อเมริกันดรีม-
ฝันเป็นจริงหรือเลื่อนลอย
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
ในสหรัฐอเมริกามีคติความเชื่อเรื่อง “อเมริกันดรีม (American dream)” ที่ว่า สังคมอเมริกันเปิดโอกาสให้คนขยันขันแข็งประสบความสำเร็จได้ มีบ้านใหญ่โต รถยนต์สวยงามราคาแพง มีเงินส่งลูกหลานเรียนในสถาบันดี ๆ และมีเงินเพียงพอให้ใช้หลังเกษียณอย่างสุขสบาย
ความเชื่อทำนองนี้มาจากไหนและเป็นความจริงเพียงใด ?
คำว่า “อเมริกันดรีม” ปรากฏขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๑ โดยนักประวัติศาสตร์ชื่อ เจมส์ ทรูสโลว์ อดัมส์ ใช้สื่อความหมายถึงสังคมที่เปิดกว้างให้คนประสบความสำเร็จได้
เกร็ดที่น่าสนใจก็คือ คำนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๙ โดยตีพิมพ์อยู่ในหนังสือของอดัมส์ที่ชื่อ The Epic of America ซึ่งเกือบจะไม่ได้ตีพิมพ์ เพราะสำนักพิมพ์คิดหนักมากว่านักอ่านจะยอมควักเงิน ๓ ดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อหนังสือ “ขายฝัน” เล่มหนึ่งในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนั้นจริงหรือ !
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคำนี้ได้รับความนิยมและปรากฏอยู่ในนวนิยายขายดีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ราว ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๗๕) หลายเล่ม แต่มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย คือรวมถึงการมีระบบทางการเมืองที่มีสิทธิ์มีเสียงเต็มที่และมีโอกาสร่ำรวยได้แบบแทบไม่มีข้อจำกัดด้วย
มีความพยายามพิสูจน์ว่าอเมริกันดรีมเป็นความจริงหรือแค่ความเชื่อเลื่อนลอยมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจใหญ่ทั่วประเทศใน ค.ศ. ๑๙๖๐ ที่ครอบคลุมเรื่องบุคลิกลักษณะ อุปนิสัย และระดับสติปัญญา รวมถึงฐานะทางเศรษฐกิจของพ่อแม่และปัจจัยอื่นทางสังคมอีกหลายอย่างของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายราว ๘.๑ หมื่นคน เพื่อดูว่านักเรียนที่เรียนดีสามารถถีบตัวเองจากครอบครัวยากจนให้มีฐานะดีขึ้นได้หรือไม่
ข้อมูลเบื้องต้นที่สำรวจในอีก ๑๑ ปีต่อมาชี้ว่า ความสามารถมีส่วนช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของนักเรียนเหล่านั้นจริง เช่น พบว่าเด็กในกลุ่มยากจนที่สุดที่กล้าแสดงออกมีสถานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ได้รับการจ้างงานในตำแหน่งงานดีขึ้น (เช่นการขยับจากเป็นพนักงานไปรษณีย์เป็นเซลส์ขายของ) แต่เด็กจากครอบครัวร่ำรวยที่สุดก็ยังได้เปรียบและใช้เวลาในการศึกษาสั้นกว่าพวกครอบครัวยากจนที่สุดอยู่ดี พวกจนมากกว่าจะจบช้ากว่าอย่างเห็นได้ชัด
หากไม่นำปัจจัยเรื่องสติปัญญามาคิดแล้ว กลุ่มเด็กที่มีความละเอียดรอบคอบมากกว่า แต่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมด้อยกว่า จะได้ประโยชน์มากกว่าในเรื่องโอกาสมีเงินเดือนสูงขึ้น ในขณะที่หากนำเรื่องสติปัญญามาคิดด้วย คุณลักษณะข้างต้นกลับไม่ช่วยคนกลุ่มยากจนเลย
คนที่รวยมาตั้งแต่เกิดจึงได้เปรียบคนขยันขันแข็งหรือกล้าแสดงออก และเด็กยากจนที่มีลักษณะนิสัยดีก็แทบจะ “ไม่สามารถเอาชนะ” พวกลูกคุณหนูได้เลย เด็กฉลาดแต่ยากจนอาจถือว่าเกิดผิดท้องก็ต้องใช้เวลาเรียนมากกว่าเด็กที่ฉลาดน้อยกว่าแต่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดอยู่ดี ผลลัพธ์จึงสรุปได้แบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “คนรวยก็มักจะยิ่งรวยมากขึ้นไปอีก” หรือใช้ “เงินต่อเงิน” คือได้เปรียบกว่ามาก
มีชื่อเรียกปรากฏการณ์นี้อย่างจำเพาะว่าเป็นแมททิวเอฟเฟกต์ (Matthew Effect)
ณ จุดนี้ก็เห็นว่าการสำรวจเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วไม่ได้สนับสนุนเรื่อง “อเมริกันดรีม” สักเท่าไร ความขยันขันแข็งไม่ได้ช่วยเลื่อนสถานะทางเศรษฐ-กิจมากอย่างที่เชื่อกัน
ขยับใกล้เข้ามาอีกหน่อยใน ค.ศ. ๒๐๑๗ มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตีพิมพ์เกี่ยวกับความสามารถเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจของคนในสหรัฐอเมริกาและอีกสี่ประเทศในยุโรป ประกอบด้วยสหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส และสวีเดน
