ปลาค้างคาวติดหินแม่ลาน้อย (Oreoglanis sudarai)
การเดินทาง กาลเวลา
และปลานํ้าจืดไทย
ปลาไทย
ใกล้สูญพันธุ์~สูญพันธุ์แล้ว
เรื่องและภาพ : ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์
แรงบันดาลใจในการศึกษาปลาน้ำจืดในประเทศไทยของผมคงมาจากภาพในอดีตสามภาพ
ภาพที่ ๑ เป็นภาพซอยแห่งหนึ่งประมาณปี ๒๕๓๑ ฝนตกหนักและน้ำจากพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งปัจจุบันเป็นกระทรวงการคลัง ไหลเอ่อเข้าท่วมถนนในซอย มีปลาเล็กปลาน้อย ปลากระดี่ ปลากริม ปลาช่อน และเด็กผู้ชายคนหนึ่งถือสวิงกับถังเล็ก ๆ ไล่หาช้อนปลาเหล่านั้นมาเลี้ยง
ภาพที่ ๒ เป็นภาพปลาซิวเจ้าฟ้าฝูงใหญ่ว่ายอยู่ในตู้ปลาในงานวันประมงน้อมเกล้าฯ ที่ห้างสักแห่งในกรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๓๓ ปลาสีเงิน ๆ ตัวเล็กนิดเดียวที่เพิ่งค้นพบในประเทศไทย โดยคนไทยคือครั้งแรกที่รับรู้ว่ามีปลาน้ำจืดที่เรายังไม่รู้จักอยู่ในประเทศไทย
ภาพที่ ๓ เป็นภาพที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เช้าตรู่ อากาศเย็นสบาย หมอกเช้าเลาะเรี่ยไปกับผิวน้ำไม่ทันจางหาย เรือประมงไม้ลำเล็ก ๆ ของชาวประมงท้องถิ่นออกมากู้ตะคัด ปลาสีเงินหลากหลายชนิดตัวขนาดสักคืบกว่าถูกปลดออกจากตะคัดแล้วโยนกองบนท้องเรือ เด็กกรุงเทพฯ คนหนึ่งพายเรือลำเล็กไปขอเกาะกราบเรือเพื่อดูปลา รู้ละว่ามีหลายชนิดมาก แต่มันคือชนิดไหนบ้าง หนังสือเกี่ยวกับปลาที่มีในปี ๒๕๓๗ ไม่สามารถตอบได้ทั้งหมด
แรงบันดาลใจเหล่านั้นผลักดันให้ต่อมาผมมีผลงานตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ ปลาน้ำจืดไทย ในปี ๒๕๖๓ และเรื่องราวต่อไปนี้เป็นเสมือนตัวแทนบางส่วนของปลาน้ำจืดไทยจากลุ่มน้ำและถิ่นอาศัยที่ผมได้เคยพบเห็นจากการเดินทางไปสำรวจแหล่งน้ำและเหล่าพันธุ์ปลาทั่วประเทศ
“อะไรวะนั่น”
ผมแอบอ่านปากชาวต่างชาติสองสามคนในชุดเดินป่าที่เดินสวนทางกับพวกเราสองคน คงเพราะผมกับ “อาจารย์ไผ่” อยู่ในชุดดำน้ำเต็มยศที่เรียกว่า drysuit มีหน้ากากดำน้ำคาดหัว พร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพใต้น้ำที่ถือกันมาพะรุงพะรัง คงไม่แปลกถ้าผมอยู่ริมชายหาดที่ไหนสักแห่ง แต่วันนั้นผมเดินอยู่ในเส้นทางเดินป่าแห่งหนึ่งบนดอยอินทนนท์ที่ความสูงเกือบ ๑,๖๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพรอบ ๆ เป็นป่าดิบเขาในฤดูหนาวที่ใบไม้เริ่มร่วงและแห้งกรอบ เป้าหมายของเราคือลำธารเล็ก ๆ สายหนึ่งที่มีปลารูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดที่สุดชนิดหนึ่งของไทย คือ ปลาค้างคาวติดหินแม่ลาน้อย และปลาค้างคาวติดหินหัวเหลี่ยม ปลาสองสกุลที่พบเฉพาะยอดดอยสูงของไทยเท่านั้น
เรื่องน่าสนใจก็คือเพียงแค่ขับรถย้อนกลับขึ้นดอยแล้วอ้อมไปอีกฝั่ง ในสายน้ำอีกสายที่ไหลลงแม่น้ำปิงเหมือนกัน ก็มีปลาค้างคาวติดหิน แต่มีส่วนหัวเรียวยาวกว่า ตำแหน่งและความยาวครีบต่างไปเล็กน้อย ก็จัดเป็นปลาอีกชนิดไปเสียแล้ว คือปลาค้างคาวติดหินดอยอินทนนท์
ถ้าเราดูการกระจายพันธุ์ของปลาสกุลนี้ในประเทศไทย จะพบว่าทุกเทือกเขาทางภาคเหนือที่มีความสูงถึงระดับหนึ่งและมีลำธารใหญ่พอ จะมีปลาค้างคาวติดหินเป็นของตัวเอง ดอยเชียงดาว ดอยตุง ดอยภูคา และอีกหลาย ๆ ดอย ล้วนแล้วแต่มีปลาค้างคาวติดหินเฉพาะถิ่นอาศัยอยู่ บางดอยอย่างดอยอินทนนท์ แค่แหล่งน้ำที่ไหลลงคนละฟากเขาก็กลายเป็นคนละชนิด
ปลาค้างคาวติดหินดอยอินทนนท์
(Oreoglanis siamensis)
ผมเรียกกระบวนการแบบนี้ง่าย ๆ ว่า “ติดเกาะ”
ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือที่สุดของการกระจายพันธุ์ของปลาลำธารตามดอยทั้งหลาย ซึ่งผ่านวิวัฒนาการมาให้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเย็นและไหลแรง คือพวกมันกระจายพันธุ์ลงมาจากทางเหนือของทวีปตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง ในช่วงที่น้ำในประเทศไทยเย็นกว่านี้ ต่อมาพอโลกเริ่มอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ ก็ค่อย ๆ อพยพขึ้นที่สูงเพื่ออยู่ในบริเวณที่น้ำเย็นเหมาะสมต่อการมีชีวิต ต่างประชากรก็ต่างอพยพขึ้นไปบนดอยสูงที่อยู่ใกล้ที่สุดและไม่สามารถกลับลงมาเจอกันได้อีก อยู่กันไปนาน ๆ เข้าก็เริ่มวิวัฒนาการแยกออกไปเป็นชนิดใหม่ ๆ มากมาย
“พี่ลงก่อนเลย” อาจารย์ไผ่บอกผม ขณะที่ทำท่าถ่ายภาพวิว เป็นอาการอู้ไม่ยอมลงน้ำ
ลำห้วยสายนี้ไหลตรงมาจากยอดดอยอินทนนท์ จุดสูงที่สุดของประเทศไทย ผ่านกิ่วแม่ปาน ก่อนกระโจนจากหน้าผาสูงหลายสิบเมตรลงมาไหลเป็นลำธารที่เรายืนมองกันอยู่ หน้าแล้งแบบนี้น้ำใสที่สุดแล้ว ลำพังแค่ไอเย็นจากน้ำตกที่พัดมาก็หนาวใบหน้า ผมลองจุ่มนาฬิกาข้อมือที่มีเครื่องวัดอุณหภูมิในน้ำ ทิ้งไว้สักพัก ตัวเลขแสดง ๑๑ องศาเซลเซียส เย็นกว่าน้ำในตู้เย็น เย็นขนาดแค่มือจุ่มแป๊บเดียวก็ชาแล้ว
ปีนี้เป็นปีที่ ๒๐ ติดต่อกันที่ผมมาดำน้ำบนดอยสูงแห่งนี้ แต่ความเย็นขนาดนี้ดำกี่ครั้งก็ไม่ชิน สิ่งเดียวที่เป็นแรงใจคือความคิดถึงเพื่อนใต้น้ำหน้าตาประหลาดที่แวะมาทักทายและถามสารทุกข์สุกดิบกันทุกปี
ยืนทำใจอยู่สักพัก เราสองคนก็ค่อย ๆ เดินลงน้ำที่เย็นยะเยือกที่สุดเท่าที่น้ำตามธรรมชาติในประเทศไทยจะเย็นได้
ปลาค้อซี่กรงดอยอินทนนท์
(Schistura puculi)
แน่นอนว่าสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในนี้ต้องไม่ธรรมดา สภาพน้ำเย็นและไหลแรง ปลาต้องผ่านการปรับตัว ทั้งรูปร่าง พฤติกรรม ระบบทางเดินหายใจ ไปจนถึงระบบเผาผลาญอาหาร อย่างปลาค้างคาวติดหิน ถ้ามองจากด้านบน รูปทรงลำตัวจะคล้ายหยดน้ำกลมมนด้านหน้าและเรียวยาวที่ปลายเพื่อลดแรงต้านของน้ำ ด้านท้องแบนเรียบ มีหนวด ครีบอกและครีบท้องเป็นแผ่นบานแผ่เพื่อป้องกันการยกตัวลอยปลิวไปจากน้ำที่ไหลผ่านใต้ท้อง ทั้งตัวออกแบบมาคล้ายจุ๊บยางที่แปะติดกระจกได้ ตลอดทั้งชีวิตมันแปะติดกับหินก้อนใหญ่บริเวณที่น้ำไหลแรง กินตะไคร่น้ำและสัตว์ขนาดเล็ก หันหัวให้น้ำไหลผ่านปากออกไปทางช่องเหงือกโดยไม่ต้องขยับเหงือกเพื่อหายใจ อาศัยน้ำที่ไหลเย็นมีออกซิเจนละลายอยู่มากมาย ระบบเลือดจึงพัฒนาขึ้นมาเฉพาะเพื่อน้ำลักษณะนี้
