Image

เสื้อแจ็กเกตทหารของเฉลียว เสหิน อดีตเสือพรานไทยที่ผ่านสมรภูมิลาวเก็บรักษาไว้อย่างดีในบ้านของเจ้าของ

INTERVIEW

เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

ในช่วงที่ สารคดี เก็บข้อมูลเกี่ยวกับ “สงครามลับในลาว” สิ่งหนึ่งที่เราตระหนักได้คือ นี่เป็น “สงครามลับ” สมชื่อ

ปากคำของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ “ความทรงจำ
ส่วนบุคคล” ไม่ว่าบันทึก หนังสือ อยู่ในสภาพกระจัดกระจายไม่ถูกรวบรวมหรือจัดระเบียบ

ข้อมูล “ทางการ” ยังคง “ปิดลับ” โดยเฉพาะในส่วนกองทัพ ทั้งไม่ปรากฏในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แม้เหตุการณ์ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษและตามหลักสากลควรถูก “ปลดชั้นความลับ (declassified)” แล้ว

หลักฐานบางส่วนอยู่ในสภาพ “ของสะสมส่วนบุคคล” ผลคือการตีความและใช้งานจำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่เข้าถึง

เท่าที่ตอนนี้ทำได้ สารคดี พยายามรวบรวม “ปากคำ” ทหารผ่านศึก (ส่วนมากอยู่ในวัยชรา) ซึ่งแต่ละท่านมีอุดมคติ ความรับรู้ ประสบการณ์ การตีความต่อเหตุการณ์ในสมรภูมิที่พบเจอแตกต่างกัน โดยส่วนมากเป็นทหารที่ไปช่วงท้ายของสงคราม ก่อนที่ลาวสามฝ่ายเซ็นสัญญาสงบศึกใน ค.ศ. ๑๙๗๓

ดังนั้นพวกเขาส่วนมากจึงเป็น “ทหารเสือพราน” ซึ่งอาจถือเป็นคนไทยกลุ่มใหญ่สุดที่เข้าไปรบทัพจับศึกในลาว เมื่อเทียบกับทหารกลุ่มอื่นก่อนหน้า ภายใต้คำขอของรัฐไทยที่ขอให้พวกเขารบนอกบ้านเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว

เราพยายามทำให้เสียงของ “คนในเหตุการณ์” เหล่านี้ สื่อออกมาโดยไม่มีอุดมการณ์ใดเป็นกรอบ

ด้วย “ทหารผ่านศึก” ก็คือ “พลเมือง” ที่มีความรู้สึกนึกคิดของตัวเองไม่ต่างจากประชาชนคนอื่น

Image

Image

Image

ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

“สงครามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ คือออกไปดับไฟนอกบ้าน ยันข้าศึกนอกบ้าน ถ้ามันเข้ามาได้ก็เกิดไทยเหนือ ไทยใต้ ไทยอีสาน ไทยกลางแน่  ในประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีทั้งพรรค แนวร่วม และกองกำลัง ซึ่งจะยึดภาคอีสานด้วยกำลังภายนอกประเทศคือเวียดกงที่จะผ่านลาวเข้ามา ถ้าเวียดกงยึดลาวได้ก็ถึงไทย เป็นไปตามทฤษฎีโดมิโนที่ลัทธิสังคมนิยมจะแผ่ขยาย พวกนี้อาศัยจังหวะที่รัฐบาลเป็นเผด็จการเข้ามาล้มล้าง แต่ถามว่าคอมมิวนิสต์เป็นเผด็จการหรือไม่ ผมว่าเป็นยิ่งกว่า

“ตอนนั้นกองพันทหารปืนใหญ่ ป. ๓๑ ต้องการทหารหนึ่งหมวดเพื่อป้องกันฐาน ก็มารับสมัครจากกรมทหารราบที่ ๓๑ จังหวัดลพบุรี ที่อยู่จังหวัดเดียวกัน ผมสมัครไปกับเพื่อน เรารู้ว่าสนามรบในลาวมีสามที่ คือ ทางเหนือที่เชียงลม ตอนกลางที่ล่องแจ้ง ทุ่งไหหิน ตอนใต้ที่ปากเซ จำได้ว่าเพื่อนไปดูหมอดู หมอดูบอกอย่าไปภาคใต้เพราะรบหนัก ผมเลือกไปทางใต้เพราะรบทั้งทีจะรบเบา ๆ ทำไม

“ในแง่สาธารณะ สงครามในลาวไม่ใช่ความลับ สมัยนั้นสงครามเวียดนามก็ดังอยู่แล้ว มีสงครามลาวคนก็ตามข่าว พอเปิดรับสมัครทหารคนก็ไปสมัคร อาสามาแต่ละคนคือ หนึ่ง โจรหลบหนีคดี ไม่ใช่คดียาเสพติดร้ายแรง เป็นพวกกัญชา คนดี ๆ ไม่มีใครอยากตายหรอกครับ โจรรู้นะครับ เราบอกว่าจะเจออะไร  ส่วนที่ ๒ คือพวกห้าว ทหารเกณฑ์ที่กำลังจะปลดประจำการ ผมเคยฝึกพวกเขาตอนเป็นทหารใหม่ ถามว่าใครอยากไปรบกับกูบ้าง ถ้าสมัครก็ฝึกกับกู เขาก็ถามหมวดไปเหรอ ผมไปด้วย

“กองพันของผมมี ๕๕๐ คน หมวดผมมีทหารประจำการ ๘ คน นอกนั้นเป็นอาสาสมัคร ผมขอหน่วยเหนือว่าจะฝึกและเขียนหลักสูตรกับผู้หมวดอีก ๒ คนในกองร้อยเดียวกันเอง ผมบอกผู้บังคับกองพันว่า กองร้อยอื่นกินอยู่ยังไงผมไม่ทราบ แต่หมวดผมขอเงินมาบริหารค่าอาหารเอง ส่วนมาก ๑๐ บาท ใช้จริงแค่ ๗ บาท ๓ บาทหาย ถ้าจะชนะใจคน ๑๐ บาทคือ ๑๐ บาท ให้ทหารเขากินดี  ผมมีหลักว่า หนึ่ง รบต้องชนะ  สอง ต้องรักษาชีวิตลูกน้อง สาม หัวหน้าต้องนำ ผมไม่มีพลลาดตระเวนเพราะนำเอง กองร้อยของผมไม่มีหนีหรือลาออกระหว่างฝึก วิชาที่ฝึกก็มีหลายวิชา เช่น วิชาวางกับระเบิด (ให้ดูมือที่บาดเจ็บ) นี่ก็เกิดจากการสอน เราต้องได้ใจเขา ยอมให้เขาทดสอบ

“ครั้งหนึ่งผมบาดเจ็บตอนพา ‘หัวหน้าพันหาญ’ ผู้บัญชาการคนใหม่ดูพื้นที่ พอจะกลับฐานข้าศึกยิงลูกยาว (ปืนใหญ่) มา เราบอกพี่อย่าเพิ่งกลับ ปล่อยมันยิงให้จบก่อน พี่เขาบอกเขาเพิ่งมา เป็น ผบ. ต้องอยู่ที่กองบัญชาการสิ เรารู้เลยว่าเข้าพื้นที่สังหารแล้ว ตอนนั้นเข้าไปในกอง บก. ชั่วคราว มีต้นไม้ มีเสาวิทยุสูงเด่น นายไม่เชื่อคำเตือน ข้าศึกยิงลูกแตกอากาศมาแย่แน่ เขาก็ประชุม ผบ. หกกองพันกัน ผมเตือนว่าขออนุญาตครับ เปลี่ยนที่หารือได้ไหม ไม่ปลอดภัย เขาก็เฉย ผมถือว่าเตือนแล้วเลยไปนอนหลบหลังก้อนหิน สักพักลูกปืนใหญ่ลงกิ่งไม้ สาดสะเก็ดระเบิดเสียชีวิตตรงนั้นเจ็ดคน มีบาดเจ็บอีกส่วนหนึ่ง ผมเองก็หน้าชาไปหมด มีเลือดออก ดีที่ใส่เสื้อเกราะ นิ้วกับมือเหวอะหมด นี่คือครั้งที่ผมโดนหนักสุด

“สงครามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ 
คือออกไปดับไฟนอกบ้าน”

“ตอนไปรบ ผมนับถือข้าศึกเป็นครู ข้าศึกสอนให้เรารบเป็น เช่น แอบมาใกล้ฐานตอนค่ำ กลับข้างระเบิดที่วางไว้ หันด้านที่จะระเบิดเข้าหาเรา เรากดเมื่อไรก็โดนฝ่ายเราเอง เสือที่ให้สติผมตอนหลังเขาก็เสียชีวิต ผมเสียใจมาก ในลาวเราเสียทั้งรุ่นพี่ที่เรารักมาก เสียคนที่เราถือเป็นแบบอย่าง ตายบนอกเรา  มีครั้งหนึ่งผมอาสาเอาศพลงมาจากฐาน ๑๒ ศพ อวัยวะกระจายไปคนละทาง ผมทิ้งไว้แบบนั้นไม่ได้ ทหารจะขวัญเสีย ผมขับรถจี๊ป รถบรรทุกขึ้นไปที่ฐาน นำอวัยวะใส่ชะลอมลงมา

