ผัดหมี่ฮ่องกง
“เส้น” ใน “สยาม”
๓ ศตวรรษ
วัฒนธรรม "เส้น"
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ทศวรรษ
๒๓๐๐
เส้นหมี่แห้ง
จดหมายเหตุที่เรียกว่า คำให้การ ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เป็นคำบรรยายสภาพภูมิสถานบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยายุคสุดท้ายจากความทรงจำของผู้ที่ทันพบเห็น โดยกล่าวถึงบ้านคลองสวนพลูซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกเกาะเมืองอยุธยา ว่าเป็นชุมชนคนจีน ทำธุรกิจต้มกลั่นสุรา เลี้ยงหมู และทำเส้นหมี่แห้งขาย ถือเป็นย่านชุมชนคนจีนที่สำคัญ จนถึงคราวสงครามเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๒ เคยเป็นที่ตั้งค่ายทหารอาสาชาวจีน ป้องกันรอบนอกกรุงศรีอยุธยาแห่งหนึ่ง
ข้อมูลเรื่องชุมชนจีนในอยุธยาที่ผลิตและจำหน่ายเส้นหมี่แห้งนี้น่าสนใจมาก แต่ยังขาดรายละเอียด เพราะไม่รู้ว่าปลายทางของเส้นหมี่เหล่านี้คือที่ใด ใครเป็นลูกค้าหรือนำไปทำอะไรกิน
ทศวรรษ
๒๔๐๐
พระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว
กล่าวกันว่า “ก๋วยเตี๋ยว” มาจากคำจีนในสำเนียงแต้จิ๋วหรือไม่ก็ฮกเกี้ยน หมายถึงเส้นแป้งข้าวเจ้า จึงย่อมเป็นวัฒนธรรมอาหารการกินอย่างจีนที่คนไทยรับมาอีกต่อหนึ่ง คนไทยจะรู้จักก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่เมื่อใดยังค้นไม่พบ ทว่าหลักฐานของคำว่า “ก๋วยเตี๋ยว” ในภาษาไทยปรากฏชัดเจนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นอย่างช้า
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บันทึกว่า ในปี ๒๔๐๘ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงอยู่ในสถานะพระมหาอุปราชของรัชกาลที่ ๔ ประชวรหนัก ระหว่างนั้นเจ้าจอมมารดากลีบทำ “พระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว” (คงหมายถึงก๋วยเตี๋ยวน้ำ) ให้เจ้าพนักงานตั้งถวาย พระองค์ตักเสวยได้เพียงสองฉลองพระหัตถ์ (สองช้อน) ทอดพระเนตรเห็นมีขนอยู่ในก๋วยเตี๋ยว จึงทรงสงสัยว่าเหตุที่ประชวรอาจมาจากการทำเสน่ห์ยาแฝดของเจ้าจอมมารดากลีบ จึงให้ตั้งคณะลูกขุนขึ้นพิจารณาคดี ชำระความได้ว่ามีการทำคุณไสยจริง ลูกขุนตัดสินลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต พอดีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “มีพระราชดำริสงสัยแคลงอยู่ว่าการจะไม่จริง” จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกโทษประหารชีวิตเสีย เป็นแต่เนรเทศเจ้าจอมมารดาไปหัวเมือง
ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารแสดงให้เห็นว่า ในทศวรรษ ๒๔๐๐ “ก๋วยเตี๋ยว” กลายเป็นอาหารที่คนไทยบริโภคกันทั่วไป จนถึงระดับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ รวมทั้งเคยมีราชาศัพท์เรียกว่า “พระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว”
จิตรกรรมฝาผนังพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน พระอุโบสถ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ทศวรรษ
๒๔๓๐
ขนมจีนวันตรุษ
คนไทยสมัยก่อนคงถือว่าขนมจีนน้ำยาเป็นอาหารพิเศษเหมาะแก่การทำเลี้ยงคนหมู่มาก เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะขนมจีนไม่ใช่อาหารประจำวัน แต่เป็นกิจกรรมทางสังคมที่ต้องตระเตรียมการล่วงหน้าอย่างจริงจัง ต้องใช้เวลา กำลังคน และทุนทรัพย์ ธรรมเนียมนี้มีอยู่ในประเพณีหลวงด้วย เช่นในหมายรับสั่ง เมื่อใดที่มีการบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการใหญ่ มักต้องกะเกณฑ์เจ้านายฝ่ายในให้ช่วยทำขนมจีนเลี้ยงพระเลี้ยงคน โดยในหมายจะระบุจำนวน ว่าต้องการให้ท่านผู้นั้นเตรียมขนมจีนมาส่งกี่ถัง และน้ำยากี่ “นางเลิ้ง” (เป็นคำสุภาพของ “อีเลิ้ง” หมายถึงโอ่งใบย่อม ๆ)
ครั้งหนึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงปรารภว่า เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนมักมีกับข้าวของสดจำพวกหมูเห็ดเป็ดไก่ที่เจ้าสัวพ่อค้าคนจีนนำมาทูลเกล้าฯ ถวายจำนวนมาก สมควรน้อมนำให้เป็นไปในทางพระราชกุศล จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ท่าราชวรดิฐ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเวลา ๓ วัน มีพระสงฆ์ฉันวันละ ๓๐ รูป แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และคุณท้าวนางข้างในจัดเรือขนมจีนมาจอดลอยลำที่หน้าตำหนักแพ พวกภริยาข้าราชการผู้ใหญ่ที่ทรงรู้จักเคยเฝ้าแหน ต่างจัดเรือขนมจีนมาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันทั้ง ๓ วัน
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริว่า การเลี้ยงพระในเทศกาลตรุษจีนด้วยขนมจีนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ นี้ แท้จริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันเลย เพราะขนมจีนไม่ใช่อาหารจีน จึงเปลี่ยนให้ตั้งโรงครัวต้มเกาเหลา (แกงจืดอย่างจีน) มาเลี้ยงพระแทน แต่พอถึงช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กราบบังคมทูลฯ ขอให้กลับไปเลี้ยงพระตรุษจีนด้วยขนมจีนอย่างเก่า อีกทั้งสมเด็จเจ้าพระยาฯ เองคงรู้สึกครึกครื้นกับพระราชพิธีนี้เป็นพิเศษ ถึงขนาดเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตลอดงานทั้ง ๓ วันอยู่ทุกปี จน “ขุนนางผู้หลักผู้ใหญ่มาพรักพร้อมแน่นหนากว่าพระราชพิธีหรือการพระราชกุศลอื่น ๆ” และทำให้การเลี้ยงเกาเหลาแบบรัชกาลที่ ๔ สูญไป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงความคลี่คลายของการพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนไว้ในพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือน ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอน ๆ ลงในนิตยสาร วชิรญาณ เริ่มต้นเมื่อปี ๒๔๓๑ หลังจากนั้นไม่นานยังถูกนำไปวาดเป็นจิตรกรรมฝาผนัง ณ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ทศวรรษ
๒๔๔๐
