ฮีโข่นุ ปะปะ ผู้นำทางจิตวิญญาณวัย ๘๒ ปี เขียนบทธาชะปก่าลงบนหนังสือแบบร่าง “บทธาปกาเกอะญอ” ที่นุและคนอื่น ๆ ช่วยกันรวบรวมคำร้องให้กลายเป็นคำอ่าน ส่งต่อธาแก่คนรุ่นหลัง
ปกาเกอะญอห้วยหินลาดใน :
เรียงร้อยชีวิตด้วยบทธา
ความตายและผืนป่าไม่แยกจากกัน
“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ
เรื่อง : กฤษณา หรนจันทร์
ภาพ : สิรินธร เผ่าพงษ์ไทย
ฝนในเดือนสิงหาคมกระหน่ำหนักหน่วง ต้นข้าวโยกไหวเป็นจังหวะเดียวกัน ฤดูเพาะปลูกเริ่มต้นสักพักแล้ว การเฉลิมฉลองช่วงกลางปีกำลังตามมา ได้เวลาที่ “พวกเขา” จะขับขานความเชื่อ บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทางจิตวิญญาณและถักทอธา-บทกวีแห่งปกาเกอะญอ
ณ ที่นี้ ผืนป่าและผู้คนเป็นหนึ่งเดียวกัน มีคำสอนเก่าแก่คอยเตือนใจว่าชีวิตจะจบลงและเริ่มต้นใหม่เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ถูกตัดเหลือเพียงตอ ทว่าไม่เคยตาย
มัดมือ เส้นด้าย สายฝน
ใต้ม่านฝนขนาดใหญ่ที่คลุมท้องฟ้ามีผืนป่าและผู้คน ณ ที่นี้ ห้วยหินลาดใน หมู่บ้านในหุบเขา สูงราว ๙๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล มีผู้อยู่อาศัยเพียง ๒๐ กว่าหลังคาเรือน หมอกกระจายตัวปกคลุมต้นไม้ใหญ่ที่เรียงตัวสูงขึ้นไปบนเนินเขา คล้ายกับว่าเหล่าต้นไม้กำลังหายใจออกมาพร้อม ๆ กัน
อุณหภูมิในบ้านไม้มีใต้ถุนหลังหนึ่งอบอุ่นขึ้น เตาไฟในกระบะดินที่มุมครัวมีไฟปะทุเปรี๊ยะ ๆ ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของไม้สนที่ชายชราเจ้าของบ้านโยนเข้าไป เสมือนเวทมนตร์ลึกลับกำลังกระจายผ่านควันบาง ๆ
เจ้าของบ้านกำลังจัดเตรียมอาหารใส่โตก สำรับนี้ประกอบด้วยข้าวสวย ต้มหมูใบชะมวง ต้มไก่สมุนไพร น้ำพริกพร้อมผักหลากชนิด และเหล้าหมักถ้วยหนึ่ง ไอร้อนของอาหารกระทบแดดเช้าจากหน้าต่างทางด้านทิศตะวันออก ถัดจากที่นั่งของชายชรามีภรรยาของเขาในชุดแสดงสถานะว่าแต่งงานแล้วกำลังแยกเส้นด้ายสีขาวสะอาดตาออกจากม้วนทีละเส้น วางปลายหนึ่งลงบนโตก อีกปลายพาดบนตะกร้าที่มีขวดเหล้าหมักจากข้าว ทุกอย่างเตรียมพร้อมสำหรับ “พิธีมัดมือ”
พิธีมัดมือเป็นการเรียกขวัญจากธรรมชาติให้หวนคืนสู่ผู้คน ตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอที่ว่าขวัญ ไม่เพียงแต่อยู่ในตัวของเรา ทว่ายังอยู่ในธรรมชาติและสัตว์ป่าด้วยเช่นกัน ชาวปกาเกอะญอที่นี่นับถือผี (Animism) ควบคู่กับนับถือพุทธ พวกเขาเชื่อว่าผีและวิญญาณอยู่ในทุกสิ่งและทุกที่ ทั้งในป่า ไร่ ลำธาร ความเชื่อที่ยึดโยงกับธรรมชาติเหล่านี้จึงเป็นบ่อเกิดของคุณธรรมและค่านิยมในวิถีชีวิตและประเพณีให้เคารพและยำเกรงต่อธรรมชาติ
พิธีมัดมือกลางปีจัดขึ้นช่วงเดือนสิงหาคมเพื่อเรียกขวัญและขอบคุณธรรมชาติที่ให้ชีวิต พร้อมขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครอง ครอบครัวศิริมารวมตัวกันที่บ้านของ นิเวศน์ ศิริ วัย ๖๘ ปี
อีกทางหนึ่งพิธีมัดมือเป็นหนึ่งในการเฉลิมฉลองครึ่งปีหลังเพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนภูเขา ลำธาร และต้นไม้ใหญ่
ระหว่างที่ นิเวศน์ ศิริ อายุ ๖๘ ปี และ ทับทิม โพคะ อายุ ๕๕ ปี สองสามีภรรยาผู้เป็นเจ้าของบ้านกำลังจัดเตรียมพิธีกรรมสำคัญ ลูกชายคนโตวัยกลางคนก็มาพร้อมกับหลานชายวัยซุกซนอีกสองคน เด็ก ๆ วิ่งเข้ามาอย่างร่าเริง แสดงท่าทางตื่นเต้นดีอกดีใจ ก่อนจะผลัดกันร้องขอให้ปู่และย่าผูกข้อมือเรียกขวัญให้ตนเป็นคนแรก การได้ผูกข้อมือจากผู้ใหญ่ดูจะมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับเด็ก ๆ อาจเป็นเพราะการมัดมือจากคนในครอบครัวและชุมชนเปรียบเสมือนการรับพร เหมือนเริ่มต้นสิ่งใหม่ให้ชีวิต สมาชิกในชุมชนที่ออกไปต่างถิ่นจะพร้อมใจกันกลับมายังหมู่บ้าน บ่งบอกถึงความสำคัญของพิธีมัดมือ