“ผมเคยยิงข้าศึกตายช่วงหัวค่ำ มันเป็นเงาตะคุ่มเข้ามาในฐาน แล้วได้ศพมา เขาใส่ผ้าเตี่ยวผืนเดียว ถ้าจัดการคนแรกได้เขาจะไม่รุกต่อ ส่วนมากกลางคืนผมจะนั่งเฝ้าแนวรบ เรื่องขายของเถื่อนมีอยู่แล้ว มีคำกล่าวในสนามรบว่า ‘สินค้าเข้าเหล้าเช่งชุน สินค้าออกปลอกกระสุน’ ปลอกกระสุนที่ยิงเราเอาไปขายได้แล้วก็ซื้อเหล้าในปากเซมากิน

“ทางบ้านไม่ทราบว่าผมไปรบ คิดว่าทำงานอยู่ลพบุรีตลอด จนช่วงกลับจากลาวไปรักษาตัวในโรงพยาบาล บังเอิญเดินเจอพี่ชายเขาถึงรู้ ส่วนมากผมจะกลับเข้ามาทางอุบลราชธานี นั่งรถไฟเมากันเข้าเมือง (หัวเราะ) แวะตลอดทางจนถึงลพบุรี หมดเวลาพัก ๑๐ วันก็ต้องกลับไปสนามรบ

“รบในลาวใต้ได้ครบปี ใกล้จบภารกิจ พ.อ. วันชัย เรืองตระกูล ขอให้อยู่ต่อ บอกอย่าเพิ่งกลับ ขอกับเทพ (พล.ท. วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ผบ.บก. ผสม ๓๓๓) แล้ว เราต้องยึดที่ราบสูงโบลาเวนให้ได้ ช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๗๑ เรารบจนถึงปากซองแต่โดนตีแตกด้วยรถถัง คนเราขวัญเสีย ต้องถอยมาถึง กม. ๒๑ เกือบจะเริ่มต้นใหม่

“หลังในลาวมีการเจรจาหยุดยิงใน ค.ศ. ๑๙๗๓ ต่างคนต่างรักษาที่มั่น เรายันปะเทดลาวและเวียดนามเหนือเอาไว้ที่ กม. ๔๘ ทำให้เขารู้ว่าทหารไทยก็ไม่หมู ชนะตามเป้าหมายคือดับไฟนอกบ้าน ถือว่าจบหน้าที่ เราไม่โดนยึดภาคอีสานตามทฤษฎีโดมิโน ในยุคที่ลาวแตก นายกฯ คึกฤทธิ์เขาก็เก่ง ไปเจรจากับจีนแดงได้ทำให้เวียดนามไม่บุกไทย ถือว่าพระสยามเทวาธิราชคุ้มครอง

“คาดว่ามีศพทหารไทยประมาณ ๕๐๐ ศพตกค้างอยู่ในลาว โดยเฉพาะบริเวณซำทอง ล่องแจ้ง ที่รบกันหนัก ลาวใต้มีราว ๗๐ ศพ สมัย พล.อ.อ. กันต์ พิมานทิพย์ เป็นนายกสมาคมนักรบนิรนามฯ เคยส่งคนไปขุดกระดูกทหารไทยแบบเงียบ ๆ และนำมารวมที่วัดแห่งหนึ่งอย่างลับ ๆ ฝังแล้วปลูกต้นไม้ รอการเจรจาขอกระดูกกลับอย่างเป็นทางการ ผมคิดว่ารัฐบาลไทยควรยอมรับและเปิดเผยเรื่องนี้ เพราะพวกเขาเป็นวีรบุรุษ ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ไทยอาจแพ้เวียดกงหรือกลายเป็นคอมมิวนิสต์

“ในกรณีทหารผ่านศึก เรื่อง ‘เงินผดุงเกียรติ’ ผมมองว่าพลทหารที่ไปรบควรได้รับทุกคน พลทหารก็เสี่ยงตายไปรบไม่ต่างจากผม เราจะทิ้งพวกเขาหรือ กรณีผมกลับมาก็รับราชการต่อ แต่คนเหล่านี้ไม่มีอาชีพ คนไทยต้องสำนึกบุญคุณพวกเขา ทำไมนักการเมืองหาเสียง จ่ายเงินให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้ ทำไม สส. ถึงมีบำนาญ ทหารผ่านศึกก็ทำหน้าที่เพื่อประเทศเช่นกัน ดีที่สุดคือให้พวกเขาดูแลตัวเองได้ เงินผดุงเกียรติเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท ต่อปี ๒ หมื่นล้านบาทกับจำนวนทหารผ่านศึก คิดเป็น ๐.๓ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณประเทศ แต่มันทำให้พวกเขารู้สึกว่าประชาชนไม่ได้ทิ้งพวกเขา รวมถึงคนที่ยังทำหน้าที่ตอนนี้ด้วย ถือเป็นกำลังใจ ค่าอาหารกลางวัน สส. ต่อเดือนยังอาจมากกว่าด้วยซ้ำ การอ้างว่าให้ไม่ได้เพราะคุณไม่มีใจที่จะให้มากกว่า”

Image

Image

Image

“ เราไปยันเขาเอาไว้ได้ ”

“ตอนตัดสินใจไปรบไม่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่ง ผมเรียนโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ที่อุดรธานี สาเหตุที่ไปลาวเพราะเจอทหารเสือพรานที่กลับมาพักผ่อนในอุดรธานี พกปืน ใส่ชุดทหาร เราชอบหนังสงครามก็ถามเขา เขาแนะนำให้ไปที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น  ผมกลับไปขอเงินแม่ที่กรุงเทพฯ ๑,๐๐๐ บาทแล้วไปที่ค่ายน้ำพอง (ปัจจุบันคือค่ายเปรมติณสูลานนท์) วันสมัครคือ ๒๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ ต้องวิ่งทดสอบร่างกายจากประตูค่ายเข้าไปในค่าย ใครทำได้เขารับหมด อายุไม่ใช่ปัญหา

“บ้านผมเคยอยู่ภาคใต้ รู้ว่ามีโจรสามแบบ คือ หนึ่ง โจรจีนคอมมิวนิสต์  สอง ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่เป็นคนไทย  สาม ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เป็นมุสลิม  ในลาวคือการไปช่วยรบ และแค่อยากแต่งชุดทหาร ไม่อยากเรียนหนังสือแล้ว จิ๊กโก๋ตอนนั้นหายไปทั้งเมืองอุดรธานีเพราะไปรบ ตอนฝึกมีครูฝรั่งมาสอนใช้ปืน M16 เขาบอกมันดีที่สุดในโลกถ้ารู้จักใช้ เรียนเรื่องอาวุธ ลูกระเบิด ฯลฯ ไม่ได้ลังเลเพราะกำลังห้าวและจิ๊กโก๋มาก  พวกครูฝึกจะมีวิธีแยกพวกรับจ้างฝึกด้วยการดูหลังคอ เพราะมีคนหัวหมอมาเวียนเทียนฝึกเพื่อรับเงินเดือนแล้วหนีทหาร เขาเลยบังคับว่าใครผ่านหลักสูตรต้องสักที่หลังคอ ทีนี้ถ้าหนีแล้วกลับมาฝึกอีกก็โดนซ่อม ผมใช้เวลาฝึก ๒ เดือนเศษ

“สำหรับผมเงินเดือน ๑,๕๐๐ บาทของทหารพรานมันมาก เพราะข้าราชการชั้นตรีเงินเดือนแค่ ๑,๒๕๐ บาท จริง ๆ ผมทราบด้วยว่ามีการหักเบี้ยเลี้ยงรายวัน เพราะฝรั่งจ่ายวันละ ๕๐ บาท แต่ตัดเหลือ ๑๕ บาท เข้ากระเป๋าใครไม่รู้ เงินเดือนเต็มน่าจะอยู่ที่ ๓,๐๐๐ บาท แต่แค่นั้นก็มากพอแล้ว ผมเรียนหลักสูตรวิทยุสื่อสารก็ได้เงินเดือนเพิ่มอีก ๑๐๐ บาท แต่จะหนีแล้วแกล้งหายสาบสูญนี่ผมไม่คิด เพราะทุ่งไหหิน ล่องแจ้งนั้นกลับไทยยาก พวกที่อยู่ปากเซทำได้ง่ายกว่า คือหายไปแล้วให้ที่บ้านได้ ๑ แสนบาท

Image

Image

ใบปลิวของฝ่ายขวาที่โปรยในเขตคอมมิวนิสต์เพื่อทำสงครามจิตวิทยา ของสะสมของคุณจงรักษ์