ก๋วยเตี๋ยวแขก
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเกาะชวา ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ในนามหมู่เกาะอินเดีย ตะวันออกของดัตช์ พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยในความงดงามของสวนพฤกษศาสตร์บุยเตนซอร์ก (Buitenzorg เป็นภาษาดัตช์ แปลว่าไกลกังวล ปัจจุบันคือเมืองโบกอร์-Bogor สาธารณรัฐอินโดนีเซีย) เป็นเหตุให้มีการว่าจ้างชาวชวาเข้ามาทำสวนในพระราชอุทยาน ด้วยเชื่อว่าคนชวามีทักษะด้านนี้ ตามวังและตามบ้านของเจ้าใหญ่นายโตก็นิยมว่าจ้าง “คนยะวา” เป็นคนสวนและสารถีขับรถม้า ชาวชวาจำนวนไม่น้อยจึงอพยพย้ายถิ่นเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้อาหารมุสลิม “ยะวา” หลายชนิดจึงมีขายตั้งแต่ยุคนั้น เช่น ก๋วยเตี๋ยวแขก สลัดแขก ตลอดจนถึงมะตะบะและเนื้อสะเต๊ะ กระทั่ง ไม่นานมานี้เกิดรังเกียจคำว่า “แขก” ชื่ออาหารจึงต้องเลี่ยงไปเรียกว่า “ก๋วยเตี๋ยวแกง” และ “ยำสลัด” แทน
ทศวรรษ
๒๔๕๐
หมี่เสวย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด “ผัดหมี่” หรือหมี่กรอบเป็นพิเศษ มีปรากฏในบันทึกความทรงจำและเรื่องเล่ามากมาย เช่นที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในหนังสือประวัติบรรพบุรุษ โครงกระดูกในตู้ (ปี ๒๕๑๔) ตอนหนึ่งกล่าวถึง ม.จ. วิทยา ผู้มาเสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงในราชสกุลปราโมช สมาชิกในราชสกุลจึงเรียก ม.จ. วิทยาตามธรรมเนียมจีนว่า “อากู๋” หรือ “ท่านกู๋” (กู๋ในภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่าคุณน้า/คุณลุงฝ่ายแม่) จนนามนี้รู้จักแพร่หลายในหมู่เจ้านาย ม.จ. วิทยาทรงจัดเจนในการผัดหมี่ถึงขนาดเปิดร้านขายได้ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียก “หมี่เจ้ากู๋” คุณชายคึกฤทธิ์ยังเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเสวยหมี่เจ้ากู๋ ด้วยมีพระราชกระแสรับสั่งให้เข้าไปผัดหมี่ตั้งเครื่องเสวยอยู่บ่อย ๆ
ส่วนในหนังสือ เรื่องปกิณณกะในรัชกาลที่ ๕ (ปี ๒๔๙๗) มีเรื่องที่ นพ. นวรัต ไกรฤกษ์ บันทึกตามคำบอกเล่าของ “เจ้าคุณพ่อ” คือพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ. ไกรฤกษ์, ปี ๒๔๑๗-๒๕๐๑) ว่าตอนปลายรัชกาลที่ ๕ หลังจากบริษัทไฟฟ้าสยามทูลเกล้าฯ ถวายรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก สองที่นั่ง พระองค์มักทรงขับรถยนต์พระที่นั่งคันนี้เองไปตามถนนต่าง ๆ ในพระนคร เย็นวันหนึ่งมีเจ้าคุณพ่อตามเสด็จด้วย ผ่านไปถึงตลาดเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์เป็นเวลาพลบค่ำแล้ว ได้กลิ่นหอมจากร้านเจ๊กผัดหมี่ มีรับสั่งว่า “หอมกลิ่นหมี่จริง” จึงทรงหยุดรถริมถนน แล้วรับสั่งกับพระยาบุรุษฯ ว่า “เจ้าลงไปลองให้เขาผัดหมี่ซื้อไปสักกระทะเถิด” พอได้หมี่แล้วท่านเจ้าคุณก็กลับมาขึ้นรถพระที่นั่งที่ทรงจอดรออยู่ ทรงขับกลับไปยังพระที่นั่งอัมพรสถานในพระราชวังดุสิต ทันเวลาเสวยพอดี
