Image

ห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำอ้างอิง ในการดูแลของกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลด้านอนุกรมวิธานและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่องานวิชาการ

ภาค ๒
ปลาไทยสูญพันธุ์แล้ว

ปลาไทย
ใกล้สูญพันธุ์~สูญพันธุ์แล้ว

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image

ห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำอ้างอิงเดิมมีชื่อว่า “หน่วยอนุกรมวิธาน” จัดตั้งโดย ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ (Hugh McCormick Smith) อธิบดีกรมประมงคนแรก  เดิมกรมประมงมีชื่อว่ากรมรักษาสัตว์น้ำ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๖๙ ในอดีตเคยเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิงทั้งสัตว์น้ำจืดและสัตว์ทะเลไว้ที่หน่วยงานเดียวกัน แต่ปัจจุบันแบ่งส่วนราชการโดยสัตว์น้ำจืดได้รับการเก็บรักษาที่ห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำอ้างอิง สังกัดกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด  ส่วนสัตว์ทะเลเก็บรักษาที่ห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำอ้างอิง สังกัดกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล

หลังบานประตูเป็นขวดโหลตั้งเรียงกันอยู่บนชั้นวางจากหน้าห้องเข้าไปจนสุดผนังทุกด้าน คล้ายชั้นวางหนังสือในห้องสมุด แต่เปลี่ยนจาก “หนังสือ” เป็นโหลดอง “ปลา” ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตและแหวกว่ายอย่างเสรีตามแหล่งน้ำในธรรมชาติ ข้างขวดมีบัตรกระดาษเรียกว่า “แผ่นดัชนี” กรอกรายละเอียดของเรือนร่างข้างใน

“ส่วนใหญ่เขาเรียก ‘ห้องปลาดอง’ ชื่อเล่นของห้องนี้...” 

สิริวรรณ สุขศรี หรือกุ้ง นักวิชาการประมง (ชำนาญการ) กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง บอก

“เพราะว่าปลาของเราถูกเก็บอยู่ในโหลดอง มันเป็นชื่อที่สื่อมาก”

การจัดเรียงโหลปลาภายในห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำอ้างอิงยึดลำดับอนุกรมวิธานตามระบบของเนลสัน (Joseph S. Nelson) จัดแบ่งหมวดหมู่ทางอนุกรมวิธานในระดับชั้น (class) อันดับ (order) และวงศ์ (family) ไล่ตั้งแต่ชั้นปลาปากกลม ชั้นปลากระดูกอ่อน ชั้นปลากระดูกแข็ง แยกเหล่าปลาออกเป็นปลาปากกลม ปลากระเบน ปลาไหลนา ปลากัด ปลาซีกเดียว ปลาเข็ม ปลาปักเป้า ฯลฯ

“เราเก็บรวบรวมตัวอย่างปลาทั้งจากแหล่งธรรมชาติและแหล่งประมง นำตัวอย่างมาจำแนกวิเคราะห์ชนิดเพื่อเป็นข้อมูลการกระจายพันธุ์ในแต่ละแหล่งน้ำ”

โหลดองปลาซิวสมพงษ์วางอยู่มุมหนึ่งของห้องในกลุ่มวงศ์ปลาซิวด้วยกัน ข้างโหลระบุว่าเป็นตัวอย่างที่เก็บมาจากจังหวัดราชบุรีตั้งแต่วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๔ หรือนานกว่า ๔๐ ปีมาแล้ว

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอันดับต้นๆ ของโลก แต่ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์กำลังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง

ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher) ไม่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทยมานาน แต่ยังพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ไม่มีบันทึกว่าเจอที่จุดไหน แม่น้ำหรือแหล่งน้ำชื่อว่าอะไรถึงตอนนี้ก็ไม่มีรายงานว่าเจอที่ราชบุรีอีกแล้ว ไปเจอที่ทุ่งปากพลีแทน” กุ้งเอ่ยด้วยน้ำเสียงเสียดาย

การดองปลาเป็นวิธีเก็บรักษาตัวอย่างปลาซึ่งยอมรับและใช้กันทั่วโลก นิยมใช้เอทิลแอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าความเข้มข้นสูงเกินไปจะทำให้แอลกอฮอล์ดึงน้ำในเซลล์ออกมามากจนตัวอย่างปลาหดไม่สามารถศึกษาได้

