วัฒนธรรม "เส้น"
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
ภาพ : ห้องสมุดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ปลายปี ๒๔๘๕ เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพระนครเป็นเวลาหลายเดือน ขณะนั้นอยู่ในช่วงปีแรกแห่งสงครามมหาเอเชียบูรพา รัฐบาลไทยเป็นพันธมิตรกอดคอร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่นอย่างเหนียวแน่น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม คือผู้นำสูงสุดที่มีอำนาจเต็มเปี่ยม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับล้วนต้องพิมพ์คำขวัญว่าด้วยท่านผู้นำไว้ที่ “หู” (ear) คือมุมบนข้างชื่อหนังสือพิมพ์หน้าแรก เช่น “เชื่อมั่น ทำตาม ท่านพิบูลสงคราม ชาติปลอดภัย” ของหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ และ “เชื่อพิบูลสงครามชาติไม่แตกสลาย” ของหนังสือพิมพ์ สรีกรุง (ศรีกรุง)
นอกจากภารกิจในการบริหารบ้านเมืองแล้ว สิ่งสำคัญที่ท่านนายกรัฐมนตรีอุทิศเวลาให้เป็นอย่างมาก คือการเขียนบทความรายวัน ด้วยนามปากกาสารพัด เช่น “สามัคคีชัย” “อกไก่” “๒๑๗๕” “สามัคคีไทย” แล้วส่งไปอ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงในตอนเที่ยงหรือตอนค่ำ จากนั้นในวันต่อ ๆ มา หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องลงเผยแพร่ซ้ำให้อีกครั้งหนึ่ง โดยถือเป็นเรื่องสำคัญชนิด “คอขาดบาดตาย”
งานศึกษาเรื่องนกเงือกของอาจารย์พิไลเริ่มต้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ก่อนขยับขยายไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส และพื้นที่อื่น ๆ
ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม พายเรือขายสินค้าต้นแบบตามคติของท่านสามัคคีชัย ระหว่างน้ำท่วมทำเนียบรัฐบาล ปี ๒๔๘๕
ภาพ : อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
ก๋วยเตี๋ยวเรือในทำเนียบฯ
“ภริยานายพันโทขายก๋วยเตี๋ยวในทำเนียบ ท่านสามัคคีชัยจึงแนะนำอาชีพนี้แก่พี่น้องไทย” คือพาดหัวรองหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๕ เนื้อข่าวกล่าวอ้างบทความของท่านสามัคคีชัย ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ว่าในระหว่างเวลาน้ำเหนือไหลหลากมามากคราวนี้ ได้ทราบว่าในทำเนียบสามัคคีชัย (ทำเนียบรัฐบาล) เกิดมีการขายก๋วยเตี๋ยวเรือกันขึ้น
แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นภริยาของพ.ท. สิลป์ รัตนพิบูลชัย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีฯ กลาโหมไว้ด้วย
เข้าใจว่าท่านสามัคคีชัยคงได้ข้อมูลโดยตรงจากคุณละม่อม รัตนพิบูลชัย จึงทราบรายละเอียดว่า เธอเพาะถั่วงอกเอง ทำเส้นเอง เครื่องประกอบต่าง ๆ ล้วนทำเองและขายเอง ที่สำคัญคือการขายก๋วยเตี๋ยวเช่นนี้ใคร ๆ ก็ทำได้ เพราะลงทุนคราวหนึ่งไม่เกิน ๒๐ บาท แต่ได้กำไรไม่ต่ำกว่า ๒ บาท ท่านสามัคคีชัยคำนวณให้ด้วยว่าถ้าขายทุกวัน เดือนหนึ่งจะมีรายได้ถึง ๖๐ บาท ก่อนจะสรุปว่า พี่น้องไทยคนไหนที่ยังไม่มีอาชีพ ควรจะลองขายก๋วยเตี๋ยวดูบ้าง
สมควรกล่าวในที่นี้ด้วยว่า คุณละม่อมคือหนึ่งในกลุ่มแม่บ้านของผู้ใกล้ชิดท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับสูงสุด พล.ต. อนันต์ พิบูลสงคราม ผู้เป็นบุตรชาย บันทึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณแม่ คือท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ว่าภายหลังเหตุลอบวางยาพิษนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๘๑ คุณแม่จึงต้องจัดเตรียมอาหารทุกมื้อให้คุณพ่อเอง ดังที่ลูก ๆ จำได้ว่า “แม่ซาวข้าวเสียเล็บแม่ไม่เคยยาวเลย” หรือไม่เช่นนั้นก็ได้อาศัยภริยาของนายทหารผู้ใกล้ชิดท่านนายกฯ อีกสามคนผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยกันทำอาหารให้ที่บ้าน ได้แก่ คุณอุดมลักษณ์ (ภริยา พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์, ปี ๒๔๕๓-๒๕๐๓) คุณแอร่ม (ภริยา พล.ท. ปลด ปลดปรปักษ์ พิบูล-ภานุวัธน์/ขุนปลดปรปักษ์, ปี ๒๔๔๕-๒๔๙๖) และคุณละม่อม (ภริยา พล.ท. สิลป์ รัตนพิบูลชัย/ขุนศิลป์ศรชัย, ปี ๒๔๔๖-๒๔๙๙)
