Image

“เมื่อวันก่อนพวกเราไปส่งแม่ด้วยกัน ผมไม่รู้หรอกว่าแม่ไปไหน” คิดถึงนะครับแม่ (Missing mummy) หนังสือนิทานภาพ ที่ครอบครัวของกวาง-ปรียนันท์ ศึกษานนท์ ใช้เป็นสื่อบอกเล่าการสูญเสียคุณตาให้ลูกชายฟัง

เพราะชีวิตและความตาย
เล่ากันได้ผ่านหนังสือนิทานภาพ
(สำหรับทุกคน)

“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ

เรื่อง : อารีนุช อุดมผล
ภาพ : พชรภา พิพัฒน์นัดดา

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ อาณาจักรวรรณกรรมอันกว้างใหญ่ 
เรื่องเล่านับร้อยได้รับการร้อยเรียงเป็นตัวอักษรด้วยลีลาทางภาษา เพื่อขับกล่อมเหล่านักเดินทางบนหน้ากระดาษให้เพลิดเพลิน เคลิบเคลิ้ม และครุ่นคิด

เรื่องเล่าไม่ได้เป็นแค่เรื่องราว แต่แฝงด้วย “บางสิ่ง” ให้กลับมาย้อนคิดถึงเสมอ เช่นเดียวกับเมืองเล็ก ๆ ที่หากคุณลัดเลาะไปตามซอกซอยแล้ว คุณจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายแห่งวัยเยาว์ ทว่าเบื้องหลังภาพสีสดใสและเรื่องราวชวนฝันกลับมี “บางสิ่ง” ซ่อนอยู่

ขอต้อนรับคุณสู่ “เมืองหนังสือนิทานภาพ”

Image

“แม่จะอยู่ในใจผมเสมอ” ประโยคทิ้งทวนของหนังสือ คิดถึงนะครับแม่ (Missing mummy) ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นจุดจบการจากลา แต่เป็นจุดเริ่มต้นหลังจากวันที่ไม่มีแม่อยู่อีกแล้ว

เสียงจากเมืองนิทานภาพ 
: มนตร์เสน่ห์ของชีวิตและไร้ชีวิต

เมื่อประตูเมืองเปิดออกก็ได้เวลาโลดแล่นไปกับภาพและตัวอักษร ปกหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กเล่มหนึ่ง เชื้อเชิญคุณให้เปิดอ่านด้วยมนตร์เสน่ห์ของภาพวาดเป็ดสีขาวแสนละมุนชูคอขึ้นตรงสูง ราวกับชี้ให้ผู้อ่านมองขึ้นไปที่ชื่อเรื่องเหนือภาพวาดว่า เป็ด ความตาย และดอกทิวลิป

เป็ดและความตายมีชีวิตและไร้ชีวิต สองสิ่งปรากฏร่วมกัน หน้าแรกแสดงภาพเป็ดสีขาวนวลจากปลายดินสอสีเด่นหราอยู่กลางหน้ากระดาษ มันยืนนิ่งก่อนหันกลับมา เพราะสังเกตได้ว่า “บางสิ่ง” เดินตามติด

“เธอคือใคร ทำไมถึงคอยตามฉันมาตลอด”

โครงกระดูกหัวโตในชุดคลุมจ้องมองเจ้าเป็ด ก่อนจะพูดขึ้นมาว่า

“ในที่สุดเธอก็สังเกตเห็นฉัน สวัสดี ฉันคือความตาย”

ความตายที่ยากจะเข้าใจได้บัดนี้ปรากฏตัวในรูปโครงกระดูกยิ้มกว้างอย่างอ่อนโยนราวกับต้องการกล่าวว่าความตายไม่ได้น่ากลัว เราต่างมีความตายอยู่เคียงข้างเสมอมา และการจากไปเป็นเรื่องธรรมดา ดังประโยคสุดท้ายที่ความตายกล่าวด้วยรอยยิ้มว่า “แต่นี่ก็คือชีวิตละนะ”

เป็ด ความตาย และดอกทิวลิป เป็นหนังสือภาพขายดีที่แปลมาจาก Duck, Death and the Tulip ซึ่งได้รับการยกย่องในวงการวรรณกรรมสำหรับเด็กว่าเป็น “ปรัชญาสายนุ่มนวล” (soft philosophical) ด้วยภาพเขียนสีไม้แสนเรียบง่ายและเรื่องราวแสนงดงามประกอบกันเป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารเรื่องละเอียดอ่อน หนังสือเล่มนี้จึงได้รับรางวัลวรรณกรรมเด็กนานาชาติ ALMA (The Astrid Lindgren Memorial Award) ที่มอบให้วรรณกรรมสำหรับเด็กที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก พร้อมกับคำชมเชยถึงผู้เขียนที่ว่า “เก่งมากที่บอกเล่าเรื่องความตายออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ก็อบอุ่น ตลกขบขัน และลุ่มลึกได้ถึงเพียงนี้”