ก่อนดองแอลกอฮอล์ต้องแช่ปลาในฟอร์มาลินจนปลาเซตตัว ช่วยให้ตัวอย่างปลาคงอยู่ในสภาพเดิมแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานหลายสิบปี  อย่างไรก็ดีการดองด้วยแอลกอฮอล์ก็อาจทำให้สีสันของปลาซีดจางลงเช่นกันผู้ดูแลต้องคอยเติมแอลกอฮอล์เฉลี่ยทุก ๖ เดือน เนื่องจากความเข้มข้นแอลกอฮอล์ที่เปลี่ยนไปตามระยะเวลา

โหลดองปลาละลานตาแทบทุกชั้น แต่ก็ยังมีที่ว่างพอรองรับตัวอย่างปลาที่จะถูกส่งเข้ามาอีกในอนาคต ส่วนลึกสุดของมุมห้องด้านในมีห้องเล็ก ๆ แยกออกไป ภายในห้องเมื่อรูดม่านสีดำออกก็พบข้อความ “Extinct” ติดอยู่บนชั้นวาง

ที่นั่น “ปลาหวีเกศ” (Platytropius siamensis) ที่อยู่ในสถานภาพสูญพันธุ์ (Extinct) อยู่ในโหลดอง มีบันทึกว่าจุดที่พบคือ “พวงคลองหนองหม้อ จ. อยุธยา” เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๙ หรือประมาณเกือบ ๖๐ ปีมาแล้ว

ข้อมูลอัปเดตของ สผ. เดือนธันวาคม ๒๕๖๖ พบปลาไทยที่อยู่ในสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (Extinct in the Wild) หรือจัดได้ว่าเป็นสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากบางภูมิภาค (Regionally Extinct) มีหนึ่งชนิดคือปลาตะพัดลายงู เรียกอีกชื่อว่าปลาตะพัดพม่า ซึ่งยังพบได้ในพม่าและมาเลเซีย

ส่วนปลาไทยที่อยู่ในสถานภาพสูญพันธุ์ (Extinct) มีทั้งหมดห้าชนิด แบ่งออกเป็นปลาทะเลสี่ชนิด ได้แก่ ปลาฉนากจะงอยปากแคบ ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง ปลาฉนากเขียว และปลาฉลามหัวค้อนยาว ที่สูญพันธุ์ไปจากภูมิภาค (Regionally Extinct) โดยมีปลาน้ำจืดเพียงชนิดเดียวเท่านั้นคือปลาหวีเกศที่สูญพันธุ์อย่างสิ้นเชิง

ปลาหวีเกศ หรือปลาเกด หรือปลาสายยู มีลำตัวเรียวยาว มีครีบหลังสองตอน ลักษณะเด่นคือมีหนวดยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร จำนวน ๔ คู่ เคยเป็นปลาเฉพาะถิ่นของแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อชนิด siamensis มีความหมายว่า “พบในประเทศไทย”

แต่หลังจากไม่มีรายงานการพบติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ในปี ๒๕๕๔ ทาง IUCN จึงประกาศให้ปลาหวีเกศเป็นสัตว์สูญพันธุ์ ซึ่งก็ยังไม่เคยมีรายงานการพบเจออีกตั้งแต่นั้น

“สูญพันธุ์แล้ว...สูญพันธุ์เลยค่ะจากโลกนี้ เพราะว่ามีรายงานการพบแค่ประเทศไทย ขวดโหลของเขาแทบจะไม่เอาออกมาเลยเพราะกลัวว่าการเคลื่อนย้ายจะทำให้เสียหาย  สิ่งที่เราทำคือเวลาแอลกอฮอล์พร่องก็เปิดขวดเติม แสงมีผลกับตัวอย่างปลา เราพยายามเก็บรักษาเขาไว้ให้นานที่สุด” กุ้งกล่าวถึงปลาไทยสถานภาพสูญพันธุ์ที่ถูกเก็บรักษาในขวดมาตั้งเกือบ ๖๐ ปี ไม่มีปลาพื้นบ้านไทยชนิดนี้บนโลกอีกแล้ว

ส่วนชื่อสถานที่ “พวงคลองหนองหม้อ จ. อยุธยา” นั้น กุ้งเล่าว่าเคยถาม ดร. ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาซึ่งเคยทำงานอยู่ที่กรมประมง ได้รับคำตอบว่าในอดีตพื้นที่บริเวณนั้นน่าจะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง (f lood plain) ทุกวันนี้กลายเป็นย่านหมู่บ้านจัดสรร แม้ยังมีคลองและทุ่งอยู่แต่ไม่ได้มีสภาพเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากที่มีสภาพนิเวศสมบูรณ์เหมือนในอดีต