“เครื่องบิน C-130 พาเราไปลงที่สนามบินล่องแจ้งแล้วให้เรานั่งเฮลิคอปเตอร์แบบชีนุกไปลงที่เมืองซำทอง เห็นบ้านพังพินาศ ซากศพ คิดถึงพ่อแม่ขึ้นมาทันที กลางคืนก็ได้ยินแต่เสียงปืนเล็ก ปืนใหญ่ เขามีหลักว่าจะให้ไปประจำฐานหนึ่งไม่เกิน ๔๕ วันถ้าทำได้ แล้วรุกไปข้างหน้า ที่ซำทองผมต้องทำบังเกอร์ สนามเพลาะ จนมือด้านสักพักก็ย้ายอีก  สองเดือนที่นั่นผมนอนไม่ถอดรองเท้าคอมแบตเลย เพราะกลัวจะใส่ไม่ทันเวลาฉุกเฉิน ฝรั่งก็ให้ผงโรยเท้ากันเรื่องอับชื้น เชื้อรา แต่ในลาวอากาศหนาวมากจนแทบไม่ต้องอาบน้ำ แต่ฤดูฝนทากก็เยอะมาก

“กองพันผมค่อย ๆ เคลื่อนไปข้างหน้า เราย้ายไปที่ภูผาไซ เมืองสุย เมืองกาสี ภูคูน ภูสูง สักพักผมเริ่มสนุกกับการรบ คืนไหนไม่ได้ยินเสียงปืนนอนไม่หลับ อย่างที่กาสีไปนอนคืนแรก รถถังข้าศึกมาบุกทันที แฟกซ์เรียกเครื่องบินจากอุดรธานีมาทิ้งระเบิดคล้ายหนังสงคราม เราอยู่บนเนินก็นั่งดู  กองพันผมเคยฐานแตก แต่ก็ยึดฐานได้เยอะ แล้วติดธงชาติลาว ครั้งหนึ่งติดธงปุ๊บ ปืนใหญ่ข้าศึกยิงเลย นัดแรกลงซ้าย นัด ๒ ลงขวา นัดที่ ๓ ธงหาย เขายิงแม่นมาก

Image

“รบได้ ๖ เดือน ใกล้ถึงรอบกลับบ้านพักร้อน นายพลวังเปาขอร้องทหารเสือพรานยึดพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยจะมีรางวัลไปพักผ่อนที่เมืองวังเวียง ๓ วัน ๒ คืน และเงินติดกระเป๋า ๑,๐๐๐ บาท  ตอนเซ็นสัญญาสงบศึก ผมไปมาอยู่ที่ภูคูน กาสี ภูสูง ก็คุยกับข้าศึกที่หยุดยิงกันแล้วทางวิทยุ เรื่องสนุกอย่างหนึ่งคือ มีผู้หญิงฝ่ายข้าศึก ว. มาคุยกับทหารไทยเหมือนจีบกัน พูดลาวมาคนอีสานเราก็ตอบไป พวกเราเรียกเธอว่า ‘บัวบังใบ’

“ผมไม่เคยคิดว่าลาวฝ่ายขวาจะแพ้ คิดว่าเขาจะอยู่กันได้แบบเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ แต่เราก็ไปยันเขาเอาไว้ได้  ผมกลับมาเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๓ ได้เงินโบนัสติดกระเป๋า ๗,๐๐๐ บาท เขามาส่งที่สนามบินน้ำพอง เราก็นั่งรถกลับกรุงเทพฯ มันก็จริงที่เราเป็นทหารรับจ้าง ผู้ใหญ่เขาอ้างว่าไปป้องกันประเทศ แต่ก็มีสัญญาในการไปรบชัดเจน เสือพรานกับศัตรูผลัดกันแพ้ชนะ ผมคิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกที่ไปรบในลาว ทุกอาชีพมีความเสี่ยง

“ผมคิดว่ารัฐบาลยังดูแลทหารผ่านศึกกรณีสงครามลับในลาวไม่ดีพอ เงินค่ารักษาพยาบาลต่อปีมีจำกัด เงินช่วยเหลือต่อปีก็ต้องไปรับเองทุกวันที่ ๑ ตุลาคม คนอยู่ต่างจังหวัดจะลำบากขนาดไหน ทุนการศึกษาที่ให้ลูกก็น้อย ผมน้อยใจว่าเงินผดุงเกียรติที่เรียกร้องกันเดือนละ ๒,๐๐๐ หรือ ๓,๐๐๐ บาททำไมให้ไม่ได้ แต่บำนาญจ่ายได้ บางทีผมก็แทบอยากทิ้งบัตรทหารผ่านศึก”

Image

Image

Image

“ เป็นความจริงที่เราเป็น นักรบรับจ้าง”

“เดิมมีอาชีพทำนา สมัครไปรบ ค.ศ. ๑๙๗๑ ตอนอายุ ๒๑ ปี เพราะมีจ่าทหารในเชียงรายคนหนึ่งบอกถ้าจ่าย ๕๐๐ บาทก็ไปรบในลาวได้ เราอยากไปเพราะตอนเขารับสมัครไปรบในเวียดนามไม่ได้ไป เลยเก็บเงินรอไว้ เราอยู่บ้านนอก อยากเป็นทหาร อยากมีเงินใช้จ่าย การไปรบยังเป็นหน้าเป็นตาของที่บ้าน  ในลาวนี่คนไม่ค่อยอยากไปเพราะรบหนักกว่าเวียดนาม แต่ผมไม่กลัว มีการรวมคนกัน เหมารถเมล์ไปห้าคัน ผมไปกับเพื่อนจากเชียงรายสามคน นอนบ้านเพื่อนที่อุดรธานี ๓ เดือนเพื่อรอเขาเปิดรับ เพื่อนบางคนก็กลับก่อน แต่ผมดื้อจะไปให้ได้เลยรอ จำได้ว่ามีเรื่องกับจิ๊กโก๋ท้องถิ่นตอนทำงานเป็นลูกจ้างแถวนั้น ฝึกอยู่ที่ค่ายน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อยู่ ๖ เดือน

Image

“พอเขาเปิดรับ ต้องทดสอบด้วยการวิ่งจากประตูค่ายเข้าไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เขาไม่จำกัดอายุ อายุ ๕๐ ปีไปรบก็มี หลังจากนั้นก็ฝึกระเบียบแถว การใช้อาวุธ การรบในป่า ฝึกเสร็จให้กลับไปพักที่บ้านได้ ๕ วัน ผมก็กลับบ้านที่เชียงราย ก่อนจะไปที่ค่ายน้ำพองอีกครั้ง ช่วงนี้มีคนหนีเพราะกลัวตาย แต่ผมไม่คิดหนี ตายก็ตาย  ผมไปรบในลาวตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ กลับ ค.ศ. ๑๙๗๔ ได้เงินเดือนเดือนละ ๑,๗๐๐ บาท ผมได้เพิ่มจากปรกติ ๑๐๐ บาท เพราะเป็นพลปืน M79 ตำแหน่งอื่นก็จะได้เพิ่มคนละอัตรา ได้เบี้ยเลี้ยงอีกวันละ ๑๕ บาทเป็นเงินสดใส่ซอง

Image
Image

“ผมเอาพระเครื่อง ตีนซิ่นแม่มัดผม ผูกเอวเป็นเครื่องราง มีพระเครื่องหลวงพ่อบาคำหล้า ยันต์หลวงพ่อวัดดอนตัน เครื่องบินไปส่งเราลงที่สนามบินล่องแจ้ง เป็นรันเวย์ยาว ล้อมรอบด้วยดอยสูง นอนอยู่ตรงนั้น ๑ คืน เขาก็ขับเฮลิคอปเตอร์แบบชีนุกไปส่งที่ภูพันเก้า ผมอยู่ที่นั่นราว ๓ เดือน เป็นฐานของ BC603 ผมถือเป็นกำลังเสริมในส่วนที่เขาบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการรบก่อนหน้านี้ ผมใช้ชีวิตอยู่ในบังเกอร์และสนามเพลาะ ศัตรูก็ยิงปืนใหญ่เข้ามาตลอด ออกจากฐานต้องไม่ออกนอกเส้นทางเพราะจะโดนกับระเบิดที่วางไว้ กลางคืนก็มีเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินมาลาดตระเวน ฉายไฟ ทิ้งพลุส่องสว่าง ฝ่ายตรงข้ามก็พยายามยิง เครื่องบินขับไล่ก็ทิ้งระเบิดลงมา คล้ายผมนั่งดูภาพยนตร์ ส่วนมากไม่เห็นตัวข้าศึก เป็นการยิงปืนใหญ่ใส่กันมากกว่า

