EP. 02
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพเก่า : หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สปป.ลาว
* ภาพเก่าและของใช้ส่วนตัวจำนวนหนึ่งที่ปรากฏในสารคดีเรื่องนี้
ได้รับความอนุเคราะห์จากทหารผ่านศึกหลายท่าน
ค.ศ. ๒๐๒๔
“สงครามลับในลาว”
ยังอยู่ในความทรงจำผู้คน
ที่เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน
ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวลาวยังจำ
เรื่องการรบที่ “ภูผาที/ภูผาถี่” ได้
“ภูผาที” ธงชาติ สปป.ลาว บริเวณทางขึ้นภูผาทีใน ค.ศ. ๒๐๒๔ ที่นี่คือหนึ่งในสมรภูมิสำคัญยุคสงครามเย็น
ศึกชิงผาที
ในบรรดาเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงครามลับในลาวที่คนไทยทั่วไปคุ้นเคยคือการรบที่ “ภูผาที” ใกล้ชายแดนลาว-เวียดนาม และเรื่องของ “โยธิน” พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ที่ถูกส่งไปป้องกันฐานเรดาร์ลับที่ยอดผา
ผมรับรู้เรื่องนี้ครั้งแรกสมัยเรียนชั้นประถมศึกษาจากนิยายภาพ “ชีวิตจำลอง” ตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ สวนเด็ก (วางแผงช่วงพุทธทศวรรษ ๒๕๓๐) ยุคนั้นพลตรีจำลองเป็นดาวรุ่งทางการเมืองไทยและดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
พลเอกสายหยุดเล่าใน ชีวิตนี้มีค่ายิ่ง ว่าเขาสนทนาเรื่องนี้กับ “โยธิน” ซึ่งเล่าว่าขณะมียศร้อยเอกเป็นผู้บังคับกองร้อยสื่อสาร ราว ค.ศ. ๑๙๖๖ อาสาไปรบที่เมืองปากเซ แขวงสะหวันนะเขต ไปหลวงพระบาง เข้าประจำกองร้อย SR5 ที่เมืองสุย จนต้นปี ค.ศ. ๑๙๖๘ มีคำสั่งให้ไปรับตำแหน่งหัวหน้าทีม Z-16 ปกป้องฐานเรดาร์ที่ยอด “ภูผาที” ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๗๘๖ เมตร
ด้วยเรดาร์ Tactical Air Control and Navigation - TACAN บนยอดผาสำคัญมาก เพราะทำหน้าที่นำทางเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ โจมตีเวียดนามเหนือได้แม่นยำไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นเช่นใด ทั้งนี้สหรัฐฯ เลือกผาทีเป็นที่ตั้งเรดาร์โดยให้ชื่อรหัสว่า Lima Site 85 (LS-85) มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๖ โดยวางกำลังทหารม้งราว ๘๐๐ นายอยู่เชิงเขาเพื่อปกป้องฐาน
วันที่ “โยธิน” ถูกเรียกไป เขาบันทึกว่า ผาทีถูกข้าศึก “ล้อมไว้หมดแล้ว” และมีข้อมูลว่าก่อนที่เขาจะไป ในเดือนมกราคม ๑๙๖๘ ฝ่ายเวียดนามเหนือส่งเครื่องบินใบพัดมาโจมตีหนหนึ่ง
ห้าสิบหกปีต่อมา, แขวงหัวพัน สปป.ลาว ผมตามรอยพลตรีจำลองไปยังภูผาทีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำแอด-ภูเลย โดยใช้ถนนลาดยางสภาพค่อนข้างดีออกจากเมืองซำเหนือไปทางทิศตะวันตกราว ๖๐ กิโลเมตรเพื่อเข้าสู่เส้นทางลูกรังขึ้นสู่ผาที เรื่องที่น่าขบขันคือ ผมใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเพื่อไปให้ถึงตีนผา แต่คนม้งแถบนี้ขี่มอเตอร์ไซค์ฮอนด้าเวฟราวกับไปปิกนิกในสวนสาธารณะใกล้บ้าน
ปัจจุบันผาทีไม่ใช่ดอยลึกลับหรือขึ้นยาก มีบันไดซีเมนต์ตรงเชิงผา ต่อด้วยบันไดเหล็กไต่ขอบผาไปจนถึงยอด ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในแขวงเชียงขวาง คนในท้องถิ่นเรียกที่นี่ว่า “ผาถี่” อันหมายถึงที่ที่เต็มไปด้วยหน้าผา คนม้งที่นี่เชื่อว่าผาถี่เป็นที่สถิตของเจ้าป่าเจ้าเขา ความโดดเด่นคือมีลักษณะคล้ายแท่งหินยอดตัด ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาสูงสลับซับซ้อน
อย่างไรก็ตามที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว “กึ่งเปิดกึ่งปิด” ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ทหารก่อนขึ้น หรือมีไกด์ท้องถิ่นนำไป ไม่อย่างนั้นทหารที่เชิงดอยก็จะไม่อนุญาต เนื่องจากทางขึ้นสูงชันและหมอกจัด
ซากฐานเรดาร์ TACAN ของสหรัฐฯ บริเวณยอดผาที ซึ่งครั้งหนึ่งทีม Z-16 ของไทยปกป้อง ก่อนถูกยึดโดยทหารเวียดนามเหนือและปะเทดลาวในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๘
ซากที่ดูคล้ายฐานปืนใหญ่บนยอดผาที อยู่ใกล้อดีตที่ตั้งฐานเรดาร์
ผมใช้เวลา ๒ ชั่วโมงบนบันไดเหล็กที่ทะลุสายหมอกขึ้นไปยัง “หลังแป” ก่อนจะพบว่าบนนั้นมีทหารลาวรักษาการณ์อยู่ ๑๓ คน พวกเขาเล่าว่าจะเปลี่ยนเวรกับทหารเชิงดอยทุกเดือน ใกล้อาคารที่พักชั้นเดียวของพวกเขา ซากปืนใหญ่ของอเมริกันยังตั้งตระหง่านและมีอาวุธปืนกลตั้งแสดง
อ้าย (พี่) ทหารลาวอัธยาศัยดีชี้ให้ผมเดินไปตามทางด้านหลังซึ่งลัดเลาะไปตามที่ราบด้านบน ริมทางมีไม้ไผ่ทาสีแดงปักเอาไว้สื่อสารกับผู้มาเยือนว่าอย่าออกนอกทาง เนื่องจากยังมีกับระเบิดที่ไม่ได้เก็บกู้
ผมเดินไปจนพบลานเฮลิคอปเตอร์เก่าที่มีวัชพืชขึ้นคลุมเขียวไปทั้งลาน ตอนนั้นเป็นเวลา ๑๐.๓๐ น. หมอกยังลงจัด ไม่ต่างกับที่ “โยธิน” เล่าว่า เมื่อลงจากเฮลิคอปเตอร์ “อากาศเย็นมาก หมอกลงเป็นประจำ บางครั้งยืนห่างกัน ๕ เมตร มองหน้ากันไม่เห็น”
เดินต่อไปผมก็พบกองหินหน้าตาประหลาด ซึ่งเมื่อหมอกลงต่ำเรี่ยดินทำให้บรรยากาศชวนวังเวง
ย้อนกลับไป ๕๖ ปีที่แล้ว ต้น ค.ศ. ๑๙๖๘ ฐานทหารไทยทีม Z-16 ที่มีราวหนึ่งกองร้อย (ประมาณ ๔๐ คน) น่าจะตั้งอยู่บริเวณนี้และกระจายกำลังชุดละ ๑๐ คนไปป้องกันตามขอบผา
กองหินประหลาดที่ผมเจอน่าจะเป็นกองเดียวกับที่ “โยธิน” บันทึกว่าวันหนึ่งเขาออกไปหลังบังเกอร์แล้วพบว่า “เป็นลานกว้าง ๆ มีหินโผล่ขึ้นมาเหนือดินวางเรียงกันตามธรรมชาติเป็นแถว ๆ ดู ๆ แล้วคล้ายไม้กางเขน ถ้าโชคร้าย ผมคงอยู่ที่สุสานตรงนั้นเอง”
ปลายทางเดินเลยกองหินนี้ไปคือจุดสูงสุดของผาที มีซากฐานปืนใหญ่ สนามเพลาะ หลุมบุคคล และแผ่นเหล็กลักษณะคล้ายด้านหนึ่งของตู้คอนเทนเนอร์วางอยู่
ตอนที่ผมไปถึงอากาศบนยอดผาทีเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวมีละอองฝนโปรย ไม่นานก็มีฝูงแมลงตัวเล็ก ๆ บินว่อนขึ้นมาจากหน้าผา
ตามบันทึกของ “โยธิน” ตรงนี้คือฐานเรดาร์ที่เจ้าหน้าที่เทคนิคของกองทัพอากาศอเมริกัน ๑๖-๑๘ คนทำงานอยู่ มีทหารม้งภายใต้การนำของ “พันตรีซัวย่า” ป้องกัน ส่วนตีนดอยที่ “โยธิน” บินเลยมาเป็นกำลังลาดตระเวนชาวม้งของร้อยเอกเกียตู้ที่นายพลวังเปาไว้วางใจ
“โยธิน” เล่าว่ามีการเตรียมป้องกันยอดผาแต่ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะคนท้องถิ่นต้องการขึ้นไปเก็บดอกฝิ่นทำให้วางรั้วลวดหนามไม่ได้ โดยไม่กี่วันก่อนถูกโจมตีมีการซักซ้อมแผนป้องกัน แต่นายทหารสัญญาบัตรที่สำคัญ รวมถึงครูปืนใหญ่ก็ทยอยติดธุระบินกลับอุดรธานีกันไปหมด พอถึงบ่ายวันที่ ๑๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ มีรายงานการวางสายโทรศัพท์ของข้าศึกเข้าใกล้ผาที
ภาพจากหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สปป.ลาว เขียนว่า “ทหารรับจ้างไทย ถูกจับเป็นเชลยศึกในบั้น*รบผาถี่ แขวงหัวพัน ปี ๑๙๖๙”
(*ภาษาลาวคำว่า “บั้น” ในที่นี้หมายถึงสมรภูมิ)
ซากปืนใหญ่อเมริกันสมัยสงครามเย็น ถูกทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ บริเวณหน้าที่พักทหาร สปป.ลาว ซึ่งรักษาการณ์อยู่บนหลังแปของผาที
ที่เชิงดอย ร้อยเอกเกียตู้ปฏิเสธการส่งกองโจรออกลาดตระเวน เพราะ “ข้าศึกยกมาหลาย (มาก)” กำลังป้องกันฐานเรดาร์จึงมีแต่ทีม Z-16 ของไทยและพันตรีซัวย่าเท่านั้น ต่อมาข้าศึกถล่มด้วยปืนใหญ่ในช่วงเย็น ทำให้ทหารม้งของพันตรีซัวย่าถอนจากจุดป้องกันเพื่อเตรียมหนี การขอเครื่องบินมาโจมตีทางอากาศใช้เวลาถึง ๔๕ นาที ผิดจากที่ตกลงกันว่าเพียง ๕ นาที
ซ้ำเมื่อมาโจมตี ทิ้งระเบิด ก็ดูเหมือนไม่ถูกเป้าหมาย
ในที่สุดกลางดึก “หน่วยคอมมานโดแต่งชุดดำก็ขึ้นมาบนผาทีเต็มพรืดไปหมด” “โยธิน” เล่าว่ากำลังกลุ่มนี้มีราว ๕๐ คน เคลื่อนเข้าหา บก. Z-16 ที่เขาอยู่กับลูกน้องอีกแค่หกคน “โยธิน” จึงให้ทุกชุดยิงปืนครกลงรอบฐานอันเป็นวิธีที่เสี่ยงมาก
สถานการณ์ลดความรุนแรงในช่วงเช้า ในที่สุดหน่วยเหนือก็ให้ถอนกำลังเพราะข้าศึกยังซ่อนตัวอยู่รอบผา “อเมริกันส่งเครื่องบินสกายไรเดอร์มาบินวนรอบเชิงผา ยิงกดหัวข้าศึกไว้ก่อน แล้วจอลลี่กรีน เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยขนาดใหญ่จึงร่อนลงรับบนผา” เขาเล่าว่าการถอนกำลังใช้เวลาเป็นวัน “ผู้ใหญ่ฝ่ายไทย อเมริกัน และแม้ว (ม้ง) ต่างงงงันไปตาม ๆ กัน ว่าข้าศึกจำนวนมากมายขึ้นไปบนภูผาทีได้อย่างไร เพราะบริเวณที่ข้าศึกเข้าตีนั้นเป็นที่ขึ้นยาก เป็นเขาสูงชัน...” โดยเชื่อกันว่าข้าศึกน่าจะขึ้นทางฝั่งที่ทหารไทยอยู่ซึ่งขึ้นง่ายกว่า
ขณะที่พลเอกบัญชรใช้งานค้นคว้าของ เสวต ศรีประยูร คนไทยที่ทำงานกับ Air America ที่วิเคราะห์ว่า ผาทีแตกเพราะปืนใหญ่ที่เชิงดอยถูกทำลายหมด จากนั้นหน่วยแซปเปอร์ ๓๓ คนก็ปีนหน้าผาฝั่งที่ชันที่สุดบุกขึ้นบนยอด ซึ่งฝ่ายไทยและอเมริกันคาดไม่ถึง
ศึกนี้ช่างเทคนิคกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ทำงานบนผาที ๑๖ คน เสียชีวิต ๑๒ คน รอดเพียง ๔ คน
บันทึกของ พล.อ.ต. ริชาร์ด ซีคอร์ด (Richard Secord) ซึ่งช่วงเกิดสงครามมียศพันตรีรับผิดชอบดูแลช่างเทคนิคอเมริกันบนยอดผาโดยตรงระบุว่า ข่าวกรองของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เห็นล่วงหน้าว่าข้าศึกจะบุก “ทหารไทยและม้งไม่น่าจะปกป้องช่างเทคนิคอเมริกันได้ เราขอหน่วยรบพิเศษหนึ่งหมู่ (๑๐ นาย)...แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ...” จนเขาต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธเอง
“ซำเหนือ” เมืองเอกของแขวง (จังหวัด) หัวพัน สปป.ลาว ภาพถ่ายใน ค.ศ. ๒๐๒๔ อดีตฐานที่มั่นของฝ่ายปะเทดลาว ซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาวในยุคสงครามเย็น
ส่วนคำร้องขออื่น ไม่ว่าการสแตนด์บายเฮลิคอปเตอร์ เตรียมหน่วยรบพิเศษ ทิ้งระเบิดปูพรมรอบผา ไม่ได้รับการอนุมัติหรืออนุมัติล่าช้า ทำให้พลอากาศตรีริชาร์ดวิจารณ์เอกอัครราชทูตอเมริกันในกรุงเวียงจันทน์ที่มีอำนาจเต็มสั่งการปฏิบัติการของ CIA ในลาวว่าเป็น “ตัวอันตราย” สำหรับการป้องกันผาที
ยังปรากฏข้อมูลใน กองร้อยปืนใหญ่ SUNRISE : สละชีพในลาวเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย หรือ SR6 ว่า เมื่อประจำที่เมืองสุย พวกเขาส่งกำลังไปสนับสนุนบนผาที ๑๕-๑๖ นาย แต่เล่าต่างจาก “โยธิน” ว่า ทหารปืนใหญ่ร่วมรบตลอดเวลาและยันข้าศึกจนถึงเช้า พอตกบ่ายก็ผลักดันข้าศึกส่วนหนึ่งได้ ก่อนถูกสั่งให้ถอนตัวโดยมีทีม Z-16 และทหารม้งตามมาด้วยในระหว่างที่อเมริกันส่งเครื่องบินขับไล่มาทิ้งระเบิดทำลายอุปกรณ์บนยอดผาหลายเที่ยว พลเอกบัญชรยังเสนอบันทึกของ พ.อ. สานิตย์ บูรณกสิพงษ์ หนึ่งในทีม SR6 ที่ระบุว่ามีทหารปืนใหญ่อีกสองคนที่ไปฝึกทหารลาวบนผา ซึ่งหมายถึงมีทหารปืนใหญ่ถึงสองกลุ่มบนผาขณะเกิดการเข้าตี
บันทึก SR6 เล่าต่อว่า พวกเขาขึ้น ฮ. กลับล่องแจ้ง (ฐานทัพใหม่ของนายพลวังเปาหลังเสียบ้านป่าดง) ไปพบ “โยธิน” และทีม Z-16 ที่ “มาถึงกันก่อนแล้ว” โดยนายพลวังเปาขอให้ช่วยยึดผาทีคืน ขณะที่ “โยธิน” ชี้แจงว่าต้องไปปรับกำลังที่อุดรธานีก่อน
ในมุมทหาร SR6 เมื่อเจอ “โยธิน” ก็ “เข้าใจว่า ‘โยธิน’ อยู่ในการรบที่ภูผาทีด้วยและมาถึงก่อนจึงมารอรับ แต่ได้ทราบข้อเท็จจริงภายหลังว่า ‘โยธิน’...ลงมา ‘อุดฟัน’ ที่อุดรธานี และ ‘เทพ’ ได้พบ และสั่งให้ ‘โยธิน’ กลับไปปฏิบัติหน้าที่...จึงได้ไปทำเสมือนรอรับกำลังที่มาจากการรบที่ภูผาที”
ฉากจริงของเหตุการณ์นี้ยังเป็นปริศนามาจนปัจจุบัน (ค.ศ. ๒๐๒๔)
หลังเหตุการณ์ที่ผาทีไม่นาน กองร้อย SR8 (ชุดที่ ๘) ก็ต้องออกจากเมืองสุยในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๙ หลังทหารราบลาวฝ่ายเป็นกลางถอยจากแนวหน้า ทำให้ทหารเวียดนามเหนือเคลื่อนเข้ามาโจมตีได้โดยไม่มีอุปสรรค ทำให้
SR8 ต้องป้องกันตัวเองโดยมีทหารปืนใหญ่ไทยเพียงสองหมวดรับมือทหารเวียดนามเหนือกับรถถัง ๑๐ คัน
กองร้อยปืนใหญ่ SUNRISEฯ ระบุว่า “เกิดการรบประชิดกับฝ่ายเราตลอดคืนวันที่ ๒๓ มิถุนายน” โดยที่ตั้งปืนใหญ่แนวหน้าที่ภูโสโดนทำลาย เช้าวันต่อมาพวกเขาก็ได้ยินเสียงรถถัง
แบบ PT-76 ของข้าศึกมาใกล้จนต้องขอเครื่องบินขับไล่มาทำลายรถถัง หลังจากนั้นก็ต้องอาศัย ฮ. เคลื่อนย้ายถึง ๒๔ เที่ยวบินเพื่อขนกำลังพล ๓๕๐ นายไปตั้งหลักที่ล่องแจ้ง
ถอนตัวออกมาหลังรบอยู่ ๔ วัน ๔ คืน
จุดยุทธศาสตร์และสมรภูมิของเสือพรานไทย
ทางด้าน “ตะวันตกเฉียงใต้” ของทุ่งไหหิน
ปรับปรุงจากแผนที่ในหนังสือ สงครามลับในลาว Secret War in Laos เขียนโดย พล.อ. สายหยุด เกิดผล
“ล่องแจ้ง”
แนวรับสุดท้าย
ระหว่างทหารไทยรบอยู่ในลาวแบบลับ ๆ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๖๘ พระราชอาณาจักรลาวมีการเลือกตั้งตามวาระ แต่ไม่มีการเปลี่ยนรัฐบาล นายพลพูมีลี้ภัยการเมืองเข้ามาอยู่ในไทย (ค.ศ. ๑๙๖๕) หลังความพยายามทำรัฐประหารเจ้าสุวันนะพูมาล้มเหลว
ในสมรภูมิ นายพลวังเปามีบทบาทมากขึ้นในฐานะผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ ๒ ที่ดูแลสนามรบด้านตะวันออกเฉียงเหนือครอบคลุมบริเวณทุ่งไหหิน
ในภาพรวมฝ่ายพระราชอาณาจักรฯ เสียพื้นที่เขตภูเขาสูงมากขึ้น ขณะที่ในสหรัฐฯ ยุคประธานาธิบดีนิกสันเผชิญกระแสต้านสงครามจนหันมาใช้นโยบาย Vietnamization โอนภาระในสนามรบให้ทหารเวียดนามใต้มากขึ้นและมี
