การตรวจสุขภาพเเต่ละครั้ง ผู้ดูแลผู้สูงอายุจะประเมินอย่างใส่ใจและใกล้ชิดประดุจญาติมิตร
บั๊ดดี้โฮมแคร์
แห่งเมืองเชียงใหม่
ใส่ใจดูแลผู้สูงอายุไม่จำกัด
“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ
เรื่อง : วงศกร ลอยมา
ภาพ : อาชวิน ฉัตรอนันทเวช
“แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างลายคราม”
ประโยคสั้น ๆ จากชายคนหนึ่ง อายุน่าจะเลยการเฉลิมฉลองแซยิดหลายปี เขาสวมเสื้อผ้าฝ้ายพื้นเมืองสีแดง กางเกงขายาวสีดำปิดถึงตาตุ่ม บริเวณโหนกแก้มด้านซ้ายมีอุปกรณ์เพิ่มเสียงพูดติดแนบไว้
ผมคนสันหลังยาวยืดหลังตรงอย่างผ่อนคลาย สองตาจ้องไปยังผู้เล่า
ในจอสี่เหลี่ยม มือซ้ายข้างไม่ถนัดวางไว้บนหน้าตัก ส่วนมือขวาแอบหยิก ขาอ่อนไว้กันหลับผล็อย และสองใบหูสดับรับฟังวิดีโอ TEDxChiangMai
ความยาว ๑๑ : ๔๔ นาที อย่างตั้งใจ
ผมไม่เฉลยหรอกว่าเป็นคลิปไหนและใครเป็นผู้พูด เอาอย่างนี้ ผมจะบอกใบ้ให้ก็แล้วกัน วิดีโอถูกโพสต์ลงในโลกออนไลน์เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ มียอดผู้ชม ๕๒๕ ครั้ง เท่านี้แหละ ที่เหลือคุณไปสืบเอาเอง
ในบรรดาคำพูดของเขามีประโยคหนึ่งทำเอาผมฟังแล้วสะดุ้งโหยง “ความสูงวัยคือหลักชัยของทุกคนที่หวังจะอายุยืน รวมทั้งพวกเราที่นั่งอยู่ในที่นี้ด้วย ในอีก ๒๐-๓๐ ปีข้างหน้า ท่านจะอยู่อย่างไร ถ้าหากท่านไม่เตรียมตัวในปัจจุบัน”
คุณลองเลื่อนไปฟังนาทีที่ ๔ : ๑๐ ด้วยหูของตัวเองก็ได้
ส่วนผมนั้นยังคิดคำตอบเท่ ๆ ไม่ออกสักที จึงตัดสินใจโบยบินตามเสียงนี้ มาถึงภาคเหนือของประเทศไทย
รุ่งอรุณวันอังคารกลางเดือนสิงหาคม ๒๕๖๗ หยดไอน้ำร่วงหล่นนอกกระจกสนามบินเชียงใหม่บอกใบ้ให้รู้ว่าพระพิรุณเพิ่งจะโปรยน้ำผ่านไปหยก ๆ บนฟ้ามีก้อนเมฆน่ากอดลอยอยู่ใกล้เทือกเขาสูงอย่างเป็นกันเอง ผมเช็กมือถือพบตัวเลขอุณหภูมิ ๓๐ องศาเซลเซียส เช็กอีกครั้งด้วยการถอดเสื้อคลุมหนา เป็นอันสรุปได้ว่าอากาศเย็นสบายดี
ถ้านับเฉพาะครึ่งชั่วโมงแรกที่ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ชื่อ “เชียงใหม่” เป็นอันเข้าใจได้ว่าทำไมจึงถูกขนานนามว่าเมืองที่มีคนมาใช้ชีวิตหลังเกษียณมากที่สุด คนมีจำนวนพอดี รถไม่แออัด แถมมีธรรมชาติโอบกอดตลอดเวลา ใครจะไม่อยากมาอยู่กันเล่า ผมยังอยากย้ายมาอยู่เลย
เดี๋ยวก่อน
ความเข้าใจเมื่อครู่เป็นความจริงเพียงด้านเดียว อีกฝั่งของเหรียญซุกซ่อนผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สำหรับเรื่องนี้เพื่อนผมชื่อ Buddy HomeCare “บั๊ดดี้โฮมแคร์” เขาเล่าให้ฟัง
ผู้มอบความใส่ใจดูแล : “แคร์กิฟเวอร์ (caregiver - CG)”