“เรานอนกลางดินกินกลางทราย เฮลิคอปเตอร์จะส่งข้าวด้วยการหิ้วเป็นเข่งใหญ่ ๆ แล้วทิ้งให้ บางครั้งก็มีขนมปังปอนด์ หลายครั้งผมหุงข้าวกับหม้อสนาม วิธีหุงบางทีก็เอาลูกระเบิดมาหมุนสลักออก ใช้ดินระเบิดเป็นเชื้อเพลิง  ในลาวหนาวมาก ถ้าหมอกจัด มีพายุ การส่งอาหารจะทำไม่ได้  ผมส่งจดหมายกลับบ้านหาแฟน ๔-๕ วันครั้งหนึ่ง เล่าว่าอยู่ที่ไหน ภาพถ่ายที่มีเป็นช่วงสงบ จ่ากองร้อยมีกล้อง ถ่ายให้แล้วคิดค่าล้างรูปใบละ ๔๐ บาท กลับไปอัดที่อุดรธานีแล้วก็มาให้เราในสนามรบ  ผมไม่ได้พักร้อนเลยรบตลอด บางทีรับจ้างอยู่เวร กะละ ๓๐๐ บาท พวกที่จ้างไปอยู่ตามเบิร์มเล่นไพ่ ในแนวหลังที่เมืองล่องแจ้งมีร้านเบียร์ มีซ่องที่ทหารกันเองนี่แหละเปิด เรายังไปเที่ยวครั้งละ ๕๐ บาท

Image

เสบียงอาหารที่ถูกส่งมาทางเฮลิคอปเตอร์ให้ทหารในแนวหน้า

“ตอนกลับคือ ค.ศ. ๑๙๗๔ เขามาส่งที่สนามบินน้ำพอง ผมกลับมาโยนโบว์ลิงที่อุดรธานี พอ ๕ โมงเย็นก็ได้เงินโบนัส เอกสารจบภารกิจ ผมเอาเงินไปใช้หมด แต่ยังมีเงินเหลือจากการไปรบ ๓ หมื่นบาท ทำให้ตั้งตัวได้ ผมซื้อที่นา ๑๐ ไร่ หลังจากนั้นก็ไปทำงานอื่น เป็นคนงานก่อสร้าง ขับรถลากได้ความรู้เรื่องช่างเครื่องยนต์ ทำงานรักษาเส้นทางก่อสร้างให้บริษัทเอกชน

“เป็นความจริงที่เราเป็นนักรบรับจ้าง เพราะเราเป็นคนธรรมดาแต่ไปสมัครเป็นทหารพราน สงครามในลาวจะชนะหรือไม่ผมคิดว่าต้องดูสถานการณ์ของแต่ละกองพัน ผมทำเอกสารจบภารกิจหาย ไม่แน่ใจว่าหายตอนไหน องค์การทหารผ่านศึกจึงไม่รับรอง บอกว่าต้องการพยาน และให้เราไปแจ้งเรื่องที่สำนักงานในกรุงเทพฯ  ลองคิดดูว่าใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ไม่ได้ไปง่าย ๆ มันไกลมาก ตอนนี้ก็
ใช้สิทธิ์เหมือนประชาชนคนอื่นคือ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค”

Image

Image

Image

“ อยากให้เขาเขียนว่า ‘สมรภูมิลาว’  เพราะควรจะเปิดเผยได้แล้ว

“ผมจบ ป. ๔ เป็นทหารเกณฑ์ที่เชียงรายได้ ๒ ปี สมัยนั้นเขาให้เกณฑ์ ๒ ปีครึ่ง ผมไปเรียนโรงเรียนนายสิบได้ติดยศสิบตรี เงินเดือน ๑๗๕ บาท น้อยมาก ผมกำลังจะปลดเป็นกองหนุนใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ทางกองพันถามว่ามีใครอยากไปรบเวียดนาม ผมอยากได้เงิน น้องกำลังโต มีคนดูแลพ่อแม่แล้ว ผมจึงยกมือ ทีแรกคิดว่าจะได้ไปรบในเวียดนามผลัดสุดท้าย แต่ทางการบอกว่าเปลี่ยนไปลาวแทน ก็งงเหมือนกันแต่ไม่ได้ลังเล  ผมฝึกอยู่ที่กาญจนบุรี ๘ เดือน จนมีข่าวว่าทหารไทยตายในลาวมาก หลายคนเริ่มลังเล

“ในความรับรู้ของผมคือฝรั่งมาจ้าง ไม่รู้ประเทศไหนออกค่าใช้จ่าย เรามีหน้าที่ไปรบอย่างเดียว เพราะถ้าติดยศสิบเอก เราจะได้เงินเดือน ๑,๘๐๐ บาท ที่บ้านไม่ได้คัดค้าน  ผมมีพี่น้องเจ็ดคน คุณปู่เป็นพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) ก็มีไร่นา แต่ผมออกจากบ้านก็ไม่อยากกลับไปแล้ว เห็นเพื่อนรวยกันจากการไปรบในเวียดนาม รอดมาได้ก็สบาย อยู่ในไทยก็หาเงินยาก

“ผมไปลงที่สนามบินล่องแจ้ง จำได้ว่าลานบินยาวมีทหารม้งตัวเล็ก ๆ ทหารลาวตัวเตี้ย ๆ สะพายปืน เราตั้งปืนใหญ่ ยิงต่อสู้กับข้าศึกแบบข้ามดอย หลังจากนั้นก็ไปภูพันเก้า เสียงปืนใหญ่เหมือนเสียงฟ้าร้อง กระสุนข้ามหัวเราไป บางทีต้องกระโดดลงหลุม บางครั้งต้องออกลาดตระเวนแต่ไม่ได้ไปไกลจากฐานมาก แนวหลังจะส่งเสบียงมาทางอากาศทิ้งลงมาเป็นเข่ง มีทั้งอาหารแห้งและอาหารสด ห้องน้ำต้องขุดหลุมส่วนตัวของใครของมัน

Image

“ข้าศึกเขามีตัวช่วย ผมก็สงสัยว่าเอาปืนใหญ่รถถังมาจากไหน เราล่าหัวเขา เขาก็ล่าหัวเราตัดหัวได้ก็มีค่าตอบแทน  ครั้งหนึ่งวันที่ ๑๕ ผมจำเดือนไม่ได้ ข้าศึกยิงถล่มกองร้อยผมตอนอยู่บนยอดดอยใกล้เส้นทางโฮจิมินห์  พอวันที่ ๑๗ มันขับรถถังมายิงใส่ กองพันอื่น ๆ โดนล้อมหมด บางกองพันแตกต้องหนีเอาตัวรอด ผมบอกผู้กองอยู่ต่อจะตายหมด เลยตัดสินใจหนีออกมาทางทิศตะวันตกเดินป่าเข้าหาแม่น้ำโขง ระหว่างทางต้องคอยหลบหลีกข้าศึก เฮลิคอปเตอร์มารับคนเจ็บก่อนตามจุดต่าง ๆ จนวันที่ ๒๙ ถึงเจอกองพันทหารไทย ผู้กองกับหัวหน้าหมวดผมนี่ได้โอกาสก็หนีขึ้นเฮลิคอปเตอร์กลับก่อน ปัญหาคือเขาเอากระเป๋าใส่เงินเบี้ยเลี้ยงของทหารในกองพันไปด้วย เดือนนั้นผมเลยไม่ได้เงิน ค่าเบี้ยเลี้ยง  ผมอยู่ลาว ๑๑ เดือน เขาปลดอาวุธเราที่ล่องแจ้งแล้วมาส่งที่สนามบินอุดรธานีตอนกลางคืน สารวัตรทหารจะมาตรวจข้าวของ ผมมีเสื้อแจ็กเกต พระเครื่อง ตะกรุด ไม่มีอาวุธ เขาก็ปล่อยกลับ

“ผมไปรบได้เงินก็มาแต่งงาน ทำทุนค้าขาย ผมได้สวัสดิการทหารผ่านศึก เป็นบัตรชั้น ๔ ค่ารักษาพยาบาลเบิกได้ปีละ ๔,๐๐๐ บาท  เคยไปร่วมงานวันทหารผ่านศึกที่เชียงรายบ้าง แต่ผมอยากให้เขาเขียนว่า ‘สมรภูมิลาว’ เพราะควรจะเปิดเผยได้แล้ว”

Image

Image

Image

“ ผมไม่คิดว่าเราแพ้
สงครามในลาว”

“ผมไปรบในลาว ค.ศ. ๑๙๗๒ อายุ ๒๒ ปี ทำอาชีพขับรถสามล้อ ผมเจอทหารเสือพรานที่กลับมาพักผ่อน ก็คุยกับเขา ถามว่ารบที่ไหน สมัครที่ไหน ใจฮึกเหิม เพราะเป็นทหารอาสา ตอนฝึกได้เงินเดือน ๑,๕๐๐ บาท ผมมีตำแหน่งพลปืนเล็กคนที่ ๑ ก็ได้เพิ่มอีก ๑๐๐ บาท เบี้ยเลี้ยงก็เอาไปซื้อบุหรี่ ซื้อของ สมัยนั้นเป็นเงินเยอะมาก อยู่บ้านก็ไม่มีรายได้ขนาดนี้  คิดดูว่าทองบาทละ ๔๐๐  เราขับรถสามล้อเต็มที่ได้วันละ ๓๐ บาท ไปรบดีกว่า ไม่กลัวตายเพราะไปหลายคน กลางปีผมไปสมัครที่ค่ายน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ฝึกอยู่ ๔ เดือน จำได้ว่าครูฝึกเป็นตำรวจพลร่มไทย ฝึกจบเขาก็ปล่อยกลับไปพัก ๗ วัน