นโยบายถอนทหารจากอินโดจีน
รัฐบาลไทยของจอมพล ถนอม กิตติขจร เฝ้าดูสถานการณ์ด้วยความกังวล ด้วยตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๗ ไทยส่งทหารระดับกองพัน (กองพันจงอางศึก) และระดับกองพล (กองพลเสือดำ) ไปรบในเวียดนามใต้ เลือกข้างแบบเต็มตัว
ไทยยังต้องเพิ่มทหารสู่สนามรบในลาวมากขึ้น เพราะต้น ค.ศ. ๑๙๗๐ ทุ่งไหหินแทบทั้งหมดถูกฝ่ายปะเทดลาวยึดครอง ทหารม้งถอยร่นมาตั้งแนวป้องกันบริเวณกลุ่มพู (ภูเขา) ในพื้นที่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของทุ่งไหหิน
รัฐบาลเจ้าสุวันนะพูมาขอความช่วยเหลือทางทหารจากไทยเพิ่มเติม รัฐบาลไทยจึงเริ่ม “โครงการ VP” (Vang Pao) เตรียมทหารราบสามกองพัน (Infantry Vang Pao - IVP11-13) กองร้อยปืนใหญ่สองกองพัน (Artillery Vang Pao - AVP1-2) โดยดึงกำลังจากหน่วยทหารประจำการ เช่น ศูนย์การทหารปืนใหญ่ลพบุรี และกรมผสมที่ ๑๓ อุดรธานี มาสร้างหน่วยรบ และตั้งกองบัญชาการ
“เฉพาะกิจวีพี” (ฉก.วีพี) ขึ้นที่ล่องแจ้ง เพื่อประสานงานกับนายพลวังเปาอย่างใกล้ชิด
ที่ปรึกษาอเมริกัน (CIA) กับบรรยากาศการป้องกันเมืองล่องแจ้ง
ปฏิบัติการใช้ลำโพงส่งเสียงรบกวนเวียดกงของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในภาพไม่สามารถระบุสถานที่ว่าเป็นน่านฟ้าไหนในอินโดจีน
ภาพ : USAPA/NARA II
งานค้นคว้าของพลเอกบัญชรระบุว่า กำลังชุดนี้ถูกส่งไปช่วงต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ เข้าสู่สนามรบทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม หน่วยแรกที่ไปถึงคือ AVP1 ขึ้นประจำบนเนินเขาติดเมืองล่องแจ้งที่เรียกว่า “สกายไลน์” เปิดการยิงสกัดข้าศึกที่อยู่ห่างไป ๖ กิโลเมตรจนป้องกันเมืองเอาไว้ได้ แล้วก็รุกต่อด้วยการยึดซำทองซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของล่องแจ้งด้านทิศเหนือคืนจากข้าศึก จากนั้นส่งกำลังเข้าตรึงแนวบริเวณภูล่องมาด บ้านนา เพื่อสร้างแนวรับทหารเวียดนามเหนือที่จะหลากมาจากทุ่งไหหิน
การรบที่รุนแรงที่สุดของกำลังพลชุดนี้เกิดขึ้นที่บ้านนา ฐานที่มั่นแนวหน้าติดทุ่งไหหินซึ่งหน่วย IVP13 และ AVP1 ไปตั้งอยู่ สองหน่วยนี้ถูกข้าศึกเข้าตีช่วงเดือนพฤศจิกายนจนเสียกำลังไปครึ่งหนึ่ง พอเดือนธันวาคมก็ถูกรุกด้วยกำลังขนาดใหญ่จนถูกปิดล้อมในช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๗๑ ผลคือการส่งกำลังบำรุงทางอากาศทำไม่ได้
พลตรีประจักษ์ “หัวหน้าใจ” ระบุใน นรกบ้านนา ถึงบรรยากาศการรบในสมรภูมินี้ว่า หนหนึ่งต้องมีปฏิบัติการช่วยหน่วยที่ติดอยู่ในวงล้อมอย่างยากลำบาก สถานการณ์รุนแรงจนถึงขั้น “เทพ” ผบ.สูงสุดของ บก.ผสม ๓๓๓ ยอมเสี่ยงเดินทางไปดูสนามรบด้วยตนเองในเดือนมีนาคม
เมื่อไปเห็นสภาพสนามรบ เทพคาดหมายว่าการรบที่รุนแรงที่สุดกำลังจะมาถึง
ปืนใหญ่ป้องกันเมืองล่องแจ้ง (สำเนาภาพจากบริเวณอดีตที่ประทับตากอากาศของเจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวัดทะนา เมืองล่องแจ้ง)
“สงครามลับ” ฉบับ สปป.ลาว เล่าต่างกับฉบับของไทย ยิ่งถ้าดูของสหรัฐอเมริกา เวียดนาม ฯลฯ ก็ยิ่งแตกต่างกันมากขึ้นไปอีก
อนุสรณ์สถานมีจารึกอักษรลาว แปลเป็นไทยได้ว่า “ชาติจารึกบุญคุณ พนักงานนักรบผู้เสียสละชีวิตเพื่อชาติ เพื่อประชาชน” ในเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน สปป.ลาว
เสือพราน
เพื่อชาติ
และปากท้อง
กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๑ รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งหน่วยทหารใหม่คือ “ทหารเสือพราน” (ทสพ.) สองกองพันแรกคือ BC603 และ BC604 เคลื่อนกำลังมาลงที่สนามบินล่องแจ้งเพื่อเสริมกำลังและทดแทนหน่วยเดิม
พลเอกบัญชรอ้างเอกสารราชการชิ้นหนึ่งว่า “ทหารเสือพราน” ถูกนิยามว่าเป็น “หน่วยกองโจร...รบนอกแบบและในแบบได้อย่างจำกัด” จัดกำลังแบบ “...กรมทหารราบเบา...” กำหนดให้แต่ละกองพันมี ๕๕๐ คน มาจากทหารประจำการ ๕๓ คน (นายทหาร ๙ คน นายสิบ ๔๔ คน) ที่เหลือเป็น “อาสาสมัคร” รับจากทหารเกณฑ์ใกล้ปลดประจำการ ทหารกองหนุน (ผ่านเกณฑ์ทหาร) และประชาชนทั่วไปที่ผ่านการทดสอบ
ตลอดสงครามไทยส่งทหารเสือพรานไปรบทั้งหมด ๓๖ กองพัน (สามกองพันเป็นทหารปืนใหญ่) ตาม “โครงการเอกภาพ” ที่เริ่มขึ้นช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๗๐ อย่างไรก็ตามการยอมให้กำลังส่วนมากเป็นอาสาสมัคร เอกสารชิ้นเดียวกันก็ยอมรับว่า “ทำให้หน่วยมีประสิทธิภาพลดลงมาก” ในแง่ปฏิบัติการเมื่อเทียบกับทหารประจำการ
เสมียน เป็งอินต๊ะ หนึ่งในอาสาสมัครที่ไปรบปีนั้นเล่าว่า คนที่อาสาไปรบแบบเขาส่วนมาก “อยากได้เงินตั้งตัว ตอนทราบข่าว ผมอายุ ๒๔ ปี เพื่อนมาบอกก็ไปถามที่ค่ายพญาเม็งรายในตัวเมืองเชียงราย จ่าทหารบอกว่าที่นี่ไม่ได้เปิดรับ ให้ไปสมัครที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น” เสมียนเล่าว่าเขาดวงดีเพราะพอถึงที่ค่าย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นกำลังเปิดรับ เมื่อผ่านทดสอบ “ผมจำได้ว่าฝึกราว ๒ เดือน มีการใช้อาวุธ การฝึกรบในป่า ฝึกเสร็จก็ได้กลับบ้านราว ๑ อาทิตย์ จากนั้นก็กลับมารวมพลแล้วขึ้นเครื่องบินไปลาว”
ในส่วนทหารประจำการ พล.ต. เจริญ เตชะวณิช “หัวหน้าภูเสน” นายกสมาคมนักรบนิรนาม ๓๓๓ เล่าว่า ปีนั้นเขาจบโรงเรียนนายร้อยโดยเป็นรุ่นพิเศษที่ถูกบังคับจบ ๓ ปี “จปร. ๔-๗ สี่รุ่นนี้เข้าสู่สนามรบมากที่สุด แต่เขายังไม่ให้ปริญญา ภายหลังให้มาเรียนอีกครึ่งปีถึงให้ ที่ทำแบบนี้เพราะตอนนั้นผู้หมวดขาดแคลน เขาต้องเอานักเรียนนายร้อยไปใช้” โดยเมื่อไปประจำที่กรมทหารราบที่ ๓๑ จังหวัดลพบุรี ก็เปิดรับทหารประจำการไปรบในลาวในฐานะหมวดป้องกันฐานปืนใหญ่ “สมัยนั้นผมทราบว่าลาวมีสนามรบสามที่ คือ เชียงลม (ลาวเหนือ) ล่องแจ้ง (ลาวกลาง) ปากเซ (ลาวใต้) ไอ้เราก็จะรบทั้งทีจะไปทำไมเบา ๆ การอาสาไปรบในลาวไม่ลับ ตอนนั้นข่าวสงครามเวียดนามก็ดังอยู่แล้ว พอมีข่าวเรื่องลาวคนก็ติดตาม เปิดรับเขาก็ไปสมัครกัน”
พลตรีเจริญเล่าถึง “อาสาสมัคร” ที่เขาต้องคุมไปรบว่า “หนึ่งคือห้าว เป็นทหารเกณฑ์ที่กำลังจะปลดประจำการ เราชวนกันไป สองคือโจร หนีคดีมาก็มี คนดี ๆ ไม่มีใครอยากไปตาย คุมคนเหล่านี้ต้องใช้ใจ ผมขอหน่วยเหนือว่า ขอคุมการฝึกและเขียนหลักสูตรเอง บอกผู้พันว่ากองร้อยกินอย่างไรผมไม่ทราบ แต่หมวดผมเงินต้องมาเต็มจำนวน ไม่ใช่ให้ ๑๐ บาท ๓ บาทหายลูกน้องผมต้องกินดีนอนดี ผมวางหลักสูตรกับผู้หมวดอีกสองคน เราฝึกหน่วยที่ลพบุรี หมวดผมมี ๔๐ คน ๘ คนเป็นทหารประจำการ นอกนั้นอาสาสมัครทั้งหมด”
