ครอบครัวของนิเวศน์และทับทิมจะต้มชากับสมุนไพรดื่มเป็นประจำด้วยเตาไฟในกระบะดินที่มีเชื้อเพลิงเป็นไม้สน
ฝูงปลามง (Jack fish) บริเวณกองหินริเชลิว ทะเลอันดามัน
ภาพ : 123rf.com
เรื่องและภาพ : ดร. ชวลิต วิทยานนท์
สถานการณ์ของโลกและประเทศไทยในปัจจุบันมีหลายสิ่งได้ก้าวเกิน “ขีดเส้นตายของพื้นพิภพ” (planetary boundaries) ไปแล้ว และสิ่งที่เกินเส้นตายไปมากที่สุดคือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งในระดับความหลากชนิด ระบบนิเวศ ปัจจัยที่ก่อผลกระทบต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชมากสุด เรียกเป็นคำย่อภาษาอังกฤษได้ว่า HIPPO มาจาก
H = Habitat Loss หมายถึงการสูญเสียถิ่นอาศัยประเภทต่าง ๆ จากการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศให้เป็นสิ่งก่อสร้าง หรือใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งต้องถากถางทำลายระบบนิเวศเดิม ปัจจัยนี้นับเป็นสาเหตุใหญ่สุดของการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและการสูญพันธุ์
I = Invasive Species หมายถึงการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานบางชนิดหรือหลายชนิด ทำให้ชนิดดั้งเดิมสูญเสียประชากรและระบบนิเวศเสื่อมสภาพลงจนไม่อาจฟื้นคืนหรือต้องใช้ทรัพยากรมากมายในการแก้ปัญหา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การระบาดของปลาหมอคางดำในชายฝั่งอ่าวไทย
P = Pollution หมายถึงมลภาวะจากกิจกรรมที่คนปล่อยสู่ระบบนิเวศ สำหรับสัตว์น้ำ มลภาวะที่ส่งผลต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดมาจากภาคการเกษตร ซึ่งใช้ยากำจัดศัตรูพืชอันเป็นพิษต่อชนิดที่มีความเปราะบาง มลพิษจากอุตสาหกรรมที่ไม่ควบคุมบำบัดมักทำลายชนิดสัตว์น้ำในแม่น้ำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการสูญหายไปของปลายี่สกจากแม่น้ำแม่กลอง อันเป็นผลจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานต่าง ๆ หรือสารอาหารที่มากเกินจากปริมาณปุ๋ยที่ใช้ ก็ทำให้เกิดภาวะน้ำแดงในทะเลได้
P = human over Population หมายถึงการเพิ่มของประชากรมนุษย์ที่เกินความจุของพื้นที่ ขับดันให้ใช้ทั้งทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ระบบนิเวศมากขึ้นและแก่งแย่งกัน รวมถึงกดดันให้ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การก่อมลพิษ การเก็บเกี่ยว เพิ่มขึ้นด้วยอย่างไรก็ตามการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรที่เหมาะสมก็ลดผลกระทบจากปัจจัยนี้ได้อย่างมาก