นิเวศน์ผูกข้อมือให้ภรรยาเป็นคนแรก ก่อนภรรยาจะผลัดผูกข้อมือให้ แล้วทั้งคู่จึงเริ่มผูกข้อมือให้แก่เด็กน้อยทั้งสอง ลูกชาย และญาติ ๆ พลางกล่าวเรียกขวัญและอวยพร เมื่อครบถ้วนทุกคนแล้วนิเวศน์หยิบถ้วยเหล้าหมักบนโตกรินลง ณ ฟากหนึ่งของเรือนเพื่อมอบแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนพนมมืออย่างตั้งใจขณะเจ้าของบ้านกล่าวขอบคุณสายน้ำและผืนป่าที่พวกเขาหยิบยืมเพื่อดำรงชีวิต พวกเขาจะทำเช่นนี้ปีละสองครั้งคือช่วงปีใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์และในช่วงกลางปี เพื่อขอโทษ ขอบคุณ ระลึกถึง และแสดงความเคารพแก่ธรรมชาติที่เอื้อให้การเพาะปลูกและวิถีชีวิตเกษตรกรรมในไร่หมุนเวียนราบรื่น เสมือนปล่อยให้เวทมนตร์ของธรรมชาติหวนคืนความอุดมสมบูรณ์ด้วยตัวเอง
สายสัมพันธ์ระหว่างปกาเกอะญอกับธรรมชาตินั้นเหนียวแน่นเหลือเกินหากพิจารณาจากวิถีชีวิตและความเชื่อที่พวกเขามี ในสถานที่ที่ผืนป่าเป็นเจ้าของความอุดมสมบูรณ์ ไฟฟ้าและความสะดวกสบายทางเทคโนโลยี กลายเป็นปัจจัยอันดับท้าย ๆ ที่ถูกให้ความสำคัญ อากาศบริสุทธิ์ อาหาร และสายน้ำใสสะอาด เพียงพอแล้วสำหรับการดำรงอยู่ ไฟหนึ่งกองพอจะช่วยให้หายหนาว และการใกล้ชิดกันทางจิตวิญญาณอบอุ่นเกินกว่าจะสั่นสะท้านจากสายฝน
หมู่บ้านในหุบเขา
เหนือกาลเวลา
บ้านห้วยหินลาดในตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ชื่อของหมู่บ้านเรียกตามลักษณะของหินที่ลาดลงมาในลำห้วย ทางน้ำนี้เป็นต้นกำเนิดลำห้วยที่สำคัญอีกกว่า ๑๔ สาย ภูมิประเทศแถบนี้ล้อมรอบด้วยเทือกเขาในอุทยานแห่งชาติขุนแจ เป็นป่าสมบูรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่หลากหลาย และเป็นแหล่งต้นน้ำแม่ลาวที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง
ห้วยหินลาดในห่างจากตัวอำเภอเวียงป่าเป้า ๒๕ กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างกึ่งกลางรอยต่อของจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ โดยห่างจากตัวจังหวัดเชียงราย ๑๑๕ กิโลเมตร ทางเข้าหมู่บ้านติดกับถนนใหญ่สายพร้าว-เวียงป่าเป้า แต่ต้องเดินทางเข้าไปอีก ๒ กิโลเมตรจึงจะถึงหมู่บ้าน
ย้อนทวนกาลเวลาไปครั้งที่ชาวบ้านยังไม่ได้เข้ามาอาศัยในพื้นที่หมู่บ้านปัจจุบัน บางส่วนอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะโยกย้ายมาเนื่องจากพื้นที่เดิมเริ่มมีประชากรมากขึ้นทำให้พื้นที่ทำกินน้อยลง ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานแน่นอนว่าชุมชนนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อไร ทราบเพียงว่าบ้านห้วยหินลาดในมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ปีมาแล้วจากการสอบถามผู้อาวุโสที่สุดและจากคำบอกเล่าสืบต่อกันของ “ฮีโข่” ผู้นำทางประเพณีและจิตวิญญาณของชาวปกาเกอะญอ ปัจจุบันมี นุ ปะปะ อายุ ๘๒ ปี ดำรงตำแหน่งเป็นฮีโข่คนที่ ๓
ปี ๒๕๑๑-๒๕๑๒ มีการแยกครอบครัวบางส่วนไปอยู่บ้านห้วยหินลาดนอกเพราะทำนาสะดวก ต่อมาในปี ๒๕๔๓ ได้รวมบ้านห้วยหินลาดนอก ห้วยหินลาดในผาเยือง และห้วยทรายขาว ประกาศเป็นหมู่บ้านห้วยหินลาดใน
บนความสูง ๙๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล มีปกาเกอะญอ ๒๐ กว่าครัวเรือนหายใจอยู่ในผืนป่าแห่งนี้
ห้วยหินลาดในเป็นชุมชนที่ดำรงชีพด้วยวิถีเกษตรแบบผสมผสาน เพาะปลูกพืชสำคัญ เช่น ชา ท้อ มะกอก มะไฟ ต้นพลับ เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ หมู เป็ด และไก่สำหรับบริโภคและใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ มีการทำไร่หมุนเวียนและทำนาเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเป็นส่วนมาก ส่วนรายได้สำคัญคือการขายใบชา รองลงมาคือน้ำผึ้ง มะขม มะแขว่น และพืชผักอื่นๆ