“ตอนนั้นเขาบอกแค่ไปรบในลาว ไม่ได้บอกว่าไปยิงกับใคร มารู้ทีหลังว่าเป็นเวียดนามเหนือ พอกลับมาที่ค่ายกองพันผมโดนเป่านกหวีดปลุกตอนตี ๓ รวมพลแจกอาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ แล้วขึ้นเครื่องบิน ไม่บอกว่าไปที่ไหน รู้ตอนเครื่องบินแตะพื้นเบรกจน ๒๐๐ กว่าคนในเครื่องยืนเบียดกันหัวทิ่ม ถึงรู้ว่าล่องแจ้ง เขาให้ขึ้นไปรักษาแนวที่เนินสกายไลน์ ๔ เดือน จากนั้นให้พักแล้วส่งไปรักษาฐานภูพันเก้า ภูผาไซ แล้วก็กลับไปที่ภูพันเก้าอีก

“ฐานบนเนินสกายไลน์เราเรียกฐาน CIA ตอนไปถึงมีแต่กลิ่นศพ ไปทำบังเกอร์ สนามเพลาะ ข้าศึกยิงปืนใหญ่ข้ามหัวตลอด ชอบยิงช่วงเย็นกับค่ำ บางนัดตกที่สนามบินด้านหลัง เขายิงแล้วก็ย้ายตำแหน่งปืนใหญ่จนฝั่งเราหาพิกัดไม่เจอ ปืนใหญ่ของเราสองฐานยิงโต้ก็ไม่โดน ส่วนที่ภูผาไซ ภูพันเก้า เราไปรักษาพื้นที่ ผมเคยออกแนวหน้าสองครั้ง ตอนลาดตระเวนข้าศึกจะซุ่มยิง กลางคืนก็จะซุ่มโจมตี ภูพันเก้ารบหนักกว่าที่อื่นเพราะเป็นหน้าแนว ช่วงเย็นเสี่ยงสุดเพราะข้าศึกจะเข้าตี ผมโชคดีที่ฐานไม่เคยแตก ส่วนมากไม่เห็นตัวข้าศึก เรากราดยิงไป โดนก็โดน

Image

“อากาศในสนามรบหนาวมาก ๓-๔ วันอาบน้ำครั้งหนึ่ง หรือไม่อาบเลย ห้องน้ำก็ใช้ขุดดินทำธุระแล้วฝังกลบ อาหารที่แนวหลังส่งมาก็มีของสด ผัก ปลาร้า พริกขี้หนู เนื้อหมู ไก่ บางทีผมกับเพื่อนก็ทำลาบดิบ คนอีสานก็ทำลาบก้อย คิดถึงบ้านก็เขียนจดหมายฝากส่งไปกับเฮลิคอปเตอร์ที่มาส่งอาหาร ไม่ต้องติดแสตมป์

“ผมกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยครั้งหนึ่ง หน่วยขับเครื่องบินมาส่งที่ค่ายน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เราก็ต่อรถกลับเชียงราย ญาติก็ให้เครื่องรางของขลังมากมาย ตะกรุด พระเครื่อง ผ้ายันต์ ใครเป็นมุสลิมไปรบเขาก็มีของขลังนะครับ เป็นผ้าเขียนภาษาอาหรับ  พอกลับสมรภูมิ ถึงช่วงที่เขาเซ็นสัญญาหยุดยิง เราต้องอยู่รักษาแนวต่อหลายเดือน หน่วยเหนือพาไปเที่ยวเมืองวังเวียงให้กองร้อยละสองคน คิดดูว่ามี ๓๖ กองพัน โอกาสมาไม่ถึงเรา สุดท้ายก็หมดเวลาประจำการต้องกลับไทย

“มาลงที่สนามบินน้ำพอง ทางการเตรียมเงินใส่ซองไว้ให้ บนซองบอกเลยว่าไปกี่วัน ได้เท่าไร ธนบัตรใบละ ๑๐๐, ๒๐, ๑๐ ใส่มาเป็นปึกและมีใบปลดประจำการ คืนเอกสารส่วนตัว รบเสร็จผมเหลือเงินอยู่ ๓ หมื่นบาท ถือว่าเยอะจนตั้งตัวได้ ผมซื้อสามล้อถีบ ๓,๐๐๐ บาทใช้ประกอบอาชีพ อีกส่วนซื้อไม้เตรียมสร้างบ้าน

“ผมไม่คิดว่าเราแพ้สงครามในลาว เราต้องถอนกำลังตามสัญญาหยุดยิง ตอนหลังที่ลาวกลายเป็นคอมมิวนิสต์ผมคิดว่าคงเป็นส่วนหนึ่งที่เราไปช่วยป้องกัน เลยไม่มารุกรานบ้านเรา 

“ตอนนี้ผมคิดว่าควรเปิดเผยได้แล้ว อยากให้เด็ก ๆ รู้เพราะนี่คือประวัติศาสตร์ ยอมรับว่าเราเป็นทหารรับจ้าง ทำให้เราได้เงินมาตั้งตัว แต่ผมทำเอกสารหาย เหมือนเขาต้องการให้ผมไปถ่ายภาพใส่สูท ติดเหรียญพิทักษ์เสรีชน ทั้งที่เรามีชื่อใน ราชกิจจานุเบกษา ว่าเคยรบในลาว เลยไม่ได้ใช้สิทธิ์ของทหารผ่านศึก ใช้แต่สิทธิ์บัตรทองเหมือนคนอื่น  ตอนนี้เป็นอัมพฤกษ์มา ๔ ปีแล้ว จะไปไหนก็ลำบาก”

Image

Image

Image

“ส่วนหนึ่งที่เราตั้งตัวได้
เพราะไปรบในลาว ”

“ผมจับได้ใบดำเลยไม่ได้เกณฑ์ทหาร แต่อยากเป็นทหาร ทราบจากเพื่อนว่าเขารับสมัครไปรบในลาวที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ก็ไปกับคนบ้านเดียวกันแปดคน ลงที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แล้วต่อรถไปอำเภอน้ำพอง นอนรอเขาเปิดรับสมัคร ๑ คืน เขาทดสอบด้วยการวิ่งเข้าไปในค่ายน้ำพองระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร หลังจากนั้นก็เข้าฝึกตามหลักสูตร สนามฝึกหนึ่งใช้กระสุนจริง ให้เรานอนหงายไถตัวผ่านไป  สองเดือนต่อมาเขาส่งไปค่ายสฤษดิ์เสนา จังหวัดพิษณุโลก ฝึกโหดกว่าเดิม ทั้งกลางวันกลางคืน แล้วพากลับไปที่อำเภอน้ำพองอีกรอบ ฝึกบนเขาอีก ๒๐ วัน ก็ทำทีจะปล่อยกลับบ้าน 

“ปรากฏว่าเขาขับรถส่งกองพันผมไปรบในลาวเลย ที่เขาหลอกเพราะช่วงนั้นคนหนีทหารเยอะหลังฝึกเสร็จเพราะมีข่าวทหารไทยตายในลาวทุกวัน เขาเลยแก้ลำพวกที่หนีเขาก็ไม่จ่ายเงินเดือนต่อ ผมไม่หนีเพราะไม่กลัว เราตายที่บ้านก็ได้เงิน ๑ แสนบาท ผมเห็นเพื่อนในชุมชนใกล้ ๆ ไปรบตาย คนข้างหลังก็สบายได้ซื้อนา สร้างบ้าน ฝรั่งเขาจ่ายหนัก ผมอยากสร้างฐานะ ไปรบดีที่สุด ผมมีพี่น้องแปดคน ไปได้ไม่มีห่วง เขาบอกศัตรูคือลาวแดง รัสเซียหนุน ส่วนลาวขาว อเมริกาหนุน  ครูฝึกบอกต้องไปสู้ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะยึดทุกประเทศ

“ไปลงที่เมืองล่องแจ้งซึ่งผมเคยได้ยินแต่ชื่อ นอนกางเต็นท์อยู่ข้างรันเวย์สนามบิน วันต่อมาก็เดินเท้าไปที่ภูผาไซ ระหว่างเดินทางมีทหารไทยโดนยิงตายหนึ่งคนเพราะละเมิดคำสั่ง ยิงปืนตอนกลางคืน แล้วฝ่ายตรงข้ามรู้ตำแหน่ง ยิงสวนมาจนเสียชีวิต  การเข้าตีภูผาไซล้มเหลวต้องถอนกำลังหนี ผมหามเพื่อนที่โดนจรวดอาร์พีจีจนไส้ไหลมาด้วย จำได้ว่าพอเฮลิคอปเตอร์จะมารับ ผู้พันจะหนี โดนอเมริกันถีบลงมา ถามว่า ‘จะทิ้งลูกน้องให้ตายที่นี่เหรอ’ ผมได้ยินผู้พันตัดพ้อว่ากูไม่น่ามาเลย