คืนนั้นที่ห้องประชุมในที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ผมยืนบรรยายหน้าห้องที่มีคนฟังอยู่ราว ๆ ๑๐๐ คน ทุกคนเป็นนักดูนกที่มาร่วมงานนับนกดอยอินทนนท์ซึ่งจัดโดยชมรมดูนกล้านนา เพื่อใช้นกเป็นตัวตรวจวัดสุขภาพของดอย ผมมาร่วมงานนี้ร่วม ๒๐ ปี มีหน้าที่หลักคือตรวจสุขภาพแหล่งน้ำ โดยใช้ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ เป็นดัชนีชี้วัด
ครั้งนี้ผมเจอปลาตามจุดที่ลงดำสำรวจลำธารทั้งสามแห่ง มีทั้งชนิดและปริมาณน่าพอใจ ซึ่งความจริงบนดอยสูงอย่างอินทนนท์มีปลาที่ปรับตัวอาศัยอยู่ได้ไม่กี่ชนิดเท่านั้น ตัวเด่น ๆ สองตัวที่กล่าวไปแล้ว และอีกสองสามชนิดที่ผมติดตาม มีปลาค้อซี่กรงดอยอินทนนท์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างต้นแบบสำหรับการศึกษาจากที่นี่ ปลาค้อลายดวง ซึ่งเป็นปลาเฉพาะถิ่นของลุ่มแม่น้ำปิง และปลาม่อน ซึ่งมักเป็นปลา “ว่ายน้ำ” ชนิดสุดท้ายที่เจอบนดอยสูง
ถือเป็นปีที่ดี เหล่าเพื่อนสิ่งมีชีวิตในน้ำของผมอยู่กันดี แต่ไม่ใช่เช่นนี้ทุกปี บางปีมีคนมาสร้างฝาย ทรายถมกองหินไปหมด ปลาก็หายไป พอฝายถูกรื้อหรือพังไปอีกปีสองปีปลาก็กลับมา
“ฮะ !” ผมอุทานในใจเมื่อมองเห็นปลาซิวสีเขียวตัวเล็ก ๆ ฝูงหนึ่งว่ายผ่านหน้าไป
“ฮ้า !!!” ผมอุทานอีกทีเสียงสูงขึ้น (ในใจเหมือนเดิม) เพราะยังไม่เชื่อสายตาตัวเอง
ผมมองตามพวกมันว่ายลับไปก่อนที่ปลาซิวธารทองฝูงเล็ก ๆ จะว่ายผ่านหน้า เจ้าตัวนี้เป็นเพื่อนซี้ที่เห็นกันมานาน แต่ปลาซิวเขียวที่ว่ายผ่านไปก่อนนั้น ปรกติไม่ควรอยู่แถวนี้
ปลาซิวเขียวในประเทศไทยพบครั้งแรกในจังหวัดระนอง ก่อนจะมีรายงานในลุ่มแม่น้ำสุริยะ ซึ่งต้นน้ำอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แล้วไหลขึ้นเหนือไปรวมกับแม่น้ำสาละวินก่อนไหลลงอ่าวเบงกอลในประเทศเมียนมา ต้นน้ำของห้วยซองกาเลียอยู่ห่างจากต้นน้ำสุริยะแค่เขาลูกเดียวกั้น แต่ไหลมาทางตะวันออกลงแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
กว่า ๑๐ ปีที่ผมสำรวจปลาในลุ่มน้ำแห่งนี้ ไม่เคยเจอปลาซิวเขียว แต่วันนี้มันโผล่มาว่ายรวมฝูงอยู่กับปลาซิวธารทองแบบชิล ๆ
ไม่ห่างออกไปนัก เด็กน้อยสองสามคนใส่กางเกงขาสั้นและหน้ากากดำน้ำ มือหนึ่งถือสวิงอันเล็ก ๆ อีกมือถือถุงพลาสติกที่มีปลาขนาด ๒-๓ นิ้วอยู่สองสามตัว
“ฮะ !” คราวนี้ผมอุทานออกเสียงเมื่อเห็นปลาในถุง
“เฮ้ย จับมาจากไหน”
“ตรงนี้แหละน้า”
“ฮ้า !!!” ผมอุทานออกเสียงอีกครั้ง
ปลาร่องไม้ตับ
(Osteochilus waandersii)
ปลาหมูลายเมฆเป็นปลาบ้านเดียวกับปลาซิวเขียว คือปลาในแม่น้ำสุริยะ มันจึงไม่ควรจะมีอยู่ตรงนี้ เพราะปลาน้ำจืดอย่างปลาซิวเขียวและปลาหมูลายเมฆไม่สามารถว่ายไปอ่าวเบงกอล ลงทะเลอันดามัน ว่ายผ่านช่องแคบมะละกา เข้าทะเลอ่าวไทยมาที่ปากแม่น้ำแม่กลอง ก่อนว่ายทวนน้ำผ่านเขื่อนสามแห่งแล้วมาอาศัยอยู่ตรงนี้ การกระจายพันธุ์ของปลาน้ำจืดถูกจำกัดอยู่ด้วยทางไหลของน้ำและความสามารถในการว่าย
ผมมารู้ภายหลังว่าทั้งสองชนิดถูกจับมาจากลุ่มแม่น้ำอัตตรันในเมียนมา (สายเดียวกับแม่น้ำสุริยะ) ส่งเข้ามาในประเทศไทยผ่านด่านเจดีย์สามองค์เพื่อขายเป็นปลาสวยงาม แม่น้ำซองกาเลียอยู่บนเส้นทางขนผ่าน จึงอาจมีพ่อค้าบางคนจงใจปล่อยปลาทั้งสองชนิดลงในแม่น้ำ เผื่อว่าจะได้ไม่ต้องไปจับปลาในเมียนมา หลายปีผ่านไปปลาซิวเขียวเพิ่มจำนวนและขยายพันธุ์ทั่วต้นแม่น้ำแควน้อยจำนวนของปลาซิวธารทองลดลงอย่างเห็นได้ชัด โชคดีที่ต่อมาผมไม่เคยเห็นปลาหมูลายเมฆอีกเลย เพราะลำธารตรงนี้เป็นที่อยู่ของปลาอีกมากมาย
ปลาจิ้งจก
(Homalopteroides modestus)
ไม่ใช่แค่เพียงลุ่มน้ำที่มีผลต่อชนิดของปลา แต่ระบบนิเวศย่อยในลำธารก็มีผลอย่างมาก อย่างที่ซองกาเลียมีทั้งแก่งหินก้อนใหญ่ที่น้ำลึกและไหลแรง จะพบปลากลุ่มหนึ่ง เช่น ปลากระสูบขีด ปลาเลียหิน ปลาจาดแถบดำ ปลาสร้อยลูกบัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาที่โตและแข็งแรงแล้ว ส่วนบริเวณแก่งน้ำตื้นที่หินก้อนเล็กลง เป็นที่อยู่ของพวกปลาค้อ ปลากระทิง ปลาแขยงหิน ปลาแค้ห้วย ถ้าแก่งน้ำตื้นมีหินก้อนใหญ่ ๆ ข้างใต้ก็มักมีปลาจิ้งจกหรือปลาผีเสื้อ ซึ่งแปะติดกับหินอยู่ตลอดเวลา ริมตลิ่งทรายเราจะพบกลุ่มปลาค้ออีกสองสกุลที่ชอบน้ำไหลไม่แรง
ตรงบริเวณน้ำเอ่อในวังลึก ปลาพลวงขนาดใหญ่ว่ายแว่บไปแว่บมา ระแวงเจ้ามนุษย์ที่ว่ายลอยตัวดูพวกมันอยู่ห่าง ๆ
เริ่มหนาว ผมว่ายกลับตลิ่ง เจอกองใบไม้กิ่งไม้ผุที่น้ำพัดมารวมกันเป็นกองใหญ่ ตรงนี้ถ้าใช้สวิงช้อนเข้าไปจะมีปลาอีกกลุ่มหลบซ่อนอยู่ ทั้งปลาขยุยโรคี่ ปลาสายทอง ปลาหมอแคระ และปลาดุกบอน แต่วันนี้ผมไม่อยากรบกวนมัน
“เป็นไงอาจารย์ ปลาเยอะไหมปีนี้” คุณพี่ร้านไก่ย่างมือทองที่มาสร้างศาลาไม้ไผ่ริมน้ำขายส้มตำไก่ย่างเป็นประจำทุกแล้งเอ่ยทักทาย ทั้งที่มีอีกหลายร้าน แต่ผมก็ไม่เคยกินร้านอื่นเลย ถึงจะเจอกันแค่ปีละหนสองหนครั้งละไม่กี่ชั่วโมง เราก็จำกันได้
“ดีครับ ตั้งแต่ห้ามจับปลาตรงนี้ ปลาเพิ่มขึ้นเยอะมาก พี่ดำดูไหม”
ปลาค้อ
(Nemacheilus pallidus)
“อู้ว หนาวจะตาย ไม่รู้เธอลงไปได้ยังไง”
ปีนี้ปลาเยอะจริง ๆ ผมมาดำน้ำตรงนี้หลายปีแล้วเพราะอยู่ใกล้หมู่บ้าน มีถนนผ่าน ร้านขายอาหารพร้อม บางครั้งก็เจอคนมาดำยิงปลา ตกปลา ทอดแห ปลาเล็ก ๆ ตามแก่งไม่ถูกจับ ส่วนพวกปลาใหญ่จะกลัวคนและมีจำนวนน้อย เพียงแค่ ๓ ปีที่ชาวบ้านตกลงกันว่าตรงนี้เป็นเขตอนุรักษ์ ปลาก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ปลาเกล็ดขนาดกลาง ๆ สามสี่ชนิด ฝูงใหญ่เป็นร้อยตัวว่ายอยู่ใต้ตอไม้ ปลาแปบแถบดำฝูงใหญ่เป็นพัน ๆ ตัวว่ายอยู่ที่ท่าน้ำปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแทบทุกแห่งที่มีการอนุรักษ์อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะตามแหล่งน้ำขนาดเล็ก ลำธาร ห้วย เป็นเหมือนประตูกาลเวลาให้เราเห็นว่าถ้าโลกนี้ไม่ถูกคนรบกวน ระบบนิเวศจะเป็นอย่างไร
ทุกครั้งที่มีส่วนร่วมในการสำรวจและจัดตั้งเขตอนุรักษ์ลักษณะนี้ ผมจะบอกกับทุกคนว่า “เขตอนุรักษ์เป็นเหมือนธนาคาร เราให้ปลาอยู่ในนี้อย่างปลอดภัย ออกลูกออกหลาน เขาก็จะมีมากขึ้นและกระจายตัวออกไปอยู่นอกเขต เราก็จับพวกนั้นไปกินได้ เป็นเหมือนดอกเบี้ย ที่เงินต้นยังอยู่ใช้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด”