เมื่อความทุกข์ ความเศร้า และความหวาดกลัวต่อความตายไม่อาจเลี่ยงได้ ว็อล์ฟ แอร์ลบรูค นักเขียนชาวเยอรมันผู้เนรมิตเรื่องราวของเป็ด ความตาย และดอกทิวลิป จึงสรรค์สร้างหนังสือนิทานภาพเพื่อสื่อสารถึงเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่เพียงเพื่อสื่อสารกับเด็ก แต่สื่อสารกับนักเดินทางบนหน้ากระดาษทุกคน เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไร ความตายก็พร้อมแวะเวียนมาทักทายได้เสมอ ภาพเขียนจากปลายดินสอสี เรื่องราวชีวิตและความตายจากปลายปากกาจึงไม่ได้ทำงานแต่เพียงกับผู้เยาว์วัย เช่นเดียวกับเมืองแห่งนี้ที่เป็นเมืองสำหรับทุกคน

Image

เมษ์-ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Kidscape มุ่งมั่นขยายพรมแดนหนังสือนิทานภาพไทยให้ไปไกลมากกว่าที่เคย 

เสียงจากหลังประตู Kidscape
: เบื้องหลังของผู้สร้างนิทานภาพ

เมื่อคุณย่างกรายเข้าสู่เมืองนิทานภาพอีกแห่งหนึ่ง เสียงแรกที่คุณจะได้ยินคือเสียงจากหลังประตูสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ลึกเข้าไปในซอยอารีย์สัมพันธ์ ๑ ตึกทรงกลมสีขาวเด่นแปลกตาท้ายซอยคือสัญลักษณ์ว่าคุณมาถึง ทันทีที่ประตูเปิดออกภาพของหนังสือนิทานภาพตระการตาและภาพประกอบก่อนสำเร็จเป็นหนังสือต่างปรากฏสู่สายตาคุณตั้งแต่แรกพบ ที่แห่งนี้คือสำนักพิมพ์ Kidscape

“Kidscape เชื่อในคุณค่าของ ‘หนังสือเด็ก’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่หนังสือ แต่คือเพื่อนคู่คิดในวัยเยาว์ คือกุญแจสู่จินตนาการกว้างไกล คือตัวช่วยบ่มเพาะอุปนิสัย คือสะพานเชื่อมสู่มุมมองหลากหลาย และที่สำคัญ เราเชื่อว่าหนังสือเด็กคือเครื่องมือชั้นดีที่พ่อแม่จะใช้สื่อสารกับลูก เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในประเด็นที่ลึกซึ้งของชีวิต”

เจตนารมณ์ของ Kidscape สำนักพิมพ์หนังสือเด็กในเครือ Bookscape มุ่งนำเสนอประเด็นละเอียดอ่อนผ่านหนังสือนิทานภาพ ผ่านการแปลและจัดทำหนังสือนิทานสำหรับเด็กในประเด็นหลากหลาย ด้วยความตั้งใจที่ว่า Creating a “scape” that truly let “kids” live and learn in
their own ways. เมื่อเรื่องราวในสังคมมีเรื่องละเอียดอ่อน
มากกว่าเพียงแค่เรื่องทั่ว ๆ ไป เมืองนิทานภาพจึงเป็นพื้นที่นำเสนอออกมาได้อย่างแยบยล หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องราวชีวิต ความตาย และการสูญเสีย 

“จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราตาย”

ประโยคแรกของหนังสือนิทานเรื่อง ความตายของเจ้าหนอนผีเสื้อ (A Morte Da Lagarta) ที่จัดทำฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Kidscape แปลโดย ศรัณย์พร เอกมั่นคงไพศาล จากต้นฉบับภาษาโปรตุเกสโดยคณะโคเลชีโว ซาบีชีโญ (Coletivo Sabichinho) ว่าด้วยเรื่องราวของหมู่แมลงที่ต้องเผชิญความสูญเสีย

วันหนึ่งหนอนผีเสื้อหลับใหลชั่วนิรันดร์ เหล่าเพื่อนมดแมลงจึงนึกสงสัย หากตายไปจะเป็นเช่นไรหนอ บ้างก็ว่าจะกลายเป็นดิน จะกลายเป็นดาว เพราะความตายเป็นเรื่องลึกลับ คำตอบดังกล่าวจึงเป็นปริศนาต่อไป  ทว่าแม้เจ้าหนอนผีเสื้อจะจากไปแล้ว แต่บางสิ่งนั้นกลับไม่เหมือนเดิม ร่องรอยการเคยมีอยู่ยังคงแจ่มชัด เช่นเดียวกับเส้นร่างสีเขียวบนหน้ากระดาษแทนความคิดถึงที่ยังคงไม่จางหาย เหล่าเพื่อนมดแมลงบ้างก็ใจสลาย บ้างก็เกรี้ยวโกรธ ภาพของหมู่แมลงบัดนี้จึงเต็มไปด้วยเขม่าควันสีดำเข้ม ก่อนการปลอบประโลมจากกาลเวลาจะสลายกลุ่มควันไปอย่างช้า ๆ เช่นเดียวกับความรู้สึกโศกเศร้าที่จะแปรเป็นอื่นในท้ายที่สุด ดังประโยคสุดท้ายของหนังสือที่ว่า