ดังนั้นแม่ค้าที่จะได้เข้าไปพายเรือขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ในทำเนียบสามัคคีชัยจึงต้องเป็นผู้ที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดี เช่นคุณละม่อม ว่านอกจากมีฝีมือด้านการครัวแล้ว ยังต้องได้รับความไว้วางใจจากท่านผู้นำเป็นการส่วนตัว
ส่วนแนวคิดเรื่องการให้คนไทยหันมาขายก๋วยเตี๋ยว (เพราะก่อนหน้านี้มีแต่พ่อค้าเร่ชาวจีน) น่าจะมีมาแล้วระยะหนึ่ง เช่นที่ เอนก นาวิกมูล ค้นพบข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ ฉบับวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๘๑ (ขณะนั้นยังขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายน ดังนั้นมกราคม ๒๔๘๑ เทียบอย่างปัจจุบันจึงตรงกับเดือนมกราคม ๒๔๘๒) ว่าทางธรรมการจังหวัด (คือศึกษาธิการจังหวัด) ได้จัดส่งนักเรียนของโรงเรียนประถมกสิกรรมเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี มาขายก๋วยเตี๋ยวที่กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) และโรงเรียนสวนกุหลาบ โดยได้เริ่มลงมือขายก๋วยเตี๋ยวแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๑ “นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีคนไทยประกอบอาชีพชนิดนี้” แต่เข้าใจว่าไม่นานก็คงต้องเลิกรากันไป เพราะผู้ขายล้วนเป็นนักเรียนจากจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งคงต้องกลับไปเรียนหนังสือกันต่อ
ทว่าสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างก๋วยเตี๋ยวเดือนมกราคม ๒๔๘๑ กับเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๕ คือเมื่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีปรารภเรื่องนี้ขึ้นมาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ภาคราชการต่างรีบขานรับนโยบายของท่านผู้นำอย่างดุเดือด
เครื่องแบบแต่งกายชุดขายก๋วยเตี๋ยว สำหรับบุรุษและสตรีตามที่ทางราชการกำหนด สรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๑ และ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๕
ภาพ : http://digital.nlt.go.th/
ก๋วยเตี๋ยว
กรมประชาฯ
“ต้องการคนไทยที่มีอาชีพขายกวยเตี๋ยว พนะท่านผู้นำมอบเงินเพื่อเปนทุนส่งเสิม” คือข่าวหนังสือพิมพ์ สรีกรุง ๕ พฤศจิกายน โดยมีรายละเอียดว่า ด้วยกรมประชาสงเคราะห์ได้รับบัญชาจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ให้จัดขายก๋วยเตี๋ยวตามสถานที่ราชการให้เพียงพอแก่ความต้องการ ในการนี้ ท่านนายกฯ จะได้มอบเงินเพื่อเป็นทุนส่งเสริม จึงขอประกาศให้คนไทยที่มีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวไปติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่กรมประชา-สงเคราะห์ วังปารุสกวัน ถนนราชดำเนินนอก “โดยด่วน”
“คนขายก๋วยเตี๋ยวไทยมีเครื่องแบบแต่งตัว” คือพาดหัวรองในหน้าแรกของ ประชาชาติ ๗ พฤศจิกายน กล่าวถึงเรื่องที่กรมประชาสงเคราะห์จัดให้ผู้ขายก๋วยเตี๋ยวคนไทยแต่งกายตามแบบของกรมสาธารณสุข
ในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า “ก๋วยเตี๋ยวไทยสู่สถานที่ราชการแล้ว” พร้อมระบุนามสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่เริ่มเปิดจำหน่ายก๋วยเตี๋ยว ตั้งแต่วันที่ ๕ พฤศจิกายน ได้แก่ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรมช่างแสงทหารบก และโรงงานรถไฟมักกะสัน ถัดมาในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ขยายไปอีกเก้าแห่ง คือ สำนักงานพระคลังข้างที่ กรมสรรพาวุธทหารเรือ โรงพยาบาลเสนารักษ์พญาไท ที่ทำการไปรษณีย์หน้าพระลาน กรมเชื้อเพลิง กระทรวงพาณิชย์ สำนักพระราชวัง กองพันทหารม้าที่ ๑ และกระทรวงเกษตราธิการ
วันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๗ พฤศจิกายน มีร้านก๋วยเตี๋ยวในความอุปถัมภ์ของกรมประชาสงเคราะห์เปิดในสถานที่ราชการเพิ่มอีกห้าแห่ง ได้แก่ กรมพลศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ กองเรือรบทหารเรือ กระทรวงการสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม และที่ทำการไฟฟ้าหลวงสามเสน ดังรายงานข่าว “ก๋วยเตี๋ยวไทยกำลังแพร่หลาย” ประชาชาติ ๙ พฤศจิกายน พร้อมกับแจ้งด้วยว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ค้าก๋วยเตี๋ยว กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดจำหน่ายวัตถุอุปกรณ์สำหรับขายก๋วยเตี๋ยวในราคาต้นทุนแก่ผู้ค้า เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก พริกป่น พริกไทย ถั่วลิสง เต้าหู้ กุ้งแห้ง น้ำส้ม น้ำตาล น้ำปลา โดยเฉพาะถั่วงอก กรมประชาสงเคราะห์ถึงกับให้นิคมสร้างตนเอง (ในความรับผิดชอบดูแลของทางกรม) ดำเนินการปลูกถั่วเขียวเพิ่ม เพื่อจะได้นำผลผลิตมาเพาะเป็นถั่วงอกต่อไป
“สตรีผู้ขายก๋วยเตี๋ยวในเครื่องแบบ”
สรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๕
ภาพ : http://digital.nlt.go.th/
พี่น้องจีนไทย
ตอนเที่ยงวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน วิทยุกระจายเสียงซึ่งสมัยนั้นยังมีเพียงสถานีเดียวคือวิทยุไทยของกรมโฆษณาการ ได้นำบทความ “ดอกแก้วลูกแก้วที่รัก” ของท่านสามัคคีชัยมาอ่านออกอากาศ มีบางตอนพาดพิงถึงเรื่องก๋วยเตี๋ยวอีก (สรีกรุง ๑๐ พฤศจิกายน) คราวนี้ท่านอธิบายให้ฟังอย่างละเอียดว่า หนึ่งในงานของชาติที่คิดจะทำในช่วงนี้คืออยากให้พี่น้องไทยทุกคนกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารที่ดีมาก ราคาถูก มีคุณค่าทางอาหาร รสชาติอร่อย มีเปรี้ยวเค็มหวานครบ ทั้งยังผลิตขึ้นได้ในประเทศไทยทั้งหมด
ส่วนข้อวิตกเรื่องอนามัยนั้น ท่านเล่าว่าตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนนายร้อย ครูเคยย้ำนักย้ำหนาว่าไม่ให้กินก๋วยเตี๋ยวในหน้าร้อนเพราะจะเป็นอหิวาตกโรค นั่นเป็นเพราะสมัยนั้นสุขอนามัยยังไม่ดี เชื้อโรคลงไปปะปนในก๋วยเตี๋ยวได้ง่าย แต่มาบัดนี้การทำก๋วยเตี๋ยวอยู่ในความดูแลของทางราชการ คือกรมประชาสงเคราะห์แล้ว จึงมั่นใจได้ในความสะอาด
ท่านสามัคคีชัยเสนอให้ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารประจำชาติไทย ที่ “ขอยืม” มาจากพี่น้องจีน และว่าถ้าทุกคนพร้อมใจกันกินก๋วยเตี๋ยวแล้ว จะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ชาวไร่ชาวนาชาวประมงจะมีงานทำด้วย
อย่างไรก็ดีงานนี้จะสำเร็จลงได้ก็ด้วยการผลักดันจากภาครัฐ จึงเห็นว่าทางกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยต้องช่วยเหลือ โดยเกณฑ์ให้ครูใหญ่ทุกโรงเรียน ข้าหลวงประจำจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ทุกจังหวัด ตลอดจนนายอำเภอทุกคน รีบจัดการขายก๋วยเตี๋ยวคนละ ๑ หาบ โดยให้กรมประชาสงเคราะห์ช่วยแนะนำวิธีเพาะถั่วงอก วิธีทำเส้นก๋วยเตี๋ยวและเครื่องประกอบ ตลอดจนพิมพ์คู่มือแนะนำวิธีขายก๋วยเตี๋ยวแจกจ่ายให้ทั่วราชอาณาจักร ถ้าทำได้ดังนี้ ภายในเวลา ๓ เดือน คนไทยทุกคนจะได้กินก๋วยเตี๋ยว
ท่านสามัคคีชัยยังคำนวณให้ฟังด้วยว่า หากคนไทย ๑๘ ล้านคนทั้งประเทศกินก๋วยเตี๋ยวคนละชามทุกวัน วันหนึ่งจะขายก๋วยเตี๋ยวได้ ๑๘ ล้านชาม คิดราคาชามละ ๕ สตางค์ ค่าก๋วยเตี๋ยวของทั้งประเทศรวมกันจะเป็นเงินถึง ๙๐ ล้านสตางค์ หรือ ๙ แสนบาท เงินเหล่านี้จะไหลไปถึงมือของชาวไร่ชาวนาชาวประมงคนไทยทั้งสิ้น ไม่หายหกตกหล่นไปไหนเลย
ในตอนท้ายท่านยังเล่าด้วยว่ามีผู้เสนอว่าควรเปลี่ยนชื่อก๋วยเตี๋ยวเสียใหม่ให้เป็นคำไทย แต่ “ฉันเห็นไม่ควนเปลี่ยน” อยากให้เก็บคำนี้ไว้ตามเดิม เพราะคนรู้จักกันดีแล้ว ทั้งยังเป็นสิ่งระลึกถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างพี่น้องไทยจีน “เปนการผูกสัมพันธ์ต่อกันไห้สนิธสนมสมที่ว่าจีนไทยเปนพี่น้องกัน ดีเหมือนกัน”
รายงานข่าว “ความก้าวหน้าของก๋วยเตี๋ยว”
สรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๕
ภาพ : http://digital.nlt.go.th/
๑ อำเภอ ๑ หาบ
