Image

ศิลปะบนเบบี้บังเกอร์ของโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งได้รับการตกแต่งจากนักเรียนที่มีความสามารถด้านจิตรกรรมโดยได้รับคำแนะนำจากคุณครู บางลวดลายพบได้บนเสื้อผ้าของชนเผ่าในพื้นที่

แสงสว่างท่ามกลางความมืด
ของโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง

“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ

เรื่อง : ผณินทร เสียงเย็น
ภาพ : ธัญศิษฐ์ อิงคยุทธวิทยา

“พี่ชอบเล่นฟุตบอลมั้ยครับ” 

เด็กชายไว้ทรงผมสกินเฮด สวมเสื้อฮู้ดสีชมพู กางเกงวอร์มสีดำ รองเท้าแตะแบบคีบ สะพายย่ามสีเขียวสะดุดตา และมีร่มในมือ ถามขึ้นในขณะที่ผมก้มหน้าอยู่กับพื้นโคลนที่ต้องเดินอย่างระมัดระวัง พิจารณาดูจากทางที่ลาดชัน หากก้าวเท้าพลาดและลื่นล้ม สภาพของผมคงจะไม่ดีนัก

ไม่ได้เล่นฟุตบอล แต่เชียร์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือคำตอบที่ผมบอก “วทัญญู” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ในวัย ๑๒ ปี ที่ขณะนี้เขาเดินช้าลงเพื่อรอ  เราเดินกันอยู่ในป่าบนภูเขาที่ถูกปกคลุมด้วยหมอก ฝนตกปรอย ๆ เสียงแม่น้ำไหลผ่าน เสียงพูดคุยกันในภาษาที่ผมไม่เข้าใจระหว่างเพื่อนร่วมชั้นของวทัญญูที่เดินนำอยู่ไม่ไกล สลับกับเสียงฝีเท้าของพวกเราบนพื้นดินผสมโคลนสีแดงที่เดินไม่สะดวกสบายนัก อย่างน้อยก็คงสำหรับผม ไม่ใช่สำหรับวทัญญูและเพื่อน ๆ ของเขา

“ถึงบ้านผมแล้วครับพี่” ซอมูตอ เพื่อนร่วมชั้นของวทัญญูตะโกนบอก ก่อนจะชี้ไปที่บ้านหลังสุดท้ายในหมู่บ้าน ตัวบ้านยกสูงจากพื้นพอสมควร

“ขึ้นมาเลยครับ ผมจะชี้ให้ดู” ไม่รีรอ ซอมูตอปีนขึ้นไปบนเสาที่สูงเกือบถึงหลังคาบ้าน ก่อนจะชี้รูวงกลมขนาดเล็กตรงหลังคาสังกะสีที่มีอยู่ประมาณ ๓-๔ รู ไม่รวมกับที่อยู่รอบตัวบ้านอีกเกือบ ๑๐ รู

“โชคดีที่เศษระเบิดไม่มาตอนที่มีคนอยู่ในบ้านครับ”

ซอมูตอพูดขึ้นด้วยสีหน้าและแววตาใสซื่อ ก่อนลงจากเสาแล้วหันไปเล่นกับน้องชายตัวเล็ก ๆ และแมวสองตัวที่นอนอยู่ข้าง ๆ

Image

บ้านแม่สามแลบเป็นชุมชนสุดท้ายก่อนจะถึงบ้านท่าตาฝั่ง ในฤดูฝนเมฆหมอกปกคลุมเส้นทางตลอดทั้งเช้าและเย็น

ยามไร้แสงในกลางดึก
คืนเดือนดับ

“ไม่มีวันจบง่าย ๆ นะ ชาวบ้านบอกกับพี่ว่าเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้วไม่มีการสู้รบกันเลย แสดงว่าเมื่อเวลาผ่านไปเค้าก็กลับมารบกันอีก มันเป็นไปได้หมด เราก็ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา”

“ครูปุ๋ย” เยาวลักษณ์ อิ่นแก้ว วัย ๓๖ ปี ครูประจำชั้นของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ ๓ ณ โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง พูดถึงผลกระทบของสงครามจากการสู้รบของกองทัพเมียนมาและกองกำลังติดอาวุธของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือกลุ่ม KNU (Karen National Union) ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา

“ท่าตาฝั่ง” หรือชื่อเดิมคือบ้านน้อย-จออู ตามชื่อของผู้ก่อตั้ง หมู่บ้านนี้อยู่บริเวณสบห้วยแม่กองคาที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ติดกับชายแดนไทย-เมียนมา ในอำเภอสบเมย ณ จังหวัดยากจนที่สุดในประเทศไทยคือแม่ฮ่องสอน

ที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ใกล้พื้นที่สู้รบทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายทั้งลูกกระสุนและเศษระเบิด “เบบี้บังเกอร์” (baby bunker) จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นหลุมหลบภัยสำหรับเด็ก ด้านนอกทาสีฟ้า ตกแต่งด้วยภาพวาดของเด็ก ๆ มีบ้านต้นไม้อยู่ด้านบนเพื่อให้เด็กขึ้นไปเล่นได้ในยามปรกติ ตอนแรกผมไม่ได้สังเกตว่ามันคือหลุมหลบภัยเสียด้วยซ้ำ

พื้นที่บริเวณท่าตาฝั่งได้รับผลกระทบจากสงครามมายาวนาน ปี ๒๕๖๔ เกิดการปะทะของกองทัพเมียนมากับกลุ่ม KNU  โดยกลุ่ม KNU บุกเข้ายึดฐานซอแลท่า พัน.คร.๓๔๑ ของกองทัพเมียนมา ริมแม่น้ำสาละวินตรงข้ามกับหมู่บ้านแม่สามแลบได้สำเร็จ

วทัญญูคือเด็ก ๑ ใน ๑๔ คนที่หนีจากภัยสงครามเมื่อ ๓ ปีก่อนมาที่โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง  ณ ช่วงเวลานั้นเขาอายุเพียง ๙ ขวบ ต้องพลัดถิ่นและพลัดพรากจากอ้อมอกของพ่อและแม่ เฉกเช่นเดียวกันกับเพื่อน ๆ อีก ๑๓ คนที่มาพร้อมกัน เนื่องจากมีเพียงเด็กเท่านั้นที่ย้ายข้ามฝั่งมาได้

ความทรงจำในช่วงที่ต้องพลัดถิ่นย้ายมาอยู่ที่ฝั่งไทยเลือนรางไม่ชัดเจนนัก เด็กส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าสงครามคืออะไร สิ่งที่รับรู้ได้ในตอนนั้นคือความน่ากลัวของเสียงดังจากปืนและระเบิด

“ได้มาอยู่ที่นี่มันจะปลอดภัยกว่าเวลามีเครื่องบินมา แต่ก็เป็นห่วงพ่อแม่ด้วยครับ เพราะพ่อแม่เราอยู่ฝั่งนู้น ช่วงที่มาใหม่ ๆ ติดต่อพ่อแม่บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้ บางครั้ง ๒-๓ เดือนก็เพิ่งจะติดต่อได้ พอติดต่อไม่ได้เราก็เป็นห่วงครับ”

เราทั้งคู่เดินมุ่งหน้าไปที่บ้านพักของโรงเรียน วทัญญูชี้ให้ผมดูสนามฟุตบอลด้านขวามือบริเวณริมแม่น้ำสาละวินที่ตอนนี้ใช้งานไม่ได้เนื่องจากฝนตก

“ผมชอบทีมที่โรนัลโดอยู่ครับ” วทัญญูเพิ่งตอบคำถามที่ผมถามตอนที่เดินไปบ้านของซอมูตอ ตอนนั้นเขานึกชื่อทีมที่ชอบไม่ออก ส่วนผมก็ได้แต่หวังลึก ๆ ว่าเขาจะชอบแมนฯ ยูฯ เหมือนกันกับผม

ก่อนวทัญญูจะกลับเข้าบ้านพัก ย่ามสีเขียวที่สะดุดตาผมตั้งแต่แรกเห็นก็กระตุ้นต่อมสงสัยให้ถามว่าได้มาจากไหน เขาตอบผมด้วยน้ำเสียงสดใส

