จากการศึกษาวิจัยล่าสุด ประเทศไทยมีปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (EN) ๗๒ ชนิด ปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) ๕๓ ชนิด ปลาที่อยู่ในสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (EW) ๑ ชนิด และปลาที่อยู่ในสถานภาพสูญพันธุ์ (EX) คือสูญพันธุ์ไปอย่างสิ้นเชิง ๕ ชนิด
ภาค ๑
ปลาไทยใกล้สูญพันธุ์
ปลาไทย
ใกล้สูญพันธุ์~สูญพันธุ์แล้ว
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“นี่ เหรอที่เขาว่าใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก ผมเองก็เพิ่งเคยเห็น” รัตนะ แขมโค้ง ฉีกยิ้มกว้างเมื่อคณะวิจัยหยิบยื่นปลาซิวสมพงษ์ให้ดู พอปลาตัวเล็ก ๆ จ่อตรงหน้า เจ้าของแปลงนาก็พูดขึ้นอีก “เห็นเขามาหากัน เราก็ไม่รู้หรอก” แล้วตะโกนบอกลูก ๆ หลาน ๆ ให้รีบเข้ามาดู
“ไหนดูซิ มันเป็นพันธุ์ที่เขาสนใจอยู่เหรอ
คะ”
“มันตัวนิดเดียวแม่”
นี่เป็นครั้งแรกที่ครอบครัวแขมโค้งซึ่งอาศัยอยู่ในทุ่งใหญ่ปากพลีได้เห็นปลาซิวสมพงษ์แบบเต็มตาหลังจากได้ยินชื่อเสียงมานาน
ปลาซิวสมพงษ์เป็นปลาท้องถิ่นหายาก ทั่วโลกพบในพื้นที่น้อยกว่า ๑๐๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งนั่นอยู่ในประเทศไทย
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่ทำงานอนุรักษ์หรือมีแผนงานเพื่ออนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์อย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่กำลังถูกจับตาในระดับโลกเพราะสุ่มเสี่ยงว่าจะสูญพันธุ์
เป็น iconic species ที่ต้องได้รับการดูแลอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน (urgent conservation dependent) ก่อนเหลือเพียงภาพวาดบนแผ่นกระดาษ
ปลาซิวสมพงษ์อาศัยร่วมกับปลาอื่น ๆ อีกกว่า ๙๐ ชนิดในพื้นที่นาข้าวน้ำลึก รวมถึงหนองน้ำตามที่ราบต่ำที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่นของทุ่งใหญ่ปากพลี สะท้อนว่าพื้นที่นี้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
ภาพ : ศราวิน เพชรเย็น
วงจรชีวิตของปลาซิวสมพงษ์สอดคล้องกับวิถีการทำนาข้าวน้ำลึกของชาวชุมชนท่าเรือ ซึ่งเป็นการทำนาแบบปลอดสารเคมี และเป็นนาปี ปลาซิวสมพงษ์ใช้พื้นที่แปลงนาเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย สืบพันธุ์วางไข่ และอนุบาลตัวอ่อน การอนุรักษ์วิถีนาข้าวน้ำลึกให้คงอยู่จึงเป็นการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ด้วย รวมทั้งยังอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยเฉพาะเหยี่ยวและนกอพยพ
ภาพ : ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์
“นี่คือปลาที่เราตามหาและจะอนุรักษ์ เพราะมันอยู่แถวนี้แห่งเดียวในโลกเท่านั้น แค่สองจังหวัด” ดร. ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพบอก หลังออกตามหาปลาซิวสมพงษ์และปลาท้องถิ่นชนิดอื่น ๆ กับคณะนักวิจัยมาตั้งแต่รุ่งเช้า พบปลาซิวสมพงษ์บริเวณปากท่อส่งน้ำเข้านาข้าวในทุ่งใหญ่ปากพลี
ปลาซิวสมพงษ์ (Trigonostigma somphongsi) เป็นปลาตัวเล็กจิ๋ว ขนาดใหญ่สุดไม่เกินปลายนิ้วก้อย จัดอยู่ในวงศ์ปลาซิว (Danionidae) อันดับปลาตะเพียน (Cypriniformes) ถือเป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นของไทย พบในลุ่มน้ำบางปะกง ตอนกลางที่จังหวัดนครนายกและจังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะโดดเด่นคือมีแถบดำพาดขวางจากคอดหางถึงกลางลำตัวแถบสีจะสดใสขึ้นเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์
แม้เป็นปลาพื้นบ้านไทย แต่รายงานการค้นพบเกิดขึ้น ครั้งแรกในทวีปยุโรปเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๐๐ หลังจากมีตัวอย่างปลาสองตัวถูกส่งมาที่อะควาเรียม Westhandel เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะปลาสวยงามนำเข้าจากประเทศไทย
สาเหตุที่ทำให้ปลาตัวเล็ก ๆ จากแดนไกลได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trigonostigma somphongsi ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ สมพงษ์ เล็กอารีย์ ผู้ประกอบการส่งออกปลาพื้นบ้านไทยสวยงามและเจ้าของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ “สมพงษ์อาควาเรี่ยม” ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งส่งออกปลาซิวชนิดนี้ไปอะควาเรียม Westhandel
ปัจจุบันองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation - IUCN) จัดหมวดปลาซิวสมพงษ์ไว้ในสถานภาพ “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered - CR)” ขณะที่ Zoological Society of London ประเทศอังกฤษ จัดให้เป็น ๑ ใน ๑๐๐ สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดของโลก นอกจากปลาซิวสมพงษ์แล้ว ยังมีปลาไทยอีกสองชนิด คือ ปลาฉนากและปลาเทพา
นาข้าวน้ำลึกก็เหมือนกับพื้นที่แก้มลิง...เป็นระบบนิเวศที่ใกล้สูญพันธุ์จากที่ราบภาคกลางของประเทศไทย และอาจหายไปพร้อมกับปลา
นาข้าวน้ำลึก หรือนาข้าวขึ้นน้ำ มีน้ำท่วมขังลึกตั้งแต่ ๑ ถึง ๕ เมตร หลังปลูกข้าว เป็นแหล่งอาศัยของปลาและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ
ภาพ : ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์
ดอกเตอร์ชวลิต ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักโครงการ “การสำรวจแบบมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ในประเทศไทย” ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ เล่าว่า ครั้งหนึ่งเชื่อกันว่าปลาซิวสมพงษ์สูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากไม่มีรายงานการค้นพบอย่างเป็นทางการติดต่อกันนานหลายสิบปีเคยพบปะปนกับปลาซิวชนิดต่าง ๆ ที่มาจากภาคกลางในตลาดปลาสวยงามแล้วไม่พบอีกเลย กระทั่งปี ๒๕๕๔ จึงมีการค้นพบใหม่อีกครั้งจากการทำวิจัยเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณปลาในพื้นที่นาข้าวน้ำลึกที่จังหวัดนครนายก” ของ ผศ.ดร. นิสราภรณ์ เพ็ชร์สุทธิ์ และคณะ พบปลาซิวสมพงษ์ในหมู่บ้านแขมโค้ง ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
รายงานการค้นพบอย่างเป็นทางการได้รับการเผยแพร่ในปี ๒๕๕๗ เป็นที่มาของโครงการสำรวจภายใต้การดำเนินโครงการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับชาวตำบลท่าเรือ, สมาคมเซฟ ไวล์ดไลฟ์ ไทยแลนด์, คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี, คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน Critical Ecosystem Partnership Fund - CEPF และ IUCN
“หลังจากค้นพบปลาซิวสมพงษ์อีกครั้งในปี ๒๕๕๗ ก็มีการลงพื้นที่มาสำรวจอีกหลายครั้ง ขยายพื้นที่ออกไปในทุก ๆ แหล่งน้ำในเขตจังหวัดนครนายกและปราจีนบุรีที่เชื่อมต่อกับนาข้าวน้ำลึกของตำบลท่าเรือ” ดอกเตอร์ชวลิตอธิบาย จากริมนาข้าวน้ำลึกแปลงใหญ่ที่เพิ่งจับปลาซิวสมพงษ์ได้ มองออกไปไกล ๆ จะเห็นแนวเทือกเขาใหญ่ทอดตัวยาวทางทิศเหนือ
ตำบลท่าเรือทั้งตำบล พื้นที่รอยต่อใกล้เคียงในจังหวัดนครนายก และตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการนี้ ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ ๑๕๐ ตารางกิโลเมตร ทั้งหมดเป็นที่ราบลุ่มต่ำรับน้ำท่วมขังตามธรรมชาติหรือ “แก้มลิง” ระบบนิเวศที่ใกล้จะสูญพันธุ์แล้วจากที่ราบภาคกลาง ที่เรียกกันว่า “ทุ่งใหญ่” ก็เพราะเป็นพื้นที่ทำนาข้าวน้ำลึกกว้างขวางที่มีทั้งพื้นที่ทำมาหากินและพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่อนุรักษ์นกล่าเหยื่ออพยพขนาดใหญ่ แล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของ “ทางเชื่อม” พื้นที่สำคัญทางนิเวศวิทยาของโลกสามแห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา
“หลังสำรวจติดต่อกันนานกว่า ๒ ปี ก็พบว่าพื้นที่ข้างเคียงมีสภาพพื้นที่และแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงไปแล้วถึงตอนนี้เราพอจะอนุมานได้ว่าพื้นที่อาศัยของปลาซิวสมพงษ์เหลืออยู่เพียงในตำบลท่าเรือและแหล่งน้ำบางส่วนในตำบลปากพลีที่มีแหล่งน้ำติดต่อกับตำบลท่าเรือเท่านั้น ซึ่งนับว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการสูญพันธุ์ของปลานี้”
โดยทั่วไปนั้นปลาซิวสมพงษ์ปรับตัวให้อยู่ได้ในแหล่งน้ำที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนถึงด่างอ่อน มีค่าออกซิเจนอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากกว่า ๓ มิลลิกรัมต่อลิตร อุณหภูมิของน้ำ ๒๘-๓๔ องศาเซลเซียส ความโปร่งแสง ๖๐-๑๐๐ เซนติเมตร และมีค่าธาตุอาหารในกลุ่มแอมโมเนีย ไนไตรต์ ไนเตรต ออร์โธฟอสเฟต ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ผลการสำรวจคุณภาพน้ำในแหล่งอาศัยของปลาซิวสมพงษ์ช่วงปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ในพื้นที่ตำบลท่าเรือ พบว่าแหล่งน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
วิถีนาข้าวน้ำลึกแบบดั้งเดิมของทุ่งใหญ่ปากพลีเกี่ยวพันลึกซึ้งและเชื่อมโยงกับความอยู่รอดของปลาซิวสมพงษ์ฝูงสุดท้ายอย่างคาดไม่ถึง...