ถัดมาอีกไม่กี่วัน จากคำปรารภในบทความของท่านสามัคคีชัยก็ถูกแปรรูปมาเป็น “คำชักชวน” จากท่านนายกรัฐมนตรีโดยตรง
หน้าแรกของ ประชาชาติ ๑๑ พฤศจิกายน พาดหัวข่าวว่า “ท่านนายกฯ ชักชวนไห้อธิบดีจัดขายก๋วยเตี๋ยว ชักชวนไปยังข้าหลวงและนายอำเพอด้วย” โดยมีรายละเอียดว่า เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่านผู้นำได้มีคำชักชวนถึงอธิบดีทุกกรม ครูอาจารย์ใหญ่ทุกโรงเรียน ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอทุกท่าน ให้ช่วยจัดการขายก๋วยเตี๋ยวกันคนละหาบ โดยจะเป็นส่วนตัว หรือเป็นของหน่วยราชการ หรือจ้างคนไทยขายก็ได้ สุดแต่ความสะดวก และหากท่านผู้ใดจัดการขายขึ้นเรียบร้อยแล้ว ช่วยแจ้งเข้ามายังทำเนียบสามัคคีชัย (ทำเนียบรัฐบาล) ด้วย “จะขอบไจมาก”
เมื่อ ฯพณฯ ประกาศความต้องการออกมาชัดเจนขนาดนี้ แน่นอนว่าหนังสือพิมพ์วันต่อ ๆ มาจึงเต็มไปด้วยพาดหัวข่าวเรื่องหน่วยงานราชการที่ต่างเร่งรีบขับเคลื่อนผลักดันนโยบายก๋วยเตี๋ยวแห่งชาติ
“ท่านนายกไห้ยืมทุนค้าก๋วยเตี๋ยวรายละ ๓๐ บ. เพื่อแพร่การขายออกทั่วประเทสโดยเร็ว” (สรีกรุง ๑๐ พฤศจิกายน)
“ความก้าวหน้าของก๋วยเตี๋ยว มีผู้นิยมกินแพร่หลาย ทุกหาบขายไม่เหลือ ผู้ขายหยู่ไนเครื่องแบบสอาด” (สรีกรุง ๑๑ พฤศจิกายน)
“ประชาสงเคราะห์เปนธุระไห้แก่ผู้จะค้าก๋วยเตี๋ยวดียิ่ง หลายจังหวัดติดต่อมายังกรมประชาสงเคราะห์เพื่อขอเครื่องมือเกี่ยวกับการค้าก๋วยเตี๋ยว” (สรีกรุง ๑๒ พฤศจิกายน)
ในหน้า ๓ ผู้สื่อข่าวของ สรีกรุง รายงานจากกระทรวงเกษตราธิการ เชิงสะพานอุบลรัตน์ (เข้าใจว่าปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งของกรมที่ดิน) อันเป็นแหล่งขายก๋วยเตี๋ยวที่สำคัญแห่งหนึ่ง พบว่าผู้ขายเป็นสตรีล้วน แต่งเครื่องแบบสะอาดสะอ้านเรียบร้อย วันแรก (ตามข่าวข้างต้นคือ ๖ พฤศจิกายน) ขายได้ ๘ บาท วันล่าสุดได้ถึง ๑๔.๗๕ บาท โดยเมื่อถึงเวลาเที่ยง ๑๒ นาฬิกา มีข้าราชการตั้งแต่ชั้นเจ้าพนักงาน หัวหน้าแผนก หัวหน้ากอง กรม จนถึงระดับอธิบดีมานั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงก็ยังสั่งก๋วยเตี๋ยวไปรับประทาน ข่าวยังกล่าวด้วยว่าเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการเปิดขายก๋วยเตี๋ยวในหน่วยราชการอีก ๑๓ แห่ง ได้แก่ กองประปากรุงเทพฯ กรมโฆษณาการ กองสุขศึกษา กรมสรรพากร โรงงานทอผ้าไทย กรมไปรษณีย์โทรเลข กรมอัยการ กรมสหกรณ์ กรมยุวชนทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารบก กรมชลประทาน กองคลังออมสิน และกองพันทหารราบที่ ๙
อาหารกลางวัน
ของท่าน
ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้เอง ในหน้าหนังสือพิมพ์ สรีกรุง เริ่มปรากฏข้อความ “ไทยต้องกินก๋วยเตี๋ยว ไทยต้องขายก๋วยเตี๋ยว” และ “อาหารกลางวันของท่านคือ ‘ก๋วยเตี๋ยว’” พิมพ์แทรกเป็นล้อมกรอบขนาดเล็กเหมือนโฆษณาย่อยท้ายคอลัมน์ ในลักษณะเช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้เคยลงพิมพ์โฆษณานโยบายอื่น ๆ ของทางรัฐบาล เช่น “ทำตามผู้นำ” หรือ “‘ขอบไจ’ และ ‘ขอโทส’ ต้องติดปากคนไทยเสมอ”
ช่วงเที่ยงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน มีการจัดเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวขึ้น ณ ทำเนียบสามัคคีชัย ในการนี้ท่านอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ (พ.ท. ก้าน จำนงภูมิเวท/ขุนจำนงภูมิเวท, ปี ๒๔๔๖-๒๕๐๗) และข้าราชการในกรม ลงมือทำก๋วยเตี๋ยวด้วยตนเองเพื่อเป็นอาหารกลางวันของคณะรัฐมนตรีซึ่งไปประชุมกัน โดยมีความประสงค์ให้บรรดาท่านผู้มีเกียรติได้ลองลิ้มชิมรสชาติของก๋วยเตี๋ยวฝีมือคนไทย ปรากฏว่าการจัดเลี้ยงอาหารกลางวันมื้อพิเศษนี้เป็นที่พอใจของท่านรัฐมนตรีและแขกผู้มีเกียรติเป็นอย่างยิ่ง รายงานข่าวกล่าวว่าบางท่านรับประทานก๋วยเตี๋ยวไปถึงสามชามก็มี (สรีกรุง ๑๓ พฤศจิกายน)
สรีกรุง ฉบับวันรุ่งขึ้น คือ ๑๔ พฤศจิกายน อุทิศหน้ากระดาษหนึ่งหน้าเต็มลงพิมพ์วิธีการทำและปรุงก๋วยเตี๋ยวง่าย ๆ แปดชนิดตามตำราของกรมประชาสงเคราะห์ อันได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว ก๋วยเตี๋ยวไก่ ก๋วยเตี๋ยวปูทะเล ก๋วยเตี๋ยวผัดถั่วงอก ก๋วยเตี๋ยวกวางตุ้งหรือก๋วยเตี๋ยวผัดใบคะน้า และก๋วยเตี๋ยวผัดกะทิ