“แม่ถักให้ครับ”

Image

นักเรียนบ้านท่าตาฝั่งเดินกลับบ้าน หลังเลิกเรียน มีเบบี้บังเกอร์เพื่อความปลอดภัยในยามฉุกเฉินอยู่บนเส้นทาง

สงคราม ความกลัว และความเสี่ยง

“เพิ่งวิ่งมาถึงใต้ถุนบ้าน แล้วเครื่องบินก็ทิ้งระเบิดตรงดอย เศษมันกระเด็นมาตรงที่เราวิ่งผ่านไป เข้ามาฝั่งไทยเลยนะ ทั้ง ๆ ที่ถูกกั้นด้วยแม่น้ำ ดีที่เราไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว”

“ครูบี” สุภา สาคร วัย ๓๗ ปี ในเสื้อลายดอกและผ้าถุงสีน้ำเงินอ่อน ผู้เป็นแม่ของลูกสามคนและยังเป็นครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่กองแป สาขาบ้านท่าตาฝั่ง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งมากนัก เล่าถึงความเสี่ยงที่เคยเกิดขึ้นกับเธอใน “งานแต่งงาน” ของคู่บ่าวสาวในหมู่บ้านเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว เป็นเรื่องเล่าที่ผมได้ยินจากปากของครูหลายคนในโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง แต่ครูบีคือคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นจริง ๆ

“มีเสียงปืนเสียงอะไรไม่รู้เยอะแยะเลย พี่ก็อยู่ข้างใน ตกใจรีบดึงลูกสาวออกแล้วก็วิ่งไม่คิดชีวิตไปเนินไปดอยเลย รู้อย่างเดียวว่าอยู่ตรงนั้นไม่ได้แล้ว”

เธอและลูกสาววัย ๕ ขวบเข้าไปช่วยแต่งหน้าให้คู่บ่าวสาวในตอนตี ๕ และรอโปรยดอกไม้ในพิธีตอน ๗ โมงเช้า แต่เสียงปืนจากฝั่งตรงข้ามดังขึ้นก่อนพิธีจะเริ่ม

“แป๊บนึงเค้าก็บอกว่ากำลังทำพิธีงานแต่งกันต่อ คือมันก็ต้องทำเพราะว่าเตรียมการไว้หมดแล้ว ตอนนั้นหัวพี่มีแต่เศษไม้ หัวฟูมากตอนกลับขึ้นไปที่โบสถ์ เป็นงานแต่งที่วุ่นวายมากเลย”

กลับเข้าพิธีอีกครั้ง เธอนั่งติดเวทีและมองลูกสาวที่โปรยดอกไม้ แต่เธอไม่ได้จดจ่อกับพิธีการงานแต่งเลยแม้แต่น้อย

“นั่งคิดว่าถ้ามีเครื่องบินมาจะถูกตัดการสื่อสารหรือเปล่า ถ้าเครื่องบินมาจริง ๆ เราตายแน่ ๆ  คิดว่าจะรีบวิ่งขึ้นไปบนเวทีแล้วดึงลูกสาวลงมา”

พิธีงานแต่งถูกจัดต่อไปอย่างเร่งรีบและรวบรัดโดยใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง  อาหารวางเลี้ยงแขกจัดไว้ที่โต๊ะพร้อมให้ร่วมเฉลิมฉลอง แต่ครูบีและลูกเลือกกลับบ้าน เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนักเครื่องบินรบก็มาทิ้งระเบิดที่ฝั่งตรงข้าม เธอจึงพาลูก ๆ ลงหลุมหลบระเบิดชั่วคราวที่เธอทำไว้ข้างล่างบ้าน ก่อนหนีขึ้นไปอยู่ที่ห้วย สร้างกระท่อมเล็ก ๆ อาศัยอยู่ชั่วคราวในเวลาต่อมา