เรื่องเล่าของหมี่กรอบตลาดเสาชิงช้าฉบับนี้ยังมีเค้าโครงใกล้เคียงกันมากกับตำนานของร้านเต็กเฮง หรือหมี่กรอบตลาดพลู ที่ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เล่าไว้ในหนังสือ เชลล์ชวนชิม ๒๐ ปี (ปี ๒๕๒๔) ว่าครั้งหนึ่งรัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ มาตามคลองบางหลวง เมื่อถึงตลาดพลูทรงทราบกิตติศัพท์ว่า “จีนหลีผัดหมี่กรอบดีนัก” จึงทรงแวะที่ท่าน้ำตลาดพลู และรับสั่งให้ไปซื้อหมี่มาเสวย พระองค์โปรดว่าอร่อยจริงดังคำเล่าลือ ตำนานของหมี่กรอบตลาดพลูยังมีต่อว่า ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงพระราชทานตราครุฑรับไว้เป็นร้านในพระองค์ ตราครุฑดังกล่าวทางร้านเก็บใส่ตู้ปิดทองไว้ตลอดมา เพิ่งสูญหายทำลายไปคราวไฟไหม้ตลาดพลูครั้งใหญ่นี่เอง
ทศวรรษ
๒๔๕๐
พาสต้ามาแล้ว
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (ปี ๒๓๙๐-๒๔๕๔) ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค, ปี ๒๓๙๒-๒๔๖๓) เป็นผู้เรียบเรียงหนึ่งในหนังสือตำรากับข้าวยุคแรก ๆ ของสยาม ชื่อ แม่ครัวหัวป่าก์ หนังสือชุดนี้พิมพ์ครั้งแรกเป็นเล่มเล็ก ๆ ทยอยออกมาต่อเนื่องถึงห้าเล่ม เริ่มตั้งแต่ปี ๒๔๕๑ ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตำราท่านผู้หญิงให้คำแนะนำว่าชาวสยามควรหันมาใช้เส้นแป้งสาลีหรือพาสต้า (pasta) จากยุโรปเช่น มะกะโรนี สปาเกตตี
และเวอร์มิเซลลี ที่หาซื้อได้ในกรุงเทพฯ แล้ว แทนเส้นก๋วยเตี๋ยวและขนมจีน เพราะรสชาติดีและถูกสุขอนามัยมากกว่า
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (นั่งกลาง) เคยเชิญชวนให้คนไทยหันมากินเส้นพาสต้าแทนขนมจีนและก๋วยเตี๋ยว
ทศวรรษ
๒๔๖๐
หาบก๋วยเตี๋ยวในซองบุหรี่
หนึ่งในกลวิธีส่งเสริมการขายของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ยุคเก่า คือแถมภาพชุดต่าง ๆ มาในซองบุหรี่ให้ลูกค้าสะสมบุหรี่หนึ่งซอง ๑๐ มวนจะได้หนึ่งภาพ คนไทยสมัยก่อนเรียกว่า “รูปยาซิกาแรต” เด็ก ๆ และนักสะสมจะต้องคอยรวบรวมให้ครบชุด ปี ๒๔๖๓ บริษัทยาสูบบริติช-อเมริกัน จำกัด ผู้ผลิตยาซิกาแรตยี่ห้อไชโย แจกจ่ายภาพชุด ๕๐ ใบ ว่าด้วยอาชีพต่าง ๆ ในพระนคร ภาพชุดนี้หลายภาพกล่าวกันว่ามีต้นแบบจากพ่อค้าแม่ขายซึ่งมีตัวตนจริงและเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น ภาพหมายเลข ๔ เป็นภาพพ่อค้าจีนกับหาบก๋วยเตี๋ยว
“หาบก๋วยเตี๋ยว” หนึ่งในรูปยาซิกาแรต (ภาพชุดของแถมในซองบุหรี่) ชุดอาชีพต่าง ๆ ที่แจกมาในซองบุหรี่ยี่ห้อไชโย ราวปี ๒๔๖๓
ปี
๒๔๘๕
ก๋วยเตี๋ยวจอมพล
ระหว่างน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ช่วงปลายปี ๒๔๘๕ มีภริยาของนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาลอยเรือขายก๋วยเตี๋ยวที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เกิดความคิดว่าก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับประชาชนไทย โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วม นำมาซึ่งแนวนโยบายส่งเสริมให้คนไทยหันมาจำหน่ายและบริโภคก๋วยเตี๋ยวกันขนานใหญ่ ถึงขนาดมีผู้แต่งคำขวัญว่า “ไทยต้องกินก๋วยเตี๋ยว ไทยต้องขายก๋วยเตี๋ยว” และ “อาหารกลางวันของท่านคือ ‘ก๋วยเตี๋ยว’”