สัญลักษณ์กองพัน BC626 รูปช้างสามเศียรยืนบนแท่น ใต้เศวตฉัตร มีดวงตะวันสีแดงเป็นฉากหลังและสัญลักษณ์ทหารเสือพรานไทย
พระเครื่องที่นายทหารไทยอัญเชิญติดตัวไปรบ
(อนุเคราะห์และอนุญาตให้ถ่ายภาพโดย พล.ต. เจริญ เตชะวณิช)
ทหารเสือพรานอีกท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ช่วงฝึกจะได้รับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงเหมือนตอนเข้าสู่สนามรบ ดังนั้นจึงมีคนส่วนหนึ่งมาเพราะต้องการสวัสดิการนี้ แต่พอฝึกสักพักก็ “หนีทหาร” อาศัยช่วงปล่อยกลับบ้านไม่กลับมาหน่วยอีก เมื่อกรณีแบบนี้มากเข้า หน่วยเหนือก็แก้ลำด้วยการ “สัก” บนต้นคอทหารที่จบการฝึก ใคร “เวียนเทียน” (ตั้งใจตีเนียนกลับมารับเงินเดือนฟรีอีกรอบ) แล้วถูกพบรอยสัก ก็โดน “ซ่อม” จนงอมพระราม
สวัสดิการเสือพรานนั้นล่อใจเพียงใด เห็นได้จากอัตราเงินเดือน ๑,๗๐๐ บาท กรณีเป็นพลทหารก็มากกว่าข้าราชการชั้นตรีในยุคนั้นที่ได้เพียงประมาณ ๙๐๐ บาทแล้ว โดยหากผ่านการฝึกหลักสูตรพิเศษหรือมีตำแหน่งพิเศษในกองร้อยก็จะได้รับเงินเพิ่มอีก เช่น พลวิทยุสื่อสารจะได้รับเงินเพิ่มเดือนละ ๑๐๐ บาท โดยเงินเดือนจะถูกส่งตรงไปยังครอบครัว ส่วนเบี้ยเลี้ยงจะถูกจ่ายในสนามรบ โดยจะได้เบี้ยเลี้ยงวันละ ๑๕ บาท (มีข่าวลือว่าจำนวนเต็มคือ ๕๐ บาท) โดยจะหักตามสัดส่วนการทำอาหารอาจเหลือประมาณ ๑๐ บาท
นอกจากนี้ในช่วงแรกยังมี “ค่าหัว” กรณีนำศพ หัว หรือหูของข้าศึกกลับฐานได้ก็จะได้รับเงินสดเป็นโบนัสพิเศษจาก CIA ถ้าหากเสียชีวิตครอบครัวจะได้รับเงินหลักแสน ถ้ารอดจากสนามรบไปได้ สิ่งที่ได้คือเงินโบนัสราว ๘,๐๐๐ บาท และหลักฐานสำหรับขึ้นทะเบียนทหารผ่านศึก ซึ่งจะได้รับสวัสดิการตามที่รัฐบาลกำหนดในภายหลัง
ดังนั้นในอีกมุมหนึ่ง นี่คือการ “ขุดทอง” ไม่ต่างจากการไปทำงานต่างประเทศ
ร้อยตรีเจริญอธิบายให้ผมฟังว่า เขาทราบดีว่ากำลังไปรบกับใคร และต้องไป “สู้นอกบ้านเพื่อไม่ให้ข้าศึกเข้ามาถึงบ้าน” ขณะที่ทหารระดับล่างหลายคนบอกผมว่า พวกเขารู้เพียง “ฝรั่งจ้างไปรบ” บางคนก็พอทราบว่าศัตรูคือ “ลาวแดงและแกว” เท่านั้น
เสมียนเล่าอีกว่า เมื่อเขาถูกส่งไปที่สนามบินล่องแจ้ง “จำได้ว่ารอบ ๆ มีแต่ดอยสูง หลังจากนั้นผมถูกส่งไปเนินสกายไลน์ ตอนนั้นก็ยิงกันแล้ว กลางคืนผมเห็นกระสุนส่องวิถียิงมา เรายิงสวนเขาก็เงียบไป”
หลังจากนั้นก็ถูกส่งไปยังจุดยุทธศาสตร์สำคัญริมขอบทุ่งไหหินทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เช่น ภูผาไซ เมืองกาสี เมืองวังเวียง แยกศาลาภูคูน ภายใต้การบัญชาการของ “บก. สิงหะ” ที่ดูภาพรวมของสนามรบในทุ่งไหหินทั้งหมด
สมรภูมิเลือด
ทุ่งไหหิน-ปากเซ-เชียงลม
“...เคลื่อนพลด้วยเท้า ฝ่าพายุฝน...เครื่องบินไม่สามารถทิ้งระเบิดสู่ที่หมายได้...ถูกปลิงทากเกาะดูดกินเลือด...เป็นความโหดสุดทารุณยิ่งกว่าการฝึก...”
บรรยากาศการสู้รบไม่ว่าจะฝ่ายไหนในช่วงสงคราม คงไม่ต่างไปจากภาพทหารฝ่ายปะเทดลาวรบในทุ่งไหหิน ค.ศ. ๑๙๖๐ ภาพนี้
“ทุ่งไหหิน” อยู่บนที่ราบสูงด้านตะวันออกเฉียงเหนือของลาว เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามเวียดนาม เพราะเชื่อมกับเส้นทางโฮจิมินห์ ทุกฝ่ายจึงต้องการยึดทุ่งนี้ให้ได้
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า “ไหหิน” คือร่องรอยวัฒนธรรมฝังศพในยุคโบราณ แต่ในสมัยสงครามลับ ที่นี่คือสมรภูมิซึ่งรบกันรุนแรงที่สุด
ต้น ค.ศ. ๑๙๗๑
เพื่อเตรียมแนวรับ เสือพราน BC603 และ BC604 เข้าตั้งฐานทางด้านตะวันออกของล่องแจ้งป้องกันเมืองล่องแจ้งเอาไว้ได้สำเร็จ และเพื่อช่วยหน่วยทหารไทยที่ถูกปิดล้อมที่บ้านนา BC605 และ BC606 เคลื่อนเข้าโจมตีหน้าแนวสกายไลน์และมุ่งไปช่วย IVP3 และ AVP1 โดยเข้าตีที่ถ้ำตำลึง บ้านหินตั้ง แล้วมุ่งสู่บ้านนา โดยภายหลังทั้งสองหน่วยโดนข้าศึกล้อมจนต้องถอนตัว
ต่อมาการเข้าตีของ BC603 และ BC604 ไม่สำเร็จ อีกทั้งยังเกิดการทิ้งระเบิดผิดพลาดจนทำให้ BC605 เสียหายอย่างหนัก แต่ในแง่ดีก็ดึงความสนใจของข้าศึกออกมาจากบ้านนาได้
Battle For Skyline Ridge เล่าถึงมุมมองทหารเวียดนามเหนือในเหตุการณ์เดียวกันว่า เขาเห็นว่าฝ่ายทหารเสือพรานไทยและอเมริกันโจมตีอย่าง “บ้าคลั่ง” และเข้าใจผิดว่ามีการใช้ B-52 ทิ้งระเบิดใส่ พวกเขาจึงสับสนกับท่าทีข้าศึก ก่อนจะทราบว่าเป็นการถอนตัวจากที่มั่นและเมื่อไล่ติดตามก็ “ไม่ทันต่อเหตุการณ์...สังหารข้าศึกได้เพียงจำนวนน้อยและจับเชลยศึกได้เพียง ๓๐ คนเท่านั้น” โดยพันเอกเหงวียนชวง ผู้บังคับการกรม ๑๗๕ ที่เข้าตีบ้านนา ยังประหลาดใจที่ล่องแจ้งยังไม่แตก เขาจึงสั่งให้รักษาพื้นที่บ้านนาไว้
กองพันทหารเสือพรานไทยยังพยายามผลักดันกำลังข้าศึกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของทุ่งไหหิน
ชาลี คเชนทร์ (เฉลิมชัย ธรรมเวทิน) อดีตผู้ตรวจการณ์อากาศยานหน้า (FAG) บันทึกภาพสนามรบระยะนี้ในสงครามลาว ยุทธภูมิล่องแจ้ง ว่า BC605 และ BC606 “...เคลื่อนพลด้วยเท้า ฝ่าพายุฝน...เครื่องบินไม่สามารถทิ้งระเบิดสู่ที่หมายได้...ถูกปลิงทากเกาะดูดกินเลือด...เป็นความโหดสุดทารุณยิ่งกว่าการฝึก...” และยังอาจถูกซุ่มยิงตลอดเวลา ต้องไม่ยิงออกไปโดยไม่จำเป็นเพราะจะเป็นการบอกตำแหน่งให้ข้าศึก
ร่องรอยแนวสนามเพลาะเก่าสมัยสงคราม
และถ้ำขนาดเล็กบริเวณทุ่งไหหิน ๑ (Plain of Jars Site 1) ภายในมีปล่องอากาศ สมัยสงครามเป็นที่หลบภัยของคนท้องถิ่น และเป็นที่เก็บเสบียง อาวุธ ฯลฯ
เรื่องที่พวกเขาทำสำเร็จคือ เนินสำคัญทางทิศเหนือของสกายไลน์อยู่ในมือทหารเสือพรานไทยทั้งหมด อย่างไรก็ตามการขยายแนวรบไปทางตะวันออกเฉียงเหนือก็ทำให้เกิดความเสี่ยงกับแนวหลังที่ล่องแจ้ง
พลเอกบัญชรเปิดเผยเอกสารกองพันปืนใหญ่ทหารเสือพรานของ ร.ท. สัญชัย บุณฑริก-สวัสดิ์ “ผาอิน” ว่า ต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๑ ทหารม้งเป็นฝ่ายได้เปรียบในทุ่งไหหินอีกครั้งเป็นฝ่ายรุก และทหารเสือพรานจะเข้ารักษาจุดยุทธศาสตร์ภายหลัง
ถึงเดือนมิถุนายน มีเสือพรานไทยในทุ่งไหหินแปดกองพัน คือทหารราบ BC603-BC610 และทหารปืนใหญ่ BA635 พวกเขากระจายกันยึดที่มั่นหลายแห่งรอบทุ่ง เช่น ภูเทิง (ด้านตะวันออกสูง ๑,๕๔๘ เมตร) ภูเซอ (ด้านตะวันตก) ภูเก็ง (ด้านเหนือ สูง ๑,๔๓๓ เมตร) ภูผาไซ (ด้านใต้สูง ๒,๑๐๐ เมตร) มีฐานปืนใหญ่ห้าฐาน คือซีบร้า (Zebra), อีเกิล (Eagle), คอบร้า (Cobra), ไวต์ฮอร์ส (White Horse) และโซดา (Soda) ต่อมาเพิ่มฐานยิงคิงคอง (King Kong), แพนเทอร์ (Panther), มัสแตง (Mustang), สติงเรย์ (Stingray), ไลอ้อน (Lion) เข้าไปอีก (ดูแผนที่ประกอบ) โดยแผนนายพลวังเปาตอนนี้คือป้องกันทุ่งไหหินให้ได้ ให้เสือพรานไทยยึดตำแหน่งยุทธศาสตร์ แล้วให้ประชาชนเข้าไปทำมาหากิน ส่วนทหารม้งก็จะรุกเข้าหาซำเหนือเพื่อทำลายเส้นทางคมนาคมและตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุง
ด้านสมรภูมิลาวใต้ที่เมืองปากซัน แขวงสะหวันนะเขต ติดชายแดนไทย มีเพียงแค่แม่น้ำโขงคั่น ถูกกองทหารของปะเทดลาวและเวียดนามเหนือรุกเข้ามาใกล้ เสือพรานไทยกองพัน BC601 และ BC602 เข้าสู่สนามรบเขตนี้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ โดยไปจากสนามบินค่ายจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี ลงที่เมืองปากเซ ใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าสู่บ้านห้วยทราย ที่ราบสูงบอละเวน ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๐ กิโลเมตร
ร.อ. ลอยด์ ดับเบิลยู. ม็อต (CPT Lloyd W. Mott) ที่ปรึกษาด้านสงครามจิตวิทยา รับฟังรายงานสถานการณ์บริเวณรอยต่อพรมแดนลาว กัมพูชา เวียดนาม ใน ค.ศ. ๑๙๖๖ ที่ฐานทัพอากาศเตินเซินเญิ้ต เวียดนามใต้ ทั้งนี้ปฏิบัติการทางอากาศในลาวส่วนหนึ่งมาจากเวียดนามใต้โดยตรง
ภาพ : SP4/Jerome McCavitt/U.S. Air Force Photo/NARA II
แผนที่สถานการณ์รบบริเวณลาวใต้ของฝ่ายปะเทดลาว ค.ศ. ๑๙๗๑
ต้นปีถัดมา ทั้งสองกองพันตั้งรับการบุกและสังหารข้าศึกถึง ๑๓๑ ราย
พลตรีเจริญ “หัวหน้าภูเสน” เล่าว่า การรบบริเวณนี้เป็นไปในลักษณะ “รุกไปตามถนน” ปลายทางคือชายแดนเวียดนามด้านทิศตะวันออก ภายใต้ ฉก. ผาสุก เป้าหมายคือยึดที่ราบสูงบอละเวนจุดยุทธศาสตร์สำคัญเอาไว้ให้ได้ การรบเกิดขึ้นตลอดปี และบอกว่าตัวเขาติดยศร้อยตรีเข้าไปในลาวเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ ในฐานะผู้บังคับหมวดระวังป้องกันกองพันปืนใหญ่ BA636 ที่แยกกองร้อยปืนใหญ่ ๑๐๕ มม. เข้าไปเสริมกำลังในลาวใต้ (ส่วนหลักขึ้นไปทุ่งไหหิน)
“ผมไปเริ่มที่ กม. ๘ แต่อาสาไปแนวหน้ากับทหารราบ รบไปตามถนนสาย ๒๓ จาก กม. ๘ ถึง กม. ๕๘ เข้าเมืองปากซอง ใช้เวลาตีจากเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๑”
ร้อยตรีเจริญเฉียดตายหลายหน เช่น ขณะลำเลียงเสบียงส่งแนวหน้าขบวนรถถูกซุ่มยิง “ผมนั่งอยู่ในรถ จรวดอาร์พีจีเฉียดศีรษะ คนขับเสียชีวิตผมโดดลงไปหลบริมทางก็โดนห่ากระสุนปืนถล่ม ความรู้สึกคือตายแน่ เป็นครั้งแรกที่ตัวสั่นแต่เสือ (นักเลง) ที่สมัครมารบด้วยกันบอก หัวหน้า ตั้งสติ ใจเย็น แล้วมันก็กอดเราไว้” หลังจากนั้นเขาสั่งยิงโต้ แม้ทำให้อีกฝ่ายถอย แต่ขบวนรถก็เสียหาย
พอใกล้ปีใหม่ เสือพรานไทยก็ต้องถอยเมื่อเจอกองกำลังเวียดนามเหนือขนาดใหญ่ “เราถอยลงมาจนถึง กม. ๒๑ แทบจะเริ่มต้นใหม่ เราคุมคนไม่อยู่ เจอกับรถถัง โดนถล่มจนต้องถอย ปืนใหญ่ก็ต้องทิ้งไว้”
การรบตอนนี้จึงมีรูปแบบ “ยันกันไปมา” แย่งยึดพื้นที่ของอีกฝ่ายไปตลอดจนถึงระยะหยุดยิง
ในขณะที่ภาคเหนือ บริเวณเชียงลม แขวงไชยบุรี ติดกับจังหวัดน่าน เป็นการรบชิงพื้นที่ ผลัดกันรุกผลัดกันรับภายใต้การนำของ บก. เฉพาะกิจ (ราทิกุล) เสือพรานไทยหลายหน่วยเข้ายึดพื้นที่และรักษาฐาน บ้างก็รักษาไว้ได้ แต่อีกส่วนก็ต้องถอนกำลังออกมาเข้าสู่จังหวัดน่าน นอกจากนี้ยังกังวลในกรณีที่จีนเริ่มตัดถนนจากมณฑลยูนนานลงมาในลาวและเข้าใกล้ชายแดนไทยบริเวณแขวงไชยบุรี
ค.ศ. ๑๙๗๑ กองทัพเวียดนามใต้เคลื่อนเข้าโจมตีเส้นทางโฮจิมินห์ในลาวใต้ใน “ปฏิบัติการลามเซิน ๗๑๙” รุกมาตามถนนหมายเลข ๙ จุดดำบนแผนที่แทนฐานปืนใหญ่ชั่วคราว
ภาพ : U.S. Air Force Photo/NARA II
ฤดูแล้ง, ปลาย ค.ศ. ๑๙๗๑ สถานการณ์วิกฤตอีกครั้งเมื่อกำลังเวียดนามเหนือ ๗ กรมทหารราบ (๒๑ กองพัน/กองพันละ ๖๐๐ คน/หรือประมาณ ๑๒,๖๐๐ คน) เข้าสู่ทุ่งไหหิน โดยส่วนหนึ่งเคลื่อนที่แบบลับ ๆ ไปเตรียมเข้าตีสกายไลน์ เมืองล่องแจ้ง เมืองซำทอง อีกส่วนเตรียมเข้าตีทหารม้งและฐานปืนใหญ่ทหารเสือพรานไทย มีรายงานการเคลื่อนกำลังอย่างคึกคักทางตอนเหนือของทุ่ง
ฝ่ายเวียดนามเหนือระบุว่านี่คือการเตรียมทำศึกใน “Campaign Z” ที่จะยึดทุ่งไหหินและทำลายล่องแจ้งให้ได้
ยุทธศาสตร์ตั้งรับของนายพลวังเปาคือ ให้ทหารม้งประมาณ ๑,๘๐๐ คน ทำสงครามกองโจรในแนวหน้า แจ้งเตือนการมาของข้าศึกโดยเลี่ยงการรบแตกหัก ส่วนทหารเสือพรานไทยที่ขณะนั้นอยู่ในทุ่งไหหินประมาณ ๔,๐๐๐ คน จะกระจายไปตามฐานต่าง ๆ จะคุ้มกันฐานปืนใหญ่ ให้ฐานปืนใหญ่ยิงทำลายข้าศึกโดยมีกำลังทางอากาศของอเมริกันสนับสนุน
ปลายธันวาคม บันทึกของทหารเสือพรานหลายคนบอกว่า มีการยิงโจมตีฐานปืนใหญ่ในทุ่งไหหินเป็นระลอก ที่ฐานยิงไลอ้อน (ภูเทิง) “ภูสิน” ที่ประจำอยู่บันทึกว่า เขารู้สึกว่าศัตรูกำลัง “ปรับวิถีการยิง”
ฐานยิงอีกสองแห่งที่ถูกยิงโจมตีคือฐานยิงคิงคอง (ภูเก็ง) และมัสแตง (บ้านโตน) นอกจากนี้ยังมีการใช้ปืนใหญ่ ๑๓๐ มม. ที่ยิงได้ไกลทำให้ฝ่ายปะเทดลาวและเวียดนามเหนือได้เปรียบ ทหารม้งหลายหน่วยยังทิ้งที่มั่น ทำให้ทหารเสือพรานไทยต้องปะทะข้าศึกตรง ๆ โดยไม่มีการตีตัดกำลังข้าศึกก่อน
ภาพถ่ายทางอากาศจากการลาดตระเวนของเครื่องบินรบสหรัฐฯ เห็นการเคลื่อนย้ายปืนใหญ่ ๑๒๒ มม. ของขบวนการปะเทดลาวในสมรภูมิ ภาพนี้ถ่ายหลังเซ็นสัญญาหยุดยิงใน ค.ศ. ๑๙๗๓
ภาพ : U.S. Air Force Photo/NARA II
โบราณสถานในเชียงขวางเสียหายจากการทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ใน ค.ศ. ๑๙๖๙
เวียดนามเหนือเปิดฉากโจมตีเสือพรานไทยเต็มอัตราในคืนวันที่ ๑๘ ธันวาคม เปิดยุทธการด้วยการถล่มด้วยปืนใหญ่ ๑๕๕ มม. แล้วส่งกำลังเข้าตีฐานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและใต้ของทุ่งไหหิน โดย BC609 เป็นกองพันแรกที่ต้องรับมือการโจมตีของข้าศึก
“ภูสิน” บันทึกว่ากองพัน BC609 ที่ปกป้องฐานยิงไลอ้อนโดนถล่มจนไฟไหม้ แต่ก็ยังรักษาฐานไว้ได้ ส่วนที่ฐานยิงคิงคอง (ภูเก็ง) BC606 และ BC608 ก็โดนถล่มจนรอง ผบ. ฐานยิงเสียชีวิต
Battle For Skyline Ridge ระบุว่า การโจมตีหนนี้ทำลายคลังกระสุนที่ฐานยิงไลอ้อนจน “เกิดการระเบิดขนาดใหญ่ ส่งสะเก็ดระเบิดและชิ้นส่วนต่าง ๆ สาดไปไกลหลายร้อยเมตร ควันระเบิดรูปดอกเห็ดมหึมาปกคลุมไปทั่วพื้นที่ด้านตะวันออกของทุ่งไหหิน” และระบุว่าจากการสังเกตการณ์ของ “ฮาร์ดโนส” เจ้าหน้าที่ CIA ที่เสี่ยงขึ้น ฮ.ไปลงดูสถานการณ์ที่ฐานยิงสติงเรย์พบว่า “เสียงโต้ตอบทางวิทยุจากทหารไทยทั่วทุ่งไหหินระงมไปทั่ว...นอกบังเกอร์ก็เต็มไปด้วยเสียงปืนเล็กและระเบิดขว้าง”
