การถวายดวงประทีป ๑ หมื่นดวง เพื่อให้ทุกคนน้อมจิตเข้าถึงพระอมิตาภะพุทธเจ้าที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือให้ทุกดวงจิตเดินทางไปยังดินแดนสุขาวดีของพระองค์
พุทธวัชรยานไทย
จิตวิญญาณของเหล่าโยคี
“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ
เรื่อง : จิดาภา เอกอัคร
ภาพ : กฤษฎ์ ผ่องสุขสวัสดิ์
ขึ้น ๑ ค่ำ : ค่อย ๆ สว่างขึ้น
โลกของพุทธวัชรยาน
อีกหนึ่งนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์
“คนมักจะมองพุทธศาสนาหรือติดภาพของเถรวาทจนเข้าใจว่าเถรวาทเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา แต่ไม่ใช่เลย พุทธศาสนามีความรุ่มรวย ความหลากหลายมากนอกจากเถรวาทแล้วยังมีมหายาน วัชรยาน ซึ่งต่างก็ช่วยเติม เพิ่ม เสริม และต่อยอดกันและกัน”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล พระนักวิชาการและนักบรรยายธรรมสายเถรวาทที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพมานานในสังคมไทยกำลังแสดงธรรมในงานทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อระดมทุนโครงการก่อตั้งสถาบันภาวนาแห่งหนึ่ง
เช้าวันอาทิตย์นี้ค่อนข้างแปลกไป เพราะฉันกำลังไปงานทอดผ้าป่า “คนเดียว”
แม้จะเติบโตมาในครอบครัวที่นับถือพุทธศาสนาเข้มข้น แต่ความศรัทธาของฉันนั้นโยกเยกยิ่งกว่าเก้าอี้ ม้านั่งเด็ก ศรัทธาบ้าง หลุดขอบบ้าง ตามประสาคนช่างตั้งคำถาม
เมื่อเดินเข้ามาในโถงล็อบบี้อาคารรีเจ้นท์เฮ้าส์ บนถนนราชดำริ ได้ยินเสียงสวดมนต์เป็นภาษาไม่คุ้นหูอยู่ไกล ๆ ยามรักษาความปลอดภัยชี้เป็นนัยให้รู้ว่างานทอดผ้าป่าอยู่ด้านใน ฉันตื่นตาตื่นใจกว่าที่คิดไว้ เสน่ห์และความน่าสนใจอยู่ที่ความคอนทราสต์ของทุกองค์ประกอบในพื้นที่แห่งนี้
งานทอดผ้าป่าตามวิถีของเถรวาทจัดในป่าคอนกรีตของเมืองกรุง มีพระสงฆ์เพียงพระอาจารย์ไพศาลสวมจีวรสีพระราชนิยมสีกึ่งเหลืองส้มกึ่งสีแก่นขนุน ท่านเป็นเสมือนภาพแทนของ “เถรวาทไทย” แต่งานนี้กลับเป็นการระดมทุนสนับสนุนโครงการสร้างศูนย์ภาวนาแบบ “วัชรยานทิเบต” ใจกลางเมือง
เบาะนั่งวางบนพื้นประมาณ ๓๐ ที่นั่งจัดวางเป็นตัวยู มุมซ้ายสุดของห้องมีโต๊ะหมู่บูชา หมู่ ๕ เคลือบสีทอง แม้จะเป็นรูปแบบมาตรฐานที่คุ้นเคยในหลายบ้านชาวไทยพุทธ แต่พระพุทธรูปกลับมีลักษณะไม่คุ้นตา แม้ไม่มีพื้นฐานความรู้อย่างลึกซึ้งในพระพุทธศาสนาก็รู้ได้ว่าไม่ใช่แบบเถรวาท
ความคอนทราสต์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่กำลังส่งสารท้าทายให้คนที่มาเข้าร่วมหน้าใหม่กล้าพังทลายกรอบของนิกายหรือรูปแบบที่ถูกกำหนดไว้ในศาสนาพุทธดังที่เคยได้รับการสอนสั่งมา
“ถ้าติดกับพิธีกรรมหรือรูปแบบจะยอมรับนิกายอื่นได้ยาก ซึ่งจะทำให้ขาดโอกาสในการเติมภูมิปัญญาหรือวิถีปฏิบัติที่จะเกื้อกูลให้มีชีวิตที่สงบเย็นและออกจากทุกข์ได้เร็วขึ้น” พระอาจารย์ไพศาลเทศนาธรรมที่สำคัญยิ่ง
พระอมิตาภะพุทธเจ้าในรูปนิรมาณกาย องค์ซ้ายสุด พระอมิตาภะพุทธเจ้าในรูปสัมโภคกาย กลางภาพ และพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาในรูปนิรมาณกายอยู่ขวาสุด ความเชื่อของพุทธวัชรยานแบบทิเบต นับถือพระพุทธเจ้าหลายปางตามคุณลักษณะต่าง ๆ
นับเป็นครั้งแรกของฉันที่ได้สัมผัสกับวิถีแบบวัชรยาน
พระอาจารย์ไพศาลอธิบายความแตกต่างที่ซับซ้อนระหว่างเถรวาทกับมหายาน รวมถึงวัชรยานอันเป็นนิกายที่แตกแขนงมาจากมหายานอีกทีหนึ่งได้ด้วยกำมือเดียว