ในที่นี้ขอนำมาลงไว้บางส่วนพอให้เห็นภาษาสำนวนและวิธีทำตามต้นฉบับ ได้แก่ตำรา “ก๋วยเตี๋ยวแห้ง”
เครื่องปรุง
เส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กหรือเส้นใหญ่ ถั่วงอก น้ำมันหมู กระเทียมเจียว เนื้อหมู ตับหมู กุ้งแห้งตัวเล็กหรือกุ้งฝอย ถั่วลิสงป่น เต้าหู้เหลือง น้ำปลา น้ำตาล ตั้งฉ่าย น้ำส้มหรือมะนาว ผักชี ต้นหอม พริกแห้งป่น พริกดอง
วิธีปรุง
เนื้อหมู ตับหมู ต้มให้สุก หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมบาง ๆ เต้าหู้เหลืองหั่นชิ้นเล็ก ๆ ถั่วลิสงคั่วบุบพอแตกเอาของเหล่านี้ใส่จานไว้ต่างหาก ต้มน้ำให้เดือด เอาเส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก ใส่ตะกร้อลวดตาข่าย ลวกประมาณ ๑๐ วินาที ยกขึ้นสลัดน้ำให้แห้งแล้วใส่ชามที่สะอาด เอาน้ำมันหมู กระเทียมเจียวใส่ลงไปพอสมควร เคล้าให้เข้ากันดีแล้ว ใส่น้ำปลา น้ำตาล กุ้งแห้ง ตั้งฉ่าย พริกป่น ถั่วลิสง เนื้อหมูหรือตับหมู
น้ำส้มหรือน้ำมะนาว พริกดอง ต้นหอมหั่น ผักชีโรยหน้า เมื่อผู้บริโภคชอบรสใดเป็นพิเศษก็จะเติมได้ตามต้องการ
ส่วน “ก๋วยเตี๋ยวผัดถั่วงอก” จากตำรากรมประชาสงเคราะห์นี้ บางท่านเชื่อว่าอาจเป็นญาติใกล้ชิดของก๋วยเตี๋ยวผัดไทยจึงคัดมาลงไว้ด้วยอีกสูตรหนึ่ง
เครื่องปรุง
ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ถั่วงอก ไข่เป็ด หัวผักกาดเค็ม ถั่วลิสง น้ำปลา น้ำตาล ใบกุยช่าย พริกป่น มะนาว น้ำมันหมู กระเทียมเจียว ผักหัวปลี ผักใบบัวบก หรือผักอื่นที่ชอบ
วิธีปรุง
เอาก๋วยเตี๋ยวกับถั่วงอก ประมาณเส้นก๋วยเตี๋ยว ๑ ส่วน ถั่วงอก ๒ ส่วน ใส่ลงในกระทะที่ตั้งไฟ แล้วเอาน้ำพรมนิดหน่อย เพื่อให้เส้นก๋วยเตี๋ยวอ่อนตัว แล้วใส่น้ำมันหมูที่เจียวกระเทียม ผัดให้เข้ากันดีแล้ว แหวกเส้นก๋วยเตี๋ยวให้เป็นช่องตรงกลาง ใส่น้ำมันหมูนิดหน่อย ต่อยไข่ลงไป ๑ ฟอง แล้วผัดรวม
กันกับเส้นก๋วยเตี๋ยวและถั่วงอก เอาถั่วลิสง น้ำปลา น้ำตาลทราย ตั้งฉ่ายหรือหัวผักกาดเค็ม ใบกุยช่ายใส่ลงไปคนให้เข้ากัน ตักใส่จาน ใส่พริกป่น มะนาวเล็กน้อย ผักมีหัวปลี ใบบัวบก ใส่ข้างจาน รับประทานได้
วิธีการทำและปรุงก๋วยเตี๋ยวอย่างง่าย ๆ โดยกรมประชาสงเคราะห์ สรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๕
ภาพ : http://digital.nlt.go.th/
อดกิน
คืนวันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน วิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ นำเอาบทความ “ข่าวหมายเลข ๒๑๗๕” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนามปากกาของท่านนายกรัฐมนตรี (เช่นเคย) มาอ่านออกอากาศ และเนื่องจากเรื่องก๋วยเตี๋ยวกำลังอยู่ในกระแส สิ่งที่ท่านต้องกล่าวถึงจึงหนีไม่พ้นเรื่องนี้ (สรีกรุง ๑๗ พฤศจิกายน)
เรื่องเริ่มต้นขึ้นว่า เมื่อตอนกลางวันนี้ ท่านผู้เขียน คือ ๒๑๗๕ ไป “บ้านกลางนา” (บ้านพักส่วนตัวช่วงสุดสัปดาห์ของท่านจอมพลที่หลักสี่ ส่วนวันราชการ ท่านนายกฯ พำนักอยู่ ณ ทำเนียบสามัคคีชัย อันเป็นบ้านประจำตำแหน่ง) บังเอิญนึกขึ้นได้ว่าท่านนายกรัฐมนตรีเคยชมเชยนายอำเภอบางเขน ว่าจัดการขายก๋วยเตี๋ยวได้รวดเร็วทันใจ จึงให้คนออกไปซื้อมาให้ชิม แต่ผู้ไปซื้อกลับมาบอกว่าวันนี้วันอาทิตย์ เขาหยุดขายก๋วยเตี๋ยว เห็นแต่อุปกรณ์การขายตั้งอยู่ในบ้าน ท่าน ๒๑๗๕ อดกินก๋วยเตี๋ยว แล้วเลยพาลอารมณ์เสีย
“ดีเหมือนกัน ฉันจึงได้ความรู้ไหม่ว่าก๋วยเตี๋ยวราชการหรือของคนไทยนั้น วันหยุดราชการไม่มีขายเพราะต้องหยุดราชการ และซาบเช่นเดียวกันว่า การขายก๋วยเตี๋ยวของราชการกรมประชาสงเคราะห์ก็หยุดราชการเหมือนกัน ตกลงเปนประเพนีได้ว่าท่านผู้ไดจะกินก๋วยเตี๋ยววันหยุดราชการ ไห้ไปหาก๋วยเตี๋ยวที่จีนขาย ของไทยหยุดราชการ และฉันทายว่า อีกราวหนึ่งเดือน ทั้งวันหยุดหรือไม่หยุดราชการ เราจงพากันไปกินก๋วยเตี๋ยวของพี่น้องชาวจีนเถิด ของชาวไทยล้มหมดแน่นอน...”
ในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน (สรีกรุง ๑๗ พฤศจิกายน) ยังต้องลงอีกบทความหนึ่งโดยท่านสามัคคีชัยด้วย คือ “เปลี่ยนอย่างไรดี” เล่าเรื่องว่าช่วงนี้ที่น้ำเริ่มลดบ้างแล้ว แต่ก็ยังท่วมอยู่ทั่วไป เวลาท่านขับรถกลับมายังบ้านกลางนาย่านหลักสี่ในยามดึก พบเห็นฝูงควายอยู่ทั่วไปบนถนน ส่วนริมถนนก็มีเพิงพักที่ปลูกขึ้นชั่วคราว ราวกับสร้างไว้ให้เด็ก ๆ เล่นขายของกัน นี่คือที่อยู่อาศัยของชาวนาซึ่งอพยพหนีน้ำตามควายขึ้นมา ท่านรู้สึกเหมือนหายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อได้แลเห็นชาวนาร่างผอมโซ มีแต่ซี่โครง จึงคิดว่าพี่น้องของเราเหล่านี้ ถ้าได้กินก๋วยเตี๋ยวแม้เพียงวันละชาม คงจะอ้วนพีขึ้นบ้างเป็นแน่ จึงใคร่วิงวอนให้ท่านนายอำเภอ (แน่นอนว่าต้องหมายถึงนายอำเภอบางเขนอีกนั่นแหละ) จัดการให้มีก๋วยเตี๋ยวขายให้ชาวนากินบ้าง คงเป็นกุศลผลบุญไม่น้อย และว่า “ไครสงสารชาวนา ช่วยไห้ชาวนากินก๋วยเตี๋ยวมากคนได้พอแล้ว”
คณิตศาสตร์ของ
ก๋วยเตี๋ยว
เรื่องก๋วยเตี๋ยวยังคงจับอกจับใจท่านนายกฯ บทความ “คนิตสาตรของ 2175” (คณิตศาสตร์ของ ๒๑๗๕) ที่อ่านออกอากาศในวิทยุไทยแล้วลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สรีกรุง ๑๘ พฤศจิกายน เขียนเป็นทำนองชักชวนยุวชนไทยให้ลอง “แยกธาตุ” ก๋วยเตี๋ยวดู ว่าก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ให้ประโยชน์แก่คนกินอย่างไร และให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมายขนาดไหน
“๑. ก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง มีเส้นก๋วยเตี๋ยว ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า ตีเสียว่าเปนราคา ๓ สตางค์ ฉะนั้นคนหนึ่งกินข้าวราคา ๓ สตางค์ ข้าวนี้มาจากข้าวไนนาไทย ตกลงไครกินก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งก็เท่ากับช่วยกินข้าวลุงมี ๓ สตางค์ ลุงมีได้เงินไป ๓ สตางค์ เปนค่าแรงปลูกข้าว แล้วคลังได้กี่สตางค์ โปรดคิดเอาเอง
๒. ก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง มีถั่วงอกหนึ่งสตางค์ ทำด้วยถั่วเขียว ตกลงเราไห้เงิน ๑ สตางค์แก่ผู้ปลูกถั่วเขียว ถ้าทุกคนกิน วันหนึ่งก็เปน ๑๘ ล้านสตางค์เท่ากับแสนแปดหมื่นบาทต่อหนึ่งวัน สำหรับเปนค่าถั่วงอกผสมปรุงก๋วยเตี๋ยว ไร่ถั่วจะมีมากขึ้น คนปลูกถั่วมีรายได้มากขึ้น เงินเข้าคลังมากขึ้น คนกินก๋วยเตี๋ยวดีกว่ากินข้าวกับพริกหย่างที่พี่น้องชาวนาของเรากินหยู่ทุกวันนี้ อนามัยดีขึ้น ดั่งนี้มิดีกว่าส่งถั่วเขียวไปนอกแล้วไม่ได้อะไรแลกเปลี่ยนกลับมาหรือ ? ดีกว่าเงินของเราไปจมหยู่ต่างประเทสเปนไหน ๆ
๓. ก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งมีถั่วลิสง, มีผักชี มีกุ้ง มีหมู มีน้ำปลา มีพริก มีน้ำมันหมู มีตั้งฉ่าย เหล่านี้ คิดรวม ๆ เปนหกสตางค์ ไน ๖ สตางค์นี้ จะก่อไห้เกิดไร่ถั่วลิสง ไร่ผักชี ไร่พริก และการทำตั้งฉ่าย มีการประมง จับกุ้ง มีการเลี้ยงหมู มีโรงงานทำน้ำปลา เหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย เปนการส้างอาชีพไห้แก่ชาติเราตรง ๆ ทีเดียว แล้วเรามากินกันเอง เงินหกสตางค์ก็วนเวียนไนหมู่พวกเรา เหลือบางส่วนเข้าคลังด้วย ค่าเครื่อง ก๋วยเตี๋ยว ๖ สตางค์นี้ วันหนึ่งถ้ากินกัน ๑๘ ล้านคน จะเปนเงินล้านแปดหมื่นบาท เงินล้านแปดหมื่นนี้เปนเงินส้างชาติทุกวัน...”
เรื่องด่วนจี๋
หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ยังมีข่าวสั้นหน้าสุดท้าย “เรียกทุกปลัดกะซวง ทุกเลขาฯ ประชุมด่วน” อันมีใจความว่าโดยบัญชาของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ให้เรียกประชุมปลัดกระทรวงทุกกระทรวง เลขานุการรัฐมนตรี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการสำนักพระราชวัง ฯลฯ ที่ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน เวลา ๑๑ นาฬิกา “เรื่องที่เข้าประชุมไนวันนี้คือ การขายก๋วยเตี๋ยว”
รายงานข่าวการประชุมดังกล่าวใน สรีกรุง ฉบับวันรุ่งขึ้น (๑๙ พฤศจิกายน) สรุปได้ว่า ให้ทุกกระทรวง ทุกส่วนราชการจัดการขายก๋วยเตี๋ยว โดยผู้ขายต้องแต่งกายตามแบบที่กองสาธารณสุข เทศบาลนครกรุงเทพ ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้หากขาดเหลืออย่างไร เช่น ต้องการรถเข็น ตะเกียบ ชามก๋วยเตี๋ยว หรือวัตถุดิบ ให้สามารถประสานมายังกรมประชาสงเคราะห์ต่อไป
ราวกับว่าท่านนายกรัฐมนตรีอาจเพิ่งสำนึกได้ว่าข้อความตำหนิเรื่องก๋วยเตี๋ยวของอำเภอบางเขนที่เคยเขียนก่อนหน้านี้อาจดุเดือดรุนแรงเกินไป ดังนั้นใน สรีกรุง ฉบับเดียวกัน (๑๙ พฤศจิกายน) จึงปรากฏบทความของท่านสามัคคีชัยตอบโต้ “ข่าวหมายเลข ๒๑๗๕” ราวกับว่าทั้งสองไม่เคยรู้จักกันมาก่อน (ฮา)
ท่านสามัคคีชัยแย้งว่า ขอให้ผู้อ่านอย่าไปฟังท่าน ๒๑๗๕ มากนัก เพราะการไปเที่ยวพูด (เขียน) ว่าคนอื่นเช่นนั้น อาจสร้างความเกลียดชังและทำให้เขาเสียกำลังใจไปโดยใช่เหตุ อย่างเรื่องการขายก๋วยเตี๋ยวของอำเภอบางเขนและของกรมประชาสงเคราะห์ คนเขาอาจจะเคยทำดีมาตั้งมากมาย พอพลาดเข้านิดเดียว เพราะไม่ขายก๋วยเตี๋ยววันอาทิตย์ ท่าน ๒๑๗๕ ก็ไปพูดว่าเขาอย่างเอาเป็นเอาตาย “ท่านไม่ได้กินก๋วยเตี๋ยววันเดียว ท่านคงหิวกะมังเลยว่าเสียมากกว่าค่าของก๋วยเตี๋ยว” และว่าถ้าหากนายอำเภอบางเขนและอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์เกิดน้อยใจลาออกจากราชการขึ้นมา ท่าน ๒๑๗๕ ต้องรับผิดชอบด้วยนะ !