และ O = Over-harvesting หมายถึงการเก็บเกี่ยวที่มากเกินพอจากทรัพยากรชีวภาพจนทดแทนไม่ทันและก่อการ
สูญพันธุ์ต่อหลายชนิด ทั้งชนิดที่เป็นเป้าหมายหรือผลพลอยได้ เช่น การล่าสัตว์ป่า การเก็บพืชป่าที่ไม่ควบคุม รวมถึงการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการควบคุมจนเกินขนาดของกำลังผลิตทดแทนของธรรมชาติ เช่น การปั่นส่องไฟจับปลาด้วยอวนตาถี่ อวนลากหน้าดิน และการจับปลาในฤดูวางไข่ เป็นต้น
ปัจจัยทั้งหมดนี้หากไม่ได้รับการป้องกันแก้ไขทันท่วงทีก็นำมาซึ่งการสูญพันธุ์ของทั้งชนิดสัตว์และพืชที่สำคัญจากทุกระบบนิเวศ
ชีวภูมิศาสตร์
และระบบนิเวศ
ของปลาทะเลไทย
หมู่เกาะสิมิลัน ทะเลอันดามัน
ภาพ : 123rf.com
น่านน้ำทะเลไทยมีพื้นที่รวมกันประมาณ ๓๒๓,๔๘๘ ตารางกิโลเมตร แบ่งตามภูมินิเวศทะเลของโลก (Marine Ecoregions of the World) เป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทยและทะเลอันดามัน
อ่าวไทย (Gulf of Thailand) อยู่ใน Marine Ecoregions of the World No.115 เป็นน่านน้ำภายในที่อยู่ส่วนตะวันตก สุดของทะเลจีนใต้และฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก มีลักษณะเป็นอ่าวกึ่งปิด ล้อมรอบด้วยชายฝั่งของคาบสมุทรมลายูทางทิศตะวันตกและปลายแหลมญวนของประเทศเวียดนาม
อ่าวไทยมีความกว้างประมาณ ๓๘๐ กิโลเมตร ความยาวประมาณ ๘๑๐ กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ ๕๔๐ กิโลเมตร พื้นท้องทะเลอ่าวไทยมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีความลึกเฉลี่ยประมาณ ๔๔ เมตร ตอนกลางอ่าวมีความลึกประมาณ ๖๐ เมตร ลึกมากที่สุดประมาณ ๘๖ เมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๒.๗ แสนตารางกิโลเมตร
ทะเลอันดามัน (Andaman Sea Coral Coast) อยู่ใน Marine Ecoregions of the World No.110 เป็นส่วนหนึ่งของไหล่ทวีปมหาสมุทรอินเดีย เป็นชายฝั่งทะเลจมตัวที่ล้อมรอบด้วยแผ่นดิน เกาะ หรือคาบสมุทร และอาจมีสันเขาใต้ทะเล ทะเลอันดามันมีลักษณะเป็นแอ่งกึ่งปิด ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอ่าวเบงกอล อาณาเขตด้านเหนือหรือด้านบนติดต่อกับแผ่นดินส่วนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ทิศตะวันออกเป็นคาบสมุทรมลายู ทางด้านตะวันตกเป็นที่ตั้งของหมู่เกาะนิโคบาร์และอันดามัน ซึ่งเป็นแนวกั้นทะเลอันดามันกับอ่าวเบงกอล ส่วนด้านใต้เป็นส่วนปลายของเกาะสุมาตราและช่องแคบมะละกา