“ปลาซิวสมพงษ์ ปลาที่ถูกคุกคามอื่น ๆ ถ้าไม่รักษาพื้นที่ของเขาดี ๆ ชะตากรรมก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน”

ปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจากทวีปแอฟริกาที่เข้ามารุกรานปลาพื้นบ้าน

Image

เอทิลแอลกอฮอล์ช่วยเก็บรักษาสภาพตัวอย่างปลาซิวสมพงษ์จากพื้นที่
จังหวัดราชบุรีมานานกว่า ๔๐ ปี ปัจจุบันไม่พบปลาชนิดนี้ในพื้นที่นี้แล้ว

Image

รายงานโลกทรรศน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ฉบับที่ ๓ โดยสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อปี ๒๕๓๓ ระบุว่า การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพเกินขีดจำกัดและศักยภาพในการฟื้นตัว มลพิษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน

ผลการสำรวจข้อมูลจากโครงการ “การสำรวจแบบมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ในประเทศไทย” เมื่อปี ๒๕๖๖ พบว่า ประชากรปลาซิวสมพงษ์ในทุ่งใหญ่ปากพลีมีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยคุกคามหลัก ได้แก่ การระบาดของจอกหูหนูยักษ์ การเปลี่ยนสภาพพื้นที่เป็นบ่อปลา และลักลอบจับเกินขนาดเพื่อนำไปขายเป็นปลาสวยงาม

จอกหูหนูยักษ์เป็นพืชที่แพร่ระบาดไปตามแหล่งน้ำอีกหลายแห่งของประเทศไทย จัดเป็น “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน” (invasive alien species) หมายถึงชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในแหล่งใหม่แล้วปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมแหล่งใหม่จนตั้งถิ่นฐาน แพร่กระจายเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว แทนที่พืชหรือสัตว์พื้นเมือง อาจทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นหรือชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบสมดุลนิเวศ และอาจก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย เศรษฐกิจ

ในกรณีที่เป็น “สัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกราน” (aquatic invasive species) ก็หมายถึงชนิดพันธุ์สัตว์น้ำจากต่างถิ่นที่เข้ามาในแหล่งน้ำใหม่แล้วปรับตัวเข้ากับสภาพแหล่งน้ำ สามารถตั้งถิ่นฐาน ทำให้สมดุลนิเวศของแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลง

หากสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานเพิ่มปริมาณมาก ๆ จะแก่งแย่งถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำพื้นเมือง ยกตัวอย่าง ปลาหมอคางดำ ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาซัคเกอร์ ปลากะพงนกยูง ปลาช่อนอเมซอน ปลาเปคู หอยเชอรี่  สัตว์น้ำต่างถิ่นเหล่านี้บางชนิดกินพืช บางชนิดเป็นผู้ล่ากินสัตว์น้ำพื้นเมือง การแพร่ระบาดจะทำให้สัตว์น้ำพื้นเมืองบางชนิดที่อ่อนไหวลดจำนวนลง กระทบองค์ประกอบของชนิดสัตว์น้ำและพืชน้ำจนอาจสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำ

สัตว์น้ำต่างถิ่นบางชนิดเป็นพาหะนำโรคหรือปรสิต เมื่อเข้ามาสู่แหล่งน้ำอาจแพร่โรคระบาดไปสู่สัตว์น้ำพื้นเมืองที่ไม่มีภูมิต้านทาน ยกตัวอย่าง ปลาจีนเป็นพาหะของโรคหนอนสมอและราปุยฝ้าย, กุ้งก้ามแดง หรือกุ้งเครย์ฟิช เป็นพาหะนำโรค Crayf ish Plague, กบบางชนิดเป็นพาหะนำโรคเชื้อรา Chytridiomycosis, หอยเชอรี่อาจนำพยาธิมาสู่มนุษย์

สัตว์น้ำต่างถิ่นบางชนิดยังมีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับชนิดพันธุ์พื้นเมือง อาจผสมพันธุ์กันจนทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมเดิมเสื่อมลง ให้ลูกที่มีอัตรารอดต่ำหรือเป็นหมันในรุ่นต่อไป เช่น ปลาดุกแอฟริกันหรือปลาดุกรัสเซียและลูกผสม (บิ๊กอุย) อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมในปลาดุกอุยและปลาดุกด้าน กบบูลฟร็อกอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมในกบนา

“ถ้าตอนนี้ต้องยอมรับว่า ‘คางดำ’ คืออันดับ ๑ ของการรุกราน”