คนไทยเก่งเรื่องการตั้งชื่อเรียกให้คน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ อย่างที่ที่ผมกำลังมุ่งหน้าไปมีชื่อว่า “ชุมชนบ้านใหม่” แต่มักถูกเรียกขานว่าชุมชนผู้สูงอายุยากไร้ ชุมชนนี้อยู่ในตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ ห่างจากโรงพยาบาลค่ายกาวิละไปทางทิศเหนือประมาณ ๘๐๐ เมตร ทริกจำง่าย ๆ คือข้ามทางรถไฟเมื่อไรให้เลี้ยวรถเข้าซอยทางซ้ายมือ
บ้านใหม่แยกออกมาจากชุมชนต้นขาม (อยู่ในซอยทางขวามือ) หลังถูกความศิวิไลซ์รุกคืบ ตึกคอนกรีตผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แถมนับวันมิตรจิตไมตรีที่เคยมีให้กันก็เริ่มหายาก คนในชุมชนจึงทำประชามติร่วมกับเทศบาลเพื่อย้ายไปตั้งชุมชนใหม่ เรียกขานกันว่าชุมชนบ้านใหม่
แอร์-เรวดี พิมเรือง วัย ๗๐ ปี ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รับอาสาดูเเลผู้สูงอายุในชุมชนบ้านใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ผมสอบถามไปยัง พรรณี อินทจักร์ ประธานชุมชนบ้านใหม่ เธอเล่าว่าชุมชนนี้มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ ๑๐๐ คน ราว ๕๐ หลังคาเรือน ในแง่ไซซ์นับว่าเล็กกะทัดรัด หากว่ากันในแง่อายุ คุณว่า ๓๐ ปีเก่าแก่หรือยัง
ผมเกือบลืมแนะนำคนหลังพวงมาลัยไปเสียสนิท แบงค์-ทศวรรษ บุญมา วัย ๓๐ ปี ผู้จัดการโครงการชุมชนของบริษัทบั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด พ่วงด้วยตำแหน่งพนักงานมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ
ทศวรรษพาผมมายังบ้านหลังหนึ่งมีป้ายติดไว้ที่ริมรั้วว่า “ที่นี่มีลูกประคบขาย” หญิงร่างผอมยืนรอต้อนรับอยู่ใต้ถุนบ้าน เธอชื่อว่าแอร์-เรวดี พิมเรือง วัย ๗๐ ปี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พ่วงด้วยตำแหน่งผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือแคร์กิฟเวอร์ (caregiver - CG) ในชุมชนบ้านใหม่
ว่ากันตามตำรา ศัพท์อังกฤษมีคำคล้ายกันคือ “caretaker” กับ “caregiver” แต่ความหมายต่าง
คำแรกมักใช้เรียกผู้ดูแลแบบรวม ๆ อาจเป็นการดูแลคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ ส่วนคำหลังถูกทำให้เข้าใจร่วมกันว่าคือผู้ดูแลคน เช่น เด็ก ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่าง หาข้าวให้กิน มาอยู่เป็นเพื่อน พลิกตัว ทำแผล หรือแม้แต่พาไปหาหมอ
ผมถือวิสาสะแบ่งผู้ดูแลผู้สูงอายุเป็นสองประเภท แบบแรกอยู่ในนามของรัฐ มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวเรือใหญ่ ภารกิจหลักคือมอบหมายงานให้กรมอนามัยหรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผลิตสร้างผู้ดูแลฯ แล้วลงพื้นที่ดูแลตรวจเช็กสุขภาพให้ผู้สูงอายุในชุมชนอาทิตย์ละหนึ่งถึงสองครั้งตามเห็นสมควร