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำที่สถาปนา “ก๋วยเตี๋ยว” ให้กลายเป็นอาหารกลางวันของคนไทย
ทศวรรษ
๒๕๐๐
ก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต
เรือเร่ขายก๋วยเตี๋ยวของคนจีนมีให้พบเห็นมานานแล้ว “กาญจนาคพันธุ์” [ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์), ปี ๒๔๔๐-๒๕๒๓] เล่าไว้ในหนังสือ เด็กคลองบางหลวง ว่า
ตอนท่านยังเป็นเด็กอยู่ในคลองบางหลวง ฝั่งธนบุรี สมัยรัชกาลที่ ๕ ยุคทศวรรษ ๒๔๔๐ เวลานั้นแม่น้ำลำคลอง
ยังเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญ มีเรือขายก๋วยเตี๋ยวผ่านหน้าบ้านตั้งแต่เช้าจดเย็น ซึ่งเป็น “ของที่จีนทำและจีนขายเท่านั้น ไม่มีไทยทำหรือขายเลย” แต่พอถึงทศวรรษ ๒๕๐๐ ก๋วยเตี๋ยวเรือที่โด่งดังสุดคือก๋วยเตี๋ยวเรือที่คลองรังสิต โดยเฉพาะ “โกฮับ” (“โก” เป็นภาษาจีนไหหลำ แปลว่าพี่ชาย คือคำเดียวกับ “เฮีย” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว)
ตามประวัติว่าโกฮับขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อในเรือมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๐ หากแต่ความเฟื่องฟูของก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิตมาจากความเปลี่ยนแปลงเมื่อถนนกลายเป็นเส้นทางคมนาคมหลักใน “ยุคพัฒนา” ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ ถนนพหลโยธิน (เดิมชื่อ “ถนนประชาธิปัตย์”) ซึ่งมุ่งหน้าตรงขึ้นสู่ภาคเหนืออย่างเดียว สามารถเชื่อมต่อกับถนนมิตรภาพที่สระบุรี เพื่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อีก แหล่งชุมนุมก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิตยุคนั้นกระจุกอยู่ริมคลองใต้แนวสะพานที่ถนนพหลโยธินข้ามคลองรังสิต ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “สะพานแก้วนิมิต” เพื่อเป็นเกียรติแก่หนึ่งในวีรชนผู้สละชีวิตคราวปราบกบฏบวรเดช ปี ๒๔๗๖ คือนายดาบละมัย แก้วนิมิต
ลูกค้าของก๋วยเตี๋ยวเรือใต้สะพานแก้วนิมิตมีทั้งคนเดินทางขึ้นล่อง และผู้ที่ตั้งอกตั้งใจขับรถยนต์ไปลิ้มลองดังที่อาจารย์ทองคำ พันนัทธี อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนปทุมธานี “นันทมุนีบำรุง” เล่าไว้ในหนังสือ ของดีเมืองปทุม (ปี ๒๕๓๖) ว่า
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ นักร้องลูกทุ่งผู้บันทึกประวัติศาสตร์ของก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิตไว้ในเพลง “แตงเถาตาย”