ทะเลอันดามันมีความยาวในแนวเหนือ-ใต้ประมาณ ๑,๒๐๐ กิโลเมตร ส่วนกว้างที่สุดตามแนวตะวันออก-ตะวันตกมีระยะทางประมาณ ๖๕๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๗๙๗,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย ๘๗๐ เมตร และส่วนที่ลึกที่สุดมีความลึกถึง ๓,๗๗๗ เมตร ระบบนิเวศทางทะเลของไทย ตั้งแต่ส่วนใกล้แหล่งน้ำจืดที่สุดไปถึงทะเลลึกสุด ประกอบด้วย
แผนที่แสดงชีวภูมิศาสตร์และระบบนิเวศของปลาทะเลไทย
ภาพ : https://www.guideoftheworld.com/thailand-map.html
ปากแม่น้ำ (Estuaries) เป็นถิ่นอาศัยที่เป็นส่วนปลายสุดของระบบแม่น้ำ มีหาดเลน ป่าชายเลน และทะเลสาบเป็นระบบนิเวศย่อย อยู่ในอิทธิพลการขึ้นลงของน้ำทะเล มักมีความเค็มที่เปลี่ยนแปลงจากปริมาณน้ำจืดตามฤดูกาลและช่วงน้ำขึ้นลง ปลาที่อยู่ในถิ่นอาศัยนี้มีขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ และปรับตัวต่อความเค็มของน้ำได้ดี มีปลาทะเลหลายชนิดที่เข้ามาหากินหรือเลี้ยงตัว
ปลาใกล้สูญพันธุ์ที่พบในระบบนิเวศนี้ เช่น ปลาฉลามจ้าวมัน ปลากระเบนธง ปลาตะลุมพุก ปลาหางกิ่ว เป็นต้น
ปัจจัยคุกคามต่อระบบนิเวศคือมลภาวะจากน้ำเสีย ทั้งจากอุตสาหกรรม การเกษตร และบ้านเรือน
ทะเลชายฝั่ง (Coastal Seas) เป็นบริเวณน้ำตื้นชายฝั่งทะเลลงไปจนถึงบริเวณลึกไม่เกิน ๑๐๐ เมตร เริ่มจากชายหาดแบบต่าง ๆ เช่น หาดทราย หาดหิน รวมถึงแหล่งหญ้าทะเล และทะเลใกล้ฝั่งส่วนของไหล่ทวีป
ปลาใกล้สูญพันธุ์ที่พบในระบบนิเวศนี้ เช่น ปลาฉลาม ปลากระเบนต่าง ๆ เป็นต้น
ปัจจัยคุกคามต่อระบบนิเวศคือมลภาวะจากการเกษตรที่ทำให้แพลงก์ตอนเจริญมากเกินไปจนเกิดภาวะน้ำแดง การก่อสร้างกำแพงกั้นชายฝั่ง การประมงมากเกินขนาด
แนวปะการังและกองหิน (Reefs) น่านน้ำไทยฝั่งทะเลอ่าวไทยมีพื้นที่ปะการังรวมทั้งหมดประมาณ ๑๒๑ ตารางกิโลเมตร แนวปะการังนับเป็นโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นระบบนิเวศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด กองหินเป็นระบบนิเวศย่อยที่มักพบต่อเนื่องหรือใกล้เคียงกับแนวปะการัง แต่มักจะมีกระแสน้ำหรือคลื่นลมแรงกว่า จึงพบปะการังได้น้อยหรือไม่พบเลย
ปลาใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลาโรนัน ปลานกแก้วหัวโหนก ปลานกขุนทองนโปเลียน ปลากะรังหน้างอน เป็นต้น
