ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง อดีตวิศวกรเคมีที่ผันตัวจากห้องแล็บสู่วิถีเกษตรกรเป็น “คนเลี้ยงผำ” คนแรกของจันทบุรี
บะหมี่ผำ อาหารแห่งอนาคต
นวัตกรรมทางอาหาร
ของหนุ่มวิศวกรเมืองจันท์
วัฒนธรรม "เส้น"
เรื่อง : ธเนศ แสงทองศรีกมล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็กเคยปั่นจักรยานผ่านบึงแถวบ้านที่อีสาน เห็นผิวน้ำปกคลุมด้วยพืชสีเขียวอ่อนเรียงต่อกันเป็นแพจนเต็มทั่วพื้นน้ำ ด้วยประสบการณ์การดูหนัง โคตรไอ้เคี่ยม จระเข้จอมโหดที่ไล่ล่ามนุษย์ ก็พลางคิดว่าใต้ผืนน้ำนั้นคงเต็มไปด้วยเจ้านักล่าปากยาวเป็นแน่
ทว่านั่นเป็นเพียงจินตนาการของเด็กตัวน้อย ต่อมาจึงได้รู้ว่าสิ่งที่มองเห็นเป็นแพสีเขียวนั้นคือ “ผำ” พืชน้ำแสนมหัศจรรย์ที่จะกลายมาเป็น “อาหารแห่งอนาคต” ของประชากรทั่วทั้งโลก
ณัฐวุฒิใช้ระบบสวนแนวตั้ง (vertical farming) เพื่อเพิ่มผลผลิตผำให้มากขึ้นแม้จะมีพื้นที่เท่าเดิม
ผำ หรือไข่ผำ (Wolffia) จัดอยู่ในพืชวงศ์แหน (Lemnaceae) หรือพืชประเภทที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ มีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑ มิลลิเมตร ลอยติดกันเป็นแพ พบมากในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เจ้าเม็ดกลมจิ๋วสีเขียวสดนี้อุดมด้วยโปรตีนในระดับสูง อีกทั้งยังประกอบด้วยสารอาหารมากมาย เช่น บีตาแคโรทีน กรดอะมิโน สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
“ตอนแรกพี่งงมากนะ เพราะภาคตะวันออกเป็นเมืองไม้ผล ใครเขาจะเลี้ยงผำ” หญิงสาวร่างเล็กบ่นออกรสราวกับเหตุการณ์เพิ่งเกิดเมื่อวาน
อรุณี แท่งทอง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ประจำการอยู่เขตที่ ๖ ซึ่งดูแลครอบคลุมทั้งเจ็ดจังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ตราด และจันทบุรี เล่าว่าเมื่อประมาณปี ๒๕๖๔ กรมวิชาการเกษตรเล็งเห็นศักยภาพของผำ จึงร่างโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาและยกระดับผำขึ้น โดยมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๑-๘ เสาะแสวงหาว่ามีเกษตรกรที่ใดบ้างที่กำลังเพาะเลี้ยงพืชชนิดนี้อยู่
หลังจากสืบเสาะอยู่นานอรุณีก็ได้ความว่าในพื้นที่รับผิดชอบมีผู้เลี้ยงผำอยู่ ๑๙ ราย อยู่ที่ชลบุรีกับระยองมากที่สุด ส่วนจังหวัดบ้านเกิดของเธอคือจันทบุรี มีชายหนุ่มเพียงคนเดียวที่เลี้ยงผำ
การเก็บผำมีหลายวิธี แต่การใช้กระชอนตักผำไม่ได้รับความนิยมนักเพราะสัมผัสผำมากเกินไป
ช่วง ๑๐-๑๕ วันหลังปล่อยผำลงน้ำ ผำจะแตกหน่อเจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ จนเต็มกระบะเพาะเลี้ยง