ปลาลำธารพบตามต้นน้ำในทุกภูมิภาค แต่มีจำนวนและชนิดหลากหลายที่สุดทางภาคเหนือและภาคตะวันตก เป็นกลุ่มปลาที่มีความหลากหลายสูงมาก ๆ อย่างปลาค้อในสกุล Schistura ถือเป็นปลาน้ำจืดที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดในประเทศไทยและยังค้นพบชนิดใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่หลายชนิดเป็นปลา “ติดเกาะ” พบอยู่เฉพาะตามต้นน้ำแห่งหนึ่งเท่านั้น ทำให้กลุ่มปลาลำธารมีความเฉพาะถิ่นมากที่สุด ระดับพบแค่ลำธารสายเดียว ต้นน้ำสายเดียว หรือพบเฉพาะในประเทศไทย
“เฮ้ย เอามาทำไมเยอะแยะ” เพื่อนร่วมทางถาม เมื่อผมเปิดถุงกันน้ำให้ดูว่ามีไฟฉายน้อยใหญ่ถึงเจ็ดกระบอกด้วยกัน
“เดินเข้า ๓ ชั่วโมง ถ่ายภาพ ๑ ชั่วโมง กลับออกมาอีก ๓ ชั่วโมง รวมกันอาจจะมี ๗-๘ ชั่วโมงนะ” ผมบอกเพื่อน ทุกคนทำหน้าแบบ เออจริงว่ะ แต่ไม่มีใครพูดอะไร ผมไม่ได้ถามว่าพวกเขามีไฟฉายกันมากี่กระบอก
เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว เทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังไม่ดีเหมือนวันนี้ ไฟฉายแรง ๆ ที่ใช้ส่องทางในถ้ำ อยู่ได้อย่างมากก็ ๓ ชั่วโมงและอันใหญ่เทอะทะ บางทีบทจะดับก็ดับไปดื้อ ๆ
สถานที่ที่เรากำลังจะไปกันไม่อาจเข้าไปโดยไม่เตรียมพร้อมให้ดี ด้วยความยาว ๑๒ กิโลเมตร ถ้ำแม่ละนาจึงเป็นถ้ำที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย และเรามีแต่ข้อมูลจากไกด์ชาวไทใหญ่ว่าน่าจะใช้เวลาอยู่ในถ้ำตั้งแต่เช้ายันเย็น เป้าหมายของเราเป็นน้ำตกเล็ก ๆ ถิ่นอาศัยของปลาซึ่งประหลาดที่สุดชนิดหนึ่งในโลกอาศัยอยู่
“ทุกคนยืนนิ่ง ๆ แล้วลองปิดไฟดูสิ” ผมบอกเพื่อน ๆ ตอนเข้าไปถึงโถงถ้ำแรก ผมยกมือขึ้นมาโบกอยู่ข้างหน้าตัวเอง แต่ก็มองไม่เห็นอะไรเลย มองไปรอบ ๆ ผมรู้ว่าเพื่อน ๆ อยู่ไม่ไกลจากเสียงเท้ากรอบแกรบขยับบนพื้น รู้ว่าไม่ไกลออกไปมีลำธารสายเล็กจากเสียงน้ำไหลที่ได้ยินชัดเจน แต่ทุกอย่างมืดกว่าตอนหลับตานอน มืดกว่าคืนเดือนมืดที่สุดที่ผมเคยผ่านมา
ลองสมมุติตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่ในนี้โดยไม่มีไฟฉาย วิวัฒนาการจะพาสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ไปทางไหน
“นั่น ๆ ค้อตาบอด” ผมชี้บอกเพื่อนให้ดูปลาไม่มีตา ตัวยาวเพรียวสีเหลืองอ่อนอมชมพู ว่ายผ่านพวกเราไปช้า ๆ เหนือพื้นโคลนที่ตกตะกอนอยู่
ผมหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพไว้ได้ไม่กี่ภาพ ก่อนที่น้ำขุ่นโคลนจากการย่ำตะกอนในถ้ำของพวกเราเองนั่นละจะพัดเข้าไปกลบเจ้าปลาตาบอดจนหายไป
ปลาค้อตาบอด (Schistura oedipus)
ภาพ : ชยจิต ดีกระจ่าง
สีขาวเผือก ตาบอด และว่ายอยู่ในที่โล่ง เป็นลักษณะเฉพาะที่ปลาถ้ำเกือบทุกชนิดในโลกมีร่วมกัน
การวิวัฒนาการคู่ขนานของสิ่งมีชีวิตในที่มืด คือการกำจัดสิ่งไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต ในถ้ำที่มืดสนิท มีตาก็มองไม่เห็น ก็ไม่ต้องมี สีที่ปรกติไว้พรางตัว ขู่กัน หรือจีบกัน ก็ไม่ต้องมี และในขณะที่ปลาค้อตามธรรมชาติ นอกถ้ำเป็นปลาตัวเล็ก ๆ ไม่มีเขี้ยวเล็บที่เป็นอาหารของปลาใหญ่ ชอบหลบอยู่ตามซอกหิน แต่ในถ้ำซึ่งไม่มีผู้ล่าใด ๆ การว่ายน้ำอย่างไม่เร่งรีบสร้างโอกาสในการเจออาหารได้มากกว่า
การปรากฏตัวของหนึ่งในปลาเป้าหมายเป็นเรื่องที่ดี แต่ในถ้ำแม่ละนายังมีปลาที่แปลกกว่านั้น
“จะไปไหน ๆ ระวังตกนะ” เสียงไกด์ชาวไทใหญ่ถามเมื่อผมค่อย ๆ ปีนหน้าผาค่อนข้างชันของน้ำตกหินปูนเล็ก ๆ ขึ้นไปบนยอด ก่อนหน้านี้ไกด์พาเรามาถึงตีนน้ำตกซึ่งเขาบอกว่าเป็นที่อาศัยของปลาผีเสื้อถ้ำ แต่เราส่องแล้วส่องอีกก็ไม่เจอปลาสักตัว ผมไม่ได้ลำบากลำบนปีนถ้ำ ดำน้ำมาไกลขนาดนี้เพื่อมายอมแพ้ โชคดีที่หินปูนไม่ค่อยลื่นเท่าไร ผมปีนขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเกือบถึงยอด แสงไฟถึงส่องกระทบกับร่างสีชมพูที่เราตามหา
ปลาผีเสื้อถ้ำที่พบเฉพาะถ้ำชุดนี้ ไม่พบที่อื่นในโลกอีกแล้ว
ปลาผีเสื้อถ้ำ
(Cryptotora thamicola)
พอผมขยับเข้าไปใกล้และปลารู้สึกถึงความเคลื่อนไหวในน้ำที่ผิดปรกติ มันขยับครีบอกซ้ายไปด้านหน้า ตามด้วยครีบก้นขวา ครีบอกขวา และครีบก้นซ้าย “เดิน” ไปบนผาหินใต้น้ำ ลักษณะการเคลื่อนไหวแบบนี้มีชื่อเฉพาะน่าเวียนหัวว่า “diagonal-couplets lateral sequence gait” สิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มที่เดินคล้ายกันนี้คือลิงตอนเดินสี่ขา และตรงหน้าผมเป็นปลาที่มีวิวัฒนาการกระดูกโอบอกมาเชื่อมต่อกับฐานครีบท้องอย่างแข็งแรง จนมีลักษณะกระดูกใกล้เคียงกับสัตว์สี่เท้ามากที่สุดในโลก
การวิวัฒนาการที่ทำให้เรามองเห็นย้อนเวลาไปในวันที่ปลาตัวแรกตัดสินใจขึ้นมาใช้ชีวิตบนบก
“พี่นณณ์ ยืมไฟพี่ได้ไหม ของผมหรี่เต็มทนแล้ว” เสียงเพื่อนร่วมทางดังมาจากข้างหลัง ขาเดินกลับออกจากถ้ำ ตอนนั้นเป็นไฟฉายกระบอกที่ ๓ ของผมแล้ว ในที่สุดไฟฉายทั้งเจ็ดกระบอกก็ถูกเพื่อนฝูงยืมใช้จนหมด และทุกคนออกจากถ้ำมาได้อย่างปลอดภัย
ในประเทศไทยมีปลาถ้ำทั้งหมดแปดชนิดที่ได้รับการค้นพบแล้ว เรามีปลาผีเสื้อถ้ำซึ่งดูแค่กระดูกอาจถือเป็นปลาที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุด เรามีปลาพลวงถ้ำซึ่งเป็นตัวชิงอันดับปลาถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันปลาถ้ำใช้ศึกษาเรื่องการวิวัฒนาการและด้านการแพทย์อย่างหลากหลาย
ปลาเหล่านี้ถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่เรายังต้องเรียนรู้จากพวกมันอีกมากเหลือเกิน
“พีท กลับแพมากินข้าวเช้าได้แล้วลูก” เสียงคุณแม่ตะโกนเรียกเด็กชายอายุ ๑๒ ปีที่พายเรือท้องแบนลำเล็กออกไปนั่งดูปลาริมกอสาหร่ายตั้งแต่เช้า หมอกน้ำจาง ๆ ยังเลื่อนลอยบนผิวน้ำ ในเรือมีถ้วยข้าวสวยชามเล็ก เด็กชายค่อย ๆ หยอดข้าวลงน้ำ รอดูปลาซิวหางกรรไกรและปลาเสือข้างลายว่ายมารุมกินข้าวก่อนที่จะว่ายดำหายลับตาไป ถ้าตาไม่ฝาด พอพ้นช่วงระยะมองเห็นก็เหมือนว่าข้าวหายวับไปเฉย ๆ เหมือนมีปลาตัวใหญ่กว่ามางับหายไป