กุ้งพลิกสมุดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างปลาของเจ้าหน้าที่กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืดทีละแผ่น ข้อความบนแผ่นกระดาษบ่งบอกถึงการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของปลาหมอคางดำ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเข้ามาในประเทศไทย คาดว่าบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านอาหารนำเข้ามาจากประเทศกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อใช้เป็นปลาปรับปรุงพันธุ์ ก่อนที่จะหลุดจากสถานที่เลี้ยงออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจนเกิดการแพร่ระบาดไปทั่ว

การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เช่น พฤติกรรมการกินอาหาร การแพร่กระจายพันธุ์ คุณภาพน้ำ นำไปสู่การประยุกต์ต่อยอดเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานราชการและประชาชนในการอนุรักษ์ปลาชนิดต่างๆ

Image

ปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis) สถานภาพสูญพันธุ์อย่างสิ้นเชิง เคยเป็นปลาเฉพาะถิ่นแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขวดโหลทางขวา-ปลาหางไหม้ไทย (Balantiocheilos ambusticauda) สถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ไม่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติมานานหลายปี คาดว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

บางส่วนของบันทึกเขียนไว้ว่า
๑๙ ก.ย. ๖๕
(คดี จาก ตร.) ปิรันย่า

๑๑ ต.ค. ๖๖
คลองสหกรณ์ สมุทรสาคร  
ปลาหมอคางดำ + ปลารวม

๒๗ ธ.ค. ๖๖
เขตบางขุนเทียน กทม.  
ปลาหมอคางดำ

๒๑ ก.พ. ๖๗
คลองสรรพสามิต พระสมุทรเจดีย์
สมุทรปราการ  ปลาหมอคางดำ

๑ ส.ค. ๖๗
สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการ
บ่อเกษตรกร  ปลาหมอคางดำ 
+ ปลานิล ข่าว

๔ ส.ค. ๖๗  วัดบวรนิเวศวิหาร คลองบางลำพู
เขตพระนคร  ปลาหมอคางดำ ๓ ตัว

๑๓ ส.ค. ๖๗ คลองบางคูเมือง วัดสิงห์ บางกรวย
นนทบุรี  ปลาหมอคางดำ ๕ ตัว

กลางปี ๒๕๖๗ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่การแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ พ.ศ. ๒๕๖๗ ครอบคลุมพื้นที่ ๑๙ จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ติดชายฝั่งทะเล

จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดคาดว่าจะเป็นฟาร์มแห่งหนึ่งในตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กระจายพันธุ์ไปยังชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เช่น จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปราจีนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา

เมื่อเข้ามาอยู่ในน่านน้ำไทย ปลาหมอคางดำกลายเป็นเพชฌฆาตติดปีก ไม่มีสัตว์ผู้ล่าใดที่จะเข้ามาควบคุมประชากรของปลาชนิดนี้  ปลาหมอคางดำชอบอาศัยในน้ำกร่อย ชายฝั่งตื้น ๆ ปากแม่น้ำ ป่าเลน แต่ก็ปรับตัวอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำเค็ม มีพฤติกรรมออกหากินเป็นฝูง กินได้ทั้งแพลงก์ตอน พืช สัตว์ แย่งอาหารและกัดกินสัตว์น้ำพื้นถิ่นจนแทบสูญพันธุ์ ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำขาดทุนอย่างหนัก บางคนถึงขั้นล้มละลาย

กุ้งขาวราคากิโลกรัมละ ๑๒๐-๑๗๐ บาท...กุ้งก้ามกรามราคากิโลกรัมละ ๑๖๐-๓๕๐ บาท...ปลานิลราคากิโลกรัมละ ๖๐ บาท คือตัวอย่างสัตว์น้ำบางชนิดที่ถูกปลาหมอคางดำทำลาย

จากการศึกษาพฤติกรรมการล่าเหยื่อในห้องปฏิบัติการ พบว่าปลาหมอคางดำจะไล่ล่ากุ้งขาวแวนนาไมภายในเวลา ๑๕-๖๐ วินาที ด้วยวิธีไล่กัดรยางค์ส่วนหัวก่อน มีทั้งไล่กัดทีละตัวและรุมแทะเป็นฝูงจนไม่เหลือซาก การไล่กัดอาจกินเวลาติดต่อกันนานถึง ๓-๔ ชั่วโมง

