ที่เปิดขวด
“ประธานาธิบดีทรัมป์”
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์
ในวันที่ ๒๐ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๕ ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ ๒ ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกา (Capitol Hill) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
เป็นที่รู้กันดีว่าผลการเลือกตั้งที่ส่งทรัมป์ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีรอบนี้ สร้างความตื่นตะลึงและส่งผลสะเทือนทางการเมืองไปทั่วโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ด้วยถึงแม้สหรัฐอเมริกามีบทบาทลดลงมากและดำเนินนโยบายผิดพลาดในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ยากที่จะปฏิเสธว่าสถานะมหาอำนาจอันดับ ๑ ยังไม่หมดไป
การกลับมาของทรัมป์รอบนี้ นักวิเคราะห์บางคนเรียกว่าเป็น “รัฐบาลทรัมป์ ๒.๐” ซึ่งน่าจะแตกต่างไปจากสมัยแรกที่เขาดำรงตำแหน่ง ด้วยเมื่อถึงสมัยที่ ๒ นี้ การที่พรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร (Congress) และวุฒิสภา (Senate) จะทำให้ทรัมป์ตัดสินใจทำหลายสิ่งที่เขาอาจไม่กล้าทำในสมัยแรกมากยิ่งขึ้น เพราะอุปสรรคจากฝ่ายนิติบัญญัติหมดไปแล้ว อย่างน้อยก็จนถึงวาระการเลือกตั้งครึ่งเทอมในอีก ๒ ปีข้างหน้า ยังไม่นับว่าในศาลสูง (Supreme Court) ผู้พิพากษาส่วนมากยังเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม และส่วนหนึ่งคือผู้ที่ทรัมป์เคยเสนอชื่อให้เข้าไปดำรงตำแหน่ง
ว่ากันว่ารอบนี้ระบอบประชาธิปไตยอเมริกากำลังจะถูกทดสอบครั้งใหญ่ เมื่อในสภาเต็มไปด้วย สส. และ สว. ฝ่ายเดียวกับประธานาธิบดี พวกเขาจะกล้าตีตกกฎหมาย หรือยับยั้งการผ่านงบประมาณบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ในเมื่อพรรคฝ่ายค้าน คือเดโมแครตนั้น เป็นง่อยไปเสียแล้ว
อีกส่วนหนึ่งที่คงจะโดนทดสอบอย่างหนักหน่วง คือวัฒนธรรมการตรวจสอบผู้มีอำนาจของสหรัฐฯ ที่ลงหลักปักฐานยาวนานมากว่า ๒๐๐ ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือองค์กรอิสระ
วัฒนธรรมการตรวจสอบที่ผมว่า คือการที่ผู้นำอเมริกันทุกคนสามารถถูกจับมาผลิตเป็น “สินค้า” ล้อเลียนได้อย่างเสรี
หลังทราบผลเลือกตั้งช่วงปลาย ค.ศ. ๒๐๒๔ ตัวแทนวัฒนธรรมการตรวจสอบอย่างหนึ่งที่ผมซื้อติดมือกลับมา คือที่เปิดขวด B-BiTE POTUS45 (ราคา ๕ ดอลลาร์) รูปประธานาธิบดีทรัมป์อ้าปากกว้าง ตรงปากคือส่วนที่ใช้เปิดขวด ขณะที่บุคลิกการชี้นิ้ว ท่าทางการพูดของทรัมป์ที่คนทั่วโลกคุ้นตา กลายมาเป็นส่วนด้ามจับ สมชื่อ POTUS ที่ย่อมาจาก President of the United State of America ที่ Bite (กัด) เปิดขวด
เพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่งบอกผมว่า ตราบใดที่พวกเขายังสามารถทำแบบนี้ได้ ตราบนั้นประชาธิปไตยอเมริกัน ที่แม้
ดูเหมือนกำลังสับสนวุ่นวาย แต่ก็คงไม่น่าห่วงสักเท่าไร เพราะผู้คนต่างรู้ดีว่า “ประชาธิปไตย” คือกระบวนการที่ไม่มีวันจะจบสิ้น
แม้ว่าผลการเลือกตั้งอาจไม่ถูกใจใครหลายคน แต่นี่คือศรัทธาในการตัดสินใจของมนุษย์ ว่าทุกครั้งที่เขาได้เรียนรู้และตระหนักถึงผลจากการเลือกตั้ง พอมีการเลือกตั้งครั้งหน้า พวกเขาจะเติบโตยิ่งขึ้น
เสียอย่างเดียว ด้านหลังที่เปิดขวดดันเขียนว่า Made in China (ฮา)