ปัจจัยคุกคามต่อระบบนิเวศคืออุณหภูมิน้ำสูงผิดปรกติ ทำให้ปะการังฟอกขาวและตายจนสภาพนิเวศเสื่อมโทรม การจับปลามากเกินขนาด และการรบกวนจากเรือท่องเที่ยว
ทะเลเปิด (Oceanic) เป็นทะเลส่วนที่ห่างจากฝั่งมากถึงกลางมหาสมุทร มักมีความลึกมากกว่า ๑๐๐ เมตร และเป็นเขตที่แสงยังส่องลงไปถึง ระบบนิเวศนี้มีในบริเวณกลางอ่าวไทยและในฝั่งทะเลอันดามันเป็นส่วนมาก
ปลาใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลาฉลามหางดาบ ปลากระเบนราหู เป็นต้น
ปัจจัยคุกคามต่อระบบนิเวศคือการจับปลามากเกินขนาด
ทะเลลึก (Deep Sea) เป็นเขตที่ระดับน้ำมีความลึก ตั้งแต่ ๑๐๐ เมตรลงไป เป็นเขตที่มีแสงน้อยจนถึงไม่มีแสงเลย และมักอยู่ใกล้กับพื้นท้องทะเล ประมาณร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่ในมหาสมุทรทั่วโลกเป็นทะเลลึก มีบริเวณไม่มากนักในกลางอ่าวไทย แต่มีมากในฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งมีความลึกได้กว่า ๔๐๐ เมตร
ยังไม่มีการประเมินสถานภาพของปลาที่พบในระบบนิเวศนี้ ชนิดที่พบ เช่น ปลาฉลามหลังหนาม ปลาเรืองแสง ปลาเขี้ยวกาง ปลาหางหนู เป็นต้น
ความหลากหลาย
ของปลาทะเลไทย
รายงานการสำรวจพันธุ์ปลาในประเทศไทยในปี ๒๕๖๓ ระบุว่า พบอย่างน้อย ๒,๘๕๐ ชนิด เป็นปลาทะเลประมาณ ๒,๐๐๐ ชนิด แต่จากการสำรวจต่อมาพบว่าน่านน้ำทะเลไทยพบปลาทะเลอย่างน้อย ๒,๔๘๐ ชนิด (รวมปลาน้ำจืดและปลาทะเล ๓,๓๓๐ ชนิด) ขณะที่ทั้งโลกมีปลาทะเลร่วม ๓ หมื่นชนิด หมายถึงในน่านน้ำไทยที่มีเนื้อที่ไม่ถึงร้อยละ ๐.๕ ของโลก กลับพบชนิดปลาทะเลเกือบร้อยละ ๘ ของชนิดที่มีในน่านน้ำรอบโลก
เหล่าปลาที่พบในน่านน้ำไทย แบ่งกลุ่มทางอนุกรม-วิธานได้สามกลุ่มใหญ่ ๆ คือ
ปลาปากกลม (Agnatha) เป็นปลากลุ่มโบราณที่สุดในโลกของปลาที่ยังมีชีวิตอยู่ มีรูปร่างคล้ายปลาไหลตัวอ้วน ๆ ปากเล็กมีหนวดสั้น ๆ และไม่มีกระดูกขากรรไกรอยู่ในทะเลลึกกว่า ๔๐๐ เมตร พบชนิดเดียวในน่านน้ำไทยทางทะเลอันดามันคือปลาปากกลมอินทรัมพรรย์ (Eptatretus indrambaryai Wongratana, 1983) แต่ชนิดในเขตหนาว
พบในน้ำไม่ลึกนัก
ปลากระดูกอ่อน (ฉลาม กระเบน และไคมีรา) (Elasmobranchs) เป็นปลาที่มีช่องเหงือก ๖-๗ ช่อง มีโครงกระดูกเป็นกระดูกอ่อน เป็นที่รู้จักกันดีโดยเฉพาะปลาฉลาม ซึ่งส่วนมากมีรูปร่างเพรียวเฉพาะตัว มีฟันแหลมคม และปลากระเบนซึ่งมีตัวแบนราบ หางยาว พบในน่านน้ำทะเลไทยอย่างน้อย ๑๙๐ ชนิด
ตัวอย่างแสดงลักษณะของปลาปากกลม Eptatretus sp.
ภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Eptatretus
ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน (Scalloped hammerhead) ตัวอย่างของปลากระดูกอ่อน
ภาพ : 123rf.com
กระเบนไฟฟ้าจุดเล็ก (Narcine prodorsalis) ล่อแหลมต่อการใกล้สูญพันธุ์ โดยติดมากับเครื่องมือประมง แม้จะไม่ได้เป็นที่ต้องการ
ปลากระดูกแข็ง (Bony Fishes) เป็นกลุ่มปลาที่เรารู้จักและคุ้นเคยที่สุด เพราะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนหลักของมนุษยชาติมานับแสนปีแล้ว มีลักษณะรูปร่างหลากหลายมาก ตั้งแต่เรียวยาวราวเส้นด้ายไปจนถึงกลมเป็นลูกบอล แต่รูปร่างที่เห็นบ่อยคือทรงเพรียวแบบกระสวยและแบนข้างเล็กน้อย มีหางแฉก พบในน่านน้ำไทยอย่างน้อย ๒,๒๙๐ ชนิด
ปลาสากลายบั้ง (Chevron barracuda) ตัวอย่างปลากระดูกแข็ง
ภาพ : 123rf.com
สถานภาพ
ปลาทะเลไทย
จากการประเมินสถานภาพสัตว์ที่ถูกคุกคามของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในปี ๒๕๖๓ พบว่า มีปลาทะเลอยู่ในสถานะถูกคุกคามของประเทศไทยอย่างน้อย ๑๑๙ ชนิด เป็นปลากระดูกอ่อน ๙๙ ชนิด และปลากระดูกแข็ง ๒๐ ชนิด
สถานภาพที่แย่สุดคือ สูญพันธุ์จากน่านน้ำไทย (Regionally Extinct) (แต่ยังพบในน่านน้ำอื่นหรือรอบข้าง) มีอย่างน้อยสี่ชนิด เป็นปลากระดูกอ่อนทั้งหมด ได้แก่ ปลาฉนากจะงอยปากแคบ (Anoxypristis cuspidata), ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง (Pristis pristis), ปลาฉนากเขียว (Pristis zijsron) และฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii)
ปลาตะลุมพุก (Tenualosa toli) ปลาราคาแพงของชาวจีนในกรุงเทพฯ เมื่อ ๖๐ ปีก่อนเคยพบในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันสูญพันธุ์จากแม่น้ำนี้แล้วแต่ยังพบได้ทางฝั่งระนอง และพบน้อยมาก
ปลาฉนาก หนึ่งในสี่ชนิด
ที่สูญพันธุ์จากน่านน้ำไทย
ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์อย่างวิกฤต ประชากรลดลงจากเดิมอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ ในรอบ ๑๐ ปี หรือสามชั่วอายุของชนิดนั้น ปลาทะเลมี ๑๘ ชนิด เป็นปลากระดูกอ่อนถึง ๑๗ ชนิด (ดูรายละเอียดในตาราง) ปลากระดูกแข็งมีเพียง ๑ ชนิด คือปลากะรังหน้างอน
ปลากะรังหน้างอน
ปลาโรนันจุด
ภาพ : แน่งน้อย ยศสุนทร
ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) อยู่ในภาวะอันตรายที่จะสูญพันธุ์ ประชากรลดลงจากเดิมอย่างน้อยร้อยละ ๕๐ ในรอบ ๑๐ ปี หรือสามชั่วอายุของชนิดนั้น ปลาทะเลมี ๔๒ ชนิด เป็นปลากระดูกอ่อนถึง ๓๑ ชนิด ราวสามในสี่เป็นชนิดที่รู้จักกันดี เช่น ฉลามวาฬ ฉลามเสือดาว โรนันต่าง ๆ กระเบนราหูต่าง ๆ ส่วนปลากระดูกแข็ง เช่น ปลาตะลุมพุก ม้าน้ำต่าง ๆ เป็นต้น
ฉลามหัวบาตร (Carcharhinus leucas)
ใกล้สูญพันธุ์ อาจพบเข้ามาในแม่น้ำ เช่น บางปะกง
ภาพ : แน่งน้อย ยศสุนทร
ฉลามเสือดาว (Stegostoma tigrinum) มักถูกจับเพื่อส่งขายสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่างประเทศ ปัจจุบันขึ้นบัญชีเป็นสัตว์น้ำคุ้มครอง
ภาพ : แน่งน้อย ยศสุนทร
