Image

โรงหมี่พิมายของยายเติ้บสว่างไสวทุกค่ำคืนในยามที่คนหลับใหล

เสน่ห์ไม่สูญหาย
หมี่พิมายทำมือ

วัฒนธรรม "เส้น"

เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

เวลาตี ๑ ที่หลายคนหลับใหลในฝันหวาน แต่ยายเติ้บ-สายทอง ใจดี กำลังเริ่มทำงาน โดยสาละวนกับการก่อฟืนไฟเตรียมเตาให้พร้อมทำ “หมี่พิมาย”

ราว ๖๐-๗๐ ปีที่ยายเติ้บตื่นนอนกลางดึกโดยอัตโนมัติตามกิจวัตรคนทำหมี่แห่งเมืองพิมาย เสียงเป๊าะแป๊ะจากไฟกินฟืนเป็นเหมือนเครื่องกำหนดเวลาให้หญิงชราเร่งมือซาวข้าวแข็งขัน ก่อนจะรีบโกยใส่เครื่องโม่ไฟฟ้าอันเป็นเครื่องทุ่นแรงเดียวในกระบวนการทำหมี่ที่ช่วยให้ร่างกายในวัย ๗๔ ปีไม่เหนื่อยเกินไป... ในพริบตา ข้าว ๑ ถัง (ประมาณ ๑๕ กิโลกรัม) ก็ถูกบดละเอียดจนเป็นน้ำแป้งสีขาวข้น

“ยายทำมาตั้งแต่จำความได้ ทวดจะปลุกกลางดึกให้มาช่วยทำ ไม่เคยถาม ไม่มีสูตร อาศัยครูพักลักจำ เริ่มจากการช่วยโม่แป้ง สมัยนั้นยังต้องโม่ด้วยมือ ตักข้าวตามด้วยน้ำทีละทัพพี ตอนนี้มานั่งทำแบบนั้นคงไม่ไหวและไม่ทันกิน ก็เลยต้องมีเครื่องช่วย”

ยายเติ้บพูดพลางยกถังน้ำแป้งจัดแจงวางให้อยู่ในตำแหน่งถนัดมือ แล้วนั่งลงบนเก้าอี้ประจำหน้าเตาหมี่

ครอบครัวของยายเติ้บทำหมี่พิมายต่อเนื่องมาสามชั่วอายุคน ถือเป็นบ้านแรก ๆ ที่ริเริ่มทำหมี่ในชุมชนตะวันตกวัดเดิม ติดกับอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะแพร่หลายเป็นอาชีพที่นิยมเกือบทุกครัวเรือน  แต่เนื่องด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป ทางเลือกของการทำงานที่มากขึ้น ประกอบกับการเข้ามาของโรงหมี่อุตสาหกรรม หมี่ทำมือตามครัวเรือนจึงล้มหายตายจากเหลือเพียงโรงหมี่ของยายเติ้บที่ยังคงก่อเตาหมี่สว่างไสวในไฟสลัวของทุกค่ำคืน

Image

ข้าวที่ซาวจนสะอาดแล้วจะนำใส่เครื่องโม่ไฟฟ้าเพื่อบดละเอียดเป็นน้ำแป้งสีขาวข้น

Image

ยายเติ้บกวาดแป้ง ส่วนยายเล็กตากแป้ง ทำงานกันเป็นทีมอย่างต่อเนื่องไปจนเกือบรุ่งสาง

“ถ้าทำแบบดั้งเดิม ใช้มือทำล้วน ๆ จะมีแค่บ้านยายเติ้บ นี่แหละ แต่ก่อนทำกันทั้งบ้าน พออายุมากก็เลิกทำ เพราะมันเป็นงานร่ำไร จุกจิก ขั้นตอนเยอะ ตอนนี้ก็ยังพอมีน้องสาวลุกมาช่วยทำอยู่บ้าง”

กลิ่นควันอ่อน ๆ คลุ้งทั่วบริเวณโรงหมี่ ส่งสัญญาณให้ยายเล็ก-หนูเล็ก ผลนา น้องสาววัย ๖๘ ปีของยายเติ้บ ตื่นจากห้วงนิทรา ลุกขึ้นใส่รองเท้าผ้าใบคู่โปรด ตามมาสมทบเป็นลูกมือประจำตำแหน่งคน (เดิน) ตากหมี่

