บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยแบรนด์ต่าง ๆ วางโชว์อยู่ในร้าน GOOD NOODLE ชั้นใต้ดิน ศูนย์การค้ายูเนี่ยน มอลล์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ร้านสะดวกซื้อสำหรับคอบะหมี่กึ่งฯ โดยเฉพาะ ซึ่งจัดเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกในการปรุงและสถานที่รับประทานที่สะดวกสบายไว้ครบครัน
“เส้น” ๓ นาที
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับสังคมไทย
วัฒนธรรม "เส้น"
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“คนไทยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงอันดับ ๓ ของโลก แบรนด์แข่งดุจากสินค้าราคาถูก สู่รสชาติพรีเมียม”
Thairath Money, ๘ มีนาคม ๒๕๖๗
“คนไทยประหยัด ดันยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโตร้อยละ ๑๒”
สำนักข่าวไทย, ๒๒ กันยายน ๒๕๕๕
“มาม่า สินค้าไทย ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ”
นิตยสาร Positioning, ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙
ในระหว่างค้นข่าวย้อนหลังเกี่ยวกับ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ผมสะดุดตากับพาดหัวข่าวสองสามชิ้นที่บอกถึง “สถานะ” ที่แตกต่างกันในสังคมไทย
ย้อนกลับไปราว ๒๐ ปี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาไม่เกินซองละ ๔ บาท ซึ่งทำง่าย เพียงแช่เส้นในน้ำร้อน ๓ นาที ฉีกซองเครื่องปรุงโรยใส่ ก็รับประทานได้แล้ว ที่สำคัญคืออิ่มท้องพอสมควร มันจึงกลายเป็น “อาหารคนจน” “อาหารยามยาก” และตามที่พาดหัวข่าวคือเป็น “ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ”
พูดง่าย ๆ ว่า ปีไหนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดี แปลว่าปีนั้นประชาชนมีเงินในกระเป๋าตังค์ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าปีไหนยอดขายตก แปลว่าประชาชนมีเงินใช้มากขึ้น และซื้ออาหารปรุงสดมากกว่าอาหารสำเร็จรูป
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นสินค้าประเภทเดียวกับไข่ไก่ น้ำมันพืช ฯลฯ ที่ส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรงหากเปลี่ยนแปลงราคา
แต่ในปี ๒๕๖๘ ดูเหมือนความหมายนี้จะใช้ไม่ได้แล้ว ด้วยผู้ผลิตหลายรายสลัดภาพลักษณ์อาหารคนจนอัปเกรดผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าพรีเมียม และประยุกต์ไปทำอาหารหลายประเภท
การเดินทางของ “เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราน่าติดตาม
บรรยากาศในร้าน GOOD NOODLE
บะหมี่กึ่งฯ ระหว่างปรุงด้วยอุปกรณ์กึ่งอัตโนมัติโดยมีออปชันช่วยปรุงเหมาะสมตามประเภทของบะหมี่กึ่งฯ แต่ละซอง ซึ่งเครื่องจะรู้ได้ด้วยการอ่านบาร์โค้ด
กำเนิด “บะหมี่กึ่งฯ”
สัญชาติไทย
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจัดเป็นรูปแบบการถนอมอาหารประเภทหนึ่ง ดร. วันวิสาข์ วงศ์มณีประทีป อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อธิบายว่า “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่ในหมวด ‘อาหารแห้ง’ คือในตัวอาหารแทบจะไม่มีน้ำเหลืออยู่ เพราะถ้ายังมีจะเกิดภาวะเน่าเสียและเก็บได้ไม่นานพอทำให้แห้ง จุลินทรีย์ก็จะเติบโตไม่ได้”
ส่วนคำว่า “กึ่งสำเร็จรูป” นั้น “ลองนึกถึงบะหมี่ตามร้านที่เรารับประทาน พวกบะหมี่สีเหลือง บะหมี่สีเขียว (บะหมี่หยก) เราเรียกว่าเส้นสด เกิดจากการนำแป้งมาผสมสีผสมอาหาร รีดเป็นแผ่น แล้วตัดเป็นเส้น ผ่านกระบวนการทำให้หยัก ส่วนมากจะนำไปนึ่งจนสุกราว ร้อยละ ๘๐ เวลาปรุงอาหารก็แค่ลวกให้สุก ไม่กี่นาทีก็รับประทานได้ กระบวนการนึ่งทำให้ในเส้นบะหมี่ยังเหลือน้ำอยู่ แต่ถ้าทำเป็นกึ่งสำเร็จรูปต้องนำไปทอดในน้ำมันเพื่อเอาน้ำออก ทอดเสร็จเป่าให้แห้ง กลายเป็นเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเฉพาะประเภท ปี ๒๕๒๗ : อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ระบุว่าไทยนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี ๒๕๑๔ ส่วนการผลิตในประเทศเริ่มครั้งแรกช่วงกลางปี ๒๕๑๕ โดยรับเทคโนโลยีจากผู้ร่วมทุนต่างชาติ
เอกชนรายแรกคือบริษัทไทยซันวาฟูดอินดัสเตรียล จำกัด ผลิตบะหมี่กึ่งฯ ห้ายี่ห้อ คือ ซันวา จายา ฮ่องเต้ โคคา และเฮฮา มีกำลังผลิต ๑.๗๒ ล้านกิโลกรัมต่อปี ส่วนเจ้าที่ ๒, ๓, ๔ คือ บริษัทวันไทยอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด (ผู้ผลิต “ยำยำ” เริ่มผลิตปี ๒๕๑๔) บริษัทโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด (ผู้ผลิต “ไวไว” เริ่มผลิตปี ๒๕๑๕) บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (TF-ผู้ผลิต “มาม่า” เริ่มผลิตปี ๒๕๑๖) และเจ้าที่ ๕ คือบริษัทยูไนเต็ด มิลค์ จำกัด (บริษัทในเครือเนสท์เล่ ผู้ผลิต “แม็กกี้”)
หนึ่งในผู้บริหารของบริษัท
ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
เมื่อ “มาม่า”
หมายถึงบะหมี่กึ่งฯ
ระยะแรกแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งฯ ในประเทศสูงสุดคือ “ยำยำ” ด้วยยอดขายหลักร้อยล้านบาท ส่วน “มาม่า” เกิดหลัง ๒ ปี และทำตลาดแข่งขันอยู่หลายปี จนในที่สุดสามารถสร้างความจดจำจน “มาม่า” กลายเป็นชื่อเรียกแทน (generic name) ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
คำว่า “มาม่า” มาจากภาษาจีนกลาง “ม้ามะ (妈妈-māma)” แปลว่า “แม่” โดย ดร. เทียม โชควัฒนาผู้ก่อตั้งบริษัทสหพัฒนพิบูลย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของมาม่า เล่าว่าหมายถึง “แม่ที่ชี้ทางให้ลูก แม้จะดูแก่สำหรับแบรนด์ แต่ก็แก่ในด้านคุณธรรม”