“ถึงแม้ความเจ็บปวดจะไม่มีวันเลือนหาย แต่สักวันหนึ่งความรู้สึกนั้นจะแปรเปลี่ยนไป”

ไม่ว่าระยะทางจากประเทศโปรตุเกสถึงประเทศไทยจะห่างกันมากเพียงใด สารจากต้นทางก็ถึงปลายทางเป็นที่เรียบร้อย เมื่อความตายเป็นเรื่องสากลและเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิต แต่การเข้าใจและรับมือกับความตายนั้นกลับเป็นเรื่องยากและซับซ้อน ความตายของเจ้าหนอนผีเสื้อ จึงอาศัยภาพสีสันสดใสประกอบเรื่องราวการจากไป เพื่อพาเหล่าแมลงและนักเดินทางบนหน้ากระดาษย้อนกลับมาสำรวจความรู้สึกของตนเองท่ามกลางการสูญเสีย หรือชวนคิดตั้งคำถามว่าจะรับมืออย่างไร หากความตายมาเยือนคนใกล้ตัวโดยไม่รู้ตัว

Image

ความตายของเจ้าหนอนผีเสื้อ (A Morte Da Lagarta) ว่าด้วยเรื่องราวของเหล่าแมลงที่ต้องเผชิญความสูญเสียเจ้าหนอนผีเสื้อเพื่อนรัก มีคำถามตั้งแต่หน้าแรกว่า “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราตาย ?”

“สิ่งที่ดีใจมากที่สุดก็คือเด็ก ๆ เอาไปคิดต่อได้ กลายเป็นบทสนทนาในครอบครัว”

หญิงสาวฉายความคาดหวังผ่านแววตาใต้กรอบแว่นขณะกล่าว เธอคือเมษ์-ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Kidscape และบรรณาธิการ
หนังสือเล่มนี้ ผู้ต้องการนำเสนอนิทานภาพสำหรับเด็กที่ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่จะสนใจ

เมื่อเมืองหนังสือนิทานภาพนำเสนอประเด็นหนึ่งด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องหลากหลายแบบจนแม้แต่ผู้ใหญ่เองต้องประหลาดใจ  จากความตายที่ดูโศกเศร้ากลับเป็นเรื่องราวอ่อนโยนและงดงาม การส่งต่อมนตร์วิเศษของเมืองนิทานภาพสู่ประเทศไทยจึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อเปิดพรมแดนใหม่ ๆ ให้หนังสือเด็กไปไกลมากกว่าเดิม

กว่าจะมาเป็นหนังสือนิทานภาพฉบับภาษาไทยทีมงาน Kidscape ออกสำรวจตลาดหนังสือนิทานภาพของต่างประเทศ โดยเสาะหาประเด็นที่ต้องการจะสื่อสารกับเด็ก ประกอบกับการพิจารณาภาพประกอบ เพราะเส้น สี เรื่องราว คือองค์ประกอบสำคัญ เมื่อค้นพบนิทานที่เป็นดั่งเพชรน้ำงามแล้วจึงประสานงานกับประเทศต้นทางเพื่อรับไฟล์รูปเล่มมาจัดทำ จากนั้นจึงถึงกระบวนการสำคัญคือการแปล ตรวจรายละเอียด และคิดชื่อเรื่องพร้อมคำโปรย เมื่อถึงขั้นตอนนี้ไฟล์ดิจิทัลก็กลายเป็นนิทานบนหน้ากระดาษพร้อมส่งต่อเรื่องราวชีวิต ความตาย และการสูญเสียสู่สายตาสาธารณะ

ทว่ากว่านิทานเล่มนี้จะพาเหล่านักเดินทางตัวจ้อยออกสำรวจห้วงความคิดได้ตามความปรารถนาของเมษ์ ความกังวลของผู้เป็นพ่อแม่ก็เข้ามาแทรกอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อความตายดูเป็นเรื่องโศกเศร้าเกินกว่าเด็กจะรับไหวพ่อแม่หลาย ๆ คนจึงเลือกเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้ให้ห่างและเลือกหนังสือนิทานภาพเล่มอื่น ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวแสนสนุกสร้างเสียงหัวเราะได้มากกว่าแทน

