Image

ปีใหม่
ปรับนาฬิกาชีวิตใหม่

Holistic

เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe

ศาสตร์การแพทย์ตะวันออก เช่น การแพทย์แผนจีนบันทึกมานับพันปีแล้วว่าร่างกายเรามีนาฬิกาชีวิตควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยอวัยวะแต่ละชนิดล้วนมีช่วงเวลาทำงานที่ดีที่สุดแตกต่างกัน

ต่อมาศาสตร์ตะวันตกเริ่มวิจัยเรื่องดังกล่าวและได้ผลลัพธ์สอดคล้องกันในช่วง ๕-๑๐ ปีที่ผ่านมา งานวิจัยนับร้อยชิ้นสรุปว่า การใช้ชีวิตตามนาฬิกาชีวิตช่วยฟื้นฟูร่างกายและสมองอย่างมีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาโรคต่าง ๆ และในการทดลองกับสัตว์ พบว่าสัตว์ที่ใช้ชีวิตตามนาฬิกาชีวิต มีสุขภาพดี อายุยืน อ่อนกว่าวัย การทำงานของสมองและหัวใจดีขึ้น มวลกล้ามเนื้อสูงขึ้น อัตราการเป็นมะเร็งและสมองเสื่อมต่ำลง และต่อสู้กับภาวะการติดเชื้อได้ดีขึ้น

ศ. สัตชิน พันธะ (Satchin Panda) แห่งสถาบันศึกษาด้านชีววิทยาซอลก์ (Salk Institute for Biological Studies)
สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาวิจัยกลไกการควบคุมเวลาในเซลล์และผลกระทบของนาฬิกาชีวิตต่อสุขภาพและโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ ฯลฯ บอกว่า ขณะเรายังหายารักษาโรคเรื้อรังและโรคร้ายแรงเช่นเบาหวานหรือมะเร็งไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำให้เรามีสุขภาพดียืนยาวคือใช้ชีวิตตามนาฬิกาชีวิต และสิ่งสำคัญสุดคือการนอนในช่วงกลางคืน เนื่องจากยีนกว่า ๒ หมื่นชนิดปิดการทำงาน ทำให้ร่างกายได้พักผ่อนช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอจากการบาดเจ็บ สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และช่วยการทำงานของสมอง

“ลองเปรียบเทียบยีน ๒ หมื่นชนิดกับเครื่องยนต์ที่มีชิ้นส่วน ๒ หมื่นชิ้น ถ้าเราดูแลรถยนต์ดี มันจะวิ่งได้ไกลหลายแสนกิโล แต่ปัญหาของคนสมัยนี้คือใช้เวลากับกิจกรรมต่าง ๆ จนลืมกินลืมนอน หรือไม่ก็ผิดเวลา ส่งผลให้โรคต่าง ๆ รุมเร้า เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเกี่ยวกับตับ มะเร็ง ซึมเศร้า ระบบการย่อย ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือจัดการชีวิตอย่างมีวินัยเหมือนพวกทหารหรือนักกีฬา ทั้งการตื่นนอน กินอาหาร ออกกำลังกาย และนอนหลับ” ศาสตราจารย์สัตชินกล่าว

สอดคล้องกับงานวิจัยของ ศ. ชิบาตะ ชิเกโนบุ (Shibata Shigenobu) นักวิจัยชั้นนำด้านนาฬิกาชีวิตแห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะประเทศญี่ปุ่น ที่กล่าวว่า การกินดีอยู่ดีอยู่ที่เวลา อาหารการกินนั้นแม้มีประโยชน์แต่ช่วงเวลากินสำคัญกว่า เพราะจะทำให้ฮอร์โมนและน้ำย่อยทำงานเต็มที่ หากกินผิดเวลาจะทำให้เกิดโรค เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า