นอกจากฐานสติงเรย์และคอบร้า “ฮาร์ดโนส” บันทึกว่า ฐานยิงอื่นยากที่จะเข้าถึง เพราะถูกโจมตีหนักเช่นกัน
“ภูสิน” ที่อยู่ในฐานไลอ้อน บันทึกในคืนวันที่ ๑๘ ธันวาคมว่า สำหรับเขา นี่เป็น “คืนที่เนิ่นนาน”
ศึกชิงล่องแจ้ง
เมืองล่องแจ้ง สปป.ลาว,
ฤดูแล้ง ค.ศ. ๒๐๒๔
หลังใช้เวลา ๑๒ ชั่วโมงบนถนน ผมพบว่าล่องแจ้งมีร่องรอย “สงครามเย็น” ชัดเจน
โดยเฉพาะรันเวย์สนามบินลับ “Lima Site 20” (LS20) ที่อยู่กลางเมืองซึ่งได้เปลี่ยนหน้าที่จากให้เครื่องบินขึ้นลงกลายเป็นถนน ลานกีฬา ลานเลี้ยงวัว ฯลฯ ของคนท้องถิ่น
จากการสำรวจผมพบว่ารันเวย์ยาวราว ๒ กิโลเมตร วางตัวแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ รอบรันเวย์คือเมืองล่องแจ้งและถนนสายย่อย บ้านนายพลวังเปาตั้งอยู่บนถนนสายที่วิ่งขนานด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสนามบินซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ทำการของหน่วยงานราชการ สปป.ลาว
ทิบ บุนคง ทหารฝ่ายปะเทดลาว ยิงเครื่องบินรบอเมริกันตกในแขวงเชียงขวาง ภาพถ่ายระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๗๔ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทิ้งระเบิดอย่างหนักในทุ่งไหหิน
“ล่องแจ้ง” ทหารไทยซึ่งไปรบในลาวคุ้นเคยกับเมืองนี้ในฐานะ “แนวหน้า/แนวรับสุดท้าย” ของนายพลวังเปา ผู้นำชาวม้งกับทหารของเขา เพื่อช่วยรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาวรบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ทุ่งไหหิน
ค.ศ. ๒๐๒๔ อดีตรันเวย์สนามบินลับ Lima Site 20 ยังคงอยู่กลางเมืองล่องแจ้ง ชาวเมืองใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ เลี้ยงสัตว์ เล่นกีฬา ทางสัญจร ฯลฯ ภาพนี้ถ่ายจาก “ผาพระเจ้า” ฉากหลังทางซ้ายคือเนินสกายไลน์ (ภูหมอก) ทางขวาเป็นถนนสายหลักของเมืองภาพ : “ไอติม”
หลักกิโลเมตรและป้ายจราจรระหว่างทางไปเมืองล่องแจ้ง
อดีตบ้านนายพลวังเปาในเมืองล่องแจ้ง ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ทำการ
ของหน่วยงานรัฐ
ปลายรันเวย์ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นอกจากมีค่ายทหารตั้งอยู่ ยังมีเนินเขาเล็ก ๆ คนล่องแจ้งเรียก “ผาพระเจ้า” บนยอดผายังมี “หินวังเปา” ซึ่งในรูปเก่าบางใบจะเห็นท่านนายพลขึ้นไปนั่ง มองลงไปยังรันเวย์สนามบินที่มีเครื่องบินทหารขึ้นลงขวักไขว่
ภูเขาที่วางตัวขนานกับรันเวย์ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือคือ “ภูหมอก” ซึ่งบันทึกทางทหารเรียกว่า “เนินสกายไลน์” สมัยสงครามเย็น ความสูงของเนินนี้คือกำแพงปกป้องตัวเมืองล่องแจ้งจากการโจมตีที่มาจากทางเหนือ บนยอดเนินคือที่ตั้งทางทหาร
ในเมืองยังปรากฏกลุ่มอาคารที่มีฐานคอนกรีตหลายหลังถูกดัดแปลงเป็นที่ทำการหน่วยงานรัฐของ สปป.ลาว เจ้าของล่องแจ้ง View Guesthouse ที่ผมไปพักคือบุนปอน อดีตเจ้าเมือง (ผู้ว่าฯ) ล่องแจ้งเล่าว่า ตอนที่มาทำงานในเมืองนี้ครั้งแรกใน ค.ศ. ๒๐๑๒ ได้ยินคนที่นี่กล่าวถึงนายพลวังเปาว่า “ลุงเปา” สมัยนั้นยังมีม้งที่ต่อต้านรัฐบาล สปป.ลาว (ฝ่ายชนะสงคราม) โดยม้งกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “เจ้าฟ้า” ด้วยความเชื่อว่าพวกเขาคือผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะมากอบกู้สถานการณ์ของคนม้งในพื้นที่
“ผมไปคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ที่เคยทำงานกับวังเปา เพื่อที่จะทำงานในพื้นที่นี้ให้ได้” อดีตเจ้าเมืองเชื่อว่า หากพัฒนาเศรษฐกิจ คนอยู่ดี กินดี การต่อต้านก็จะลดน้อยลง และสถานการณ์ในช่วงหลังก็สงบลงมาก จนท่านเกษียณอายุและมาทำธุรกิจส่วนตัว
การอพยพประชาชนออกจากล่องแจ้งในช่วงสงครามและนายพลวังเปา
ย้อนไปราวครึ่งศตวรรษ - - ๑๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๑
ฐานทหารเสือพรานไทยบนทุ่งไหหินถูกโจมตีทุกฐาน โดยเฉพาะด้านตะวันออกและทางเหนือ
“ผาอิน” บันทึกว่าข้าศึกเข้าตีฐาน BC609 บนภูเทิง มีการใช้อาวุธหนัก “กระแสคลื่นมนุษย์ของข้าศึกหนุนเนื่องเข้า พัน.ทสพ. ๖๐๙ (BC609) ‘ไชยบุรี’ ทุกทิศทาง” พอตกเย็นการรบก็เข้าสู่ระดับ “พันตู” ด้วยฐานปืนมัสแตง (บ้านโตน) ถูกรถถังเข้าตีฐาน BC609 ก็ถูกโจมตี ขณะที่ฐานยิงไลอ้อนต้องยิงช่วย BC609 และยิงสนับสนุนฐานอื่น
๑๗.๐๐ น. มีรายงานว่าข้าศึกถึงยอดภูเทิง ตอนนั้น “ภูสิน” “...ได้ยินเสียงรุ่นพี่ท่านหนึ่งใช้ชื่อรหัสว่า “อินทนิล” พูดออกวิทยุซ้ำ ๆ อยู่ประมาณ ๒-๓ ครั้งก็เงียบหายไป...ผมจำได้ติดหู ‘มัสแตง ไลอ้อน สติงเรย์ ใครได้ยินเสียงผมแล้วช่วยยิงแตกอากาศกลางฐานให้ผมด้วย เพราะเป็นทางเดียวที่ผมจะรอดอยู่ได้”
ทั้งนี้ “การยิงแตกอากาศ” คือการยิงใส่ฐานฝ่ายเดียวกัน ต้องมั่นใจว่าฝ่ายเดียวกันมีที่กำบังปลอดภัย เพราะข้าศึกที่อยู่นอกที่กำบังจะโดนกระสุนปืนใหญ่ระเบิดเหนือฐาน ๒๐ เมตร
“ภูสิน” บันทึกว่าเขาพยายามขอให้ “อินทนิล” ถอนตัวมาที่ฐานยิงไลอ้อน “แต่ไม่ได้รับเสียงตอบ” จึงอำนวยการยิงไปที่ BC609 แบบปูพรม เมื่อฐาน BC609 ถูกยึด ฐานยิงไลอ้อนอยู่ห่างมาทางตะวันตกก็ต้องถอยไปรวมกับ BC605 และถอนตัวไปทางตะวันตกเฉียงใต้
เจ้าอาวาสวัดล่องแจ้งกับพระประธานของโบสถ์ที่อัญเชิญมาจากเมืองไทย ผนังโบสถ์ด้านในอยู่ระหว่างการบูรณะ
“วัดล่องแจ้ง” ในเมืองล่องแจ้ง มีเรื่องเล่าว่าทหารไทยมีส่วนช่วยนายพลวังเปาสร้างใน ค.ศ. ๑๙๖๓ โดยใช้ช่างจากอุดรธานี สร้างโบสถ์ วิหาร และกุฏิ อย่างละหนึ่งหลัง
ส่วนที่ฐานยิงมัสแตง BC603 และ BC607 ก็ต้องถอนตัวเช่นกัน “ผาอิน” เล่าว่าจากจุดนี้ ทหารเสือพราน “หนีกระเซอะกระเซิงไปในทิศทางต่าง ๆ กันท่ามกลางการยิงสกัดของข้าศึกอย่างรุนแรง จึงตกเป็นเหยื่อกระสุนของข้าศึกและถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก” ขณะที่ฐานยิงคิงคอง คอบร้า สตริงเรย์ แพนเทอร์ ยังรักษาเอาไว้ได้ แต่ในที่สุด ๒๐ ธันวาคม เสือพรานก็สูญเสียฐานทั้งหมดบนทุ่งไหหิน
ถอยมาที่แนวรับสุดท้ายคือล่องแจ้ง
ตลอดเดือนมกราคม-มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ เกิดการรบใหญ่บริเวณเมืองซำทอง ล่องแจ้ง เนินสกายไลน์ถูกเข้าตีอย่างหนัก ในที่สุดก็เสียเมืองซำทอง ทำให้ต้องถอนกำลังทั้งหมดลงมาตั้งฐานปืนใหญ่และทหารราบบนเนินสกายไลน์และเนินที่อยู่ขนานทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสนามบิน
ต้นเดือนมีนาคม BC601 BC602 ถูกส่งมาเสริมจากสะหวันนะเขต และ BC620 ที่เพิ่งผ่านการฝึกเสร็จสิ้นจากสนามบินน้ำพองก็ถูกส่งขึ้นเครื่องบินมาลงจอดที่ล่องแจ้งท่ามกลางห่ากระสุน