การขายหนังสือนิทานภาพที่พูดถึงเรื่องความตายต้องเผชิญความท้าทายไม่น้อย แต่เมษ์และ Kidscape ต่างก็เชื่อมั่นในการนำเสนอนิทานเหล่านี้ต่อไป เพื่อเพิ่มพื้นที่พูดคุยในหนังสือนิทานภาพให้หลากหลายกว่าที่เคย

“ถ้าเกิดยอดขายไม่ดีแล้วเราไม่ทำ มันก็จะไม่มีไปเรื่อย ๆ Kidscape เชื่อว่าเด็ก ๆ มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องนี้ ผู้ใหญ่ไม่ควรตีกรอบว่ายากไป จริง ๆ การรับรู้ตั้งแต่เด็กทำให้เขาเข้าใจสังคมได้ดีกว่า เหมือนทำให้เห็นว่าเรื่องนี้พูดกันได้นะ ยิ่งพูดเร็วจะดีกว่าด้วย แทนที่จะดูแลให้เขาอยู่แค่ในโลกที่ไม่ซับซ้อน แต่พอเจอจริง ๆ แล้วจะรับมือไหวไหม”

นิทานภาพเป็นสื่อหนึ่งที่อยู่เคียงคู่ผู้คนทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าสื่อในยุคดิจิทัลจะเข้ามามีอิทธิพลมากเพียงใด ประสบการณ์ที่คุณหรือใคร ๆ จะได้รับก็ไม่อาจหาได้จากสื่อชนิดอื่น ๆ ทั้งการสัมผัสกระดาษยามพลิกหน้า หรือสัมผัสความงามของภาพประกอบ “หนังสือเป็นสื่อที่ช้า จริง ๆ ถือเป็นเสน่ห์ของมันนะ ทำให้เราได้คิดย้อนดูอะไรต่าง ๆ”

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง กระบวนการทำงานของนิทานภาพจึงไม่ได้จำกัดแต่เพียงการอ่านอีกต่อไป แต่ต่อยอดเป็นกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้อีกมากมาย เช่น เดียวกับกิจกรรมวิชาชีวิต Life talk on stage และกิจกรรม Workshop เล่านิทาน อ่านชีวิต โดยเบิร์ด-นีลชา เฟื่องฟู-เกียรติ ผู้หยิบยกนิทานภาพมาเล่าใหม่ด้วยกระบวนการละคร

Image

การเล่านิทาน แมวน้อย ๑๐๐ หมื่นชาติ ของ “เบิร์ด คิดแจ่ม” ผู้เนรมิตนิทานบนกระดาษเป็นละครบนเวที

เสียงจากกลางเวทีคณะคิดแจ่ม 
: เบื้องหลังของผู้เล่านิทานภาพ

หากคุณผ่านประตูเมืองนิทานภาพเข้ามาแล้ว คุณอาจพบเข้ากับมนตร์เสน่ห์มากมาย ทว่าต่อจากนี้คุณจะพบกับมนตร์วิเศษของนิทานภาพอีกหนึ่งประการ เมื่อเรื่องราวจากหน้ากระดาษฉายผ่านเวทีละคร

ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๗

เก้าอี้นับร้อยห้อมล้อมเวทีไว้ราวกับโอบกอดของผู้มาเยือน ไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศไหลเวียนทั่วทั้งห้อง ก่อนไออุ่นจากเสียงปรบมือของเหล่าผู้ชมเป็นสัญญาณต้อนรับหญิงผมซอยสั้นในเสื้อเชิ้ตสีละมุนไม่ต่างจากหนังสือนิทานภาพในมือ เธอคลี่ยิ้มตอบรับเสียงดังกล่าว แสงไฟกลางห้องหรี่ลง เหลือเพียงแสงจากไฟดวงเล็ก ๆ หน้าเวที พร้อมฉายภาพวาดสีน้ำของแมวน้อยลายเสือ ดวงตาฉายแววแข็งขัน ขณะแสยะเขี้ยวเล็ก ๆ ราวกับยิ้มทักทายผู้สบตา

“แมวน้อยร้อยหมื่นชาติ” เสียงนุ่มนวลของผู้เล่าบอกชื่อเรื่องดังขึ้นขับกล่อม

“แมวตัวหนึ่งมีชีวิตอยู่ถึงร้อยหมื่นปี เคยตายมาแล้วร้อยหมื่นครั้ง เคยเกิดมาแล้วร้อยหมื่นชาติ คนร้อยหมื่นคนเคยเลี้ยงดูแมวตัวนี้และร้องไห้เมื่อแมวตัวนี้ตาย แต่แมวน้อยไม่เคยร้องไห้เลยแม้แต่ครั้งเดียว”