“ลูกค้าของก๋วยเตี๋ยวเรือที่รังสิตมาด้วยกันหลายสาย พอเวลา ๑๑ โมงครึ่ง จะเห็นผู้คนทยอยออกมาจากดอนเมือง กรุงเทพฯ ประตูน้ำพระอินทร์ วังน้อย ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ธัญบุรี จนกระทั่งถึงนครนายก ก็เดินทางมารับประทานก๋วยเตี๋ยวเรือที่รังสิต ซึ่งจอดขายอยู่ที่ริมตลิ่งคลองรังสิต ใต้ถุนสะพานแก้วนิมิตเต็มพรืดไปหมด โกฮับทำแทบไม่ทัน บางรายต้องรอนานเป็นชั่วโมงก็ยังมี คนรอก็ไม่โกรธ เพราะเห็นใจโกฮับ ซึ่งทำไม่ได้หยุดมือเลยจริง ๆ”
ในเวลาต่อมาก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิตดั้งเดิมก็ถูกย้ายขึ้นบก ดังที่ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ (ปี ๒๔๘๕-๒๕๖๕) ศิลปินแห่งชาติ นักร้องเพลงลูกทุ่งชาวสุพรรณบุรี บรรยายเป็นทำนองแหล่ไว้ในเพลง “แตงเถาตาย” ผลงานการประพันธ์ของครูทองใบ รุ่งเรือง
ตั้งแต่รังสิตไปจนติดพระอินท์ฯ*
พหลโยธินมีของกินไม่น้อย
แม่ค้าหน้าหวานนั่งร้านแผงลอย
ปากนิดจมูกหน่อยแม่นั่งร้อยพวงมาลัย
สะพานรังสิตเชื่อมติดใต้เหนือ
มีก๋วยเตี๋ยวเรือตั้งแต่เหนือจดใต้
วันเสาร์วันอาทิตย์แฟนเขาติดมากมาย
แต่เดี๋ยวนี้เขาย้ายเลิกขายริมคลอง
จนสุดท้ายแล้วสัญลักษณ์ความเป็น “ก๋วยเตี๋ยวเรือ”
ปัจจุบันจึงเหลือเพียงเรือสำปั้นที่ยกขึ้นมาวางเกยตื้นไว้
ตั้งหม้อก๋วยเตี๋ยวอย่างที่เห็นทั่วไป
*เนื้อร้องที่ตีพิมพ์เผยแพร่มักขึ้นต้นว่า ตั้งแต่รังสิตไปจนติดบางปะอิน ขณะที่บันทึกเสียงต้นฉบับโดยพ่อไวพจน์ ร้องชัดถ้อยชัดคำว่า
ตั้งแต่รังสิตไปจนติดพระอินท์ฯ อันย่อมหมายถึงย่านประตูน้ำพระอินท์ฯ หรือประตูน้ำพระอินทราชา ปากคลองระพีพัฒน์ ที่ขุดขนาน
คลองรังสิต ในเขตอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เอาไว้หน้าเดียวกับเนื้อเพลง
ทศวรรษ
๒๕๑๐
การมาถึงของ
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดและการเติบโตของสังคมเมืองในยุคทศวรรษ ๒๕๑๐ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นเหตุให้นักลงทุนหลายรายตัดสินใจบุกตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เริ่มต้นด้วยซันวา (ปี ๒๕๑๔) ตามมาด้วยยำยำ (ปี๒๕๑๔) ไวไว (ปี ๒๕๑๕) และมาม่า (ปี ๒๕๑๖) นี่คือจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนทางเลือกสำหรับอาหารมื้อด่วนราคาเยาของคนไทย ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการปรุงแต่งรสนิยมการบริโภคของประวัติศาสตร์อาหารไทย เช่นการประดิษฐ์ “บะหมี่ต้มยำกุ้ง”
ปี
๒๕๑๙
โรคจู๋
หลังจากกองทัพฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะทั้งในกัมพูชา (เมษายน ๒๕๑๘) ลาว (ธันวาคม ๒๕๑๘) และเวียดนาม (กรกฎาคม ๒๕๑๙) ความรู้สึกหวาดหวั่นว่าไทยกำลังจะกลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปที่จะ “ล้ม” ปกคลุมสังคมไทยอย่างรุนแรง แล้วระเบิดออกมาในรูปแบบการต่อต้านคนญวน คือคนเชื้อสายเวียดนามหรือคนเวียดนามอพยพในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเริ่มมีการชุมนุมเดินขบวนขับไล่คนญวนตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน เช่น นครพนม สกลนคร ยโสธร