Image

นพ. สุรเชษฐ์ พรสุวรรณนภา
แพทย์เฉพาะทางด้านผ่าตัดสมองและกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ผู้ครอบครอง เจ้าชายน้อย ราว ๗๐ ภาษา (๑๘๑ เล่ม)

พลังภาษาเจ้าชายน้อย

หลงลักษณ์

เรื่องและภาพประกอบ : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ผลสืบค้นมกราคม ๒๕๖๘ จาก www.petit-prince-collection.com 

เจ้าชายน้อย วรรณกรรมคลาสสิกโดaย อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี ได้รับการแปลสำนวนทั่วโลกแล้ว ๖๑๔ ภาษา พิมพ์เป็นหนังสือจำหน่าย ๗,๔๐๓ เล่ม ทั้งฉบับเต็ม ฉบับย่อภาษาประจำชาติและภาษาถิ่น ซึ่งโดยมากภาษาใดก็ผลิต-จำหน่าย (บ้างแจกเฉพาะกิจ) ในประเทศนั้น ความสนุกจึงอยู่ตรงนักสะสมทั่วโลกต้องใช้ความตั้งใจตามหา แลกเปลี่ยน ซื้อขาย เพื่อครอบครองโดยเฉพาะภาษาที่ยากต่อการไปเยือนประเทศนั้นเอง แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้แฟนพันธุ์แท้ชาวไทยก็ไม่เป็นรอง

นี่คือเสี้ยวเหตุผลการหลงรักจากวงสนทนา “นักสะสมหนังสือแปลเจ้าชายน้อย” ครั้งเพจ The Little Prince Club จัดนิทรรศการ “The Little Prince 80th 80s”

“เจ้าชายน้อยบอกผมว่าทุกช่วงชีวิตมีนัยต่างกัน ผมอ่าน เจ้าชายน้อย ครั้งแรกตอนเรียนแพทย์ปี ๔ ด้วยความรู้สึกว่าห่วยฉิบ ! จบแต่ละย่อหน้าเหมือนหนังที่ถูกตัด ใครก็เขียนได้จนปี ๖ ช่วงมีความรัก ได้อ่าน The Little Prince พอถึงฉาก ‘สุนัขจิ้งจอกสอนวิธีเป็นเพื่อนโดยนัดให้เจ้าชายน้อยมาหาเวลาเดิม’ โอ้โฮ มันใช่ ! ยุคนั้นใช้ตู้โทรศัพท์แบบหยอดเหรียญซึ่งทั้งหอพักมีตู้เดียวต้องเผื่อเวลารอคิวเพื่อโทรศัพท์หาสาวตอน ๒ ทุ่มทุกวัน ถ้าเขาไม่รอรับสายเราก็จะคลาดกันเลย ๑ วัน ยังมีฉาก ‘ดอกไม้ที่สวยต่างกันเพราะเราผูกพันไม่เหมือนกัน’ แปลกที่เพิ่งจับใจตอนได้อ่านภาษาอังกฤษ คงเพราะการแปลภาษามีพลังต่อการสื่อสาร ผมจึงเรียนภาษาฝรั่งเศสเพื่ออ่าน Le Petit Prince และเริ่มสะสมภาษาอื่นเวลาไปต่างประเทศ  คุณค่าการสะสมหนังสือยังมีความหมายในมิติอื่นด้วย เช่นมิตรภาพ  คนไข้ชาวลาวคนหนึ่งมอบ ท้าวน้อย ให้ผม หรือภาษาเวียดนามก็เคยได้เป็นของขวัญวันเกิดจากน้องคนหนึ่งที่จำได้ว่าผมชื่นชอบ เจ้าชายน้อย ส่วนภาษาไทยที่ผมชอบคือสำนวนคุณอริยา ไพฑูรย์ ซื้อแจกสายรหัสทุกรุ่นตั้งแต่ผมเรียนปี ๖ จนทุกวันนี้ก็ยังให้ เจ้าชายน้อย กับน้องปี ๑ ให้เขาเก็บไว้อ่านเผื่อได้ความหมายในแต่ละช่วงชีวิต  