ยายเติ้บใช้ขันอะลูมิเนียมตักน้ำแป้งในถังละเลงจนทั่วผ้าไหมโทเรที่ขึงจนตึงบนปากหม้ออย่างชำนาญ ขั้นตอนนี้เรียกว่า “การกวาดแป้ง” ซึ่งยากที่สุด เพราะต้องอาศัยประสบการณ์กวาดแป้งให้เสมอกันทั้งแผ่น ไม่บางและไม่หนาจนเกินไป เพื่อไม่ให้แผ่นแป้งขาดหรือสุกไม่เท่ากัน อีกทั้งยังเป็นขั้นตอนปราบเซียนทำให้หลายคนที่มาลองทำยอมแพ้ เพราะต้องทนร้อนหน้าเตาและนั่งนานหลายชั่วโมง

ครอบครัวของยายเติ้บทำหมี่พิมายต่อเนื่องมาสามชั่วอายุคน ถือเป็นบ้านแรกๆ ที่ริเริ่มทำหมี่ในชุมชนตะวันตกวัดเดิม 

ยายเล็กเดินตากแผ่นแป้งทั้งคืน ระยะทางเท่ากับเดินจากพิมายไปตัวเมืองโคราช

Image

แผ่นแป้งที่ตากลมจนแห้งจะถูกชโลมด้วยน้ำมันพืชทีละแผ่นเพื่อป้องกันแป้งติดกัน

เมื่อกวาดแป้งทั่วแล้วยายเติ้บใช้กระด้งแทนฝาปิดปากหม้อ เพื่อให้ไอร้อนจากน้ำในหม้อช่วยทำให้แป้งสุก ลักษณะเหมือนการทำข้าวเกรียบปากหม้อ  รอจนเห็นควันขึ้นหรือนับในใจประมาณ ๑๕ วินาที จึงใช้ไม้แซะแผ่นแป้งที่สุกแล้วส่งต่อให้ยายเล็กที่ยืนคอยท่า ก่อนใช้สองมือประคองแผ่นแป้งเดินไปตากบนราวไม้ไผ่

“เชื่อไหม ยายเล็กเดินตากแผ่นทั้งคืน ระยะทางเท่ากับเดินจากพิมายไปตัวเมืองโคราชเลยนะ แล้วไม่ได้เดินอย่างเดียว ต้องก้ม ๆ เงย ๆ ตากแผ่นแป้งด้วย”

คนหนึ่งกวาดแป้ง อีกคนตากแป้ง สอดประสานการทำงานเป็นทีมอย่างต่อเนื่องไปจนเกือบรุ่งสาง การที่ต้องรอแผ่นแป้งแห้งด้วยลมธรรมชาติเป็นเหตุผลที่ต้องทำหมี่ตอนกลางคืน เพราะกว่าแผ่นแป้งจะแห้งต้องใช้เวลา ๔-๕ ชั่วโมง หากทำตอนกลางวัน อุณหภูมิที่สูงจะทำให้แป้งนิ่มและย้อยเกินไปจนไม่เกาะเป็นแผ่น 

Image

การซอยเป็นเส้นหมี่ใช้กะขนาดตามความเคยชิน

“หนาวก็ต้องทำให้ทัน ร้อนก็ต้องทำให้ได้ ห้ามมีแป้งเหลือเด็ดขาด ถ้ามีเหลือต้องเททิ้งเลย เพราะเราไม่ใช้สารกันบูด ใช้ของธรรมชาติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เก็บไว้ก็เสียของเปล่า ๆ  แต่หน้าหนาวก็จะดีหน่อย เพราะความร้อนจากหน้าเตาช่วยคลายหนาวได้ดี ถ้าอากาศแบบนี้ทำได้เยอะ ได้เรื่อย ๆ แบบไม่เหนื่อยมาก” 

เมื่อแสงแดดอ่อน ๆ ไล่ส่องทั่วบริเวณโรงหมี่ ยายเติ้บบรรจงเก็บแผ่นแป้งที่ตากลมจนแห้งได้ที่อย่างระวังมือ จากนั้นใช้มือวักน้ำมันพืชทาทีละแผ่น นำมาวางซ้อนกันประมาณ ๑๐ แผ่น แล้วใช้มีดที่สั่งทำเฉพาะซอยแผ่นแป้งด้วยจังหวะสม่ำเสมอ กะขนาดตามความเคยชินที่ทำมาตลอดหลายสิบปี จนได้หมี่เส้นเรียงสวย