แบบที่ ๒ คือผู้ดูแลฯ ในนามเอกชน ขึ้นตรงกับหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐ ส่วนใหญ่มีนายหน้าเป็นตัวกลางระหว่างผู้ดูแลฯ กับผู้ว่าจ้าง ผู้ดูแลฯ ประเภทนี้นับว่าเนื้อหอมมาก ลูกหลานชอบยกหูหาให้ไปช่วยดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน มีทั้งแบบรายชั่วโมง รายวัน รายเดือน
“ตอนยังเด็กพ่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง นอนติดเตียงอยู่ ๕ ปี ถู ๆ ไถ ๆ ดูแลท่านมาตลอด แต่ไม่มีความรู้ดูแล จนกระทั่งพ่อเสียชีวิตเพราะเส้นเลือดแตก ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นตอนนี้คิดว่าพ่อคงไม่ตาย” แอร์เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเดินทางอันขมขื่นที่เปลี่ยนเป็นพลังให้เธอลุกขึ้นมาดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
ปัจจุบันแอร์รับอาสาดูแลผู้สูงอายุห้าคน สามคนในนั้นคือสมาชิกบ้านหลังที่ผมมาเยือนในวันนี้ ผู้อาวุโสที่สุดคือ บัวเขียว อินทจักร หรือยายเขียว อายุ ๙๓ ปี รองลงมา คือ พันธุ์ ตันประเสริฐ อายุ ๗๕ ปี และคนที่ ๓ คือ พิน ตันประเสริฐ อายุ ๗๔ ปี สองคนหลังมีศักดิ์เป็นหลานยายเขียว ทั้งสามคนมีคำนำหน้าว่านางสาว
ผู้ดูแลฯ ลงพื้นที่บ้านละประมาณครึ่งชั่วโมง หากบ้านหลังต่อไปอยู่ไกล การเดินทางด้วยรถจักรยานก็ช่วยได้มาก
แอร์นับเป็นผู้ดูแลฯ แบบแรก ทำงานร่วมกับศูนย์สุขภาพชุมชนหนองหอยในการดูแลผู้สูงอายุแบบเชิงรุก โดยทางศูนย์จะมอบหมายให้ผู้ดูแลฯ ในแต่ละชุมชนลงพื้นที่ประเมินกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ ศัพท์อย่างหมอเขาเรียก activities of daily living (ADL)
การประเมิน ADL ไม่มีสูตรตายตัว หากว่ากันในแง่สุขภาพสิ่งที่ต้องทำยืนพื้นคือการตรวจวัดความดัน อุณหภูมิวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว และบันทึกตัวเลขนั้นลงในกระดาษห้ามผิดเพี้ยน โดยเฉลี่ยแล้วการลงตรวจแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงต่อบ้านหนึ่งหลัง
“มีอยู่ช่วงหนึ่งหมอให้วัดความดันยายเขียวตลอด ๓๐ วันเต็ม ก็มาวัดให้ทุกวัน” แอร์อธิบายก่อนที่จะเริ่มตรวจวัดความดันประจำวันของผู้สูงอายุในบ้านทั้งสามคน
“ยายเขียว ต๋อนวัดความดันหมอเปิ้นบะหื้ออู้หนา” แอร์หันไปพูดกับยายเขียวที่กำลังอร่อยกับบทสนทนา จากคนอายุ ๙๓ กลายเป็นเด็กน้อยทันทีเมื่อผู้ดูแลฯ ขอความร่วมมือ
บ้านของแอร์อยู่ห่างจากบ้านยายเขียวประมาณ ๑๐๐ เมตร การไปมาหาสู่จึงสะดวกสบาย จะเดินก็ได้ออกกำลังกาย หรือเลือกปั่นรถถีบก็ถึงที่หมายได้ในเวลาไม่นาน ด้วยเหตุฉะนี้โมเดลการดูแลผู้สูงอายุโดยคนในชุมชนจึงลิสต์ข้อดีได้อีกนับอนันต์
สะพานเชื่อมชาติ-พันธุ์