“ผมเพิ่งอ่าน เจ้าชายน้อย หลังผ่านมา ๑๕ ปี แล้วสงสัยว่าทำไมเมื่อก่อนไม่รู้สึกอะไรที่ ‘นักบินกับเจ้าชายน้อยอ่อนเพลียจากการอยู่ทะเลทรายหลายวันและน้ำดื่มใกล้หมดจึงชวนกันไปหาน้ำ’ ซึ่งก่อนเจอบ่อน้ำ เจ้าชายน้อยชวนคิดว่าระหว่างทางชีวิตคนเราควรมีอะไรทำมากกว่าไม่มีจุดหมายอะไรเลย โอ้ ! ตอนอายุน้อย มีเวลา มีเพื่อนฝูง เราอาจไม่เข้าใจคุณค่านี้ จนอายุมากขึ้น สังคมน้อยลง แขนขาอ่อนแรง จะรู้ซึ้งว่าน้ำเพียงหยดกลางทะเลทรายทำให้ชุ่มชื่นหัวใจเพียงไร และเราจะไม่กลัวความตายถ้าใช้ระหว่างทางชีวิตอย่างมีค่าแล้ว การพบใครในชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่สิ่งที่ดีกว่าคือขณะเจอได้สร้างความสัมพันธ์อันดีจนกว่าจะจากกัน ไม่ว่าจากเป็นหรือจากตาย เราจะจดจำสิ่งที่เขาเคยทำร่วมกับเรา ทุกวันนี้เวลามีคนแก่มาหาหมอเพื่อเตรียมตัวกับการจากไป ผมจะเล่าบางตอนของ เจ้าชายน้อย ให้เขาฟัง”

Image

นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ
ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ และเจ้าของสำนักพิมพ์ GROOVE PUBLISHING ผู้ครอบครองหนังสือแปล เจ้าชายน้อย ราว ๖๙ ภาษา (๑๒๐ เล่ม)

ภาพ : อธิป ฉัตรรังสีกุล

“ตอนเด็กผมเคยสนุกกับการอ่านวรรณกรรมแนวผจญภัยมากแต่กลับอ่าน เจ้าชายน้อย ไม่รู้เรื่อง พอโตแล้วได้อ่านเวอร์ชันแปลโดยคุณ ‘พงาพันธุ์’ จากนิตยสาร พลอยแกมเพชร ถึงเห็น meaning ที่ซ่อนอยู่ในเนื้อหามากขึ้นอย่างประหลาด เช่น ‘งูเหลือมกลืนช้าง’ ที่ผู้ใหญ่มองเป็นหมวก มันสะท้อนชีวิตจริงมาก เด็กมักมีจินตนาการล้ำลึก แต่พอโตจินตนาการก็ตื้นลงเพราะตีความจากสิ่งที่เห็น ร้ายกว่านั้นคือเด็กถูกผู้ใหญ่บล็อกจินตนาการจนหยุดวาดรูป ผมว่าผู้ใหญ่ควรได้อ่านฉากนี้เยอะ ๆ ถ้าตีความได้มันจะเปลี่ยนวิธีคิดไปเลย  อาชีพหลักผมทำเรื่องการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ หมอกับพยาบาล จึงเชื่อว่าการสื่อสารที่ดีจะทำให้ผลการรักษาดีไปด้วย แล้วสิ่งที่ผมตกตะกอนจากการอ่าน เจ้าชายน้อย คือเราทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ข้างในที่ต้องเลี้ยงดูไม่ให้แคระแกร็น การเติบโตของจินตนาการจะช่วยให้ผู้ใหญ่ใช้ชีวิตง่ายขึ้น 

“จากภาษาไทยผมก็เริ่มเก็บภาษาต่างประเทศ ทั้งที่ได้เดินทางเอง เพื่อนให้ และซื้อจากเพจเฟซบุ๊ก The Little Prince Club เพราะบางประเทศเราคงไม่มีโอกาสไป อย่างภาษาสวาฮิลี อียิปต์โบราณ สโลวัก หรือภาษาถิ่นของชาติพันธุ์ อ่านไม่ออกหรอกแต่เราสะสมภาษาภาพได้ อย่างญี่ปุ่นเขาจะครีเอตภาพใหม่ น่ารักทุกเวอร์ชัน ช่วงหลังผมสนใจแบบคอลเลกชันพิเศษด้วยอย่าง เจ้าชายน้อย ภาษาจีน-ฝรั่งเศส ฉบับครบรอบ ๘๐ ปี ที่ออกแบบกล่องเป็นตู้หนังสือมีลิ้นชัก ข้างในมีหนังสือจิ๋วปกแข็งสามเล่ม เนื้อหาต่างกันตามธีมเล่ม มีดอกกุหลาบ ดวงดาว สุนัขจิ้งจอก และของที่ระลึกซึ่งผู้สะสมจะได้ไม่เหมือนกัน บางคนอาจได้กุหลาบ ดวงดาวเจ้าชายน้อย หรือสุนัขจิ้งจอก เป็นความสนุกในอีกรูปแบบของการสะสมหนังสือ”