EP. 01
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพเก่า : หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สปป.ลาว
* ภาพเก่าและของใช้ส่วนตัวจำนวนหนึ่งที่ปรากฏในสารคดีเรื่องนี้
ได้รับความอนุเคราะห์จากทหารผ่านศึกหลายท่าน
ช้างสามเศียรใต้เศวตฉัตรบนพื้นสีแดง
เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอาณาจักรลาว
(ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๗๕)
รัฐซึ่งหายไปจากแผนที่การเมืองโลก
เมื่อเปลี่ยนระบอบเป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตย
ประชาชนลาว” (สปป.ลาว)
ใน ค.ศ. ๑๙๗๕
ในโลกยุค “สงครามเย็น ๒.๐” บทบาทของไทยในยุคสงครามเย็น ๑.๐ เป็นประวัติศาสตร์ที่ควรทบทวนอีกครั้ง
สมัยเรียนชั้น ป. 2 เมื่อครูให้ระบายสี “แผนที่ประเทศไทย” ผมจำได้ว่าในสมุดระบายสีนั้นเขียนชื่อประเทศรอบด้ามขวานทองเอาไว้เสร็จสรรพ
ด้านทิศตะวันออกเลยแม่น้ำโขงเขียนว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)”
เลยขึ้นไปเกือบถึงขอบกระดาษด้านขวาเขียน “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม”
ยังไม่นับข้างล่างเขียนว่า “กัมพูชาประชาธิปไตย” (ภายหลังทราบว่านั่นคือระบอบเขมรแดง)
คิดแบบเด็ก ๆ ขณะนั้นผมรู้สึกว่าชื่อพวกนี้ยาวและเข้าใจยาก แต่ก็มารู้ตอนโตที่อ่านข่าวต่างประเทศมากขึ้นว่า ชื่อเหล่านั้นบอกอะไรมากมาย
เช่น ประโยค “ประชาธิปไตยประชาชน” และ “สังคมนิยม” บ่งถึงระบบการเมืองการปกครอง
อธิบายย่นย่อคือ ระบอบนี้แม้มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา แต่แหล่งที่มาของอำนาจทั้งหมดมาจากพรรคการเมืองที่มีพรรคเดียว และการผูกขาดเช่นนี้ชอบธรรมเพราะเป็น “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ”
ทำไมเราจึงมีเพื่อนบ้านที่ใช้ “ระบอบคอมมิวนิสต์” ถึงสองประเทศ (สปป.ลาว, เวียดนาม) อยู่ติดเรา ? และทำไมกัมพูชาจึงกลายเป็น “ราชอาณาจักรกัมพูชา” ที่มีระบบการเมืองเหมือนไทย ?
ปัจจุบันเรามีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีกับสามประเทศนี้ แต่เรื่องหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ ไทยมีอดีต “ทั้งรัก-ทั้งชัง” กับเพื่อนบ้านทางด้านทิศตะวันออกมาตลอด
หนึ่งใน “อดีต” ที่ว่าเป็นเหตุการณ์ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950-1970
โลกอยู่ในยุคสงครามเย็น (Cold War) มีชาติมหาอำนาจสองขั้ว คือ สหรัฐอเมริกา (โลกเสรี) กับสหภาพโซเวียต (คอมมิวนิสต์) เผชิญหน้ากันในหลายพื้นที่ทั่วโลก (เพื่อแผ่ขยายอำนาจและปกป้องเขตอิทธิพล) ซึ่งส่วนหนึ่งกลายเป็นสงครามตัวแทนที่รบกันด้วยอาวุธ (Proxy War/Hot War)
สปป.ลาว คือหนึ่งใน “เวทีสงครามร้อน” ซึ่งรบกันรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่ง และไทยก็มีส่วนร่วมในฐานะชาติที่ส่งทหาร (แบบลับ ๆ) ไปรบเพื่อสนับสนุนฝ่ายขวา/ฝ่ายเป็นกลาง (โลกเสรี) สู้กับฝ่ายซ้าย (คอมมิวนิสต์) ที่ช่วงชิงกันขึ้นมามีอำนาจในลาว
ท้ายที่สุดเมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ชัย ไทยก็มี “ประวัติศาสตร์บาดแผล” กับ “ฝ่ายชนะ” ที่เป็นรัฐบาลในดินแดนลาวและเวียดนามมาจนทุกวันนี้
ทว่าความรับรู้ดังกล่าวถูก “ปิดลับ” ในฐานะ “สงครามลับ” มานานกว่า 50 ปี
อย่างน้อยก็ตั้งแต่วันที่ทหารไทยคนสุดท้ายขึ้นเฮลิคอปเตอร์กลับจากสมรภูมิลาว
ค.ศ. ๑๙๗๕,
ทำเนียบรัฐบาล
กรุงเทพฯ
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี มีอารมณ์ไม่สู้ดีนัก ตอบคำถามนักข่าวด้วยน้ำเสียงประชดจนหนังสือพิมพ์เขียนว่ามีหางเสียง “ฮึ” ติดอยู่ตลอดเวลา (เดลินิวส์, ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๘/ค.ศ. ๑๙๗๕)
สาเหตุที่นายกฯ อารมณ์บูด ก็เนื่องจากนับเป็นเวลา ๑๐ วันมาแล้วที่กรณีพิพาทระหว่างหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง (นปข.) กับกองกำลังของลาว (อีกฝั่งน้ำ) ยังไม่จบ ยังไม่นับการประท้วงรายวันในประเทศ ปัญหาร้อยแปดที่ “รัฐบาลประชาธิปไตย” ชุดที่ ๒ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖/ค.ศ. ๑๙๗๓ ต้องเผชิญ
ค.ศ. ๑๙๗๕ ยังเป็นปีที่น่าปวดหัวของ พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องรับมือกับเรื่องร้อนตั้งแต่ต้นปี คือกรณีเวียดนามใต้แพ้สงคราม (๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕) ทำให้มีปัญหาต่อเนื่องมากมาย ในลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฝ่าย “ปะเทดลาว” (คอมมิวนิสต์) มีอำนาจมากขึ้น ลาวเริ่มมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ
ความตึงเครียดตลอดแนวชายแดนไทย-ลาวยังทำให้ทั้งสองฝ่ายเคลื่อนกำลังทหารเข้าใกล้แม่น้ำโขง บ้านของคนเชื้อสายเวียดนาม (ที่สนับสนุนเวียดนามเหนือ) ในภาคอีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดหนองคาย กลายเป็นเป้าหมายของคนไทยที่ไม่พอใจเข้าไปรื้อทำลายและทำร้ายกันจนได้รับบาดเจ็บ
ย้อนกลับไป ๒๕ ปีที่แล้ว เมื่อคราวที่รัฐบาลไทยประกาศรับรอง “พระราชอาณาจักรลาว” ไม่มีใครในแวดวงรัฐบาลไทยคิดว่าสถานการณ์จะเดินมาจนถึงจุดนี้
สงครามเย็นคือภาวะตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจสองขั้วที่ไม่ได้ทำสงครามขนาดใหญ่ต่อกันโดยตรง แต่ทำ “สงครามตัวแทน/สงครามร้อน (Proxy War/Hot War)” ที่รบกันจริงเฉพาะพื้นที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าสีสะหว่างวง กับ มีแชล เบรออาล (Michel Breal) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำพระราชอาณาจักรลาว ค.ศ. ๑๙๕๔