นักวิจัยจากสมาคมเซฟ ไวล์ดไลฟ์ ไทยแลนด์, คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับชาวตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ออกสำรวจปลาในพื้นที่นาข้าวน้ำลึก
“ทุก ๆ จานหรือชามก๋วยเตี๋ยว จะมีเส้นก๋วยเตี๋ยวอย่างน้อยหนึ่งคำมาจากทุ่งนาข้าวขึ้นลึกรอยต่อนครนายก-ปราจีนบุรี” ดอกเตอร์ชวลิตกล่าวเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ในช่วงต้นของ “การประชุมปรึกษาหารือเรื่องการพัฒนาคุณภาพการผลิตข้าวนาน้ำลึก และส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาน้ำลึก” จัดขึ้นที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการสนับสนุนชุมชนในการอนุรักษ์ทุ่งน้ำหลาก อันเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของปลาซิวสมพงษ์ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์” ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน
การทำนาข้าวมีหลายรูปแบบขึ้นกับสภาพภูมิประเทศ ลักษณะพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นนาข้าวน้ำฝน นาข้าวชลประทานนาข้าวไร่ รวมถึงนาข้าวน้ำลึก
นาข้าวน้ำลึก (deep water rice field) หรือนาข้าวขึ้นน้ำ (floating rice field) เป็นพื้นที่ซึ่งหลังจากเพาะปลูกแล้วจะมีน้ำท่วมขังลึกตั้งแต่ ๑ ถึง ๕ เมตร จากระยะ ๑-๓ เดือนแรกที่เริ่มปลูกข้าว ต้นข้าวจะเจริญเติบโตในสภาพน้ำตื้น จากนั้นระดับน้ำจะค่อย ๆ สูงขึ้นในช่วงฤดูฝน จนกลายเป็นแหล่งอาศัยของปลาและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ
ข้าวน้ำลึก (deep water rice) มีลักษณะประจำพันธุ์คือความสามารถในการทนน้ำท่วมขังหรือจมอยู่ใต้น้ำได้นานอย่างน้อย ๗-๑๐ วัน หลังจากน้ำลดแล้วสามารถฟื้นตัวได้ดี พัฒนาการเติบโตจนถึงขั้นเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปจะเรียกว่าข้าวขึ้นน้ำ (f lfloating rice) เพราะมีลักษณะเฉพาะคือการยืดปล้องตามการเพิ่มของระดับน้ำในนา น้ำท่วมสูงต้นข้าวก็จะโตสูงตาม
ผลจากการลงพื้นที่สำรวจปลาซิวสมพงษ์ตลอดปี ในตำบลท่าเรือ พบว่านาข้าวน้ำลึกมีบทบาทสำคัญในแง่ของการเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร แหล่งสืบพันธุ์วางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ไม่เฉพาะปลาซิวสมพงษ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงปลาอื่น ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๙๐ ชนิด สะท้อนให้เห็นว่านาข้าวน้ำลึกและแหล่งน้ำในตำบลท่าเรือเป็นจุดสำคัญที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง (biodiversity hotspot)
ปลาซิวสมพงษ์ ซึ่งเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง อาศัยปะปนกับปลาซิวชนิดต่าง ๆ เช่น ปลาซิวข้าวสาร ปลาซิวหนู ปลาซิวหลังแดง ปลาซิวหางกรรไกรเล็ก ปลาซิวควาย ปลาซิวหนวด
ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ Siamensis ผู้เชี่ยวชาญด้านปลา ศึกษาวงจรชีวิตและชีววิทยาการสืบพันธุ์ของปลาซิวสมพงษ์ พบว่าปลาชนิดนี้จับคู่ผสมพันธุ์ในนาข้าวน้ำลึก วางไข่บนใบข้าวหรือใบพืชที่จมอยู่ใต้น้ำ ตัวโตเต็มวัยมีอายุประมาณ ๑ ปี ขนาดประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ตัวเมียมีไข่ดกประมาณ ๑๐-๒๐ ฟอง พ่อแม่พันธุ์จะทยอยผสมพันธุ์และวางไข่ลงบนใบไม้ทีละฟอง เมื่อลูกปลาออกจากไข่จะหาอาหารอยู่ภายในแปลงนา หมดฤดูทำนาจึงว่ายน้ำออกสู่คลองชลประทานที่เชื่อมต่อกับนาข้าวน้ำลึกตรงกับช่วงปลายปีที่ชาวนาปล่อยน้ำออกจากนาข้าว เมื่อเข้าช่วงฤดูแล้งปลาซิวสมพงษ์ระยะวัยรุ่นจะอาศัยอยู่ตามคลองชลประทาน คูคลองส่งน้ำ หรือแหล่งน้ำขนาดเล็กภายในตำบลท่าเรือ