นักวิจัยพบว่ามีคนอเมริกันเชื่อว่ามีโอกาสที่ใครสักคนที่เกิดมาในครอบครัวยากจนติดอันดับ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของคนจนที่สุดในประเทศ เลื่อนอันดับตัวเองขึ้นไปอยู่ในกลุ่ม ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของคนรวยที่สุดในประเทศมากกว่าความเป็นจริงถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ เฉลี่ยแล้วมีคนอเมริกันราว ๑๒ เปอร์เซ็นต์เชื่อในอเมริกันดรีมและเชื่อในการสร้างความมั่งคั่งด้วยลำแข้ง
แต่ความเป็นจริงคือมีคนแค่ราว ๘ เปอร์เซ็นต์ที่ทำเช่นนั้นได้ ย้ำว่ามีคนทำได้จริง แต่ไม่มากและยากกว่าที่เชื่อกัน
กลับกันกับคนสี่ประเทศในยุโรปที่เลือกมาสำรวจที่มองโอกาสเรื่องการขยับฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนฝรั่งเศสที่มีสัดส่วนคนไม่เชื่อมากเป็นพิเศษ ดูท่าค่าครองชีพในฝรั่งเศสที่สูงเป็นพิเศษจะไม่ให้ความหวังกับคนยากจนเท่าไรนัก
ความเชื่อเรื่องอเมริกันดรีมนี้ยังขึ้นอยู่กับความเชื่อทางการเมืองด้วย คือ พวกเสรีนิยมจะเชื่อเรื่องนี้มากกว่าพวกอนุรักษนิยม อคติแบบนี้ทำให้ชาวยุโรปในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษามีแนวโน้มว่าพวกเอียงขวาจะประมาณตัวเลขได้ใกล้ เคียงความจริงมากกว่าเมื่อเทียบกับพวกเอียงซ้าย
เรื่องที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คืออคติแบบเชื่อเรื่องอเมริกันดรีมเข้าเส้นในคนอเมริกันจะเข้มข้นมากในกลุ่มที่เคลื่อนย้ายฐานะทางเศรษฐกิจตัวเองได้ยากที่สุด นั่นคือในรัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงสุด คนกลุ่มนี้ประเมินจำนวนผู้สามารถขยับฐานะได้ผิดเป็นเท่าตัว
อคติการหลอกตัวเองแบบนี้อาจเป็นกลไกป้องกันตัวไม่ให้รู้สึกทุกข์มากจนเกินไปกับความจริงในชีวิต เพราะไม่เช่นนั้นอาจสติแตกจากความสิ้นหวังในชีวิต
ไม่มีใครแน่ใจว่าในอดีตคนอเมริกันเข้าถึง “อเมริกันดรีม” มากกว่าปัจจุบันหรือไม่ เพราะหาข้อมูลมาตรวจสอบและประเมินผลอย่างชัดเจนได้ยาก
เรื่องที่น่าตกใจก็คือประเทศมหาอำนาจอันดับ ๑ ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกากลับมีสถิติที่แสดงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการขาดความสามารถในการเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ไม่แต่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อมูลชี้ว่าความเหลื่อมล้ำในสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้นมาตลอดครึ่งหลังของศตวรรษที่ผ่านมา
ขณะที่คนกลุ่มร่ำรวยมีรายได้ทะยานราวจรวดพุ่งขึ้นท้องฟ้า คนยากจนกลับมีรายได้เพิ่มน้อยมาก แต่คนอเมริกัน ส่วนใหญ่ไม่ตระหนักเรื่องนี้เลย และคนในกลุ่มเสียเปรียบที่สุดก็ยังเชื่ออย่างลม ๆ แล้ง ๆ ว่าตัวเองจะเลื่อนฐานะได้ ถ้าขยันมากพอหรือฉลาดมากพอ
สื่ออเมริกันเองในช่วง ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาก็ดูจะแข่งกันผลิตรายการเรียลิตีที่ตอกย้ำความเชื่อเรื่อง “อเมริกันดรีม” ดังที่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์-บิลต์ชี้ให้เห็นใน ค.ศ. ๒๐๒๒ ว่า การเลือกคนที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้มาออกรายการ ส่งผลกระทบต่อความคิดความเชื่อของสาธารณชนอย่างชัดเจน
เรื่องนโยบายประเทศก็สำคัญ อิทธิพลของคนร่ำรวยทำให้กฎหมายหลายอย่างเช่นกฎหมายภาษีเอื้อประโยชน์ให้คนรวยด้วยกันเอง ขณะที่รัฐใช้เงินพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาสังคมน้อยกว่าที่ควร
อเมริกันดรีมจึงเลื่อนลอยและเป็น “ความฝัน” มากกว่า “ความจริง” มากขึ้นเรื่อย ๆ
รู้เรื่องนี้แล้วมีประโยชน์อะไรกับคนไทย ?
ประเทศไทยดำเนินโครงการมากมายที่เลียนแบบสหรัฐอเมริกาตลอดมา และเราก็อาจกำลังประสบปัญหาแบบเดียวกันอย่างไม่รู้ตัว คนไทยอาจมีความฝันลม ๆ แล้ง ๆ อยู่ในขณะนี้
การตรวจสอบให้รู้แน่ชัดและแก้ไขให้ทันท่วงทีจึงสำคัญมาก