นักการตลาดวิเคราะห์ว่า มาม่าเป็นชื่อที่สั้น จำง่าย บวกกับความสามารถในการสร้าง “แชมป์” หรือ “รสชาติ” ที่เปลี่ยนเกมในตลาดได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น “หมูสับ” วางตลาดปี ๒๕๑๘ ที่ได้รับความนิยมสูง หรือ “ต้มยำกุ้งน้ำใส” วางตลาดปี ๒๕๒๓ ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะเป็นครั้งแรกที่นำรสอาหารยอดนิยมทำเป็นบะหมี่กึ่งฯ ทั้งยังทำซองบรรจุด้วยสีเงินวาว (metalized) โดดเด่นต่างจากรสอื่นและยี่ห้ออื่นบนชั้นวางขาย
หนังสือ สหพัฒน์ โตแล้วแตกและแตกแล้วโต เล่าถึงการตลาดมาม่าระยะแรกว่ามีนโยบายสร้างรสชาติที่ชัดเจน เช่น “รสหมูสับเราต้องเป็นหมูสับ จะออกต้มยำก็ต้องต้มยำกุ้ง” ปรับขนาดให้เหลือน้ำหนักเพียง ๖๐ กรัมต่อซอง จากเดิมใช้ซองใหญ่แบบไต้หวันและญี่ปุ่นซึ่งปริมาณเส้นมากกว่า จากการวิเคราะห์ว่าคนไทยไม่ได้กินบะหมี่กึ่งฯ ต่อมื้อมากเท่าคนต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามด้วยความเป็นอาหารแบบใหม่ ในยุคแรกผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯ ต้องแนะนำวัฒนธรรมการกินแบบ “ชง (น้ำร้อน) แล้วชิม” เพราะผู้บริโภคยังไม่เข้าใจวิธีกินบะหมี่กึ่งฯ นัก เช่นกรณีมาม่าไปตั้งจุดชิมฟรีหน้าสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม จนมีเรื่องเล่าสนุก ๆ ของการส่งเสริมการขายหน้าโรงงาน คือเกิดปัญหาต้มน้ำร้อนลวกมาม่าให้ชิมไม่ทัน และยังทำให้รสชาติแย่ลง นายห้างเทียมจึงให้ตั้งชามจำนวนมากและต้มน้ำร้อนรอไว้ เมื่อคนมาก็เทน้ำร้อนลงลวกบะหมี่ จึงบริการคนจำนวนมากได้ทันเวลาพักกลางวันอันจำกัด ที่สำคัญคือผู้ชิมได้เห็นขั้นตอนที่สะดวกสบายของบะหมี่กึ่งฯ
บรรยากาศการทำงานในโรงงานผลิตเส้นมาม่ายุคแรก
ภาพ : บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
ส่วนอีกเหตุผลที่ต้องทำตลาดรุกหนัก คือแม้บะหมี่กึ่งฯ จะราคาเพียงซองละ ๒ บาท แต่ก็แพงกว่าก๋วยเตี๋ยวริมทางซึ่งขายชามละ ๑.๒๐ บาท นายห้างเทียมบันทึกว่า “ของฟรีย่อมอร่อยกว่าของไม่ฟรี”
ในปี ๒๕๑๖ กระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า บะหมี่กึ่งฯ เป็น “สินค้าฟุ่มเฟือย” เนื่องจากคนไทยยังไม่คุ้นเคยลูกค้ากลุ่มใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองและคนไทยที่รายได้สูง
กว่าบะหมี่กึ่งฯ จะได้รับการเปลี่ยนนิยามจาก “สินค้าฟุ่มเฟือย” มาเป็น “สินค้าที่มีบทบาทในชีวิตประจำวัน” ก็หลังจากคนไทยรู้จักบะหมี่กึ่งฯ ได้ ๑๒ ปี ด้วยฐานลูกค้ากว้างขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวกับความเป็นเมืองที่ทุกชีวิตต้องเร่งรีบ
จนถึงปลายทศวรรษ ๒๕๓๐ มาม่าก็ล้มยำยำแชมป์เก่า ก้าวขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดมากสุดสำเร็จ ทั้งจากการจัดแคมเปญการตลาดที่ได้ผล เช่น “เปิดซองมาม่าลุ้นทองคำ” “มาม่าชิงทอง ๑๐๐ เส้น” ในห้าภูมิภาค ฯลฯ และมีโฆษณามาม่าหมูสับทางทีวีที่คนรุ่นนั้นจำได้ผ่านประโยคฮิตติดปากเด็ก ๆ ที่ร้องถามว่า “เสียงอะไร? เสียงสับหมู หอมอะไร ? หอมหมูสับ !!!”
สโลแกน “มาม่า...อร่อย” ยังเป็นประโยคติดหูคน Gen X (เกิดปี ๒๕๐๘-๒๕๒๒) และ Y (เกิดปี ๒๕๒๓-๒๕๔๐) เพราะคนสองรุ่นนี้โตมาพร้อมการทำตลาดของมาม่าในช่วงนั้น
สำรวจไลน์ผลิต
“บะหมี่กึ่งฯ”
ตอนที่ โมโมฟูกุ อันโดะ (Momofuku Ando) นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเชื้อสายไต้หวัน คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำเร็จในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๑ เขาเกิดแรงบันดาลใจจากสภาพหลังสงครามของญี่ปุ่นที่ผู้คนต้องต่อแถวรอการปันส่วนอาหาร และรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามชักจูงให้คนกินขนมปังซึ่งรัฐบาลอเมริกันส่งมาช่วยเหลือ ทำให้อันโดะตั้งคำถามว่าทำไมไม่ส่งเสริมของกินที่คุ้นเคยมากกว่า คือเส้นหมี่ที่ทำจากแป้งสาลี ก่อนได้คำตอบว่าผู้ผลิตญี่ปุ่นยังไม่สามารถผลิตปริมาณมากตามที่รัฐบาลต้องการ
อันโดะตัดสินใจว่าต้องหาวิธีผลิตราเม็งที่เก็บรักษาได้นาน และค้นพบเทคนิคเมื่อภรรยานำบะหมี่ไปทอดจนเส้นแห้งกรอบไม่เหลือน้ำ เขาจึงก่อตั้งบริษัทนิสชิน (NISSIN) บริษัทผลิตบะหมี่กึ่งฯ รายแรกของโลก และเทคนิคนี้ก็กลายเป็นหลักการของโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งฯ ทั่วโลก
พนักงานกำลังเตรียมแป้งสาลีที่จะนำไปผลิตเส้นมาม่า
การสุ่มวัดความหนาของแผ่นแป้งเพื่อตรวจสอบให้ได้มาตรฐานการผลิตเส้นมาม่าแต่ละแบบ ก่อนนำไปผ่าน “หวี” เพื่อตัดเป็นเส้น
ต้นปี ๒๕๖๘ สารคดี ได้เข้าไปดูการผลิตบะหมี่กึ่งฯ ในโรงงานของบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต “มาม่า” ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี สังคม ไชยธานี ผู้จัดการสายงานการผลิต (Intelligent Production
Manager) อธิบายว่า โรงงานมาม่ามีหลายแผนก แต่แผนก
ที่ไม่อยู่ในสายพานการผลิตคือแผนกเตรียมน้ำมันปาล์มสำหรับทอดเส้น และแป้งสาลีสำหรับผลิตเส้น ซึ่งทั้งสองวัตถุดิบต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะใน ๑ วันต้องใช้น้ำมันปาล์มหลายสิบตัน
สังคมพาเราไปดูส่วนของการเตรียมแป้ง โดยให้ทุกคนล้างมือและสวมชุดป้องกันเพื่อรักษาความสะอาดตามมาตรฐานของโรงงานอย่างเคร่งครัด
ที่ “ห้องรับแป้ง” แป้งสาลีจากจุดเก็บนอกอาคารจะถูกปั๊มเข้ามาผ่านตะแกรงของเครื่องร่อนแป้งเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม แล้วส่งไป “ห้องผสมแป้ง” ซึ่งมีหม้อผสมตั้งอยู่สองชุด ทำงานสลับกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนมุมหนึ่งของห้องเป็นที่เตรียมน้ำด่างหรือ “น้ำคันซุย” สำหรับสูตรมาม่ารสต่าง ๆ โดยส่งเข้าหม้อผสมให้ได้แป้งรสที่กำลังผลิต จากนั้นแป้งที่ผสมแล้วจะส่งไปห้องผลิตเข้าเครื่องรีดแป้งเป็นแผ่นออกมา แผ่นแป้งเส้นมาม่า OK (Oriental Kitchen) จะหนา ๑.๒๐-๑.๒๕ เซนติเมตร ให้เส้นเหนียวนุ่มและใหญ่กว่าเส้นมาม่ารสชาติอื่น เช่น รสหมูสับ ต้มยำ ฯลฯ แผ่นแป้งจะหนาราว ๑ เซนติเมตร
