ยิ่งฉลาด
ก็ยิ่งซึมเศร้าง่าย ?
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
มีคนมากมายที่อยากเฉลียวฉลาดเพราะมองว่าเป็นสิ่งดีและให้คุณประโยชน์แต่จะมีใครคิดบ้างว่ามี “ราคา” ที่ต้องจ่ายให้กับการเป็นคนฉลาดเพียงใด ?
เว็บไซต์ psychologytoday.com ระบุว่า มีเหตุผลมากถึง ๑๓ ข้อที่ทำให้คนที่ฉลาดเฉลียวมากกว่าคนทั่วไปมีความสุขน้อยกว่า ไปจนถึงอาจเกิดอาการซึมเศร้าง่ายกว่าด้วยซ้ำไป !
เหตุผลข้อแรกคือคนฉลาดมากมักตั้งเป้าหมายใหญ่เกินไป จนบ่อยครั้งที่ความสำเร็จไม่ได้ไปถึงระดับที่ฝันไว้ (ใหญ่เกินจริงไปมาก) ก็จะผิดหวัง และจะแย่มากขึ้นไปอีกหากเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ทำได้ดีกว่า
ข้อถัดมาคือคนไอคิวสูงมักมีแนวโน้มขี้กังวล คิดเยอะ มองเห็นผลลัพธ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้เต็มไปหมด แม้แต่ในเรื่องที่คนทั่วไปมองว่าเล็กน้อย
ข้อต่อไปคือคนฉลาดมาก ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าจะตัดสินใจได้ดีกว่าคนอื่นเสมอไป พวกเขามักหนีไม่พ้นอคติแบบต่าง ๆ ที่คนทั่วไปต้องเผชิญและยังมีจุดอ่อนต่าง ๆ ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป
ข้อที่ ๔ ความฉลาดมักทำให้ตอนที่อายุยังน้อยสามารถเรียนหรือทำสิ่งต่าง ๆ ได้เร็ว ทำอะไรก็ดูง่ายและประสบความสำเร็จอยู่ตลอด โดยใช้ความพยายามน้อยเมื่อเทียบกับคนทั่วไป จึงไม่เคยหรือไม่ค่อยพัฒนาทักษะเรื่องความมุ่งมั่นซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับความสำเร็จระยะยาว
นอกจากนี้ยังมักเป็นคนที่ไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องฝึกวินัยจริงจังเพื่อบรรลุถึงศักยภาพสูงสุด เพราะไม่ต้องทำอะไรมากก็สำเร็จได้ง่าย ๆ จึงมักผัดวันประกันพรุ่งเรื่องที่ต้องทำแต่ไม่อยากทำ จนต้องทำในนาทีสุดท้ายซึ่งจะสำเร็จเรียบร้อยดีงามได้ยาก
ความล้มเหลวสำหรับคนฉลาดมากก็หนีไม่พ้นที่ต้องพบความทุกข์ยากไม่สบายใจ
ข้อที่ ๖ คือคนพวกนี้มักจะใช้ชีวิตอยู่กับตัวเอง คิดอะไรอยู่ในหัวมากเกินไป บางครั้งก็ลืมเลือน หรือไม่รู้ว่าจะแสดงอารมณ์ความรู้สึกและเชื่อมโยงกับคนอื่นอย่างไร แถมยังมักคิดวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องต่าง ๆ สารพัดจนไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจช้าเกินไป บางคนก็คิดจนนอนหลับแบบคนทั่วไปไม่ได้ เสียสุขภาพร่างกายอีกต่างหาก
ข้อที่ ๗ คือคนปราดเปรื่องเหล่านี้มักยั้งปากไม่ได้ คันปากยิบ ๆ คอยชี้ให้เห็นหรือเข้าไปแก้ไขความผิดพลาดคนอื่น อดตำหนิคนอื่นไม่ได้ แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้ย่อมทำให้คนรอบข้างไม่ชอบใจ อึดอัด รำคาญ หรืออับอาย
ข้อที่ ๘ จากนิสัยแบบที่เล่ามาทั้งหมดคนพวกนี้จึงมักหาเพื่อนสนิทยาก เพราะอยู่ใกล้คนแบบนี้แล้วอาจจะดูด้อยหรือ