“ก็เหมือนกับสิ่งที่อาตมาทำอยู่นี้เรียกว่า ‘กำหมัด’ หรือ ‘กำปั้น’ เกิดได้เพราะมีห้านิ้วรวบเข้าหากัน เมื่อไรก็ตามที่นิ้วทั้งห้าคลายจากกันกำปั้นก็หายไป การที่กำปั้นหายไปเรียกว่ากำปั้นไม่มีตัวตน หรือ ‘อนัตตา สุญญตา’ (อนัตตา หมายถึงไม่มีตัวตน, สุญญตา หมายถึงความว่าง) แต่กำปั้นเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยนิ้วทั้งห้านิ้วมารวบเข้าหากัน ความสัมพันธ์ระหว่างนิ้วทั้งห้าเรียกว่า ‘สหสัมพันธ์’ ไม่มีนิ้วทั้งห้ากำปั้นก็ไม่มี”
พระอาจารย์ไพศาลอธิบายว่า เถรวาทมีแนวคิดมุ่งเน้นไปยังการละตัวตน หรือการทำให้กำปั้นนั้นหายไปด้วยการเจริญสติปัญญา ในขณะที่มหายานและวัชรยานมุ่งเน้นความสัมพันธ์ของทั้งห้านิ้วที่ทำให้เกิดกำปั้นขึ้นมา เพราะเชื่อว่าหากเข้าใจเหตุและปัจจัย ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดตัวตนย่อมทำให้คลายกำปั้นลง ละตัวตนที่ยึดติดได้โดยง่ายเพื่อพบกับความว่างหรือความไร้ตัวตน
แม้ทั้งสองแนวคิดจะมีวิธีต่างกัน แต่ก็เป็นกำปั้นเดียวกัน เป็นความจริงคนละด้านของสัจธรรมเดียวกัน
“เถรวาทก็ดี วัชรยานก็ดี มหายานก็ดี ล้วนแต่เป็นนิ้วที่ชี้ไปหาความจริงเดียวกัน เหมือนนิ้วแต่ละนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ ดวงจันทร์มีหนึ่งเดียว แต่นิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์มีหลายนิ้ว”
คำสอนของพระอาจารย์ไพศาลและทุกองค์ประกอบในงานทอดผ้าป่านี้ทำให้ฉันเข้าใจว่าวัชรยานเป็นหนึ่งในนิ้วที่ชี้ไปทิศทางเดียวกันกับศาสนาและนิกายอื่น
วัชรยานเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราเข้าถึง “ความจริงของชีวิต” หรือที่พุทธศาสนาเชื่อว่าคือ “การพ้นทุกข์”
ขึ้น ๓ ค่ำ : ปฐมธรรม
ความศรัทธา
ฉันยืนมองผืนดินขทิรวัน เห็น “พระศานติตารามหาสถูป” อยู่ไกล ๆ หากเปลี่ยนภูเขาด้านหลังเป็นเทือกเขาหิมาลัยคงเสมือนว่าตอนนี้ฉันอยู่นครลาซาในทิเบต
“ขทิรวัน” ศูนย์ปฏิบัติภาวนาแบบพุทธวัชรยาน มูลนิธิพันดารา ตั้งอยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ไม่กว้างแต่มีความยาวแนวลึก ช่วงด้านหน้าซึ่งติดถนนเป็นส่วนของโรงอาหาร ห้องภาวนา โถงพระพุทธรูป และห้องพักของผู้มาปฏิบัติจำนวนหนึ่ง ด้านหน้าและด้านหลังของขทิรวันมีบ่อน้ำขนาดใหญ่กว้างเกือบเท่าความกว้างของพื้นที่คั่นแบ่งสัดส่วนชัดเจน
ด้านหลังบ่อน้ำมี “พระสถูปมนตร์” รูปทรงเหมือนกระโจมขนาดใหญ่ประกอบด้วยการเรียงชั้นของผืนผ้าหลากหลายสีไล่สลับกันขึ้นไปจนถึงยอด มีบทสวดภาษาทิเบตอยู่ตลอดผืนผ้า ชวนให้นึกถึงธงมนตร์ที่ผูกโยงตามอาคารบ้านเรือนในตัวเมืองทิเบต ตลอดจนบนเทือกเขาสูงลิบที่ชวนให้เกิดความสงสัยว่าคงไม่มีมนุษย์คนใดจะขึ้นไปผูกธงได้ไกลในที่สูงชันเช่นนั้นหากไม่มีศรัทธา
ธงมนตร์คือธงผ้าห้าสี แทนห้าธาตุ ได้แก่ สีขาวคือธาตุลม สีแดงคือธาตุไฟ สีฟ้าคืออากาศธาตุ สีเขียวคือธาตุน้ำ และสีเหลืองคือธาตุดิน บนธงแต่ละผืนมีบทสวดมนต์จารึกอยู่ ชาวทิเบตเชื่อว่าหากลมพัดผ่านก็จะพัดพาถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ให้ลอยไปไกลแสนไกล
หลังพระสถูปมนตร์นอกจากจะมีโถงภาวนาและห้องพักผู้มาปฏิบัติตั้งอยู่ข้างกัน ยังมีพระศานติตารามหาสถูปตั้งตระหง่าน
พระศานติตารามหาสถูปอยู่ด้านในสุดของขทิรวัน ด้านหน้าหันเข้าหาทิศเหนือ ทิศใต้มีภูเขาหินสูงใหญ่ที่เขียวชอุ่มเป็นฉากหลัง หากก่อสร้างเสร็จสิ้นพระสถูปจะสูงใหญ่เกือบเท่าอาคารเจ็ดชั้น ตอนนี้ชั้น ๒ ซึ่งจะใช้เป็นศูนย์เรียนรู้และฝึกปฏิบัติสร้างเสร็จสิ้น และกำลังเดินหน้าก่อสร้างชั้น ๓-๖ หากสมบูรณ์เมื่อใดพระสถูปแห่งนี้จะเป็นที่ปฏิบัติธรรมครบวงจรให้คนที่สนใจในพุทธวัชรยานและวัฒนธรรมทิเบต
การสวดบทสวดมนต์เจอดจะใช้กลองและฉิ่งตีประกอบ เพื่อสร้างความไพเราะถวายพระพุทธเจ้าให้ท่านประทานพรกลับสู่ผู้สวด