จากนั้นจะส่งแผ่นแป้งไปบนสายพานผ่าน “หวี” ที่เป็นใบมีดซี่ตัดแป้งเป็นเส้นยาว สังคมอธิบายว่า “ขั้นตอนนี้เรียกว่า ‘สร้างคลื่นเส้นหมี่’ เพราะแป้งพุ่งหาหวีตัดตามความเร็วที่กำหนดไว้” ซึ่งความหยักของเส้นจะขึ้นกับความเร็ว “ถ้าส่งเข้าไปเร็วมาก เส้นก็ยิ่งย่นมากขึ้น”
หลังจากนี้เส้นมาม่ายาวเหยียดจะเลื่อนไปตามสายพานให้ใบมีดหั่นเป็นท่อนเท่า ๆ กัน โดยมาม่าขนาดซองปรกติมีเส้นหมี่ ๗๒ เส้น เส้นมาม่าจัมโบ้ ๙๒ เส้น ส่วนเส้นมาม่า OK ๖๖ เส้น แล้วเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือกระบวนการนึ่งให้เส้นสุกร้อยละ ๘๐ จากนั้นสำหรับเส้นมาม่าปรกติจะราดน้ำซุป ส่วนเส้นมาม่า OK ไม่ราด สังคมบอกเบื้องหลังตรงนี้ว่า “นี่เป็นสาเหตุที่เคี้ยวมาม่าแบบแห้งโดยไม่ต้มก็อร่อย แต่เส้นมาม่า OK จะไม่มีรสเพราะออกแบบมาให้ต้มแล้วใส่เครื่องปรุงเท่านั้น”
ก้อนบะหมี่จะส่งเข้าเครื่องทอดที่อุณหภูมิ ๑๖๐ องศาเซลเซียส นาน ๑ นาทีครึ่ง โดยเติมน้ำมันปาล์มใหม่เข้าไปตลอด เมื่อทอดเสร็จ ก้อนบะหมี่จะส่งไปตามสายพานเพื่อเป่าลมลดความร้อนจนเหมาะต่อการวางซองเครื่องปรุง และบรรจุลงซองที่ “ห้องบรรจุบะหมี่”
ไลน์ผลิตหนึ่งสายผลิตบะหมี่พร้อมบรรจุได้นาทีละ ๓๐๐ ก้อน โดยตอนบรรจุซองแยกเป็นสองสายฝั่งละ ๑๕๐ ก้อน
บรรยากาศในไลน์การผลิต แผ่นแป้ง (ถูกเครื่องจักรส่งมาตามสายพานจากด้านซ้ายของภาพ) จะถูกตัดเป็นเส้น (เห็นบนสายพานด้านขวา) ก่อนเข้าสู่กระบวนการตัดให้เป็นก้อน ราดน้ำซุป และทอดด้วยน้ำมันปาล์มในขั้นตอนต่อไป
หลังราดน้ำซุป เส้นบะหมึ่กึ่งฯ จะถูกจัดลงบล็อกเตรียมนำไปทอด
ขั้นตอนราดน้ำซุปบนสายพาน ซึ่งทำให้เส้นบะหมี่กึ่งฯ มีรสชาติ
ที่ปลายสายพาน ก้อนบะหมี่ต้องผ่านเครื่องตรวจโลหะปนเปื้อน ถ้าพบก็แยกออกทันที จากนั้นเลื่อนผ่านเครื่องวางซองเครื่องปรุง เข้าสู่การชั่งน้ำหนัก หากก้อนไหนน้ำหนักคลาดเคลื่อนก็ถูกแยกออก เมื่อบรรจุลงซองแล้วจะเข้าเครื่องเอกซเรย์สิ่งปนเปื้อนรอบสุดท้ายก่อนลงกล่องบรรจุสำหรับส่งจำหน่าย
“เราออกแบบให้ผ่านการตรวจจับหลายขั้นตอนเพื่อความปลอดภัย แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยพบการปนเปื้อน” สังคมสรุป
ในขั้นตอนการบรรจุกล่อง เราได้เห็นการทำหน้าที่ของแขนกลอัตโนมัติ แต่ยังมีบางส่วนต้องใช้มนุษย์ เช่นกรณีมาม่าบิ๊กแพค ซึ่งขนาดซองต่างกัน สังคมบอกว่าถ้าแขนกลทำงานได้ซับซ้อนกว่านี้ก็จะใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งวันหนึ่งในอนาคต โรงงานบะหมี่กึ่งฯ อาจเหลือคนคุมเครื่องจักรเพียงไม่กี่คน
วิวาทะว่าด้วย
“มาม่าโนมิกส์ (Mamanomics)”
“แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2567-2569 : อุตสาหกรรมอาหารพร้อมทาน” บทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยแพร่ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ รายงานสถานการณ์ตลาดบะหมี่กึ่งฯ ของไทยว่า ผู้ผลิตรายใหญ่ห้ารายมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศรวมกันร้อยละ ๙๐ ส่วนสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association, WINA) ระบุว่า ปี ๒๕๖๗ คนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งฯ ๔,๐๐๐ ล้านซอง สูงเป็นอันดับ ๙ ของโลก
สำหรับมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งฯ ของไทยในปี ๒๕๖๕ สูงถึง ๑.๘ หมื่นล้านบาท (๕๓๗.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จนถึงปี ๒๕๖๘ เจ้าตลาดอย่างมาม่ายังคงมีสินค้าเรือธงสี่รส คือ หมูสับ ต้มยำกุ้งน้ำใส ต้มยำกุ้งน้ำข้น (วางขายปี ๒๕๔๕) และเส้นหมี่น้ำใส (ไม่พบข้อมูลปีเริ่มวางขาย) ส่วนรสชาติอื่นจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนวางขาย หากผู้บริโภคตอบรับดี ยอดขายสูง ก็ผลิตต่อ รสไหนยอดขายไม่ดีก็จะหายจากท้องตลาดภายในเวลา ๒-๓ เดือน
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า รสชาติแรกของมาม่าคือ “ซุปไก่” แต่ไม่ได้รับความนิยมในประเทศ จึงผลิตเพื่อส่งออก ส่วนรสชาติที่ทำให้มาม่าปังจนเป็นชื่อเรียกแทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เขาคิดว่าน่าจะเป็นรสหมูสับกับต้มยำกุ้ง และยังทำให้ “ต้มยำกุ้ง” ดังทั่วโลกจากการส่งออกไปตีตลาดต่างประเทศ
ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ยอดขายมาม่าดีมาก สวนทางตลาดสินค้าชนิดอื่นจนจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ ในภาพรวมมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งฯ ไทยก็สูงถึง ๗,๒๐๐ ล้านบาท จนหนังสือพิมพ์ผูกคำว่า “มาม่าโนมิกส์” ขึ้นเพื่อรายงานข่าว กลายเป็นภาพจำว่ายอดขายบะหมี่กึ่งฯ เป็นตัววัดสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ต่างจากสหรัฐฯ ที่มี “ดัชนีแมคโดนัลด์” หรือราคาแฮมเบอร์เกอร์แมคโดนัลด์ซึ่งคนอเมริกันนิยมกิน
เมื่อผ่านกระบวนการทอด และเป่าลมให้ความร้อนลดลง
ก้อนบะหมี่กึ่งฯ จะถูกส่งมาตามสายพานเพื่อเตรียมบรรจุซอง
หลังวางซองเครื่องปรุง ผนึกซองแล้วจะชั่งน้ำหนัก ตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมด้วยเครื่องเอกซเรย์ ซองไหนไม่ได้มาตรฐาน เช่นน้ำหนักไม่ถึง จะถูกคัดออก
แต่ต่อมาบริษัทคันทาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทำงานวิจัยตลาดระบุว่า จะใช้ยอดขายมาม่าวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะจริง ๆ มีคู่แข่งทั้งอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมทานที่ราคาใกล้กัน