อนึ่ง เข้าใจว่าคำปรารภของท่านสามัคคีชัยในบทความ “เปลี่ยนอย่างไรดี” เรื่องที่ว่าชาวนาควรได้กินก๋วยเตี๋ยวบ้าง คงมีผลสืบเนื่องต่อมาในทางปฏิบัติด้วย
อาจเพราะเรื่องที่ฝากฝังผ่านทางนายอำเภอไปแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ ประชาชาติ ๒๓ พฤศจิกายน มีรายงานข่าวว่า เมื่อเวลา ๒๑ นาฬิกาเศษ ของวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งด่วนไปยังกรมประชาสงเคราะห์ ให้จัดทำก๋วยเตี๋ยวไปเลี้ยงชาวนาอำเภอบางเขน ดังนั้นในวันรุ่งขึ้น (๒๒ พฤศจิกายน) เจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์จึงรีบดำเนินการตามคำสั่งทันที “นับว่าเปนที่น่ายินดีและซาบซึ้งไนความกรุนาของพนะท่าน นายกรัถมนตรีที่ได้มีความกรุนาต่อชาวนาของชาติเปนอันมาก”
เป็นกรรม
เป็นเวร
ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา รายงานข่าวที่ตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ได้ มีเฉพาะชัยชนะยิ่งใหญ่ของฝ่ายอักษะ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น กับความพ่ายแพ้ยับเยินของฝ่ายสัมพันธมิตรในทุกแนวรบเท่านั้น เช่นเดียวกัน รายงานข่าวของรัฐบาลจะเต็มไปด้วยความสำเร็จในกิจการนานาและความรุดหน้าของประเทศชาติภายใต้ท่านผู้นำ ดังนั้นเราพึงพิจารณาข่าวเรื่องก๋วยเตี๋ยวบนหน้าหนังสือพิมพ์ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน
จากข้อมูลที่ยังปรากฏไม่มากนัก มีทัศนะของข้าราชการ
ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งดูเหมือนเป็นคนละเรื่อง
เดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๕ รง ทัศนาญชลี (ปี ๒๔๕๘-๒๕๔๔) เพิ่งย้ายมารับตำแหน่งนายอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ในบันทึกส่วนตัวซึ่งต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของผู้เขียน ท่านเล่าไว้ว่า
“ในจังหวัดพระนครธนบุรีขณะนั้นกำลังแยกจากการเป็นจังหวัดเดียว เรียกแต่ก่อนว่าจังหวัดพระนครและธนบุรี เป็น ๒ จังหวัด เรียกจังหวัดพระนครจังหวัดหนึ่ง จังหวัดธนบุรีอีกจังหวัดหนึ่ง มีข้าหลวงประจำ
จังหวัดจังหวัดละ ๑ คน ซึ่งแต่ก่อนมีเพียงคนเดียว...งานของจังหวัดทั้ง ๒ จึงมีส่วนสัมพันธ์กับทางกระทรวงหรือกรมมหาดไทย หรือกรมการปกครองในขณะนี้
อย่างขาดเสียมิได้ มีงานนโยบายในขณะนั้นเกี่ยวกับอยู่ในระยะเวลาสงครามมหาอาเซียบูรพา และมีคติที่ปลุกปล้ำกันอยู่เสมอทางวิทยุกระจายเสียงว่า เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย และมีบทความทางวิทยุของท่านสามัคคีชัย
คือท่านนายกรัฐมนตรีนั่นเอง มาออกอ่านทางวิทยุเป็นประจำวันว่า สามัคคีชัยว่าอย่างไร ให้ทำอย่างใด ต้องการอย่างใด...