“วงจรชีวิตของปลาซิวสมพงษ์จะโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์และวางไข่ช่วงต้นฤดูน้ำหลาก เมื่อน้ำหลากเข้าสู่นาข้าวน้ำลึกปลาชนิดต่าง ๆ ก็จะแหวกว่ายเข้าไปในนาข้าวอีกครั้ง ผลการสำรวจปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ เคยพบปลาซิวสมพงษ์ฝูงใหญ่มากกว่า ๕๐ ตัว ใกล้ปากท่อส่งน้ำเข้านาข้าวน้ำลึกทุก ๆ ครั้งที่ออกสำรวจช่วงน้ำหลาก ส่วนใหญ่อยู่ในวัยพร้อมสืบพันธุ์ จึงสรุปได้ว่าวงจรชีวิตของปลาซิวสมพงษ์สอดคล้องกับวิถีการทำนาข้าวน้ำลึกแบบดั้งเดิมของชาวตำบลท่าเรือ ที่เป็นการทำนาแบบปลอดสารเคมี เป็นนาปีนอกเขตชลประทาน ชาวบ้านที่นี่ปลูกข้าวได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง ช่วงที่ไม่ได้ปลูกข้าวก็จะหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ๆ” ดอกเตอร์ชวลิตกล่าว
“จะอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ สิ่งสำคัญคือต้องอนุรักษ์ระบบนิเวศหรือถิ่นอาศัยของเขาก่อน คือทุ่งน้ำหลาก หมายถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ข้าวที่ได้นี้เป็นวัตถุดิบสำคัญของการทำแป้งข้าวเจ้า เป็นองค์ประกอบหลักของขนมหลายชนิดที่เรากินกัน รวมถึงเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นจันท์ มีข้อสันนิษฐานว่าในก๋วยเตี๋ยวทุกชามของชาวภาคกลางอย่างน้อยหนึ่งคำหรือหนึ่งคีบจะมาจากทุ่งข้าวนาปีหรือทุ่งข้าวน้ำลึกของตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี รวมทั้งที่จังหวัดปราจีนบุรี ที่เหลือก็มาจากข้าวนาปีในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย”
นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพเน้นย้ำความสำคัญของข้าวนาปีที่ปลูกในนาข้าวน้ำลึกของทุ่งใหญ่ปากพลีต่อไปอีกว่า “การอนุรักษ์วิถีนาข้าวน้ำลึกให้คงอยู่ถือเป็นการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับปลาชนิดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เรามีของดีปากพลีคือนิเวศบริการของทุ่งน้ำหลากเป็นของแถมจากการทำนาที่เหมือนกับเทวดาให้มาทุกปี เรามีพันธุ์ข้าว พันธุ์ปลา มีการเลี้ยงควายทุ่ง เป็ดไล่ทุ่ง รวมทั้งมีนกหายากให้นักดูนกจากทั่วโลกเข้ามาเที่ยวชม โดยเฉพาะเหยี่ยวดำ นกอินทรี บางปีก็มีแร้งหลงมาจากหิมาลัย พันธุ์ข้าวสำคัญที่โดดเด่นยังมีข้าวป่า ที่นี่น่าจะเป็นหนึ่งในสามแหล่งของประเทศไทยที่ยังเหลือข้าวป่าอยู่ ข้าวชนิดนี้เป็นบรรพบุรุษของพันธุ์ข้าวที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้”
ทุ่งใหญ่ปากพลีมีพื้นที่แหล่งน้ำในช่วงน้ำหลากประมาณ ๑๕๐ ตารางกิโลเมตร แต่ถึงช่วงฤดูแล้งจะหดแคบลง ประเมินว่าพื้นที่อาศัยของปลาซิวสมพงษ์เหลือไม่ถึง ๐.๐๐๑ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒๕ ไร่เท่านั้น
ภาพ : คชานพ พนาสันติสุข โครงการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ในทุ่งน้ำหลากของลุ่มแม่น้ำบางปะกง
อย่างไรก็ตามตลอดหลายปีที่ผ่านมาการพัฒนาของชุมชนโดยรอบที่เปลี่ยนไปเป็นเมืองทำให้แหล่งอาศัยและกระจายพันธุ์ของปลาลดลงทุกวัน มีการประเมินขนาดพื้นที่พบปลาซิวสมพงษ์ทั้งหมดในโลกคือที่ราบลุ่มต่ำภาคกลางของประเทศไทย (extent of occurrence - EOO) รวมแล้วน้อยกว่า ๑๐๐ ตารางกิโลเมตร เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง (area of occupancy - AOO) ถิ่นอาศัยยิ่งหดแคบเหลือน้อยกว่า ๐.๐๐๑ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๕ ไร่
“ฤดูแล้งเป็นเวลาวิกฤตที่สุดของปลาซิวชนิดนี้ พื้นที่ที่เราเห็นทำนาปีช่วงน้ำหลากท่วมเกือบจะมิดหัว พอหน้าแล้งรถสิบล้อลงไปวิ่งได้สบาย ปลาส่วนหนึ่งก็จะว่ายไปลงแม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรี คลองบางหอย คลองต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งก็จะไปอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่มีคุณภาพดี
“น้ำนิ่งส่วนใหญ่ในพื้นที่รอบนอกมักจะมีคุณภาพไม่ค่อยดี เพราะมีปุ๋ยเยอะเกินไป มีสีเขียวเข้มแสดงว่ามีแพลงก์ตอนพืชจำนวนมาก บางจุดใกล้ชุมชนก็มีน้ำเน่า บางจุดเป็นแหล่งน้ำที่เขาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ในฤดูแล้งปลาซิวสมพงษ์เหลือพื้นที่อาศัยอยู่ได้ไม่ถึง ๒๕ ไร่ ถ้าฤดูนั้นเกิดอะไรผิดปรกติขึ้นมาทำให้พื้นที่แหล่งน้ำเหล่านั้นเน่าเสีย ปลาซิวสมพงษ์ที่เหลือแหล่งสุดท้ายในโลกอาจจะสูญพันธุ์ได้เลย”