กรณีคัดค้านความเชื่อเรื่องดัชนีเศรษฐกิจ คือต้นปี ๒๕๖๓ ช่วงโรคโควิด-๑๙ ระบาด มาม่ามียอดขายสูง แต่ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจตกต่ำคนจึงหันมาซื้อ สาเหตุแท้จริงกลับมาจากผู้บริโภคซื้อกักตุน โดยงานวิจัยชี้ว่า กลุ่มผู้ซื้อกักตุนคือคนเมืองซึ่งมีรายได้ปานกลางถึงสูง ส่วนผู้บริโภคในชนบทที่รายได้น้อยยังซื้อปริมาณเท่าเดิม (บีบีซีไทย, ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔)
พันธ์มองว่าความรับรู้นี้ส่วนหนึ่งเกิดจากยุคหลังที่บะหมี่กึ่งฯ ราคาถูกกว่าอาหารปรุงสด คือไม่เกิน ๗ บาท
“เราพยายามไม่ขึ้นราคาเพื่อสนับสนุนผู้บริโภคให้มีทางเลือก แต่อีกมุมหนึ่ง มาม่าก็ไม่ใช่สินค้าที่คนรวยไม่กิน บนเครื่องบินการบินไทยยังทำมาม่าเสิร์ฟผู้โดยสารชั้นธุรกิจ ใส่ไข่ออนเซ็นจนน่ากิน ความนิยมมาม่าเกิดจากผู้กินนึกถึงและผูกพันมากกว่า”
บทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา “แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2567-2569 : อุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานฯ” ยังกล่าวถึงคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องออกรสชาติอื่น ๆ ที่เน้นคุณภาพวัตถุดิบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูด ถือเป็นตลาดใหม่ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาสูง (premium instant noodle)
ผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ประเด็นนี้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทศวรรษ ๒๕๖๐ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯ แบรนด์ต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทย จากความนิยมในกระแสซีรีส์เกาหลี ภาพพระเอกนางเอกกินรามย็อนที่มีเส้นต่างจากที่คนไทยรู้จัก “ปรากฏการณ์ K-pop เปิดตลาดพรีเมียมให้กว้างขึ้นในภาพรวมเป็นผลดีต่อทั้งตลาด”
มาม่าต้องใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย เช่น ใช้นักร้อง ดารา วงดนตรีชื่อดัง เป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อให้ผู้บริโภครุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z (เกิดปี ๒๕๔๑-๒๕๕๕) จดจำแบรนด์ได้
เขาตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริโภคยุคนี้ใช้เวลาทำบะหมี่กึ่งฯ มากกว่าแช่น้ำร้อนแค่ ๓ นาที
“คนชอบกินแบบเก่าก็ยังมี แต่ก็มีคนปรุงอย่างพิถีพิถันใช้เวลาไม่ต่างจากทำอาหารสด”
วิธีกินบะหมี่กึ่งฯ กำลังเปลี่ยนไป
“บะหมี่กึ่งฯ”
ในเมืองที่ไม่ยอมหลับใหล
ที่ร้าน “มาม่า STATION” ย่าน RCA ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ ระหว่างกวาดตาดูเมนูที่ “อัปเกรด” มาม่าด้วยการใส่ทอปปิง (เนื้อสัตว์ ผัก ฯลฯ) จนน่ารับประทานถึง ๑๔ แบบ มีนักเที่ยว คนทำงานออฟฟิศเข้ามาสั่งตลอด ทำให้ผมนึกถึงบทสนทนากับพันธ์ที่เล่าถึงร้านอาหารที่มาม่ามาเปิดเองกลางย่านสถานบันเทิง
“เราพบว่าคนที่กลับจากเที่ยวกลางคืนคือลูกค้าสำคัญของมาม่า”
พันธ์เล่าว่าเปิดร้านนี้หลังทดลองกับร้านต้นแบบมาแล้วห้าแห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตั้งแต่ปี ๒๕๖๐
“เริ่มจากคิดกันว่าถ้าเอามาม่ามาทำเมนูอาหารขายจานละ ๑๐๐-๑๒๐ บาท จะไหวหรือไม่ จึงแยกไปทำในทำเลห้าแห่ง ที่มีจุดเด่นต่างกัน เช่น ร้านย่านเพชรเกษม อยู่ในคอมมูนิตีมอลล์ อีกร้านอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีคนมากอยู่แล้ว” แต่ต่อมาทั้งหมดก็ปิดตัวลงเหลือแค่สาขามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ตั้งใจรักษาไว้ให้นักศึกษาที่ติดใจได้กินมาม่าต่อ
ส่วนที่อื่นปิดไปเพราะ “เราพบว่าการขายช่วงพักกลางวันสู้อาหารตามสั่งจานละ ๖๐ บาทไม่ได้ ตอนหลังมีคนเสนอว่าน่าจะเปิดร้านที่ย่านบันเทิงกลางคืน คือ RCA ก็ไปทำโพลสำรวจ ปรากฏว่าคนกินมาม่าอร่อยที่สุดคือช่วงกลางคืนกับตอนเมาเหล้า เพราะมันเบาท้องกว่ากินข้าวทั้งจาน การซดน้ำซุปร้อน ๆ หลังเที่ยวย่อมดีกว่า” ที่สำคัญคือ “ราคาร้อยกว่าบาทไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเหล้าหนึ่งขวด”
มาม่ายังพยายามเจาะตลาดงานจัดเลี้ยง (catering) เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิด “เป็นงานที่คนกินไม่ได้จ่าย คนจ่ายไม่ได้กิน เจ้าภาพอยากได้ของอร่อยและดูดี แขกจะจำได้ว่าเคยกินมาม่าตั้งแต่เด็ก มีสถิติว่ามาม่า ๖๐๐ ถ้วย หมดภายใน ๒ ชั่วโมง”
เรื่องสัดส่วนกำไรจากการเปิดร้านอาหาร หรือในงานจัดเลี้ยง คงเทียบไม่ได้กับการขายมาม่าซอง แต่ถือว่าคุ้มค่า เพราะ “นี่คือการทำให้มาม่าอยู่ในชีวิตผู้บริโภคและคนจะไม่ลืมเรา”
ร้านมาม่า STATION ย่าน RCA ตอบสนองความหิว ของนักเที่ยวกลางคืนก่อนกลับบ้านในช่วงเช้า
โซเดียมเจ้าปัญหา
ในโลกออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก มีชุมชนเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งฯ หลายเพจ อย่าง มาม่าปลิดชีพ (เมนูบะหมี่กึ่งฯ ที่ไม่ธรรมดา) ซึ่งมีสมาชิกกว่า ๗๗๔,๐๐๐ คน (ต้นปี ๒๕๖๘) อธิบายที่ใช้ชื่อเพจ “มาม่า” ว่าหมายถึงบะหมี่กึ่งฯ ทุกยี่ห้อพูดคุยกันได้ทั้งหมด เพียงแต่ “พอดีพี่ ‘มาม่า’ เค้าทำให้เราจำได้ก่อน...” เลยเรียกด้วยความเคยชิน มีสมาชิกโพสต์แชร์วิธีทำมาม่ารสชาติต่าง ๆ ให้อร่อย, รีวิวรสชาติใหม่, อวดรูปมาม่าหน้าตาคล้ายหน้าซองจนน่าประหลาดใจ บรรยายว่า “(ตกแต่ง) สุดฝีมือ...” ฯลฯ อีกโพสต์เป็นภาพมาม่าสามซองสามรส พร้อมปึกธนบัตรวางข้าง ๆ บรรยายใต้ภาพว่า “สามคน (ซอง) นี้แหละผู้ที่มีบุญคุณ...”