พระศานติตารามหาสถูป ณ ขทิรวัน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะใช้สำหรับการฝึกปฏิบัติธรรมให้ชาวพุทธวัชรยานและวัฒนธรรมทิเบต กำหนดสร้างเป็นอาคารเจ็ดชั้น ขณะนี้เสร็จแล้วสองชั้น
ฉันยืนมองพระสถูปอยู่ไกล ๆ อดจินตนาการไม่ได้ว่าพระสถูปมหึมาเช่นนี้หากสร้างเสร็จสิ้นแล้วคงจะเด่นเป็นสง่าไม่ว่าจะมองจากทางไหน ยอดที่สูงขึ้นมาจากหมู่แมกไม้ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบทิเบต วัฒนธรรมของดินแดนที่ใกล้สาบสูญที่จะได้รับการเผยแผ่และอนุรักษ์ไว้ ณ ที่แห่งนี้ คงจะดึงดูดสายตาของทุกคนที่พบเห็น
ขทิรวันก่อตั้งโดย รศ. ดร. กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล หรือนามทิเบตว่า “เกซัง ตาวา” อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เปลี่ยนผันมายังโลกของพุทธะเต็มตัว อาจารย์ตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้ในดินแดนบ้านเกิดเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณ
อาจารย์กฤษดาวรรณเรียนและทำวิจัยเกี่ยวกับภาษาทิเบตในระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกามาก่อน ขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำให้ได้เรียนรู้และอาศัยใกล้ชิดกับคนทิเบต รวมถึงศึกษาภาษา วัฒนธรรม และศาสนาพุทธวัชรยานทิเบตอย่างลึกซึ้ง เมื่อกลับสู่มาตุภูมิจึงคิดเพียงว่าอยากให้คนไทยมีโอกาสสัมผัสวิถีพุทธวัชรยานแบบทิเบต ตั้งใจมุ่งเผยแผ่วิถีวัชรยาน เลือกลาออกจากงานประจำ สร้างขทิรวันขึ้นมาโดยหวังให้เป็นสถานที่เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีทิเบตในไทย แต่ไม่ว่าจะอนุรักษ์ได้มากน้อยอย่างไร แก่นธรรมยังคงสำคัญสุด
“วัฒนธรรมไม่ใช่ตัวแก่นธรรม วัฒนธรรมคือประเพณี คือวิธีการพูด การใช้ชีวิต การฝึกปฏิบัติ ตัวแก่นธรรมคือตัวจิตวิญญาณ ตัวศาสนา ตัวแก่นธรรมนี้เราทำอยู่และทำได้ แต่แก่นธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากศรัทธาอย่างเดียว ต้องมีปัญญา ศรัทธาคู่กับปัญญาก็จะทำให้การปฏิบัติยั่งยืน แม้ในอนาคตเราไม่อยู่แล้ว การปฏิบัติจะคงอยู่ ประเพณีเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่แก่นธรรมไม่เปลี่ยน”
ในดินแดนของวัชรยานไทยยังมีบุคคลหนึ่งที่หอบหิ้วเมล็ดพันธุ์แห่งจิตวิญญาณวัชรยานทิเบตมาเพาะลงบนผืนดินลุ่มน้ำเจ้าพระยา
วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการด้านปรัชญาศาสนาและผู้ก่อตั้ง “วัชรสิทธา” แหล่งเรียนรู้พุทธธรรมร่วมสมัยที่ได้แรงบันดาลใจจากการเรียนรู้พุทธศาสนาวัชรยานแบบทิเบตจากโลกตะวันตก
วัชรสิทธาตั้งอยู่บนถนนศรีอยุธยา แขวงดุสิต กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ทดลองการศึกษาทางจิตวิญญาณ โดยสถาบันมีคอร์สอบรมซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลายให้เลือกสรรตามความสนใจ
วิจักขณ์รู้จักพุทธศาสนาและได้สัมผัสประสบการณ์ก้าวข้ามความคิดพบเจอสภาวะจิตที่ตนรู้สึกตื่นทางธรรมเป็นครั้งแรกจากการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมในช่วงวัยรุ่น จากจุดเริ่มต้นจึงทำให้สนใจเรียนรู้เรื่องการภาวนามากขึ้นและได้ค้นพบกับแนวทางแบบมหายาน รวมถึงวัชรยานที่ตนรู้สึกตอบโจทย์
เมื่อไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา จึงได้ศึกษาศาสนาอย่างลึกซึ้ง และเรียนรู้พุทธศาสนาทิเบตกับครูอาจารย์ทิเบตในโลกตะวันตก ทำให้วิจักขณ์รู้สึกว่าได้พบเจอหนทางเข้าถึงแก่นคำสอนของพุทธศาสนาที่เป็นประโยชน์ และเข้ากับแนวทางที่ตนต้องการความร่วมสมัยมากกว่าการยึดติดกับอดีตอาจารย์ของวิจักขณ์แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเอาวัฒนธรรมประเพณีไปจำกัดพุทธธรรม โดยพร้อมจะถอดอัตลักษณ์ออกและเอาแต่จิตวิญญาณของพุทธทิเบตที่สามารถงอกได้ทุกที่
