“กระสวยอวกาศ”
จาก “สมิทโซเนียน”
Souvenir & History
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์
ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ สถานที่หนึ่งที่ผมพยายามไม่พลาดคือพิพิธภัณฑ์ ด้วยในมุมหนึ่งมันคือดัชนีชี้วัดการ “มองโลก” และ “ความก้าวหน้าทางวิทยาการ” ของดินแดนนั้น
ยิ่งในประเทศมหาอำนาจ สิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ก็ยิ่งน่าสนใจ
ทราบกันดีว่าในสหรัฐอเมริกา สถาบันสมิทโซเนียน (Smithsonian Institution) คือหน่วยงานกึ่งอิสระของรัฐบาลสหรัฐฯ (คล้ายกับองค์การมหาชนของไทย) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๔๖ (ตรงกับสยามสมัยรัชกาลที่ ๓) ทำหน้าที่ศึกษา วิจัย และจัดการด้านพิพิธภัณฑ์ของรัฐทั้งหมด
ผู้บริจาคเงินทุนก่อตั้งองค์กรนี้คือ เจมส์ สมิทสัน (James Smithson) นักเคมีชาวอังกฤษ ที่ไม่มีทายาท แต่เขากลับยกมรดกทั้งหมดให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อสร้างหน่วยงาน “เผยแพร่ความรู้ให้กับมนุษยชาติ” สิ่งที่น่าสนใจคือ สมิทสันไม่เคยเดินทางไปอเมริกาเลยแม้แต่ครั้งเดียว
๑ ในพิพิธภัณฑ์ ๒๑ แห่งทั่วสหรัฐฯ ที่สถาบันสมิทโซเนียนดูแลคือ พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ (National Air and Space Museum - NASM) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งปรากฏหลายครั้งในหนังฮอลลีวูดแนวไซไฟ ผมจำได้ว่าภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องหนึ่งเขียนบทให้นำเอากระสวยอวกาศที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อกอบกู้โลกจากอุกกาบาตที่กำลังจะพุ่งชน
ทราบภายหลังว่าเรื่องจริงก็ไม่ต่างกับในหนัง เพราะเครื่องบินและกระสวยอวกาศที่เก็บไว้ที่นี่ แม้มีอายุเก่าแก่ แต่ล้วนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และพร้อมนำกลับมาใช้งานได้ตลอดเวลา (ในทางทฤษฎี)
ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่น ๆ ในอเมริกา คือเนื่องจากผู้สนใจเข้าชมมีจำนวนมาก ทางพิพิธภัณฑ์จึงแก้ปัญหาความแออัดด้วยการกำหนดจำนวนคนเข้าชมในแต่ละวัน โดยให้จองล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ (ไม่มีค่าเข้าชม)
เมื่อไปถึงผมพบว่าตัวตึกเป็นอาคารแบบโมเดิร์น มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมเรียบ ๆ ตั้งอยู่ในเขต National Mall ย่านเก่าที่รวมสารพัดสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้ อย่างไรก็ตามช่วงที่ผมไป (กลาง ค.ศ. ๒๐๒๔) มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ นิทรรศการบางส่วนถูกปิด แต่โซนสำคัญที่เล่าเรื่องพี่น้องตระกูลไรต์ (Wright Brothers) และการบินยุคแรกที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินอเมริกายังคงจัดแสดงอยู่ที่ชั้น ๑
ข้าวของในนิทรรศการตรึงผู้ชมได้อยู่หมัด เพราะล้วนเป็น “ของจริง” ราวกับอดีตมีชีวิตขึ้นตรงหน้า เช่น เครื่องบินที่พี่น้องตระกูลไรต์นำขึ้นบินครั้งแรก พร้อมจำลองกลไกการทำงานบนจอคอมพิวเตอร์ ผมยังได้เดินเข้าไปในเครื่องบินสมัยสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ที่จัดแสดงในห้องที่จำลองเป็นโรงเก็บเครื่องบิน (hangar)
เมื่อขึ้นชั้น ๒ ห้อง Apollo to the moon ถือเป็นไฮไลต์ มีการจัดแสดงยาน ลูนาร์โมดูล, ท่อไอพ่นขนาดยักษ์ของกระสวยอวกาศมีโซนจำลองการนับถอยหลังปล่อยจรวดไปดวงจันทร์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๙ ฯลฯ น่าเสียดายว่ากระสวยอวกาศถูกย้ายออกไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อีกแห่งชานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
สำหรับเด็กผู้ชายที่เคยฝันอยากเป็นนักบิน ของที่ระลึกล้วนล่อตาล่อใจให้เหมากลับบ้าน มีทั้งกระสวยอวกาศจำลอง
เครื่องบินรบ ฯลฯ ที่ผมชอบที่สุดคือพวงกุญแจกระสวยอวกาศ ราคา ๑๐ ดอลลาร์ (ประมาณ ๓๐๐ บาท)
ด้วยนี่คือยานอวกาศที่อยู่ในความทรงจำของเด็กที่โตในยุค 90s อย่างแท้จริง