อุดรธานี บางแห่งรุนแรงถึงขั้นบุกทำลายทรัพย์สิน ปล้นสะดม เผาบ้านเรือน และทำร้ายร่างกาย ไล่เลี่ยกันยังเกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่าอาหารที่คนญวนขาย เช่น ก๋วยเตี๋ยวญวนหรือเฝอ รวมถึงไข่และแตงโม มีสารพิษผสมอยู่ เมื่อลูกค้าชายบริโภคแล้วจะหมดสมรรถภาพทางเพศ และอวัยวะเพศจะหดหาย หรือสมัยนั้นเรียกว่า “โรคจู๋” ข่าวเรื่องนี้ขึ้นหน้า ๑ หนังสือพิมพ์ต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์
ทศวรรษ
๒๕๒๐
ญี่ปุ่นบุก
ในหนังสือ ๒๐ ปี เชลล์ชวนชิม (ปี ๒๕๒๔) ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เขียนแนะนำห้องอาหารญี่ปุ่น “ซาโตะ” ในโรงแรมนิวอมรินทร์ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ว่ามีปลาดิบจำหน่าย แต่ “ถ้ากินปลาดิบไม่ได้ ของกินอื่น ๆ ก็มีอีกถมไป โซบะหรือบะหมี่ญี่ปุ่น อูด้งหรือเส้นขนมจีนไหหลำ สุกียากี้ เทมปูระ ข้าวหน้าหมูทอด ข้าวหน้าปลาไหลย่าง...”
ด้วยเวลานั้นทั้งราเมงและโซบะล้วนเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับลูกค้าคนไทย คุณชายจึงต้องขยายความว่าโซบะเป็นบะหมี่ของญี่ปุ่น ส่วนเส้นอูด้งก็เหมือนเส้นขนมจีนไหหลำนั่นแหละ จนบัดนี้เกือบครึ่งศตวรรษให้หลัง ร้านราเมงตามแบบฉบับของท้องถิ่นต่าง ๆ ในญี่ปุ่นกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
โฆษณาห้องอาหารญี่ปุ่นซาโตะ ในโรงแรมนิวอมรินทร์ จากหนังสือ ๒๐ ปี เชลล์ชวนชิม
อ้างอิง
กรรณิการ์ จุฑามาศ สุมาลี. (๒๕๔๑). ยะวา-ชวาในบางกอก. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
กาญจนาคพันธุ์. (๒๕๔๒). เด็กคลองบางหลวง เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : สารคดี.
คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.. (๒๕๑๔). โครงกระดูกในตู้. พระนคร : โรงพิมพ์ชัยฤทธิ์.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๑๔). พระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. ธนบุรี : คลังวิทยา.
ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, ม.ร.ว.. (๒๕๒๔). เชลล์ชวนชิม ๒๐ ปี. กรุงเทพฯ : สยามสปอร์ตพับลิชชิ่ง.
ทองคำ พันนัทธี. (๒๕๓๖). “ก๋วยเตี๋ยวเรือเมืองปทุม” ใน ของดีเมืองปทุม. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟิวเจอร์เพรส.
ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. (๒๕๐๖). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. ธนบุรี : คลังวิทยา.
เปลี่ยน ภาสกรวงศ์, ท่านผู้หญิง. (๒๕๔๕). แม่ครัวหัวป่าก์. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : สมาคมกิจวัฒนธรรม.
เสริม สุนทรานันท์. (๒๕๔๐). รูปยาซิกาแรตไทย. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์.
เอนก นาวิกมูล (บรรณาธิการ). (๒๕๓๔). กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค ๒. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.