ปัจจุบันห้วยหินลาดในมีไฟฟ้าใช้จากแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งเพียงพอให้แสงสว่างในยามค่ำคืน เนื่องจากภูมิศาสตร์อยู่ในจุดที่อากาศหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่ ช่วงเวลาแดดจ้าจึงมีน้อย
สาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งได้แก่ประปาภูเขาที่ต่อท่อจากลำธารแล้วกักเก็บไว้ในภาชนะขนาดใหญ่ที่มีท่อต่อเข้าสู่หมู่บ้าน แต่เดิมแหล่งน้ำสำคัญคือลำธารโดยรอบ เมื่อมีประปาภูเขาก็ช่วยให้ชาวบ้านใช้น้ำจากธรรมชาติได้โดยไม่จำเป็นต้องลำบากออกไปหาบน้ำไกล ๆ
สถานศึกษาใกล้ที่สุดคือโรงเรียนบ้านห้วยหินลาดใน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร เปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษา หากต้องการศึกษาต่อในระดับมัธยมฯ เด็ก ๆ จำเป็นต้องไปเรียนในตัวอำเภอเวียงป่าเป้า
การรักษายามเจ็บป่วยหากไม่รุนแรงมากชาวบ้านจะใช้สมุนไพรที่หาได้จากป่าโดยรอบ แต่หากป่วยหนักจริง ๆ ก็จะไปโรงพยาบาลเวียงป่าเป้าซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒๔ กิโลเมตร
“สมุนไพรเมื่อก่อนเป็นทางเลือกของชาวปกาเกอะญอในการถอนพิษหรือรักษา แต่ปัจจุบันนิยมไปโรงพยาบาลกันเยอะ รวดเร็ว หมอดูแลทั่วถึง” นิเวศน์กล่าว
สมุนไพรรอบ ๆ หมู่บ้านมีมากมาย เช่น “ปูเลย” หรือไพล ใช้หัวสด ๆ มาเคี้ยวหากปวดท้องจากการรับประทานผิดเวลาหรือท้องอืด, ใบ เปลือก เมล็ด แก่น และรากของ “เปอน่าฮอ” หรืออินทนิล ช่วยลดอาการปวดหลัง ปวดเอว และช่วยเรื่องไต, ห่อข้าวย่าบา หรือชายผ้าสีดา ภาษาปกาเกอะญอคือ “กือชอนาปอ” ช่วยเรื่องอ่อนเพลีย, มะลิป่า ใช้เปลือกอมแก้ปวดฟัน ลดเหงือกบวม, หญ้าตีนตุ๊กแกช่วยเรื่องเบาหวาน รับประทานได้ทั้งสดและต้ม ฯลฯ
“สมุนไพรมีทั่วทุกที่ เพียงตัวเราเท่านั้นที่รู้จักมันไม่หมด ไร่หมุนเวียนก็เหมือนสมุนไพรอย่างหนึ่ง ผัก ทั้งหลายอยู่ในแปลงนั้น พอดอกบานผีเสื้อหรือจักจั่นจะบินวนมากินเกสร อารมณ์ของเราจะมีแต่ความสุข ตัวเราเองก็พอมีพอกิน ถ้านึกตรงนี้ได้ก็มีความสุขแล้ว โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มาสักเท่าไร”
ปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดในดำรงชีวิตร่วมกับผืนป่ามายาวนาน แม้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมากมาย เทคโนโลยี การแพทย์ และความก้าวหน้าต่าง ๆ ซึมซาบไปทั่วทุกซอกมุมของโลก ห้วยหินลาดในก็ได้รับความเปลี่ยนแปลงนั้นเช่นกัน แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือการพึ่งพาและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ พวกเขาได้รับอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัยจากผืนป่าเสมอมา ยังคงไม่ละทิ้งวิถีความเชื่อดั้งเดิม ชวนให้สงสัยว่าอะไรยึดโยงผู้คนเข้ากับธรรมชาติได้เหนียวแน่นจนกาลเวลาและความก้าวหน้าจากโลกใบใหญ่ไม่อาจแยกพวกเขาออกจากวิถีชีวิตดั้งเดิมนี้ได้
“เมอเกอชอ” ไม้สามง่ามหน้าทางเข้าไร่ ทําหน้าที่ช่วยดูแลไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามาในไร่หมุนเวียน
“การมาคือมาอยู่เพียงชั่วคราว เหมือนมาพักโรงแรม ฉะนั้นเราจึงไม่ใช่เจ้าของ ทุกการใช้ ทุกการกระทำจึงต้องมีพิธีกรรมขอขมา พอตายก็เหมือนว่าได้กลับสู่บ้านที่แท้จริง คืออีกโลกหนึ่งหลังความตาย”
ก่อนจะมียาเม็ด มีเมล็ดที่เติบใหญ่เป็นต้นสมุนไพรมาก่อน เวลาชาวบ้านป่วยไข้ต้องขอขมาเจ้าป่าเจ้าเขาพร้อมกับต้มสมุนไพรรักษาตามอาการ
เรียงร้อยชีวิตด้วยบทธา ความตายและผืนป่าที่ไม่แยกจากกัน
