Image

เธอไม่ได้มีดีแค่ถือตะเกียง

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

คนไทยน่าจะคุ้นชื่อ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล และฉายา “สุภาพสตรีผู้ถือตะเกียง (Lady of the Lamp)” แต่คน
ส่วนใหญ่คงไม่รู้ว่าเธอเก่งคณิตศาสตร์ เป็นนักสถิติตัวยง และที่สำคัญคือเป็นคนแรก ๆ ของโลกที่ปฏิวัติการนำเสนอข้อมูลการแพทย์ด้วยสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า “อินโฟกราฟิก (infographic)”

แผนภูมิ “หงอนไก่ (coxcomb)” ของเธอสวยและมีประสิทธิภาพในการนำเสนอข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องที่สำคัญกว่าคือวิธีการนำเสนอข้อมูลของเธอประสบความสำเร็จมากเสียจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลและช่วยรักษาชีวิตทหารและพลเรือนนับไม่ถ้วนนับจากช่วงเวลานั้นมา จนได้รับการยอมรับในฐานะผู้สร้างรากฐานของการพยาบาลสมัยใหม่และกลายเป็น “ไอคอน” สำคัญคนหนึ่งในยุควิกตอเรีย

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เกิดวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๐ ในครอบครัวชาวอังกฤษผู้มีอันจะกิน ณ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และนั่นเองคือที่มาของชื่อเธอ  ปีต่อมาครอบครัวของเธอย้ายกลับมาอังกฤษ เธอโชคดีที่มีคุณพ่อใจกว้างและเห็นความสำคัญด้านการศึกษาของลูกสาว ในที่สุดเธอเลือกอุทิศตัวช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการเป็นพยาบาล

ค.ศ. ๑๘๕๓ สงครามไครเมียปะทุขึ้นเป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิรัสเซียกับจักรวรรดิออตโตมันที่มีประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสช่วยสนับสนุน เป็นผลมาจากการแผ่ขยายอำนาจของรัสเซียลงมา ขณะที่จักรวรรดิออตโตมันกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องการรักษาสมดุลอำนาจของยุโรปเอาไว้จึงต้องยื่นมือเข้าช่วยและส่งทหารไปช่วยออตโตมันรบเพื่อคานอำนาจรัสเซีย

ไนติงเกลและอาสาสมัครพยาบาล ๓๘ คน พร้อมแม่ชีคาทอลิก ๑๕ คน ออกเดินทางไปตุรกีในวันที่ ๒๑ ตุลาคม
ค.ศ. ๑๘๕๔  คณะพยาบาลแวะช่วยงานที่ปารีสเป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนจะเดินทางไปยังค่ายทหารเซลิมิเย (Selimiye Barracks) เขตสกูทารี เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกีในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๔ และพบว่าสภาวะแวดล้อมในการรักษาพยาบาลทหารเข้าขั้นย่ำแย่ บุคลากรการแพทย์ต้องทำงานหนักและมีความเสี่ยงไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่ทหาร อุปกรณ์การแพทย์และยาขาดแคลน ไม่มีแม้แต่อุปกรณ์ครัวเพื่อใช้เตรียมอาหารอย่างเหมาะสม ไม่มีความเอาใจใส่เรื่องสุข-อนามัยในสถานพยาบาลอย่างเพียงพอ

ที่สำคัญคือพบการติดเชื้ออยู่ทั่วไปและพบการระบาดของเชื้อบ่อยครั้ง

หลังจากที่ไนติงเกลเขียนเล่าสถาน-การณ์ไปลงหนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ เพื่อขอร้องให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือ ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องให้มีการออกแบบและผลิตโรงพยาบาลสนามชนิดพร้อมติดตั้งในอังกฤษและส่งทางเรือไปให้ จนเกิดเป็นโรงพยาบาลสนามเรนไคออย (Renkioi Hospital) ขึ้นในที่สุด

Image

อัตราการเสียชีวิตลดลงจนเหลือน้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ ของอัตราการเสียชีวิตเดิม

มีหลักฐานว่าไนติงเกลลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากร้อยละ ๔๒ จนเหลือเพียงแค่ร้อยละ ๒ ได้ โดยการปรับปรุงสุขอนามัยของตัวเธอเอง เช่นล้างมือทุกครั้งก่อนรักษาผู้ป่วย

หลังสงครามไครเมียสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๕๖ ไนติงเกลตรงกลับบ้านพร้อมข้อมูลการรักษาผู้ป่วย
เธอได้รับการต้อนรับในฐานะวีรสตรีและพวกสื่อก็เรียกขานเธอว่า “นางฟ้าผู้ให้การดูแล (the angel of mercy)” คนมีเงินใจบุญกระตือรือร้นที่จะบริจาคเงินเพื่อตั้งเป็นกองทุนในนามของเธอ

แต่ในใจของเธอมีสองเรื่องที่ค้างคาและอยากสานต่อ คือความต้องการช่วยชีวิตคนและสถิติที่เธอเก็บมาตลอดช่วงเวลาที่อยู่โรงพยาบาลสนาม เธอรู้ว่าสงครามดังกล่าวไม่ใช่สงครามสุดท้ายอย่างแน่นอน และหากไม่ทำสิ่งใดในอนาคตก็จะมี “ความตายที่หลีกเลี่ยงได้” ตามมาอีกมาก แม้แต่กับพลเรือนก็ด้วย

ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เธอเขียนหาเพื่อนช่วงปลาย ค.ศ. ๑๘๕๖ ระบุว่า “ผู้ป่วยที่น่าสงสารของฉันต้องทนทุกข์เป็นอย่างยิ่ง...ฉันรู้สึกราวกับเป็นแม่ที่แย่เสียเหลือเกินที่กลับบ้านมาโดยปล่อยให้พวกเขาต้องนอนในหลุมศพที่ไครเมียมีทหารร้อยละ ๗๓ ของ ๘ กองทหารที่เสียชีวิตจากโรคไปในช่วงเวลา ๖ เดือน”