กระเบนราหู (Mobula birostris)
ภาพ : แน่งน้อย ยศสุนทร
กระเบนนกจุด
(Aetobatus ocellatus)
ม้าน้ำหนามสั้น
(Hippocampus spinosissimus)
ม้าน้ำมงกุฎสั้น
(Hippocampus kuda)
ปลาวัวจมูกยาว (Oxymonacanthus longirostris)
ภาพ : ศุภชัย วีรยุทธานนท์
ปลานกขุนทองนโปเลียน
(Cheilinus undulatus)
ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) มีแนวโน้มประชากรลดลงว่าจะถูกคุกคามในอนาคตจากปัจจัยต่าง ๆ แต่ยังเห็นผล กระทบไม่ชัดเจน ปลาทะเลมี ๓๗ ชนิด ส่วนมากเป็นปลาในแนวปะการังและกองหิน เป็นปลากระดูกอ่อนราวครึ่งหนึ่ง ๑๙ ชนิด เช่น กระเบนทอง กระเบนผีเสื้อ กะรังลายหินอ่อน กะรังแดงลายขีด สินสมุทรอานทอง และปลาทะเลลึก ๒ ชนิด คือ ฉลามปากจิ้งจก และฉลามสีน้ำเงิน
ปลากะรังลายหินอ่อน
(Epinephelus fuscoguttatus)
ภาพ : แน่งน้อย ยศสุนทร
ล่อแหลมต่อการใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) มีประชากรลดลงจากเดิมอย่างน้อย ร้อยละ ๓๐ ในรอบ ๑๐ ปี หรือสามชั่วอายุของชนิดนั้น ปลาทะเลมี ๕๗ ชนิด เกือบทั้งหมดเป็นปลากระดูกอ่อน ๕๐ ชนิด เช่น ฉลามกบต่าง ๆ กระเบนไฟฟ้าต่าง ๆ กระเบนธง ส่วนปลากระดูกแข็ง เช่น ปลาหมอทะเล ม้าน้ำหางลาย
ปลากุดสลาดลายดวง
(Plectopoma areolatus)
ปัจจัยการคุกคาม
ปลาทะเลไทย
ปัจจัยการใกล้สูญพันธุ์ในปลาทะเลไทย มาจากสาเหตุหลักลำดับมากไปน้อย ดังนี้
การประมงเกินขนาดจนปลาเกิดทดแทนไม่ทัน
การประมงที่เคยขยายตัวขึ้นอย่างมากในน่านน้ำไทย โดยเฉพาะอวนลากหน้าดิน อวนลากคู่ ที่กวาดปลาทุกชนิดและทุกขนาดขึ้นมา ในอดีตมีจำนวนนับหมื่นลำ แต่ปัจจุบันมีกฎระเบียบที่ควบคุมมากขึ้น ทำให้จำนวนการจับลดลงอย่างมาก
เรือประมงในทะเลอ่าวไทย
ภาพ : 123rf.com
การสูญเสียหรือเสื่อมโทรมของถิ่นอาศัย
โดยเฉพาะปากแม่น้ำและป่าชายเลน เป็นผลจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน การฟอกขาวของปะการัง และการรบกวนของกิจกรรมต่าง ๆ ในแนวปะการัง
มลภาวะจากแหล่งต้นน้ำ เช่น แม่น้ำ แหล่งอุตสาหกรรมริมฝั่ง พื้นที่การเกษตร ที่ปล่อยน้ำเสียหรือสารอาหารเกินขนาดลงในทะเล ทำให้เกิดการเจริญของแพลงก์ตอนและลดออกซิเจนในน้ำจนเป็นอันตรายต่อปลาชายฝั่ง
ลูกปลาทูขนาดเล็กกว่า ๘ เซนติเมตร ปนมากับปลากะตักอบแห้ง
ทางออกของการหยุดยั้ง
การสูญพันธุ์ของปลาทะเลไทย
ราว ๗๐ ปีก่อน หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงหมาด ๆ เรือสำรวจ กาลาเทีย ๒ (Galathea II) ของเดนมาร์ก ออกเดินทางระยะเวลา ๒ ปี (ปี ๒๔๙๓-๒๔๙๕) เพื่อสำรวจทางวิทยาศาสตร์ตามชายฝั่งสามมหาสมุทร จากมหาสมุทรแอตแลนติก สู่มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก แล้วกลับสู่เดนมาร์กพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ พืช และมานุษยวิทยาจำนวนมาก จนกลายเป็นการสำรวจสำคัญครั้งหนึ่งที่กลายเป็นตำนานระดับโลก สิ่งน่าสนใจสำหรับประเทศไทยคือข้อมูลสำคัญชิ้นหนึ่งที่ กาลาเทีย ๒ ค้นพบจากการวัดคาร์บอน-๑๔ เพื่อดูความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งทะเล พบว่าปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงสุดเท่าที่สำรวจพบ