มีบางถ้อยคำที่ถูกสลักไว้ในตัวตนของชาวปกาเกอะญอทุกคน เป็นรากฐานของความเชื่อทั้งหลาย เป็นรากเหง้าที่ฝังอยู่ลึกเกินกว่าจะแยกปกาเกอะญอออกจากผืนป่า ไม่ใช่เพียงร่างกายที่อาศัยอยู่ในป่า แต่เป็นจิตวิญญาณและตัวตนที่ร่วมพลิ้วไหวไปกับกิ่งไม้ เปียกปอนไปกับหยาดฝน และงอกเงยขึ้นใหม่ไม่รู้จบราวดอกเห็ดที่เป็นส่วนเล็ก ๆ ทว่าสำคัญเหลือเกินในระบบนิเวศ บทกวีเก่าแก่ทำให้ความเชื่อของปกาเกอะญอยังคงหายใจ เป็นคาถาชุบชีวิตที่ทำให้อุดมการณ์และจิตวิญญาณในการเคารพธรรมชาติของพวกเขาไม่มีวันตาย
ปกาเกอะญอมีพิธีกรรม ประเพณี และความเชื่อมากมายที่เกี่ยวโยงกับธรรมชาติตั้งแต่เกิดจนตาย โดยมี “ธา” หรือบทกวีเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิด ความเชื่อ รวมถึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ หากขาดบทธาไป พิธีกรรมเหล่านั้นก็ไม่อาจครบถ้วนสมบูรณ์
“ดื่มเหล้าพิธีและดื่มชาต้องขอและตอบด้วยบทธา จะขอดูดบุหรี่สักมวน มันเกี่ยวข้องกับแมงบุ้ง ใบไม้ และอะไรหลาย ๆ อย่าง เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ” ประสิทธิ์ ลูกชายคนเล็กของนิเวศน์อธิบายถึงความสำคัญของบทธา
“ส่วนใหญ่บทธาเป็นคำสอนว่าเรากินแล้วต้องแบ่งปัน พูดถึงความสามัคคี และเกี่ยวข้องกับนก สัตว์”
วิทยานิพนธ์ของภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง “กระบวนการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์เพื่อการตอบโต้กับรัฐ : กรณีศึกษาชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย” โดย ปกรณ์ คงสวัสดิ์ กล่าวว่า การธาเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม ผ่านการสั่งสมประสบการณ์ วิถีชีวิต และบทเรียนของปกาเกอะญอจากรุ่นสู่รุ่น เนื้อหาบอกเล่าครอบคลุมทุกแง่มุมของการใช้ชีวิต ความเชื่อ คำสอน โลกทัศน์ ปรัชญา และวัฒนธรรมประเพณีทั้งหมด แม้ไม่อาจทราบได้ว่าผู้แต่งคนแรกเป็นใคร แต่กล่าวกันว่าธามีจำนวนมากกว่าใบไม้ทั้งหมดในโลกนี้ถึงสามเท่า
บทธามีลักษณะของการย้ำคำและสัมผัสคล้ายคลึงกับบทกวี มีท่วงทำนองการร้องเฉพาะบท มีการร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง แยกออกเป็นสองประเภทคือบทธาทั่วไปและบทธาในพิธีกรรม แต่ละบทมีหลากหลายเรื่อง ขนาดสั้นยาวแตกต่างกัน ทั้งนี้ปกาเกอะญอในทุกพื้นที่ทั่วโลกใช้ธาในรูปแบบเดียวกัน ธาจึงเสมือนบทบันทึกประวัติศาสตร์ทางความเข้าใจ รวมถึงโลกและสภาพแวดล้อมที่ปกาเกอะญอมีชีวิตอยู่ในแต่ละช่วงเวลา
ธามีบทบาทในชีวิตของปกาเกอะญอนับตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างขอดื่มชาสักถ้วยไปจนถึงใช้ประกอบพิธี ในการทำไร่หมุนเวียนและพิธีขอขมาหลังการทำไร่ ใช้บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางในธรรมชาติ รวมถึงใช้ร้องในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต เช่น การแต่งงาน งานศพ ฯลฯ ในงานศพ ธาจะทำหน้าที่คล้ายบทสวดอภิธรรม มีข้อห้ามว่าบทธาที่ใช้ในงานศพจะกล่าวในช่วงเวลาปรกติไม่ได้ เพราะเชื่อว่าจะไม่เป็นมงคลกับชีวิต
ปกาเกอะญอสืบทอดบทธาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อาศัยการจดจำท่วงทำนอง คำร้อง และความหมาย ทุกเนื้อหาในบทธาสอนให้เคารพผู้อื่นและตนเอง รวมถึงเคารพธรรมชาติที่เป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต
“ออที กือตอที ออกอ กือตอกอ” แปลว่ากินน้ำต้องรักษาน้ำ ใช้ป่าต้องรักษาป่า ซึ่งเป็นบทธาที่รู้จักกันดีของปกาเกอะญอในทุกพื้นที่
ครอบครัวของนิเวศน์และทับทิมจะต้มชากับสมุนไพรดื่มเป็นประจำด้วยเตาไฟในกระบะดินที่มีเชื้อเพลิงเป็นไม้สน