วิจักขณ์มองว่าวัชรสิทธาเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้เรื่องจิตใจ การเรียนรู้ของวัชรสิทธาตั้งอยู่บนฐานสามระดับ คือ ปัญญาจากการฟัง ปัญญาจากการใคร่ครวญ และปัญญาจากการภาวนา การเรียนรู้เหล่านี้เกิดขึ้นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดกรอบอยู่เพียงกิจกรรมของศาสนาพุทธอย่างเดียว เพราะวิจักขณ์มองว่าการปฏิบัติเชื่อมโยงกับศาสตร์ร่วมสมัยอื่น ๆ ได้เสมอ หากกิจกรรมเหล่านั้นมีแง่มุมของการสัมพันธ์กับเรื่องจิตใจ เป็นไปตามแนวคิดของวิจักขณ์ที่เชื่อว่า หากคงเพียงจิตวิญญาณก็จะงอกเงยได้ในทุกที่
มากกว่าที่จะบอกว่าเป็นคำตอบ วิจักขณ์หวังว่าวัชร-สิทธาจะเป็นทางเลือกหนึ่งของพื้นที่เรียนรู้ “จิตวิญญาณพุทธทิเบต” อาจโอบอุ้มให้คำตอบกับบางคนได้ว่าตนเองคือใคร และมีความหมายอย่างไรกับทุกสิ่งบนโลกนี้
“เถรวาทก็ดี วัชรยานก็ดี มหายานก็ดี ล้วนแต่เป็นนิ้วที่ชี้ไปหาความจริงเดียวกัน เหมือนนิ้วแต่ละนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ ดวงจันทร์มีหนึ่งเดียว แต่นิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์มีหลายนิ้ว”
รศ.ดร. กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล (ขวา) เป็นผู้นำวิถีพุทธแบบวัชรยานทิเบตเข้ามาเผยแผ่ในไทยและจัดตั้งมูลนิธิพันดาราเพื่อเป็นทางเลือกนำหลักธรรมนำชีวิตยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยมีอาจารย์มิว เยินเต็น (ซ้าย) เป็นผู้ร่วมเผยแผ่
ขึ้น ๖ ค่ำ
ความรัก
ในโลกของมหายานและวัชรยานเชื่อว่าพระโพธิสัตว์มีอยู่มากมายในโลก เป็นผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และมักมีคุณลักษณะโดดเด่นประการหนึ่งคือความเมตตากรุณา
พระโพธิสัตว์ต้องการให้ทุกสิ่งมีชีวิตพ้นทุกข์ไปด้วยกัน ในมุมหนึ่งอาจมีฝ่ายที่มองว่าความเมตตากรุณาเป็นกิเลสและเป็นเหตุให้พระโพธิสัตว์ยังไม่อาจไปสู่นิพพานได้เสียที แต่สำหรับโลกของมหายานและวัชรยานแล้ว ความรักของพระโพธิสัตว์เป็นแนวคิดสำคัญและเสมือนจุดเริ่มต้น เพราะการเปิดกว้างเพื่อโอบอุ้มทุกสรรพสิ่งโดยไม่ตัดสิน เกิดขึ้นจากการเข้าใจในความว่างหรือสุญญตา ที่ทำให้บุคคลที่เข้าใจเป็นอิสระจากกรอบทั้งปวง นอกจากจะนำไปสู่การละทิ้งตัวตน ยังนำไปสู่การเปิดกว้างของใจในการคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ร่วมโลก
หากกำลังเดินทางสำรวจจักรวาลมหายานและวัชรยาน จะไม่ทำความรู้จักกับ “ความรัก” คงไม่ได้
“ช่วยเหลือดวงจิตที่ล่วงลับ” เป็นคำโปรยในการประชาสัมพันธ์เทศกาล “เตเช็น ฉิงดรุบ” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิพันดารา เมื่อวันที่ ๒๓-๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๗
ก่อนเดินทางไปร่วมงานที่ขทิรวัน ฉันเข้าใจมาตลอดว่าจะมีคนมาเข้าร่วมเพื่อสวดมนต์หรือทำกิจกรรมเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ครอบครัวและญาติที่ล่วงลับอันเป็นบุคคลที่รักของแต่ละคน เช่นเดียวกับเวลาที่ชาวเถรวาทไปงานบุญก็มักจะขอพรให้ตนเองและคนในครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่ และอุทิศบุญกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ
แต่ความรักที่ฉันกำลังจะได้สัมผัสกว้างกว่านั้นนัก
“เตเช็น ฉิงดรุบ” ปีที่ ๕ จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่เริ่มต้นในปี ๒๕๖๒ ช่วงเวลาที่โรคระบาดโควิด-๑๙ กำลังโหมกระหน่ำและหลายชีวิตทั่วโลกล่วงลับกะทันหัน เทศกาลภาวนานี้จึงเกิดขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายในการทำบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่เพื่อช่วย “ทุกดวงจิต” ของผู้จากไป