“ครึ่งเดือนต่อมาเราไปรักษาฐานที่ภูสูง ข้าศึกมายึดตำแหน่งที่สูงกว่า พยายามเข้าตีตอนกลางคืน ผมขว้างระเบิดมือ ไม่รู้หรอกว่าจะโดนหรือไม่ ทหารลาวแดงที่มาตีอายุ ๑๓ ปี หรือ ๑๔ ปีเท่านั้น ทหารแกว (เวียดนาม) ก็ตายจำนวนมากจากการโดนกับระเบิด  ระหว่างรบ บางทีวิทยุลาวแดงก็แทรกคลื่นเข้ามา บอกให้อยู่เน้อ กูจะไปรบมึง  ทหารแกว (เวียดนาม) เก่ง ไม่กลัวตาย เวลาเรายิงพลุส่องแสงจะเห็นคนพวกนี้รุกเข้ามาเหมือนฝูงมด ฐานเราแตกหนหนึ่งที่ภูสูง ต้องหนีมาทางภูคูน ตอนหลังก็กลับไปรบที่นั่นอีก

Image

“ผมอยู่ภูสูงจนจบภารกิจ ตอนหลังข้าศึกไม่มาตีแล้ว ผมรบอยู่ในลาว ๒ ปี ไม่ได้กลับไปพัก คงกลัวหนีเลยไม่ให้กลับไทย แต่ได้ไปพักที่เมืองวังเวียง ๒ คืน สลับไปเป็นกลุ่ม ที่นั่นมีซ่องโสเภณีไม่ต่างจากล่องแจ้ง ใครมีเครื่องรางของขลังเที่ยวแบบนี้ของจะเสื่อม พวกคนจากนครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ ตายกันเยอะเพราะเรื่องนี้  พวกนายทหารไทย
นี่แหละค้าผู้หญิง เป็นพ่อเล้า เอาเข้ามาในฐาน ไปหลอกเขาว่าจะพากลับด้วยก็มี บางคนมีลูกที่นั่นก็ทิ้งไว้ ต้องนัดมาเจอกันทีหลัง เพื่อนผมเป็นคนนครราชสีมาก็พาผู้หญิงกลับมากันหลายคน ในกองร้อยมีเปิดบ่อนเล่นไพ่ เล่นไฮโล ผู้กองก็ไม่ว่าเพราะมันคือสนามรบ บ้านป่าเมืองเถื่อน บันเทิงกันไป บุหรี่จ่ากองร้อยก็ซื้อมาขาย ยี่ห้อกรองทิพย์ พระจันทร์

“ผมเขียนจดหมายกลับบ้านฝากไปกับจ่ากองร้อย เพราะปลายเดือนเขาจะบินมารับเบี้ยเลี้ยงที่ไทย จดหมายไม่ได้ปิดซองนะครับ เขาต้องเซนเซอร์ (หัวเราะ) รู้หมดว่าเราเขียนอะไร ผมเล่าให้แฟนฟังว่าอยู่ที่ไหน ถ้ารอได้ก็รอ เขาก็รอ

“พอเซ็นสัญญาสงบศึก เราอยู่บนดอยคนละลูกกับข้าศึก มีวิทยุคุยกันบ้าง ทางนั้นก็หยอกมา ‘อ้าย (พี่) กลับเมืองไปซื้อนาฬิกามาให้ข้อยบ้างเด้อ’ เราก็ตอบถ้าได้ไปจะซื้อให้เด้อ ตอนกลับมีเฮลิคอปเตอร์แบบชีนุกมารับไปลงที่วังเวียง ขึ้นเครื่องบินจากที่นั่นมาลงที่อำเภอน้ำพอง เขาก็จ่ายใบจบภารกิจ กำชับว่าอย่าทำหาย เพราะอีก ๒ ปี จะประกาศชื่อลง ราชกิจจานุเบกษา เพื่อทำบัตรทหารผ่านศึก ผมได้บัตรทหารผ่านศึกชั้น ๔

“ไปรบยังไงก็คุ้ม มีเงินส่งบ้านทุกเดือนเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท ส่วนเบี้ยเลี้ยง ๒๕๐ บาทต่อเดือนใส่เป็นซองในสนามรบ ผมมีเงินเก็บ ๒ หมื่นบาท ซื้อวัว สร้างบ้าน ซื้อที่นา เอามาแต่งงาน กลับมาผมก็ทำไร่ทำนาต่อเพราะมีเงินทุน ส่วนหนึ่งที่เราตั้งตัวได้เพราะไปรบในลาว”

Image

Image

Image

“เขาเองก็บอกรับคำสั่ง
มาเหมือนกันเลยต้องรบ ”

“ผมไปรบในลาว ค.ศ. ๑๙๗๒ ติดยศสิบเอก ที่บ้านไม่ได้คัดค้าน ผมมีน้องสาวหนึ่งคน แล้วก็คุณพ่อ ส่วนคุณแม่เสียชีวิตตั้งแต่ผมยังเด็ก ผมไปค่ายน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝึกอาสาสมัครอยู่ประมาณ ๒ เดือน แต่ผมไปช้า เพราะต้องอยู่ช่วยฝึกอีกกองพันหนึ่งที่ค่ายสฤษดิ์เสนา จังหวัดพิษณุโลก ราวเดือนเศษถึงไปรบในลาวประมาณกลางปี  ผมสมัครไปรบที่เชียงลม (ภาคเหนือของลาว) แต่เขาไม่ได้บอกว่าจะพาไปที่ไหน มารู้ตอนขึ้นเครื่องบิน C-130 แล้วแวะเติมน้ำมันที่อุดรธานี ถึงเดาได้ว่าไปล่องแจ้ง เราได้ยินข่าวเรื่องล่องแจ้งมานานว่ารบหนักมาก

“ก่อนเครื่องจะลงเขาประกาศว่า ‘ลูกยาวกำลังลง’ คือปืนใหญ่ระดมยิงสนามบิน เครื่องบินจะแท็กซี่คือเคลื่อนไปเรื่อย ๆ ไม่จอดนิ่ง จะเปิดฝาท้ายให้ทหารทุกคนแบกสัมภาระและอาวุธออกทางด้านซ้ายและขวาของท้ายเครื่อง เจอทั้งฝนตก ลูกปืนใหญ่ นึกในใจ ตายแน่

Image

“เรานอนกางเต็นท์ใกล้สนามบินอยู่ ๑ คืน รุ่งขึ้น เขาให้ไปตีภูผาไซ กว่าจะถึงที่หมายก็ต้องเคลื่อนที่ย้ายไปเรื่อย โดนจู่โจมตลอดทาง ผมไปถึงเมืองซำทองที่ถูกทิ้งระเบิดมาใหม่ ๆ เขาบอกว่ามีกองพันหนึ่งของทหารไทยออกจากพื้นที่ทิ้งระเบิดของเครื่องบิน B-52 ไม่ทัน ละลายไปหมด ผมเห็นอาคารสถานที่ไฟไหม้ โรงพยาบาลที่ควันตลบ ผมไปรักษาเมืองซำทองที่มีสภาพร้างระยะหนึ่ง

“หลังจากนั้นถึงตีภูผาไซ เราขึ้นไปตรงเนินเขา ศัตรูอยู่บนยอดเขา ลูกปืนใหญ่ยิงมาก็ข้ามหัวเราไปตกลง
ด้านล่างที่เป็นสนามจอดเฮลิคอปเตอร์ที่เราทำไว้ให้ฝ่ายหลังส่งกำลังบำรุง  อีกครั้งหนึ่งเราไปตีฐานศัตรูในทุ่งไหหินซึ่งข้าศึกยึดไปหมดแล้ว หน่วยเหนือส่งเราขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลงหลังแนวข้าศึกแล้วก็รบ  เรายังไปตีเมืองสุยและไม่นานเมืองนี้ก็โดนเครื่องบิน B-52 ทิ้งระเบิดตอนระเบิดลงแรงอัดทำเราแน่นหน้าอก  อยู่ในสนามรบผมใส่รองเท้าผ้าใบมากกว่ารองเท้าคอมแบต เพราะคอมแบตเวลาเปียกน้ำจะอับ

Image

“หนหนึ่งฐานเราแตก มันเอารถถังออกมาใช้ เราต้องหลบจากฐานไปเดินในป่า อดข้าว ๑๐ วัน ๑๐ คืน มีแต่เข็มทิศ ดีที่มีผู้ตรวจการณ์อากาศยานหน้า (FAG) อยู่ด้วย เขาก็ให้เครื่องบินมานำทางเราไปที่ภูคุ้ม เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ที่นั่น ๒ วันก็มีเฮลิคอปเตอร์มารับไปลงที่ซำทอง ไม่นานก็ไปประจำที่ภูพันเก้า  พอเซ็นสัญญาหยุดยิง การรบยังมีประปราย ถึงตอนนี้ขอเครื่องบินสนับสนุนจากอเมริกาไม่ได้แล้ว ต้องขอจากกองทัพอากาศลาว ผมจำได้ว่าบอกให้นักบินลาวบินต่ำ เขาตอบ ‘ข้อยบินต่ำบ่ได้ ข้อยย่าน (กลัว) หลาย’ ก็เซ็ง แล้วด่าไป (หัวเราะ) แต่ก็เข้าใจเพราะค่าตอบแทนนักบินลาวน้อยมาก ผมได้เงินเดือน ๑,๘๐๐ บาท เบี้ยเลี้ยงต่างหาก หักค่าเลี้ยงดูแล้วเหลือวันละ ๑๕ บาท เงินเดือนประจำก็แยกไปอีกก้อนหนึ่ง