“นือ กอ เร กอ เวอ เตอ เว เปะ เอะ บึ เบ จอ เตอ เด” หมายถึงตัดต้นไม้อย่าตัดทั้งต้น เหลือกิ่งไว้ให้นกพญาไฟมาพักพิงอาศัย แสดงให้เห็นว่าปกาเกอะญอให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และชีวิตอื่น ๆ ในธรรมชาติเช่นเดียวกับตนเอง ปกาเกอะญอเชื่อว่าพวกเขาไม่ใช่เจ้าของผืนป่า ท้องไร่ หรือแม้กระทั่งกรวดก้อนเล็ก ๆ ในลำธาร การขอใช้น้ำอย่าง “ลือทีบอ” ก็ไม่ใช่การขอเป็นเจ้าของน้ำ ทว่าขอใช้น้ำเพื่อเป็นประโยชน์กับการเกษตร
“การที่เรารู้สึกว่ามันมีเจ้าของ มันกำลังจะบอกกับตัวเราเองว่าเราไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น”
อาทิตย์ ศิริ อายุ ๓๘ ปี กล่าวถึงมุมมองของปกาเกอะญอที่มีต่อธรรมชาติและความเชื่อที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีเจ้าของและจิตวิญญาณทางธรรมชาติอาศัยอยู่ เขาเป็นหลานชายแท้ ๆ ของนิเวศน์ กำลังเรียนทันตแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยนิฮน ประเทศญี่ปุ่น ทว่ากลับมาร่วมพิธีมัดมือที่ห้วยหินลาดใน
ครั้งจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนในหมู่บ้าน อาทิตย์คือเยาวชนคนแรกที่มีโอกาสออกไปเรียนในตัวจังหวัดเชียงราย เมื่อจบชั้นมัธยมฯ ก็ได้ทุนไปเรียนด้านมัลติมีเดียที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เขาเล่าว่าระหว่างเรียนได้พักอาศัยในอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ทุกวันต้องกลับมาปลูกต้นไม้และทำกับข้าว ช่วงปิดเทอมอาจารย์มักจะให้ไปดูงานแสดงศิลปะตามที่ต่าง ๆ หลังเรียนจบจึงได้ทำงานเป็นภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์อุทยานศิลปะวัฒนธรรมฯ บางครั้งก็มีโอกาสไปร่วมงานด้านพิพิธภัณฑ์ในหลากหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อเมริกา อิตาลี ฯลฯ ตั้งแต่นั้นเขาจึงชื่นชอบและสนใจงานศิลปะ ก่อนจะมีโอกาสทำนิทรรศการภาพถ่ายคนกับป่า จากงานครั้งนั้นทำให้เขาเกิดคำถามเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่เกิดความยั่งยืน แต่ยังคงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมไว้ จึงเริ่มต้นออกเดินทางไปเรียนที่ญี่ปุ่น เพราะเกิดคำถามว่าแม้ประเทศญี่ปุ่นจะพัฒนาก้าวหน้าทางด้านต่าง ๆ ไปไกลเพียงใด ทว่าทุกการพัฒนามักมีกลิ่นอายวัฒนธรรม ศิลปะ และปรัชญาแบบญี่ปุ่นแทรกอยู่เสมอ
“ปกาเกอะญอไม่ได้มองว่าข้าวเป็นพืช แต่มองเป็นสิ่งมีพระคุณ” อาทิตย์กล่าวถึงไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้บทธาและความเชื่อในการให้เกียรติธรรมชาติมากที่สุดอย่างหนึ่ง รวมถึงสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชาวบ้าน การมีป่าและไร่หมุนเวียนจึงหมายถึงรากฐานชีวิตที่ดีของปกาเกอะญอ
“ทุกคนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมในไร่หมุนเวียน หนุ่มสาวจะหยอดเมล็ดข้าวในไร่ การทำไร่เป็นการเชื่อมคนระหว่างวัย จึงทำให้ปกาเกอะญอทุกช่วงวัยสัมพันธ์กัน แล้วทุกคนก็รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ มีตัวตนในแง่ของวัฒนธรรม ทำให้เกิดความอบอุ่น รู้สึกมั่นคงข้างใน”
ไร่หมุนเวียนของห้วยหินลาดในมีพันธุ์ข้าวมากถึงเจ็ดสายพันธุ์ ช่วงพักฟื้นไร่ก็มีสัตว์ป่ามาอยู่อาศัย ก่อนทำไร่ปกาเกอะญอมีการทำพิธีขออนุญาต หลังทำไร่มีการขอขมา โดยมีองค์ประกอบสำคัญสี่อย่าง ได้แก่ “ตาแซะ” ทำหน้าที่คล้ายกู้ภัย ปกป้องสิ่งไม่ดี “ตาลือแม” คือการขอขมาสำหรับการใช้ไฟ “ตาลือเมาะ” ขอให้ต้นข้าวและพืชพันธุ์งอกงามสมบูรณ์ และ “ตาฆาแก” คล้ายด่าน ปกป้องคุ้มครองพืชผลทั้งหลายจากสิ่งที่อาจมาทำอันตราย ส่วนบทธาที่ใช้ขอขมาไฟมีเนื้อหาเพื่อขอโทษแมลง หนู และสัตว์ต่าง ๆ ที่อาจได้รับความเดือดร้อนจากการใช้ไฟในการทำไร่