เสียงเพลงประกอบดังขึ้นเป็นจังหวะ เรื่องราวของแมวน้อยเริ่มต้นขึ้น…

ชาติที่ ๑ แมวน้อยเป็นแมวของพระราชา ทุกครั้งที่พระราชาออกรบแมวน้อยจะเป็นเพื่อนร่วมทางเสมอวันหนึ่งแมวน้อยกลับถูกลูกธนูของศัตรูยิงตาย พระราชาร้องไห้ร้อยหมื่นครั้ง แต่แมวน้อยกลับไม่เคยร้องไห้สักครั้งเดียว

ชาติที่ ๒ ๓ ๔ ผ่านไป แมวน้อยเกิดและตายอีกหลายครั้ง เจ้าของแมวน้อยเสียใจอีกหลายหน แต่แมวน้อยก็ยังคงไม่เคยเสียน้ำตาให้กับใคร

จนกระทั่งชาติหนึ่งเมื่อแมวน้อยเกิดเป็นแมวจรและได้พบกับแมวขาว เป็นครั้งแรกที่แมวน้อยตกหลุมรัก ปรารถนาจะใช้ชีวิตกับแมวขาวตลอดไป แต่แมวขาวกลับชราลงเรื่อย ๆ แล้ววันหนึ่งแมวขาวก็จากไป ในวันนั้นแมวน้อยเสียใจและร้องไห้เป็นครั้งแรก

แมวน้อยร้องไห้ร้อยหมื่นครั้ง จนถึงเที่ยงวันของอีกวันแมวน้อยก็เลิกร้องไห้และไม่กลับมาเกิดอีก

เศษความรักฉันลอยเกลื่อน ในห้วงยามสุญญากาศ เธอเข้ามาเพื่อจะเก็บกวาดหรือเปล่า ไม่รู้

เสียงเพลงดังขึ้นประกอบกับภาพเรื่องราวของแมวน้อยตลอดทุกภพชาติ พาผู้ชมท่องไปกับเรื่องราวชีวิต ความรัก และความตายของแมวน้อย หรือแม้แต่ย้อนรอยความรู้สึกที่เกิดขึ้นของผู้ชมเองก็ตาม จากเพียงศิลปะของหนังสือนิทานภาพกลับผนวกรวมกับศาสตร์ของการละคร เกิดเป็นศิลปะรูปแบบใหม่ด้วยฝีมือของนักเล่านิทานหญิงผู้มาพร้อมกับรอยยิ้มและน้ำเสียงใสชวนฟังอย่างเบิร์ด-นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ หรือ “เบิร์ด คิดแจ่ม”

Image

“ความตายนี่แหละคือการพักผ่อน ไม่ได้น่ากลัว” หนึ่งในความคิดเห็นหลังจบกิจกรรม “Workshop เล่านิทาน อ่านชีวิต”

“ศิลปะรับใช้พวกเรา ทำให้เราได้เรียนรู้” คือข้อค้นพบของเธอเมื่อศิลปะไม่ใช่เพียงความงาม แต่เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ของผู้คน

เบิร์ดโตมาจากการเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ ๑๗ ในกลุ่มละครมะขามป้อมหรือมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เวทีแรกของเธอคือสวนลุมพินีและสนามหลวงในรูปแบบของละครเร่ ก่อนเธอจะริเริ่มทำกลุ่มละคร “คิดแจ่ม” ในช่วง ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ เพื่อผลิตงานสร้างสรรค์และเป็นพื้นที่ให้ครอบครัวมาวิ่งเล่น 

ช่วงแรกเธอสร้างสรรค์ละครเด็กโดยอาศัยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกับครอบครัว ก่อนจะพบว่าเรื่องราวจากนิทานภาพไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กเท่านั้น เธอจึงเริ่มตกหลุมรักนิทานภาพ หาอ่านตามห้องสมุดบ้าง ร้านหนังสือบ้าง จากเพียงนักอ่านนิทานแปรเปลี่ยนไปสู่นักเล่านิทาน โดยอาศัยเครื่องมือทางการละคร เช่น reader theaters หรือ play reading สร้างสรรค์การแสดงจากหนังสือนิทานภาพเพื่อสื่อสารกับครอบครัวและให้พื้นที่ครอบครัวได้กลับมาสนทนากันอีกครั้ง

หนังสือนิทานภาพ แมวน้อย ๑๐๐ หมื่นชาติ สร้างความประทับใจจนเธออยากส่งต่อเรื่องราว เล่าให้ใครต่อใครได้ฟัง

“ตอนแรกที่อ่านแล้วไม่สามารถหยุดร้องไห้ได้ รู้สึกประทับใจมาก ศิลปะมันทำงานกับเรา ทั้งภาพวาด ทั้งเรื่องราว มันไม่ได้เค้นให้คนอ่านร้องไห้ แต่เราร้องไห้เอง”