เขื่อนวชิราลงกรณในวันนั้นต่างจากเขื่อนที่ชายวัย ๔๘ วันนี้ยืนดูอย่างสิ้นเชิง จากเขื่อนที่เต็มไปด้วยตอไม้และซุ้มไผ่ เพราะสร้างท่วมป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กลายเป็นบ่อน้ำเวิ้งว้าง ปลาที่เคยชุกชุมลดจำนวนลงไปมาก เพราะตอไม้ซุ้มไผ่ซึ่งใช้เป็นที่อาศัยผุพังหมดแล้ว กอสาหร่ายหางกระรอกงาม ๆ ที่ใช้ดินและแร่ธาตุจากป่าเดิมก็ไม่เหลือแล้ว ตามตลิ่งเป็นดินว่างเปล่า ถูกคลื่นจากลมและจากเรือพัดกัดเซาะไปตามกาลเวลา ทั้งเขื่อนและลำน้ำแควน้อยที่เขื่อนปล่อยน้ำไหลลงไปไม่มีวันเหมือนเดิม
ในเขื่อนยังมีปลาอยู่ แต่ปลาบางชนิดอย่างปลาซิวอ้าวหรือปลายี่สกไทย สัญลักษณ์ของจังหวัดกาญจนบุรีไม่สามารถอาศัยอยู่เหนือเขื่อนได้ และยังไม่แน่ใจว่าปลายี่สกไทยที่อยู่ในแม่น้ำแควและแม่น้ำแม่กลองทุกวันนี้เป็นปลาเพาะปล่อยหรือปลาธรรมชาติแน่ เพราะร้อยละของปลาพิการที่พบมากขึ้นเรื่อย ๆ ชี้ว่าอาจเป็นปลาเพาะที่เริ่มเลือดชิดมากขึ้นจนลูกออกมาไม่สมบูรณ์
ปรากฏการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับทุกเขื่อนและลำน้ำทุกสายที่ถูกเขื่อนกั้น โดยเฉพาะเขื่อนที่สร้างในป่า แน่นอนว่าเขื่อนมีประโยชน์ในหลายแง่มุม ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้า การควบคุมน้ำท่วม และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยไม่เหลือที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเขื่อนอีกแล้ว ทุกวันนี้ไฟฟ้าพลังน้ำไม่ได้มีราคาถูกเมื่อเทียบกับพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ เช่นพลังงานแดดและลม แถมยังมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงที่ปิดไม่มิด อย่างผลเสียต่อระบบนิเวศที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ การประเมินล่าสุดของนักมีนวิทยาจากทั่วโลก ตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังอย่าง Nature ก็ระบุชัดเจนว่าเขื่อนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปลาน้ำจืดหลายชนิดทั่วโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
เขื่อนก็ทำให้มีน้ำเยอะแยะ ปลาน่าจะชอบ เกิดอะไรขึ้นในน้ำใต้เขื่อนกันแน่
น้ำสีฟ้าของสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างเขื่อนรัชช-ประภามีคำตอบ
น้ำสีฟ้าคือน้ำที่ใสสะอาดจนสะท้อนสีท้องฟ้า เราอาจดูสวย แต่น้ำแบบนี้เข้าทางสุภาษิตจีนที่ว่า “น้ำสะอาดเกินไป ปลาก็อยู่ไม่ได้” ขณะที่น้ำตามธรรมชาติมีแร่ธาตุสารแขวนลอยไหลมากับน้ำอย่างสม่ำเสมอ น้ำที่ถูกเขื่อนกั้นจนนิ่ง ตะกอนจะตกจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนจนหมด ทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวไม่มีอาหาร เมื่อจุดตั้งต้นไม่เกิด ห่วงโซ่อาหารก็ไม่เกิด และอันที่จริงแล้วตะกอนที่ตกอยู่ก้นเขื่อนควรไหลไปตามน้ำเพื่อนำแร่ธาตุต่าง ๆ ออกสู่ปากแม่น้ำ เพื่อให้แผ่นดินเติบโตและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทุกวันนี้ตะกอนที่ปากแม่น้ำลดน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะตกอยู่หลังเขื่อนเสียมาก ขณะเดียวกันน้ำในเขื่อนส่วนใหญ่ก็ใสสะอาดจนชีวิตเกิดได้ยากขึ้นทุกที
ตรงจุดที่เด็กคนนั้นนั่งเรือท้องแบนออกไปดูฝูงปลา วันนี้เป็นตลิ่งดินโล้น ๆ คลื่นจากลมซัดน้ำเซาะตลิ่งเป็นน้ำขุ่นก่อนตะกอนตกทับถมลงสู่ใต้อ่างเก็บน้ำ ทำให้ประสิทธิภาพการเก็บน้ำลดลงทุกวินาที ไม่มีกอสาหร่าย เพราะดินดี ๆ ตอนเป็นป่าจมอยู่ก้นอ่างเก็บน้ำหมดแล้ว
ไม่มีสาหร่ายก็ไม่มีปลาเสือข้างลาย ภาพสะท้อนที่ผิวน้ำเป็นชายวัยกลางคนที่เห็นชีวิตในเขื่อนอ่อนแรงไปพร้อม ๆ กัน
“นณณ์ ไปเร็ว น้ำขึ้น” เสียงอาจารย์ชัยวุฒิ หรือที่ผมเรียกแกว่า “พี่หมี” ได้ยินแว่ว ๆ ที่หูผมซึ่งอยู่ปริ่มน้ำ เสียงนั้นดังและเร่งเร้าขึ้น ขณะที่ผมกำลังจดจ่อกับปลาบู่เสือข้างหน้าจนผมต้องโผล่หัวขึ้นมามอง
“เขื่อนเปิด ๆ น้ำขึ้นแล้ว ไปเร็ว” พี่หมีกึ่งตะโกนกึ่งสั่ง ผมได้สติ หันไปมองน้ำที่จู่ ๆ ก็ไหลแรงขึ้นเรื่อย ๆ โขดหินน้อยใหญ่ของแก่งตะนะกำลังจมลงไปต่อหน้าต่อตา ปลาเล็บมือนางที่เมื่อครู่ว่ายแทะตะไคร่ตามหินอยู่สบาย ๆ ตอนนี้ว่ายโฉบวุ่นวายไปมาตามซอกหิน
เวลาตกใจคุณคิดไม่ถึงหรอกว่าสามารถทำอะไรได้ วันนั้นผมกระโดดดึ๋ง ๆ ไปตามยอดหินระยะทางเกือบ ๑๐๐ เมตรจากเมื่อครู่ที่อยู่กลางแก่ง กลับมาถึงเรือได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย รีบเก็บข้าวของออกเรือกลับท่า ก่อนที่น้ำจะแรงเกินกว่านี้
เขื่อนที่ว่าคือเขื่อนปากมูล น้ำที่ปล่อยออกมาทำให้น้ำในแม่น้ำมูลขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อคนที่ไม่รู้แล้ว ปลาก็งง ระบบนิเวศก็งง ตลิ่งก็พัง ผมเคยเจอประสบการณ์แบบนี้มาแล้วที่น้ำพรม จุดที่ไหลผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว วันแรกน้ำไหลเร็วแรงจนล้นตลิ่ง แต่อีกวันต่อมาน้ำใสไหลเอื่อยเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ปลาในลำน้ำซึ่งควรเป็นปลาลำธารกลับเต็มไปด้วยปลาหลงถิ่นซึ่งชอบน้ำนิ่ง ๆ อย่างปลาบู่ทรายตัวเบ้อเริ่ม
ปลาสะอี
(Mekongina erythrospila)
ปลาตองลาย
(Chitala blanci)
ที่ท่าเรือเราพบชาวประมงอีกสองสามลำมาจอดหลบน้ำอยู่ก่อน แต่ละลำมีปั๊มลมและสายระโยงระยาง พี่หมีบอกว่านี่คือการประมงลักษณะพิเศษจริง ๆ เพราะกลุ่มนี้ดำน้ำหาช้อนลูกปลาเสือตอลายเล็กเท่านั้น ปลาชนิดนี้เป็นปลาสวยงามที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง แม้ว่าปัจจุบันจะเพาะได้แล้วแต่ก็ยังไม่มีใครเพาะขาย เพราะปลาในธรรมชาติ ยังมีให้จับด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ปลาเสือตอลายเล็กเป็นปลาเฉพาะถิ่น พบเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น เช่นเดียวกับปลาบึก ปลาตองลาย ปลาสะอี ปลาแรดเขี้ยว และอีกหลายปลาซึ่งไม่พบที่อื่นในโลก พวกมันกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากการพัฒนาที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการรักษาระบบนิเวศ อย่างเขื่อนปากมูลซึ่งสร้างกั้นเส้นทางอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงที่จะขึ้นไปวางไข่ในแม่น้ำมูล ถึงแม้จะมีบันไดปลาโจนก็ไม่สามารถทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาที่มีน้ำหนักเป็น ๑๐ กิโลกรัม หรือบางชนิดเป็น ๑๐๐ กิโลกรัม อย่างปลาเคิง ปลาเลิม และปลาแข้ ขึ้นไปวางไข่ได้