ครูบีชื่นชอบการทำงานกับเด็ก พื้นเพเธอเป็นคนบ้านท่าตาฝั่ง ไปเรียนครูที่มหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ ก่อนกลับมาที่ชุมชนบ้านเกิดด้วยอยากจะช่วยเหลือชุมชนและพ่อที่ป่วย  เธอเล่าว่าถึงแม้ช่วงนั้นเธอจะกลัวอยู่มาก แต่บทบาทของทั้งแม่และครูที่ดูแลเด็ก ๆ ทำให้เธอต้องแสดงความเข้มแข็งเพื่อเป็นที่พึ่งให้เด็ก ๆ

“จริง ๆ ก็กลัวเหมือนกัน แต่ว่าเราเป็นผู้ใหญ่ เป็นห่วงเด็กมากกว่า เวลานอนที่บ้านมีเสียงอะไรพวกนี้ก็จะเตรียมตัวตลอด มีต้นไม้ใหญ่ ๆ ก็ช่วยลดความแรงของกระสุนที่ตกลงมา ถ้าไม่มีต้นไม้ตรงนี้บ้านพี่ก็คงไปหมด...”

ผมมองทะลุหน้าต่างไปยังต้นไม้ใหญ่หลายต้นที่ล้อมรอบบ้านของเธอ ขณะที่แสงภายนอกเริ่มหมดลง ความมืดเคลื่อนเข้ามา และเสียงประสานของแมลงในป่าเริ่มดังขึ้น

Image

เจ้าของเรือโดยสารกำลังนำเรือออกจากฝั่ง เขาเสียขาข้างหนึ่งไปหลังเหยียบกับระเบิดระหว่างเก็บของป่าในฝั่งเมียนมา

แสงดาวท่ามกลาง
ความมืดมิด

การศึกษา โรงเรียน คุณครู และชุมชน

โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งเปรียบดั่งกลุ่มดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน แม้ไม่อาจให้ความสว่างดั่งดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ แต่การมองเห็นหมู่ดาวบนท้องฟ้าก็ย่อมดีกว่าความมืดสนิท

“เราเชื่อว่าโรงเรียนก็เป็นเหมือนโรงพยาบาล เมื่อคนไข้เลือดไหลทะลักมาเราจะไม่ถามหาบัตรคนไข้ แต่จะรักษาเลย โรงเรียนก็เหมือนกัน เมื่อเด็กตาดำ ๆ เข้ามาขอโอกาสทางการศึกษา ประตูโรงเรียนต้องเปิด ในนามของโลก เรารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”

“รองสายัญ” สายัญ โพธิ์สุวรรณ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง วัย ๔๗ ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงใหม่เขต ๕ เล่าถึงวินาทีแรก ๆ ที่บอกคนรอบข้างถึงการตัดสินใจย้ายมาในพื้นที่ชายแดนว่า เสียงที่ตอบกลับมาต่างบอกว่าเขานั้นเป็น “ผีบ้า” (ในภาษาเหนือหมายถึงคนขาดสติ) พอรู้ตัวอีกทีเขาก็เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งแล้ว  หลังจากนั้นไม่นานนักสงครามที่ปะทุในฝั่งตรงข้ามก็แผ่ผลกระทบมาถึง

“เหมือนมากับสงครามเหมือนกันนะ” เขาหวนนึกถึงช่วงเวลานั้น

“โจทย์แรกที่แตกต่างจากที่อื่นคือสภาพภูมิประเทศ ในทางกายภาพมันค่อนข้างจะยาก กันดาร ชายเเดน พื้นที่สูง ห่างไกล เราเรียกพื้นที่เเบบนี้ว่า ๕ ดาว ไม่มีน้ำ ไม่มีอะไรเลย อยู่ใกล้น้ำแต่ไม่มีน้ำใช้อย่างถาวร ก็ต้องเริ่มไปดึงน้ำจากต้นน้ำลงมาโดยใช้แรงงานร่วมกันกับทางคุณครูและชุมชน”