“พี่คนหนึ่งเขาบอกว่าให้ตามเกษตรกรคนนี้ดูสิ เขาเคยได้รับแม่พันธุ์ไป” อรุณีบอกถึงเบาะแสที่เธอเคยได้รับ
หากปักหมุดจากตัวเมืองจันทบุรี จุดหมายปลายทางอยู่ในอำเภอขลุง ห่างไปไม่ไกลมากนัก อากาศร้อน ๆ กับแสงแดดจ้า ประกอบกับถนนเส้นเล็ก ๆ ข้างทางดูเป็นป่าเป็นสวนธรรมดา ชวนให้นึกถึงคำพูดของอรุณีว่า “ตะวันออกมันเมืองไม้ผล ใครจะเลี้ยงผำ”
เมื่อถึงจุดหมาย สวนแห่งนี้ดูแปลกตากว่าที่เคยเห็นมา วันนี้มีบุคลากรในชุดราชการเต็มไปหมด และก็มีชายหนุ่มท่าทางทะมัดทะแมงเดินวุ่นอยู่ไม่แพ้กัน
“ดูสวนผำไปก่อนนะ เดี๋ยวผมคุยกับกรมประมงก่อน” เจ้าของสวนผำแวะเข้ามาทักทายผู้เขียน
หากลองค้นคว้าดูจากอินเทอร์เน็ต หน้าตาของสวนผำจะเป็นบ่อปูนแนวสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ ๑ เมตร ภายในเต็มไปด้วยผำสีเขียวสดที่กำลังเจริญเติบโต
แน่นอนว่าวิธีเลี้ยงแบบนั้นถือเป็นเรื่องปรกติ แต่หากอยากยกระดับคุณภาพของผำก็จำเป็นต้องทำมากกว่านั้น โดยสร้างโรงเรือนระบบปิด ภายในประกอบด้วยบ่อเลี้ยงผำแนวตั้งที่ตั้งซ้อนกัน ๕ ชั้นกว่า ๑๐ แนว สูงเลยศีรษะ และสะอาดสะอ้านจนหยิบผำกินสด ๆ ได้
“สมมุติผมยื่นผำจากบ่อปรกติให้ แล้วบอกว่าอันนี้โปรตีนสูง มีประโยชน์ คุณจะกล้ากินไหม ผมว่าไม่กล้าหรอก ไม่มีใครเปิดใจกินถ้าทำไม่สะอาดและไม่ได้มาตรฐาน”
ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง เจ้าของสวนจันทร์เรือง สวนผำแห่งแรกของจังหวัดจันทบุรี และเป็นเกษตรกรรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในการผลิตพืช (Good Agricultural Practice, GAP) จากกรมวิชาการเกษตร กลับมาพูดคุยกับผู้เขียนพลางหยิบผำให้ชิม
“ผมช่วยพ่อทำสวนเล็ก ๆ น้อย ๆ มาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่อิน ทั้งเหนื่อยทั้งร้อน” ณัฐวุฒิแย้มประสบการณ์วัยเด็ก ด้วยความไม่ชอบในเกษตรกรรมเท่าไรนัก เมื่อเข้าสู่วัยเรียนเขาจึงฝากฝังเส้นทางอนาคตไว้ที่การเป็นวิศวกร
“เขาบอกว่าผำเป็นพืชที่ดีนะ มีโปรตีนสูง เป็น superfood เป็นอาหารนักบินอวกาศ คือมันดูเป็นคำพูดสวยหรูที่ผมยังไม่เห็นภาพในตอนนั้น”
หลังเก็บผำได้ตามจำนวนที่ต้องการ ส่วนหนึ่งจะขายสด อีกส่วนจะตากแห้งเพื่อเตรียมนำไปผลิตเป็นผงผำและแปรรูป
เขาเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้านเคมีและปิโตรเลียม เพราะขณะนั้นเป็นสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการค่อนข้างสูง เขาได้เรียนรู้งานด้านเคมีแทบทุกฝ่ายการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในห้องทดลอง ทำงานเกี่ยวกับการเคลือบผิวโลหะ รวมถึงด้านพลังงานแก๊สที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคปิโตรเคมี
เมื่อจบปริญญาตรี เขาเลือกเรียนต่อปริญญาโทสาขาพลังงานทดแทน ทำให้ได้เรียนรู้และทำงานเกี่ยวกับพลังงานชีวมวล (biomass) ก๊าซชีวภาพ (biogas) รวมถึงงานด้านการพัฒนากังหันลมและโซลาร์เซลล์
การเข้าเรียนสาขาพลังงานทดแทนนี้ทำให้เขาพบเจอกับเกษตรกรในหลายภูมิภาคเมื่อมีโอกาสเข้าไปทำงานเชิงระบบเครื่องจักรและระบบไฟฟ้าให้กลุ่มเกษตรกร เช่น เกษตรกรฟาร์มหมูและฟาร์มไก่ เกษตรกรมันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย และนั่นคือสิ่งที่จุดประกายบางอย่างให้เขาหันกลับมาทำเกษตร “ทำงานกับเกษตรกรเยอะ ๆ ก็เลยได้เห็นองค์ความรู้ (know-how) ผมจึงเอากลับมาปรับทำกับสวนบ้านเกิด” ณัฐวุฒิเสริม
เดิมทีผลิตผลและผลิตภัณฑ์หลักของสวนจันทร์เรืองในยุคคุณพ่อของณัฐวุฒิคือทุเรียนและทุเรียนแปรรูป
แต่พอมาถึงยุคของณัฐวุฒิก็เริ่มนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาปรับใช้ เริ่มใช้รถตัดหญ้า รถพ่นยา มีโดรนบินสำรวจพื้นที่ เปิดและปิดระบบน้ำผ่านโทรศัพท์มือถือ กระทั่งควบคุมทุกองค์ประกอบในสวนได้ผ่านห้องมอนิเตอร์
“โอ้โฮ แบบนี้ทางบ้านชอบเลยสิ สบายหายเหนื่อย” ผู้เขียนแซว
“ตีกันทั้งบ้านน่ะสิ” ณัฐวุฒิสวนทันควัน เขาเล่าย้อนว่าการปรับเปลี่ยนทุกอย่างในสวนอย่างกะทันหันค่อนข้างเป็นเรื่องยากในครอบครัวรวมถึงคนสวนอื่น ๆ ที่ทำงานในสวนจันทร์เรือง เขาใช้เวลาถึง ๓ ปีจากวันแรกที่ก้าวเท้ากลับบ้านเพื่อสร้างความมั่นใจให้ทุกคนยอมรับ เช่น เขาลดต้นทุนการผลิตได้กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตมีคุณภาพดีกว่าแต่ก่อน เมื่อเข้าสู่ปีที่ ๔ และ ๕ ก็ทำให้สวนจันทร์เรืองยกระดับเป็นสมาร์ตฟาร์มอย่างเต็มตัว
“พอเข้าปีที่ ๖ ผมก็เริ่มเลี้ยงผำ” ณัฐวุฒิบอก
ผงผำเป็นวัตถุดิบหลักในการแปรรูป “บะหมี่ผำ” โดยผสมกับแป้งอัลมอนด์ โอ๊ตไฟเบอร์ วีตกลูเตน และเมล็ดแฟลกซ์
“แบบนี้ที่บ้านน่าจะตื่นเต้นใหญ่ มีพืชพันธุ์ใหม่ ๆ” ผู้เขียนถาม
“ไม่มีใครสนใจเลย ไม่มีใครสนับสนุนด้วย ที่บ้านงงว่าผมเอาอะไรเข้าบ้าน” ณัฐวุฒิสวนทันควันอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเล่าต่อว่า พอระบบสวนจันทร์เรือง สมาร์ทฟาร์ม เริ่มอยู่ตัว เขาก็มีโอกาสเยี่ยมชมงานของศูนย์วิจัยพืชสวนพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งทำให้พบ “ผำ” เป็นครั้งแรก
“เขาบอกว่าผำเป็นพืชที่ดีนะ มีโปรตีนสูง เป็น superfood เป็นอาหารนักบินอวกาศ คือมันดูเป็นคำพูดสวยหรูที่ผมยังไม่เห็นภาพในตอนนั้น แต่ก็คิดว่าน่าจะดีแล้วมีราคา ก็เลยเอามาเลี้ยง เขาแจกฟรีเลยนะวันนั้น” ณัฐวุฒิเล่า
คนที่ให้ณัฐวุฒินำผำไปเลี้ยงก็คือคนเดียวกับที่แนะนำอรุณีให้รู้จักกับณัฐวุฒินั่นเอง