“มีแต่ปลาเล็ก ๆ พวกปลาเกล็ดที่ผ่านได้ พี่เอา sounder (เครื่องส่งคลื่นสะท้อนปลาใต้น้ำ) มาสำรวจปลาใต้น้ำหน้าเขื่อน พบแต่ตัวโต ๆ เหมือนกับพวกพ่อแม่พันธุ์ที่รอจะขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำ” พี่หมีบอกผม
“แล้วถึงผ่านไปได้ ก็ใช่ว่าลูกปลาจะรอดกลับลงมา”
บันไดปลาโจนเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากชาติตะวันตก สร้างให้ปลาแซลมอนเป็นหลัก ซึ่งเป็นปลาขนาดกลางที่กระโดดเก่ง พอวางไข่เสร็จพ่อแม่พันธุ์ก็ตายเลยไม่ต้องเสี่ยงว่ายกลับมาผ่านกังหันปั่นไฟฟ้าอีกรอบ ส่วนลูกปลาแซลมอนจะโตอยู่ที่ต้นน้ำก่อนว่ายกลับมาออกทะเล ต่างจากปลาไทยส่วนใหญ่ ว่ายทวนน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่ แล้วปล่อยให้ไข่และลูกปลาไหลตามน้ำกลับลงมา แม้ว่าพ่อแม่ปลาจะผ่านขึ้นไปได้ แต่เมื่อไข่และลูกปลามาเจอจุดที่น้ำเอ่อนิ่งของเขื่อน ส่วนใหญ่ก็คงจมน้ำตายกันหมด ไม่ได้ไปเติบโตในที่ที่ควรจะไป
ฝูงปลาเสือพ่นน้ำน้ำโขง ปลาเฉพาะถิ่นของลำน้ำอีกชนิด ว่ายหลบอยู่ริมตลิ่งข้างเรือของเรา มันตีหางถี่ยิบเพื่อต้านทานกระแสน้ำ และดูจะดีใจที่มีเรือของเรามาจอดช่วยบังกระแสน้ำให้ ผมไม่แน่ใจว่ามันคุ้นชินและปรับตัวอยู่บริเวณนี้ได้ดีแค่ไหน ชีวิตในลำน้ำโขงจะหาหนทางผ่านการ “พัฒนา” ของมนุษย์ไปได้หรือไม่ ?
หรือเราจะเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่ได้พูดถึงชื่อปลาหมากบาน ปลาหว้า และปลาสะกาง
ปลาปักเป้าทอง
(Auriglobus nefastus)
ปลาเสือตอลายเล็ก
(Datnioides undecimradiatus)
“โจ้วเว้ย อยู่ไหน จะกลับแล้ว” ผมตะโกนเรียกเพื่อนชาวจีนที่เพิ่งเจอกันวันนี้เป็นวันแรก เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว โจวเพิ่งเรียนจบจากประเทศสิงคโปร์ เราเจอกันผ่านทางเว็บไซต์ปลาแห่งหนึ่ง ผมพบว่าคนนี้บ้าดีและชอบปลากัดเหมือนกัน พอมีข่าวประเทศไทยค้นพบปลากัดมหาชัย โจวจึงอยากมาเที่ยวโดยมีผมอาสาพามาดู ปัญหาตอนนี้คือเขาหายไป และเราก็ตะโกนเรียกหามาสักพักใหญ่แล้ว
ใครไม่เคยเดินเข้าไปในป่าจากจะไม่เข้าใจถึงความยากลำบากในสภาพระบบนิเวศนี้
ต้นจากเป็นพืชวงศ์ปาล์มซึ่งทางใบมีหนามแหลมอยู่เต็มไปหมด ชอบขึ้นบริเวณน้ำท่วมขังลึกสักหัวเข่าโดยเฉลี่ยและพื้นเป็นโคลน ตรงไหนที่ต้นจากชอบก็จะขึ้น ติดกันเป็นป่าผืนใหญ่ มืด รก และเข้าไปได้ยากมาก แต่ละก้าวเดินไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไร และอาจได้แผลเสี่ยงติดเชื้อด้วย ปลากัดที่อาศัยอยู่ในนี้คงคิดว่าปลอดภัยแล้ว งูเห่าและยุงก็คงคิดเหมือนกัน แต่ยังมีคนบ้ากลุ่มหนึ่งลุยเข้าไป ซึ่งปรกติเราจะไม่เดินเข้าไปลึกมากและไม่อยู่นาน แค่ไปดูให้รู้ว่าปลายังอยู่ แต่โจวเดินลึกเข้าไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีใครสังเกตเห็น
ปลากัดมหาชัย
(Betta mahachaiensis)
การค้นพบปลากัดมหาชัยเป็นหนึ่งในดรามาสำคัญของวงการปลาน้ำจืดบ้านเรา ในยุคที่นิตยสารปลามีวางแผงเดือนหนึ่งอยู่ห้าถึงหกหัว แทบทุกหัวเขียนถึงปลาชนิดนี้ติดต่อกันหลายเดือน มีสัมภาษณ์และความเห็นของคนหลากหลาย คนกลุ่มหนึ่งบอกว่านี่เป็นชนิดใหม่ อีกกลุ่มบอกว่าเป็นลูกผสม มีญาติหรือคนรู้จักเพาะปล่อยไว้นานแล้ว จะเป็นไปได้อย่างไรที่จู่ ๆ จะมีปลากัดชนิดใหม่โผล่มาอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แค่นี้และมีการกระจายพันธุ์ที่จำกัดระดับตำบล
ข้อเท็จจริงคือปลากัดมหาชัยเป็นที่รู้จักของคนในวงการปลากัดมาพักใหญ่แล้ว ก่อนที่เหล่านักวิชาการจะให้ความเห็นว่าเป็นชนิดที่ยังไม่ได้รับการบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เป็นทางการ มันอาศัยอยู่ในป่าจากที่มีน้ำสีน้ำตาลและร่มเงามืดทึบ เกล็ดสีเขียวอมน้ำเงินของมันจึงสวยงามมาก ในบรรดาปลากัดสกุล Betta ทั้ง ๗๕ ชนิดที่พบบนโลก นี่คือปลาที่มีเกล็ดสีแวววาวที่สุดชนิดหนึ่ง และด้วยความใกล้ชิดกับปลากัดป่าภาคกลาง ต้นสายของปลากัดสวยงามที่เพาะเลี้ยงกันมันจึงถูกจับมาผสมกับเหล่าปลากัดสวยงาม กลายเป็นปลากัดที่มีเกล็ดสีเคลือบคล้ายโลหะ สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการปลากัดสวยงามทั่วโลก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปลากัดที่มียอดส่งออกปีละกว่า ๒๐๐ ล้านบาทของประเทศไทย
การหาปลากัดมหาชัยในป่าจาก จะว่ายากก็ยาก ง่ายก็ง่าย เพราะวิธีการคือเอาหัวมุดเข้าไปดูตามกระพกจาก ส่วนของทางจากที่ขึ้นเบียดกันเป็นกออยู่ในน้ำ ปลากัดมหาชัยตัวผู้จะก่อหวอดไว้ในนี้ก่อนจีบให้ตัวเมียเข้ามาวางไข่ หลังจากนั้นมันจะเลี้ยงลูกอยู่ในนี้ โดยปราศจากศัตรูใด ๆ มารบกวน หวอดฟองสีขาวทำให้สังเกตเห็นได้ง่ายมาก และถ้าคนที่จับไปขายมาเห็นก็จะใช้มือล้วงต้อนจับขึ้นมาได้เลย ซึ่งอาจได้ตัวเต็มวัยที่กำลังผสมพันธุ์หรือกำลังเลี้ยงลูกอยู่ ถ้าไม่รวมป่าจากที่ลดหายลงไปเรื่อย ๆ ทุกวัน การถูกจับขณะผสมพันธุ์หรือเลี้ยงลูกอ่อนก็เป็นเรื่องที่น่าห่วงไม่แพ้กันของปลาชนิดนี้
เกือบชั่วโมงที่ตามหากันในป่าจากไม่เจอ เราตัดสินใจเดินกลับไปที่รถซึ่งจอดอยู่บนลานดินข้างโรงงานเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่ง โจวนั่งยิ้มหน้าเหี่ยว ๆ อยู่ข้างรถ ดีใจก็ดีใจ โกรธก็โกรธว่าหายไปไหนมา สรุปได้ใจความว่าเดินดูปลาเพลินจนหลงกลับมาไม่ถูก เขาตัดสินใจเงี่ยหูฟังเสียงรถ เดินตรง ๆ จนเจอถนน แล้วก็ถามทางชาวบ้านกลับมาที่จอดรถได้ในที่สุด
ฟองสีขาวคือหวอดที่ปลากัดมหาชัยใช้วางไข่
“ลักษณะและพฤติกรรมโดดเด่นขนาดนี้ เพาะลูกออกมาเป็นร้อยตัวก็มีลักษณะเหมือนกันหมด การกระจายพันธุ์ก็เฉพาะมาก ๆ ขนาดนี้ ไม่มีทางเป็นลูกผสมหรอก” ผมบอกกับโจว เมื่อเขาถามว่ามันเป็นชนิดใหม่จริง ๆ ไหม ถึงแม้ปลากัดมหาชัยจะผสมข้ามชนิดกับปลากัดในกลุ่มเดียวกันอย่างปลากัดทุ่งภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็น “ชนิด” ของมันลดลงไป ภายหลังเมื่อมีการศึกษาระดับพันธุกรรมก็พบว่ามันต่างจากชนิดอื่น ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย ในที่สุดปลากัดแห่งมหาชัยจึงได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta mahachaiensis