ในวงประชุมปรึกษาหารือเรื่องการพัฒนาคุณภาพการผลิตข้าวนาน้ำลึกและส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาน้ำลึก หลายฝ่ายมองเห็นถึงปัจจัยที่ทำให้ “บ้านหลังสุดท้าย” ของปลาหายากมีขนาดเล็กลง คือการใช้สารเคมีในพื้นที่ทำนารอบนอก รวมทั้งการปรับเปลี่ยนวิถีจาก “นาปี” เป็น “นาปรัง”
ทุกวันนี้ชุมชนรอบ ๆ ทุ่งน้ำหลากปลูกข้าวปีละสองถึงสามครั้ง ทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีในดิน กระทบต่อการดำรงชีวิตของปลาซิวสมพงษ์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น ปลาซิวแคระสามจุด (Boraras micros) ๑ ใน ๑๐ สัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กจิ๋วสุดของโลก ปลาซิวหนู (Boraras urophthalmoides) พบน้อยในประเทศไทย พบตามแหล่งน้ำที่เป็นกรดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พรุในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีปลาสลิด ปลาหมอ ปลาช่อน ปลากระดี่ ที่ล้วนแต่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ความหลากหลายของปลาในทุ่งใหญ่ปากพลีมีมากกว่า ๙๒ ชนิด และมีกบ เขียด เต่า งูน้ำ รวมกันประมาณ ๑๘ ชนิด
ขณะเดียวกันชาวนาก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการตอซังข้าวน้ำลึกและฟางข้าวน้ำลึกที่เป็นฟางเส้นใหญ่ ใช้เวลานานในการย่อยสลาย จะนำฟางข้าวนาปีไปใช้ประโยชน์อย่างไรให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งรายได้จากการทำนาเพียงปีละหนึ่งครั้ง
ปลาซิวสมพงษ์มีสถานภาพ “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)” และเป็น ๑ ในสิ่งมีชีวิต ๑๐๐ ชนิด ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดของโลก...จากที่แทบไม่มีคนรู้จักกลายเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นธงนำและบ่งชี้คุณภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ดี
ปลาซิวสมพงษ์จัดอยู่ในกลุ่มปลาซิวข้างขวาน ตัวโตเต็มวัยมีขนาด ประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร มีแถบดำพาดขวางจากบริเวณคอดหางถึงกลางลำตัว
หลายปีที่ผ่านมาองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประเมินและเผยแพร่สถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลก หรือ IUCN Red List เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการอนุรักษ์และคุ้มครอง
เกณฑ์การประเมินของ IUCN ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย แบ่งสถานภาพของชนิดพันธุ์ออกเป็นเก้าหมวด เรียงตามลำดับความรุนแรงของความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ได้แก่
๑. สถานภาพเป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern - LC) ยังไม่อยู่ในภาวะถูกคุกคาม มีประชากรที่มากอยู่ตามธรรมชาติ
๒. สถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened - NT) มีแนวโน้มว่าจะถูกคุกคามในอนาคตอันใกล้ จากปัจจัยต่าง ๆ แต่ทุกวันนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
๓. สถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable - VU) ล่อแหลมที่จะใกล้สูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ ถ้าปัจจัยต่าง ๆ อันเป็นสาเหตุยังดำเนินต่อไปให้ประชากรลดลงไปอย่างน้อยร้อยละ ๓๐ จากเดิมในรอบ ๑๐ ปี หรือสามชั่วอายุของชนิดพันธุ์นั้น
๔. สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered - EN) อยู่ในภาวะอันตรายที่จะสูญพันธุ์จากโลก ถ้าปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการสูญพันธุ์ยังดำเนินต่อไป ประชากรลดลงไปอย่างน้อยร้อยละ ๕๐ จากเดิมในรอบ ๑๐ ปี หรือสามชั่วอายุของชนิดพันธุ์นั้น