ภาพ : หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สปป.ลาว
ลาวใน
“โลกสองขั้ว”
นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภาพของโลกที่ถูกแบ่งเป็นสองขั้ว/ค่ายอุดมการณ์ชัดเจนขึ้น โลกแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ “โลกเสรี” ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำและ “คอมมิวนิสต์” ที่มีสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) และสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้นำ
นักประวัติศาสตร์เรียกสถานการณ์นี้ว่า “สงครามเย็น” (Cold War)
สงครามเย็นคือภาวะตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจสองขั้วที่ไม่ได้ทำสงครามขนาดใหญ่ต่อกันโดยตรง แต่ทำ “สงครามตัวแทน/สงครามร้อน (Proxy War/Hot War)” ที่รบกันจริงเฉพาะพื้นที่
กรณีของทวีปเอเชีย คือสงครามระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี/เกาหลีเหนือ (Democratic People’s Republic of Korea - DPRK/สนับสนุนโดยจีนกับสหภาพโซเวียต) กับสาธารณรัฐเกาหลี/เกาหลีใต้ (Republic of Korea - ROK/สนับสนุนโดยสหรัฐฯ) ที่จบลงด้วยการหยุดยิงใน ค.ศ. ๑๙๕๓
สงครามร้อนที่เกิดใกล้ไทยที่สุดคือ “สงครามเวียดนาม” ระหว่างเวียดนามเหนือ (สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเหนือ) กับเวียดนามใต้ (สาธารณรัฐเวียดนามใต้) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๗๕
ท้าวกะต่าย ดอนสะโสลิด นายกรัฐมนตรีลาว (คนขวาสุด) ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ กำลังเจรจากับแขกต่างประเทศ
แต่ผู้คนก็มักลืมไปว่าห้วงเวลานั้นมี “สงครามร้อนขนาดย่อม” ซ้อนอยู่ในลาวด้วย
กรณีลาว ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลไทยภายใต้อิทธิพลคณะราษฎรสายพลเรือนนำโดย ปรีดี พนมยงค์ สนับสนุนขบวนการ “ลาวอิสระ” ที่นำโดยเจ้าเพ็ดชะลาดและกลุ่มคนลาวที่เข้ามาเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในภาคอีสานไปพร้อมกับขบวนการเสรีไทยในนาม “เสรีลาว”
ช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังจะแพ้สงคราม “รัฐบาลลาวอิสระ” อาศัยจังหวะที่ฝรั่งเศสยังไม่กลับเข้ามาในอินโดจีน ประกาศเอกราชในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ก่อตั้ง “พระราชอาณาจักรลาว” และพยายามติดต่อกับนานาชาติโดยเฉพาะกับไทย
ขณะที่ไทยกำลังพยายามไม่ให้ประเทศตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามจึงขัดใจฝ่ายพันธมิตรไม่ได้ เอกสารกระทรวงมหาดไทยจำนวนมากรายงานตรงกันว่า ระยะนี้ฝรั่งเศสฉวยโอกาสส่งทหารพลร่มมาลงตามจังหวัดริมน้ำโขงแล้วข้ามเข้าไปโจมตีเมืองต่าง ๆ ในลาวเพื่อยึดเป็นอาณานิคมอีกครั้ง รัฐบาลลาวอิสระต้านได้ไม่นานก็ต้องข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงเทพฯ ใน ค.ศ. ๑๙๔๖
เมื่อเกิดรัฐประหารในไทย (พฤศจิกายน ๒๔๙๐/ค.ศ. ๑๙๔๗) จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับสู่อำนาจ ไทยก็ดำเนินนโยบายเข้าข้างโลกเสรีเต็มที่และไม่สนับสนุนรัฐบาลลาวอิสระ ส่วนในลาว ฝรั่งเศสให้พระราชอาณาจักรลาวปกครองตนเองโดยเป็นส่วนหนึ่งของ “เครือรัฐฝรั่งเศส” และชักจูงให้ลาวอิสระกลับประเทศ
แถลงการณ์ “รัฐบาลลาวต่อต้าน”
นำโดยเจ้าสุพานุวง ค.ศ. ๑๙๕๓
พิธีลงนามในสัญญาว่าด้วยการให้เอกราชลาวในฐานะเครือรัฐของฝรั่งเศส ระหว่างเจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวง กับ แว็งซ็อง โอรียอล (Vincent Auriol) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๙๔๙
รัฐบาลลาวอิสระในกรุงเทพฯ สลายตัวช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๙ กลุ่มแรกไปร่วมกับฝ่ายพระราชอาณาจักรฯ ไรอัน วูล์ฟสัน-ฟอร์ด (Ryan Wolfson-Ford) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเสนอใน “Forsaken Causes : Liberal Democracy and Anticommunism in Cold War Laos” วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ว่านักการเมืองกลุ่มนี้ได้ “เปลี่ยนถ่ายอำนาจ/ปฏิวัติโดยสันติ” จากฝรั่งเศสผ่านการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดใน ค.ศ. ๑๙๕๑ โดยคนกลุ่มนี้กลายมาเป็นนักการเมืองที่บริหารประเทศแทบทั้งหมด โดยคนกลุ่มนี้เชื่อว่าการได้เอกราชอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากฝรั่งเศส เป็นหนทางที่ดีกว่าแนวทางของเจ้าสุพานุวง
นักประวัติศาสตร์จัดคนกลุ่มนี้ว่าเป็น “ฝ่ายขวา”
แต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย นำโดยเจ้าสุพานุวง แยกตัวไปเคลื่อนไหวในนาม “แนวลาวอิสระ” (ต่อมาคือ “ขบวนการปะเทดลาว”) ได้ความช่วยเหลือจากเวียดมินห์ที่ทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศสในเวียดนาม
แกนนำสำคัญอย่างเจ้าสุพานุวง และ พูมี วงวิจิด มองว่า ลาวยังไม่ได้รับเอกราชที่แท้จริงยังอยู่ใต้ฝรั่งเศสที่เป็น “จักรวรรดินิยม/จักรพรรดินิยม” (Imperialist)
นักประวัติศาสตร์เรียกกลุ่มนี้ว่า “ฝ่ายซ้าย” หรือ “คอมมิวนิสต์”
คณะกรรมการศูนย์กลางแนวลาวอิสระ ฝ่ายที่แยกตัวไปต่อต้านรัฐบาลเวียงจันทน์ นำโดยเจ้าสุพานุวง ใน ค.ศ. ๑๙๕๐
หนังสือ ในความทรงจำของ พูมี วงวิจิด ระบุว่า การกระทำของฝ่ายขวาเท่ากับ “ยอมจำนน” ต่อฝรั่งเศส ส่วนความช่วยเหลือจากเวียดมินห์นั้น “ทำให้กำลังปฏิวัติของเราเข้มแข็งขึ้นอีก” และเป็น “ความสามัคคีลาว-เวียดนาม ที่ร่วมกันสร้างขึ้นด้วยเลือดเนื้อ” ส่วนที่ต้องดึงทหารเวียดมินห์มาช่วย เขาอธิบายว่า “มีพลเมืองเพียงครึ่งประเทศเท่านั้นที่รักชาติ กล้าเสียสละลุกขึ้นปลดปล่อยชาติ จึงมีกำลังไม่พอ...”