วินิจ ตันสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพชาวประมงไว้ในงานเสวนา “หายนะสิ่งแวดล้อมกรณีปลาหมอคางดำ : การชดเชยเยียวยาความเสียหายฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ว่า ในสายตาเกษตรกรและคนท้องถิ่น ปลาหมอคางดำคือผู้ร้ายที่รุกรานผลผลิตด้านประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

สุชาติ เสือนาค ประธานกลุ่มรักษ์อ่าวไทยตอนบน จังหวัดเพชรบุรี เคยเล่าว่า “ทุกวันนี้ปลาตีน กุ้ง เคย ลูกปู ถูกมันกินหมด ปูก้ามดาบ หอยแครงก็โดน…ตอนที่ได้ตัวปลาหมอคางดำเอามาผ่าท้อง มีลูกกุ้งอยู่ในนั้น กลายเป็นว่าชายฝั่ง ลูกปลากระบอกยังไม่มี…วันนี้กุ้งตะกาดซึ่งเป็นกุ้งก้นคลอง มีมาตั้งแต่ผมเด็ก ๆ งมหาไม่เจอแล้ว”

ขณะที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI TU) วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินว่า ปลาหมอคางดำสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงละเลย ไม่แก้ไขปัญหา จะสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและชาวประมงท้องถิ่น เฉพาะชุมชนแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพียงชุมชนเดียวก็เป็นมูลค่าสูงถึงปีละ ๑๓๑.๘๖ ล้านบาท มูลค่านี้ยังไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม

การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมีสาเหตุสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ มลพิษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ฯลฯ

กิจกรรม “ลงแขกลงคลองจับปลาหมอคางดำ” สะท้อนการแพร่ระบาดอย่างหนักที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและชาวประมง รวมถึงระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ปลาหมอคางดำที่ถูกจับจากคลอง D25 หลังวัดราษฎร์ศรัทธา ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี การแพร่ระบาดในเพชรบุรีพบตามแนวชายฝั่งทะเล คลองน้ำจืด และอ่างเก็บน้ำ

Image

“ข้อที่น่าสังเกตคือลุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจะไม่เกิดการระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำบางปะกง, ทะเลสาบสงขลา, ปากพนัง นครศรีธรรมราช และแหลมสิงห์ จันทบุรี”

ดร. ชวลิต วิทยานนท์ หนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ตั้งข้อสังเกตในงานเสวนา “หายนะสิ่งแวดล้อมกรณีปลาหมอคางดำฯ”

“เคยสงสัยว่าทำไมการระบาดเว้นวรรคที่ลุ่มน้ำบางปะกง  ผมสำรวจชนิดปลาทุกปากแม่น้ำมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ พบว่าปากแม่น้ำบางปะกงมีความหลากหลายของปลามากที่สุด มีมากกว่า ๒๐๐ ชนิด  ขณะที่ฝั่งแม่กลอง ท่าจีน พบชนิดปลาน้อยมาก จุดที่มีการเว้นวรรคนอกจากบางปะกงแล้วก็มีที่สงขลา มันไปจ่ออยู่ระโนดเป็นปี ทะเลสาบสงขลายังไม่เข้า ก็ขอให้ไม่เข้า เพราะที่ทะเลสาบสงขลามีปลาไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ชนิด ทั้งปลาทะเลและปลาน้ำกร่อย ทั้งตัวเล็ก ๆ อย่างปลาบู่ ตัวใหญ่ ๆ ประเภทปลากดทะเล ปลาดุกทะเล ปลาจวด พวกนี้รวมกันหลายสิบชนิดทีเดียว

“ผมขอใช้คำว่า ‘คาดว่า’ เพราะยังไม่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างชัดเจน ความหลากหลายจะจำกัดหรือเป็นตัวตัดวงจรของปลาจากลุ่มน้ำอื่น ๆ ที่จะเข้ามา ลูกปลาจะถูกกิน อาจพบตัวใหญ่บ้างเป็นครั้งคราว แต่การขยายพันธุ์รุ่นต่อไปเหมือนที่แม่กลอง ท่าจีน หรือฟาร์มของเกษตรกรจะเกิดขึ้นได้ยาก กรณีลุ่มน้ำตัวอย่างที่ผมระบุชื่อมาทั้งสี่แห่งตอนต้นนั้นต่างก็มีความหลากหลายของปลาเยอะ อย่างน้อยก็เจอมากกว่า ๑๐๐ ชนิด หรือ ๑๕๐ ชนิดขึ้นไป”