เมื่อได้เส้นหมี่แล้วยายเติ้บและยายเล็กจะช่วยกันจับหมี่เป็นกำขนาดพอเหมาะพอดีกับการนำไปผัดหมี่หนึ่งจาน มัดด้วยตอกแล้ววางเรียงบนแผงไม้ไผ่จนเต็ม จากนั้นเทินขึ้นหัวแล้วเอาไปตาก ทันแดดช่วงสายพอดี แสงแดดจะช่วยให้เส้นหมี่ค่อย ๆ แห้งสนิท ช่วงบ่ายนิด ๆ ก็เก็บหมี่พร้อมส่งขาย

ขั้นตอนการจับหมี่และมัดด้วยตอกไม้ไผ่จนเป็นกำขนาดพอดีกับการนำไปผัดหนึ่งจาน

Image

เส้นหมี่พิมายทำมือมีสีขาวตามสีของเมล็ดข้าวและปลอดสารกันบูด

การตากหมี่จำเป็นต้องใช้แดดเดียว เวลาเก็บไว้จะไม่มีกลิ่นอับ หากตากหลายรอบจะทำให้ความนุ่มของเส้นหายไป...จากขั้นตอนแรกตั้งแต่ก่อเตาจนถึงการเก็บหมี่ใช้เวลากว่า ๑๒ ชั่วโมง

“ทุกอย่างที่ทวดกับแม่ของยายเติ้บทำมาคงเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าดีอยู่แล้ว เราก็ทำตามแบบ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก หมี่ของยายเติ้บเลยยังเป็นหมี่ทำมือแบบดั้งเดิม ไม่เข้าระบบอุตสาหกรรม เราสะดวกแบบนี้”

หมี่พิมายของยายเติ้บเป็นที่ยอมรับในพื้นที่มาก เนื่องจากมั่นใจได้ว่าเป็นเส้นปลอดสารกันบูด ทำจากข้าวเจ้าล้วน ๆ ไม่ผสมแป้งมันสำปะหลัง และเป็นของแท้ที่เลียนแบบยาก นี่เป็นเรื่องราวหนึ่งที่ส่งมอบให้ผู้บริโภครู้สึกถึงคุณค่า

“ถ้าพูดถึงหมี่พิมายทำมือก็นึกถึงหมี่ยายเติ้บก่อนเลย เพราะว่าผัดง่าย ไม่ต้องแช่น้ำ พอน้ำปรุงในกระทะเดือดก็เอาเส้นหมี่ลงคลุก เส้นจะนุ่มชุ่มน้ำลงตัว เราเป็นคนพิมายก็ต้องกินผัดหมี่พิมาย ใครอยากกินก็ต้องมากินที่พิมายเท่านั้น เพราะไปที่อื่นก็ไม่ใช่หมี่พิมายของแท้”

“ถ้ายายเติ้บไม่ทำ หมี่พิมายทำมือก็อาจจะสูญไปเลย ทำหมี่ไม่ได้แต่งตัวสวยไปไหน ตื่นมาก็ค่อกม่อกแค่กแม่ก (มอมแมม) อยู่กับควันกับถ่าน จะหาคนมาทำต่อมันก็ยากมาก”

เส้นหมี่พิมายวางเรียงบนแผงไม้ไผ่ตากรับแสงแดด ช่วยให้ไม่มีกลิ่นอับและเก็บรักษาได้หลายวัน

คำบอกเล่าจากเจ้าของร้านผัดหมี่พิมายซึ่งเป็นขาประจำที่รับหมี่จากยายเติ้บมาผัดขายบริเวณหน้าอุทยานไทรงาม แหล่งท่องเที่ยวที่แต่ละวันมีผู้คนแวะเวียนมาไม่ขาดสาย ผัดหมี่พิมายจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นจากจุดนี้

เนื้อสัมผัสของหมี่พิมายเมื่อคำแรกเข้าปากคือเส้นที่ไม่เหนียวสู้ฟันแต่นุ่ม ขลุกขลิกกับน้ำปรุงสูตรเฉพาะ เป็นความนุ่มเหมือนกินข้าวสวยหุงสุกใหม่ในรูปแบบเส้น หากวางทิ้งไว้เส้นจะไม่จับเป็นก้อน