“เตเช็น ฉิงดรุบ” เป็นคำศัพท์ภาษาทิเบต “เต” แปลว่าสูตร “เซ็น” แปลว่าใหญ่ แปลรวมอย่างไพเราะคือมหาสูตร (great bliss) ความหมายของคำดังกล่าวอธิบายให้เข้าใจง่ายคือความสุขทางจิตวิญญาณที่เกิดจากภายใน ส่วน “ฉิง” แปลว่าดินแดน และ “ดรุบ” แปลว่าฝึกปฏิบัติ “ฉิงดรุบ” จึงแปลว่าการฝึกปฏิบัติถึงดินแดนสุขาวดี
“สุขาวดี” (pure land) ฉันคิดว่าคงจะเป็นสิ่งเดียวกับสวรรค์ที่พุทธเถรวาทไทยรู้จัก เพียงแต่ในความเชื่อของมหายานและวัชรยาน พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ก็มีดินแดนสวรรค์หรือ “พุทธเกษตร” ของตนเอง สุขาวดีเป็นสวรรค์ของพระพุทธเจ้าอมิตาภะ หนึ่งในพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ตามความเชื่อของมหายานและวัชรยาน จุดเด่นของพระพุทธเจ้าอมิตาภะคือการเอื้อเฟื้อที่ยิ่งใหญ่ พาสิ่งมีชีวิตที่ล่วงลับไปยังสุขาวดีที่ “ทุกคน” เข้าถึงได้เพื่อเดินทางสู่การดับทุกข์ต่อไป การภาวนานี้จึงเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่
ฉันเดินขึ้นบันไดมาชั้น ๒ ของพระศานติตารามหาสถูปที่ยังคงมีเพียงโครงสร้างเป็นปูนเปลือย มองไปด้านนอกเห็นท้องฟ้าสีแดงระเรื่อ ๆ บ่งบอกว่าอีกไม่นานแสงของวันจะหมดไป
เทียนกลมสีขาวขนาดเล็กในถ้วยแก้วจำนวนนับไม่ถ้วนพร้อมกับดอกไม้ ผลไม้ น้ำบริสุทธิ์ ธูป ฯลฯ เป็นเครื่องบูชาตามความเชื่อของวัชรยานทิเบต วางเตรียมไว้ที่บริเวณพิธีในกิจกรรมถวายดวงประทีป ๑ หมื่นดวง
ดวงประทีปจะได้รับการถวายแด่พระอมิตาภะพุทธเจ้าในรูปนิรมาณกาย พระอมิตาภะพุทธเจ้าในรูปสัมโภคกาย และพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาในรูปนิรมาณกาย พระพุทธรูปสามองค์ที่ตั้งเรียงกันในมณฑลพิธี
ทฤษฎีตรีกายของพุทธมหายานและวัชรยานเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีกายสามรูปแบบ ได้แก่ ธรรมกาย นิรมาณกาย และสัมโภคกาย ธรรมกายลึกซึ้งที่สุด คือเป็นดวงจิตของพระพุทธเจ้า สภาวะความว่างที่ไม่มีรูปลักษณ์หน้าตา นิรมาณกายเป็นกายเช่นพระศากยมุนีพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะ พระพุทธเจ้าองค์ล่าสุดที่ตรัสรู้ในชมพูทวีปเป็นกายหยาบเหมือนมนุษย์ทั่วไป ในขณะที่สัมโภคกายเป็นกายทิพย์ของพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ประทับอยู่ในพุทธเกษตรเพื่อสอนธรรมพระโพธิสัตว์ ถือเป็นกายสำคัญสำหรับมหายานและวัชรยาน
อาจารย์กฤษดาวรรณช่วยอธิบายไว้ก่อนหน้าว่า หากมองเชิงประติมากรรมแล้วจะแยกง่าย คือ พระพุทธเจ้าในรูปสัมโภคกายจะสวมเครื่องประดับอาภรณ์สวยงามในขณะที่นิรมาณกายจะถูกปั้นให้เหมือนคนธรรมดาที่มีเนื้อหนัง
พระพุทธเจ้าสัมโภคกายในวัชรยานมีคุณลักษณะแตกต่างกัน เช่น อมิตาภะเป็นพระพุทธเจ้าที่เอื้อเฟื้อกรุณาต่อทุกสิ่งมีชีวิตอย่างมหาศาลเพื่อช่วยให้ทุกชีวิตหลุดพ้น ถึงขนาดที่เชื่อกันว่าเพียงภาวนาถึงชื่อของพระองค์ก็เดินทางไปยังสุขาวดีได้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร มีบาปอะไร หรือแม้แต่เชื่อในพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม ส่วนพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภามุ่งช่วยรักษามนุษย์ให้พ้นทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
“วัชรยานจริง ๆ แล้วคือมหายาน ต่างกันตรงที่วัชรยานเอาผลมาเป็นหนทางของการปฏิบัติ”* คำอธิบายจากอาจารย์กฤษดาวรรณที่ช่วยสรุปให้รู้จักวัชรยานมากยิ่งขึ้น
* “ตันตระหรือวัชรยานคืออะไร ? : บทสนทนาระหว่าง กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล กับ วิจักขณ์ พานิช” บทความโดยทีมงานวัชรสิทธา จาก https://vajrasiddha.com/whatistantra/