แน่นอนว่าฝ่ายพระราชอาณาจักรฯ มองว่าการที่เจ้าสุพานุวงดึงเวียดมินห์ สหภาพโซเวียต และลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามา ก็ถือเป็น “จักรวรรดินิยม” อีกรูปแบบหนึ่ง
ไรอันยังมองว่าปมในอดีตที่มีอยู่แล้วคือ ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศสจัดคนลาวเป็นประชากรชั้นรอง (จากเวียดนาม) นำคนเวียดนามจำนวนมากเข้ามาทำงานในลาว ดังนั้นการที่เจ้าสุพานุวงติดต่อกับเวียดมินห์ ก็ไปเร่งความรู้สึกด้านลบของฝ่ายพระราชอาณาจักรฯ ต่อคอมมิวนิสต์ให้ทวีคูณ ด้วยมันไปย้ำความเชื่อที่ว่า “ลาว” กำลังจะโดนเวียดมินห์ (เวียดนาม) “กลืนชาติ”
การต่อต้านคอมมิวนิสต์จึงเกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องรอสหรัฐอเมริกาเข้ามาปลูกฝังแต่อย่างใด เพียงแต่มุมมองนี้ทำให้ทั้งรัฐบาลพระราชอาณาจักรฯ (ฝ่ายขวา) และสหรัฐฯ ที่มาทีหลัง เข้ามาอยู่ฝ่ายเดียวกันโดยบังเอิญ
สงคราม “ชิงชาติลาว” เพื่อการสร้างชาติตามวิถีที่แต่ละฝ่ายเชื่อ เริ่มขึ้นท่ามกลางฉากเหล่านี้
ความกังวล
ของไทย
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม รับรองสถานะพระราชอาณาจักรลาวใน ค.ศ. ๑๙๕๐ แต่ก็ยังปรากฏหลักฐานว่า จอมพล ป. ช่วยเหลือเจ้าเพ็ดชะลาดให้อยู่ในไทยได้ต่อไป โดยเช่าบ้านบนถนนวิทยุให้เป็นที่ประทับ โดยเจ้าเพ็ดซะลาดทรงตัดสินพระทัยไม่เสด็จฯ กลับเนื่องจากความแตกแยกภายในลาวอิสระสองกลุ่ม
ส่วนในลาว สงครามกลางเมืองเริ่มขึ้น กำลังทหารของขบวนการปะเทดลาวและทหารเวียดมินห์ ส่งกำลังเข้าคุกคามเมืองหลวงพระบางและเขตลาวกลาง ใน ค.ศ. ๑๙๕๓ สถานการณ์แย่ลงถึงขั้นที่ฝรั่งเศส (ซึ่งยังรับผิดชอบด้านกลาโหม) ทูลฯ ขอให้พระเจ้าสีสะหว่างวง เจ้ามหาชีวิตลาว เสด็จฯ ออกจากเมือง แต่พระองค์ทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ว่า “ใน ค.ศ. ๑๔๗๙ พวกแกว (เวียดนาม) ตีหลวงพระบางไม่ได้ ครั้งนี้พวกเขาจะทำได้หรือ”
เรื่องเหลือเชื่อคือฝรั่งเศสป้องกันหลวงพระบางไว้ได้ แต่ปะเทดลาวและเวียดมินห์ก็สร้างฐานที่มั่นในแขวงพงสาลีและแขวงหัวพันได้สำเร็จจากการบุกครั้งนี้
ปีถัดมาชัยชนะของเวียดมินห์ที่สมรภูมิเดียนเบียนฟูในวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ ทำให้เกิด “สนธิสัญญาเจนีวา ๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๔” ผลคือฝรั่งเศสต้องถอนตัวจากอินโดจีน
สมาชิก ๑๖ คนของขบวนการปะเทดลาวที่ถูกรัฐบาลพระราชอาณาจักรฯ ขังที่คุกโพนเค็ง ใน ค.ศ. ๑๙๕๙ ภายหลังหลบหนีออกไปได้
ที่สำคัญคือส่วนขยายของสนธิสัญญานี้ยอมรับเอกราชของลาว กำหนดให้แขวงพงสาลีและแขวงซำเหนือ ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับเวียดนาม เป็นเขตที่ทหารฝ่ายปะเทดลาวถอยเข้าไปอยู่ได้ และกำหนดให้ต้องรวมเข้ากับพระราชอาณาจักรลาวในระยะต่อไป
ความพยายามปรองดองเกิดขึ้น ตัวแทนฝั่งปะเทดลาวคือ เจ้าสุพานุวง และ พูมี วงวิจิด เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลผสมชุดแรกที่นำโดยเจ้าสุวันนะพูมา (ฝ่ายเป็นกลาง) แต่การรวมกองกำลังฝ่ายปะเทดลาวกับกองทัพแห่งชาติและการรวมสองแขวงล้มเหลว แม้มีการเลือกตั้งในเขตรัฐบาลและเขตปะเทดลาวตามมา (เลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๕๖ ให้สิทธิกับผู้หญิงและผู้มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปอย่างกว้างขวาง) จนฝ่ายปะเทดลาวในนาม “แนวลาวฮักซาด” ได้ตัวแทนในสภา ฯลฯ สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น
รัฐบาลผสมชุดแรกที่มีเจ้าสุวันนะพูมาเป็นนายกฯ ล้มลง ด้วยหลังเลือกตั้ง จำนวน สส. ในสภาเพิ่มขึ้น และรัฐบาลก็มีเสียงไม่พอในรัฐสภา ในขณะที่ฝ่ายค้านรวมถึงปะเทดลาวมีเสียงพอจนสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ นอกจากนี้ความพยายามเอาคนฝ่ายปะเทดลาวมาเป็นรัฐมนตรีก็ถูกคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษนิยม ในที่สุดเจ้าสุวันนะพูมาก็ลาออกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๘
ผุย ซะนะนิกอน นายกฯ ใหม่ ที่ย้อนมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ รัฐบาลใหม่ไม่มีตัวแทนฝ่ายปะเทดลาวร่วม ครม. ในชนบท ปะเทดลาวกลับมาทำสงครามกับรัฐบาลอีกครั้ง พอเข้าสู่เดือนกันยายน นายกฯ ผุยสั่งจับเจ้าสุพานุวง และ พูมี วงวิจิด ขณะที่ทหารปะเทดลาวและเวียดมินห์รุกเข้าสู่ลาวกลางจนทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน
การหย่อนบัตรเลือกตั้ง สส. เพิ่มเติม นครหลวงเวียงจันทน์ ค.ศ. ๑๙๕๘ เป็นครั้งแรกที่สตรีลาวมีสิทธิเลือกตั้ง
ปลาย ค.ศ. ๑๙๕๙ เรื่องซับซ้อนขึ้นอีก นายพลจัตวา พูมี หน่อสะหวัน ในนามคณะกรรมการป้องกันผลประโยชน์แห่งชาติ (Committee for Defense of National Interests - CDNI) ซึ่งต่อต้านการนำคอมมิวนิสต์เข้าร่วมรัฐบาล นำกลุ่มทหารหนุ่มในกองทัพทำรัฐประหาร แต่พระเจ้าสีสะหว่างวัดทะนา เจ้ามหาชีวิตพระองค์ใหม่ ตัดสินพระทัยเข้าแทรกแซง
เจ้ามังคลา สุวรรณภูมา เขียนใน เบื้องหลังเหตุการณ์ล้มล้างราชวงศ์ลาว จากความทรงจำของเจ้ามังคลา สุวรรณภูมา ว่า “...ทรงบัญชาไม่ให้ทหารเข้ามาร่วมคณะรัฐบาล” ผลคือ นายกฯ ใหม่เป็นคนจากสภาราชมนตรี (องคมนตรี) คือ กุ อะไพ แต่ประนีประนอมให้นายพลพูมีเป็นรัฐมนตรีป้องกันประเทศ
ที่น่าสนใจคือนายพลพูมีสร้างพรรค “ปะซาสังคม” ขึ้น จนกลายเป็นพรรคทหารที่ครองเสียงข้างมาก เหลือพรรคอื่นในสภาเพียงพรรคเดียวคือ “ลาวรวมลาว” ของเจ้าสุวันนะพูมา ทั้งนี้ภายใต้อิทธิพลนายพลพูมี การเจรจากับปะเทดลาวไม่อยู่ในนโยบาย หนังสือพิมพ์ ลาวฮักสาซาด กระบอกเสียงของ CDNI ระบุว่า “การล่าอาณานิคมยังไม่จบสิ้น มันยังพยายามกลับมาในรูปแบบอื่น...โดยคนที่เคยอยู่ในอาณานิคมเอง” (ลาวฮักสาซาด, ๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๙) ซึ่งสื่อถึงปะเทดลาวกับเวียดมินห์ที่กลับมาล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่