ที่น่าสนใจคือสมาชิกคนหนึ่งแชร์ภาพบะหมี่กึ่งฯ ในหม้อ มีถุงเครื่องปรุงและน้ำพริกเผาจำนวนมากวางข้าง พร้อมคำบรรยาย “...ถ้วยไม่พอ ใส่หม้อเลยแล้วกัน”
โพสต์นี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเมื่อครั้งไปชมพิพิธภัณฑ์ NISSIN เมืองโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น จำได้แม่นว่าโมโมฟูกุ อันโดะ ผู้ให้กำเนิด รับประทานบะหมี่กึ่งฯ มาตลอดชีวิตและอำลาโลกนี้ไปด้วยอายุ ๙๗ ปี (ปี ๒๔๕๓-๒๕๕๐) ทำให้รู้สึกวางใจว่าบะหมี่กึ่งฯ มีประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ก็ยากจะปฏิเสธคำเตือนที่มีมานานแล้วว่า ควรเติมเนื้อสัตว์และผักเพื่อเพิ่มสารอาหาร เพราะองค์ประกอบหลักของบะหมี่กึ่งฯ คือ แป้ง ไขมัน (จากการทอดในน้ำมันปาล์ม) โซเดียม (เกลือในซองผงปรุงรสและในน้ำซุปที่ราดเส้น) ทั้งยังมีโมโนโซเดียมกลูตาเมต (ผงชูรสจากซองเครื่องปรุง) ด้วย
ดร. วันวิสาข์อธิบายว่า บะหมี่กึ่งฯ ต้องใช้โซเดียม เพราะ “เกลือทำให้เกิดรส ผู้บริโภคบะหมี่กึ่งฯ ส่วนมากคุ้นกับความเค็ม เช่นรสหมูสับ ถ้าไม่เค็มผู้บริโภคจะตั้งคำถามทันทีว่านี่รสหมูสับจริงหรือ ปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งฯ แต่ละรสยังไม่เท่ากัน”
แนวโน้มของผู้บริโภคชอบรสเค็มจึงมีส่วนกำหนดระดับการใช้โซเดียมในบะหมี่กึ่งฯ ด้วย
ในปี ๒๕๔๔ สำนักข่าว CNN รายงานว่า สมาคมผู้บริโภคออสเตรเลีย (Australian Consumers’ Association) แถลงว่าจากการทดสอบบะหมี่กึ่งฯ ซองหนึ่ง พบว่ามีไขมันเท่ากับการกินพิซซ่าหนึ่งในสี่ของพิซซ่าถาดกลาง การใช้น้ำมันทอดไม่ดีทำให้มีไขมันทรานส์ (trans fatty acid)
ซึ่งก่อโรคหัวใจ ส่วนโซเดียมมี ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ มิลลิกรัม
ต่อซอง เท่ากับราวร้อยละ ๗๕ ของปริมาณที่ร่างกายผู้ใหญ่ควรได้รับ และเท่ากับปริมาณเต็มที่เด็กควรได้รับ นพ. ทิม ทรอดด์ (Tim Trodd) กล่าวกับ CNN ว่า “สิ่งที่คุณเห็น (บะหมี่กึ่งฯ) คืออาหารที่ปราศจากโปรตีนเต็มไปด้วยไขมัน คาร์โบไฮเดรต สารเคมี และเกลือ”
ส่วนหนึ่งของเมนูมาม่าในร้านที่ปรุงแบบจัดเต็ม
สอดคล้องกับในหนังสือ ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. ๒๕๖๓ ของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า “ปริมาณสูงสุดที่รับได้” ของโซเดียมไม่ควรเกิน ๒,๐๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน ถ้าเกินจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคกระดูกพรุนเมื่อเข้าวัยชรา ฯลฯ และถ้าต้องการลดความเสี่ยงจริงจัง สำนักโภชนาการวางเพดานสำหรับคนหลากวัยไว้ไม่เกิน ๑,๒๐๐ มิลลิกรัมเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเผยแพร่ในเว็บไซต์ National Library of Medicine/National Center for Biotechnology Information หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อปี ๒๕๖๐ ว่า พฤติกรรมการกินบะหมี่กึ่งฯ บ่อย ๆ ของนักศึกษาในกรุงโซล มีส่วนเชื่อมโยงกับภาวะระบบดูดซึมสารอาหารผิดปรกติและการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ
ส่วนในเมืองไทย ประเด็นความกังวลนี้มีมาตั้งแต่ช่วงเริ่มทำตลาด จำเลยคนแรกคือ “ผงชูรส” ที่ ดร. เทียมบันทึกว่าส่งผลให้ในช่วงแรกมาม่าต้องย้ำว่าน้ำซุปที่ราดเส้นก่อนทอดในมาม่ารสซุปไก่ทำจากซุปไก่แท้ ไม่ใส่ผงชูรส อย่างไรก็ตามสำนักโภชนาการ กรมอนามัยของไทย แนะนำว่าผงชูรสกินได้เพราะเป็นสารสกัดจากอ้อยและมันสำปะหลัง มีส่วนประกอบคือโซเดียมและกรดกลูตามิกที่พบในอาหารหลายชนิด กรดนี้ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาททำให้เกิด “รสอูมามิ (นัว อร่อย)” แต่ถึงอย่างนั้นผงชูรสก็มีโซเดียม เพียงแต่ไม่มีรสเค็ม ทำให้คนชอบเค็มอาจปรุงเพิ่มจนเสี่ยงรับโซเดียมเกิน
ดร. วันวิสาข์มองว่าการจะให้ผู้ผลิตใช้สารเหล่านี้น้อยลงคงยาก เพราะความต้องการผู้บริโภคและการแข่งขันทางธุรกิจ ส่วนมากจึง “ทำตามกฎหมายครบ กฎหมายกำหนดให้แสดงปริมาณสารอาหารชัดเจนก็แสดง” ดังนั้น “ผู้บริโภคต้องดูว่าพฤติกรรมการกินของตนเองเป็นอย่างไร คำนวณให้ดีว่าวันนี้กินอะไรแล้วบ้าง เกินหรือยัง”
ในมุมของบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯ พันธ์มองว่า “ถ้าต้องการลดโซเดียม เราเลือกวิธีบริโภคได้ เช่น ไม่เทเครื่องปรุง ใส่น้อยลง หรือไม่ซดน้ำซุปหมด ไม่ต่างจากกินอาหารประเภทอื่น” ทั้งนี้มาม่าก็ปรับตัวเช่นกัน “กรณีมาม่าสูตรลดโซเดียม เราก็เคยลองตลาด แต่ขายไม่ดีเท่าไร ถึงผมเองจะมองว่ารสชาติไม่ต่างจากเดิมมากนัก”
บรรยากาศในร้านมาม่า STATION ช่วงบ่าย ตกแต่งด้วยของเกี่ยวกับมาม่า เช่นหมอนที่ทำเลียนแบบซองมาม่ารสต่าง ๆ
อนาคตบะหมี่กึ่งฯ
สัญชาติไทย
ปัจจุบันบะหมี่กึ่งฯ อยู่ในรายการ “สินค้าควบคุม” ตาม “ประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๖๔ เรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม” โดยอยู่ในลำดับที่ ๔๔ “อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก” ภายใต้อำนาจพระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒
พูดภาษาชาวบ้านคือ รัฐบาลมองว่านี่เป็น “สินค้าพื้นฐาน” ที่คนไทยต้องบริโภค ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯ จึงขึ้นราคาตามใจชอบไม่ได้ ต้องขออนุญาตคณะกรรมการกลางฯ ซึ่งมีอำนาจดูแลตามกฎหมายก่อน