เขาบอกว่าอวัยวะต่าง ๆ ล้วนมีนาฬิกาชีวิตของตัวเอง และเวลาเหล่านี้จะคลาดเคลื่อนตามวัตรปฏิบัติของแต่ละคน เช่น เมื่อเข้านอนแล้วนอนไม่หลับ หรือเมื่อนอนหลับแล้วไม่ตื่น คนคนนั้นจึงต้องปรับกิจกรรมประจำวันให้ตรงกับนาฬิกาชีวิต ซึ่งทำได้สองวิธี คือ การกินอาหารและการรับแสงแดด

เขาแนะนำให้กินอาหารเช้าภายใน ๒ ชั่วโมงหลังตื่นนอน เพื่อให้ร่างกายดูดซึมอาหารและผลิตฮอร์โมนได้ดี กินอาหารเที่ยงหลังมื้อเช้า ๕ ชั่วโมง มื้อเย็นกินหลังจากมื้อเช้า ๑๐ ชั่วโมง เช่น กินอาหารเช้า ๘ โมงเช้า ควรกินอาหารเที่ยงตอนบ่ายโมง และอาหารเย็นตอน ๖ โมงเย็น 

ส่วนการสัมผัสแสงแดดทุกวันโดยเฉพาะตอนเช้า เมื่อตาเห็นแสง ร่างกายจะปรับนาฬิกาชีวิต ซึ่งนอกจากจะได้รับวิตามินดีแล้ว ยังทำให้ง่วงนอนตามเวลาด้วย

สุดท้ายนี้ศาสตราจารย์สัตชินกล่าวสรุปอย่างน่าสนใจว่า นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ๑๕๐ ปีผ่านมา มนุษย์เราใช้ชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิต แต่เมื่อเรารู้ถึงประโยชน์ของมันแล้ว เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาอีก ๑๕๐ ปีเพื่อจะออกแบบชีวิตให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม เราสามารถใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตได้ตอนนี้ ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงาน หรือตอนออกไปเที่ยว  

ฟื้นฟูชีวิต
ตามนาฬิกาชีวิต

นอน วันละ ๘ ชั่วโมง หรืออย่างน้อย ๗ ชั่วโมง ระหว่างนอนหลับร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนและสารสำคัญเพื่อซ่อมแซมร่างกาย

กิน หลีกเลี่ยงการกินอาหารชั่วโมงแรกหลังตื่นนอนตอนเช้า เพราะฮอร์โมนกลางคืนลดลง และฮอร์โมนกลางวันกำลังจะเพิ่มขึ้น ร่างกายยังไม่พร้อมย่อยอาหาร ดังนั้นการงดกินอาหารในช่วงนี้จะทำให้ระบบย่อยและการควบคุมน้ำตาลในเลือดดีขึ้น

หยุดกิน งานวิจัยของสถาบันซอลก์เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้วพบว่า การอดอาหารเป็นช่วง ๆ เป็นการทำตามนาฬิกาชีวิตที่ดีที่สุด โดยอดอาหารให้ได้วันละ ๘-๑๒ ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า การทำ IF (intermittent fasting)  ซึ่งผลวิจัยพบว่าช่วยลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด และเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย 

รับแสง การสัมผัสแสงธรรมชาติวันละ ๓๐-๖๐ นาที จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ลดภาวะซึมเศร้า และยังเป็นแหล่งวิตามินดีที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรง

เดินเร็ว เดินวันละ ๓๐ นาที ช่วงเช้าหรือบ่ายก็ได้ แต่ช่วงบ่ายกล้ามเนื้อจะยืดหยุ่นและแข็งแรงที่สุด คนมีปัญหาน้ำหนักตัวควรออกกำลังกายประจำในช่วงบ่ายและเย็น ซึ่งนอกจากลดการบาดเจ็บแล้ว ยังช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีอีกด้วย 

นอน หลีกเลี่ยงการกินอาหารก่อนเข้านอน ๒-๓ ชั่วโมง เพื่อลดปัญหาการย่อยและกรดในกระเพาะอาหาร และลดแสงรบกวนในการนอน จะช่วยเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนกลางคืน รวมทั้งเมลาโทนินที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย

อ้างอิง : How optimizing circadian rhythms can increase healthy years to our lives ? Satchin Panda/TedxBoston