การเอา “ผล” มาเป็นหนทางปฏิบัติ เป็นอุบายในการเอาคุณลักษณะที่สมบูรณ์แบบของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ซึ่งแตกต่างกันมาน้อมนำสู่จิต
แนวปฏิบัติของวัชรยานอย่างหนึ่งคือเชื่อว่าตนมีพุทธะ มีคุณสมบัติเดียวกับพระพุทธเจ้า และเข้าถึงความสมบูรณ์แบบเช่นพระพุทธเจ้าได้
วัชรยานเชื่อว่าทุกคนมีความต้องการแตกต่างกัน เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของทุกกลุ่มคน ความหลากหลายของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์จึงตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่เหมือนกัน เกิดเป็น “พุทธเพื่อมหาชน” (Popular Buddhism) ผูกเข้ากับทุกชีวิต ทุกสังคมอย่างไม่มีเงื่อนไข
“ทุกสิ่งมีชีวิต” จึงสมบูรณ์แบบ และความสมบูรณ์แบบเข้าถึงได้ทุกเมื่อ
“เถรวาทไม่ได้มองว่าโลกที่เราอยู่เป็นพุทธเกษตร คือเถรวาทมีศรัทธาในพระพุทธเจ้าและมีอุดมคติ มองว่าหากเป็นนักบวชจึงจะได้เป็นพระอรหันต์ แต่วัชรยานบอกว่าทุกชีวิตมีพุทธภาวะ มีคุณสมบัติเดียวกับพระพุทธเจ้าตั้งแต่ต้น มีเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะ แปลว่าวันหนึ่งเขาจะหลุดพ้นและบรรลุสภาวะเดียวกับพระพุทธเจ้า ทำให้มันง่ายที่จะมองว่าทุกสถานที่ล้วนแต่คือพุทธเกษตร ทุกชีวิตล้วนแต่คือพุทธะ” อาจารย์กฤษดาวรรณกล่าวถึงสุนทรียะของวัชรยาน
การถวายดวงประทีปครั้งนี้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้น้อมจิตแห่งพุทธะของตนให้เข้าถึงความกรุณาที่สมบูรณ์แบบ เช่นพระพุทธเจ้าอมิตาภะ เพื่อตั้งใจช่วยเหลือให้ทุกดวงจิตมหาศาลที่มีเมล็ดพันธุ์พุทธะเดินทางไปยังดินแดนสุขาวดีของพระอมิตาภะพุทธเจ้าได้
กิจกรรมอุทิศซูร์จะนำขนมมาเผาเพื่อให้ดวงวิญญาณมาสูดดมกลิ่นควันบรรเทาความหิวโหย เป็นเหมือนการกรวดน้ำให้ดวงวิญญาณรู้สึกถึงบุญ โดยใช้กระบวยตักขนมเพื่อความบริสุทธิ์
ขึ้น ๙ ค่ำ
ความอิสระ
การเข้าสู่ทางธรรมโดยไม่ต้องละทางโลกเป็นแนวคิดที่ฉันไม่เคยนึกถึงมาก่อน และเกิดคำถามว่าเราจะทำสองสิ่งพร้อมกันได้จริงหรือ
“แนวทางของมหายานและวัชรยานมีสมมุติฐานหรืออุดมคติที่ว่าไม่มีสิ่งแยกขาดระหว่างทางโลกกับทางธรรม ชีวิตก็คือชีวิตแบบเดียว คุณจะใช้ชีวิตแบบไหนก็ได้ มีอิสระในการเลือก ไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องออกจากทางโลก”
วิจักขณ์อธิบายความเป็นมหายานและวัชรยานให้เข้าใจง่าย แนวทางนี้มองทางโลกและทางธรรมเป็นโลกใบเดียวกัน ชวนให้ฉันจินตนาการถึงชีวิตที่มีอิสระมากกว่าที่คิด
ด้วยเหตุนี้ในทิเบตฆราวาสจึงเป็นโยคี คือบุคคลผู้ศรัทธาและตั้งใจปฏิบัติภาวนาเพื่อมุ่งสู่การพ้นทุกข์ แม้ไม่ใช่นักบวชที่ถือศีลอยู่ในวัด แต่ก็มุ่งปฏิบัติภาวนาเข้มข้นเช่นเดียวกัน
---------------------------------------
เสียงแตรทิเบตดังก้องกังวานไกลดั่งตั้งใจจะส่งคลื่นเสียงไปกระทบกับผืนภูเขาด้านหลัง
“มิว เยินเต็น” อดีตพระทิเบตที่บวชอยู่กว่า ๒๕ ปี ปัจจุบันเป็นอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมทิเบตของมูลนิธิพันดารา เป่าแตรเป็นสัญญาณว่าบัดนี้พิธีศักดิ์สิทธิ์จะเริ่มขึ้น นั่นคือการสวดมนต์บทสวดเจอด “อุทิศร่างกายเป็นทาน เสียงหัวเราะแห่งฑากินี”
ผู้สวดบทสวดเจอดจะต้องปฏิบัติธรรมมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพราะต้องเล่นเครื่องดนตรีไปพร้อมกันเพื่อถวายความไพเราะเป็นเครื่องบูชา เนื้อหาของบทสวดเป็นการอุทิศร่างกายของผู้สวดแก่พระพุทธเจ้า แก่นธรรมคือการละอัตตาทิ้งตัวตนของผู้สวดเอง
ค่ำคืนนี้ทุกคนแต่งตัวแปลกออกไป ต่างสวมเสื้อสีส้มอิฐหรือสีแดงและมี “ผ้าซิน” สีขาวนวลตัดขอบสีแดงก่ำพันทับพาดไหล่คล้ายการห่มจีวร มือซ้ายถือฉิ่ง มือขวาถือกลองสองหน้าแบบทิเบต