“หมอง” ในทางใดทางหนึ่ง แบบเดียวกับไปจับกลุ่มกับคนที่หล่อจัดหรือสวยจัด ก็รังแต่จะสร้างความทุกข์ทรมานใจเพราะโดนเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา และคนพวกนี้จำนวนมากก็มักไม่ได้แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนเสียด้วย จึงไม่น่าสนิทสนมด้วยสักเท่าไร
ข้อถัดมาคนฉลาดมักสับสนหรือขาดความอดทน ฉุนขาดเอาง่าย ๆ เมื่อสิ่งที่ทำถูกคนรอบข้างเข้าใจผิด แม้จะพยายามอธิบายแล้วก็ตาม ก็เลยดูเป็นคนไม่น่ารักมากขึ้นไปอีก
ข้อที่ ๑๐ คนพวกนี้มักมีอารมณ์ขันเฉพาะตัวมาก เพื่อน ๆ หรือคนรอบข้างอาจไม่เข้าใจ ตามไม่ทัน ในทางกลับกันเรื่องตลกง่าย ๆ พื้น ๆ ที่คนอื่นตลกกัน คนกลุ่มนี้อาจจะไม่เข้าใจว่าตลกอย่างไรบางทีก็ฝืนหัวเราะแหะ ๆ เพื่อกลบเกลื่อน
จะเห็นได้ว่าในหลายข้อที่กล่าวมา มองในภาพรวมแล้วก็เป็นปัญหาการเข้าสังคมนั่นเอง
ข้อต่อไปคือ คนฉลาดมาก ๆ ยังรู้ด้วยว่ามีเรื่องอีกมากมายที่พวกเขายังไม่รู้หรือไม่อาจรู้ได้ แม้ว่าฉลาดขนาดนั้นแล้วก็ตาม ข้อจำกัดพวกนี้ทำให้เกิดความเครียด ท้อแท้ และผิดหวังในตัวเองได้มากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ
การฉลาดมากบางครั้งก็ทำให้รู้บางเรื่องที่ชวนให้เป็นกังวล เจ็บปวดใจ หรือต่อต้านมากเป็นพิเศษ คล้ายกับรู้สึกว่าเป็นคนตาบอดข้างเดียว (เพราะรู้ตัวว่ายังมีเรื่องที่ไม่รู้อีกมาก) ท่ามกลางคนตาบอดสองข้าง (แต่ก็ยังฉลาดกว่าคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจอะไรเลย มองไม่เห็นอะไรเอาเสียเลย)
ข้อสุดท้าย การฉลาดผิดมนุษย์มนาบ่อยครั้งทีเดียวก็ทำให้กลายเป็นคนโดดเดี่ยวจากกลุ่มเพื่อน เก็บตัว ปิดตัว ไม่เปิดออกให้คนนอกรู้จักและเข้าใจ อาจกลายเป็นคนซึมเศร้าได้ง่าย ๆ
บางครั้งคนฉลาดมาก ๆ ก็อาจสติแตกจน “เตลิด” กู่ไม่กลับก็มี ดังกรณีสุดโต่งสาวน้อยอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์คนหนึ่งชื่อ ซูฟิอาห์ ยูซอล เข้าเรียนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้ตั้งแต่อายุเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น แต่กลับทิ้งการเรียนทั้งหมดก่อนวันสอบไล่แล้วหนีไปเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร ต่อมาสติแตกหนักถึงขั้นเปลี่ยนไปทำงานเป็นนางทางโทรศัพท์ทีเดียว !
กรณีนี้อาจเป็นผลจากความกดดันด้านการศึกษา สังคม และวัฒนธรรมที่แวดล้อมตัวเธอซึ่งขณะนั้นเด็กเกินไปจนขาดวุฒิภาวะและทักษะการเข้าสังคม ทำให้ไม่สามารถรับมือได้และชีวิตดิ่งลงจนสุดกู่
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ “แนวโน้ม” แต่ก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป
ความฉลาดเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าจริงหรือ คนยิ่งฉลาดก็ยิ่งซึมเศร้าง่ายจริงหรือ ? มีการทดลองอะไรในเรื่องนี้บ้างหรือไม่ ?