“สถานะ” ของบะหมี่กึ่งฯ เปลี่ยนจาก “สินค้าฟุ่มเฟือย” ในยุคแรกที่มีกลุ่มลูกค้าคือชาวต่างชาติซึ่งมาทำงานในไทย (ปี ๒๕๑๕-๒๕๒๖) กลายเป็นสินค้ายอดนิยมในยุคที่ ๒ (ปี ๒๕๒๗-๒๕๓๓) มีฐานลูกค้าในประเทศมาก จนแบรนด์หนึ่งคือ “มาม่า” กลายเป็นชื่อเรียกแทนบะหมี่กึ่งฯ
ในยุคที่ ๓ (ปี ๒๕๔๐-๒๕๕๔) บะหมี่กึ่งฯ กลายเป็น “อาหารมหาชน” ระหว่างวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี ๒๕๔๐) เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ (ปี ๒๕๕๔) จนเป็น “สินค้าพื้นฐาน” ที่รัฐต้องควบคุมในที่สุด
ปัจจุบันการแข่งขันทำตลาดจับกระแสผู้บริโภคที่หลากหลาย เช่น กลุ่มตลาดพรีเมียม กลุ่มตลาดเพื่อสุขภาพ แต่อุปสรรคในอนาคตคือตลาดในประเทศกำลังเผชิญขีดจำกัด เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยลดลงผู้ผลิตบางรายจึงมองว่าการบุกตลาดต่างประเทศจะช่วยให้ยอดขายเติบโตต่อไปได้
ในบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรี-อยุธยา ระบุว่า ปี ๒๕๖๕ ไทยส่งออกอาหารพร้อมทานทั้งหมด ๒๒๒.๓ พันตัน โดยบะหมี่กึ่งฯ มีสัดส่วนร้อยละ ๓๙.๘ และประเทศที่นำเข้าบะหมี่กึ่งฯ จากไทย คือ กัมพูชา (ร้อยละ ๒๐.๓) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ ๑๒.๘) พม่า (ร้อยละ ๑๒.๖) ลาว (ร้อยละ ๑๐.๕) และสหรัฐฯ (ร้อยละ ๖.๖) ในกรณีของมาม่าส่งออกไปขายถึง ๖๘ ประเทศ และขายดีที่สุดในตลาดสหรัฐฯ
ปี ๒๕๖๘ เรื่องราวของ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัญชาติไทย” เดินมาไกลเกินครึ่งศตวรรษ
อาหารเส้น “มหาชน” ชนิดนี้จะเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และไปต่ออย่างไร
“ผู้บริโภค” คือปัจจัยสำคัญที่สุด
ดร. วันวิสาข์ วงศ์มณีประทีป
อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
“ผู้บริโภคบะหมี่กึ่งฯ เป็นหัวใจสำคัญที่จะเปลี่ยนเทรนด์การผลิต”
“คำกล่าวที่ว่ากินบะหมี่กึ่งฯ ทำให้ได้รับโซเดียมมาก เป็นความจริง แน่นอนว่าโซเดียมมากับเครื่องปรุงรสและในเส้นบะหมี่กึ่งฯ หลายคนกินแบบไม่ต้มแทนขนม เพราะมีรสเค็ม อร่อย นั่นเพราะระหว่างผลิตมีขั้นตอนราดน้ำซุปซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบลงไปบนเส้น ต่างจากเส้นบะหมี่จืดทั่วไป การใช้โซเดียมจำเป็นสำหรับสร้างรสชาติบะหมี่กึ่งฯ ยิ่งรสชาติเข้มข้นคนยิ่งชอบ รู้สึกว่าส่วนผสมเยอะ แต่ปริมาณโซเดียมก็สูงขึ้นด้วย
“บะหมี่กึ่งฯ แต่ละรสแต่ละแบรนด์มีปริมาณโซเดียมต่างกัน นักโภชนาการจะไม่แนะนำว่าควรกินวันละกี่ซองแต่ให้ดูว่าวันหนึ่งเราควรได้รับสารอาหารแต่ละประเภทแค่ไหน กรณีโซเดียม ในภาพรวมโดยไม่ดูช่วงอายุ ต้องไม่เกิน ๒,๐๐๐ มิลลิกรัม (๒ กรัม) ต่อวัน เทียบเท่าเกลือ ๑ ช้อนชา หรือน้ำปลา ๔ ช้อนชา ยกตัวอย่าง ถ้าเรากินข้าวเหนียวหมูปิ้งเป็นมื้อเช้า ในหมูปิ้งมีน้ำปลา ซอสปรุงรส ฯลฯ มื้อเที่ยงกินกะเพราไก่ไข่ดาวราดข้าว มีน้ำปลาพริกเหยาะ มื้อเย็นกินบะหมี่กึ่งฯ ถ้ากินสามมื้อแบบนี้โซเดียมเกิน ๒,๐๐๐ มิลลิกรัมแน่นอน ในอาหารทั่วไปอาจสังเกตปริมาณโซเดียมยาก แต่ถ้าเป็นอาหารที่มีข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการระบุหน้าซองอย่างบะหมี่กึ่งฯ ก็จะง่ายต่อผู้บริโภค
“การลดขนาดบรรจุภัณฑ์อาจช่วยลดปริมาณโซเดียมต่อการบริโภคหนึ่งซองได้ แต่ในแง่ธุรกิจอาจกระทบความชื่นชอบของลูกค้าที่ชอบความคุ้มค่า นี่คือความรู้สึกทางการตลาด กฎหมายจึงบังคับให้ผู้ผลิตระบุข้อมูลโภชนาการและส่วนประกอบต่าง ๆ อย่างชัดเจน แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจนัก จึงเกิดปัญหาคนบริโภคโซเดียมเกินข้อแนะนำถึงสองเท่า ส่งผลให้โรคที่เกี่ยวข้องกับความเค็ม เช่นโรคไต เพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้ภาครัฐดำเนินการเก็บ ‘ภาษีความเค็ม’ โดยหวังจะเป็นทางออกสำหรับการกินเค็มในประเทศไทย แต่จะช่วยได้จริงหรือไม่ คงต้องดูในระยะยาว
“กรณีบางแบรนด์เริ่มผลิตบะหมี่กึ่งฯ โซเดียมต่ำ ไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาเขาใส่โซเดียมมากเกินไป ผู้ผลิตไทยส่วนใหญ่ทำตามกฎหมายครบ แต่เมื่อผู้ประกอบธุรกิจมองเห็นเทรนด์คนรักสุขภาพมากขึ้น ย่อมต้องหาทางบอกว่ากินบะหมี่กึ่งฯ ได้ มีทางเลือกให้ ผู้บริโภคต้องดูว่าใส่อะไรเข้ามาทดแทนเกลือ บางเจ้าเพิ่มโพแทสเซียมแทน เพราะให้รสเค็มเหมือนกัน แต่แพทย์หลายคนกังวลว่าอาจเสี่ยงต่อคนเป็นโรคไต ตอนนี้ยังไม่พบข้อมูลผลเสียชัดเจนจากการบริโภคโพแทสเซียมแทนโซเดียมในคนสุขภาพปรกติ แต่สิ่งใดก็ตามที่มากเกินไปมักไม่ค่อยดี
“งานวิจัยจำนวนมากพบว่าผู้ที่รับประทานบะหมี่กึ่งฯ ประจำมักขาดวิตามิน ไฟเบอร์ แคลเซียม และสารโภชนาการอื่นที่จำเป็น ฉะนั้นควรกินร่วมกับอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก เป็นต้น การดัดแปลงเป็นอาหารจานโปรดก็อาจมีโซเดียมเพิ่ม เช่นยำบะหมี่กึ่งฯ เติมผงปรุงรสแล้วยังเพิ่มผงชูรส น้ำปลา หรือปลากระป๋องก็จะได้รับโซเดียมจากซอสปลากระป๋อง
“ธุรกิจปรับตัวเพื่อเจาะตลาดใหม่ แต่ลูกค้าขาประจำของบะหมี่กึ่งฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสายคลีนหรือกินอาหารสุขภาพจริงจัง รสชาติที่คนชื่นชอบยังคงเป็นรสจัดจ้านซึ่งมีโซเดียมสูง ดีที่สุดคือผู้บริโภคต้องดูแลตัวเองและเท่าทัน ต่อให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งฯ ลดขนาดซอง ลดปริมาณโซเดียม แต่กินสามซองในมื้อเดียวก็ไม่ช่วยอะไร ผู้บริโภคจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะเปลี่ยนเทรนด์การผลิต ที่สำคัญคือกินให้หลากหลาย เพราะร่างกายมีกลไกจัดการอยู่แล้ว แค่เปิดโอกาสให้มันมีเวลาเพียงพอในการทำงาน”
