พลังแห่งการขอบคุณ

Holistic

เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe

งานวิจัยและหนังสือเกี่ยวกับความสุขบอกว่า การขอบคุณหรือการรู้คุณและความสุขล้วนเชื่อมโยงกัน การขอบคุณช่วยให้เราเห็นว่าไม่ใช่ทุกเรื่องในชีวิตจะแย่ แต่ยังมีสิ่งดี ๆ อีกมากมายที่เราเอ่ยปากขอบคุณได้

อย่างน้อยหากเรามีใจเปิดใจกว้างเมื่อลืมตาขึ้นจะเห็นว่าแสงแดดยามเช้านั้นอบอุ่นและสวยงาม อากาศสดชื่น เย็นสบาย หรือแม้แต่เสียงนกร้องก็เพราะเสนาะหู นักจิตวิทยาและนักพัฒนาตัวเอง จึงมักแนะนำให้เราเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการขอบคุณสรรพสิ่งรอบตัว

การขอบคุณจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ทำมีความสุขแบบฉับพลันทันที เพราะเกิดจากจิตใจที่ปรารถนาให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงสิ่งดี ๆ ที่เรามองเห็นในตัวเขา

งานวิจัยชิ้นหนึ่งให้ผู้เข้าร่วมการทดลองคิดถึงสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองวันละสามอย่าง  ผ่านไป ๖ เดือนพบว่าคนคนนั้นชื่นชมผู้อื่นได้ง่ายขึ้น มีความสุขมากขึ้น และอาการซึมเศร้าลดลง

อธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้ว่าเมื่อเราโกรธแค้น เครียด หรือมีอารมณ์เชิงลบ สมองจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด อวัยวะภายในร่างกายจะทำงานหนักกว่าปรกติ เป็นที่มาของโรคมากมาย แต่เมื่อเราขอบคุณหรือชื่นชมใคร สมองจะหลั่งฮอร์โมนความสุข ทำให้ร่างกายผ่อนคลายและมีภาวะใจเบา

การขอบคุณหรือชื่นชมยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย เมื่อเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสพูดจาดีต่อกัน เรามักรู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย เรียกว่าบรรยากาศหรือ vibes ดี ซึ่งทางวิทยาศาสตร์บอกว่ามีพลังงานบางอย่างอยู่ในบรรยากาศนั้น

ในประเทศญี่ปุ่นมีผู้ทดลองพูดคำดี ๆ กับน้ำจากแหล่งต่าง ๆ และนำผลึกน้ำมาตรวจ พบว่าผลึกน้ำมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป หาอ่านได้ในหนังสือ The Hidden Messages in Water (“สารที่ซ่อนอยู่ในผลึกน้ำ”) โดยพบว่าน้ำที่ผ่านคำพูดเช่น “ฉันรักเธอ” จะมีผลึกสวยงาม ส่วนน้ำที่ผ่านคำด่าทอว่า “ไอ้โง่” จะมีผลึกอีกแบบ นอกจากนี้ยังทดลองสวดมนต์ให้น้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสีย พบว่าผลึกน้ำเปลี่ยนเป็นผลึกที่สวยงาม

ผู้ทดลองอธิบายว่าคำพูดของเรามีพลังงานในลักษณะของคลื่นความถี่ ขณะที่ร่างกายประกอบด้วยน้ำมากกว่าร้อยละ ๗๐ เราจึงรับสารผ่านคลื่นความถี่จากคำพูดได้ เช่นเดียวกับคลื่นความถี่ของคำพูดที่ส่งผลต่อผลึกน้ำเหล่านั้น ดังเช่นกรณีทดลองปลูกผักบุ้งโดยรดน้ำธรรมดาเปรียบเทียบกับรดน้ำที่ผ่านบทสวดมนต์หรือเสียงเพลง พบว่าผักบุ้งที่รดด้วยน้ำที่ผ่านเสียงเพลงและบทสวดมนต์เติบโตเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้ทำงานเรื่องความยืดหยุ่นทางอารมณ์หรือ emotional resilience ซึ่งเป็นภาวะที่เราสามารถฟื้นคืนจากอารมณ์ย่ำแย่ได้ดี เหมือนลูกบอลเมื่อถูกกดเป็นรอยบุ๋มแล้วกลับสู่สภาพเดิมได้ บอกว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนเรามีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ดีคือการ “รู้คุณ” และ “เห็นคุณค่า” ของสิ่งที่เราได้รับ

เมื่อการขอบคุณและชื่นชมส่งผลดี ทั้งต่อผู้รับ ผู้ให้ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเช่นนี้ จึงควรจะฝึกทำทุก ๆ วัน  

เติมพลังชีวิตการขอบคุณ

หลักสูตรความสุขของมหาวิทยาลัยเยลแนะนำให้สร้างความสุขด้วยการฝึกซึมซับประสบการณ์จากกิจกรรมง่าย ๆ เช่นอาบน้ำ กินข้าว ออกกำลังกาย ฯลฯ โดยทำทีละอย่าง นาน
๑ สัปดาห์ และทำกิจกรรมสำนึกขอบคุณวันละห้าเรื่อง ด้วยวิธีการใคร่ครวญแล้วจดบันทึก ตัวอย่างเช่น

• คิดถึงสิ่งใดก็ตามที่อยากขอบคุณ เช่น พระอาทิตย์ขึ้นสวยมากเมื่อเช้านี้ อาหารอร่อย ๆ คนแปลกหน้ายิ้มให้ เสียงหัวเราะของเด็ก หรือกว่าฉันจะมายืนอยู่ตรงจุดนี้ มีใครทำอะไรให้ฉันบ้าง จากนั้นพูด “ขอบคุณ” ดัง ๆ พูดในใจ หรือจดบันทึก

• สังเกตกายใจตัวเอง เมื่อรู้สึกขอบคุณ ร่างกายตอบสนองเช่นใด สังเกตเห็นอารมณ์และความคิดของตัวเองไหม และเปลี่ยนมุมมองเราอย่างไร

• เขียนบันทึกขอบคุณ บันทึกขอบคุณเป็นเครื่องมือฝึกสร้างความรู้สึกตัวและทัศนคติเชิงบวกอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ลองเลือกบันทึกประจำวันตามหัวข้อต่อไปนี้ โดย
กำหนดเวลาจดบันทึกที่ทำได้ทุกวัน เพื่อให้กลายเป็นนิสัยหรือกิจวัตร เช่น ตอนเช้า ก่อนนอน เป็นต้น

ห้าสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นวันนี้ จะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ก็ได้ เช่น ต้นไม้สีเขียวระหว่างเดินมาทำงาน เจ้านายชมในที่ประชุม เป็นต้น

สิบสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณในตอนนี้ เช่น ตัวเอง ผู้คน สัตว์เลี้ยง หรือธรรมชาติ พูดหรือบันทึกว่า “ขอบคุณ” หรือ “ขอบคุณสำหรับ…” หรือ “ขอบคุณที่…” เช่น “ขอบคุณที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของฉัน” “ขอบคุณที่ช่วยให้ฉันผ่านช่วงเวลายาก ๆ ตอนคุณแม่จากไป” เป็นต้น

จดรายการสั้น ๆ ทำให้เรียบง่ายและเฉพาะเจาะจง เช่น ใคร ทำอะไร อย่างไร  วิธีนี้จะช่วยเชื่อมโยงกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตที่เราซาบซึ้งและอยากขอบคุณ