แต่หลังจากนั้นนายกฯ กุลาออกเพราะคุมสถานการณ์ไม่ได้รัฐสภาเลือกเจ้าสมสนิท วงกตรัตนะ เป็นนายกฯ มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๐
ในห้วงความวุ่นวาย พูมี วงวิจิด ซึ่งถูกจับกุมระบุว่า เขาและเพื่อนแปดคนหนีออกจากคุกได้สำเร็จในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ และไม่ไว้วางใจ “ฝ่ายเวียงจันทน์” มากยิ่งขึ้น ทั้งยังมองว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นกีดกันคนปะเทดลาวมิให้ได้รับเลือกแม้แต่คนเดียว
จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เมื่อ ร.อ. กองแล วีระสาน ผู้บังคับกองพันทหารพลร่มที่ ๒ อาศัยจังหวะฝึกซ้อมทางทหารที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานข่าวกรองกลางแห่งชาติสหรัฐฯ (Central Intelligent Agency - CIA) ทำรัฐประหารจริงในเวียงจันทน์ในวันที่ ๙ สิงหาคม
การรัฐประหารของร้อยเอกกองแลสร้างความตกตะลึงให้ค่ายโลกเสรี กระทั่ง CIA ก็ไม่ทราบเบาะแส ฝ่ายปะเทดลาวก็เดาเจตนาของเขาไม่ได้ เจ้ามังคลาเล่าว่า การรัฐประหารครั้งนี้แปลกประหลาดมาก เพราะหลังยึดเมืองได้ร้อยเอกกองแลก็ไป “ยืนประท้วงหน้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” แสดงความขุ่นเคืองต่อ “นายพลพูมี” ประณามการคอร์รัปชัน “ทวงเงินเดือนนายทหารในสังกัดของตน” ประกาศความจงรักภักดีต่อเจ้ามหาชีวิต แล้วบอกว่า “เป็นกลางต่อสภาแห่งชาติ” คือไม่ยุบสภา
ความพยายาม
จัดตั้งรัฐบาลผสม
หลายฝ่ายในลาว
ไม่เคยประสบความสำเร็จ
ผลที่ตามมา
คือวิกฤตและสงคราม
รัฐบาลผสม ค.ศ. ๑๙๕๗ นำโดยเจ้าสุวันนะพูมา
(ซ้ายสุด) คุกโพนเค็ง
ร้อยเอกกองแลยังขอพบประธานสภา (เจ้าสุวันนะพูมา) ที่ไม่ทราบเหตุการณ์และหาทางแก้ปัญหา ในที่สุดสภา “ลงมติไม่ไว้วางใจ” ปลดเจ้าสมสนิท เสนอให้เจ้าสุวันนะพูมาเป็นนายกฯ คนใหม่ (ดำรงตำแหน่งรอบที่ ๓)
แน่นอนว่านายพลพูมีต่อต้านการกระทำของร้อยเอกกองแล ความพยายามของเจ้าสุวันนะพูมาที่เชิญนายพลพูมีเข้าร่วมรัฐบาลจึงไม่ได้ผล นายพลพูมีมารวมกำลังทหารอยู่ที่แขวงสะหวันนะเขตทางภาคใต้ โดยมี สส. ลาวส่วนหนึ่งตามลงมา
เกิดภาวะลาวเหนือ-ลาวใต้ขึ้นโดยปริยาย
รัฐบาลไทยจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและสั่งปิดพรมแดนทั้งหมดจนเกิดการขาดแคลนอาหารและสินค้าในลาว ต้นเดือนธันวาคมสถาน-การณ์ยิ่งตึงเครียด เมื่อสหภาพโซเวียตส่งเครื่องบินขนส่งยุทธปัจจัยและอาหารมาที่เวียงจันทน์ ทำให้ภาพของเจ้าสุวันนะพูมาและร้อยเอกกองแลที่เรียกตนเองว่าเป็นกลาง โน้มเอียงไปทางฝ่ายปะเทดลาวและคอมมิวนิสต์มากขึ้น
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติของไทย กล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ ๒๑ กันยายน ว่ารัฐบาลลาวใต้เงาของร้อยเอกกองแลมี “...ความคิดเห็นแบบคอมมิวนิสต์ทุกอย่าง...” โดยอธิบายว่าไทยไม่ต้องการยุ่งกับกิจการเพื่อนบ้าน แต่กรณีลาว “พิเศษ...เนื่องจากประเทศทั้งสองมีพรมแดนติดต่อกันอย่างยืดยาว ประชาชนเป็นเชื้อชาติเดียวกัน มีภาษา ศาสนา ขนบประเพณี และรูปร่างผิวพรรณอย่างเดียวกัน” ดังนั้นเหตุที่เกิดกับลาวจะ “กระทบกระเทือนถึงประเทศไทยโดยไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้” ทั้งยังย้ำว่ารัฐประหารของร้อยเอกกองแลกระทบไทย “อย่างแรง” เพราะไทยถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงลาว สนับสนุนนายพลพูมี (ญาติจอมพลสฤษดิ์) ที่สำคัญคือคอมมิวนิสต์ในไทย “กำเริบเสิบสานขึ้นมาเป็นอันมาก”
จอมพลสฤษดิ์มองว่าถ้าปล่อยให้คอมมิวนิสต์ควบคุมลาว “อันตรายจะมีขึ้นแก่ประเทศไทย” ก่อนจะปิดท้ายว่าถ้าลาวตกอยู่ในมือคอมมิวนิสต์ ไทยจะ “ป้องกันประเทศชาติทุกวิถีทาง...”
“ก้าวแรก”
ในสมรภูมิลาว
เอกสารกระทรวงการต่างประเทศไทยชี้ว่าในกรณีของกิจการพลเรือน ความช่วยเหลือของไทยที่ให้กับพระราชอาณาจักรลาวเริ่มต้นใน ค.ศ. ๑๙๕๕ (หนังสือ ที่ มท. ๙๔๗๘/๒๔๙๘) ทั้งนี้ยังมีหนังสือราชการจำนวนมากบันทึกถึงนายทหารลาวที่มาดูงานกองทัพไทย นักการเมืองลาวมาดูงานรัฐสภา โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษามาเรียนต่อบางครั้ง “ขอความอนุเคราะห์” ทั้งเรื่องฝากเข้า ค่าเล่าเรียน และค่าที่พักทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลไทยก็ยินดีทำให้เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับลาว
กรณีความช่วยเหลือทางทหาร ผมพบว่าไทยเริ่มฝึกทหารให้กองทัพแห่งชาติลาว (ทชล.) ที่ค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่กลาง ค.ศ. ๑๙๕๘ แต่การสนับสนุนด้านนี้จะเป็นรูปธรรมจริงหลังจอมพลสฤษดิ์ตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการ
ต่อต้านการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในราช-อาณาจักรลาว (คณะกรรมการ คท.)” ในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๖๐ เพื่อส่งกำลังอาสาสมัครไปปฏิบัติการนอกประเทศ
พล.อ. สายหยุด เกิดผล ผู้ก่อตั้งกองบัญชาการผสม ๓๓๓ (บก.ผสม ๓๓๓) เขียนใน ชีวิตนี้มีค่ายิ่ง ว่า “บก.ผสม ๓๓๓” หน่วยงานลับที่ส่งทหารไทยไปรบในลาว มีจุดเริ่มต้นที่บ้านพักหลังกองพลที่ ๑ (บ้านสี่เสาเทเวศร์ ปัจจุบันถูกรื้อถอนแล้ว) โดยสมัยมียศพันเอก ตำแหน่งรองเจ้ากรมยุทธการทหารบก (ยก.ทบ.) ถูกเรียกไปพบ โรเบิร์ต เจ แจนต์เซน (Robert J. Jantzen) หัวหน้าสถานี CIA ประจำกรุงเทพฯ และ เจมส์ วิลเลียม แลร์ (James William Lair) หรือ บิลล์ แลร์ และเจ้าหน้าที่กึ่งทหารของ CIA ที่คอยอยู่ที่นั่น
กองทัพฝ่ายปะเทดลาวรวมตัวที่แขวงหัวพัน
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๕๕
นายทหารฝ่ายขบวนการปะเทดลาวเตรียมการรบกับกำลังฝ่ายเป็นกลางของร้อยเอกกองแลใน ค.ศ. ๑๙๖๐ หลังฝ่ายร้อยเอกกองแลกลับไปร่วมมือกับลาวฝ่ายขวา