“น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตมนุษย์ แต่เดิมชาวบ้านท่าตาฝั่งต้องนำน้ำมาต้มกิน เมื่อหน้าแล้งมาถึงน้ำดื่มก็ขาดแคลน การติดตั้งท่อจากต้นน้ำเพื่อส่งน้ำลงมาใช้จึงเป็นเรื่องที่ผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งใจพัฒนาร่วมกับชุมชนและเด็ก ๆ ด้วยแรงบันดาลใจจากศรัทธาและความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของชาวบ้าน

“เราศรัทธาในความเชื่อของพี่น้องกะเหรี่ยงปกาเกอะญอว่า ‘ลูกหลานเอ๋ย เราดื่มน้ำจากดอยลูกไหน ให้พากันกลับไปรักษาดอยลูกนั้น’  อยากจะพาเด็ก ๆ ขึ้นไปเห็นว่าน้ำที่เราดื่มใช้กันมาจากไหน การที่น้ำมาจากดอยลูกนี้ก็เพราะว่ามีป่าและมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และมันก็เกิดจากพวกเราทุกคนที่ช่วยดูแลรักษา”

Image

คณะนักเรียนนำทางพาเราเข้าสู่หมู่บ้านและโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง

การพัฒนาชุมชนเป็นบทบาทที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียน ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งน้ำ ไฟฟ้า และสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงสะพานข้ามแม่น้ำบริเวณทางเข้าหมู่บ้านก็เป็นสิ่งที่เขาพยายามเติมให้โรงเรียนและชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน

“งานของโรงเรียนไม่ได้เริ่มจากในโรงเรียน มันเริ่มจากนอกรั้ว ดึงชุมชนตีโอบเข้ามา ใช้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ของการจัดการร่วมกัน นี่เป็นโจทย์ที่แตกต่างจากที่อื่น

หลังจากเศษปืนใหญ่ลูกแรกตกใกล้ ๆ โรงเรียนรองสายัญและคณะครูจึงช่วยกันทำโดมขึ้นที่โรงเรียนไม่นานปืนใหญ่ลูกที่ ๒ ๓ ๔ และอีกมากมายถูกยิงจากฝั่งตรงข้ามมาตกบริเวณท่าตาฝั่งเรื่อย ๆ ก่อนที่ธงสีแดงตรงฐานของกองทัพเมียนมาจะถูกชักขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่แน่นอนของการสู้รบ “เบบี้บังเกอร์” ที่สร้างขึ้นจึงเป็นที่ให้เด็ก ๆ ได้หลบเศษระเบิด และต่อมาเพื่อลดความเครียดและความกดดันของเด็ก จึงสร้างบ้านต้นไม้ไว้ข้างบนเบบี้บังเกอร์ด้วย

ผลกระทบของสงครามไม่เพียงส่งผลต่อเด็ก ๆ แต่ยังรวมถึงผู้ปกครองและชุมชนที่ต้องปรับตัวและรักษาความหวังให้ดำรงอยู่ ผู้ปกครองชาวปกาเกอะญอฝั่งเมียนมาจึงได้ติดต่อโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งขอโอกาสทางการศึกษาและความปลอดภัยในชีวิตให้ลูกหลาน ถึงแม้จะต้องพลัดพรากจากแก้วตาดวงใจและแม้จะรับรู้ถึงข้อจำกัดเรื่องสิทธิต่าง ๆ

Image

ซอมูตอชี้ร่องรอยสะเก็ดระเบิดที่ตกในบ้านของตน

“ถ้าไม่ข้ามมาพวกผู้ชายก็จับปืนนะ มีเด็กที่จบไปแล้วอยากให้น้องได้เรียนต่อก็กลับไปเป็นทหารแทน หนึ่งครอบครัวก็ต้องไปหนึ่งคน เห็นแบบนี้แล้วก็คิดว่าไม่ว่าจะเกิดหรืออยู่ตรงไหนก็มีเลือดสีแดงเหมือนกัน ชาติพันธุ์ไหนก็ควรได้รับการดูแลจากโลกใบนี้

“เมื่อย้ายมาแล้วก็จะมีเรื่องของเอกสารสิทธิ ถ้าเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรก็ต้องเข้าสู่การติดตั้งตัวจี โรงเรียนพยายามทำให้”