“ผมเขียนจดหมายหาแฟนทุก ๕ วัน เฮลิคอปเตอร์จะไปส่งตามรอบการส่งเสบียงอาหาร จบภารกิจที่ภูพันเก้า มีการพบปะกับข้าศึกบ้างเพราะหยุดยิง มาคุยกันเขาก็ขอบุหรี่ เขาเองก็บอกรับคำสั่งมาเหมือนกันเลยต้องรบ มุมหนึ่งผมก็โกรธที่เขาฆ่าลูกน้องเราไปเยอะ หลายคนเราทิ้งไว้ในป่า  ต่างจากอเมริกาที่เขาพาคนของเขากลับบ้าน เราควรทำแบบนั้นบ้าง”

Image

Image

Image

“ผมมีแฟนเป็นลูกครึ่ง
ลาว-เวียดนาม 
คบกันอยู่ครึ่งปี

“ตอนตัดสินใจอาสาไปรบผมทำนา ต้องการเงินมาสร้างฐานะ คิดดูว่าข้าว ๑๐๐ ถังได้เงินแค่ ๘๐๐ บาท ไม่พอกิน ไปได้เงินเดือน ๑,๕๐๐ บาท ไม่รวมเบี้ยเลี้ยง ผมไปที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อาศัยวัดนอนค้างกับเพื่อนที่มาจากภาคอีสาน ภาคเหนือ สี่คน เรามีของขลังติดตัวเยอะ พระหลวงปู่แหวน ครูบาคำหล้า พระเชียงแสน เสื้อยันต์สองตัว

“เราขึ้นเครื่องบินจากสนามบินน้ำพองไปลงที่เมืองปากเซ สนามรบอยู่นอกเมืองราว ๕ กิโลเมตร เฮลิคอปเตอร์
ไปส่งแล้วเราก็ออกลาดตระเวน ปะทะข้าศึกแถบนั้นทั้งในป่าและหมู่บ้าน ตกค่ำก็นอนกลางป่า  เราเข้าไปในฐานใกล้เมือง เป็นฐานบนดอย มีสนามเพลาะ บังเกอร์ เฝ้าอยู่ตรงนั้นเกือบ ๒ ปี ไม่ได้ไปสนามรบอื่นเลย ฐานไม่โดนเข้าตี แต่เจอซุ่มยิงทั้งบนฐานและขณะลาดตระเวน หนักมากครั้งหนึ่งคือโดนล้อมตอนออกลาดตระเวนจนต้องขอเครื่องบินมาทิ้งระเบิดข้าศึก ยิงกันเป็นชั่วโมง แต่ที่ฐานไม่มีรบหนัก ช่วงผมไปการรบใหญ่เหมือนผ่านไปแล้ว

“ชีวิตบนฐานลำบาก เฮลิคอปเตอร์จะมาส่งอาหาร 
๓ วันครั้ง ทิ้งลงมาเป็นเข่ง มีของสด ของแห้ง ก็แบ่งกันระหว่างกองร้อย ถ้าเฮลิคอปเตอร์ถูกยิงตก ๓ วันต่อไปก็อดกิน ต้องกินเรชัน (ration) ที่สำรองไว้แทน

Image

“เพื่อนผมคนหนึ่งเสียชีวิตบนดอยเพราะทหารแกว (เวียดนาม) ซุ่มยิง ผมเห็นแต่งชุดสีเขียว สวมหมวก ตัวไม่ใหญ่มาก พวกนี้กลางคืนชอบทำสัญญาณเป็นเสียงนกร้อง พอถึงช่วงเซ็นสัญญาหยุดยิงก็สงบลง มารู้ทีหลังว่าทหารแกวที่รบกับเราเป็นทหารหญิงก็มี ผู้หญิงของเขาขับรถถังด้วยซ้ำ

“ผมมีแฟนเป็นลูกครึ่งลาว-เวียดนาม คบกันอยู่ครึ่งปี เขาพูดลาว เราพูดไทย เพื่อนผมหลายคนก็มีแฟนที่นั่น ไปเที่ยวผู้หญิงก็มี


“ไปรบถือว่าคุ้ม ผมส่งเงินกลับบ้านมาซื้อที่ดิน แต่
ไม่คิดจะสมัครเป็นทหารต่อเพราะพอแล้ว ทำนาดีกว่า คนในหมู่บ้านกลัวผมเพราะคิดว่าพวกที่ไปรบน่าจะมีนิสัยโหดเหี้ยม ผมไปงานรำวงก็ไม่ค่อยมีใครกล้ายุ่ง แต่จริง ๆ เราก็เป็นคนเดิม”

Image

Image

Image

“รู้แค่ศัตรูคือคอมมิวนิสต์ 
คือลาวแดง มีทหารรับจ้าง
จากเวียดนาม ”

“ตอนตัดสินใจไปรบในลาวผมเรียนที่วิทยาลัยการช่างชาย จังหวัดเชียงราย อายุ ๑๙ ปี ตอนนั้นสอบตำรวจ สอบเตรียมทหารไม่ได้ เลยคิดว่าไปรบดีกว่า ก็ไปที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพื่อนหลายคนไม่ผ่านการทดสอบร่างกาย แต่เรามีจ่าทหารที่รู้จักกันเลยผ่านทดสอบ ฝึกอยู่ ๓ เดือน เป็นการรบแบบกองโจร การใช้อาวุธ ครูฝึกก็พวกหน่วยรบพิเศษทหารไทยนี่แหละ ฝรั่งอย่างมากแค่มาดู จำได้ว่าบางคนฝึกเสร็จเขาให้กลับไปพักก็หนี

“ตอนนั้นรู้แค่ศัตรูคือคอมมิวนิสต์ คือลาวแดง มีทหารรับจ้างจากเวียดนาม ทราบว่าต้องไปล่องแจ้ง พอเครื่องบินลงเขาก็ขับรถมารับไปสถานที่นอน กางเต็นท์ใกล้สนามบินอยู่ ๑ สัปดาห์ ผมถูกส่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์แบบชีนุกไปลงที่ภูผาไซ เฮลิคอปเตอร์ขนได้เที่ยวละ ๗๕ คน แล้วปล่อยก่อนจะถึงเป้าหมาย มีดอยหนึ่งก่อนจะถึงภูผาไซ เราต้องตีให้ได้ ก็เจอทั้งกับระเบิด การซุ่มยิง  ครั้งหนึ่งผมเกือบตายเพราะอาร์พีจียิงมาปักคาหน้าบังเกอร์แต่ไม่ระเบิด ยังแซวกับเพื่อนว่าหลวงพ่อใครช่วยไม่รู้ ผมก็พกครูบาศรีวิชัย รุ่น ๒๕ พุทธศตวรรษ พระพ่อขุนเม็งรายรุ่นแรก พระสิงห์ ๑ พระครูบาคำหล้า ติดตัว  ความเป็นอยู่โดยรวมค่อนข้างลำบาก น้ำดื่มหายาก เราต้องใช้ข้าวสาร ๑ ลิตรให้ได้ ๘ วัน บางทีต้องอมข้าวสาร กินหยวกกล้วย

Image

“ผมบุกทางปีกซ้าย ปะทะข้าศึกน้อยกว่าพวกที่บุกทางปีกขวา เราตีไม่สำเร็จต้องถอนตัวมาอยู่ที่เมืองซำทองเพื่อปรับกำลังใหม่และรอกำลังทดแทนอยู่ ๔ เดือน จากนั้นเขาสั่งให้เราไปตีเมืองสุย ขับเฮลิคอปเตอร์ไปส่งเราที่ภูคุ้มแล้วเข้าตี แต่ไม่สำเร็จต้องถอนกำลังมาอยู่ที่เนินแห่งหนึ่ง ช่วงนั้นเป็นระยะที่ฝ่ายต่าง ๆ ในลาวกำลังจะเซ็นสัญญาหยุดยิง เราต้องรักษาที่มั่นไว้  ก่อนเซ็นสัญญา ๓ วัน การรบหนักมาก เขาต้องการให้เราถอนกำลังออกจากเนินนั้น ฟังจากข่าววิทยุคือเขาจะยึดพื้นที่ให้ได้มากสุด ระดมยิงปืนใหญ่และส่งทหารมาตี คนตายจำนวนมาก จนเราต้องถอย ก็ยังถูกสกัดกลางทางอีก สุดท้ายเราไปที่ภูคุ้มแล้วให้เฮลิคอปเตอร์มารับกลับมาที่ภูพันเก้า หยุดยิงแล้วก็พบปะข้าศึก ถือธงขาวมาเจรจากันฝ่ายละสามคน สูบบุหรี่คุยกันเรื่องความเป็นอยู่ มันยังถามเราว่า ‘นี่ไทยเชียงใหม่บ่’ เพราะฟังรู้เรื่อง