พันธ์ พะเนียงเวทย์
ผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
“อยากให้ ‘มาม่า’ เป็นบะหมี่กึ่งฯ ของคนทุกเจเนอเรชัน”
ในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ การรับช่วงต่อจากรุ่นบุกเบิกยากแค่ไหน
มาม่าเป็นบริษัทมหาชน เข้าตลาดหุ้น คุณพ่อ (พิพัฒ พะเนียงเวทย์) ทำงานกับนายห้างเทียม (ดร. เทียม โชควัฒนา) ปูพื้นฐานไว้ดีมาก เขามีเงิน มีตลาด สินค้ามีคุณภาพ เตรียมไว้แล้ว ผมเป็นรุ่นที่ ๒ ก็ปรับเปลี่ยนได้มากเพราะไม่มีอะไรน่ากังวล รุ่นก่อนทำไว้ขนาดนี้ถ้าทำไม่ดีคงต้องตีมือตัวเอง มาม่าเป็นคำติดปากก็จริง แต่มีหลายแบรนด์ที่มีสถานะนี้แล้วหายไป ไม่ได้ประกันว่าเราไม่ต้องทำอะไรแล้ว เราต้องสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องว่าเรายังมีคุณภาพอยู่ มีประโยคกล่าวว่าการรักษาแชมป์ยาก ก็เป็นจริง ผมเข้ามาปี ๒๕๔๒ มาม่ามีส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งฯ ในประเทศมากที่สุด แต่โลกก็กำลังเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องปรับเอง ไม่อย่างนั้นโลกจะเข้ามาเปลี่ยนเรา
ตลาดบะหมี่กึ่งฯ ไทยในปัจจุบันแข่งขันดุเดือดแค่ไหน
ตลาดบะหมี่กึ่งฯ ไทยนอกจากมาม่า มีเจ้าใหญ่คือยำยำ ไวไว นิสชิน คนที่แข่งต้องมีสายป่าน (เงินทุน) ยาว เข้าใจธรรมชาติธุรกิจบะหมี่กึ่งฯ สมัยก่อนยอดขายโตตามจำนวนประชากร ต่อมายอดขายแซงไปเพราะคนนิยมกินมากขึ้น ตอนนี้คนไทยกินบะหมี่กึ่งฯ ๕๕ ซองต่อคนต่อปี อีกหน่อยอาจถึง ๘๐ ซองต่อคนต่อปีเท่ากับเวียดนาม เพราะบะหมี่กึ่งฯ ได้เปรียบเรื่องราคา ในประเทศไทยบะหมี่กึ่งฯ เป็นสินค้าที่ถูกคุมราคาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ การคุมไม่ได้แปลว่าโดนบังคับทำสิ่งที่ทำไม่ได้ มองอีกมุม ภาครัฐต้องการความมั่นใจว่าจะไม่มีใครเอาเปรียบ ส่วนบะหมี่กึ่งฯ ต่างประเทศไม่โดนคุมเพราะเสียภาษีนำเข้า แต่วางขายด้วยราคาแพงกว่า เราจึงไม่เสียเปรียบด้านราคา แต่มีผลเรื่องภาพลักษณ์บ้างว่าบะหมี่กึ่งฯ นำเข้ากลายเป็นสินค้าพรีเมียมกว่าเรา
ที่ผ่านมา “มาม่า” ปรับตัวอย่างไร
ปี ๒๕๔๘ เรานำเสนอมาม่าออเรียนทัลคิตเชน (Oriental
Kitchen) ปี ๒๕๖๑ ปรับเป็น OK Series จากการเข้ามาของบะหมี่กึ่งฯ ต่างประเทศ OK Series โตร้อยละ ๓๐ สิ่งที่ผมกังวลคือประชากรไทยกำลังลดลง ต้องคิดว่ายอดขายจะเพิ่มจากไหน เราจึงบุกตลาดต่างประเทศ เราไปตั้งโรงงานในพม่า กัมพูชา เพราะเขาบริโภคสินค้าไทย แต่ไม่ไป สปป.ลาว เพราะปัญหาเรื่องขนส่งสินค้าทำได้ยาก โรงงานอีกแห่งที่บังกลาเทศก็ไม่ดีนัก เราเข้าไปที่นั่นเมื่อ ๒๐ ปีก่อนเพราะอินเดียมีกำแพงภาษีสูง แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว อีกแห่งอยู่ที่ฮังการี เราซื้อโรงงานเก่ามาทำและตลาดยุโรปมีกำลังซื้อมาก ส่วนทวีปแอฟริกาที่เคนยา เราทำงานกับหุ้นส่วนผลิตในนามแบรนด์ท้องถิ่น การลงทุนต่างประเทศไม่ง่ายเพราะต้องแก้โจทย์เรื่องวัตถุดิบ คน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
การคิดรสชาติใหม่ ๆ มีหลักคิดอย่างไร
ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการตลาดล้วน ๆ เช่น มาม่า OK รส Spicy Korean Squid Ink Flavor เราว่าจ้างคุณอิ้งค์-วรันธร นักร้อง เป็นพรีเซนเตอร์ แล้วก็ไปร่วมกับซีรีส์ Squid Game ภาค ๒ ที่ฉายใน Netf lix คุณเพชร พะเนียงเวทย์ เสนอว่าจะทำมาม่าหมึกดำดีไหม ก็คุยกันว่าจะรอดหรือไม่ ชิมจนคิดว่าได้แล้วก็ปล่อยออกมา กลายเป็นกระแสดีมาก
โดยส่วนตัวผมชอบกินบะหมี่ ซื้อบะหมี่ฮ่องกง บะหมี่ไต้หวันมาเก็บไว้เต็มบ้าน ผมชิมบะหมี่กึ่งฯ ทุกแบรนด์ อะไรที่เป็นกระแส อร่อย ก็ดูว่ามีส่วนประกอบใด แล้วกลับมาทำของเราให้ดี การมีคู่แข่งจึงช่วยให้เราพัฒนาตัวเอง
ที่ผ่านมามาม่าเคยมีรสชาติที่ออกมาแล้วงง เช่นรสโป๊ะแตก ๓ เดือนแรกยอดขายดี ได้ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๗ พอเข้าเดือนที่ ๕ ยอดเหลือ ๐.๔ แล้วก็หายไปเลย เข้าใจว่าช่วงแรกคนอยากลอง แต่อาจเปรี้ยวไป สุดท้ายก็เลิกผลิตแต่อีกมุมหนึ่งก็มีหลายรสที่คนกินคิดถึงแต่ยอดขายน้อยไม่คุ้มค่าการผลิต เช่น รสชาเขียว ข้าวซอย เป็นต้น รสใหม่อย่าง “มาม่าออเรียนทัล กลิ่นเห็ดทรัฟเฟิล” แฟนคลับที่กินของจริงราคาจานละเป็นหมื่นบาท พอซื้อกินก็บ่นว่าปลอม ผมได้แต่บอกว่าปลอมสิครับ (หัวเราะ) จะให้เอาเห็ดดอกละหมื่นมาใส่จริงเหรอ เราทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ก็มีกลุ่มลูกค้านะ ส่วนมากประมาณ ๕ เดือนจะรู้ว่ารสนั้นไปต่อได้ไหม
ราคาที่ถูกควบคุมส่งผลอย่างไรต่อการทำธุรกิจ
ตอนผมมาทำงานปี ๒๕๔๒ มาม่าเพิ่งขึ้นราคาจาก ๔.๕๐ บาท เป็น ๕ บาท สมัยนั้นร้านค้าไม่อยากทอน ให้เหรียญห้าเขาจะให้ลูกอมคืนมา แต่ก็ตรึงราคา ๔ บาทมา ๑๕ ปีแล้ว ผ่านไปอีก ๑๐ ปี ในปี ๒๕๕๑ ก็ขึ้นเป็นซองละ ๖ บาท เพราะน้ำมันปาล์ม แป้งสาลี ขึ้นราคา ถ้ายังขายราคาเดิมไปอีก ๒ เดือนจะขาดทุนทันที รัฐบาลยอมเราก็รอดมาได้ เราเพิ่มราคาอีกครั้งปี ๒๕๖๕ เป็นซองละ ๗ บาทด้วยเหตุเดิม รัฐบาลไม่ยอมทันทีเพราะเป็นช่วงปลายของการระบาดโรคโควิด รอถึง ๙ เดือนถึงให้ขึ้นราคา เรายังรอดเพราะมีรายได้จากการส่งออก แต่ต่อมาเราโดนต่อว่า เพราะผลประกอบการได้กำไร ๑,๑๐๐ ล้านบาท ซึ่งความจริงเราได้จากการส่งออกและลงทุนในธุรกิจอื่น ส่วนการขายในประเทศขาดทุน