“พวกเราเห็นมาตลอดว่าเด็กชาติพันธุ์ถูกล่อลวงเด็กผู้หญิงถูกหลอกไปทำงานตามผับจนเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนเด็กผู้ชายก็พากันไปเสพยาเสพติด เมื่อเกิดบั๊ดดี้โฮมแคร์พวกเราจึงตั้งใจว่าอยากดึงเด็กเหล่านี้ออกจากลูปนรกด้วยการนำมาอบรมทักษะการดูแลผู้สูงอายุ”
นี่คือคำกล่าวของเจน-เจนวิทย์ วิโสจสงคราม วัย ๔๕ ปี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทบั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด พ่วงด้วยตำแหน่งพนักงานมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะคนที่สื่อสารประเด็นผู้สูงอายุ แต่อีกภารกิจหนึ่งที่เขาทำคือสร้างโอกาสด้านการศึกษาเพื่อดึงเยาวชนชาติพันธุ์ออกจากวงจรเดิม ๆ
ผมทราบอย่างเลา ๆ ว่าบริษัทบั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อชุมชน จำกัด มีหนุ่มใหญ่ที่กล่าวมา และยังมียุ้ย-นราธิป เทพมงคล เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งในปี ๒๕๕๕ เมื่อระยะเวลาล่วงเลยร่วม ๑๒ ปี บั๊ดดี้โฮมแคร์อบรมทักษะบริบาลผู้สูงอายุให้เด็กชาติพันธุ์ไปแล้วกว่า ๖๕ คน ๔๕ คนในนั้นปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นผู้ดูแลฯ ในนามของบั๊ดดี้โฮมแคร์
ผู้ดูแลฯ ลงพื้นที่บ้านละประมาณครึ่งชั่วโมง หากบ้านหลังต่อไปอยู่ไกล การเดินทางด้วยรถจักรยานก็ช่วยได้มาก
เจนวิทย์ผายมืออธิบายว่าเด็กชาติพันธุ์ที่สนใจเข้ารับการอบรมหลักสูตรบริบาลผู้สูงอายุต้องผ่านการสัมภาษณ์โดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากบั๊ดดี้โฮมแคร์ บรรยากาศในห้องเย็นไม่มีอะไรมาก แค่ต้องตอบคำถามจากใจจริง เคยดูแลผู้ป่วยไหม เวลาโกรธจัดการอารมณ์ตัวเองอย่างไร ผมสรุปแบบหยาบ ๆ คือเขาต้องการคนมีใจรักในวิชาชีพนี้
“เราเล็งเห็นว่าการเลือกใครสักคนมาดูแลผู้สูงอายุต้องดูให้ดี ๆ เพราะหากตาร้ายก็อาจพาโจรเข้าบ้าน หรือไม่เขาก็ลงไม้ลงมือ” เขาคนเดิมอธิบายให้เข้าใจ เหตุใดจึงคัดกรองผู้ดูแลฯ อย่างเข้มงวด
เงื่อนไขสำคัญคือต้องมีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และจบการศึกษาขั้นต่ำมัธยมศึกษาปีที่ ๓ คุณเข้าใจใช่ไหม ว่ากันในแง่การเรียนการสอน สอนคนขับรถไม่แข็งย่อมดีกว่าคนที่ขับรถไม่เป็นเลย เมื่อผ่านการคัดเลือก เด็กชาติพันธุ์จะถูกส่งไปอบรมการดูแลผู้สูงอายุที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคอร์สระยะสั้น ๓ เดือน
เมื่อเรียนจบคอร์ส คนไหนต้องการเรียนต่อก็นำใบจบหลักสูตรบริบาลผู้สูงอายุที่ได้รับมายื่นเข้าศึกษาต่อในคณะพยาบาลศาสตร์ได้ หรือใครร้อนวิชาต้องการเริ่มทำงานเลยก็ได้เช่นกัน
ทศวรรษแอบกระซิบอยู่หลังพวงมาลัยว่ามีผู้ดูแล ผู้สูงอายุชาวชาติพันธุ์คนหนึ่งที่อยากแนะนำให้รู้จัก เราจึงออกเดินทางต่อจนมาพบเธอ