แม้ผำจะเป็นพืชที่เจริญเติบโตง่ายจากการแตกหน่อไปเรื่อย ๆ ทว่าขั้นตอนที่จะทำให้ผำมีคุณภาพดีนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด ณัฐวุฒิเล่าว่าผำชุดแรก ๆ ของเขาตายเกือบหมด เพราะความไม่รู้ เขาก็ทดลองเลี้ยงแบบบ่อเปิดที่ไม่มีสแลน (ตาข่ายกรองแสงสำหรับปลูกพืช) อยู่ด้านบน ทำให้บ่อผำมีทั้งลูกน้ำยุงลาย ไข่กบ ไข่เขียด และสิ่งไม่พึงประสงค์เต็มไปหมด อีกทั้งยังใช้น้ำธรรมชาติที่ไม่ผ่านการกรองและเกิดตะไคร่น้ำจากการที่ไม่มีระบบน้ำวน ทำให้ผำส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งและยุบหายตายจากไปในช่วงหน้าร้อน
ณัฐวุฒิอธิบายว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับผำขณะนั้นแทบไม่มีเลย เขาจึงอาศัยการค้นคว้าผ่านอินเทอร์เน็ต ถามเกษตรกรที่เคยเลี้ยง รวมถึงทดลองด้วยตนเองผ่านประสบการณ์และองค์ความรู้ที่เขามี จนได้เป็นเงื่อนไขต่าง ๆ ในการเลี้ยงผำออกมา เช่น ค่า pH ของน้ำในระดับที่เหมาะสม อุณหภูมิของน้ำ การวนน้ำไม่ให้เกิดตะไคร่ ประเภทปุ๋ยที่ใช้ รวมถึงการเลี้ยงแบบปิดและสวนแนวตั้ง (vertical farming) ที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของสวนผำจันทร์เรือง
“พอผำได้มาตรฐาน เราก็ส่งออกไปยังประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่ึงวัฒนธรรมการกินของเขาไม่ใช่แค่ข้าว แต่มีเส้นด้วย เราเลยเห็นโอกาสต่อยอด”
วัตถุดิบหลักที่คลุกเคล้ากับน้ำและเกลือจะจับตัวเป็นก้อนแป้งสีเขียวเข้ม ทิ้งไว้ ๑๐-๒๐ นาทีก็พร้อมทำบะหมี่ผำ
หลังพักก้อนแป้งจนได้ที่ นำเข้าเครื่องรีดเส้นอย่างประณีต จะได้บะหมี่ผำสีเขียวน่ารับประทาน
หลังจากทดลองเลี้ยงและล้มลุกคลุกคลานอยู่ราว ๔ ปีนับจากวันที่ลงปลูกแม่พันธุ์ผำชุดแรก วันนี้ผำของณัฐวุฒิและสวนจันทร์เรืองก้าวขึ้นไปสู่อีกระดับของการเลี้ยงผำคือเป็นผำที่สะอาดและมีมาตรฐานตามกรมวิชาการเกษตรกำหนด และพร้อมอย่างยิ่งที่จะแปรรูปเป็นบะหมี่ผำ
“ผำเป็นพืชที่เป็นได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม ไอติม หรือสารสกัด พอผำได้มาตรฐานเราก็ส่งออกไปยังประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งวัฒนธรรมการกินของเขาไม่ใช่แค่ข้าว แต่มีเส้นด้วย เราเลยเห็นโอกาสต่อยอด” ณัฐวุฒิอธิบาย
หลังจากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผำเริ่มแข็งแรงในตลาด ไม่ว่าจะเป็นผำสด ผำอบแห้ง คุกกี้ผำที่เขาทำร่วมกับภรรยา ณัฐวุฒิเริ่มมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จนเจอเส้นทางของการทำบะหมี่ แต่อย่างไรก็ดีณัฐวุฒิไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเส้นมาก่อน ดังนั้นเขาจึงต้องหา “คนทำเส้น” มาผนึกกำลังร่วมกัน
“ตอนนั้นรู้จักผำผ่าน ๆ ไม่ได้สนใจมาก เขาก็พาไปดูฟาร์มเลี้ยงผำและบอกว่าอยากแปรรูป ซึ่งอาจารย์ก็เห็นว่าเขามีทักษะและพัฒนาได้ ก็เลยรับปากว่าจะทำให้ ซึ่งเขาเองก็จุดประกายให้อาจารย์มาศึกษาผำด้วยเหมือนกัน”