ทั้งนี้ บิลล์ แลร์ เข้ามาทำงานในไทยตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๑ ต่อมาเข้ารับราชการกับทางการไทย ได้รับยศร้อยตำรวจเอก แต่งงานกับคนไทย มีส่วนวางรากฐานหน่วยตำรวจพลร่มพิเศษ “พารู” (PARU - Police Aerial Resupply Unit) ซึ่งทำงานจัดตั้งชาวเขาต่อต้านกลุ่มค้ายาเสพติดและกองกำลังนอกกฎหมายในพื้นที่ห่างไกล
พันเอกสายหยุดกับแลร์เริ่มต้นภารกิจด้วยการสำรวจสถานการณ์ในลาวแล้วร่าง “โครงการลับ” ขออาสาสมัครจากสามเหล่าทัพและตำรวจเข้าไปปฏิบัติการในลาว โดยงบประมาณทั้งหมดได้จาก CIA
เพื่อตัดความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล เขากำหนดว่าเจ้าหน้าที่ที่อาสาไปต้องทำหนังสือลาออกจากราชการไว้ เผื่อกรณีถูกจับ นอกจากนี้ “ข้าพเจ้าได้กำหนดระบบชื่อรหัส (โค้ด) เพื่อเรียกเจ้าหน้าที่ไทย ลาว และอเมริกันที่เกี่ยวข้อง...” อันเป็นที่มาของ “นามแฝง” ของนายทหารไทยหลายคนที่รบในลาว
ต่อมาจึงตั้ง บก. ๓๓๓ ควบคุมการทำงานภาคสนาม โดยเลขตัวแรกมาจาก “สธ. ๓” กรมยุทธการทหารบก เลขตัวที่ ๒ กับ ๓ มาจากเลขตัวแรกของวันเกิดกับเดือนเกิดของพันเอกสายหยุด (๓๐ มีนาคม)
นอกจากนี้ยังขอตั้ง “ค่ายสฤษดิ์เสนา” ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อใช้เป็นที่เตรียมกำลังและวางกำลังผสมพลร่มทหารตำรวจไว้ที่รอยต่อจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย เพื่อปรามการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ โดยค่ายนี้ยังรับหน้าที่ฝึกทหารลาวที่ “แอร์อเมริกา” (Air America/สายการบินเอกชนที่ตั้งขึ้นเพื่อปกปิดและทำกิจกรรมทางทหารแทนกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในลาว) ส่งมาลงในสนามบินลับด้านหลังค่าย
เจ้าสุพานุวงทำพิธีมอบ “เหรียญชัย” ให้ “ท่านสีทอง” ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ซึ่งภายหลังท่านได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ สปป.ลาว
พล.ท. วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ อดีตผู้บัญชาการบก. ๓๓๓ เล่าการทำงานระหว่างไทย CIA และลาว (ฝ่ายขวา) ว่ามีฐานะ “...เสมอทัดเทียม...ผู้บังคับบัญชาสูงสุดก็คือนายกรัฐมนตรีประเทศลาว ส่วน CIA กับผมนี้เท่ากัน ไม่มีใครเป็นลูกน้องของใคร...” โดยงบประมาณนั้น “สหรัฐอเมริกาจะรับผิดชอบทั้งหมด เป็นงบประมาณที่จ่ายผ่านทางเจ้าหน้าที่ CIA”
เมื่อเกิดรัฐประหารของร้อยเอกกองแลหลักฐานในหอจดหมายเหตุสหรัฐอเมริกาและไทยให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ทั้งจอมพลสฤษดิ์และประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ไม่สนับสนุนรัฐบาลเจ้าสุวันนะพูมา รัฐบาลไทยจึงเริ่มใช้หน่วยงานนี้เข้าแทรกแซงทันที
ภารกิจสำคัญของคณะกรรมการ คท. คือช่วยนายพลพูมีชิงอำนาจ เริ่มจากส่ง “ชุดสื่อสาร” ห้าชุด (ภายหลังเพิ่มเป็นแปดชุด) ไปประสานกับนายพลพูมีที่สะหวันนะเขตและเข้าประจำการในกองพันต่าง ๆ ของพูมี อีกส่วนยังส่งไปประจำในหน่วยกำลังของนายพลวังเปา (นายพลชาวม้ง) เพื่อฝึกชาวม้งและร่วมรบที่ทุ่งไหหิน
ชุดสื่อสารเหล่านี้เองที่เข้าร่วมกับนายพลพูมีที่บุกเข้ายึดเวียงจันทน์ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ โรเจอร์ วอร์เนอร์ เขียนใน ผลาญชาติ สงครามลับของซีไอเอในลาว และความเชื่อมโยงกับสงครามในเวียดนาม งานศึกษาปฏิบัติการของ CIA ในลาวว่า การรบเพื่อชิงอำนาจรอบนี้ “...ไม่น่ามีอะไรน่าจดจำนัก ทหารฝ่ายขวามีปืนใหญ่และปืนกลหนักที่ได้รับจากอเมริกา ส่วนฝ่ายเป็นกลางก็มีอาวุธหนักของโซเวียต...รบจากระยะห่างโดยระดมยิงอาวุธหนักเข้าใส่กันในแบบความเชื่อของชาวพุทธ คือเมื่อมองไม่เห็นข้าศึก พวกเขาย่อมไม่ต้องรับบาปจากการฆ่าฟัน...” แต่ผลคือในเวียงจันทน์ “บ้านหลังคาจากในชุมชนถูกไฟไหม้วอดวายไปเป็นจำนวนมาก...แม้แต่สถานทูตอเมริกันก็ถูกลูกหลง...”
เจ้าสุวันนะพูมาขึ้นเครื่องบินไปลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา ส่วนกองกำลังของร้อยเอกกองแลถอยขึ้นไปทางเหนือเข้าไปตั้งอยู่ที่ทุ่งไหหินและร่วมมือกับกำลังทหารของปะเทดลาว
เมื่อยึดเวียงจันทน์ได้ นายพลพูมีก็สนับสนุนเจ้าบุนอุ้ม นะจำปาสัก (นักการเมืองฝ่ายขวา) เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนตนเองรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีป้องกันประเทศ
ส่วนความเกี่ยวข้องของทหารไทยเป็นแค่ “เชิงอรรถซ่อนเร้น” ในเหตุการณ์นี้
การป้องกันที่มั่นเมืองเวียงไซ
แขวงหัวพัน ของฝ่ายปะเทดลาว
ปฏิบัติการโมเมนตัม
บทบาทของ “พารู”
แขวงเชียงขวาง สปป.ลาว,
กลาง ค.ศ. ๒๐๒๔
ผมมาสำรวจทุ่งไหหิน เอกสารที่เจ้าหน้าที่แจกนักท่องเที่ยวระบุว่าทุ่งไหหินตั้งอยู่บนที่ราบสูงเชียงขวาง มีพื้นที่ไข่แดง ๑,๐๙๑ ไร่ พื้นที่ชายขอบ ๖,๓๓๑ ไร่ ล้อมด้วยภูเขาหินปูนที่แทงยอดสูงสลับซับซ้อน ทั้งนี้ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๙ ที่นี่ได้รับการประกาศเป็น “แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม” ขององค์การยูเนสโก ด้วยมีแท่งหินขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายไหนับพันชิ้นกระจายอยู่ทั่วไป โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการฝังศพของคนโบราณ
แต่ในคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๗๐ ทุ่งอันมีค่าด้านโบราณคดีแห่งนี้คือจุดยุทธศาสตร์ที่ทุกฝ่ายในสงครามกลางเมืองลาวต้องการครอบครอง เพราะด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทุ่งมี “ถนนหมายเลข ๔” ที่ไปเชื่อม “ถนนหมายเลข ๑๓” ที่ตัดเหนือ-ใต้ เลียบตลอดแนวแม่น้ำโขงคล้ายกระดูกสันหลังของประเทศ โดยจุดที่ถนนหมายเลข ๔ ไปบรรจบเป็นตอนที่เชื่อมระหว่างหลวงพระบางและเวียงจันทน์ มีแยกยุทธศาสตร์ที่ “ศาลาภูคูน”