จากความประทับใจในหนังสือนิทานจึงนำไปสู่การดัดแปลงเป็นการแสดงบนเวที ภาพเขียนสีน้ำแสนละมุน เรื่องราวความรักและความตายแสนงดงามคงความเรียบง่ายที่สุดไว้ตามต้นฉบับ แต่เสริมมนตร์วิเศษด้วยการใช้ “เสียง” ไม่ว่าจะเป็นเสียงประกอบ เพลงประกอบ หรือแม้แต่ความเงียบ

“อย่างวันนี้บนเวทีเราก็ไม่ได้เล่านิทานอย่างเดียว แม้ว่าบทจะใช้ตามหนังสือ แต่ก็พูดคุยเพิ่มเติม ใช้เสียงเพลงประกอบ ใช้ความเงียบให้มีความหมาย เป็นการออกแบบการแสดงอย่างหนึ่ง จะเห็นได้ว่ามีช่วงของการสื่อสารรับส่งกับคนดู เพราะฉะนั้นการเล่าเรื่องแมวน้อยแต่ละครั้งถึงจะบทเดิม คิวเดิม แต่ปฏิกิริยาของคนดูจะไม่เหมือนเดิม”

แต่ละรอบการแสดงผู้ชมบางคนเสียใจต่อการจากไปของแมวน้อย บ้างก็ยินดีที่แมวน้อยจากไปอย่างเป็นสุข นอกจากความสนุกจากการแสดงแล้ว การเปิดพื้นที่นำเสนอนิทานภาพประเด็นความตายยังชวนผู้อ่านหรือผู้ชมย้อนรอยความรู้สึกของตนเอง หรือแม้แต่กลับมาพูดคุยในเรื่องที่ไม่เคยพูดคุยกันมาก่อน

“หนูอ่านเรื่องนี้แล้วไม่ค่อยชอบเลย มีเด็กคนหนึ่งเลี้ยงแมวน้อยแล้วเชือกสะพายกระเป๋ารัดคอแมวน้อยจนตาย” เด็กหญิงท่าทางสดใสแสดงความคิดเห็นขณะร่วมกิจกรรม Workshop เล่านิทาน อ่านชีวิต กิจกรรมที่จะพาเหล่านักอ่านวัย ๑๒-๑๖ ปีออกสำรวจเรื่องราวชีวิตและความตายผ่านนิทานภาพ

เมื่อความตายสำหรับวัยรุ่นยังคงอยู่ห่างไกล นิทานภาพจึงเป็นเสมือนวัคซีนที่จะพาผู้อ่านทำความรู้จักกับความตายเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นความตายของตัวเราเองหรือความตายของคนใกล้ชิดก็ตาม

นิทานเกี่ยวกับความตายเป็นเครื่องมือที่ใช้พูดคุยกับทุกคนได้

เสียงจากหลังประตูบ้านนักอ่าน 
: เบื้องหลังของผู้อ่านนิทานภาพ

“เรากับลูกอ่านเรื่องนี้แล้วร้องไห้เลย”

กระแสลมยามบ่ายพัดปอยผมของ ปรียนันท์ ศึกษานนท์ หรือ “กวาง” จนเผยให้เห็นแววตาขณะย้อนความหลัง คุณแม่ฟูลไทม์ผู้รักการอ่านกล่าวขณะชี้ไปที่หน้าปกหนังสือเล่มหนึ่ง ภาพสีสดใสและหมู่สัตว์มากมายคือสิ่งแรกที่เตะตาใครต่อใคร ทว่าหากจับจ้องไปที่ดวงตาของหมู่สัตว์ สิ่งที่จะเห็นนอกจากความสดใสก็คือหยดน้ำตาที่ซ่อนอยู่ คุณตาจ๋า ลาก่อน คือชื่อของหนังสือเล่มนี้

การเข้าสู่เมืองหนังสือนิทานภาพของกวางเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอมีลูกและได้พบกับบทความเลี้ยงลูกอย่างสั้นภายใน ๔ นาที โดย นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่อธิบายการเลี้ยงลูกด้วยคำเพียงสามคำคือ อ่าน เล่น และทำงาน

เธอเลือก “อ่าน” นิทานภาพ ถึงแม้ว่าสื่อออนไลน์จะเข้ามามีอิทธิพลมากมาย แต่เธอก็ยังคงเชื่อมั่นในสื่อตามวัย หนังสือนิทานภาพจึงเป็นสื่อชนิดแรกที่เธอเลือกให้แก่ลูกชายเช่นเดียวกับหนทางการเป็นนักอ่านที่เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน แว่นกรอบหนาของ “เพนกวิน” เป็นหลักฐานชั้นดีของการเป็นยอดนักอ่าน