“ตอนแรกคิดว่างานดูแลผู้สูงอายุน่าจะยากสำหรับคนแบบเรา พอได้เงินก้อนแรกมาดีใจมาก”
ผมผายมือให้คุณรู้จักเจ้าของเสียงเมื่อครู่ ดาว-วฤณดา กุลไพรวรรณ ชาวชาติพันธุ์วัย ๒๘ ปี ผู้จับคู่บั๊ดดี้ดูแล ประสิทธิ์ ลิ่วเกียรติ ผู้ป่วยติดเตียง วัย ๙๒ ปี ณ บ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านเฟื่องฟ้า ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่
ดาวดวงนี้สกาวแสงทั่วท้องฟ้าเป็นครั้งแรกเหนือห้วยฮากไม้ใต้ หมู่บ้านกะเหรี่ยง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บิดามารดรหาเลี้ยงปากท้องอย่างคนหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ส่วนเธอไม่ชื่นชอบงานเกษตรกรรมจึงหันไปเอาดี ด้านการศึกษา ไม่กี่ปีต่อมามีใบปริญญาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กลับไปฝากครอบครัว
ความสูงวัยคือหลักชัยของทุกคนที่หวังจะอายุยืน รวมทั้งพวกเราที่นั่งอยู่ในที่นี้ด้วย ในอีก ๒๐-๓๐ ปีข้างหน้า ท่านจะอยู่อย่างไร ถ้าหากท่านไม่เตรียมตัวในปัจจุบัน
แอร์รับดูแลผู้สูงอายุในชุมชนทั้งหมดห้าคน เธอลงพื้นที่เยี่ยมบ้านตรวจติดตามสุขภาพให้อย่างสม่ำเสมอ
ดาวเล่าว่าช่วงเรียนจบใหม่ ๆ หาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานเป็นพนักงานในร้านสะดวกซื้อ วันดีคืนดีพี่สาว ซึ่งเป็นผู้ช่วยพยาบาลชวนไปดูแลผู้สูงอายุตามบ้านด้วยกัน “เมื่อก่อนก็ไม่ชอบ แต่พี่สาวสอนให้เราลองทำดู พอได้ทำจริงก็เกิดเปลี่ยนใจ” ดาวเล่าถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต
การเลือกปฏิบัติต่อชาติพันธุ์เธอเล่าว่ายังไม่เคยเจอกับตัว แต่ประสบการณ์ดีปนชั่วพอได้ลิ้มรสมาบ้าง “เราเคยเจอผู้สูงอายุที่อารมณ์รุนแรงมาก ถ้าอะไรไม่ได้ดั่งใจเขาก็ด่าเลย”
ขณะแสงแดดเริ่มรุกล้ำอาณาเขตมาถึงหน้าบ้าน ดาวยกมืออาสาเป็นไกด์อธิบายทุกอย่างที่ลูกทัวร์อย่างผมสงสัยใคร่หาคำตอบและพามาพบผู้สูงอายุที่เธอดูแล ซึ่งนอนอยู่บนเตียงกลางบ้าน ผมยกมือไหว้พร้อมกล่าวทักทายผู้อาวุโส
“…” ไม่มีสัญญาณตอบรับจากเลขหมายที่ผมเรียก
“อากงหลับอยู่ค่ะ” ดาวส่งเสียงแทน พลางเอื้อมมือหยิบผ้าลายสกอตห่มท่อนล่างให้อากง
ผู้ดูแลฯ เช่นดาวที่ต้องอยู่บ้านหลังเดียวกับผู้สูงอายุตลอด ๒๔ ชั่วโมงมักเจอปัญหาก๊อกน้ำตาไหลง่ายเป็นพิเศษ อาทิตย์แรกถือเป็นช่วงวัดใจ คุณเข้าใจไหม เจอสภาพแวดล้อมใหม่ อากาศใหม่ ห้องนอนใหม่ หรือสรุปคำเดียวคือต่างถิ่น ภาวะเช่นนี้ศัพท์อย่างฝรั่งเขาเรียก homesick
“เริ่มจากทดลองดูแลอากงอยู่ ๔-๕ วัน มาอาศัยอยู่บ้านเขาตลอด ๒๔ ชั่วโมง กังวลมาก ช่วงอาทิตย์แรกร้องไห้ทุกวัน” ดาวเล่าย้อนและเสริมต่อ “พอเริ่มปรับตัวได้ก็สบายแล้ว”