๕. สถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered - CR) มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์อย่างวิกฤต ประชากรลดลงไปอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ จากเดิมในรอบ ๑๐ ปี หรือสามชั่วอายุของชนิดพันธุ์นั้น และมีอีกระดับที่หนักกว่าคือ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งแต่อาจสูญพันธุ์ (CR Possibly Extincted : CR-PE) คืออยู่ในสถานภาพ CR มานานและยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าสูญพันธุ์แล้วแต่ก็มีความเป็นไปได้สูง เช่น กรณีของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร กูปรี ในปลาน้ำจืด เช่น ปลาหางไหม้ ปลากดหัวผาน ปลาชะโอนถ้ำวังบาดาล
๖. สถานภาพสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (Extinct in the Wild - EW) ไม่มีรายงานว่าพบอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ในที่เลี้ยงต่าง ๆ เช่น สวนสัตว์ สถานที่ส่วนบุคคล องค์กร ฯลฯ
๗. สถานภาพสูญพันธุ์ไปจากบางภูมิภาค (Regionally Extinct - RE) ไม่มีรายงานว่าพบอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของบางภูมิภาค เช่น ประเทศ ลุ่มแม่น้ำ แต่ยังคงมีในประเทศหรือที่อื่น ๆ
๘. สถานภาพสูญพันธุ์ (Extinct - EX) สูญพันธุ์ไปอย่างสิ้นเชิง โดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการตายของชนิดพันธุ์นี้ตัวสุดท้าย
๙. สถานภาพข้อมูลไม่เพียงพอ (Data Def ifi cient - DD)
ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การสำรวจค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมมีความจำเป็นสำหรับการประเมินสถานภาพของชนิดพันธุ์นี้ต่อไปในอนาคต
กลุ่มที่ได้ชื่อว่าเป็น “ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม” ควรให้ความสำคัญมากที่สุด เป็นชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพ CR EN และ VU เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปสู่สถานภาพ EW และ EX ได้ และอีกสถานะหนึ่งที่เล็งเห็นได้ในอนาคตอันใกล้ คือการสูญพันธุ์ทางชีววิทยา (Biological/Functional Extinction) หมายถึงประชากรที่มีอยู่เหลือน้อยมาก จนไม่สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ประชากรคืนมาอีก หรือหมดอนาคตไปแล้วนั่นเอง เช่นนกแต้วแล้วท้องดำในประเทศไทย
ดร. ชวลิต วิทยานนท์ บันทึกภาพปลาปักเป้าดำที่เพิ่งเก็บตัวอย่างได้จากการสำรวจปลาในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ การสำรวจและติดตามชนิดปลาในแหล่งน้ำต่าง ๆ เป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนการอนุรักษ์ความหลากหลายของปลาและถิ่นอาศัยของปลา
ในด้านสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจก็มีการจัดอีกหมวดหนึ่ง คือการสูญพันธุ์ทางการประมง (Fishery Extinct) หมายถึงประชากรมีจำนวนลดน้อยลงมากจนไม่คุ้มกับการลงแรงจับ ทำให้ภูมิปัญญาในการประมงนั้นต้องหมดสูญไป เช่น อาชีพการจับปลาทรงเครื่อง การทำโป๊ะจับปลาทูแม่กลอง เป็นต้น
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางระดับชาติของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ได้จัดทำรายการสถานภาพพืชและสัตว์ที่ถูกคุกคามตามมติและพันธกรณีของอนุสัญญา เรียกเฉพาะว่า Thailand Red Data เพื่อประเมินสถานภาพความเสี่ยงของสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย ว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากน้อยแค่ไหน
การประเมินของ สผ. อาศัยการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วยนักวิจัย นักอนุกรมวิธานสัตว์มีกระดูกสันหลังในแต่ละด้าน ตลอดจนหน่วยงาน สถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานภาพสัตว์ที่ถูกคุกคามสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด โดยชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามจะแบ่งออกเป็น “พืช” และ “สัตว์มีกระดูกสันหลัง”