คุณรง ทัศนาญชลี
ภาพ : อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายรง ทัศนาญชลี
“ทางกระทรวงมหาดไทย หรือกรมมหาดไทย หรือสามัคคีชัยก็ดี ต่างมีคำสั่ง คำแนะนำ และรัฐนิยม ชี้ชวนให้ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอพยายาม ตั้งร้านหรือออกร้านขายก๋วยเตี๋ยวให้จงได้คนละ ๑ แห่ง เป็นอย่างน้อย ซึ่งนโยบายอันนี้ทำให้เป็นภาระหนักใจแก่นักปกครองตำแหน่งดังกล่าวไม่มากก็น้อย ไหนจะคิดทำงาน ไหนจะต้องควบคุมหรือจัดให้มีการจำหน่ายก๋วยเตี๋ยว เพราะการขายก๋วยเตี๋ยวในสมัยนั้น ๆ (พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๖) ยังมีไม่แพร่หลายเช่นปัจจุบันนี้ และไม่มีสิ่งของสำเร็จรูปขายเหมือนเวลานี้ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก ลูกชิ้นปลาประเภทต่าง ๆ ผู้ขายจะต้องทำเกือบทุกอย่าง เช่น เพาะถั่วงอกเอง โม่แป้งทำเส้นก๋วยเตี๋ยวเอง บางแห่งใกล้โรงทำเส้นก๋วยเตี๋ยวขายก็ค่อยยังชั่วไปได้อย่างหนึ่ง แล้วแต่ท้องที่ ๆ ไปว่า เจริญมากน้อยเพียงใด สมัยนั้นลูกชิ้นปลาที่จะเอามาใส่ก๋วยเตี๋ยวนั้นยากมาก ถ้าอำเภอใดห่างไกลตลาดสดใหญ่ ๆ มากหน่อย ก็คงใช้กุ้งแห้งจิ๋ว ๆ หรือและไก่ทอดหั่นโรยก๋วยเตี๋ยวก็นับว่าดีแล้ว อาจจะมีบ้างก็พวกเครื่องในหมู เพราะอำเภอมีโรงฆ่าสัตว์ทุกแห่ง เว้นแต่บางแห่งที่ไม่มีการฆ่าหมูขายประจำวันเท่านั้น ดังนั้นการขายก๋วยเตี๋ยวของบรรดาข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอนับว่าต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาก เฉพาะอำเภอภาษีเจริญนี้ซึ่งก็คงจะคล้ายกับอีกหลายอำเภอต้องลงทุนเรือสำหรับเร่ขายก๋วยเตี๋ยวด้วยอีก ๑ ลำเพราะผู้ที่จะไปขายไม่มีทุนรอนพอ ที่จริงการลงทุนนี้สำคัญไม่เท่าใดไปกว่าก๋วยเตี๋ยวขายไม่หมด คงมีเหลือ
กลับมาทุกวัน วันเริ่มแรกก็เอาเข้าแล้ว เหลือมาบานตะเกียงเลย จะรับประทานเองก็ไม่หมด ทั้งเหลือมาทุกวัน ต้องลงทุนเพิ่มทุกวันที่เริ่มวันใหม่ เพราะขายได้วันหนึ่ง ๆ ไม่คุ้มค่าลงทุนประจำวันเลยสักวันเดียวจำได้ว่าขายกันได้ไม่เท่าไรก็ต้องเลิก เป็นกรรมเป็นเวรของนายอำเภอในครั้งกระนั้น แต่จะทำอย่างใดได้ในเมื่อจะต้องการสนองบัญชาของผู้ใหญ่”
ผัดไทย กล้วยแขก ข้าวเม่าทอด
ส่วน “อัมพร หาญนภา” (ลาวัณย์ โชตามระ ลิปตะสุนทร, ปี ๒๔๖๓-๒๕๓๖) นักเขียนสารคดีผู้มีชื่อเสียงและมีชีวิตร่วมยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา เล่าไว้ในหนังสือ ประกายพรึก ของเธอว่า
“พอน้ำท่วมในปี ๒๔๘๕ ของกินที่เป็นแฟชั่นก็คือก๋วยเตี๋ยวผัดไทย กล้วยแขก ข้าวเม่าทอด ไปถนนไหนเป็นเจอถนนนั้น และถนนหนึ่งมีตั้งหลาย ๆ เจ้าประกอบกับตอนนั้นมีการโฆษณาให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยวกันเป็นการใหญ่ และคนไทยต้องกินของไทย จึงเลยมองไปทางไหนก็เจอแต่ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยเป็นแดนไปเลย และต้องมีกล้วยแขก ข้าวเม่าทอดเป็นของหวานประกอบไปด้วย แต่พอน้ำลด และท่านผู้นำสิ้นวาสนาลง วาสนาของก๋วยเตี๋ยวผัดไทยก็พลอยสิ้นตามไปด้วย”
ในที่สุดเรื่องก๋วยเตี๋ยวที่เริ่มต้นกันเมื่อต้นเดือนก็กลับซบเซากันไปตอนปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๕ นั่นเอง เพราะเมื่อถึงเดือนธันวาคม ดูเหมือนว่าความสนใจของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีต้องหันเหไปสู่เรื่องสำคัญใหม่ ๆ ของชาติที่ถาโถมเข้ามา เช่น การฉลองครบรอบปีที่ ๑ แห่งสงครามมหาเอเชียบูรพา และนโยบาย “วัธนธัม” อีกสารพัด แม้ว่าบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ยังตีพิมพ์กรอบข้อความ “ไทยต้องกินก๋วยเตี๋ยว ไทยต้องขายก๋วยเตี๋ยว” และ “อาหารกลางวันของท่านคือ ‘ก๋วยเตี๋ยว’” ต่อมาอีกนาน หากแต่เนื้อข่าวอันเนื่องด้วยเรื่องก๋วยเตี๋ยวก็ค่อย ๆ ห่างหาย นาน ๆ ครั้งจึงอาจพบข่าวสั้น ๆ สักชิ้น
เช่นเดียวกับที่ท่านสามัคคีชัย และ “๒๑๗๕” ก็แทบไม่กล่าวถึงก๋วยเตี๋ยวอีกเลย
อ้างอิง
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายรง ทัศนาญชลี. (๒๕๔๔). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์.
อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม. (๒๕๒๗). ม.ป.ท. : ศูนย์การพิมพ์.
อัมพร หาญนภา. (๒๕๐๖). ประกายพรึก. พระนคร : คลังวิทยา.
เอนก นาวิกมูล. (๒๕๔๗). ถนนสายอดีต ๑. กรุงเทพฯ : สายธาร. หนังสือพิมพ์ สรีกรุง และ ประชาชาติ ที่อ้างอิงในบทความนี้ นำมาจากไฟล์ที่ให้บริการบนเว็บไซต์ของหอสมุดแห่งชาติ http://digital.nlt.go.th/