ทหารเวียดนามเหนือยังส่งกำลังรถถังเข้าเมืองซำทองและเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ล่องแจ้ง แต่ก็ถูกสกัดเอาไว้ด้วยทุ่นระเบิดและการโจมตีทางอากาศ
เที่ยงคืนวันที่ ๒๘ ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ ๒๙ มีนาคม คำขอเครื่อง B-52 ปูพรมทิ้งระเบิดจาก CIA และกองพันเสือพรานได้รับการตอบรับจากทัพฟ้าสหรัฐฯ มีการทิ้งระเบิดที่ซำทอง สกายไลน์ (ที่จุดยุทธศาสตร์บางส่วนโดนยึด) ขยายแนวไปยังภูผาไซ และในทุ่งไหหิน
ผลคือกองกำลังเวียดนามเหนือที่นำโดยกรม ๑๔๘ และ ๑๗๔ ต้องถอนตัว
“สปอตไลท์” (นามแฝง) ผู้นำอากาศยานหน้าที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์สรุปว่านี่คือ ๑๗ วันอันตราย “๗ วันแรก การรบอย่างฉกาจฉกรรจ์เกิดขึ้นที่ซำทองซึ่งเราสูญเสียพื้นที่ หลังจากนั้นอีก ๑๐ วัน เป็นการรบที่ล่องแจ้งซึ่งฝ่ายเราป้องกันอย่างเหนียวแน่น”
ในที่สุดฝ่ายเวียดนามเหนือก็ยกเลิกความพยายามเข้ายึดล่องแจ้ง
ทหารไทยกลุ่มที่คุ้นเคยกับล่องแจ้งคือ “เสือพราน” ที่เดินทางไปรบในช่วงท้ายๆ ของสงครามลับ
เครื่องบิน T-28 จอดอยู่บนรันเวย์สนามบินล่องแจ้ง (สำเนาภาพจากบริเวณอดีตที่ประทับตากอากาศของเจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวัดทะนา เมืองล่องแจ้ง)
พิธีลงนามใน “สนธิสัญญาเวียงจันทน์” ๑๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๗๓
หยุดยิง
ต่อมาฝ่ายเสือพรานไทยและนายพลวังเปาก็พยายามรุกเอาทุ่งไหหินคืน
แต่ทหารม้งและเสือพรานไทยจำนวนมากไม่ทราบว่า ช่วงกลาง ค.ศ. ๑๙๗๒ นายพลวังเปาบินไปสหรัฐฯ อย่างเงียบ ๆ เพื่อหาที่ลี้ภัยยามฉุกเฉินในรัฐมอนแทนา
ในระยะเดียวกัน ยังเป็นครั้งแรกที่ทางการไทยเปิดรับอาสาสมัครไปรบในลาวจากประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านการเกณฑ์ทหารหรือมีประสบการณ์ในการรบ
พ.อ. ยงยุทธ ทุ่งพรวน เล่าว่า เขาเป็นหนึ่งในกองพัน BC624 ในส่วนของทหารประจำการ ที่เข้าไปเสริมกำลังปกป้องล่องแจ้งโดยไปขณะมียศสิบตรี ทำหน้าที่ฝึกทหารอาสาที่ภูมิหลังมาจากประชาชนทั่วไปได้ราว ๒ เดือนก็เดินทางไปกับกองพัน BC624 “ตอนนั้นมีข่าวว่าล่องแจ้งรบหนัก มีข่าวการแตกทัพ กองพันละลาย เป็นที่รู้และกลัวกันมาก ผมเองสมัครไปรบที่เชียงลม (ลาวเหนือ) เขาไม่ได้จะบอกว่าจะไปลงสนามบินไหน รู้อีกทีก็เครื่อง C-130 ไปแวะเติมน้ำมันที่สนามบินอุดรธานี ก็มั่นใจแล้วว่าต้องพาเราไปล่องแจ้งแน่
“พอใกล้ถึงเขาประกาศเลยว่า ลูกยาว (ปืนใหญ่) กำลังลงเครื่องจะแท็กซี่ (วิ่งบนรันเวย์) ไม่จอดนิ่ง เปิดฝาท้ายเครื่อง ให้ทหารทุกคนแบกถุงสัมภาระไปท้ายเครื่องแล้วลงไปทางซ้ายและขวา จำได้ว่าทั้งฝนตก ทั้งเสียงปืนใหญ่ ตอนนั้นก็นึกในใจว่าตายแน่งานนี้”
ต้นเดือนพฤษภาคม ทหารเสือพรานไทยและกำลังทหารม้งก็ยึดเมืองซำทองกลับมาได้
เจ้าสุพานุวง (คนกลางภาพข้างคนสวมแว่นดำ) ที่ท่าอากาศยานวัดไต กรุงเวียงจันทน์ ภายหลังลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ
สิบตรียงยุทธถูกส่งไปที่ซำทอง ก่อนจะไปภูผาไซเพื่อเข้ายึดที่หมายทางยุทธศาสตร์ “ซำทองเพิ่งโดนทิ้งระเบิดใหม่ ๆ ผมยังทันเห็นอาคารไฟไหม้ ที่ทำการหน่วยราชการ โรงพยาบาล ยังควันโขมง ทหารไทยตายตรงนี้มากเพราะมีกองพันหนึ่งถอนตัวไม่ทัน โดน B-52 ทิ้งระเบิดซำทองที่ผมไปรักษาก็คือเมืองร้าง พอไปภูผาไซก็โดนจู่โจมตลอดทาง แต่ก็ยึดที่หมายได้สองสามแห่ง เราไปยึดเชิงเขา ข้าศึกอยู่บนยอดเขา ยิงปืนใหญ่มาก็ข้ามหัวเราลงไปที่สนามเฮลิคอปเตอร์ที่เราใช้ส่งเสบียงอาหาร”
พันเอกยงยุทธยังอยู่ในยุทธการตีเมืองสุยภูคุ้ม เช่นเดียวกับเพื่อนอีกหลายคนที่อาสาไปรบในลาว ด้วยตลอด ค.ศ. ๑๙๗๒ สหรัฐฯ พยายามถอนตัวในอินโดจีนอย่างเต็มที่ ทำให้ด้านหนึ่งมีการเจรจากับฝ่ายเวียดนามเหนือ (โดยรวมกรณีของลาว) อีกด้านหนึ่งก็พยายามแย่งยึดพื้นที่ในสมรภูมิให้ได้มากที่สุด เพื่อความได้เปรียบบนโต๊ะเจรจา
แน่นอนว่าฝ่ายปะเทดลาวและเวียดนามเหนือก็ทำเช่นเดียวกัน
เมื่อมีการลงนามใน “สนธิสัญญาปารีส” ระหว่างสหรัฐฯ เวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ และรัฐบาลปฏิวัติชั่วคราว (เวียดกงในเวียดนามใต้) โดยมีเรื่องของลาวพ่วงไปด้วย ในที่สุด ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๓ ก็มีการลงนามใน “สนธิสัญญาเวียงจันทน์” ซึ่งต่อมาจะทำให้เกิด “รัฐบาลผสมชุดที่ ๓” ของลาว
แต่ครั้งนี้รัฐบาลพระราชอาณาจักรฯ ตกเป็นรองในสนามรบ ต้องยอมรับเงื่อนไขให้กรุงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง “เป็นกลาง” โดยทั้งฝ่ายเวียงจันทน์และปะเทดลาวจะมีกำลังตำรวจเท่ากัน กำลังทหารต่างชาติต้องถอนออกจากลาว ที่สำคัญคือตำแหน่งใน ครม. ครึ่งหนึ่งจะเป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงแขวงซำเหนือและแขวงพงสาลีได้ โดยรัฐบาลอเมริกันกดดันอย่างเต็มที่ให้เจ้าสุวันนะพูมายอมลงนาม ในขณะที่เจ้าสุวันนะพูมาก็ต้องการหยุดยิงให้เร็วที่สุด
โรเบิร์ต เอส. แม็กนามารา รมว. กลาโหมสหรัฐฯ ขณะเยือนเวียดนาม ๑๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๖ แม็กนามารามีบทบาทและรับรู้เรื่องเกี่ยวกับสงครามลับในลาว
ภาพ : SP5 JAMES I. HATTOM, USA SPECIAL PHOTO DET, PACIFIC/NARA II
แน่นอนว่าผลการลงนามในสนธิสัญญาสองฉบับนั้นไม่ได้ทำให้เวียดนามเหนือถอนกำลังแต่อย่างใด โดยยืนกรานว่าตนไม่มีกองทหารในลาว
ในทางทฤษฎี ทหารเสือพรานไทยก็ต้องหยุดยิง พันเอกยงยุทธเล่าว่าตอนนั้นเขาอยู่ที่ภูพันเก้าและมีโอกาสคุยกับข้าศึก “มันก็ถือธงขาวมา เราก็ถือธงขาว เจรจากัน เขาแต่งตัวดีมาคุยกับเรา ทำให้เข้าใจว่าความเป็นอยู่ดี แต่เราเคยยึดฐานเขา ทำไมจะไม่รู้ว่าเขาก็ขุดรูอยู่ (หัวเราะ) ก็คุยกันด้วยภาษาไทยกับลาว เขาก็มาขอบุหรี่สูบ เขาก็บอกว่ารับคำสั่งมารบ มันก็นักรบไม่แตกต่างจากเรา”
สันติชัย อินทนะ อาสาสมัครเสือพรานที่ไปกับกองพัน BC624 ซึ่งเข้าสู่สมรภูมิในห้วง “แย่งยึดพื้นที่” เล่าถึงช่วงก่อนและหลังทำสนธิสัญญาเวียงจันทน์ว่า เขาอยู่ที่ภูพันเก้า “ก่อนจบสองสามวันมันเอาเราหนัก ตายกันเยอะ พอหยุดยิงเขาอยู่ห่างเรา ๓๐๐ เมตร เจรจากันครั้งแรกเอาผ้าขาวผูกไม้ออกมาคุยกันฝั่งละ ๓ คน มันบอก ‘ข้อยมาดี’ แล้วก็จกบุหรี่สูบกัน ส่วนมากเขาขอเรา อยู่ด้วยกันบนเนินเดียวกันนั่นแหละ เหล้าห้ามกินเดี๋ยวยิงกัน คุยเรื่องลมฟ้าอากาศกันไป ไม่คุยเรื่องการเมือง”
บุญยัง ไชยชมภู อาสาสมัครเสือพรานที่ไปกับกองพัน BC626A แล้วจบภารกิจที่ภูสูงเล่าว่าช่วงสงบศึกเขา ว. (วิทยุ) ติดต่อกับข้าศึก “มันฝากซื้อของ ‘อ้ายไปซื้อนาฬิกาข้อมือให้ข้อยบ้างเด้อ’ เราก็ตอบไป ‘เอ้อ ถ้าได้ไปจะซื้อมาให้เด้อ’”