แตกต่างจากคุณภาพน้ำแถวแม่กลองที่ปัจจุบันน่าจะพบปลาไม่ถึง ๑๐๐ ชนิดแล้ว

“แถวนั้นคุณภาพน้ำแย่กว่า พวกปลาล่าเหยื่อที่มีความหลากหลายน้อย เราจะพบว่าแม่น้ำที่เคยมีปลาตายหมู่ หรือเน่าเสียรุนแรงบ่อย ๆ จะมีการระบาดของปลาหมอคางดำรุนแรงและเร็วกว่า”

แนวทางฟื้นฟูคือต้องรักษาคุณภาพน้ำให้ดีกว่านี้ ต้องป้องกันการเน่าเสียและตายหมู่ของปลา ดูแลความหลากชนิดและระบบนิเวศ

“ไม่ต้องไปก่อสร้างอะไรมาก ไม่ต้องไปเพาะปลาปล่อย การลงทุนอาจจะสูงในทางอ้อมคือรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำให้ดีกว่านี้ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการลักลอบปล่อยน้ำเสีย  ทุกวันนี้ฝั่งบางปะกงน้ำเสียครั้งหนึ่งปลาตายลอยเป็นแพ  ที่แม่กลองก็มีกรณีปลากระเบนราหูตัวใหญ่เท่าครึ่งห้องตายนับร้อยตัว เกิดจากน้ำเสียที่บางโรงงานหรือหลายโรงงานปล่อย มักมีลักษณะหาต้นตอไม่ได้ หรือเจอที่มาที่ทำให้ปลากระเบนราหูตายก็โดนระวางโทษปรับจุ๋มจิ๋มมาก แค่แสนกว่าบาท ขณะที่ปลากระเบนหนึ่งตัวมูลค่าเกินแสนกว่าจะตัวโตได้ขนาดนั้น  ปลาอื่น ๆ อีกเท่าไร  กฎหมายของเราอ่อนแอเรื่องนี้ ทำลายสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ปรับแค่ไม่กี่บาท  นายทุนเจ้าของโรงงานเล็ก ๆ เขาอยู่ได้ เสียไปแล้วก็ทำซ้ำใหม่

“ฉะนั้นต้องป้องกันไม่ให้เกิดการเน่าเสียและการตายหมู่ของปลา ซึ่งแม่กลอง ท่าจีน เกิดประจำ บางปะกงเกิดเป็นครั้งคราวแต่ก็ยังไม่รุนแรงเท่าทั้งสองแม่น้ำ

Image

เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ๑๙ จังหวัด เดินทางมาอ่านจดหมายเปิดผนึกและยื่นหนังสือหน้าอาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ ถนนสีลม เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๘ เรียกร้องให้ทางบริษัทแสดงความรับผิดชอบต่อการระบาดของปลาหมอคางดำ หลังจากนั้นเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)
และอดีตคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับชาติ (NBC) บรรยายหัวข้อ “ข้อสังเกตและข้อเสนอ จากบทเรียนเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพ” ในงานเสวนา หายนะสิ่งแวดล้อมกรณีปลาหมอคางดำ : การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗

“อีกอย่างคือเรื่องการดูแลรักษานิเวศ งดการก่อสร้างแบบทำลายที่มีมากมายตั้งแต่ชายหาดจนถึงลำธารบนภูเขา แม้แต่ในอุทยานแห่งชาติก็พยายามจะสร้างเขื่อน สร้างกำแพงกันคลื่น สร้างผนังซีเมนต์ ทำลายพันธุ์ไม้นิเวศริมน้ำจนหมดเพื่อก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่องค์กรต่าง ๆ อยากจะใช้งบประมาณ

“การจัดการประมงยั่งยืนเป็นเรื่องที่ชาวบ้านพยายามทำกันอยู่แล้ว เรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องจัดการแก้ไขแบบอิงธรรมชาติ ไม่ใช่ทำลายธรรมชาติ การนำเข้าสัตว์และพืชต่างถิ่นก็ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น วิจัยให้แม่นยำก่อนอนุญาตให้นำเข้ามา”

ความคาดหวังอีกข้อหนึ่งคือผลักดันพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นที่อนุรักษ์แบบ OECMs

ดอกเตอร์ชวลิตอธิบายความแตกต่างของ OECMs (other effective area-based conservation measures) กับ
พื้นที่คุ้มครองว่า “พื้นที่คุ้มครอง หรือ protected area มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอนุรักษ์ ได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมาย หากมีการบุกรุกทำลายหรือดำเนินการโดยมิชอบจะได้รับโทษตามกฎหมายทันที  ในขณะที่พื้นที่ OECMs
เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคเท่าเทียมในการบริหารจัดการ”

