
บางคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วแผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียงจะคงอยู่อีกนานไหมในโลกของการฟังเพลง
>> แผ่นเสียงยังไม่ตาย
ถึงแม้สตรีมมิงออดิโอกำลังมาแรง ทว่าอีกด้านธานีก็พบเห็นกระแสคนรุ่นใหม่หมุนเวียนมาสนใจการเล่นแผ่นเสียง
เขามีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า “ผมว่าเป็นการหวนหาอดีต กลับสู่ตำนานที่คนรุ่นเก่าพูดถึง ตอนนี้แผ่นเสียงถือเป็นของวินเทจ และสุดท้ายเป็นเครื่องเล่นในกลุ่มแอนะล็อกประเภทเดียวที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นความดึงดูดในระดับหนึ่ง
“ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดว่าแผ่นเสียงอาจจะตาย แต่ปัจจุบันมันก็ยังไม่ตาย มีผู้ผลิตแผ่นเสียงใหม่ออกมาเรื่อย ๆ ถึงไม่ใช่ตลาดใหญ่นัก และยังมีแผ่นมือสองในตลาดจำนวนมหาศาล ซึ่งหล่อเลี้ยงให้เกิดการซื้อขาย ในวงการเครื่องเสียงยังมีคนเล่นแผ่นเสียงอยู่ หลายบริษัทยังผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นใหม่ขาย อย่าง Rega หรือ Thorens มีทั้งรุ่นราคาประหยัดถึงแพงสุดกู่ ผมดูจากจำนวนคนหน้าใหม่ที่เล่นแผ่นเสียงตอนนี้มีมากกว่าคนที่หมุนเวียนมาเล่นแผ่นซีดี” ธานีทิ้งท้าย ก่อนพาเราเข้าไปเปิดหูเปิดตาในห้องฟังเพลงของเขา
เป็นธรรมดาเมื่อใครมาเยี่ยมบ้านนักทดสอบเครื่องเสียงย่อมมีโอกาสฟังเพลงจากชุดเครื่องเสียงชั้นดี เย็นวันนั้นพวกเราได้ฟัง “Just the Two of Us” โดย โกรเวอร์ วอชิงตัน จากอัลบัมแจซ Winelight ที่เป็นแผ่นเสียงยอดฮิตสมัยเขาทำงานที่เซ็นทรัลชิดลม
เพียงแต่เสียงเพลงระรื่นหูในท่วงทำนองสดชื่นมีชีวิตชีวาที่พลิ้วผ่านลำโพงออกมานั้นมาจากเครื่องเล่นสตรีมมิงขนาดกะทัดรัดหน้าตาทันสมัยที่ธานีกำลังทดสอบอยู่ในขณะนี้