ตัวอย่างของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามในช่วงที่ผ่านมา เช่น
เสือปลา เป็นแมวป่าขนาดกลาง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกเขตคุ้มครอง ล่อแหลมต่อการถูกล่าและสูญเสียที่อยู่อาศัย
พะยูน หรือ “หมูน้ำ” เคยพบมากบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แต่ประชากรลดลงเพราะถูกล่า เข้าไปติดในเครื่องมือประมง รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารถูกทำลาย
นกชายเลนปากช้อน เป็นนกอพยพ ทั่วโลกเหลือเพียง ๔๐๐-๘๐๐ ตัว และพบในไทยปีละประมาณ ๑๐ ตัว
พลับพลึงธาร เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพและความหลากหลายที่ดีของลำธาร เป็นพืชที่ต้องได้รับอนุญาตถ้าจะส่งออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒
ดอกเตอร์ชวลิตเล่าว่า สผ. ใช้เกณฑ์ของ IUCN มาประกอบเป็นพื้นฐานของการประเมิน เช่น การลดลงของจำนวนประชากร จำนวนประชากรวัยเจริญพันธุ์ที่หลงเหลือ การกระจายตัวตามขอบเขตทางภูมิศาสตร์ การวิเคราะห์ที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการสูญพันธุ์ หรือมีแนวโน้มแสดงให้เห็นว่ากำลังลดลง
การจัดทำสถานภาพสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามของประเทศไทยมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการศึกษาวิจัยและมีข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ ๆ หลายชนิด แต่ก็มีแรงกดดันหรือปัจจัยคุกคามทำให้สัตว์เหล่านั้นเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม
ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ ผลการปรับปรุงสถานภาพสัตว์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทยระบุว่า
ปลาที่อยู่ในสถานภาพเป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern - LC) มี ๑,๕๐๒ ชนิด
ปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened - NT) มี ๙๓ ชนิด
ปลาที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable - VU) มี ๑๗๐ ชนิด
ปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered - EN) มี ๗๒ ชนิด
ปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered - CR) มี ๕๓ ชนิด
ปลาที่อยู่ในสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (Extinct in the Wild - EW) มี ๑ ชนิด
ปลาที่อยู่ในสถานภาพสูญพันธุ์ (Extinct - EX) มี ๕ ชนิด
และปลาที่อยู่ในสถานภาพข้อมูลไม่เพียงพอ (Data Deficient - DD) มี ๑,๐๔๔ ชนิด
“คนไทยมักให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ไกลตัวมาก แล้วก็ละเลยสิ่งใกล้ตัวรอบๆ ตัวเรา ”
ดร. สิทธิ กุหลาบทอง
สมาคมเซฟ ไวล์ดไลฟ์ ไทยแลนด์ และคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ผู้ร่วมวิจัย “ความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณปลาในพื้นที่นาข้าวน้ำลึก ที่จังหวัดนครนายก”
“คนไทยมักให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ไกลตัวมาก แล้วก็ละเลยสิ่งใกล้ตัวรอบ ๆ ตัวเรา มีพี่ท่านหนึ่งเขาบอกว่าเรามักจะละเลยพื้นที่หลังบ้านตัวเอง บางทีเราไปสำรวจสัตว์ในป่าลึก บนยอดเขาในทะเล หรือว่าในถ้ำ แต่ระบบนิเวศที่อยู่รอบตัวเราแต่ระบบนิเวศที่อยู่รอบตัวเรากลับมีข้อมูลน้อยมาก
“ปัจจุบันเรามีข้อมูลสัตว์บนเขาในพื้นที่ห่างไกลมากกว่าแหล่งน้ำในพื้นที่รอบตัว อย่างนาข้าว คลองชลประทาน เราละเลยพื้นที่รอบ ๆ ตัวมาก อยากให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับสวนหลังบ้านของตัวเอง
“อันที่จริงมีความพยายามสำรวจปลาซิวสมพงษ์มาหลายสิบปีในพื้นที่ห่างไกลตามแหล่งน้ำที่คาดว่าจะเจอ แต่ในทางกลับกันพื้นที่รอบ ๆ ตัว เรากลับละเลย ถ้าไม่สำรวจในพื้นที่นาข้าวน้ำลึกซึ่งเกือบทุกคนมองข้าม เราก็จะไม่เห็น ไม่เจอข้อมูลว่าเป็นแหล่งอาศัยของปลาซิวสมพงษ์”
“บอกกับนักสำรวจว่าจริงๆ ชาวบ้านแถวนี้เขาไม่ได้ทำลายปลาซิวประเภทนั้นหรอก ”
ประทีป บุญเทียน
กำนันตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
“ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้นำท้องถิ่นอาจจะยังรู้จักปลาซิวสมพงษ์ไม่ทั่วถึง แต่ตอนนี้ก็เริ่มรู้แล้วพาไปสำรวจว่าแหล่งน้ำตรงไหนสมควรที่ปลาจะอยู่ตรงไหนอุดมสมบูรณ์ ตรงไหนน้ำใสไหลเอื่อย ๆ ไหลเย็น น้ำสะอาด พาไปดู ไปสำรวจก็พบ เขารู้แล้วว่าปลาซิวสมพงษ์ชอบอยู่น้ำประเภทไหนและเคยเห็นแล้วว่ามันแตกต่างจากปลาซิวทั่วไปอย่างไร จุดเด่นคือแถบที่ลำตัว ชาวบ้านดูก็รู้แล้วว่าตัวนี้หายาก
“สิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการลงพื้นที่ของนักสำรวจ ฝูงปลาเพิ่มขึ้นนะ บุคคลภายนอกที่เข้ามาก็เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น มีชาวบ้านในพื้นที่เป็นหูเป็นตาให้ว่ามีบุคคลจากภายนอกเข้ามาหากินผิดประเภทหรือเปล่า เคยมีคนเข้ามาขโมยปลาซิวสมพงษ์เอาไปขายเป็นปลาสวยงามและหายาก อ้างว่าเป็นนักสำรวจ เราสังเกตได้จากการใช้อวน อวนจับปลาประเภทนี้ต้องตาถี่จริง ๆ บุคคลทั่วไปที่เขาหาปลาเป็นอาหารจะเป็นตาห่าง เอาตัวโต ๆ ไปทำอาหาร ใครมาช้อนด้วยตาถี่นั้นแสดงว่าวัตถุประสงค์ต่างจากไปทำอาหารแล้ว ต้องเข้าไปตักเตือน
“ปลาซิวอยู่รวม ๆ กันหลายชนิด ตอนจับไม่รู้หรอกว่าตัวไหนปลาซิวสมพงษ์ เวลาตักเขาก็ตักไปทั้งหมด มีเหมือนกันพวกลักลอบที่ใช้สารทำให้ปลาสลบ แจ้งความมาเจ้าหน้าที่ไปจับกุมได้ก็มี สารประเภทนี้ย่อยสลายยาก ถ้าเกิดมันลอยไปตามน้ำเข้าสู่พื้นที่ที่เราอนุรักษ์ระบบนิเวศก็เสียหาย นี่คือการตื่นตัวของชาวบ้านแถวนี้ที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้
“คนในพื้นที่จะรู้ว่าตรงไหนเป็นแหล่งอาศัยของปลา เขาจะไม่ทำลายระบบนิเวศ ไม่ไปทำให้น้ำตรงนั้นสกปรก บอกกับนักสำรวจว่าจริง ๆ ชาวบ้านแถวนี้เขาไม่ได้ทำลายปลาซิวประเภทนั้นหรอก เพราะว่าอวนมันตาห่าง ปลาลอดหมด คนพื้นที่ไม่ได้ทำลายปลา แล้วก็ไม่ได้ทำลายระบบนิเวศที่ปลาอาศัย เราให้ความสำคัญว่าปลาอยู่ตรงนี้ได้ ถ้ามันอยู่ได้ ระบบนิเวศดี เราก็ต้องรักษาไว้อย่างนี้ตลอดไป บริบทพื้นที่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง”
“มีมาตรการทางสังคมแล้ว ก็เอามาตรการทางกฎหมายเข้ามาร่วมด้วย ต้องไปคู่กัน อะไรเด่นอย่างหนึ่งผมว่าไปไม่รอด ”
ประภาส พิมลกนกวรรณ
ประมงอำเภอปากพลี
“กรมประมงให้ความสำคัญกับปลาซิวสมพงษ์เรื่องการอนุรักษ์ เรากำลังส่งเรื่องเพื่อยื่นเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ อ้างอิงจากงานวิจัยของนักวิชาการ แหล่งข้างวัดลำบัวลอยพื้นที่ประมาณ ๑๐ กว่าไร่ที่คุยกันในงานประชุมว่าเจอตลอดทั้งปี เดากันอยู่ว่าเป็นแหล่งอาศัยของพ่อแม่พันธุ์ เวลาน้ำลงน้ำแห้งปลาอยู่ในนั้น ส่งเรื่องให้ทางศูนย์สารสนเทศทำแผนที่ออกมาเพื่อทำประชาคมในปี ๒๕๖๘ แล้วเอาผลประชาคมเข้าคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด จากนั้นส่งเรื่องไปที่กรมประมง เข้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะว่ารัฐมนตรีต้องเป็นคนเซ็นอนุมัติในการประกาศแหล่งตรงนี้ นับหนึ่งตรงนี้ก่อน แล้วดูว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร
“หลายฝ่ายช่วยกันก็ดี เพราะตอนนี้มีมาตรการทางสังคมแล้ว ก็เอามาตรการทางกฎหมายเข้ามาร่วมด้วย ต้องไปคู่กัน อะไรเด่นอย่างหนึ่งผมว่าไปไม่รอด และต้องใช้เวลา ชาวบ้านก็ต้องปรับตัว แหล่งน้ำที่ออกไปในทุ่งเราก็ไม่ควบคุมตรงนั้น ให้ชาวบ้านได้ทำมาหากิน แค่ไม่มาจับในเขตที่เราลากไว้เป็นพิกัด นักวิชาการบอกจริง ๆ ไม่ได้กลัวชาวบ้านจับปลาหรอก แต่กลัวพ่อค้าจากข้างนอกเข้ามาลักลอบจับปลาไปขาย เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ก็ควรต้องทำคิดว่าจะประกาศแน่ ๆ แล้วละ เพราะทางประมงจังหวัดก็ลงมาดูแล้ว ส่งแผนที่ไปแล้ว เป็นแนวโน้มที่ดี
“ปลาซิวสมพงษ์ไม่ได้มีในหลายพื้นที่ หลัก ๆ อยู่ที่นี่ ควรอนุรักษ์ไว้ อนาคตจะหายหรือไม่หายก็ไม่รู้ แต่รู้ว่าตอนนี้
มันมีน้อย หาในธรรมชาติที่อื่นก็ไม่เจอ มาเจอที่ทุ่งใหญ่”