ผศ.ดร. สุรีย์พร บุญนา หรือที่ณัฐวุฒิเรียกติดปากว่าอาจารย์เล็ก จากสาขานวัตกรรมอาหารและธุรกิจ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี เธอคือคนทำเส้นที่กลายมาเป็นกำลังสำคัญในการผลิตบะหมี่ผำ
อาจารย์เล็กเล่าว่าเธอรู้จักกับณัฐวุฒิผ่านการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี จึงได้ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการผลิต “คุกกี้ผำ” ที่ภรรยาของณัฐวุฒิเป็นผู้ริเริ่ม เมื่อคุกกี้ผำประสบความสำเร็จในตลาด ณัฐวุฒิจึงไหว้วานให้อาจารย์เล็กเข้ามาร่วมพัฒนาบะหมี่ผำด้วยกันอีก
ครึ่งหนึ่งของห้องผลิตคุกกี้ผำในวันนี้ถูกแบ่งออกมาเป็นพื้นที่ผลิตบะหมี่ผำชั่วคราว อาจารย์เล็กหยิบเครื่องรีดแป้งเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวอันจิ๋วขึ้นมา ขนาบข้างด้วยวัตถุดิบสำคัญห้าอย่างของการทำบะหมี่ผำ
“ยากตรงที่เขา (ณัฐวุฒิ) อยากได้เส้นที่ไม่มีแป้ง แต่เส้นทั่ว ๆ ไปล้วนทำจากแป้งสาลี เหมือนเวลาเราทำเค้กแต่ไม่ใส่แป้งสาลี มันก็จะไม่ขึ้นฟู ไม่ขึ้นรูป เพราะไม่มีโปรตีนช่วย”
เมื่ออาจารย์เล็กได้โจทย์ที่ผิดไปจากหลักการที่เคยมีมาจึงท้าทายไม่ใช่น้อย ขั้นแรกเธอต้องหาวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติทดแทนแป้งสาลีได้ คือขึ้นรูปได้ อีกทั้งยังต้องหาวัตถุดิบเพื่อทดแทนโปรตีนและเส้นใยอาหารที่ขาดหายไปจากการไม่ใช้แป้งสาลี
บะหมี่ผำเป็นญาติของบะหมี่กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีปลายรสชาติคล้ายผักและอุดมด้วยโปรตีนกว่า ๑๐ กรัม ซึ่งไม่สามารถหาได้ในเส้นทั่วไป
ณัฐวุฒิและอาจารย์เล็กใช้เวลากว่า ๒ ปีทดลองสูตรอย่างต่อเนื่อง จากเส้นสดสู่เส้นแห้ง จนได้วัตถุดิบหลักในการทำบะหมี่ผำ ได้แก่ แป้งอัลมอนด์ที่ใช้ทดแทนแป้งสาลี โอ๊ตไฟเบอร์ที่ใช้เพิ่มโปรตีนและเส้นใยอาหาร วีตกลูเตนที่ใช้เพิ่มสัมผัสและขึ้นรูปเส้น เมล็ดแฟลกซ์ที่ใช้เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ และวัตถุดิบสำคัญคือผงผำบดละเอียดที่ช่วยเพิ่มโปรตีนและคุณค่าทางโภชนาการมหาศาลให้บะหมี่ผำ
ขั้นตอนการทำบะหมี่ผำไม่ซับซ้อนนัก นั่นก็คือผสมแต่ละวัตถุดิบในปริมาณที่เหมาะสม ค่อย ๆ คลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกันด้วยเกลือและน้ำ เมื่อได้ที่ก็จะได้ก้อนแป้งสีเขียวพาสเทลน่ารับประทาน ทิ้งไว้ประมาณ ๑๐-๒๐ นาที จากนั้นคลึงด้วยที่นวดแป้งจนเป็นแผ่นหนาประมาณครึ่งข้อนิ้ว แล้วนำเข้าเครื่องบดและตัดเส้น เพียงเท่านี้ก็จะได้เส้นบะหมี่ผำสีเขียวแปลกตาที่มีปริมาณโปรตีนสูงถึง ๑๕ กรัมต่อก้อนไว้ทำอาหารแล้ว !