“วิธีการขอขมาในเชิงจิตวิญญาณคือการย้ำเตือนอยู่เสมอ ๆ การไปขอขมาหรือการพูดคุยกับสิ่งเหล่านั้น นัยหนึ่งถ้าเราเชื่อมันจะมีเจ้าของจริง ๆ แต่อีกนัยหนึ่งสิ่งที่มีแน่ ๆ คือตัวเรา การขอขมาเปรียบเสมือนการบอกตัวเองว่าเราไม่ได้ยิ่งใหญ่ เราพึ่งพาสิ่งอื่น คือการเข้าใจว่าเราเป็นใครและกำลังทำอะไร ทำให้ตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มองอีกมุมหนึ่งว่าเราไม่ควรจะเอาอย่างเดียว เราควรจะให้ด้วย”
อาทิตย์เล่าว่าในความคิดลึก ๆ ตนไม่เชื่อว่ามนุษย์จะแยกจากธรรมชาติได้ คนกับธรรมชาติล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน ยามใดที่มนุษย์เริ่มทำร้ายธรรมชาติ ธรรมชาติจะหวนกลับมาทำร้ายมนุษย์ ไม่มีทางแยกของสองสิ่งนี้ เพียงแต่ในยุคปัจจุบันมนุษย์ปรับตัวกับธรรมชาติน้อยลง เพราะความรู้สร้างให้มนุษย์มีที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร และยารักษาโรค ทันใดนั้นมนุษย์ก็กลับลืมว่าพวกเขาเองก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มักเผลอไผลแยกตนเองออกจากมัน
ประสิทธิ์เรียนรู้บทธาจากฮีโข่นุ ปะปะ และพะตีเฉลิมพลเพื่อเทียบเคียงแล้วบันทึกลงสมุด หวังส่งต่อตัวอักษรเหล่านี้ให้คนรุ่นถัดไป
“ต้นไม้ที่เกิดก่อนเรา เราควรจะให้สิทธิ์มันได้เติบโตด้วย แต่ในความเป็นมนุษย์ต้องใช้ทรัพยากรเพื่อจะดำรงชีวิตให้ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องตัดเท่าที่จำเป็น เราตัดเฉพาะต้นแต่เหลือตอไว้ ให้ท่านได้พักผ่อนสักปีหนึ่ง เราขอทำข้าวกิน แต่จะไม่ดึงรากถอนโคนท่านออกไป เพราะเราก็จำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ หลังจาก ๑ ปีท่านก็จะได้เติบโต ออกลูก ผล ก้าน ท่านจะมีชีวิตของท่านในที่ของท่านที่เกิดก่อนเรา”
อาทิตย์ตระหนักดีว่าต้นไม้ในผืนป่าทุกต้นก็ปรารถนาจะเติบโตงอกงามเช่นเดียวกับมนุษย์ที่ปรารถนาจะมีชีวิตรอด ทุกชีวิตของสัตว์ พืช และมนุษย์มีคุณค่าทัดเทียมกัน ปกาเกอะญอไม่อาจลิดรอนชีวิตของธรรมชาติ แม้ว่าสำหรับพวกเขาความตายจะเปรียบดังการคืนกลับสู่ธรรมชาติก็ตาม
“การตายในความเชื่อของปกาเกอะญอเหมือนการกลับไปอยู่บ้านเก่า” อาทิตย์อธิบาย
“การมาคือมาอยู่เพียงชั่วคราว เหมือนมาพักโรงแรม ฉะนั้นเราจึงไม่ใช่เจ้าของ ทุกการใช้ ทุกการกระทำจึงต้องมีพิธีกรรมขอขมา พอตายก็เหมือนว่าได้กลับสู่บ้านที่แท้จริง คืออีกโลกหนึ่งหลังความตาย
“บทธาที่สวดในงานศพเป็นการนำทาง เสมือน GPS ว่าเวลากลับไปจะต้องเจอสิ่งนี้เส้นทางนี้ แล้วก็เป็นการพูดกับคนที่กำลังมีชีวิตอยู่ให้อยู่อย่างไม่ประมาท อยู่อย่างถ่อมตัว ไม่หยิ่งผยองว่าเราเป็นอมตะหรือเป็นเจ้าของธรรมชาติ ให้อยู่อย่างเคารพ”
ปกาเกอะญอใช้บทธานำทางชีวิตทั้งเมื่อตอนดำรงอยู่และจากไป บทธาผูกโยงพวกเขาเข้ากับรากเหง้าทางความเชื่อ ไม่ใช่เพียงแค่การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แต่รวมถึงการเติบโตทางจิตวิญญาณ การตระหนักว่าความตายเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญของช่วงชีวิตจึงเป็นเรื่องปรกติ
“ผู้สูงอายุที่นี่กล้าหาญมากในเรื่องของการตาย ถ้าไม่ไหวแล้วเขาก็จะพูดว่าให้ปล่อยเลย ไม่ต้องยื้อหรือดูแลแบบประคับประคอง การมีความเชื่อถึงการกลับไปสู่บ้านเดิมทำให้การตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว กลับกันมันคือการกลับไปยังที่ที่เราจากมา
“ผมรู้สึกว่าคนที่จากไปคือคนกล้าหาญ กล้าบอกลูกหลานว่าอย่าส่งไปโรงพยาบาล เพราะว่าถึงเวลาแล้ว เขารู้ตัวแล้วว่าไม่ไหว ร่างกายจะปิดตัวเอง คนที่อยู่ในสภาวะแบบนั้นพร้อมจะตายด้วยความกล้าหาญ เพราะเขามีแนวคิดนี้อยู่ในหัวว่าเดี๋ยวเขาก็ต้องไป นี่คือการหยิบยืมของเขาสิ้นสุดแล้ว”
ปกาเกอะญอไม่ได้ไม่หวาดกลัวความตาย แต่พวกเขาตระหนักเกี่ยวกับความตาย ช่วงชีวิตของมนุษย์แสนสั้น หลายครั้งมนุษย์สร้างสิ่งใหม่ขึ้นจากการพังทลายสิ่งอื่น บดขยี้ กอบกำ ครอบครอง ทุกสิ่งในโลกนี้เล็กลงเพราะฉากทัศน์ของมนุษย์ประกอบด้วยตัวของพวกเขาเอง มนุษย์แยกตนเองออกจากธรรมชาติ ไม่มีมนตร์วิเศษหรือก้อนกรวดในลำธาร ไม่มีการร่วงของใบไม้หรือสายฝนมหัศจรรย์
