Image

ที่มาภาพ : ลายเส้นปลาไทย กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มัศยจิตรการ คณะประมง และศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หมายเหตุ : ภาพวาดในหนังสือต้นฉบับแสดงภาพปลาหันด้านหัวไปทางซ้ายทุกภาพในการจัดหน้าบทนี้ได้กลับภาพปลาบางชนิดหันด้านหัวไปทางขวาเพื่อผลทางการออกแบบ

Image

เทพา, เลิม

[Giant pangasius : Pangasius sanitwongsei (Smith, 1931)]

Image

ปลาหนังล่าเหยื่อหรือกินซากขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ขนาดเมื่อโตเต็มวัย ๓๐๐ เซนติเมตร อดีตพบกระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันประชากรดั้งเดิมตามธรรมชาติของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาสูญพันธุ์ไปแล้ว มีการนำปลาจากที่เพาะเลี้ยงมาปล่อย

ภาพ : หลวงมัศยจิตรการ, หนังสือ ลายเส้นปลาไทย

Image

บัว

[Labeo indramontri (Smith, 1945)]

Image

มีหนวดที่ริมฝีปากบน มีตุ่มแข็งบนจะงอยปาก ริมฝีปากหนา พบในลุ่มแม่น้ำสาละวิน ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และลุ่มแม่น้ำโขงในบริเวณน้ำใสและน้ำไหลแรงถ่ายเทดี รวมทั้งปากีสถาน บังกลาเทศ และอินเดีย

ภาพ : หลวงมัศยจิตรการ, หนังสือ มัศยจิตรการ

Image

กระโห้

[Giant barb, Tinfoil barb : Catlocarpio siamensis (Boulenger, 1898)]

Image

หัวโต ปากกว้าง ตาเล็ก เป็นปลาน้ำจืด มีเกล็ดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชอบอยู่รวมเป็นฝูงในแหล่งน้ำลึก เคยพบชุกชุมในแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง รวมถึงบึงบอระเพ็ด

ภาพ : หลวงมัศยจิตรการ, หนังสือ ลายเส้นปลาไทย

Image

เสือตอลายใหญ่

[Datnioides pulcher (Kottelat, 1998)]

Image

ลำตัวสีเหลืองอมน้ำตาล แบนข้าง มีแถบสีดำพาดบนลำตัว ๖-๗ แถบ อาศัยในแม่น้ำเจ้าพระยาและสาขา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสะแกกรัง บึงบอระเพ็ด แม่น้ำโขง ลงไปถึงทะเลสาบเขมร ประเทศกัมพูชา และลำน้ำสาขาในประเทศเวียดนาม ชอบอยู่นิ่งตามตอไม้หรือกองหินใต้น้ำเพื่อรอเหยื่อ แทบจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว

ภาพ : โชติ สุวัตถิ, หนังสือ ลายเส้นปลาไทย

Image

ยี่สก, เอิน, ยี่สกทอง

[Seven line barb : Probarbus jullieni (Sauvage, 1880)]

Image

สีของลำตัวเหลืองนวล มีแถบสีดำ ๗ แถบพาดไปตามความยาวของลำตัว เป็นปลาใหญ่ ยาวได้ถึง ๑.๕ เมตร อาศัยในแม่น้ำที่มีพื้นเป็นทรายหรือกรวดและมีหอยมาก พบในลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ลุ่มแม่น้ำปะหังและเประในประเทศมาเลเซีย

ภาพ : หลวงมัศยจิตรการ, หนังสือ มัศยจิตรการ

Image

สวาย

[Iridescent shark : Pangasianodon hypophthalmus (Sauvage, 1878)]

Image

เป็นปลาขนาดใหญ่ที่ไม่มีเกล็ด อาศัยในแม่น้ำขนาดใหญ่ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขง อพยพย้ายถิ่นขึ้นไปบริเวณต้นน้ำเพื่อวางไข่ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ปัจจุบันประชากรพ่อแม่พันธุ์ธรรมชาติหายากมากแล้ว

ภาพ : หลวงมัศยจิตรการ, หนังสือ มัศยจิตรการ

Image

ฉลามกบ, ฉลามหิน, ฉลามลายตุ๊กแก

[Indonesian bamboo shark : Chiloscyllium hasseltii (Bleeker, 1852)]

scrollable-image

จัดเป็นปลาฉลามขนาดเล็ก สีสันสวยงาม หากินและอาศัยอยู่ในพื้นท้องนํ้าทะเลหลากหลายสภาพ ทั้งพื้นทราย พื้นโคลน ทรายปนโคลน แนวปะการัง โดยปรกติถ้าไม่หากินมักจะอยู่นิ่ง ๆ กับพื้น วางไข่ในเขตนํ้าตื้น บริเวณปากแม่นํ้าหรือชายฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน

ภาพ : หลวงมัศยจิตรการ, หนังสือ ลายเส้นปลาไทย

Image

ก้างพระร่วง, ผี, กระจก

[Ghost sheetfish : Kryptopterus vitreolus (Ng & Kottelat, 2013)]

Image

ปลาเนื้ออ่อนขนาดเล็ก มีหนวดยาว ๑ คู่ มักยื่นชี้ไปข้างหน้า ลำตัวใส คาดว่าจะสูญพันธุ์หรือมีจำนวนน้อยมากแล้วในภาคตะวันออก แต่ยังพบในภาคใต้

ภาพ : โชติ สุวัตถิ, หนังสือ ลายเส้นปลาไทย

Image

กระเบนไฟฟ้า, กระเบนไฟฟ้าหางจุด, เสียว

[Spottail sleeper ray, Numbray : Narke dipterygia (Bloch & Schneider, 1801)]

Image

รูปร่างกลมแบน มีอวัยวะคู่หนึ่งปล่อยกระแสไฟฟ้า มักหมกตัวอยู่พื้นทราย พบในน่านนํ้าไทย รวมถึงทะเลอบอุ่นในเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย

ภาพ : โชติ สุวัตถิ, หนังสือ ลายเส้นปลาไทย

Image

เวียน

[Mahseer : Tor tambroides (Bleeker, 1854)]

Image

ปลาเกล็ดน้ำจืด อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลคุณภาพดี เช่น ตามลำธาร และแม่น้ำบริเวณแก่ง ลูกปลาขนาดเล็กอาศัยตามหัวและปลายแก่งบริเวณที่มีหินขนาดใหญ่หรือบริเวณหาดทราย ส่วนปลาขนาดใหญ่อาศัยอยู่ตามวังน้ำลึก

ภาพ : หลวงมัศยจิตรการ, หนังสือ ลายเส้นปลาไทย

Image

หวีเกศ, สายยู

[Siamese schilbeid catfish : Platytropius siamensis (Sauvage, 1883)]

Image

เป็นปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกล็ด ลำตัวมีสีเงินวาว รูปร่างแบนข้าง เรียวไปทางด้านท้าย มีหนวด ๔ คู่เป็นเส้นแบนและยาวมากจนเกือบถึงปลายหาง ขนาดใหญ่สุดประมาณ ๔๐ เซนติเมตร เคยพบในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสาขา และลุ่มแม่น้ำบางปะกง

ภาพ : หลวงมัศยจิตรการ, หนังสือ ลายเส้นปลาไทย