โรเจอร์ วอร์เนอร์ ที่ศึกษาการทำสงครามของ CIA สรุปว่า ความพยายามของวังเปาและเสือพรานไทยทำให้สนามรบข้าง ๆ คือในเวียดนาม เวียดนามเหนือโจมตีเวียดนามใต้ไม่ได้ถนัดนักแต่ความเปลี่ยนแปลงที่ล่องแจ้งหลังการสงบศึกก็ชัดเจน เพราะถึงตอนนี้ CIA ก็เริ่มถอนคนและเครื่องมือ “ยุคสมัยที่ล่องแจ้งคึกคักจอแจไปด้วยกองทหารในฐานะเมืองยุทธศาสตร์สำคัญจะไม่หวนกลับมาอีก กระท่อมไม้ไผ่ร้างและโรงทหารร้างเรียงรายไปตามไหล่เขา...ตอนนี้มีผู้คนเหลืออยู่ราวครึ่งเดียวจากเมื่อก่อน”
เส้นตายการถอนทหารต่างชาติออกจากลาวทั้งหมด คือวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๓
แต่กว่าเสือพรานไทยจะถอนกำลังออกได้ทั้งหมดก็ล่วงเข้าเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๔
ความทรงจำเรื่อง “สงครามลับ” ในไทย ส่วนมากเป็น “ความทรงจำส่วนบุคคล” บอกเล่ากันในกลุ่มคนที่สนใจเท่านั้น
“อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” งานวันทหารผ่านศึก ๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๔ กรุงเทพฯ
ทหารผ่านศึกจากสมรภูมิต่าง ๆ เดินสวนสนามจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผศ.) ถนนราชวิถีไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
บทสุดท้ายของ “ไทย”
ในพระราชอาณาจักรลาว
ช่วงท้ายของสงครามลับ ขณะที่เสือพรานเริ่มถอนกำลังกลับ รัฐบาลทหารของจอมพลถนอมล้มลงด้วยเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ รัฐบาลที่เข้ามารับช่วงต่อเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
นโยบายที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลทหาร รวมไปถึงการส่งทหารไทยไปรบในลาว ถูกมองว่าผิดพลาดและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้อง “แก้ไข” ไทยมีนโยบายถอนตัวจากความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้านชัดเจน ยังไม่นับการเดินขบวนขับไล่ฐานทัพสหรัฐฯ ของขบวนการนักศึกษาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เห็นได้จาก เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๔ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกฯ ไทย (ขณะนั้น) ส่งสารแสดงความยินดีที่ลาวตั้งรัฐบาลผสมชุดที่ ๓ ได้ โดยหวังว่าจะนำมาซึ่ง “ยุคแห่งสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของชาติ และประชาชนชาวลาว” (ข่าวพาณิชย์, ๙ เมษายน ๒๕๑๘)
แต่ผ่านไปเพียงหนึ่งปี- -เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ กรุงพนมเปญของกัมพูชาถูกกองกำลังเขมรแดงยึด กรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ถูกกองกำลังเวียดนามเหนือยึด ในลาว ฝ่ายปะเทดลาวละเมิดข้อตกลงหยุดยิง เข้ายึดศาลาภูคูน
นโยบายการส่งทหารไทยไปรบในลาวรัฐบาลทหาร ถูกมองว่าผิดพลาด และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้อง “แก้ไข”
เจ้าฟ้าชายวงสะหว่าง มกุฎราชกุมาร ทรงอ่านแถลงการณ์สละราชสมบัติของพระราชบิดา เจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวัดทะนา ในวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ เป็นจุดสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ในลาว
ถ้าเชื่อทฤษฎีอเมริกัน ตอนนี้ “โดมิโน” ล้มลงสองตัว และสงครามในลาวก็ทำท่าจะไม่จบ
ไรอันชี้ว่าผู้ที่มีอำนาจแท้จริงคือรัฐมนตรีฝ่ายปะเทดลาวที่ยึดเก้าอี้ใน ครม. กว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนครม. ฝั่งเจ้าสุวันนะพูมาเต็มไปด้วย “ฝ่ายเป็นกลางที่ต้องการสันติภาพ” จนถอยแทบทุกเรื่อง องค์กรที่ตั้งใหม่คือ “คณะมนตรีผสมสามฝ่าย” (Joint National Political Council - JNPC) นำโดยเจ้าสุพานุวง ก็ “มีอำนาจเหนือรัฐบาล ศาล หรือกระทั่งสภาแห่งชาติ” ในเดือนต่อมายังมีการประท้วงขนาดใหญ่กดดันเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายขวาให้ลาออก มีการล้อมสถานทูตสหรัฐฯ (๘-๙ พฤษภาคม) จนองค์กรต่าง ๆ ของอเมริกันต้องยุติการทำงาน
ตอนนี้ฝ่ายปะเทดลาวเสมือนยึดอำนาจได้ และส่งทหารเข้าเมืองใหญ่โดยไร้การต่อต้าน
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ นายกฯ ตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ด้วยการไปเยือนและเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนกรกฎาคม ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางท่านตีความว่า ทำให้การสู้รบกับ พคท. เบาบางลงและช่วยถ่วงดุลอำนาจของเวียดนาม
ภาพที่คาดว่าเป็นเหตุการณ์อพยพผู้คนออกจากเมืองล่องแจ้งช่วงปลายสงคราม
(สำเนาภาพจากบริเวณอดีตที่ประทับตากอากาศ
ของเจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวัดทะนา เมืองล่องแจ้ง)
อนุสาวรีย์ “วีรกรรมทหาร ๓๓๓” บริเวณกรมทหารต่อสู้อากาศยาน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
นักรบนิรนามในสงครามลับมารวมตัวกันในวันทหารผ่านศึก
พวงหรีดแสดงความเคารพทหารผ่านศึกของไทยจากสถานทูตประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐที่ปกครองล้วนเคยเป็นศัตรูของทหารผ่านศึกไทยในสงครามเวียดนามและสงครามลับ แต่ในโลกยุคใหม่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านเป็นไปด้วยดี ต่างฝ่ายต่างพยายามมองเรื่องราวนี้ในฐานะประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง
ในไทย ทหารเสือพรานประจำการที่เคยไปรบในลาวส่วนมากกลับมารับราชการ บางคนรบกับ พคท. ในป่าเขา อีกส่วนหนึ่งกลับไปทำมาหากิน บ้างมีเงินติดตัวไปเริ่มชีวิตใหม่ บ้างก็ใช้เงินไปจนหมดแล้ว
กรกฎาคม-พฤศจิกายนปีนี้ยังเกิดกรณีหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ยิงปะทะกับทหารปะเทดลาวจนไทยต้องปิดชายแดน สถานการณ์เข้าใกล้การเกิดสงครามไทยลาว ตึงเครียดอยู่นานนับเดือน
๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ ลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เปลี่ยนชื่อจาก “พระราชอาณาจักร” เป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - สปป.ลาว” เปิดหน้าใหม่ความสัมพันธ์ข้ามฝั่งโขงที่อีกหลายปีกว่าจะกลับสู่ภาวะปรกติ
ขณะที่เรื่อง “สงครามลับ” กระจัดกระจาย สูญหาย กลายเป็นความทรงจำส่วนบุคคลที่ค่อยเลือนหายตามกาลเวลา
“สงครามลับ” และการส่งทหารไทยไปรบในลาว ควรถูกนิยามและอธิบายอย่างไร
คำตอบอยู่ที่ทุกท่านเมื่ออ่านมาจนถึงบรรทัดนี้