ทางด้านตะวันออกของทุ่งมี “ถนนหมายเลข ๖” เชื่อมไปแขวงซำเหนือ ไปต่อได้จนถึงชายแดนเวียดนาม “ถนนหมายเลข ๔” ยังตัดทุ่งผ่านเชียงขวางลงไปทางใต้จนถึงเมืองปากซัน ทั้งยังเชื่อมกับ “ถนนหมายเลข ๗” ที่จะไปทะลุเวียดนามภาคกลางได้ ที่สำคัญคือเป็นส่วนต่อเนื่องกับ “เส้นทางโฮจิมินห์” ที่กองทัพเวียดนามเหนือส่งทั้งคนและอาวุธอ้อมผ่านลงไปรบกับเวียดนามใต้ ดังนั้นใครคุมทุ่งไหหินได้ก็เท่ากับกำคอหอยหลวงพระบาง คุมเส้นทางสู่กรุงเวียงจันทน์ รวมถึงเส้นทางไปยังเวียดนามเหนือและใต้
ผมพบว่ายังมีร่องรอย “สงคราม” ชัดเจนไม่ว่าแนวสนามเพลาะ หลุมระเบิดขนาดใหญ่ (เกิดจากเครื่องบิน B-52) ถ้ำที่เคยถูกใช้เป็นที่หลบภัยทางอากาศ และที่ตั้งทางทหาร ฯลฯ
ย้อนกลับในช่วงหลังปีใหม่ ค.ศ. ๑๙๖๑ ในลาวเกิดรัฐบาลซ้อนกันสามรัฐบาล คือ ฝ่ายขวาที่เวียงจันทน์ของเจ้าบุนอุ้ม ฝ่ายเป็นกลางของเจ้าสุวันนะพูมาที่ (กลับมาจากลี้ภัย) เข้ามาตั้งฐานที่มั่นในเมืองแก่งไก่ ทุ่งไหหิน และฝ่ายปะเทดลาวที่ซำเหนือ แขวงหัวพัน
ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในกรุงเวียงจันทน์ บิลล์ แลร์ และ พ.ต.ท. ประเนตร ฤทธิฤ ๅ ชัย “หัวหน้านล” ผู้บังคับการตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของ “แอร์อเมริกา” ไปที่บ้านท่าเวียง พื้นที่รอบนอกของทุ่งไหหินเพื่อพบนายพลวังเปา ผู้นำทหารม้งที่เคลื่อนไหวต่อต้านเวียดนามเหนือมาพักใหญ่
นายพลวังเปายืนยันกับแลร์ว่าคนม้งภักดีต่อเจ้ามหาชีวิต อยู่ร่วมกับคอมมิวนิสต์ไม่ได้ เขาเสนอแลร์ว่า “คุณ (อเมริกา) ให้อาวุธกับเรา เรา (คนม้ง) ก็จะสู้กับพวกมัน” และจะสร้างกำลังให้ถึง ๑ หมื่นคน
แผนที่ทุ่งไหหินและเครือข่ายเส้นทางที่สำคัญโดยรอบ ปรับปรุงจากแผนที่ในหนังสือ สงครามลับในลาว Secret War in Laos เขียนโดย พล.อ. สายหยุด เกิดผล
แลร์นำข้อเสนอกลับไปคุยกับหน่วยเหนือและพิมพ์โครงการออกมา ๑๘ หน้ากระดาษ เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการ “โมเมนตัม” (Operation Momentum) ที่มีหลักว่าไม่ต้องการให้มีทหารอเมริกันเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่จมปลักกับสนามรบแบบในคาบสมุทรเกาหลี ต้องการยึดพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมไว้สำหรับเปิดการเจรจา
แลร์มองว่าชาวม้งต้องการสู้และมีศักยภาพการรบสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะการก่อกวนแนวหลังข้าศึก ต่อมา CIA ยอมทำตามข้อเสนอของแลร์โดยให้คนไทย (พารู) ทำหน้าที่ที่ปรึกษานายพลวังเปาและฝึกสอนคนม้ง ขณะที่อเมริกันแนะแนวการทำงานในภาพรวม สนับสนุนค่าใช้จ่ายและอาวุธที่ส่วนมากเป็นของยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อที่จะได้ไม่ถูกสงสัยเพราะมีตกค้างในพื้นที่จำนวนมาก
มีการส่งชาวม้งระดับผู้นำ ๒๐ คนที่เสร็จสิ้นจากการฝึกรอบแรกในพื้นที่ ๓๐๐ คน ไปฝึกพิเศษที่หัวหินเกี่ยวกับการใช้วิทยุและหลักสูตรผู้นำ ไม่นาน CIA ก็เริ่มส่งอาวุธมาทิ้งในจุดที่กำหนดไว้ในเชียงขวางคือบ้านผาขาว สถานที่ที่นายพลวังเปาใช้ฝึกทหารม้งและคาดว่าทหารปะเทดลาวจะเข้าโจมตี ที่นี่เองทหารม้งที่สำเร็จการฝึกชุดแรกผ่านการทดสอบด้วยการซุ่มโจมตีทหารปะเทดลาว
พล.ต.ต. นคร ศรีวณิช อดีตผู้บังคับการค่ายนเรศวร จดคำให้การของพารู (ตำรวจ) คือเจิดจำรัส จิตต์การุณ ถึงการต่อสู้ของพารูไทยชุดหนึ่งบนฐานที่เมืองงาด (ห่างชายแดนลาว-เวียดนาม ประมาณ ๙ กิโลเมตร) ว่า พารูไทยและม้งจำนวน ๕๑ คน ต้องตั้งรับข้าศึกถึงประมาณสองกองพัน จนพารูไทยเสียชีวิตสามคน ทหารม้งเสียชีวิตหกคน ส่วนที่เหลือหลบออกจากฐานมาได้
กรณีที่น่าสนใจคือ “ทีม O” (มีการตั้งชื่อทีมพารูที่ส่งเข้าไปตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ) ในเมืองเชียงแดดที่ไปฝึกการรบให้ทหารม้งและชาวเขาเผ่าอื่น (ลาวเทิง) แต่ในเดือนพฤษภาคม ร้อยเอกสมบูน นายทหารลาวเทิงที่ควบคุมหน่วยทหารนั้น เปลี่ยนฝ่ายและเข้าปล้นฝ่ายเดียวกันโดยส่งกำลัง ๕๐ นายเข้าตีฐานที่พารูไทยอยู่จนพารูเสียชีวิตสามคน อีกสองคนถูกจับเป็นเชลย
ยังมีเบาะแสการทำงานของเจ้าหน้าที่ไทยอีกใน ผลาญชาติฯ ที่เล่าถึงบทบาทพารูไทย ๑๐ คนที่บ้านป่าดง (Pa Dong) กองบัญชาการของนายพลวังเปา (เวลานั้น) ที่เตือนท่านนายพลให้ถอนตัวจากเมืองก่อนที่หน่วยทหารปะเทดลาวจะบุกไม่นาน
ตอนนี้พารูไทยที่ทำงานอยู่ในลาวเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐๐ คน และการปฏิบัติการของกองโจรม้งก็ได้ผลในหลายพื้นที่
เจ้าสุวันนะพูมา นายกฯ พระราชอาณาจักรลาว สนทนากับประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ภาพ : John F. Kennedy Presidential Library and Museum
Star Shine
ทหารปืนใหญ่ไทยในลาว
ต้น ค.ศ. ๑๙๖๑
สถานการณ์เปลี่ยนแปลง
อย่างรวดเร็ว
๒๓ มีนาคม จอห์น เอฟ. เคนเนดี ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ แถลงข่าวเรื่องสงครามกลางเมืองในลาว สื่อสารกับชาวอเมริกันทั้งประเทศ ย้ำความสำคัญในการป้องกันลาว
คนดูทีวีพบว่าบนเวทีมีแผนที่ลาวขนาดใหญ่สามแผ่นตั้งอยู่ มีจุดแต้มสีทำสัญลักษณ์แสดงพื้นที่ยึดครองของฝ่ายต่าง ๆ แบ่งเป็นช่วงก่อนรัฐประหารของร้อยเอกกองแล (สิงหาคม) ช่วงฝ่ายขวายึดเวียงจันทน์คืน (ธันวาคม) และหลังจากนั้นที่เขตคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้น
ไม่ว่าสถานการณ์จริงเป็นอย่างไร เคนเนดีย้ำว่าสหรัฐฯ ต้องการให้ลาวมีเสรีภาพและเป็นกลาง การใช้กำลังทหารต่างชาติในลาวควรยุติลง สนับสนุนให้ฝ่ายต่าง ๆ เจรจากัน โดยย้ำว่าความอยู่รอดของลาว “...แยกไม่ออก ต่อความมั่นคงของอเมริกา”
ตัดกลับมาที่ลาว ในเดือนเมษายน ฝ่ายปะเทดลาวส่งทหารรุกบริเวณภาคกลางเข้าใกล้เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน และแขวงสะหวันนะเขต ทำให้นายพลพูมีมาคุยกับจอมพลสฤษดิ์ขอหน่วยปืนใหญ่ไทยไปช่วย