“ไปรบถือว่าคุ้ม แต่ผมเก็บเงินไม่ได้ ตอนนั้นไม่มีแฟน ในล่องแจ้งมีบาร์เหล้า ร้านอาหาร ผมก็เที่ยว เที่ยวผู้หญิงครั้งละ ๓๐๐ บาท แต่ส่วนมากทหารไทยเมาแล้วแยกกันไปนอน ผมมองว่าจริง ๆ เรารบเสมอกับลาวแดง เวียดนามเหนือ แต่ผู้ใหญ่ของลาวขวาโดนแผนสงบศึก ถอนทหารไทยออกมาลาวแดงก็ยึดหมด หัวหน้าฝ่ายขวาหนีลูกน้องก็ต้องยอมแพ้ ตอนหลังผมรับราชการ ก็เหลือเงินบำนาญกับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พสร.) แล้วก็บัตรทหารผ่านศึกชั้น ๔ ที่เบิกค่ารักษาพยาบาลได้

“ความจริงผมเห็นด้วยกับคำเรียก ‘ทหารรับจ้าง’ เพราะทุกคนที่ไปก็ลาออกจากราชการ ยศสูงก็ใช้นามแฝง ใครบอกฝรั่งหลอกใช้ ผมคิดว่าคนไทยนี่แหละหลอกใช้เขา ให้เอาเงินมาทิ้งในลาว (หัวเราะ) แต่ผมอยากให้นักรบนิรนามที่ไปรบในลาวมีสวัสดิการที่ดี”

Image

Image

Image

“บอกว่าคนที่ไปรบเป็น 
‘ทหารรับจ้าง’ มันไม่ถูก 
นี่คือการไปรบนอกบ้าน ”

“ตอนตัดสินใจไปรบผมเรียนจบ ม. ๘ ติดตามอ่านคอลัมน์ของ ‘วิโรจน์ เอ็ม ๑๖’ ในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เรื่องสงครามเวียดนามแล้วชอบมาก ตัวเองก็ยังไม่ได้ทำอะไร รู้ว่ารุ่นพี่ไปรบที่เวียดนามกลับมาแล้วแต่งตัวเท่มากผมเจอผู้ตรวจการณ์อากาศยานหน้า (FAG) ชื่อ ทำนุ ชม-พาณิชย์ บนรถทัวร์ เขาทำงานที่ค่ายน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น แล้วทิ้งนามบัตรไว้ให้ เราก็โทรเลขติดต่อเขา เลยไปสมัครที่ค่ายน้ำพอง

“ตอนนั้นอายุ ๒๑ ปี รู้ว่าคอมมิวนิสต์จะมายึด รัฐบาลก็ปลุกระดม ฝั่งศัตรูก็ปลุกระดม แต่ความจริง เวียดนาม เขมร ลาว จะเป็นคอมมิวนิสต์หมดแล้ว การบอกว่าคนที่ไปรบเป็น ‘ทหารรับจ้าง’ มันไม่ถูก นี่คือการไปรบนอกบ้าน เวลาเราไปก็นึกถึงในหลวง รู้ว่าต้องยิงคน ความกลัวก็มี

Image

Image
Image

เครื่องมือส่งสัญญาณไฟกะพริบ
สื่อสารกับเครื่องบิน

“ผมฝึกอยู่ ๓ เดือนครึ่ง เขาไม่ได้บอกว่าจะพาเราไปสนามรบไหน แต่กองพันผมทะเลาะกับครูฝึกที่เป็นพารู (PARU - Police Aerial Reinforcement Unit  ตำรวจพลร่ม) เลยส่งกองพันเราไปที่ค่ายสฤษดิ์เสนา กองพันเราก็ไปก่อเรื่องอีก ทะเลาะกับทหารลาวที่ถูกส่งมาฝึก ยังมีกรณีครูฝึกเรามีเรื่องกับแมงดาในพิษณุโลก เราก็ยกพวกหนีจากค่ายไปพังบาร์ ทหารกองเกินที่อาสาไปรบจะไม่ค่อยมีวินัย ครูพารูก็ด่าเราว่าจะส่งไปตายอยู่แล้วยังจะเอาอะไรอีก คือโจรทั้งนั้น คุมซ่อง คุมบาร์กันมา  บางคนก็หนีคดี เพราะเขาออกกฎหมายคุ้มครองเรื่องคดี ๖ ปี ถ้าอาสาไปรบ

“เขาส่งกองพันผมไปที่ล่องแจ้งต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๒ ช่วงนั้นผมหนีไปเที่ยวกับ FAG สี่คน กลับมาที่ค่ายคนส่วนมากขึ้นเครื่องแล้ว เขาเกือบปลดประจำการผม แต่ก็ให้ไป แล้วขึ้นเครื่องบิน C-130 ไปลงล่องแจ้งเครื่องต้องวนอยู่หลายรอบ จนการโจมตีของข้าศึกเบาลงถึงเปิดฝาหลังให้วิ่งลงจากเครื่องเข้าที่กำบัง โรงเรียนเสนา-ธิการของนายพลวังเปาโดนกระสุนปืนใหญ่พรุนไปหมด

Image

“สองวันต่อมาเขาส่งกองพันขึ้นไปตีเนินสกายไลน์ ในส่วนที่ทหารเวียดนามเหนือยึดไว้ ห่างจากล่องแจ้งประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เราก็เดินเท้าไป ตอนเคลื่อนกำลังก็ถูกซุ่มโจมตีตลอด ที่สกายไลน์ผมเรียกว่า ๘ ชั่วโมงนรก ก่อนเข้าที่ตั้งฐานได้ ข้าศึกมีกลวิธีทุกอย่าง บางทีใส่ชุดทหารเสือพรานแล้วกวักมือเรียก บางคนนึกว่าพวกเดียวกันก็เสร็จเขา ปลายเดือนพฤศจิกายนเข้าตีภูผาไซ ที่นี่เนินเขากว้าง เราตีร่วมกับ BC624 และ BC625 มีการปะทะกัน ความรู้สึกอยากกลับบ้านก็มี เพราะมันหนักมากสำหรับคนอายุเท่านี้ หมวดผมยึดเนินแห่งหนึ่งไว้ ผมยังได้ธงของขบวนการปะเทดลาวมา ฐานนี้คนอยู่ไม่มาก เป็นทางขึ้นภูผาไซ แต่ต่อมาข้าศึกก็พยายามตีคืน เราปักหลักสู้ตาย ต่อมาเราต้องถอนตัว ไปรวมกันที่หมู่บ้านอีกแห่ง FAG ที่ผมตามไปด้วยเขาก็ประสานบอกพิกัด ขอเครื่องบินสนับสนุน

Image

“ตอนหลังกองบัญชาการหน่วยรบเฉพาะกิจสิงหะก็ให้กองพันผมกลับไปเนินสกายไลน์ เข้าตีเมืองกาสี แยกศาลาภููคูนที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อเมริกันทิ้งระเบิดนำไว้ก่อน ๒-๓ วัน เรายึดศาลาภูคูนได้ใน ๖ ชั่วโมง ต่อมาก็เข้าตีพื้นที่ทุ่งไหหินแถวบริเวณภูยาง ภูธาตุ แต่ถูกโต้กลับจนละลายเกือบทั้งกองพัน  ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๓ เราถอยแบบกระจัดกระจายไปรวมกันที่ศาลาภูคูนอยู่ที่นั่นจนถึงการเซ็นสัญญาสงบศึก ก่อนจะย้ายไปฐานปืนใหญ่อีกฐาน

“จริง ๆ เรารบกับเวียดนามเหนือ ทหารเวียดนามเหนือเป็นหัวหน้าชุด ลูกน้องเป็นลาวกับชาวเขา ตอนรบก็ด่าเราว่า ‘ไทยหัวแป ขี้ข้าอเมริกา ปิก (กลับ) บ้านไปเน้อ’ เราก็ด่าตอบ ‘ไอ้แกวกินหมา’ ไม่รู้มันฟังรู้เรื่องไหม วิทยุเวียดนามก็แทรกคลื่นมา พูดให้เรากลับไป จะมารับจ้างทำไม ส่วนมากก็ปล่อยมันด่า เพราะเราไม่มีนโยบายวิวาทะทางวิทยุ  ตอนหลังที่ลาวกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ผมไม่คิดว่าเกี่ยวกับทหารไทยรบแล้วแพ้ เราไม่ได้แพ้ แต่ผู้นำของฝ่ายปะเทดลาวเขาเดินเกมเหนือกว่าตอนเซ็นสัญญาหยุดยิง อเมริกาก็ไม่อยากรบแล้ว”