“บะหมี่ผำมีโปรตีนมากกว่าบะหมี่ทั่วไป มีสารอาหารหลายอย่าง เช่น เส้นใยอาหาร กรดไขมัน โอเมกา-๓ และ ๖ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ตอนนี้คนรับประทานเนื้อสัตว์น้อยลงแต่ยังต้องการโปรตีนในปริมาณเท่าเดิม เพราะฉะนั้นโปรตีนทางเลือกที่มาจากพืชเช่นบะหมี่ผำน่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภค เป็นอาหารอนาคตที่สร้างความมั่นคงทางอาหารได้” อาจารย์เล็กอธิบายพลางทำเส้นไปด้วย
บะหมี่ผำเซตตัวสวยงามคล้ายก้อนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เราคุ้นตา ขณะนั้นพระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า เป็นเวลาอาหารเย็นพอดิบพอดี ชุติมา เดชะบุญ เกษตรกรจากสวนจันทร์เรืองจึงขอสลับบทบาทมาเป็นเชฟ รังสรรค์อาหารจากบะหมี่ผำเส้นสดให้ทีมงาน สารคดี ได้ลิ้มลอง
จานเด็ดวันนี้ประยุกต์มาจากสูตรอาหารทางเหนือซึ่งเป็นบ้านเกิดของเชฟชุติมา คือแกงอ่อมผำ มีส่วนผสมหลักคือหมู ข่า ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม กะทิ และใบมะกรูด ผัดจนหอมได้ที่จึงใส่ผำสดลงไปคลุกเคล้า แม้มีสีเขียวไม่คุ้นตานัก แต่ลิ้มลองรสชาติแล้วติดใจ เพราะผำสดช่วยเพิ่มเนื้อสัมผัสคล้ายไข่กุ้งให้แกง ถ้ากินเพลิน ๆ ละก็ข้าวหมดหม้อแน่นอน
ยังมีผัดบะหมี่ผำซั่ว คือผัดหมี่ซั่วที่ใช้เส้นบะหมี่ผำ และบะหมี่ผำต้มที่คล้ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้มน้ำร้อนนั่นเอง
ด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูงลิ่วจากสารอาหารที่อุดมอยู่ในผำ ณัฐวุฒิเชื่อว่าผำจะกลายเป็นอาหารแห่งอนาคต และบะหมี่ผำจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน
ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงเส้นบะหมี่ผำที่หนึบกว่าเส้นชนิดอื่นที่เคยลิ้มลอง และมีกลิ่นเขียวของผำจาง ๆ แม้ความชอบของแต่ละคนอาจต่างกัน แต่รับรองว่าคุณค่าทางโภชนาการมีมากกว่าเส้นทั่วไปแน่นอน
หลังจากอิ่มท้อง ณัฐวุฒิเล่าว่าขณะนี้บะหมี่ผำได้สูตรเกือบคงที่แล้ว แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นผลิต แม้มีความต้องการ “เส้นจากผำ” หลากรูปแบบจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่หรือพาสต้า แต่ตลาดในประเทศไทยยังค่อนข้างเงียบ ถือเป็นน่านน้ำที่ยังไม่มีผู้เล่นมากนัก
ณัฐวุฒิอธิบายว่าแม้สังคมไทยจะอยู่คู่กับอาหารประเภทเส้นมาทุกยุคทุกสมัย แต่ความต้องการบะหมี่ผำยังมีเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มออกกำลังกายที่ต้องการโปรตีนสูง และแม้ผำจะเป็นที่รู้จักในฐานะอาหารแห่งอนาคต แต่จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงยังน้อยหากเทียบกับขนาดของตลาด ส่งผลให้ราคาอาจสูงเกินไปสำหรับกลุ่มลูกค้าทั่วไป ความนิยมและความแพร่หลายจึงยังแตกต่างจากประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีกำลังซื้อสูงมากตามแนวโน้มด้านสุขภาพที่กำลังขยายตัวในกลุ่มประเทศเหล่านี้
อย่างไรก็ดีณัฐวุฒิเชื่อว่าบะหมี่ผำยังก้าวต่อไปได้ในตลาดประเทศไทยที่กำลังขยายตัวขึ้น สิ่งที่ณัฐวุฒิจะขยับเคลื่อนไปต่อคือการขยายเครือข่ายคนเลี้ยงผำเพื่อเค้นศักยภาพของผำออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้วเขาไม่สามารถทำเรื่องนี้คนเดียวได้
กว่า ๑๐ ปีที่วิศวกรเคมีทิ้งเครื่องมือและห้องแล็บสู่เกษตรกรที่มือหนึ่งถือเทคโนโลยีอีกมือหนึ่งถือผำ-พืชที่จะกลายเป็นอาหารแห่งอนาคตของมวลมนุษย์ จากพืชน้ำท้องถิ่นที่ไร้ค่า ณัฐวุฒิหยิบมันขึ้นมาแต่งองค์ทรงเครื่อง (ปรุง) สร้างมาตรฐานและคุณภาพให้เหมาะกับการเป็น superfood
คุณค่าที่เขาเห็นจากผำวันนั้น เกิดขึ้นจริงแล้วในวันนี้
“ยุคถัดไปเขาวัดกันที่สุขภาพ ถ้าเรามีสินค้าดีมาตอบโจทย์ เป็นอาหารที่กินได้ทุกวันและมีคุณค่าทางสารอาหารบะหมี่ผำจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คน” ณัฐวุฒิกล่าวอย่างภาคภูมิใจ