ไนติงเกลชื่นชอบคณิตศาสตร์ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก สมุดจดของเธอเต็มไปด้วยตารางข้อมูลเกี่ยวกับผักผลไม้ในสวน ฟรานซิส กัลตัน นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอีกคนที่เกิดร่วมสมัยกับเธอระบุว่า เธอเชื่อว่าเอกภพและมนุษย์วิวัฒน์ไปตามแผนการอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า และวิธีการที่จะเข้าใจความคิดของพระองค์ได้ดีที่สุดนั้นก็ต้องอาศัยการศึกษาสถิตินี่เอง

โอกาสดีมาถึงเมื่อเลขาธิการการสงครามเสนอโอกาสให้เธอนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นเรื่องการรักษาพยาบาลใน
ไครเมียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๕๗

แทนที่เธอจะเขียนเป็นเพียงข้อสรุปสั้น ๆ เธอและทีมงานกลับทุ่มเทความพยายามรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ เตรียมเป็นรายงานที่ผสมผสานทั้งเรื่องราว ข้อสังเกต ตาราง กราฟ และแผนภาพต่าง ๆ ในชื่อรายงานว่า บันทึกเรื่องราวที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพ, ประสิทธิภาพ, และการจัดการโรงพยาบาลในกองทัพอังกฤษ (Notes on Matters Affecting Health, Efficiency, and Hospital Administration in the British Army) ยาวถึง ๘๕๐ หน้า ต้องลงแรงและความพยายามอย่างต่อเนื่องนานถึง ๒ ปี !

Image

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ยืนยันสิ่งที่เธอเชื่อ คือ มีทหารในสงครามไครเมียเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้มากกว่าสาเหตุอื่นใด รวมไปถึงจากการสู้รบที่เป็นภารกิจหลักเอง ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีคำสั่งให้ทำความสะอาดและรักษาอนามัยในโรงพยาบาลมากขึ้น จำนวนการเสียชีวิตก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ข้อสรุปเหล่านี้เป็นยิ่งกว่า “แสงจากตะเกียงที่สาดฉายในที่มืด” เสียอีก

แต่การนำเสนอข้อมูลด้วยเนื้อหาที่มากขนาดนั้นประสบความสำเร็จได้ยาก เธอจึงคิดค้นวิธีการนำเสนอใหม่ เปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของแผนภาพข้อมูลที่ปัจจุบันเรียกว่า “อินโฟกราฟิก” เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายในเวลาอันสั้นและเกิดผลกระทบสร้างการรับรู้ได้ชัดเจน

อินโฟกราฟิก “หงอนไก่” ที่มีชื่อเสียงของเธอ แสดงจำนวนทหารที่เสียชีวิตต่อเดือนจากสาเหตุต่าง ๆ ตั้งแต่เมษายน ค.ศ. ๑๘๕๔ จนถึงมีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๖ โดยใช้สีแตกต่างกันแทนสาเหตุการตายที่แตกต่างกัน ด้วยวิธีการเช่นนี้แค่เพียงมองคร่าว ๆ ก็เห็นและเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ทหารส่วนใหญ่เสียชีวิตคือ “โรคติดเชื้อ” ซึ่งมากกว่าสาเหตุอื่น ๆ รวมกันอย่างไม่อาจเทียบได้เลย

นับได้ว่าเธอเป็นคนแรกที่ใช้อินโฟกราฟิกเสนอสถิติทางการแพทย์เพื่อโน้มน้าวใจผู้คนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นและตีพิมพ์อินโฟกราฟิกก็ตาม เพราะใน ค.ศ. ๑๗๘๖ ก็มีนักคิดชาวสกอตชื่อ วิลเลียม เพลย์แฟร์ ริเริ่มทำไปแล้ว

หลังจากนั้นไนติงเกลยังพยายามอย่างหนักที่จะเปลี่ยนข้อสรุปให้กลายเป็นความรู้สามัญทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและช่วยชีวิตคน เธอส่งข้อสรุปไปให้คนที่มีชื่อเสียง เขียนรายงานอีกหลายฉบับ ซึ่งหลายครั้งก็ได้รับการต่อต้าน เช่นแพทย์ทหารในกองทัพที่ไม่เชื่อว่าการรักษาสุขอนามัยจะช่วยได้จริง มีแต่จะละลายเงินทิ้งไปเสียเปล่า ๆ แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ

เธอทำแม้แต่ส่งอินโฟกราฟิกไปให้สำนักข่าวต่าง ๆ ด้วย

ในที่สุดสิ่งที่เธอลงแรงก็ประสบผล ราวคริสต์ทศวรรษ ๑๘๘๐ มีการปรับปรุงและกำหนดมาตรฐานสุขอนามัยในกองทัพอังกฤษจนดีขึ้นเป็นอย่างมาก มีการทำความสะอาดเสื้อผ้าและเตียง แพทย์และพยาบาลล้างมือก่อนรักษาหรือปฐมพยาบาล โรงพยาบาลลดความแออัดเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ฯลฯ

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ใช้แรงและความพยายามในฐานะนักสถิติ และใช้ความคิดสร้างสรรค์นำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

เธอไม่ควรเป็นที่รู้จักแค่เพียงนางพยาบาลผู้ถือตะเกียงเดินตรวจผู้ป่วยแต่ควรได้รับการยอมรับในฐานะผู้ฉายแสงแห่งข้อมูลสถิติ เพื่อปฏิวัติวิธีการรักษาพยาบาลและช่วยชีวิตผู้คน