Image

ตายอยู่

จากบรรณาธิการ

เรื่องน่ากลัวและหวาดหวั่นที่สุดในชีวิตก็คือความตาย

ทุกคนรู้ว่าต้องเจอความตายแน่ แต่ไม่มีใครอยากตายถ้าเจ็บป่วย เราก็อยากรักษาเพื่อมีชีวิตให้ยืนยาวที่สุด

การตายเป็นประสบการณ์พิเศษสุด เพราะมีครั้งเดียวลองคิดดูว่าขณะที่ประสบการณ์อื่น ๆ เมื่อผ่านเข้ามาในชีวิต เราสามารถเรียนรู้เพื่อแก้ไขให้เป็นประสบการณ์ที่ทำได้ดียิ่งขึ้น ๆ

แต่การตายไม่ใช่ เราไม่มีโอกาสทำซ้ำ และยิ่งไม่อยากเจอซ้ำ

แล้วในทางการแพทย์ ต้องถึงจุดไหนที่บอกว่านี่คือตายแน่

หนึ่ง หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ  สอง สมองตาย คือสมองหยุดทำงานอย่างถาวร  ข้อหลังนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะสมองควบคุมการทำงานของอวัยวะแทบทุกอย่าง หากสมองไม่ทำงาน ระบบทั้งหมดในร่างกายก็จะค่อย ๆ ปิดสวิตช์ลงในที่สุด

การตายเลยอาจแบ่งได้เป็นสองช่วง คือช่วงแรกที่หัวใจหยุดเต้นหยุดหายใจ เช่น เกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ถ้าได้รับการปฐมพยาบาลทัน เช่น ทำ CPR ปั๊มหัวใจกับผายปอด หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ก็อาจรอดฟื้นกลับมาได้ แต่ถ้าไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ หรือปฐมพยาบาลช้าไป ก็เข้าสู่การตายช่วงที่ ๒ คือเลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง เซลล์สมองจะขาดออกซิเจน และค่อย ๆ ตายไปจนฟื้นคืนไม่ได้

การตายช่วงแรกเรียกว่า “การตายทางคลินิก” (clinical death) ถือว่ายังมีโอกาสรอดถ้าช่วยทัน

Image
Image

หากอยู่ระหว่างการตายช่วง ๒ ที่เซลล์สมองเสียหายไปพอสมควรแล้วกู้ชีวิตฟื้นกลับมาได้ก็อาจอยู่ในภาวะโคม่า คือหลับไม่ตื่น ไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ตกอยู่ในภาวะ “เจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา” ซึ่งถ้าโคม่ายาวนานก็อาจเป็น “การตายทางสังคม” (social death) เพราะไม่สามารถแสดงบทบาทใด ๆ ในสังคม (social death ยังมีความหมายเชิงวัฒนธรรม เช่น การถูกสังคมปฏิเสธ การทำให้ไม่มีตัวตนในสังคม)

เมื่อสมองตาย ระบบอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายก็จะค่อย ๆ
หยุดทำงานอย่างถาวร อุณหภูมิร่างกายลดลง ตัวแข็งทื่อ ซีด และเน่าเปื่อย ถือเป็น “การตายทางชีวภาพ” (biological death)

คือตายแน่ สิ้นสุดชีวิตอย่างแท้จริง โดยไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ใด ๆ ช่วยเหลือได้

ถ้านึกถึงภาวะก่อนจะตายแน่ คือกำลังตายอยู่ ก็อาจน่ากลัวกว่าความตายจริง ๆ เสียอีก เช่น การจมน้ำ ขาดออกซิเจน เราจะเกิดความทุรนทุรายแค่ไหน หรือประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัส จะต้องเจ็บปวดทรมานแค่ไหน ฯลฯ  หลายคนคงเคยคิดเล่น ๆ ว่าถ้าเลือกได้ ขอตายแบบไปเร็ว ๆ หรือตายไปตอนหลับ ถือว่าตายสบาย ตายดีกว่าแบบอื่น

น่าคิดว่าสุดท้ายแล้วเรากลัวความตาย หรือกลัวการตาย

ภาวะระหว่างก้าวสู่ความตาย หรือกำลังตายอยู่ ในคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบต เรียกว่าบาร์โดแห่งความตาย “บาร์โด” หมายถึงภาวะที่อยู่กึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างอดีตกับอนาคต สิ่งนี้กับสิ่งนั้น ซึ่งไม่ใช่ทั้งอดีตหรืออนาคต และไม่ใช่ทั้งสิ่งนี้และสิ่งนั้น

Image

มนุษย์ดำรงอยู่ในบาร์โดหกชนิด คือบาร์โดแห่งการเกิด (ชาติ) ภพ ความฝัน ความตาย ความธรรมดา และการภาวนา

ช่วงใช้ชีวิตเราอยู่ในบาร์โดแห่งภพ-ดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอดและบาร์โดแห่งความฝัน-การปรุงแต่ง จินตนาการเพื่อบางสิ่งและจินตนาการต่อไปเรื่อย ๆ  แต่ในที่สุดเราจะมาถึงบาร์โดแห่งความตาย คือการสิ้นสุดความฝันและความต่อเนื่อง เพื่อจะได้รับรู้ถึงความไม่เที่ยง ซึ่งหากเรารับรู้ได้ก็จะเข้าสู่บาร์โดแห่งความธรรมดา-เข้าใจในสภาวธรรมที่เกิดขึ้น และขยับสู่บาร์โดแห่งการภาวนา คือการเกิดปัญญาประจักษ์แจ้งในสภาวธรรมนั้นเอง

ตามคำสอนทิเบต ระหว่างการตายจึงเป็นโอกาสทองของการบรรลุถึงสัจธรรมชีวิต ถ้าเทียบกับทางการแพทย์ก็น่าจะเป็นช่วงที่สมองยังไม่ตาย อาจอยู่ระหว่างช่วงหัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจกับเซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งน่าจะเป็นห้วงเวลาที่ทุกข์ทรมานที่สุด

แม้จะรู้ว่าความตายไม่ใช่จุดจบ แต่นำไปสู่การเกิด แต่คำถามก็คือ ลึก ๆ แล้วใครเล่าจะกล้าเผชิญหน้ากับการตาย

ใครเล่าจะยอมหยุดฝันถึงการมีชีวิตอยู่ในวันต่อ ๆ ไป

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com

ฉบับหน้า : ๑๙๖๓
“ไทย”
ในสมรภูมิลาว