ไกด์ทัวร์อธิบายถึงความเป็นมาของชายชราว่าอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้คนเดียวประมาณ ๔๐ ปี นับตั้งแต่ภรรยาเสียชีวิต ลูกหลานชักชวนให้ย้ายไปอยู่ด้วยกันก็ปฏิเสธทุกครั้ง แม้เกิดอุบัติเหตุหกล้มสะโพกหักกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็ยังยืนยันคำตอบเดิม
ถึงตรงนี้คุณอยากยกมือยิงคำถามไหม เหตุใดจึงไม่มีลูกหลานมาดูแล บิดาผู้ให้กำเนิดก็ทิ้งได้ลงคอจริง ๆ หรือ การกระทำเช่นนี้อาจหมายถึงอกตัญญูในพจนานุกรมสังคมไทยหรือไม่
ผู้ดูแลผู้สูงอายุในกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงต้องผ่านการอบรม ตามหลักสูตรที่กฎหมายรับรองและขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
ผมพอทราบอยู่บ้างว่าเมื่อถึงคราวโชคร้าย อากงกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ลูกทั้งสองตัดสินใจว่าจ้างผู้ดูแลฯ มาอยู่ดูแลตลอด ๒๔ ชั่วโมงอย่างไม่ลังเล
ผมกองคำถามไว้ตรงนี้ การดูแลพ่อแม่ในลักษณะนี้ควรเรียกว่าอกตัญญูไหม ถ้าใช่ มีเหตุผลกลใด จงอภิปราย
ไกด์หญิงเริ่มเล่าว่าชีวิตประจำวันของเธอแทบไม่มีสิ่งใดหวือหวา ทุกกิจกรรมเกิดขึ้นซ้ำจนเป็นแพตเทิร์น “ตื่นนอนตอน ๗ โมงเช้า เมื่อจัดการธุระของเราเสร็จก็ไปเช็ดตัวให้เขาตั้งแต่หัวจดเท้า พลิกตัว เทอึ ฉี่ ป้อนข้าว น้ำ ยา พอเขาหลับเราก็ทำความสะอาดบ้าน”
กิจวัตรประจำวันของดาวพอจะสะท้อนให้เห็นว่าอาชีพดูแลผู้สูงอายุนั้นเรียกร้องความรับผิดชอบสูง ว่ากันในแง่การทำงาน จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ดูแลบริบาลผู้สูงอายุแบบขอไปที หรือมีเพื่อนชวนกันออกไปเสพราตรีแล้วทิ้งผู้สูงอายุไว้เพียงลำพัง ใครหรือจะรู้ แต่ที่เล่าไปเมื่อครู่ไม่ใช่ผู้ดูแลที่ดีในพจนานุกรมของดาว
“เราดูแลเขาด้วยความรักความเอาใจใส่ เวลาจะออกไปไหนก็บอกเขาตลอด ไปซื้อของ ซื้ออาหาร จริง ๆ ไม่ต้องบอกก็ได้ แต่อยากดูแลเขาให้ดีที่สุด เพราะเรารับจ้างมาเป็นตัวแทนลูกหลานเขาแล้ว”
ผู้ถือดวงประทีป
แห่งความหวัง
เมื่อแดดร่มลมตก อาจเป็นเพราะพระอาทิตย์แอบงีบหลับ การทัวร์หมู่บ้านเฟื่องฟ้าจึงมาถึงการนั่งสูดอากาศที่หน้าบ้าน ท่ามกลางลมเย็น ๆ ต้นไม้ใบหญ้าปลิวไสว ผมชวนดาวคุยต่ออีกว่าเคยถูกความเหงาสะกิดใจบ้างไหม
“ทำงานคนเดียวก็เหงานะ ช่วงเดือนแรก ๆ นี่เกือบไม่รอดเหมือนกัน แต่ก็ปรับตัวได้เร็ว อาจเป็นเพราะชอบสภาพแวดล้อมแบบนี้อยู่แล้ว พอทำมาเรื่อย ๆ มันก็ทำได้ ที่สำคัญคือมีความสุข ไม่ได้รู้สึกลำบากจิตใจเลย” ดาวเล่าด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น แววตาเป็นประกาย
ที่ถามไม่ใช่อะไร แค่วินิจฉัยว่าเธอหมดไฟในการดูแลบ้างหรือเปล่า ภาวะแบบนี้ศัพท์อย่างฝรั่งเขาเรียก care-giver burnout ผมแว่วมาบ้างว่าผู้ดูแลฯ มักถูกผู้สูงอายุก่นด่า แต่ดาวยืนยันว่าเธอสุขภาพกายดี สุขภาพจิตเยี่ยม