กว่า ๒๐ ปีผ่านไป ผมกับโจวยังนัดไปสำรวจปลาและสัตว์ต่าง ๆ กันแทบทุกปี บางครั้งผมก็ไปจีน บางครั้งเขาก็มาไทย บางครั้งเราก็นัดเจอกันที่ต่างประเทศ คุยกันว่าเจอกันให้ได้ทุกปีจนวันไหนหมดแรงกันไปข้าง ไปกันได้ทุกที่ แต่ที่หนึ่งซึ่งไม่มีวันได้ไปแล้ว คือป่าจากริมโรงงานเฟอร์นิเจอร์แห่งนั้น เพราะวันนี้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรไปเสียแล้ว
ปลาซิวสมพงษ์
(Trigonostigma somphongsi)
“ทุ่งน้ำท่วมจึงเปรียบเสมือนห้องคลอด โรงเรียนเตรียมอนุบาล ไปจนถึงโรงเรียนชั้นประถมฯ ต้น” ผมกล่าวสรุปต่อหน้ากล้องที่กำลังถ่ายรายการโทรทัศน์ โดยมีมารีญา พูลเลิศลาภ เป็นพิธีกรสัมภาษณ์
เท้าผมอยู่ในบ่อน้ำที่เต็มไปด้วยพืชน้ำรก ด้านหลังเป็นนาข้าวน้ำลึก ปลูกข้าวพันธุ์พิเศษที่โตยืดตามระดับน้ำได้ ไกลออกไปที่ขอบฟ้าเป็นภูเขาหลายลูกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตอนนี้น้ำในทุ่งแห้งเกือบหมดแล้ว เพราะเริ่มเข้าหน้าหนาว ความเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลถือเป็นส่วนหนึ่งในความมหัศจรรย์ของระบบนิเวศแห่งนี้
คงไม่เกินเลยนักหากบอกว่านี่คือทุ่งที่ทำให้ความฝันของผมเป็นจริง ราว ๒๐ กว่าปีก่อนเมื่อผมเริ่มสำรวจปลาน้ำจืดอย่างจริงจัง มีปลาชนิดหนึ่งซึ่งเป็นตำนาน หาตัวเท่าไรก็ไม่เจอ จับเองก็ไม่ได้ และไม่มีหลงมาขายให้เห็นในตลาดปลาสวยงามเลย คือปลาซิวสมพงษ์ เป็นปลาหายากขนาดที่เคยได้รับการขึ้นบัญชีเป็น ๑ ใน ๑๐๐ ของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในโลกขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) หน่วยงานหลักซึ่งมีหน้าที่ประเมินสถานภาพของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในโลก
จนกระทั่งวันหนึ่งอาจารย์สิทธิ กุหลาบทอง ก็พบปลาซิวสมพงษ์ ประชากรสุดท้ายของโลกที่อำเภอบ้านสร้างจังหวัดปราจีนบุรี และต่อมาสำรวจพบพื้นที่ใหม่ที่อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ซึ่งแม้จะอยู่คนละจังหวัด แต่เป็นพื้นที่ติดกันทางด้านใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
“ผมจะรอดูเพื่อนฝูงในโซเชียลมีเดีย ถ้าพวกที่ไปเขาใหญ่เริ่มบ่นเรื่องฝนตกหนักเมื่อไร รอสัก ๒-๓ สัปดาห์ น้ำก็จะมาถึงแถวนี้” ผมเล่าให้พิธีกรต่อหน้ากล้องฟัง มั่นใจว่าคงเป็นส่วนที่ถูกตัดออก
ทุ่งแห่งนี้รับน้ำที่ไหลจากเขาใหญ่ลงมาทางด้านใต้มีแม่น้ำสายหลัก เช่น คลองท่าด่าน คลองมะเดื่อ คลองวังตะไคร้ คลองนางรอง ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำนคร-นายก ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไหลไปลงแม่น้ำบางปะกง
ปลากริมมุก
(Trichopsis pumila)
ปลาซิวหนู
(Boraras urophthalmoides)
ความพิเศษของพื้นที่นี้คือน้ำจากคลองจะท่วมหลากเข้าสู่ทุ่งในทั้งสองอำเภอทุกปี ตั้งแต่ราวเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ทุ่งที่แห้งผากในช่วงฤดูแล้งจะกลายเป็นทุ่งน้ำกว้างใหญ่ ชาวนาต้องกะเวลาน้ำมาให้ดี ต้องชิงปลูกข้าวก่อนสัก ๒-๓ สัปดาห์ให้ข้าวได้งอกและตั้งต้น จากนั้นน้ำจะท่วมมาลึกเท่าไรก็ไม่กลัว เพราะข้าวขึ้นน้ำชื่อพันธุ์ขาวบ้านนา ๔๓๒ นี้ จะงอกยาวหนีน้ำขึ้นไปได้เรื่อย ๆ บางต้นที่ลองดึงดูยาวเกือบ ๓ เมตรก็มี
ในฤดูทุ่งน้ำท่วม เหล่าปลาจากคลองน้อยใหญ่จะร่าเริงมาก มด ไส้เดือน ตั๊กแตน รวมทั้งยอดอ่อน ผล ฝัก ของพืชต่าง ๆ ที่ถูกน้ำท่วมจะกลายเป็นอาหารของพวกมัน แม้แต่ใบหญ้าพอเริ่มเน่าเสียก็เป็นอาหารของสัตว์ตัวเล็ก ๆ ซึ่งจะเป็นอาหารของลูกปลาที่อาศัยบริเวณนี้เป็นที่หลบภัยด้วยสภาพน้ำไม่ไหลแรงจนเกินไป เมื่อน้ำเริ่มลด ลูกปลาที่โตพอดูแลตัวเองได้แล้วก็จะว่ายตามน้ำไปเติบโตในแม่น้ำใหญ่ ปลาน้ำจืดในประเทศไทยส่วนใหญ่พึ่งพาวงจรของสภาพแวดล้อมแบบนี้เพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์
ในทุ่งแห่งนี้ ผมเคยช้อนได้ลูกปลาดุกด้านทั้งฝูงเป็นร้อยตัวก่อนจะปล่อยพวกมันไป เคยเห็นฝูงลูกปลาแขยงข้างลายว่ายรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ตามทางน้ำไหล ยังมีปลาซิวน้อยใหญ่ถึง ๑๐ ชนิด ปลาทุ่งขนาดใหญ่อย่างปลาช่อน ปลาชะโด ปลาตะเพียนขาว ปลากระสูบ รวมถึงปลาน้ำจืดไทยชนิดที่ผมว่าอร่อยที่สุดทั้งสองชนิดอย่างปลาหมอตะกรับกับปลาสลิด และอีกสารพัดปลา
“ปลาซิวสมพงษ์พ่อแม่พันธุ์อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำแถวทุ่งนี้ พอถึงฤดูน้ำหลากก็จะเข้ามาวางไข่ในทุ่ง นาข้าวน้ำท่วมเป็นทั้งพื้นที่ปลูกอาหารให้คนและระบบนิเวศที่ดีมากสำหรับให้ปลาต่าง ๆ เข้ามาวางไข่ โดยเฉพาะปลาซิวสมพงษ์ ซึ่งจะจับคู่วางไข่ตามใต้ใบไม้วันละไม่มากนักแต่จะผสมพันธุ์กันเกือบตลอดฤดูกาลที่น้ำท่วมทุ่ง” ผมบรรยายโดยมีปลาซิวสมพงษ์ที่เพาะเองว่ายอยู่ในตู้ข้าง ๆ
บนท้องฟ้าวันนั้นเหยี่ยวดำนับพันตัวบินร่อนกินลมร้อนเป็นเกลียววนไปรอบทุ่ง เหยี่ยวดำว่าตัวใหญ่แล้ว แต่ในฝูงยังมีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยที่ตัวใหญ่กว่าอีกไม่รู้กี่เท่า บินวนร่อนอยู่ด้วย ตากล้องรีบตามแพนเก็บภาพเจ้าแร้งยักษ์นักเดินทางไกลที่มาเยี่ยมทุ่งพร้อมกับเรา
ในบึงบัวข้างหน้า ถึงแม้จะมองไม่เห็น แต่ผมก็รู้ว่ามีปลาซิวสมพงษ์และผองเพื่อนอีกมากมายอาศัยอยู่
ภาพที่เคยฝันในวันขึ้นเหนือล่องใต้เพื่อตามหาปลาชนิดนี้ และได้เห็นมันว่ายอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นจริงมาร่วม ๑๐ กว่าปีแล้ว แต่ทุกครั้งที่เห็น ทุกปีที่ไป ก็ยังคิดทุกครั้งว่า “มหัศจรรย์จริง ๆ”
ปลาซิวครีบแดง
(Rasbora rubrodorsalis)
“เฮ้ย ๆ พี่เขียวมาแล้ว ปลิงมาแล้ว”
ผมหันหลังวิ่งน้ำกระจายกลับขึ้นฝั่ง เมื่อปลิงตัวใหญ่ยาวเป็นคืบว่ายน้ำพลิ้วตรงเข้าใส่หน้าผมที่เพิ่งเริ่มลงดำน้ำสำรวจปลาในพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส
“ก็บอกแล้วว่าตรงน้ำตื้นมันมี มาต๊ะ นั่งเรือออกไปตรงน้ำไหล ๆ หน่อย มันไม่อยู่ตรงนั้น” พี่เขียว ไกด์ท้องถิ่นอธิบาย