Image

หลังสบตา “ปลาดอง” ใน “ห้องดองปลา” ด้วยการทำความรู้จักปลาตูหนา (Anguilla australis) จากจังหวัดสตูล ถูกเก็บตัวอย่างมาตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ หรือเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ได้รู้ว่าปลาตูหนาเป็นปลาสองน้ำ (diadromous) อพยพไปมาระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ อาศัยในทะเล กลับมาวางไข่ในน้ำจืด เช่น ปลาแซลมอน กับอาศัยในน้ำจืด กลับไปวางไข่ในทะเล เช่น ปลาตูหนา  กุ้งนำทางมายังชั้น ๖ ของอาคารปรีดา กรรณสูต อันเป็นห้องทำงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง

ภาพวาดของปลาตัวหนึ่งที่มีหนวดยาว ๔ คู่ถูกนำมาวางบนโต๊ะ

เกด, สายยู คือชื่อปลาที่เขียนอยู่บนภาพ ตามด้วยชื่อวิทยาศาสตร์ Platytropius siamensis

ไม่มีชื่อผู้วาดบนกระดาษ แต่จากการสืบค้นทั้งในหนังสือลายเส้นปลาไทย ของกรมประมง และหนังสือมัศยจิตรการ จึงรู้ว่าผู้วาดคือหลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันท์ ปี ๒๔๓๙-๒๕๐๘) ร่วมกับ ศ. โชติ สุวัตถิ (ปี ๒๔๔๗-๒๕๓๔) ช่างเขียนภาพที่มีฝีมือ วาดไว้ตั้งแต่ ปี ๒๔๖๗

ภาพวาดปลาหวีเกศแสดงส่วนหัวอยู่ด้านซ้าย ส่วนหางอยู่ด้านขวา ชัดเจนด้วยตำแหน่งของดวงตากลม ปาก ครีบ หาง และหนวดยาว ดูเหมือนกำลังแหวกว่ายอยู่บนเนื้อกระดาษเก่าสีเหลือง

กุ้งเล่าว่าเคยมีความพยายามค้นหาปลาชนิดนี้อยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่พบ

ไม่มีแม้แต่ภาพของปลาชนิดนี้ขณะมีชีวิตอยู่เลย  

“เราอยากเก็บปลาไทยทุกชนิดจากทุกลุ่มน้ำ เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงของประเทศ”

สิริวรรณ สุขศรี
นักวิชาการประมง (ชำนาญการ) กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง

Image

“ความสำคัญของการเก็บตัวอย่างปลา มันเป็นหลักฐานอ้างอิงของประเทศ ว่าประเทศไทยได้พบปลาชนิดนี้ในแหล่งไหนบ้าง

“ถ้าเป็นไปได้เราอยากเก็บปลาไทยทุกชนิดจากทุกลุ่มน้ำ เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงของประเทศ เป็นตัวอย่างให้ผู้สนใจในรุ่นถัด ๆ ไปได้ศึกษาเปรียบเทียบว่าประเทศเรามีปลาชนิดนี้จริงนะ 


“ถ้าพบปลาชนิดหนึ่งแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นปลาอะไร เกิดความสงสัยว่าปลาที่เขาเก็บได้เป็นปลาชนิดนี้จริงหรือเปล่า ก็สามารถมาเปรียบเทียบจากตัวอย่างที่เก็บไว้ในห้องเก็บตัวอย่างอ้างอิง


“ในอนาคตหากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดปัญหาใด ๆ ที่อาจจะทำให้ปลาบางชนิดที่เคยพบในบางลุ่มน้ำหายไป อย่างน้อยเราก็ยังมีหลักฐานเก็บไว้อยู่ว่าปลาชนิดนั้นมีรูปร่างลักษณะอย่างไร เคยพบที่ไหน คนที่ศึกษาเรื่องปลาก็มาดูเพื่อเปรียบเทียบได้


“ตอนนี้มีตัวอย่างอ้างอิงสำหรับปลาน้ำจืดประมาณ 
๕,๐๐๐ รหัส ถามว่ากี่ชนิด ประมาณ ๕๐๐ ชนิด ซึ่งเราก็พยายามเก็บสะสม คงต้องใช้คำนี้  ค่อย ๆ พยายามเก็บรวบรวม ไม่ว่าตามโครงการต่าง ๆ ที่กรมประมงลงไปศึกษาหรือมีคนส่งมาให้”

