Image

กันยา เทียนสว่าง
“นางสาวสยาม” คนแรก

PIC  (พลิก) STORY : “อดีต” ในภาพถ่าย

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพประกอบ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ในยุคที่การประกวดนางงามมีให้เห็นหลายเวทีคนจำนวนมากอาจไม่ทราบว่า ย้อนไปในปี ๒๔๗๗ (๙๑ ปีที่แล้ว) การกำเนิดของเวทีนางงามเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ในปีนั้นรัฐบาลคณะราษฎรจัดฉลองวันรัฐธรรมนูญเป็นปีที่ ๒ ด้วยนโยบายที่ต้องการทำให้คนรู้จักรัฐธรรมนูญมากขึ้น จึงจัดประกวด “นางสาวสยาม” เป็นครั้งแรก

กันยา เทียนสว่าง สาวงามในภาพ เป็นลูกคนโตในจำนวนพี่น้องห้าคน มีชื่อเล่นว่า “ลูซิล” เพราะจมูกคล้ายฝรั่ง เธอเข้าประกวดนางสาวสยามตอนอายุ ๒๑ ปี ขณะเป็นครูโรงเรียนประชาบาล โดยก่อนหน้านี้มีตำแหน่ง “นางสาวพระนคร” อยู่แล้วและ “มงลง” (ชนะ) ไปในคืนวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๗๗ 

รางวัลใหญ่ที่ได้คือ มงกุฎผ้ากำมะหยี่ปักดิ้นเงิน ประดับโครงเงินและเพชร  ขันเงินสลักคำว่า “นางสาวสยาม ๗๗” ล็อกเกตทองคำ  เข็มกลัดทองคำลงยามีอักษร “รัฐธรรมนูญ ๗๗”

แต่เรื่องที่ทำให้คนงงคือ รางวัลเงินสด ๑,๐๐๐ บาท รัฐบาลกลับขอไป “บำรุงการทหาร” เสียอย่างนั้น

Image

รหัสภาพ ภ ๐๐๐๑ กจช (อ) ๑-๕

หลังประกวดเธอยัง “งานเข้า” เพราะญาติฝ่ายมารดาไม่พอใจ เนื่องจากค่านิยมยุคนั้นที่ต้องการให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัวมองว่าการประกวดนางงามเป็นเรื่องน่าอาย กันยาจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “ผู้บุกเบิก” เพราะใช้ “เวทีนางงาม” เปิดบทบาทใหม่ของสตรีสยามภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก

ต่อมาเธอแต่งงานกับ ดร. สุจิต หิรัญพฤกษ์ ที่ต่อมาคือ สส.
ปทุมธานี และในปี ๒๕๐๒ เธอป่วยด้วยโรคมะเร็งในเวลาเดียวกับที่สามีประสบมรสุมทางการเมืองขณะเป็นเลขานุการรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต 

กันยาเสียชีวิตในปีต่อมา ไม่ทันอยู่เห็นสามีพ้นมลทินในปี ๒๕๐๘  อย่างไรก็ตามร่างของเธอถูกเก็บไว้ก่อนจะฌาปนกิจพร้อมร่างสามีในปี ๒๕๒๔

สำหรับ กันยา เทียนสว่าง ชีวิตนางงามนั้นเกี่ยวกับ “การเมือง” โดยแท้