“ลูก ๆ อากงพูดขอบคุณทุกครั้งที่มีโอกาส เขาบอกว่ามองเราเป็นเหมือนลูกหลานเลย เรารู้สึกโชคดีมากที่ได้มาดูแลผู้สูงอายุที่นี่” ดาวกล่าวประโยคนี้ด้วยน้ำเสียงปริ่มสุข
ดาว-วฤณดา กุลไพรวรรณ ผู้ดูเเลผู้สูงอายุที่ได้รับการว่าจ้างให้ดูเเลผู้ป่วยติดเตียง วัย ๙๒ ปี ในหมู่บ้านเฟื่องฟ้า ตำบลป่าเเดด อำเภอเมืองเชียงใหม่
เช่นเดียวกับแอร์ แม้ลงพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุในนามอาสาสมัคร ไม่มีเงินตอบแทน แต่ได้รับค่าตอบแทนเป็นคุณค่าทางใจ
“เวลาได้เมล็ดพันธุ์มา เราส่งให้ยายเขียว แกก็ไปขุดหลุม พรวนดิน รดน้ำ เมื่อพืชผลโตยายเขียวก็เดินมาส่งให้ถึงบ้าน เราตอบแทนกันในแง่นี้” แอร์พูดประโยคเมื่อครู่เมื่อวันก่อน
หากว่ากันตามเนื้อผ้า คนอายุ ๗๐ อย่างแอร์จัดเป็นผู้สูงอายุ เลยวัยเกษียณไปแล้วร่วม ๑๐ ปี คิดจะประกอบอาชีพผู้ดูแลฯ ไปถึงเมื่อไรหรือ ผมเคยถามแอร์
“อยากทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว” ดวงตาแอร์เบิกกว้างและเฉลยคำตอบรวดเร็ว ไม่ปล่อยให้ผู้ฟังลุ้นนาน
แล้วไม่รู้หรืออย่างไรว่ากระดูกกระเดี้ยวไม่แข็งแรงเหมือนตอนยังสาว เหตุใดจึงเดินเหินเที่ยวดูแลผู้สูงอายุในชุมชนบ้านใหม่อย่างไม่ลดละ ผมถามแอร์อีกครั้งเมื่อวันก่อน
“…” เธอครุ่นคิดอยู่นาน หรือเธอกำลังค้นลิ้นชักความทรงจำย้อนไปจนพบว่าเหตุอะไรผลักดันให้เธอกลายมาเป็นผู้ดูแลฯ
นอกจากหากิจกรรมเพิ่มสีสันให้ผู้สูงอายุ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน โอ่งไหนตุ่มไหนมียุงลายมาแอบวางไข่ต้องจัดการให้สิ้นซาก บ้านหลังใดหลังคามีรูโบ๋ก็ตามช่างมาเปลี่ยน รวมถึงออกแบบห้องน้ำใหม่ให้สมาชิกในบ้านได้ใช้ร่วมกัน ศัพท์อย่างสถาปนิกเขาเรียก universal design
ผมสวมวิญญาณนักบัญชีผู้ตงฉินตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินดังกล่าว ทราบว่าเงินที่ปันมาให้ผู้ดูแลฯ หรืออาสาสมัครตามชุมชนใช้จ่ายเพื่อผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงผลกำไร ไม่ใช่เงินของพวกคุณหรอก
แนวคิดการดูแลผู้อื่นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทย ผมคนสถาปนึกขอผายมือให้คุณรู้จักผู้ดูแลฯ จากแดนผู้ดีผู้บุกเบิกวิธีดูแลสุขภาวะของผู้ป่วยแบบใหม่ให้โลกรู้จัก สตรีผู้ไว้ผมเรียบร้อย ตวัดหมึกเขียนตำราหลายเล่ม คิดล้ำนำชาวบ้านก็หลายเรื่อง หนำซ้ำยังปฏิวัติวิชาบริบาลด้วยแนวคิดการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ผู้ป่วย อาหารห้ามพร่อง น้ำใช้ต้องสะอาด เสื้อผ้าต้องหมั่นซักล้าง แม้แต่เตียงนอนก็ห้ามสกปรก นามเธอคือ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกิล คนเรียกขานเธอว่าสตรีแห่งดวงประทีป แม้จากโลกนี้ไปแล้ว ๑๑๔ ปี แต่แนวคิดการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ผู้คนยังอยู่ยงคงกระพัน แถมได้รับการพัฒนาร่วมสมัยขึ้นไปตามกาล