“เด็กตัวจี” คือเด็กในกลุ่มไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ได้เข้ามาศึกษาในโรงเรียนไทยและถูกกำหนดเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G เพื่อใช้ในระบบการศึกษา แต่จะไม่มีสิทธิ์เข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐ โดยเฉพาะสิทธิ์การรักษาโรค

การเป็นครูในโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งไม่ได้เพียงสอนหนังสือและทำให้เด็กเติบโตเป็นคนดีเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ดูแลจิตใจของเด็กที่เปราะบาง เนื่องจากบางคนได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสงคราม ครูจึงต้องเป็นที่พึ่งทางใจของนักเรียนไปพร้อม ๆ กับเตรียมตัวรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนอยู่ตลอด

ปัจจุบันนี้กว่า ๘ เดือนแล้วที่โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งถูกส่งไม้ต่อให้ผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่ กิตติภพ ภูมิกาศปักชัยกุล โดยมีครูทุกคนในโรงเรียนยังคงมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานที่ตนรักต่อไป

แสงแห่งความหวังยามรุ่งอรุณ
ยอมรับและปรับตัว

“เราก็ต้องอยู่ ดำเนินชีวิตปรกตินี่แหละ มันก็ไม่ได้มาทุกวัน เกิดทีก็แค่ชั่วโมงสองชั่วโมง ไม่ได้เกิดทั้งวันทั้งคืน”

ครูบีบอกกับผมพร้อมรอยยิ้ม หลังแสงพระอาทิตย์ยามเย็นหมดลงเธอให้ลูกชายหยิบไฟโซลาร์เซลล์แบบพกพาขึ้นมาห้อยตรงเสากลางบ้าน  ถัดไปไม่ไกลมีเสียงจากลูกชายและลูกสาวของเธอกำลังหัวเราะคิกคักขณะดูหน้าจอโทรศัพท์มือถือของแม่ ถึงแม้สัญญาณจะขาด ๆ หาย ๆ แต่แอปพลิเคชันกล้องถ่ายรูปที่สลับกันถ่ายก็ทำให้เด็ก ๆ หัวเราะอย่างมีความสุขได้

เมื่อครูบีเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตท่ามกลางความไม่แน่นอนในภาวะสงคราม เธอเลือกสนใจช่วงเวลาสงบมากกว่าช่วงความวุ่นวาย การปรับตัวนี้ไม่เพียงเป็นการเผชิญหน้ากับความกลัวหรืออันตรายเท่านั้น แต่เป็นการหาวิถีทาง “อยู่กับมัน” โดยไม่ปล่อยให้ความหวาดกลัวกลืนกินชีวิตประจำวัน และเธอยังทำสวนที่เป็นความชอบและความสุขส่วนตัวนอกเหนือจากเวลาที่ใช้กับเด็ก ๆ

บันทึกความฝันที่อยากมีอยากเป็นในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าของนักเรียนห้องพิเศษที่ประกอบไปด้วยชาวกะเหรี่ยง ชาวเมียนมา และชนเผ่าอื่น ๆ

Image

“ถ้ามีเวลามากกว่านี้จะชวนไปดูที่สวน”

ครูบีพูดด้วยน้ำเสียงสดใส ใบหน้ายิ้มแย้ม และดวงตาเบิกกว้างขึ้นกว่าเดิม เธอเล่าให้ผมฟังถึงชนิดของผักและผลไม้ที่ตั้งใจปลูกในสวนริมแม่น้ำสาละวิน  เมื่อมองลึกเข้าไปในดวงตาเป็นประกายและได้ฟังน้ำเสียงตื่นเต้น ทำให้ผมอยากมีโอกาสได้เห็นสวนของเธอสักครั้ง อยากลองชิมผักและผลไม้ โดยเฉพาะแตงโมที่เธอภูมิใจนำเสนอ

“เราอยู่กับคนแก่ เด็ก เขาก็สมควรได้กินสิ่งดี ๆ และปลอดสารพิษ  ทุกวันเสาร์พี่จะไปสวน การได้กินสิ่งที่ปลูกแบบออร์แกนิกจากสวนของเราเองมีความสุขดีนะ”