“ช่วงระหว่างเกิดกับตายเราจะมองโลกยังไง จะใช้โลกยังไงให้สมดุลและเข้าใจ ใช้อย่างนึกถึงคนที่ยังไม่เกิด” อาทิตย์กล่าวทิ้งท้ายก่อนจะบอกว่าเขามีความฝันว่าจะกลับมาดูแลบ้านเกิดในมิติที่สนับสนุนและคงความเป็นกลิ่นอายของปกาเกอะญอเอาไว้อย่างดีที่สุดให้ได้
“อย่าไปชื่นชมบ้านเขาเมืองเขา ขอให้เราดูแลบ้านตัวเองให้ดี จะได้กินข้าว และจะได้นุ่งเสื้อ” หนึ่งในบทธาที่นิเวศน์จำขึ้นใจและยังส่งต่อให้ครอบครัวเพราะ “เมื่อไม่มองข้ามคนอื่น เราจะไม่มองข้ามตัวเอง”
เวทมนตร์
ความทรงจำ
เมื่อปกาเกอะญอตาย การขับขานบทธาเป็นหัวใจสำคัญในการทำพิธี
ปัจจุบันมีผู้เฒ่าชาวปกาเกอะญอไม่มากนักที่ถ่ายทอดบทธาให้คนในชุมชน เด็ก ๆ ก็รับรู้บทธาน้อยเพราะต้องไปโรงเรียนตรงกับช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่ปกาเกอะญอจะร้องและถ่ายทอดบทธาในขณะทำไร่
เฉลิมพล เวชกิจ หรือพะตีเฉลิมพล (พะตีแปลว่าลุง) คือผู้สูงอายุวัย ๖๘ ปีที่ยังคงมีองค์ความรู้เกี่ยวกับบทธา พะตีเฉลิมพลเป็นคนห้วยหินลาดในแต่กำเนิด ทว่าไปแต่งงานและสร้างบ้านอยู่ที่ผาเยือง วัยหนุ่มเคยเข้าร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ เป็นหนึ่งในตัวแทนชาวบ้านไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลในปี ๒๕๔๐ เพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาเรื่องการจัดการพื้นที่ป่า เคยเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับบทธาและวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกับป่าของปกาเกอะญอ แต่ด้วยปัญหาสุขภาพทำให้ต้องหยุดการเป็นวิทยากรไป ปัจจุบันพะตีเฉลิมพลอาศัยอยู่ที่บ้านผาเยืองกับภรรยา ลูกสาว ลูกเขย และหลานอีกสามคน ดำรงชีวิตโดยการทำไร่หมุนเวียน
“คนเราเกิดมาต้องเคารพและเชื่อถือธรรมชาติ ถ้าไม่มีวัฒนธรรม ความเชื่อ และจารีตประเพณีก็คงอยู่ยาก เพราะวิถีชีวิตของปกาเกอะญอสอนให้คนอยู่กับป่า บทธาก็มีหลายอย่างมากมาย” พะตีเฉลิมพลอธิบายก่อนนิ่งคล้ายคิดอะไรสักอย่าง ครู่ใหญ่จึงขับขานธาบทหนึ่งขึ้น
ป่ามีเลอเปลอมาดีอี
ป่าปาเลอเปลอมาดีอี
เปอมาเชอปามีอาคี
เปอมาเชอปาปาอาคี
ตาเตอแมปอมูเบอลี
ออปาแมมอมูนอพี
ความหมายว่า เรากินข้าวป้อนของพ่อ น้ำนมของแม่ ผู้เฒ่าเขาทำอย่างนี้ เราทำตามผู้เฒ่าผู้แก่ เราไม่ได้ปรุงแต่ง
“เรากินน้ำนมแม่ กินอาหารที่พ่อให้ ตอนเราตัวเล็กช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อป้อนข้าวให้เรา เราทำอะไรทุกอย่างต้องทำให้ถูกต้อง เชื่อฟังและระลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่” พะตีเฉลิมพลอธิบายว่า ปกาเกอะญอทุกคนเกิดมาด้วยคำสอนในบทธาที่ชี้ให้ตระหนักว่าทุกการเติบโตของพวกเขามีอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาผู้อื่น เริ่มแรกด้วยการพึ่งพาน้ำนมของแม่ ข้าวที่ป้อนจากพ่อ ยิ่งไปกว่านั้นคือธรรมชาติที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ปกาเกอะญอจึงให้ความเคารพผืนป่าเฉกเช่นพ่อและแม่ของพวกเขาเอง
“บทธาพอแปลเป็นภาษาไทยแล้วดูเหมือนเป็นคำพูดแค่นั้น แต่จริง ๆ เป็นการสอนแบบนุ่มนวล ว่าทำอะไรต้องไม่มองข้ามคนอื่นและตัวเอง ภูมิลำเนาของตัวเองมีความหมายต่อชุมชน เราอย่ามองข้ามตัวเองว่าเขาดี แต่เราไม่ดี เราเป็นคนเท่ากัน แต่ทุกคนแตกต่างกัน”
พะตีเฉลิมพลกล่าวถึงบทบาทของบทธาเมื่อมีการเสียชีวิตของปกาเกอะญอว่า “เวลาคนสิ้นบุญ พะตีก็ขึ้นไปร้องธา ปกาเกอะญอถือว่างานสิ้นบุญเป็นงานที่คนไม่ค่อยสบายใจกัน เราต้องอาสาไปอ่านธา ใช้เสียงออกมาก็ทำให้ญาติของคนเสียชีวิตสบายใจขึ้น เพราะบทธาเป็นคำสั่งสอนที่นุ่มนวล แม้รักษาแผลไม่ได้ แต่ใช้เป็นบางอย่างที่ทำให้จิตใจดีขึ้น”