“สิ่งที่เราเน้นหนัก
คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ”

ดร. ชวลิต วิทยานนท์
นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และผู้รับผิดชอบหลัก “โครงการสนับสนุนชุมชนในการอนุรักษ์ทุ่งน้ำหลาก อันเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของปลาซิวสมพงษ์ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์”

Image

“แนวคิดพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตคุ้มครอง (OECMs) สำคัญทั้งสัตว์ป่า สัตว์น้ำ พรรณไม้ต่าง ๆ มากมายทีเดียว

“จุดที่มีความสำคัญเรื่องปลาจะคัดพื้นที่ที่มีปลาหายากใกล้สูญพันธุ์ ปลาเฉพาะถิ่น กับพื้นที่ที่อาจจะไม่มีปลาหายากแต่มีความหลากหลายของปลามาก ทั้งเขตน้ำจืดและน้ำเค็ม น้ำจืดที่เห็นชัดยกตัวอย่างลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งหลายจุดเลยที่มีปลาหายากใกล้สูญพันธุ์ 

“บริเวณรอบ ๆ ทุ่งใหญ่ปากพลีก็เป็นแหล่งปลาซิวสมพงษ์
ซึ่งเหลือแห่งเดียวในโลก กลายเป็นชนิดที่โดดเด่น (iconic
species) แถวนี้ยังมีปลาอื่น ๆ อีก ๙๐ ชนิดขึ้นไปที่เป็นปลาทางเศรษฐกิจและปลาที่อาจบ่งชี้คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความหลากหลายหนาแน่นของชนิดปลามาก อาจจะประมาณ ๑ ต่อ ๓๐ คือประเทศไทยมีปลาประมาณ ๓,๐๐๐ ชนิด ที่ทุ่งใหญ่ปากพลีมี ๙๐ กว่าชนิด ก็ถือว่าเกือบ ๆ ๓ เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่เนื้อที่ไม่ถึง ๑ ใน ๑,๐๐๐ ส่วนของประเทศไทยทั้งหมด

“การอนุรักษ์นอกเขตคุ้มครองสิ่งที่เราเน้นหนักคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ราชการ องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้น ๆ คนที่มีสิทธิ์มีเสียงอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ แม้แต่เจ้าของเอกชน เจ้าของท้องนา  สมมุติว่าท้องนาของเขามีความสำคัญ เขาจับปลากินเป็นอาหาร เป็นอาชีพ เขาก็มีส่วนดูแล

“การดูแลคือเราไม่ได้อนุรักษ์ไม่ให้คนแตะต้อง แต่ว่าให้ใช้ประโยชน์อย่างระยะยาว ไม่ทำลายวิถีท้องถิ่น”

ขอขอบคุณ
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก

จารุปภา วะสี ผู้ประสานงานโครงการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ในทุ่งน้ำหลากของลุ่มน้ำบางปะกง

กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง

ดร. สิทธิ กุหลาบทอง คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี และสมาชิกสมาคมเซฟ ไวล์ดไลฟ์ ไทยแลนด์

ภวพล ศุภนันทนานนท์

ศรัณย์ ทองปาน

เอกสารประกอบการเขียน
กองพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (๒๕๕๘). ลายเส้นปลาไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

คณะประมง และศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (๒๕๕๔). มัศยจิตรการ. กรุงเทพฯ : ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ชวลิต วิทยานนท์ จรัลธาดา กรรณสูต และ จารุจินต์ นภีตะภัฏ. (๒๕๔๐). ความหลากชนิดของปลาน้ำจืดในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม.

นิสราภรณ์ เพ็ชรสุทธิ์ จิรเวฐน์ เพ็ชรสุทธิ์ และ สิทธิ กุหลาบทอง. “ความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณปลาในพื้นที่นาข้าวน้ำลึก ที่จังหวัดนครนายก”. วารสารวิจัยรามคําแหง (ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี), ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๙.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (๒๕๖๐). สรุปชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย : สัตว์มีกระดูกสันหลัง. กรุงเทพฯ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

Vidthayanon, C. (2017). Checklist of Freshwater Fishes in Thailand. Bangkok : Off ice of Natural Resources and Environmental Policy and Planning.

เว็บไซต์
IUCN Standards and Petitions Committee. (2024). “Guidelines for Using the IUCN Red List Categories and Criteria”, Version 16. Downloadable from https://www.iucnredlist.org/documents/RedListGuidelines.pdf.