จากสมัยที่เข้าไปเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่ ต้องซื้ออาหารกินหรือซื้อผักเป็นถุง ๆ เพื่อมาประกอบอาหารโดยไม่แน่ใจว่ามีสารเคมีปนเปื้อนหรือไม่ ทำให้เธอนึกถึงบ้านเกิด หลังจากที่เรียนจบแล้วกลับมาทำงานกับเด็ก ๆ ดูแลปัญหาทางสุขภาพของพ่อ เธอจึงทำสวนเพื่อสุขภาวะที่ดีของตัวเองและครอบครัว

ชาวบ้านในพื้นที่ท่าตาฝั่งก็ประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวย ถึงแม้รายได้จะไม่มากนัก

“บางคนมองว่าท่าตาฝั่งน่ากลัว แต่ความน่ากลัวก็มีสิ่งสวยงาม จริง ๆ ทุกวันนี้มันก็ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น ถ้าเราระวังตัว ฟังข่าวสารก็ไม่มีอะไร เหมือนเราดำเนินชีวิตตามปรกตินั่นแหละ  ถ้าเราอยู่ด้วยความระมัดระวังก็อยู่ได้ มีความสุข เราก็ปรับตัว ทุกคนก็ดำเนินชีวิตปรกติ”

สงครามเองก็เช่นกัน ครูบีเล่าว่า ณ ปัจจุบันคนท่าตาฝั่งเริ่มยอมรับและปรับตัวกันได้แล้ว ดำเนินชีวิตตามปรกติ แต่ก็เฝ้าระวังไว้เสมอ ดั่งที่จะเห็นได้จากหลุมหลบภัยที่ชาวบ้านสร้างไว้ทั้งในบ้านและบริเวณใกล้ ๆ บ้าน

“ตอนที่ยังไม่เกิดขึ้นเราก็ดำเนินชีวิตตามปรกติ เพราะยังต้องเลี้ยงครอบครัว ไม่กลัวไม่กังวลอะไร ถ้าอยู่กับมันได้เราก็มีความสุขได้ เราสนใจกับปัจจุบันก็พอ”

การสร้างสวนของครูบีเป็นตัวอย่างของการคืนสู่ธรรมชาติและการสร้างพื้นที่แห่งความสงบสุขภายในใจ สวนไม่ได้เป็นเพียงที่มาของอาหาร แต่เป็นที่มาของความสุข ความหวัง และศักยภาพในการฟื้นฟูชีวิต  หลุมหลบภัยของชาวบ้านก็ไม่ได้เป็นการยอมแพ้ต่อความหวาดกลัว แต่แสดงถึงความพร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข

ผมนึกทวนแนวคิดของครูบีเทียบกับชีวิตมนุษย์ในทุกถิ่นที่แล้วก็คิดว่าคงไม่ต่างกัน “ถ้าเราปรับตัวและอยู่กับปัจจุบัน เราก็สามารถหาความสุขในความไม่แน่นอนนั้นได้”

Image

นวัตกรรมชุดแต่งกายยามฉุกเฉินที่ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุรีไซเคิลตามจินตนาการของนักเรียนบ้านท่าตาฝั่งในวันวิทยาศาสตร์

ความฝัน ความหวัง : ฟุตบอล  โทรศัพท์มือถือ ทะเล นักร้อง ช่าง คุณครู และหมอ

“โตขึ้นผมอยากเป็นนักฟุตบอลของประเทศไทย ตอนนี้ผมชอบเล่นฟุตบอลมาก ๆ แล้วผมก็ซ้อมทุกวัน ผมอยากเรียนสูง ๆ แล้วก็ได้ทำตามฝันของตัวเอง”

เนื้อหาบางส่วนจากบันทึกของวทัญญูที่เขียนถึงตัวเองในอนาคตและมอบให้ผมอ่าน

มนุษย์ทุกคนมีความฝัน ความหวัง และความปรารถนาในใจ เด็กชาวปกาเกอะญอพลัดถิ่น พลัดพรากจากอ้อมอกของพ่อและแม่จากภัยของสงครามก็เช่นกัน