เมื่อมองไปในอดีต เราอาจกล่าวได้ว่าครั้งหนึ่งน่านน้ำไทยเคยสมบูรณ์ที่สุดในโลก
แต่หากมองสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ถ้าภาวะโลกร้อนหรือปะการังฟอกขาวยังไม่ทุเลาลง ปลาในแนวปะการังหลายชนิดก็จะตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ และหากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงอนุญาตตามมาตรา ๖๙ ให้ใช้อวนตาถี่จับปลาโดยการส่องไฟ ปลาเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายชนิดจะลดจำนวนลงแน่นอน เช่นเดียวกับปลาทู ซึ่งทุกวันนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ ๙๐
ถึงขณะนี้มีทางออกอะไรบ้างในการหยุดยั้งการสูญพันธุ์ของปลาทะเลไทย ผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้
๑. ควรมีองค์กรหรือหน่วยงานที่สร้างองค์ความรู้และสื่อให้แก่ผู้บริโภคได้เข้าใจถึงชนิดและขนาดที่เหมาะสมของปลาที่จับกิน ยกตัวอย่างที่แอฟริกาใต้มีข้อแนะนำผู้บริโภคสามระดับ คือ
a. บัญชีแดง หมายถึงชนิดที่หายากมาก หรือคุ้มครอง ห้ามจับกิน
b. บัญชีเหลือง หมายถึงชนิดที่ควรคิดก่อนกิน เพราะอาจพบน้อย หรือมาจากการจับที่ไม่ยั่งยืน
c. บัญชีเขียว หมายถึงชนิดที่กินได้อย่างสบายใจเพราะมีการจัดการที่ดีแล้ว หรือมีอยู่มากมาย
การลากอวนในอ่าวไทยราวปี ๒๕๑๕ ได้ปลาขนาดใหญ่ จำนวนมาก และเคยได้ถึง ๑๐๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมง
๒. ปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์การประมงให้ยั่งยืนขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ปฏิบัติในมาตรา ๕๗ ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นมาตราที่กำหนด ห้ามไม่ให้จับหรือนำขึ้นจำหน่ายปลาเศรษฐกิจที่ยังมีขนาดเล็กเกินไป
๓. ทบทวนการพัฒนาและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในชายฝั่งซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศของปลา
ความหวังที่พอมองเห็น คือแนวความคิดเรื่องพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกพื้นที่คุ้มครอง หรือ Other Effective Conservation Measures (OECMs) เป็นเครื่องมือชนิดใหม่ที่สำคัญและมีศักยภาพสูงในการดูแลระบบนิเวศของปลาทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม พร้อมกับอาศัยวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองมาเป็นกำลังสำคัญในการดูแลระบบนิเวศทุกแบบ และหยุดยั้งการสูญพันธุ์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
การสูญพันธุ์ของปลาทะเลเกี่ยวข้องกับเรื่องสามัญในชีวิตประจำวันที่ทุกคนมีส่วนช่วยได้ คือการรับความรู้ที่จำเป็นเพื่อการเลือกบริโภคอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับชนิด ขนาด และอายุของปลา เช่น ปลาทูแก้ว ไม่ใช่ปลาทูชนิดอื่น แต่คือปลาทูวัยเด็ก ปลาข้าวสารที่เป็นปลากะตักวัยอ่อน ไม่ควรบริโภค ฯลฯ และสำหรับนักเลี้ยงปลาก็ควรเลือกเลี้ยงปลาทะเลชนิดที่เพาะพันธุ์ได้แพร่หลายแล้วเท่านั้น