การห่มผ้าซินมีนัยสำคัญเป็นเครื่องหมายบ่งบอกความทุ่มเทในการปฏิบัติ แม้จะยังไม่ได้ละทางโลกแต่ก็มุ่งสู่หนทางดับทุกข์เช่นเดียวกับนักบวช
แนวทางของมหายานและวัชรยานเชื่อว่าไม่มีสิ่งแยกขาดระหว่างทางโลกกับทางธรรม มีเพียงชีวิตแบบเดียวที่ไม่ต้อง “ละทางโลก” และไม่ต้อง “หยุดทางธรรม” เพราะโลกทั้งสองหลอมรวมกัน ชีวิตไร้ข้อจำกัดจึงให้อิสระที่จะเลือก
ณัฏฐวรรณ จิตรรัตน์ หรือณัฏฐ์ หนึ่งในโยคีผู้ร่วมสวดบทเจอดเล่าถึงความประทับใจ
“รู้สึกว่ามันสร้างแรงบันดาลใจ เมื่อเราไม่สามารถเข้าสู่ทางธรรมได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะเรามีครอบครัว ละไม่ได้ แต่เราเป็นโยคี คนที่มีผ้าซินคือผ่านการปฏิบัติเบื้องต้นแล้ว เราคือผู้มุ่งมั่น ถึงแม้จะเป็นฆราวาสแต่เราปฏิบัติธรรม มีโอกาสจะไปสู่การตระหนักรู้หรือตื่นรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวช เวลาเราคลุมผ้าความรู้สึกก็จะเหมือนเป็นนักบวชกลาย ๆ”
เสียงของบทสวด ฉิ่ง และกลองทิเบตดังก้อง เหล่าโยคีสวดถึงการละตัวตน ค่อย ๆ กล่าวถวายส่วนประกอบร่างกายทีละส่วนให้พระพุทธเจ้า
ในกิจกรรมอุทิศซูร์ใช้ขนมที่มีกลิ่นหอมนานาชนิดและกระดาษห้าสีแทนธาตุทั้งห้า รวมเผาให้ผู้ล่วงลับโดยไม่รู้ตัว
ขึ้น ๑๕ ค่ำ
ความตาย
เมื่อพูดถึงความตาย ฉันเชื่อว่าสิ่งแรกที่คนทั่วไปนึกถึงคือการตายของตนเอง หากขยายเรื่องความตายให้กว้างขึ้นอีก เราจะคิดไปถึงใครบ้าง
หลายคนอาจนึกถึงการตายของคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือคนรู้จักใกล้ชิด แต่สำหรับวัชรยานเมื่อพูดถึงความตายนั้นเป็นการนึกถึงทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้อย่างกว้างไกลที่สุด เพราะวัชรยานเข้าใจและเห็นคุณค่าความสัมพันธ์ของทุกสรรพสิ่ง
“การตายดีเป็นโอกาสที่เราจะกลับคืนสู่ธรรมชาติและนำพาความทุกข์โศกของชีวิตอื่นไปพร้อมกับเรา
“การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพียงบูชาพระพุทธเจ้า แต่ต้องไม่ลืมบุคคลที่ลำบากกว่าเรา”
อาจารย์กฤษดาวรรณกล่าวบรรยายธรรมหลังจากการสวดภาวนาเสร็จสิ้น ใจความสะท้อนถึงจุดประสงค์หลักของเทศกาล นั่นคือการช่วยดวงจิตของผู้จากไปให้ได้พบกับหนทางของการดับทุกข์
เพราะตระหนักในคุณค่าของทุกชีวิตที่มีพุทธภาวะในดวงจิต อีกทั้งการคิดถึงผู้อื่นด้วยความรักและกรุณายังช่วยให้สามารถละตัวตน ไม่ยึดติดกับอัตตา และสามารถสัมผัสความว่างที่พร้อมเปิดรับทุกชีวิต ยอมรับทุกปัจจุบันขณะที่อยู่ตรงหน้า จึงเกิดเป็นการดำรงอยู่กับปัจจุบันเพื่อผู้อื่น
การตายสำหรับโลกของวัชรยานดูไม่น่ากลัวนัก กลับมองว่าเป็น “โอกาส” ช่วยเหลือผู้อื่น
เหตุที่ความตายอาจไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะในโลกของสัจธรรมความตายเป็นเพียงกระบวนการเปลี่ยนแปลงหนึ่งในหลายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต
“จะตายอย่างไร เราคิดว่าเป็นคำถามเดียวกับว่าเราจะอยู่อย่างไร”
วิจักขณ์ชวนตั้งคำถามเมื่อพูดถึงความตาย
“คำสอนในพุทธจะเชื่อมโยงมายังจุดเดียวกันหมดคือเรื่องอนัตตาหรือความไม่มีตัวตน พระพุทธเจ้าพูดเรื่องทางสายกลาง หมายความว่าจะมีตัวตนก็ไม่ใช่ จะไม่มีอะไรเลยก็ไม่ใช่”
พระพุทธเจ้าตั้งคำถามกับความสุดโต่งมาโดยตลอด สุดท้ายแล้วไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนที่ตายแล้วสูญ หรือตัวตนที่อยู่ตลอดไป หากก้าวข้ามเรื่องตัวตนไปได้ คือยอมรับว่ามีและไม่ยึดติดกับตัวตนอย่างสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง อาจทำให้ตระหนักได้ว่าความจริงตรงหน้าเกิดจากเหตุและปัจจัยมากมายที่สัมพันธ์กันซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และตัวตนของเราไม่เคยแยกขาดจากสิ่งอื่น