ผมไม่แปลกใจในความฝันของวทัญญูเท่าไรนักเพราะตั้งแต่วันแรกที่ได้พูดคุยและรู้จักกัน ฟุตบอลก็เป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงมากเป็นพิเศษ  หากเราได้พบเจอกันในช่วงที่ฝนไม่ตกหนักผมคงจะได้กลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้งในรอบหลายปีกับวทัญญูและเพื่อน ๆ ของเขาบนท่าตาฝั่งเป็นแน่

ขณะนี้วทัญญูอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ในอีก ๖ ปีข้างหน้าเขาจะมีอายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์ จบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และต้องออกจากรั้วของโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง  เมื่อถามถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตในอนาคตที่ต้องตัดสินใจว่าจะไปซ้ายหรือขวา เขานิ่งเงียบอยู่ครู่หนึ่ง ก้มมองพื้นก่อนจะเงยหน้าตอบ “ยังไม่รู้ฮะ” เขาลดเสียงลงและหัวเราะก่อนถอนหายใจเบา ๆ ผมบอกเขาว่าตอนอายุ ๑๒ เรื่องพวกนี้ ผมก็ไม่ชัดเจนเช่นกัน

นักฟุตบอลเป็นเพียงความฝันหนึ่งในบันทึกหลายฉบับที่เด็กพลัดถิ่นเขียนถึง ยังมีความฝันอีกมากมาย ทั้งฝันที่อยากมีโทรศัพท์มือถือ อยากไปเห็นทะเลด้วยกันกับเพื่อน ๆ เป็นนักร้องเพื่อจะได้มอบความสุขให้คนฟัง เป็นช่างที่มีรถและเรือเป็นของตัวเอง เป็นครูที่กลับมาสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนแห่งนี้ เป็นหมอด้วยความกลัวที่ไม่อยากให้แม่ป่วย ฯลฯ

ความฝันที่ผมได้รับรู้จากทั้งบทสนทนาและตัวหนังสือที่เด็ก ๆ เขียน เป็นเป้าหมายที่เติมเต็มพลังชีวิตและความหวังให้พวกเขาก้าวข้ามผ่านอุปสรรค แม้ช่วงกลางคืนจะมืดมิดยาวนานเพียงใด แม้จะต้องพบเจอความมืดและผ่านพ้นไปอีกกี่คืน แต่พวกเขาก็ยังมีความฝันที่ส่องสว่างอยู่เสมอ ดั่งกลุ่มดาวบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน

ตราบใดที่โลกยังคงหมุนรอบตัวเองและตราบใดที่เรายังคงหายใจ ช่วงเวลาของกลางวันและกลางคืนก็จะหมุนเวียนมาเยือนอย่างมิอาจหลีกหนีหรือหยุดยั้งได้  สิ่งสำคัญในวันนี้คือเรายังมีชีวิต ยังคงหายใจ และยังคงมีความหวัง เราจะค้นหาแสงสว่างทั้งจากคนรอบข้างและภายในจิตใจของเราเอง เพื่อก้าวผ่านความมืดไปได้เสมอ

แววตา รอยยิ้ม ความหวัง และความฝันบนข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดของเด็กอายุ ๑๒ ปี เป็นแรงบันดาลใจให้กับผม และผมเองก็จะคอยสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้เขาลึก ๆ อย่างสุดใจ  

อ้างอิง
ไทยรัฐออนไลน์. “ทหารเมียนมาโดนกะเหรี่ยง KNU ตีแตก ชาวบ้านแม่สามแลบถูกลูกหลงเจ็บสาหัส”. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/north/2078655

พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย. “เร่งแก้ปัญหานักเรียนรหัส G ขจัดความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ”. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/333770

ศรีนาคา เชียงแสน. “‘เด็กหัว G’... เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติไร้อนาคต”. สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2023/๐07/srinaka-8-๐07-2566/

สืบค้นข้อมูลท่าตาฝั่งจาก สขร. สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER56/DRAWER๐036/GENERAL/DATA0000/00000051.PDF

Image