ความจริงแผนนี้ประธานาธิบดีเคนเนดีก็ถกอยู่กับที่ปรึกษาในทำเนียบขาว โดยอนุมัติปฏิบัติการจำนวนหนึ่งและ “เจรจากับรัฐบาลไทยให้สนับสนุนปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม. และทหารปืนใหญ่” ให้กองทัพพระราชอาณาจักรลาว
จอมพลสฤษดิ์ทำตามคำขอ ตั้งกองร้อยปืนใหญ่สองหน่วย ใช้ชื่อว่า Star Shine (SS-ประกายดาว) หน่วยแรกคือ SS1 เข้าไปตั้งฐานยิงทางทิศใต้ของเมืองท่าแขก SS2 เข้าตั้งฐานยิงด้านตะวันออกของเมือง ใช้กำลังประจำการจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๑ ขนส่งจากสนามบินโคกกะเทียม จังหวัดลพบุรี สองเที่ยวบิน ส่วนปืนใหญ่แปดกระบอกส่งข้ามไปทางอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม
เมืองท่าแขกจึงยันข้าศึกเอาไว้ได้ แต่ก็มีบันทึกเจ้ามังคลาว่า กองร้อยปืนใหญ่สองชุดนี้เข้าพื้นที่อย่างเชื่องช้า ในจุดอื่นของทุ่งไหหิน ทหารม้งยังคงรบกับฝ่ายปะเทดลาวและเวียดนาม
เหนือในสภาพเสียเปรียบและมีกองกำลังบางส่วนแปรพักตร์
ถึงตอนนี้ อัลเลน เจ. เอลเลนเดอร์ (Allen J. Ellender) วุฒิสมาชิกอเมริกันจากรัฐลุยเซียนา ระบุในรายงานเสนอวุฒิสภา ค.ศ. ๑๙๖๑ ว่า “ตั้งแต่เริ่ม ผมเข้าใจว่าแรงจูงใจของเรา (สหรัฐฯ) คือช่วยให้ลาวเป็นกลาง แต่ดูเหมือนรัฐบาลชุดก่อน (รัฐบาลไอเซนฮาวร์) ต้องการให้ลาวมีรัฐบาลนิยมตะวันตกและสร้างกองทัพต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่กองทัพที่สร้างขึ้นไม่ตอบโจทย์ กองกำลังที่เราช่วยฝึกฝนตอนนี้ก็ต่อต้านรัฐบาลลาว เราเสียเวลาและทุนทรัพย์มากมายในลาว สถานการณ์แย่กว่าตอนที่เราเพิ่งมา”
ค.ศ. ๑๙๖๒ รัฐบาลเจ้าบุนอุ้มเริ่มเปลี่ยนท่าทีพร้อมเจรจากับฝ่ายปะเทดลาว สหรัฐฯ เองก็เปลี่ยนใจ หันมาสนับสนุนเจ้าสุวันนะพูมา (ฝ่ายเป็นกลาง) ต่อมาความพ่ายแพ้ที่หลวงน้ำทาช่วงเดือนกรกฎาคมของกองทัพแห่งชาติต่อกองกำลังปะเทดลาวก็ทำให้เครดิตและอำนาจนายพลพูมีลดลง ไรอันระบุว่าการที่รัฐบาลทหารของเจ้าบุนอุ้มมีศัตรูภายนอกคือสิ่งที่ทำให้เขาล้มเหลว และหากไม่มีชัยชนะในสนามรบอเมริกาก็ไม่มีเหตุผลที่จะสนับสนุนเขาต่อ ที่สำคัญคือลาวมี “ฝ่ายค้าน” แข็งแกร่ง มีชนชั้นนำที่คุ้นเคยระบบรัฐสภา
สหรัฐฯ และฝ่ายขวาในลาว
ระแวงการปฏิบัติตาม
สนธิสัญญานี้ ขณะที่ไทย
กังวลว่าคอมมิวนิสต์
จะมีอิทธิพลใน ครม. ลาว
ประธานาธิบดีเคนเนดี แถลงข่าวเรื่องการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในลาว
ภาพ : John F. Kennedy Presidential Library and Museum
ในที่สุดเจ้าบุนอุ้มก็ตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาลาวสามฝ่ายในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม้ว่านายพลพูมีจะยังคัดค้านและต้องการให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือทางการทหารเพื่อแก้ปัญหามากกว่า โดยมีการทำ “สนธิสัญญาเจนีวา ค.ศ. ๑๙๖๒” และข้อตกลงว่าด้วยความเป็นกลางของลาว (Declaration on the Neutrality of Laos) ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม มีทั้งหมด ๑๔ ชาติ (รวมถึงไทย) รับรอง
ผลจากสนธิสัญญานี้ทำให้เกิด “รัฐบาลผสมชุดที่ ๒” ที่มีเจ้าสุวันนะพูมารับตำแหน่งนายกฯ อีกเป็นรอบที่ ๔ โดยแผนงานคือให้โควตาทุกฝ่ายใน ครม. รวมกองกำลังฝ่ายซ้าย (ปะเทดลาว) ฝ่ายเป็นกลาง (สุวันนะพูมา, กำลังของร้อยเอกกองแล) และฝ่ายขวา (เจ้าบุนอุ้ม, นายพลพูมี) เข้าในกองทัพแห่งชาติ ถอนทหารต่างชาติออกจากลาว และลาวต้องไม่เข้าร่วมกับสนธิสัญญาทางทหารใด ๆ
สหรัฐฯ และฝ่ายขวาในลาวระแวงการปฏิบัติตามสนธิสัญญานี้ ขณะที่ไทยกังวลว่าคอมมิวนิสต์จะมีอิทธิพลใน ครม. ลาว บันทึกของเจ้ามังคลาเล่าว่า เหตุการณ์ที่บิดาร่วมมือกับร้อยเอกกองแลและฝ่ายปะเทดลาวหนนี้ทำให้เข้มแข็งด้านกำลังทหาร แต่ก็แลกด้วยการ “หลับหูหลับตาไปกับพวกเวียต (นาม)...” ในภายหลัง เจ้าสุวันนะพูมา กล่าวกับ เอเวอเรลล์ แฮร์ริแมน (Averell Harriman) ทูตพิเศษที่ประธานาธิบดีเคนเนดีส่งมาพบเพื่อเจรจาไม่ให้คอมมิวนิสต์ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญว่า การที่เขารับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตช่วงที่ถูกนายพลพูมีตีโต้นั้น เพราะเขามองว่าอเมริกัน “ละทิ้งการสนับสนุน” แต่เขาก็ยินดีที่จะรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อีกครั้ง เพราะเขามองว่าคอมมิวนิสต์นั้นคือ “ฝ่ายตรงข้าม”
เอกสารกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ถูกปลดชั้นความลับจำนวนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ในกรณีสัญญาถูกละเมิด สหรัฐฯ ยังเตรียมแผนไว้ เช่น ใช้กำลังทหารไทย อเมริกัน และเวียดนามใต้ บุกยึดภาคใต้ของลาวเอาไว้ ซึ่งจะทำให้ป้องกันไทยและเวียดนามใต้ได้
อีกกรณีคือแบ่งลาวเป็นตะวันตกและตะวันออกด้วยการส่งทหารองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีโต (Southeast Asia Treaty Organization - SEATO) ยึดเมืองใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำโขงแล้วเจรจาในภาวะที่มีแต้มต่อทางทหาร
แต่แผนการเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้
ร.อ. เคอร์ติส แอล. เมสเซกซ์ (Capt. Curtis L. Messex) อบรมเรื่องระบบไฮดรอลิกของเครื่องบินให้นักบินลาว ฐานทัพอากาศอุดรธานี ภายใต้โครงการ Water Pump แต่ก็มีหลักฐานว่าคนเหล่านี้คือทหารอากาศไทย
ภาพ : NARA II
แผนการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ บริเวณภาคกลางของลาว เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๔
ภาพ : US News and World Report
SUNRISE
ปืนใหญ่ไทย
กลับเข้าลาว
เพื่อทำตามสนธิสัญญาเจนีวา รัฐบาลไทยเรียก SS1 และ SS2 กลับ ย้าย “บก.คท.” ที่ตั้งขึ้นเพื่อประสานระหว่าง บก. ๓๓๓ กับลาวฝ่ายขวากลับมาที่หนองคาย และย้ายอีกครั้งมาตั้งที่อุดรธานี (ปลาย ค.ศ. ๑๙๖๓)
