แกะรอย
ตู้ทิ้งหนังสือ
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
จะมีกี่ธุรกิจที่แม้แต่ภาวะสงครามโลก
ก็ไม่อาจหยุดให้บริการ
หนึ่งในนั้นคืองานด้านติดต่อสื่อสารของกรมไปรษณีย์โทรเลข
ถ้าสนใจประวัติศาสตร์ไปรษณีย์ไทยรวมถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง อย่างอาชีพบุรุษไปรษณีย์ แสตมป์สะสม สามารถย้อนรอยความรู้ที่ “พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน” ชั้น ๒ ของอาคารปฏิบัติการไปรษณีย์สามเสนในแบ่งสัดส่วนเป็นนิทรรศการถาวรและคอลเลกชันแสตมป์สะสม ที่นอกจากของไทยยังมีแสตมป์ทั่วโลกกว่า ๒๐๐ ประเทศร่วมอวดรูปลักษณ์แปลกตาสีสันสนุก, นิทรรศการหมุนเวียน (ปัจจุบันจัดแสดงเรื่อง “หอยจิ๋ว อัศจรรย์แห่งธรรมชาติ” ประกอบการเปิดตัวแสตมป์ชุด “หอยจิ๋ว” สี่ชนิดที่ค้นพบในไทย), จำหน่ายของที่ระลึก และห้องสมุดที่ใช้สลับเป็นสถานพบปะของนักออกแบบ-นักสะสม
น่าสนใจไม่แพ้สิ่งจัดแสดงคือตู้ไปรษณีย์ทั้งแบบตั้งพื้นและแบบกล่องติดผนัง ตื่นตากับแบบหลังที่ไม่ค่อยคุ้นว่ามีใช้ในไทยเมื่อได้พบ “ตู้ทิ้งหนังสือ” สีแดง (รับอิทธิพลจากระบบของอังกฤษ) ลักษณะเป็นตู้ไปรษณีย์แบบแขวน (คล้าย
ตู้รับจดหมายตามรั้วบ้านในปัจจุบัน) ที่ข้ามเวลามาจากสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งผลิตจากต่างประเทศด้วยโลหะหล่อ ใช้งานในไทยเมื่อปี ๒๔๔๙ บนตู้ระบุถ้อยความ
“ตู้ทิ้งหนังสือที่ 72230 ไขเอาไปส่งในเวลา 15.00 น. โมง”
“LETTER BOX 72230 CLEARED FOR 15.00 DELIVERY”
นึกสนุกแกะรอยเล่นนำตัวเลขไปตรวจสอบจึงได้รู้อดีตที่ตั้งของตู้นี้ ซึ่งปัจจุบันคือรหัสไปรษณีย์ของตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี สำหรับให้ผู้คนนำจดหมายที่ติดแสตมป์ค่าส่งแล้วมาหยอด บุรุษไปรษณีย์จะมาเก็บตามเวลาที่กำหนดเพื่อส่งเข้าระบบไปรษณีย์
คำว่า “CLEARED” จึงพลอยน่าสนใจว่าตู้รับจดหมายจะถูกเคลียร์บ่อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับพื้นที่เขตเมือง อาจวันละหนึ่งถึงสองครั้ง เพื่อไม่ให้ล้นตู้และแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่คัดแยก เมื่อบุรุษไปรษณีย์มาเก็บจดหมายก็จะหมุนแถบโลหะตัวเลขที่ใช้แสดงเวลาแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ ช่วงเทศกาลสำคัญอย่างใกล้ปีใหม่จะมีรอบเคลียร์เพิ่ม (แต่ยุคหลังตู้ไปรษณีย์จะแสดงแค่เวลาเก็บจดหมายครั้งสุดท้ายของวันเท่านั้น)
เดือนผ่านเดือนปีผ่านปี การพัฒนาด้านออกแบบไม่ใช่เพียงปรับปรุงรูปลักษณ์ให้ทันสมัย ยังบอกประเภทของบริการสำหรับจดหมายต่างรูปแบบ (บางตู้หย่อนได้แค่ขนาดซองจดหมาย แต่ตู้ทิ้งหนังสือสามารถหย่อนเอกสารขนาด A4 ได้) และแฝงความรับผิดชอบด้านบริการไว้ เช่น ตู้ที่ตั้งอยู่กลางแจ้งออกแบบโดยคำนึงถึงการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากอาชญากรรม การบุกรุก หรือสาเหตุอื่น ๆ จึงนิยมใช้สีสดใสเพิ่มการมองเห็น ป้องกันอุบัติเหตุ (นอกจากสีแดงที่นิยมใช้ในหลายประเทศ บางประเทศยังใช้สีขาว สีเหลือง สีส้ม สีทอง สีเขียว สีฟ้า สีเทา และสีดำ)
ใส่ใจไปถึงการให้เอกสารสำคัญได้รับความคุ้มครองจากสภาพอากาศ ตู้จึงมีด้านบนโค้งมนเอียงมีช่องเปิดที่หันลงเพื่อป้องกันจดหมายจากฝน และแม้ช่องเปิดจะออกแบบให้ผู้คนหย่อนเอกสารหรือหนังสืออย่างอิสระ แต่ก็ป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นหยิบสิ่งเหล่านั้นด้วยการติดตั้งกุญแจซึ่งมีเพียงพนักงานไปรษณีย์เท่านั้นที่เปิดตู้หยิบได้
เพื่อให้สิ่งสำคัญได้เดินทางสื่อสารระหว่างคนที่อยู่ห่างไกลโดยสวัสดิภาพ
ซุกอยู่ตรงไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู
พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน
อาคารปฏิบัติการไปรษณีย์สามเสนใน ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
โทร. ๐-๒๒๗๑-๒๔๓๙
ชมฟรีวันพุธ-วันอาทิตย์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.