ผัดหมี่พิมายดั้งเดิมจะใส่ปลาย่างเป็นหลัก ส่วนผักก็ใส่เพียงถั่วงอกและต้นหอม เน้นวัตถุดิบที่หาได้ในพื้นถิ่น ก่อนจะปรับมาเป็นผัดหมี่ที่คล้ายผัดไทยตามความนิยมของคนหมู่มาก นอกจากผัดหมี่แล้วคนพิมายยังนิยมทำแกงหมี่ใส่ผักหวาน ซดน้ำร้อน ๆ เหมือนต้มจืด เป็นเมนูง่าย ๆ ในครัวเรือน

“การทำเส้นไม่น่าจะเกิดขึ้นบริเวณนี้ คาดว่าอาจจะมากับคนจีนตั้งแต่ช่วงปี ๒๔๐๐ หรืออาจพร้อมกับการมาถึงของรถไฟที่เปิดการโดยสารครั้งแรกในปี ๒๔๔๓ ซึ่งเป็นระลอกใหญ่ที่พาคนจีนมาตั้งถิ่นฐานในเมืองราชสีมารวมถึงต่างอำเภอเป็นวงกว้าง  ถ้าเราดูกรรมวิธีและวัตถุดิบมันเกิดการ localized แล้ว เราผลิตเส้นเอง แล้วใส่ปลากับผักที่หาได้ง่าย ๆ”

เนื่องจากไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงหลักฐานของการทำหมี่พิมาย วรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีในพื้นที่และสมาชิกภาคีอนุรักษ์เมืองพิมาย ผู้สนใจศึกษารวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองพิมายหลายเรื่อง จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่าภูมิปัญญาการทำเส้นอาจเข้ามาพร้อมการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนมายังที่ราบสูงแห่งนี้

ผัดหมี่พิมายนิยมรับประทานคู่กับส้มตำ เดิมจะผัดใส่ปลาย่างเป็นหลักและเน้นวัตถุดิบที่หาได้ในพื้นถิ่น

สอดคล้องกับข้อมูลที่ยายเติ้บได้ให้ไว้ว่า ตาทวดเป็นคนจีนที่เดินทางค้าขายทางเกวียนมาอยู่กินกับยายทวดที่เป็นชาวพิมาย จึงอาจส่งต่อแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาซึ่งกันและกันจนเกิดเป็นหมี่พิมายก็เป็นได้

“มีเงินก็ซื้อหมี่ยายเติ้บไม่ได้ ซื้อทองยังง่ายกว่าคนเขาให้ฉายาว่ายายเติ้บจองหอง เพราะบางทีไม่มีคนมาช่วยตากแป้งก็ทำไม่ได้”

ยายเติ้บยังเสริมว่าความนิยมของการบริโภคหมี่พิมายมีมากขึ้นแต่ของกลับขาดตลาด ด้วยกำลังการผลิตที่ต้องใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่จึงกลายเป็นของหายาก เส้นหมี่แบบอื่น ๆ จึงเข้ามาแทนที่หมี่พิมาย เพราะซื้อขายง่ายกว่า

“ถ้ายายเติ้บไม่ทำ หมี่พิมายทำมือก็อาจจะสูญไปเลย ทำหมี่ไม่ได้แต่งตัวสวยไปไหน ตื่นมาก็ค่อกม่อกแค่กแม่ก (มอมแมม) อยู่กับควันกับถ่าน จะหาคนมาทำต่อมันก็ยากมาก”

แม้ยายเติ้บจะเป็นทายาทรุ่น ๓ ที่สานต่อภูมิปัญญาการทำหมี่พิมายมาอย่างดี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือรุ่นต่อไปที่จะมารับไม้ต่อ

ปัจจุบันยายเติ้บเปิดโรงหมี่หลังบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้การทำหมี่พิมาย จากการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ด้วยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้ให้นานที่สุด

“ไม่มีวันไหนที่ยายเติ้บไม่อยากทำหมี่เลย เพราะเคยชินไปแล้ว ก็ภาคภูมิใจที่ได้เป็นสัญลักษณ์ของหมี่พิมาย ไปตรงไหนใครก็รู้จัก ถ้าได้ทำมันก็ยังพอมีรายได้ เป็นวิชาติดตัวทำให้มีเงินใช้ตั้งแต่สาวจนแก่”

หมี่พิมายทำมือเส้นสุดท้ายอาจหายไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง...แต่จนกว่าจะถึงวันนั้น เตาไฟในโรงหมี่ของยายเติ้บจะยังคงถูกจุดสว่างไสวในทุกค่ำคืน