“สมัยก่อนพี่น้องอยู่บ้านเดียวกัน พอแต่งงานก็ย้ายออกไป” นิเวศน์เล่าถึงเรื่องราวในภาพถ่ายซึ่งติดอยู่ที่ฝาบ้าน พร้อมบอกอีกว่าชีวิตที่นี่นั้นเรียบง่ายจนความตายเป็นเรื่องสามัญ
ปัจจุบันบ้านห้วยหินลาดในมีผู้เฒ่าที่รู้บทธาน้อยลงมาก หลายคนร้องธาได้บางบทแต่แปลความหมายไม่ได้ บางคนรู้ว่าบทธาคืออะไรแต่จดจำไม่ได้ ผู้เฒ่าที่เขียนบทธาเป็นตัวอักษรปกาเกอะญอได้มีเพียงฮีโข่นุ ปะปะ ซึ่งต้องใช้เวลาเขียนบทธาหนึ่งบทนานกว่าครึ่งชั่วโมงเพราะดวงตาฝ้าฟาง ผู้รู้บทธาอีกคนที่ยังเหลืออยู่จึงมีเพียงพะตีเฉลิมพลที่อาศัยอยู่หมู่บ้านใกล้เคียง การจะร้องบทธาต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นก็อาจลืมได้
“พะตีมองว่าอนาคตบทธาจะน้อยลง เดี๋ยวนี้เวลาที่จะเรียนบทธาไม่มี ก็ค่อย ๆ หายไป พะตีเลยพยายามเขียนบทธาขึ้นมาเป็นรูปเล่ม หากครบสมบูรณ์จะพิมพ์ สองคนร่วมกับประสิทธิ์ทำต้นฉบับมา ๒ ปี ขอพ่อเฒ่านุมาช่วยให้ข้อมูลเพราะเขาเก่งมาก”
การรวบรวมบทธาไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีส่วนของการร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิงอยู่ด้วย ส่วนนี้เองที่พะตีเฉลิมพลยังไม่สามารถรวบรวมให้ครบได้
“อนาคตจะต้องฟื้นฟูหนังสือปกาเกอะญอและบทธาให้ได้ เพราะถ้าเราไม่ฟื้นฟู วิถีชีวิต วัฒนธรรมของปกาเกอะญอจะหายไป สิ่งดี ๆ ต่าง ๆ ที่เรารักษาไว้เพื่อเกื้อกูลป่า ดิน และน้ำก็จะหายไป อยากทำให้สมบูรณ์ที่สุด ถ้าอ่านเล่มนั้นจบอยากให้รู้เลยว่าขั้นตอนของพิธีกรรมไหนต้องใช้อะไร ธาบทไหนบ้าง”
น่าเศร้าเหลือเกินหากจะบอกว่ามีเวทมนตร์ประหลาดที่อยู่เหนือการควบคุมกำลังจะทำให้บทธาที่พะตีเฉลิมพลจดจำได้ค่อย ๆ เลือนหายไปทีละน้อย
“เพิ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ไม่กี่วันนี้ แล้วก็เป็นหนักขึ้น ต้องกินยาหลายอย่าง เมื่อเช้านี้มองอะไรก็ไม่เห็น พอพะตีจะไหว้พระ จะสวดมนต์ก็ลืมหมด เดินไปสักนิดหนึ่งก็หน้ามืด พะตีก็เลยนอนลงไป สักพักหนึ่งลืมทุกอย่าง การเป็นวิทยากรความจำจะต้องต่อเนื่อง แต่ตอนนี้หลง ๆ ลืม ๆ เคยต้องใช้บทธาเยอะมาก วันนี้แม้แต่บทเดียวก็คิดไม่ออก
“คิดว่าถ้าไม่มีบุญปีนี้ก็คงจะไปแล้ว ก็แค่นั้นเอง” ประโยคเรียบง่ายถูกเอ่ยออกมาอย่างง่ายดายราวกับไม่ได้เอ่ยถึงความตายแม้แต่น้อย
“พะตีเคยถามลูกหลานที่อาศัยอยู่จังหวัดตากคนหนึ่งว่าที่นั่นมีปัญหาเรื่องการดูแลป่าไหม เขาตอบว่าไม่มีหรอก เพราะไม่มีป่าแล้ว เหลือแต่ไร่ข้าวโพด พะตีเองก็อยากได้เหมือนกัน การไม่มีปัญหาป่าไม้ แต่ว่าพะตียอมให้เป็นแบบนั้นไม่ได้ พะตีอยู่กับบทธาที่คอยสอน มันทำไม่ได้”
คำพูดของพะตีเฉลิมพลชวนให้จินตนาการว่าหากสิ่งที่โอบล้อมห้วยหินลาดในไม่มีต้นไม้หลงเหลืออยู่เลย สิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรบ้าง ความตายสำหรับปกาเกอะญอจะน่ากลัวขึ้นไหมหากไม่มีผืนป่าอยู่อีกแล้ว จิตวิญญาณของพะตีเฉลิมพลเชื่อมโยงกับป่า บทธารอบตัวคอยชี้ทางให้เขาคำนึงถึงการใช้ชีวิตในทุกขณะ ความตายเฝ้ารออยู่ในอนาคต แต่กลับดูไม่สลักสำคัญสำหรับเขาเท่ากับบทธาและผืนป่าเลย
ห้วยหินลาดในยังคงดำรงอยู่ในหุบเขาใต้หยาดฝนและไอหมอก แต่เราไม่อาจบอกได้ว่าต่อไปจะได้ยินเสียงขับขานธามาจากที่แห่งไหน ลำห้วยสายใด แม้ธาจะสร้างรากเหง้าทางความเชื่ออันแข็งแกร่งแก่ปกาเกอะญอ แต่หากวันหนึ่งไม่มีใครตระหนักถึงที่มา ตลอดจนไม่รับรู้ว่ามันดำรงอยู่ รากเหง้าอันแข็งแกร่งจะหยัดยืนอยู่ในรูปแบบไหน การตระหนักเกี่ยวกับชีวิตและความตายจะคงอยู่แบบใด ธาที่เคยมีมากกว่าใบไม้ในโลกนี้ถึงสามเท่าจะสถิตอยู่ที่ไหน
ปกาเกอะญอจะอธิบายตัวตนและความเชื่อของพวกเขาอย่างไรหากไร้ซึ่งบทธา