โลกมีนางพยาบาลผู้ถือดวงประทีปแห่งความหวังฉันใด ผมแค่คิดเอาเองว่าหมู่บ้านเฟื่องฟ้าและชุมชนบ้านใหม่ต่างก็มี caregiver ผู้มาพร้อมกับดวงประทีปแห่งความหวังฉันนั้นแล
โรงเรียนนครพิงค์อภิบาลกิจ
จังหวัดเชียงใหม่
Too Young to Die
“เราโหยหาอะไรกันบ้างล่ะชีวิตนี้ ปัจจัย ๔ การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ความสุข คนที่เข้าใจ พื้นที่สาธารณะ หรือความภูมิใจในบางสิ่ง ผู้สูงอายุเขาก็ต้องการเหมือนกัน มันเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ” ผมนึกถึงคำกล่าวของเจนวิทย์
ผมใจลอยนึกถึงรายงานที่เคยอ่านผ่านตาเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย เผยแพร่เมื่อปี ๒๕๖๖ สถิติระบุว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน ๑๓,๐๖๔,๙๒๙ คน หรือคิดเป็น ๒๐.๑๗ เปอร์เซ็นต์ของประชากรรวม ซึ่งเข้าข่ายระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society)
ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคาดการณ์ว่า ปี ๒๕๘๓ ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (super-aged society)
แง้มให้อีกหน่อยก็ได้ว่าประเทศไทยมีผู้ดูแลผู้สูงอายุประมาณ ๔ แสนคน และจะเพิ่มเป็น ๑.๓ ล้านคนในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยเขาว่าเอาไว้แบบนี้ คุณลองนับนิ้วดูเล่น ๆ เอาเองแล้วกันว่าผู้ดูแลฯ จำนวนเท่านี้เพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุหรือยัง
เพื่อนผมบั๊ดดี้โฮมแคร์ผลิตผู้ดูแลฯ ได้แค่ ๖๕ คน ให้คนเหล่านี้ไปดูแลผู้สูงอายุในชุมชนสักแห่งคงทั่วถึง แต่หากมองในแง่ระดับเมือง อำเภอ จังหวัด หรือประเทศ เรายังต้องการผู้ดูแลฯ อีกหลายกระบุง
...
นี่คุณ จนถึงตอนนี้มีคำตอบหรือยังว่า
“อีก ๒๐-๓๐ ปีข้างหน้าท่านจะอยู่อย่างไร”
สว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทบั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวผ่านวิดีโอในโลกออนไลน์ที่ผมชวนคุณไปสืบค้น
อ้างอิง
https://catalog.nso.go.th/dataset/os_01_00045
https://icarenursinghome.com/care-giver-คือใคร/
http://www.library.polsci.chula.ac.th/dl/c19d1c613e22b๐๐e97c5a943cfea4a78
https://www.relationshipsnsw.org.au/th/blog/signs-codependent-relationship/
https://www.sethailand.org/resource/buddy-homecare/
https://www.ted.com/talks/sawang_kaewkantha?subtitle=en