เรือไม้ลำเก่าผูกอยู่ที่ท่าเรือ น้ำตื้น ๆ ตรงนั้นออกสีชาและสีเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนเกือบเป็นสีโอเลี้ยงในจุดน้ำลึกเป็นลักษณะเฉพาะของป่าพรุ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย และพรุที่สมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดก็ที่แห่งนี้ พรุโต๊ะแดง เจ้าของสโลแกน “ป่าเดียว น้ำเดียวในแดนดิน”
น้ำสีน้ำตาลเข้มเพราะกรดฮิวมิกและกรดแทนนิกที่ละลายออกมาจากซากพืชซึ่งทับถมเป็นชั้นหนาใต้น้ำ เราอาจคุ้นเคยกับกรดทั้งสองจากเครื่องดื่มและอาหารสีน้ำตาลอย่างชา กาแฟ ไวน์แดง โกโก้ นอกจากมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรคบางชนิดไม่ให้เติบโตแล้ว สารที่มีฤทธิ์เป็นกรดทำให้น้ำในป่าพรุเป็นกรดสูงกว่าน้ำอื่น ๆ ตามธรรมชาติในประเทศไทย จึงมีปลาชนิดที่ปรับตัวอาศัยอยู่เฉพาะในโลกสีน้ำตาลแห่งนี้เท่านั้น หลายชนิดไม่พบที่อื่นเลย อย่างปลากัดช้าง ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ปลากริมแรด ปลาช่อนเข็ม ปลาหมอจำปะ ปลาเข็มงวง ชื่อปลาหลายชนิดนี้อาจคุ้นเคยและพบได้ที่อื่น แต่ที่พบในป่าพรุโต๊ะแดงเป็นชนิดเฉพาะจริง ๆ
ปลากัดช้าง (Betta pi)
ปลากะแมะ (Chaca bankanensis)
วันนั้นหลังจากนั่งเรือหลุดออกจากจุดน้ำตื้นและนิ่ง พี่เขียวพาผมไปปล่อยลงน้ำที่คลองย่อยสายหนึ่งซึ่งน้ำไหลค่อนข้างแรงและลึกสักหน่อย ด้วยสภาพสองฝั่งคลองค่อนข้างรกและเต็มไปด้วยไม้น้ำกับกิ่งไม้ล้ม นับเป็นการดำน้ำถ่ายภาพที่ต้องใช้สมาธิมาก
การดำน้ำในป่าพรุเป็นประสบการณ์ที่ใหม่มาก ผมจำไม่ได้เลยว่าเคยเห็นภาพใต้น้ำตามธรรมชาติของปลาจากป่าพรุที่ไหนมาก่อน ปลาที่เห็น ๆ กันจนคุ้นตาหลายชนิดก็เห็นในตู้ทั้งนั้น อย่างฝูงที่กำลังว่ายผ่านหน้าผมไปตอนนี้คือปลาซิวข้างขวานใหญ่ นับเป็นปลาขนาดเล็กที่ถูกจับขายมากที่สุดชนิดหนึ่งในโลกก็ว่าได้ ผมเห็นปลาชนิดนี้ในร้านขายปลาทั้งในลอนดอน ซานฟรานซิสโก และโตเกียว ส่วนใหญ่ถูกจับมาจากคาบสมุทรมลายูทั้งฝั่งไทยและมาเลเซีย
นอกจากปลาซิวข้างขวานใหญ่แล้ว ปลาตัวเล็ก ๆ อีกหลายชนิดจากป่าพรุ โดยเฉพาะเหล่าปลาซิว เช่น ปลาซิวผอม ปลาซิวแถบทอง ปลาซิวฟ้า ปลาซิวเพชรน้อย รวมทั้งปลาแปลก ๆ อย่างปลาหมอจำปะ ปลาช่อนดำ ปลาผีพรุ ปลาค้อตาผี หรือปลาหน้าตาประหลาดเหมือนถูกรถทับอย่างปลากะแมะ ก็ถูกจับและส่งออกขายจำนวนมาก
แม้แต่พี่เขียวก็จับปลาเหล่านี้ขายเหมือนกัน เป็นอาชีพเสริมที่ทำหลังว่างจากการดูแลสวนผลไม้และสวนยาง
“โอ๊ย จับยังไงก็ไม่หมดหรอก อาจารย์ก็เห็น ว่ายกันเต็มคลอง” แกตอบเมื่อผมถามว่าจับเยอะ ๆ แล้วห่วงไหมว่ามันจะหมด ซึ่งจากงานวิจัยก็ระบุว่าอัตราการเกิดและรอดของปลาเล็ก ๆ พวกนี้ ถ้าแค่จับเพื่อป้อนตลาดปลาสวยงาม ไม่ทำให้ปลาหมดไป สิ่งเดียวที่ทำให้ปลาในป่าพรุหายไปก็คือวันที่ไม่มีป่าพรุอยู่แล้ว
ปลาช่อนเข็ม
(Luciocephalus pulcher)
ปลาเข็มงวง (Hemirhamphodon pogonognathus)
ปลาซิวข้างขวานใหญ่
(Trigonostigma truncata)
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคหลักที่มีป่าพรุอยู่มากที่สุดในโลก ทางใต้ของประเทศไทย มาเลเซียทั้งฝั่งคาบสมุทรมลายูและเกาะบอร์เนียว เกาะน้อยใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย ล้วนแล้วแต่มีป่าพรุอยู่มากมาย แต่ละแหล่งมีปลาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะพวกสกุลเด่น ๆ อย่างปลากัด ปลากริมแรด และปลาซิว หลายชนิดสวยงามระดับโลกและก็น่าเศร้าที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลกเช่นกัน ซึ่งสาเหตุหลักก็คือป่าพรุบ้านของพวกมันถูกทำลายจากการขุดคลองปล่อยน้ำออกจากป่า ถมที่เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เป็นสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งชอบดินป่าพรุแบบนี้เสียด้วย
“คุณนณณ์ ๆ ขึ้นเรือ ๆ เดี๋ยวลองตามเรือลำน้ำ อยากได้ดุกดำไปถ่ายรูปใช่ไหม ? พวกเรือลอบมักจะได้กัน”
ตอนนั้นเย็นมากแล้ว แสงเริ่มหมดแล้ว เรือลำหนึ่งพายผ่านพวกเราไปในคลองหลัก พี่เขียวจำได้ว่าเป็นเรือของเพื่อนที่อาจเพิ่งไปกู้ลอบกลับมา ผมขึ้นเรือแบบทุลักทุเลก่อนเราจะพายตามไปทันเรือลำนั้นที่ท่าเรือ และก็โชคดี ปลาดุกดำหรือปลาดุกเนื้อเลน ปลาแปลกอีกชนิดของป่าพรุ ดิ้นขลุกขลักอยู่ที่ท้องเรือสี่ตัว ผมขอซื้อตัวเล็กสุดที่ยาวสักเกือบ ๖ นิ้ว พี่บ่าวใจดีบอกว่า “เอาไปเหอะ ของแค่นี้แบ่งกันกินได้อยู่แล้ว”
ผมรับเจ้าดุกดำตัวนั้นฝากไว้กับพี่เขียว ก่อนพี่เขียวจะส่งมันนั่งรถทัวร์ขึ้นมากรุงเทพฯ ให้ผมอีกเกือบเดือนหนึ่งภายหลัง
นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีพรุโต๊ะแดงอยู่ในแผ่นดิน เพราะระบบนิเวศที่มีความเฉพาะและสมบูรณ์แห่งนี้มีปลาน้ำจืดซึ่งไม่พบที่อื่นในประเทศไทยอยู่มากมายหลายชนิด
“ใสมาก สวยมาก ตั้นดูสิ มิวสวยไหมลูก ปลา ๆ เห็นไหม ๆ ?”
ภรรยาผมเสียงอ่อนเสียงหวานชี้ชวนลูก ๆ ดูปลาใน “น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา” ตรงตามคำบรรยายที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย คือที่ท่าปอมคลองสองน้ำ จังหวัดกระบี่
น้ำจากการซึมผ่านชั้นหินปูนลงใต้ดิน ก่อนล้นซึมผ่านชั้นดินและทรายขึ้นมา ผ่านระบบกรองทั้งหินทั้งทรายมาจนใสปิ๊งแบบไร้ตะกอนใด ๆ เป็นน้ำจืดใสที่สุดในธรรมชาติ ก่อนไหลลงสู่คลองท่าปอม คลองป่าชายเลนซึ่งเป็นระบบนิเวศน้ำกร่อย ตรงนี้จึงเป็นระบบนิเวศที่มหัศจรรย์ เมื่อปลาน้ำจืดแท้ ๆ อย่างปลาซิวควายน้ำตก หากินอยู่ร่วมกับปลาน้ำกร่อยและลูกปลาทะเลอย่างปลาเสือดาวและปลาบู่จาก
วันนั้นผมเรียกตัวเองเท่ ๆ ว่าเป็นตากล้อง on assignment ด้วยความที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เริ่มมีบทความมากขึ้นเรื่อย ๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงอยากทำหนังสือคู่มือการเที่ยวแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งจะแนะนำปลาที่พบง่ายตามแหล่งท่องเที่ยว และท่าปอมก็เป็นหนึ่งในสถานที่เป้าหมาย ซึ่งผมต้องเขียนถึงแต่ยังไม่เคยไป เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว ผมจึงชวนลูกและภรรยามาด้วยกัน
ปลาบู่จาก
(Butis gymnopomus)
ปลาดอกหมาก (Gerres sp.)
