Image

Adaptation

จากบรรณาธิการ

“ปรับตัวเพื่ออยู่รอด” เป็นคำคุ้นเคยเวลาพูดถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต รวมถึงการอยู่รอดในสังคมของคนเรา

แต่ที่จริงตามทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน แล้ว เขาใช้อธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ได้อธิบายสังคมมนุษย์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน แต่การนำมาอธิบายแบบผิดฝาผิดตัวนี้ยังพบเป็นประจำในข่าวหรือบทความต่าง ๆ

วิวัฒนาการถือเป็นข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานชัดเจน คือสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่พบเห็นในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ ๆ ก็ปรากฏขึ้น หรือเกิดมาก็มีหน้าตารูปร่างแบบนั้น แต่ผ่านการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์จากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เคยดำรงอยู่ในอดีตกาล ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน (ส่วนชีวิตแรกเริ่มสุด ๆ นั้นมาจากไหน เป็นปริศนาที่ยังหาคำตอบกันอยู่)

ดาร์วินอธิบายว่าการปรับเปลี่ยนนั้นเป็นแบบสุ่ม คือธรรมชาติไม่รู้หรอกว่าอะไรที่เปลี่ยนไปแล้วจะดีหรือไม่ดี แข็งแรงหรืออ่อนแอ จะอยู่รอดหรือไม่รอด  แต่สภาพแวดล้อมและการแข่งขันระหว่างสิ่งมีชีวิตในพื้นที่นั้นจะเป็นผู้เลือกเองว่าลักษณะอะไรและแบบไหนอยู่รอดได้ดีกว่า สามารถสืบลูกหลานมีประชากรได้มากกว่า ดาร์วินจึงเรียกกลไกนี้ว่า natural selection คือคัดเลือกโดยธรรมชาติ เทียบเคียงกับการคัดเลือกโดยมนุษย์ เช่น สัตว์เลี้ยงอย่างหมาแมวมาจากสัตว์ป่าชนิดเดียวกันคือหมาป่ากับแมวป่า ซึ่งถูกมนุษย์คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์มาผสมกันให้ได้ลูกหลานที่ต้องการหน้าตาแตกต่างกันไป จนดูภายนอกแทบจะเป็นสัตว์ต่างชนิด

คำว่าปรับตัว ภาษาอังกฤษใช้ว่า adaptation เป็นการเกิดลักษณะใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งช่วยให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดในสภาพแวดล้อม ตัวอย่างที่มักยกมาคือปากของนกฟินช์  ดาร์วินพบว่าบนหมู่เกาะกาลาปากอสแต่ละเกาะมีนกฟินช์ต่างชนิดกัน ซึ่งมีปากต่างกัน ตั้งแต่ปากหนามาก ปากหนา ปากเล็ก ไปจนถึงปากเรียว

เขาอธิบายว่าที่จริงแต่เดิมเป็นนกฟินช์ชนิดเดียวกัน แต่เมื่อบนเกาะต่าง ๆ เกิดสภาพแวดล้อมที่มีอาหารไม่เหมือนกัน เช่นบนเกาะหนึ่งมีพืชเมล็ดเปลือกหนาอยู่มากกว่า นกฟินช์ที่ปากหนากว่าตัวอื่น ๆ แม้เพียงเล็กน้อยก็จะได้เปรียบ ได้กินอาหารและมีลูกหลานมากกว่า จนในที่สุดลูกหลานปากหนาก็ขยายประชากรยึดครองเกาะนั้น นกฟินช์ปากบางกว่าก็หายไป  ขณะที่บนเกาะอื่นอาจมีอาหารต่างออกไป พอถึงปัจจุบันบนแต่ละเกาะจึงพบนกฟินช์ชนิดที่มีลักษณะปากเหมาะสมกับอาหารบนเกาะนั้น ๆ

Image

ตามคำอธิบายของดาร์วินนี้จึงต่างจากการบอกว่านกฟินช์ตั้งใจปรับตัวให้ปากตัวเองใหญ่ขึ้นเพื่ออยู่รอด และปัจจุบันเราก็รู้แล้วว่าเป็นเพราะความผันแปรในรหัสพันธุกรรมทำให้มีตัวปากหนากว่าตัวอื่น แม้เพียงเล็กน้อยได้ประโยชน์ไปโดยไม่ตั้งใจ  คำว่า “ปรับตัวเพื่ออยู่รอด” ถ้าเขียนให้ครบตามทฤษฎีของดาร์วินแล้วก็คือ “การปรับเปลี่ยนที่ถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติให้อยู่รอด”

ในความน่าฉงนงงงวยเกี่ยวกับการปรับตัวและวิวัฒนาการ ยังมีเรื่องของ exaptation ซึ่งอาจเรียกว่า “การปรับใช้” หรือ “ประยุกต์ใช้” เพราะพบว่ามีอวัยวะหรือโครงสร้างบางอย่างที่เมื่อตอนเริ่มแรกทำหน้าที่ให้ประโยชน์อย่างหนึ่งกับสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง แต่เมื่อวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ สิ่งมีชีวิตรุ่นหลังปรับใช้โครงสร้างนั้นเพื่อประโยชน์ต่างไปจากเดิม เช่น ขนของนกซึ่งใช้ช่วยการบิน ปรับใช้มาจากขนซึ่งไดโนเสาร์ใช้รักษาอุณหภูมิร่างกาย (ไดโนเสาร์เป็นบรรพบุรุษของนก)  ถุงลมหรือปอดที่ใช้หายใจของสัตว์บรรพบุรุษของปลา ถูกปรับใช้เป็นถุงลมลอยตัวของปลาเมื่อวิวัฒนาการลงไปใช้ชีวิตในน้ำ ขณะที่เหงือกคาดว่ามีจุดเริ่มต้นจากการใช้ควบคุมสารเคมีหรือกรองสสารเข้าออกในตัว ก่อนจะปรับใช้มาเป็นการหายใจเพื่อดึงออกซิเจนมาฟอกเลือด

การศึกษาฟอสซิลปลาโบราณอายุกว่า ๔๓๘ ล้านปี ยังพบความเชื่อมโยงซึ่งน่าทึ่งขึ้นไปอีกว่า โครงสร้างหูชั้นกลางของมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยกระดูกสามชิ้น คือ ค้อน ทั่ง และโกลน แท้จริงแล้วก็คือเหงือกของปลาที่ถูกปรับหน้าที่ในการหายใจ มาเป็นการรับฟังคลื่นเสียง (หากถอยเวลาไปไกล ๆ บรรพบุรุษของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสืบสายมาจากปลา)

วิวัฒนาการในธรรมชาติเป็นความผันแปรที่ประจวบเหมาะ แต่การปรับตัวเพื่ออยู่รอดในวัฒนธรรมมนุษย์น่าจะมีการปรับใช้ร่วมด้วยอยู่มากทีเดียว เช่น ไม้ท่อนหนึ่งหรือหินก้อนหนึ่งถูกปรับใช้ให้เป็นอาวุธ หรือจะเป็นเครื่องดนตรีก็ได้

ส่วนการทำลายธรรมชาติซึ่งเป็นต้นกำเนิดทุกอย่างของชีวิต
เป็นการปรับตัว ปรับใช้ หรือปรับอะไรของมนุษย์ ฝากผู้อ่านช่วยขบคิดต่อ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com

ฉบับหน้า : วัฒนธรรมเส้น