คำตอบอาจจะซับซ้อนกว่าที่คิด
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งใน ค.ศ. ๒๐๑๘ ของทีมวิจัยอเมริกันทำในกลุ่มคนฉลาดกว่าปรกติมากที่มารวมตัวกันเป็นสมาคมเมนซา (MENSA) ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๖ มีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า ๑.๕ แสนคน โดยต้องทำแบบทดสอบสติปัญญาเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่อยู่ใน ๒ เปอร์เซ็นต์ของคนฉลาดที่สุดในโลกจึงจะเข้าสมาคมนี้ได้
นักวิจัยรายงานว่าสมาชิก MENSA มีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและกังวลใจมากกว่าคนทั่วไปเกินกว่าเท่าตัว !
การศึกษานี้ในแง่สถิติแล้วไม่สามารถแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การมีสติปัญญาดีเป็นพิเศษเป็น “ต้นเหตุ” ให้เกิดความซึมเศร้า แต่แค่แสดงว่าลักษณะสองอย่างนี้อาจไปด้วยกัน แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงอาจเป็นเรื่องอื่น นี่เป็นเพียงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นร่วมกันและเป็นไปในทางเดียวกันเท่านั้น
ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำโดยทีมวิจัยในสหรัฐอเมริการ่วมกับนิวซีแลนด์ ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๒๐๑๙ ใช้วิธีติดตามเด็กที่มีสติปัญญาต่ำกว่ามาตรฐานไปจนถึงโตเป็นผู้ใหญ่ เพื่อดูว่าจะมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ผลสรุปคือเด็กที่ฉลาดไม่มากนักมีโอกาสแสดงอาการซึมเศร้ามากกว่า
ผลจากกรณีศึกษานี้จึงกลับกับงานวิจัยแรก แต่ก็เช่นกันที่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าความฉลาดกับความซึมเศร้าเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน
อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่ใหม่ขึ้นมาอีกของนักวิจัยฝรั่งเศส ตีพิมพ์ ค.ศ. ๒๐๒๒ ในวารสาร European Psychiatry อาศัยการวิเคราะห์ซ้ำผลการวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ที่ระบุว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการมีสติปัญญาสูงกับโรคทางจิตต่าง ๆ ทำให้รู้ว่าผลดังกล่าวมักเกิดจากปัญหาเรื่องกลุ่มควบคุมเล็กเกินไป ศึกษาในตัวอย่างที่มีจำนวนน้อยเกินไป หรือไม่ก็เกิดจากอคติของผู้วิจัย เมื่อนักวิจัยศึกษาเปรียบเทียบโดยใช้ข้อมูลใน UK Biobank มากกว่า ๒.๓ แสนคน (กลุ่มควบคุมมากกว่า ๑.๖ หมื่นคน) และอาศัยการตอบคำถามของอาสาสมัครร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์ที่ครอบคลุมลักษณะความผิดปรกติทางจิตแบบต่าง ๆ ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) ภาวะภูมิแพ้ ฯลฯ ทำให้รู้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องแบบสาเหตุ-ผลลัพธ์ระหว่างระดับสติปัญญาที่สูงกับภาวะความผิดปรกติต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อเทียบกับคนทั่วไป ยิ่งกว่านี้ยังพบด้วยว่าคนฉลาดมักรับมือกับความกังวลใจโดยทั่วไปและอาการ PTSD ได้ดีกว่าด้วยซ้ำ
โดยสรุปคือเมื่ออ้างอิงจากงานวิจัยในกลุ่มคนจำนวนมาก ความเชื่อที่ว่ายิ่งฉลาดก็ยิ่งเสี่ยงอาการซึมเศร้านั้นก็ไม่น่าจะเป็นความจริง !