เป็นอยู่
จากบรรณาธิการ
เรื่องน่าสงสัยที่สุดในชีวิตก็คือ เรามาดำรงอยู่บนโลกนี้ทำไม
ทุกคนเกิดมาโดยเลือกไม่ได้ว่าจะเกิดหรือไม่ หรือจะขอไปเกิดที่ไหน แต่เมื่อเกิดมาแล้ว เราก็หวังจะมีชีวิตต่อไปเรื่อย ๆ
การเกิดมามีชีวิตเป็นประสบการณ์พิเศษสุด เราได้เรียนรู้ เติบโต และพัฒนาตัวตนของเราขึ้นมา ได้สัมผัสความสุขและความทุกข์ ได้สร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างให้แก่โลก ได้รับความรัก และมีโอกาสมอบความรัก
แต่จริง ๆ แล้วสภาวะความเป็นมนุษย์นี้เป็นอย่างไร
ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) นักปรัชญาการเมือง ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว หนึ่งในนักคิดคนสำคัญของโลกศตวรรษที่ ๒๐ อธิบายสภาวะความเป็นมนุษย์ว่าจำแนกเป็นสามส่วน ซึ่งมีคุณค่าและเป้าหมายแตกต่างกัน
หนึ่ง เลี้ยงชีวิต (labor) ในฐานะกายภาพของสิ่งมีชีวิต เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องแสวงหาอาหาร มีเวลาพักผ่อน มีครอบครัวเพื่อขยายเผ่าพันธุ์ หากเผชิญอันตราย โดยสัญชาตญาณ เราก็จะสู้ หรือหนี เพื่อเอาชีวิตรอด เรียกว่าเป็นด้านที่ไม่ต่างจากสัตว์ทั่วไปก็ว่าได้
สอง ผลิตงาน (work) เป็นสิ่งที่ยกระดับมนุษย์ให้เหนือกว่า
สัตว์ เราสร้างเครื่องไม้เครื่องมือ ประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนโลกให้เป็นไปตามความต้องการของเรา ตั้งแต่เพาะปลูกพืชผลจนถึงสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ผลิตสินค้าที่ตอบสนองกิเลสของเราเสียมากกว่าความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต กลายเป็นสังคมที่เราอยู่อาศัยและต้องคอยดูแลรักษา
และสาม แสดงตัวตน (action) เป็นสิ่งที่ฮันนาห์มองว่า
สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเฉพาะตัว แตกต่างและหลากหลาย ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วเหมือนกันเลยสักคน และมนุษย์ทุกคนก็ควรมีเสรีภาพที่จะแสดงตัวตนว่าเขา “เป็นใคร” ซึ่งต่างจากว่าเขา “เป็นอะไร”
ในการเลี้ยงชีวิต เราเหมือนกันกับทุกคนที่ต้องพึ่งพาปัจจัยจำเป็นทางชีวภาพ อากาศ น้ำ แร่ธาตุ พลังงาน
ในการผลิตงาน เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของแรงงาน ทักษะ
ความสามารถ ซึ่งสิ่งที่ถูกสร้างได้รับการให้ค่าเสียมากกว่าคนที่สร้าง
มีเพียงการแสดงตัวตนผ่านคำพูดและการกระทำของเราในความสัมพันธ์กับคนอื่นที่สามารถเปิดเผยว่าเราเป็นใคร
น่าคิดว่า เราจะยังมีสภาวะความ “เป็นมนุษย์อยู่” มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราเป็นคนยากไร้ที่แค่จะหาอาหารเลี้ยงปากท้องไปวัน ๆ ก็ยากแสนเข็ญ ถ้าเราเป็นแค่แรงงานทาสในโรงงานผิดกฎหมายที่ต้องทำงานแทบไม่เคยได้พัก เพื่อผลิตสินค้าให้คนบริโภคได้มากที่สุด หรือเป็นทหารที่ต้องทำตามคำสั่ง ซึ่งผลลัพธ์ของสงครามนั้นสำคัญเสียยิ่งกว่าชีวิตหรือความเป็นมนุษย์ของตนเองหรือผู้อื่น
เราจะยังเป็นมนุษย์อยู่มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีเสรีภาพที่จะแสดงออก พูดความคิดเห็นที่เป็นตัวเรา ที่อาจต่างจากคนอื่น
ในอีกด้านหนึ่ง ตัวตนของมนุษย์ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ “เกิดใหม่” อยู่เสมอจากการเรียนรู้ในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย จากการให้และการรับ เราต่างสร้างเอกลักษณ์ของตัวเราขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่สลับซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ และเราก็ยังสามารถสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้ด้วย
ในคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบต มนุษย์ดำรงอยู่ในบาร์โดหกชนิด คือ บาร์โดแห่งการเกิด (ชาติ) ภพ ความฝัน ความตาย ความธรรมดา และการภาวนา ช่วงมีชีวิตเราผ่านบาร์โดแห่งการเกิด-บาร์โดแห่งภพ-ดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอด และบาร์โดแห่งความฝัน-การปรุงแต่ง จินตนาการเพื่อบางสิ่งและจินตนาการต่อไปเรื่อย ๆ
ชีวิตมนุษย์วนเวียนและหมุนเวียนอยู่ในบาร์โดทั้งหกระหว่างการเกิดและการตาย
แม้จะรู้ว่าต้องเดินสู่ความตาย แต่คำถามก็คือ ลึก ๆ แล้วเราได้ใช้ชีวิตในความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์แล้วหรือไม่
ในระหว่างบาร์โดแห่งความตาย เราจะฝันถึงการเกิดใหม่
หรือเป็นอยู่อย่างเดิม ๆ
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
หมายเหตุ : “จากบรรณาธิการ” ฉบับนี้เขียนล้อกับฉบับ ๔๗๗
น่าอ่านคู่กัน
ฉบับหน้า : ปลาพื้นบ้านไทย
ใกล้สูญพันธุ์