ตอนเช้าที่โรงแรมตรงปากคลองซึ่งน้ำไหลลงทะเล ผมเพลินกับการดูเหล่าปลาสองน้ำและปลาทะเลแท้ ๆ ที่ช่วงพวกมันเป็นเด็กและวัยรุ่นจะเข้ามาอาศัยอยู่ในทั้งแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย ปลากะมง ทั้งมงพร้าวและมงตาแดง ปลากะพงแสมตัวสีแดงสวย ว่ายอยู่ใต้สะพานที่นักท่องเที่ยวกำลังโยนขนมปังลงไปให้มันกินเหมือนปลาสวายตามท่าน้ำ ผมยืนมองแบบงง ๆ ที่ปลาผู้ล่าระดับทอปทั้งสองชนิดมาออกันอยู่หน้าโรงแรมกินขนมปัง ส่วนตรงริมตลิ่งที่ไม่มีปลาใหญ่ ผมเห็นลูกปลาสากดำลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ ปลาเฉี่ยว ปลาเสือดาว ปลาตับเต่า ปลาขนาดเล็กว่ายกันเป็นฝูงใหญ่
ปากแม่น้ำและป่าชายเลนเป็นอีกระบบนิเวศที่สำคัญ เชื่อมต่อระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำเค็ม ปลาในพื้นที่นี้แตกต่างจากแหล่งอื่น คือมีทั้งปลาน้ำเค็ม ปลาน้ำจืด และปลาน้ำกร่อยที่ชอบและอาศัยอยู่แต่ในพื้นที่ลักษณะนี้เท่านั้น กลุ่มหลังนี้จะเดือดร้อนที่สุดถ้าระบบนิเวศนี้ถูกทำลายและรบกวน แต่ก็เป็นระบบนิเวศที่คนรู้จักน้อยมาก ๆ แม้ว่าจะมีปลาพิเศษมากมาย อย่างปลากดยิ้มที่กินเฉพาะครีบปลาอื่นเป็นอาหาร ปลากดหัวกบที่กินแต่เกล็ดปลาชนิดอื่นเป็นอาหาร ปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างปลากะพงขาวและกะพงแสม ปลาที่ถูกจับมาขายเป็นปลาสวยงามอย่างปลาเสือพ่นน้ำ ปลาปักเป้าเขียว และกลุ่มปลาบู่ขนาดเล็กซึ่งมีสีสันลวดลายสวยงามมาก ๆ
รอยต่อที่ปากแม่น้ำทั่วไปมักมีน้ำขุ่นคลั่กมองไม่ค่อยเห็นอะไร ท่าปอมจึงเป็นสถานที่พิเศษมาก ๆ ที่สามารถดำเห็นปลาบู่จากเกาะหลบซุ่มโจมตีอยู่ที่รากโกงกาง ปลาบู่ลายเสือหลบอยู่บริเวณน้ำตื้น ๆ ฝูงปลาเสือดาวหรือปลาตะกรับว่ายแทะเล็มตะไคร่น้ำบนก้อนหิน ขณะที่ปลาซิวควายน้ำตก ปลาตะเพียนน้ำตก ปลากระสง ปลาน้ำจืดแท้ ๆ ก็ว่ายอยู่ข้าง ๆ กันนั้น
ระบบนิเวศปากแม่น้ำของบ้านเราเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งการทำลายป่าชายเลน น้ำเสีย การพัฒนาที่ไม่เข้าใจระบบนิเวศ และกำลังมีเรื่องใหม่ที่กลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาค คือการบุกเข้ามาของปลาต่างถิ่นอย่างปลาหมอคางดำ ด้วยความที่ปรับตัวได้ดี กินทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็กถึงใหญ่ สืบพันธุ์เร็ว เลี้ยงลูกเก่ง และฉลาดจับตัวยาก แหล่งน้ำกร่อยหลายแห่งในไทยจึงถูกพวกมันรุกรานจนปลาท้องถิ่นแทบไม่เหลือ และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกำจัดให้หมดได้อย่างไร วิธีการเดียวที่เหล่านักวิชาการต่างเห็นพ้องกัน คือการรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศเราให้สมบูรณ์ ให้สิ่งมีชีวิตท้องถิ่นของเรามีโอกาสต่อสู้กับผู้รุกราน
ปลาบู่ปากสั้น
(Pseudogobius melanostictus)
ลูกปลากะพงขาวตัวขนาดไม่ถึงคืบหลบอยู่ในดงว่านใบพายหนาแน่นริมคลองท่าปอม มันจัดระเบียบตัวเองให้หันหน้าตรงเข้าหาผมเพื่อลดพื้นที่ที่สัตว์ตัวใหญ่อย่าง ผมจะเห็นมันได้ตามสัญชาตญาณ เป็นท่าเดียวกับที่มันใช้เวลาจ้องจู่โจมเหยื่อ ถ้าโชคดีมันจะอยู่รอดเป็นปลาขนาดใหญ่ที่หนักได้เกิน ๑๐ กิโลกรัม และลูกของมันก็คงได้กลับเข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่อีก ถ้าโชคไม่ดีมันอาจไปติดลอบของชาวประมงหรือติดเบ็ดนักตกปลา กลายเป็นสินค้าราคาดี หรือไม่ก็เป็นโปรตีนคุณภาพสูงหล่อเลี้ยงผู้คนในแถบนั้น
อย่างไรก็ตามถือว่าตอนนี้มันโชคดีที่ได้เกิดมาที่ท่าปอม ป่าชายเลนซึ่งได้รับการดูแลอย่างดีและยังไม่มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมารุกราน ปลากะพงขาวอีกหลายตัวในหลายแหล่งทั่วประเทศไทยไม่โชคดีแบบนี้
หากจะนับจำนวนปลาน้ำจืดในประเทศไทย ปลาจากเขตนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งว่าเรามีปลามากหรือน้อย
เอกสารวิชาการล่าสุดที่รายงานตัวเลขปลาน้ำจืดทั่วโลกระบุว่า ปัจจุบันมีปลาน้ำจืดอยู่ ๑๔,๖๒๘ ชนิด ในจำนวนนี้อาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ ๘๖๐ ชนิด หรือเกือบร้อยละ ๖ ของจำนวนปลาน้ำจืดทั้งโลก ถ้าเทียบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เพียงร้อยละ ๐.๓ ของแผ่นดินโลก ก็เห็นได้ว่าประเทศเราตั้งอยู่ในจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของปลาน้ำจืดสูงมากแห่งหนึ่งของโลก
ปัจจัยหลักคือสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ซึ่งเป็นเขตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอยู่แล้ว เมื่อรวมกับสถานที่ตั้งของประเทศไทย ซึ่งเป็นเสมือนชุมทางการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจากหลายภูมิภาค ทางเหนือมีชนิดที่แพร่กระจายมาจากจีนและตอนล่างของเทือกเขาหิมาลัย ทางตะวันตกมีปลาจากเมียนมาและเอเชียใต้ ทางตะวันออกมีปลาจากภูมิภาคอินโดจีน และทางใต้ปลาจากภูมิภาคซุนดา (มาเลเซียและอินโดนีเซีย) รวมถึงสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งธารน้ำไหล โตรกถ้ำ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ ป่าพรุ ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้เรามีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาสูงขึ้นไปอีก
ปลากะพงขาว (Lates calcarifer)
การศึกษาพันธุ์ปลาน้ำจืดไทยอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้เรารู้จักปลาน้ำจืดในประเทศไทยแทบทุกชนิดแล้ว ปัจจุบันอัตราการค้นพบชนิดใหม่หรือรายงานใหม่ในประเทศไทยถือว่าน้อยมาก ๆ ปีหนึ่งไม่ถึง ๑๐ ชนิด และน่าจะลดลงเรื่อย ๆ หนังสือเก่าแก่อย่าง The Fresh-water Fishes of Siam, or Thailand โดย Hugh M. Smith ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๔๘๘ ถือเป็นคัมภีร์ปลาน้ำจืดของไทยเล่มแรก ตามมาด้วยหนังสือชุด “ภาพปลา” ซึ่งตีพิมพ์โดยกรมประมง ประกอบด้วยรูปวาดสวยงามของหลวงมัศยจิตรการ ซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยดอกเตอร์สมิธอยู่หลายปี หนังสืออีกเล่มที่ผมใช้อ้างอิงตั้งแต่เริ่มต้นออกเดินทางสำรวจปลาน้ำจืดในประเทศไทย คือ คู่มือปลาน้ำจืด โดย ดร. ชวลิต วิทยานนท์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี จนกระทั่งผมได้ต่อยอดเขียนหนังสือ ปลาน้ำจืดไทย ในปี ๒๕๖๓ และพิมพ์ฉบับที่ ๒ ในอีก ๓ ปีต่อมา
ความหลากหลายทางชีวภาพของปลาน้ำจืดในประเทศไทยและเรื่องราวต่าง ๆ ของพวกเขาที่ผมนำพาทุกท่านไปมานี้ เป็นเพียงตัวแทนของปลาอีกมากมายที่ไม่อาจเอ่ยถึงได้หมด