“ความจริง” คือปรัชญาของเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เมื่อตระหนักในความไม่เที่ยงของเหตุปัจจัยก็จะยอมรับและซาบซึ้งกับทุกขณะของความจริงที่เกิดและปล่อยวางได้ เพราะทุก ๆ ขณะคือการแปรเปลี่ยนคำสอนของศาสนาพุทธจึงพูดถึงการเกิดและตายในตัวเอง
กิจกรรมอุทิศซูร์สะท้อนถึงความเมตตากรุณาต่อดวงจิตของผู้ล่วงลับ และการละตัวตนของผู้ปฏิบัติภาวนาด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
“กระบวนการตายเป็นช่วงเวลาเข้มข้น เหมือนเอาหนังทั้งเรื่องของชีวิตมากรอกลับ เป็นการนึกย้อนสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในชีวิต
“เวลาที่เรารู้สึกควบคุมสังขาร ขันธ์ไม่ได้ คือเริ่มเกินกว่าอีโก้ (ego) นั่นคือการตายของตัวตน”
วิจักขณ์กล่าวถึงความตายที่เป็นเนื้อเดียวกันกับชีวิต หากเข้าใจผิดมัวยึดตัวตน ยึดความจริงที่ไม่เที่ยง ยึดเหตุและปัจจัยที่สัมพันธ์กันและเปลี่ยนแปลงตลอด ก็จะอึดอัดสับสน อารมณ์ขุ่นมัวโศกเศร้ากับความไม่เที่ยง เราจึงต้องฝึกอยู่กับความวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลง
“แก่นคือละการยึดติดให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการแตกสลายหรือเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง การแตกสลายของร่างกาย ของตัวตนในช่วงวัยหนึ่ง”
เมื่อเข้าใจเหตุและปัจจัยจึงทำให้ตระหนักได้ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดแค่ช่วงการตาย แต่เกิดได้ในทุกขณะของชีวิต และหากเราฝึกให้ใจตระหนักรู้ได้ในทุกวัน การผ่านกระบวนการแตกสลายช่วงท้ายของชีวิตก็คงจะไม่น่าสับสนหรือน่าหวาดกลัวนัก
---------------------------------------
ในวัฒนธรรมทิเบต ทางหนึ่งที่ช่วยดวงจิตที่ล่วงลับได้ง่ายที่สุดคือ “การอุทิศซูร์”
กิจกรรมการอุทิศซูร์คล้ายการเผากระดาษเงินกระดาษทองให้บรรพบุรุษช่วงเช็งเม้งของคนจีน ส่วนแนวคิดเหมือนการกรวดน้ำของชาวพุทธเถรวาท คนทิเบตจะเผาขนมที่มีกลิ่นหอม ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้ ซีเรียล ข้าวโอ๊ต น้ำผึ้ง พร้อมกับกระดาษห้าสีที่แทนธาตุทั้งห้าให้กับวิญญาณผู้ล่วงลับที่อยู่ใน “บาร์โด” หรือช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการตายและการเกิดใหม่ ช่วงเวลานี้บางดวงจิตอาจไม่รู้ตัวว่าได้จากโลกไปแล้ว จะหิวโหย ชาวทิเบตเชื่อว่าเหล่าดวงวิญญาณจะรู้สึกอิ่มได้จากการสูดควันขนมที่มีกลิ่นหอม การอุทิศนี้เหมือนกับการที่คนไทยเชื่อเรื่องการกรวดน้ำเพื่อให้ดวงวิญญาณต่างรู้สึกอิ่มบุญ
ฉันกำลังเข้าแถวต่อจากคนที่มาร่วมปฏิบัติธรรมพวกเรายืนล้อมบ่อปูนบนสนามหญ้ามุมหนึ่งของขทิรวัน ใต้ร่มต้นนกยูงที่กำลังออกใบเต็มต้น หลายคนท่องบทสวดเป็นทำนองไพเราะ ในขณะที่ไฟในบ่อปูนค่อย ๆ โชติช่วงขึ้น
คนทิเบตเชื่อว่าขนมทั้งหลายต้องบริสุทธิ์ ต้องไม่ถูกสัมผัสด้วยมือของผู้ใด เมื่อถึงคิวฉันจึงหยิบกระบวยขนาดใหญ่กวาดขนมนานาชนิดในถาด กลิ่นขนมหอมเตะจมูก ฉันตักส่วนหนึ่งใส่ลงไปในบ่อปูน ควันสีขาวลอยฟุ้ง ฉันหวังว่าควันจะลอยไปไกลที่สุดและทุกดวงจิตที่อาจหลงทางอยู่จะได้รับบุญนี้
เมื่อกล่าวถึงความตาย หากมองชีวิตเป็นหนังม้วนหนึ่ง คงไม่ต้องรอจนถึงช่วงเวลาที่ม้วนฟิล์มกรอย้อนกลับ ฉันหวังว่าจะซาบซึ้งกับทุกฉากชีวิตเบื้องหน้าที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างมีความหมาย นั่นคือรูปแบบชีวิตที่ฉันอยากใช้แม้ยังไม่ถึงวาระสุดท้าย
ฉันเข้าใจแล้วว่าฉันสามารถอยู่ดีตายดีได้ในทุก ๆ วัน และ “ทุกชีวิต” ก็เช่นกัน