การออกเวอร์ชันลดโซเดียมเป็นการปรับภาพลักษณ์หรือไม่
เรียกว่าเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพดีกว่า แต่ไม่ใช่เราจะเปลี่ยนตัวเอง เราต้องยึดอยู่กับความอร่อย ที่มีคนบอกว่ามันต้องจืด เราจืดไม่ได้ เพราะสุดท้ายคนกินก็ใส่น้ำปลาอยู่ดี กรณีโซเดียมต้องไปดูว่าวันหนึ่งเราได้โซเดียมจากอะไรบ้าง ถ้ากินชาบูแล้วตักน้ำจิ้มใส่ ใส่ซีอิ๊วสามช้อน ใส่ถั่ว ฯลฯ ก็มีโซเดียมเท่ากับกินมาม่าห้าซองเหมือนกัน ตรงนั้นก็มีตัวเลขแต่ไม่เคยนำมาพูดคุย กลายเป็นกำกับเฉพาะส่วนที่ทำได้ ส่วนที่ทำไม่ได้อย่างอาหารสดก็ปล่อย ปิดท้ายบ้าน เปิดหน้าบ้าน จะมีประโยชน์อะไร
มองอนาคต “มาม่า” อย่างไร คิดถึงเรื่องการสร้าง “วัฒนธรรมมาม่า”หรือไม่
ผมอยากรักษาฐานลูกค้าในประเทศ เราโชคดีที่ยังไม่โดน disruption (การเปลี่ยนแปลงขนบทางธุรกิจ) การที่บะหมี่กึ่งฯ เกาหลีเข้ามาขายในไทยกลับเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค ทำให้เราได้ตลาดกว้างขึ้นจากการมีตลาดพรีเมียม ตอนนี้เราขายในประเทศร้อยละ ๗๐ ส่งออกร้อยละ ๓๐ ผมอยากให้ส่งออกเพิ่มเป็นร้อยละ ๔๐ อยากให้มาม่าเป็นบะหมี่กึ่งฯ ของคนทุกเจเนอเรชัน ผู้บริโภคคงต้องบอกเราว่าทำให้ดี ให้อร่อย อย่าเอาเปรียบเขา ทำแคมเปญใหญ่แต่ไม่อร่อยไม่เอานะ เราต้องมุ่งให้ลูกค้ากินแล้วมีความสุข ทำในส่วนที่ทำได้ดีก่อนแล้วค่อยขยาย ยิ่งเรื่องวัฒนธรรมเราสร้างเองไม่ได้ ต้องให้สังคมสร้าง
ในญี่ปุ่น NISSIN ทำพิพิธภัณฑ์บะหมี่กึ่งฯ ของตนเอง มาม่ามีแนวคิดที่จะทำบ้างหรือไม่
คิดครับ มีหลายแนว เช่น ไปรวมกับมหาวิทยาลัยดีไหม หรือทำเป็น MAMA WORLD ลงทุนแล้วก็อยากให้เลี้ยงตัวเองได้ ถ้าทำแค่เป็นอนุสาวรีย์คงไม่ยาก แต่หากอยากให้สนุก คนสนใจ ก็ต้องคิดเยอะ ปัญหาคือคนไทยไม่เข้าพิพิธภัณฑ์ ทั้งที่บ้านเรามีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งดีมาก เช่นพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ก็ไม่มีการประชาสัมพันธ์ สื่อก็ไม่สนใจ ผมเคยไปดู Mamee Jonker House ที่เมืองมะละกา มาเลเซีย ของแบรนด์ Mamee ขนาดอยู่ในเมืองมรดกโลกคนยังไม่ค่อยเข้า เราจึงต้องคิดอีกพอควรก่อนจะทำเรื่องนี้
เอกสารอ้างอิง
หนังสือ
กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ. (๒๕๕๑). สงครามแบรนด์ แจ๊กท้ายักษ์. กรุงเทพฯ : มติชน.
กองเศรษฐกิจอุตสาหกรรม. (๒๕๒๔). อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป : รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเฉพาะประเภท ปี ๒๕๒๔. กรุงเทพฯ : สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม.
กองเศรษฐกิจอุตสาหกรรม. (๒๕๒๗). อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป : รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเฉพาะประเภท ปี ๒๕๒๗. กรุงเทพฯ :
สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม.
เทียม โชควัฒนา. (๒๕๕๔). “สหพัฒน์และบริษัทในเครือ” จากบันทึกความทรงจำ ดร. เทียม โชควัฒนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.
สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล. (๒๕๕๒). สหพัฒน์ โตแล้วแตกและแตกแล้วโต. กรุงเทพฯ : พีเพิลมีเดีย.
สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล. (๒๕๕๒). สหพัฒน์ โตแล้วแตกและแตกแล้วโต ภาค ๒ : Untold Story ประธานเครือสหพัฒน์ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ชีวิตนี้เป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นหนึ่ง. กรุงเทพฯ : พีเพิลมีเดีย.
รายงานผลประกอบการประจำปี
บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน). รายงานประจำปี ๒๕๓๗.
บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน). รายงานประจำปี ๒๕๓๙.
บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน). รายงานประจำปี ๒๕๔๐.
บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน). รายงานประจำปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐.
เว็บไซต์
https://marketeeronline.co/archives/233697?fbclid=IwY2xjawI
MnHdleHRuA2FlbQIxMQABHSAEjsV0Dsd0fJAyh_-dOuryTOlQsGTLP
1eXo8XvSMpgUraXZou6WaJg6w_aem_c4xJtpInRY-eEBJs8grmWg
https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC5449380/#sec16
https://readthecloud.co/mama-noodles/
https://web.archive.org/web/20121029084950/http://edition.cnn.
com/2001/WORLD/asiapcf/east/02/23/hongkong.noodles/index.html
https://www.bangkokbiznews.com/business/1014384
https://www.bbc.com/thai/articles/c14eyr9jv80o
https://www.bbc.com/thai/thailand-57956718
https://www.brandage.com/article/29620
https://www.brandage.com/article/40384
https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/
food-beverage/ready-to-eat-food/io/io-ready-to-eat-food-2024-2026
https://www.marketingoops.com/reports/33-mama-facts/
https://www.sahapat.co.th/about#6
https://www.thaidietetics.org/wp-content/uploads/2020/04/dri2563.pdf
หมายเหตุ
“มาม่า” เป็นบะหมี่กึ่งฯ สัญชาติไทยแบรนด์เดียวที่ยินดีเปิดให้ สารคดี ชมโรงงาน ถ่ายภาพ และสัมภาษณ์ผู้บริหาร ผู้เขียนขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้