“เราก็เลือกตามที่ชอบก่อนแล้วคิดว่าเหมาะกับเขา พอเขาเริ่มโตขึ้นแล้วรู้ว่าตัวเองชอบอะไร เราก็ให้เขาเป็นคนเลือกเอง สื่อที่บ้านเราจะค่อย ๆ ไป เพราะเชื่อว่าถึงเวลาเขาจะได้ใช้และสักวันเขาจะทันเพื่อนเอง”

ห้องสมุดเป็นสถานที่หนึ่งให้เธอและลูกชายวัยซนได้เปิดประตูเข้าสู่เมืองนิทานภาพ ดำดิ่งไปกับบรรยากาศของเรื่องราวพร้อมภาพประกอบ และค้นพบมนตร์เสน่ห์ตลอดการเดินทาง เมื่อภาพสีสันสดใสล้วนผ่านการสรรค์สร้างมาเป็นอย่างดี ยามนักเดินทางบนหน้ากระดาษตัวน้อยกวาดสายตาไปทั่วหน้ากระดาษและพินิจสิ่งที่ผู้เขียนซ่อนเอาไว้จึงได้ค้นพบกับรายละเอียดบางอย่างที่ผู้ใหญ่ก็ไม่อาจสังเกตเห็น

“สมัยเราเด็ก ๆ เรานึกไม่ออกเลยนะว่าเคยอ่านหนังสือนิทานเกี่ยวกับความตาย”

คุณแม่ยอดนักอ่านย้อนรำลึกถึงวันวานเมื่อตนยังเป็นเด็กหญิง นิทานยังคงบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันมากกว่าเรื่องราวละเอียดอ่อน แต่ในวันที่เธอเป็นแม่ หนังสือนิทานภาพเล่าเรื่องราวด้วยประเด็นหลากหลายมากขึ้น อย่างประเด็นเรื่องความตายที่เปิดพื้นที่ให้กวางและลูกชายร่วมตั้งคำถาม พูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลังอ่าน หนังสือ คุณปู่ หลังความตายเป็นอย่างไรกันนะ ?, คิดถึงนะครับแม่ หรือ คุณตาจ๋า ลาก่อน

ในเล่มหลังสุดกล่าวถึงหมีน้อยที่รอคอยคุณตามาตกปลาด้วยกัน แต่แล้ววันหนึ่งคุณตาเสียชีวิต แม้หมีน้อยพยายามจะปลุกคุณตาเท่าไร คุณตาก็ไม่ยอมตื่น หมีน้อยจึงเข้าใจได้ว่า “คุณตาตายแล้ว” คุณช้างและกุ๊กไก่จึงชวนหมีน้อยไปบอกลาคุณตาด้วยกันพร้อมรูปวาดและช่อดอกไม้ ความรู้สึกขณะนั้นเต็มไปด้วยความแปลก ความเศร้า และความตื่นเต้น ทั้งสามนั่งล้อมรอบกองไฟผลัดกันเล่าเรื่องคุณตา หมีน้อยร้องไห้ ร้องแล้วร้องอีก แต่ในครั้งนี้กลับต่างออกไป เมื่อ “เขาเศร้าแต่ก็มีความสุขด้วย เพราะเข้าใจแล้วว่าเพียงหลับตา คุณตาก็จะอยู่กับเขาตลอดไป”

Image

เด็กชายผู้เคยจมอยู่กับความเศร้าในงานศพคุณตา ขณะนี้เรื่องราวบทใหม่ของเขากำลังเริ่มต้นขึ้น

“จริง ๆ ก็ไม่ได้มีอะไร จนมาเจอเหตุการณ์คุณตาเสีย”

เหตุการณ์ในวันนั้นยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของกวาง วินาทีที่เธอทราบข่าวราวกับว่าโลกหยุดหมุนไปชั่วขณะ พ่อผู้เคารพรักบัดนี้จากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน เพียงเสี้ยววินาทีหัวใจของพ่อก็หยุดเต้นโดยไร้สัญญาณเตือนล่วงหน้า ไม่มีใครได้บอกลาแม้แต่ภรรยาที่นั่งอยู่ถัดไป หรือลูกสาวอย่างกวางเองก็ตาม สารพัดความรู้สึกประดังประเดเข้ามา ทั้งความเศร้าและความสับสน เมื่อสิ่งที่ประสบยากเกินกว่าจะเชื่อได้

พิธีศพจัดขึ้นไม่กี่วันตามมาเพื่อบอกลาชายชราเป็นครั้งสุดท้ายพร้อมร้อยเรียงเรื่องราวของผู้จากไปผ่านหนังสืองานศพ เด็กชายเพนกวินหนึ่งในผู้อ่านจึงรับรู้ได้ว่าคุณตาไม่อยู่แล้ว น้ำตาของเด็กชายไหลรินเป็นสาย เขาร้องไห้ ร้องแล้วร้องอีกไม่ต่างจากหมีน้อย เพราะเข้าใจแล้วว่าคุณตาจะไม่มีทางกลับมา