ต่อมา ค.ศ. ๑๙๖๔ รัฐบาลไทยยกระดับ บก. ๓๓๓ เป็น “บก.ผสม. ๓๓๓” เพื่อควบคุม “กองกำลังผสม ๓๓๓” ที่ประกอบด้วยหน่วยพารูและหน่วยบินไฟร์ฟลาย (Fire Fly) จากกองทัพอากาศที่จัดตั้งขึ้นใหม่
หน่วยบินนี้เกิดจากการที่ไทยส่งทหารอากาศ ๒๐ คน ไปฝึกกับ “ฝูงบินคอมมานโดที่ ๑” ที่มาประจำอยู่ฐานทัพอากาศอุดรธานีตามโครงการ “Water Pump” ที่สหรัฐฯ ทำเพื่อเสริมขีดความสามารถการรบทางอากาศให้ลาว ซึ่งรวมถึงการฝึกนักบินลาวในไทยด้วย
ช่วงนี้รัฐบาลผสมชุดที่ ๒ ของลาวแตกแยก เกิดกรณีลอบสังหาร กินิม พนเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่มาจากฝ่ายเป็นกลาง (เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๓) ผลคือเกิดความหวาดระแวงมากขึ้น มีความพยายามก่อรัฐประหารสองครั้ง ครั้งแรกโดยหน่วยตำรวจพลร่มลาว ครั้งที่ ๒ โดยนายพลพูมี แต่ล้มเหลว ผลคือเจ้าสุพานุวงและ พูมี วงวิจิด หลบออกจากเวียงจันทน์กลับไปซำเหนือ ส่วนนายพลพูมีมาลี้ภัยในไทย
สงครามกลางเมืองในลาวกลับมารุนแรงอีกครั้ง
“เตซาวแปด” หรือเครื่องบินแบบ T-28 ซึ่งมีบทบาทในสงครามลับ ในภาพเป็นการฝึกนักบินลาว (หรือทหารอากาศไทย ?) ในโครงการ Water Pump เหนือน่านฟ้าอุดรธานี โดยครูอเมริกัน
ปลายเดือนเมษายน เจ้าสุวันนะพูมาขอให้สหรัฐฯ เริ่มทิ้งระเบิดในลาว โดยประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน วางหลักกับที่ปรึกษาว่า เป้าหมาย “ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลลาว”
ไรอันชี้ว่า ผู้อนุมัติและตัดสินใจเรื่องทิ้งระเบิดในลาว นอกจากอเมริกัน ที่ขาดไม่ได้คือเจ้าสุวันนะพูมา “ซึ่งจะเป็นคนให้ค่า ตีความ และอนุมัติเป้าหมายโจมตี” แต่นายกฯ ได้ขอให้เรื่องนี้เป็นความลับ ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่า หากเปิดเผย เครดิตความเป็นกลางของเขาจะหมดไปทันที และเขาจะไม่สามารถเป็น “คนกลาง” ทางการเมืองได้อีก อย่างไรก็ตามปฏิบัติการทางอากาศก็มีปัญหาทิ้งระเบิดผิดฝ่าย ปฏิบัติการนอกเหนือขอบเขต ฯลฯ ซึ่งสร้างปัญหาระหว่างนายกฯ ลาวกับสถานทูตสหรัฐฯ ในเวียงจันทน์ตลอดเวลา
มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๔ ไทยทำโครงการ ๐๐๘ (Project 008) เตรียมกองร้อยปืนใหญ่ใช้ชื่อว่า SUNRISE (SR-อาทิตย์อุทัย) เพื่อส่งเข้าไปป้องกันเมืองสุย เมืองยุทธศาสตร์ในทุ่งไหหินที่ควบคุมเส้นทางระหว่างเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ทุ่งไหหิน
หน่วยปืนใหญ่นี้จะมีทั้งหมดถึงแปดผลัด
พล.อ. บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารปืนใหญ่ที่ศึกษาเรื่องสงครามลับ นำเสนอบันทึกความทรงจำของทหารปืนใหญ่กองร้อย SR ใน ๒๕๐๓ สงครามลับ สงครามลาว ถึงการรบของ SR1 จากปากคำ ร.ท. เกรียงไกร นุชภักดี (ชื่อรหัส “สิงห์”) รองผู้บังคับกองร้อย SR1 ว่า SR1 มีปืน ๑๐๕ มม. หกกระบอก เดินทางจากนครราชสีมาอันเป็นที่ตั้งโดยไม่ได้รับแจ้งว่าสนามรบคือที่ใด เมื่อถึงเมืองสุยก็ตั้งฐานที่ “บ้านค่าย” ช่วงแรกพวกเขาประสบปัญหาไม่มีวิทยุสนาม การติดต่อระหว่างฐานย่อยต้องใช้เชือก โดยวางที่ตำแหน่งหัวหน้าชุดระวังป้องกันแปดชุด รวมปลายเชือกทั้งแปดมาที่ส่วนกลาง ใช้การ “กระตุกเชือก” ส่งสัญญาณที่ตกลงกันไว้ ส่วนการรบ พวกเขาถูกสั่งให้เริ่มยิงทั้งที่ยังสร้างฐานไม่เสร็จ ผลคือ “ถูกข้าศึกยิงปืนใหญ่ตอบโต้มาราวห่าฝน” จนเกิดความวุ่นวาย เพราะบังเกอร์ยังขุดไม่เสร็จ กำลังพลส่วนมากไปหลบในบังเกอร์ศูนย์อำนวยการยิงที่ทำเสร็จก่อนจนทำให้ “สิงห์” ถูกทับอยู่ในบังเกอร์
อย่างไรก็ตามศัตรูเข้าใจผิดว่าหน่วยปืนใหญ่นี้จะละลาย (ถูกทำลายทั้งหมด) หรือเสียหายหนักจึงประมาท ทำให้ SR1 ยิงทำลายปืนข้าศึกได้ถึง ๑๔ กระบอก ทั้งนี้ภารกิจ SR1 ยังรวมถึงการฝึกสอนทหารปืนใหญ่ของกองทัพแห่งชาติลาวด้วย
อยู่ได้ราว ๗ เดือนก็มีการส่ง SR2 เข้าไปทดแทน
การทิ้งระเบิดทำลายบังเกอร์และฐานยิงปืนครก ด้วยเครื่องบินแบบ A-1E ของสหรัฐอเมริกา บริเวณทุ่งไหหิน วันที่ ๑๑ สิงหาคม และพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๐
ภาพ : Capt. James Taylor/USAF/NARA II
(จากซ้าย) น.ท. วิลเลียม ซี. โทมัส (Lt.Col. William C. Thomas) ผู้บัญชาการกองบินคอมมานโดที่ ๑ (1st Air Commando Wing) ขณะปรึกษาแผนการบินกับนักเรียนการบินลาว (ไทย ?) ฐานทัพอากาศอุดรธานี ค.ศ. ๑๙๖๔
ภาพ : U.S. Air Force Photo/NARA II
เฉลียว เสหิน ชาวจังหวัดเชียงราย ทหารผ่านศึก เล่าถึงการตัดสินใจของทหารประจำการที่ไปรบช่วงนี้ว่า เขาไปกับ “กองพันที่ ๗” (สันนิษฐานว่าเป็น SR7) ขณะมียศสิบเอกในปี ๒๕๑๒/ค.ศ. ๑๙๖๙ ว่า ที่ไปเพราะ “เงินเดือนทหารน้อย (๑๗๕ บาทต่อเดือน) แต่ไปรบได้ ๑,๘๐๐ บาทต่อเดือน ตอนสมัครอยากไปรบเวียดนาม แต่เขาบอกนาทีสุดท้ายว่าจะส่งไปลาว ผมก็ไม่ได้ลังเล”
โดยระบุว่าเขารู้เพียง “ฝรั่งจ้างไปรบ”
เฉลียวถูกส่งไปฝึกที่กาญจนบุรี ๘ เดือนท่ามกลางข่าวทหารไทยจำนวนมากตายในลาว จนมีเพื่อนหลายคนไม่อยากไป โดยเมื่อไปลงที่สนามบินล่องแจ้ง เขาถูกส่งไป “ภูพันเก้า” หนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ขอบทุ่งไหหินทันที โดยลักษณะการรบคือ “ยิงปืนใหญ่ใส่กัน เสียงปืนเหมือนเสียงฟ้าร้อง บางทีกระสุนปืนใหญ่ข้าศึกก็ลอยข้ามหัวไป ต้องกระโดดลงหลุมบุคคลก็มี”
ลักษณะสนามรบของกองร้อย SR คือ กำลังหลักจะประจำอยู่ที่เมืองสุย มีการส่งกำลังออกไปลาดตระเวนและรักษาพื้นที่ โดยจะผลัดเปลี่ยนหน่วยใหม่เข้าไปทุกปี (จนถึง ค.ศ. ๑๙๗๑)
ครั้งหนึ่งฐานที่เฉลียวเฝ้าระวังแตก “ประมาณ ปี ๒๕๑๓ ผมไปอยู่ที่เนินแห่งหนึ่งใกล้เส้นทางโฮจิมินห์ ข้าศึกเอารถถังมายิงถล่มยอดดอยจนต้องตีแหวกหนีออกไปทางด้านตะวันตก” หลังจากนั้นเขาต้องใช้เวลา ๑๓ วันในป่า จนไปพบกับกองกำลังไทยจึงกลับฐานได้ในสภาพสะบักสะบอม