“ล่าสุดไปอ่านเล่มนี้กันที่ห้องสมุด เรายังร้องไห้เลย เราก็ให้เขาอ่านเพื่อสะท้อนอารมณ์ว่ามันก็รู้สึกแบบนี้แหละ”

มนตร์วิเศษของนิทานภาพจึงไม่ใช่เพียงการบอกกล่าวให้เข้าใจว่าความตายคืออะไร แต่ยังคงเป็นพื้นที่สำรวจความรู้สึกเมื่อสูญเสียใครบางคน ว่าความเศร้าที่เกิดขึ้นนั้นไม่จำเป็นต้องรีบ เพราะความรักความผูกพันที่แน่นแฟ้น เราจึงเสียใจหากคนคนนั้นจากไป

การร้องไห้ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่ชะล้างความโศกเศร้า มนุษย์ทุกคนล้วนแต่ต้องเผชิญกับความโศกเศร้าหลังการตายของบุคคลที่รัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปชีวิตก็จะเริ่มต้นขึ้นใหม่ได้อีกครั้งโดยไม่จมกับความเศร้านานจนเกินไป ดังประโยคสุดท้ายในหนังสือ คุณตาจ๋า ลาก่อน ที่ว่า “ไปตกปลากันเถอะ”

เด็กชายวัย ๘ ขวบในวันนี้จึงเปี่ยมล้นด้วยความสดใส มีคุณตาอยู่ในความทรงจำและดวงใจเสมอมา แม้ว่าความตายจะเป็นความโศกเศร้าที่พรากคนใกล้ชิดไปจากเขา แต่เมื่อเด็กชายได้ร้องไห้ตามความรู้สึกที่เกิดขึ้น ในวันใดวันหนึ่งความรู้สึกเหล่านี้ก็จะแปรเปลี่ยนไป โดยมีพ่อและแม่อยู่เคียงข้างกายและใจ

“ความตายสำหรับเราคือความสิ้นสุด คือจบ แต่สงบนะ เราไม่ได้รีบให้เขาต้องรู้ตั้งแต่วันนี้ แต่ให้ค่อย ๆ เป็นไป ประสบการณ์ชีวิตจะสอนเขาเอง ยังไงพ่อแม่ก็อยู่ข้าง ๆ เขา
อยู่แล้ว”

ตลอดการเดินทางในเมืองนิทานภาพ คุณจึงอาจพบว่า “บางสิ่ง” ท่ามกลางภาพสีสดใสและเรื่องราวชวนฝัน ไม่ใช่สิ่งใดไกลตัว เมื่อความตายไม่อาจแยกจากมนุษย์ไปได้ ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ไขข้อสงสัยเรื่องความตาย ผ่านการปลอบโยนและบอกกล่าวกับเหล่านักเดินทางบนหน้ากระดาษว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาและความเศร้าไม่ต้องรีบร้อน

นิทานภาพจึงเป็นเสมือนเครื่องมือหนึ่งในการกลับมาทบทวนหรือพูดคุยกันถึงความตาย ท่ามกลางสังคมที่ยังคงมองว่าความตายเป็นเรื่องพูดคุยยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเดินทางตัวจิ๋ว

บัดนี้เมื่อประตูเมืองนิทานภาพเปิดออก กรอบกังวลถึงความตายและความสูญเสียก็ได้เวลาทลายลงอย่างช้า ๆ เพื่อสร้างสังคมที่พูดคุยเรื่องราวเหล่านี้ได้โดยทั่วกัน  

อ้างอิง
อันเดร โรดริเกส, ลาริสซา ริเบย์โร, เปาลา เดสกวลโด และ เปโดร มาร์กุน (เขียน), ศรัณย์พร เอกมั่นคงไพศาล (แปล). (๒๕๖๖). ความตายของเจ้าหนอนผีเสื้อ (A Morte Da Lagarta). กรุงเทพฯ : Kidscape.

Jelleke Rijken, Mack van Gageldonk และ Mack van Gageldonk (เขียน), วิชุดา โอภาสโศภณ (แปล). (๒๕๖๗). คุณตาจ๋า ลาก่อน (Dag opa). กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์คิดดี้. 

เว็บไซต์
ปีติชา คงฤทธิ์. Duck, Death and the Tulip หนังสือนิทานภาพที่สอนเด็กรู้จักความตาย. สืบค้นจาก https://adaymagazine.com/duck-death-and-the-tulip/

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล. ‘Kidscape’ สำนักพิมพ์หนังสือเด็กที่ช่วยเปิดประเด็นทางสังคม พรมแดนใหม่ที่หนังสือเด็ก (แบบไทย ๆ) ยังไปไม่ถึง. สืบค้นจาก https://www.thekommon.co/kidscape/

Image